Advance search

มีการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งบ้านนาปลาจาดให้ความสำคัญในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดการดูแลและกำหนดขอบเขตป่าชุมชนไว้อย่างชัดเจน มีเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา อนุรักษ์พันธุ์เขียดแลว กิจกรรมบวชป่าชุมชน ทำฝายชะลอน้ำ บวชป่า บวชปลา กิจกรรมปลูกต้นไม้ในวันสำคัญต่าง ๆ

ห้วยโป่ง
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
อบต.ห้วยผา โทร. 0-5369-5381
อรนลิน เถาสุวรรณ
14 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
25 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
25 ก.พ. 2024
บ้านนาปลาจาด

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และลำน้ำแม่สะงี ซึ่งมีป่าชุกชุมมาก ปลาที่มีมากก็คือปลาจาดจึงได้ชื่อว่า "บ้านนาปลาจาด" 


มีการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งบ้านนาปลาจาดให้ความสำคัญในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดการดูแลและกำหนดขอบเขตป่าชุมชนไว้อย่างชัดเจน มีเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา อนุรักษ์พันธุ์เขียดแลว กิจกรรมบวชป่าชุมชน ทำฝายชะลอน้ำ บวชป่า บวชปลา กิจกรรมปลูกต้นไม้ในวันสำคัญต่าง ๆ

ห้วยโป่ง
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
58000
19.509624
98.001471
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยผา

บ้านนาปลาจาดเป็นชุมชนชาวไทยใหญ่ มีการก่อตั้งประมาณ 175 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2380) โดยมีพ่อเฒ่าเตยะเป็นแข่ไตเหนือกับพ่อเฒ่าจันทร์ติ๊บเป็นคนเมืองมาจากเชียงใหม่เป็นคนกลุ่มแรกที่อพยพ มาตั้งบ้านเรือนและแผ้วถางทำนาทำไร่ (ปัจจุบันสถานที่ก่อตั้งหมู่บ้านครั้งแรกจะอยู่ที่นาก่อนถึงหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 8 ตรงกันข้ามกับทางขึ้นสำนักงานป่าไม้) ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และลำน้ำ แม่สะงี ซึ่งมีป่าชุกชุมมาก ปลาที่มีมากก็คือปลาจาดจึงได้ชื่อว่านาปลาจาด ต่อมาสถานที่แห่งนี้มีการ ฆ่ากันตาย อันเนื่องมาจากสาเหตุการแย่งคู่รักกันจึงพากันอพยพมาทางทิศเหนือ (ที่ตั้งปัจจุบันของบ้านนาปลาจาด) มาแผ้วถางทำไร่ทำนา โดยมีนายส้านเป็นแข่ไตเหนือเป็นผู้นำธรรมชาติ เรียกว่า นายก้างส้าน มีผู้ที่มาอาศัยประมาณ 7 ครัวเรือนต่อมามีการขยายบุกเบิกพื้นที่และผู้คนได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และลำน้ำแม่สะงี จึงมีคนอพยพอยู่เพิ่มมากขึ้น เมื่อนายก้างส้านสิ้นอายุลงก็มีนายมูหลิงต๊ะ (อีกชื่อหนึ่งคือ นายมน) ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำธรรมชาติคนต่อไป เรียกว่า นายก้างมน

เดิมทีไม่มีการปกครองอย่างเป็นทางการ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2460 ได้มีการประกาศฐานะขึ้นเป็น หมู่บ้านนาปลาจาด หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ในปี พ.ศ. 2509 นายอิ่งต่า คำจิ่ง เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาปลาจาดได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับการ ขยายตัวของประชากรและจำนวนหลังคาเรือนที่เพิ่มมากขึ้นจนถึงปี พ.ศ. 2519 นายอิ่งต่า คำจิ่ง ได้เกษียณอายุ ชาวบ้านนาปลาจาดจึงได้เลือก นายโสภา สายศิลปะมงคล เป็นผู้ใหญ่บ้าน ปี พ.ศ. 2521 นายโสภา สายศิลปะมงคล ได้ลาออกจากตำแหน่งประชาชน จึงเลือกนายบางแสง ทาแกง เป็นผู้ใหญ่บ้าน ปี พ.ศ. 2524 นายบางแสง ทาแกง ได้ลาออกจากตำแหน่งอีก ประชาชนจึงได้เลือก นายโต ทองดี เป็นผู้ใหญ่บ้าน และในสมัยนั้นได้มีการพัฒนาระบบน้ำประปาภูเขาไว้ใช้อุปโภคบริโภค จนถึงปี พ.ศ. 2528 นายโต ทองดี ได้ลาออกจากผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนจึงได้เลือกขอให้ นายบางแสง ทาแกง กลับเข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้านอีกครั้งหนึ่ง และมีสถานที่ราชการเกิดขึ้นอีก 1 แห่ง คือ สถานีอนามัยหมู่บ้าน การสร้างทางคมนาคมสัญจรไปมาระหว่างอำเภอเมืองกับหมู่บ้านสะดวกขึ้นเป็น ทางลูกรังมีรถยนต์โดยสารไปมาระหว่างอำเภอเมืองกับหมู่บ้าน

ในปี พ.ศ. 2533 นายบางแสง ทาแกง ได้ลาออกจากผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนได้เลือก นายหลาว เพชรอุดมพร เป็นผู้ใหญ่บ้านมาจนถึงปี พ.ศ. 2553 ได้เกษียณอายุ และได้มีการเลือกตั้ง ผู้ใหญ่บ้านซึ่ง นายชาตรี คำจิ่ง ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านนาปลาจาดตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2555 นายชาตรี คำจิ่ง ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น กำนันตำบล ห้วยผา จนถึงปัจจุบัน

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชุมชนบ้านนาปลาจาด หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อาณาเขตบ้านนาปลาจาดตั้งอยู่บริเวณที่ราบระหว่างหุบเขาตามลำน้ำแม่สะงี มีภูเขาสูงขนาบทั้งสองด้านตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ พื้นที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สัก ไม้แดง ไม้ยาง ห่างจากตัวเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอนตามระยะของทางหลวงแผ่นดิน 1095 สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ถึงแยกบ้านห้วยผึ้ง ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร แล้วเปลี่ยนมาใช้เส้นทางชนบทหมายเลข 1285 ถึงบ้านนาปลาจาดประมาณ 10 กิโลเมตร รวมระยะทาง 32 กิโลเมตร มีพื้นที่การปกครอง 53 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมด 2,565 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านคาหาน หมู่ 4 ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทุ่งมะส้าน หมู่ 5 ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่สุยะ หมู่ 6 ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยขาน หมู่ 4 ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

บ้านนาปลาจาด-คาหาน  หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีประชากรทั้งหมด  1,336 คน แยกเป็นชาย 697 คน หญิง 639 คน

บ้านนาปลาจาด ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นชาวไทยใหญ่ ใช้ภาษาไตในการสื่อการ การแต่งกายในพื้นที่จะแต่งชุดไทยใหญ่ ผู้ชายนิยมสวมกางเกงแบบเตี่ยวโย้ง หรือเตี่ยวสะดอแบบชาวล้านนาใส่ ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแบบชาวพม่า คือ สาบเสื้อด้านหน้าจะป้ายไปด้านซ้ายหรือขวาติดกระดุม มีทั้งแขนสั้นและแขนยาว ตามคอหรือชายเสื้อนิยมปักฉลุเสื้อไต มีสีสันหลากหลาย และนิยมแต่งชุดไทยใหญ่ในช่วงงานประเพณี ชายหรือหญิงเวลาออกนอกบ้านนิยมสวมหมวกที่เรียกว่า "กุ๊บไต" เป็นหมวกปีกกว้างยอดแหลมคล้ายหมวกของชาวเวียดนาม การสร้างบ้านในปัจจุบันสร้างแบบประยุกต์ คือ มีการใช้โครงสร้างไม้ร่วมกับปูนเป็นบ้านชั้นเดียว

ไทใหญ่

บ้านนาปลาจาด ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ประชากรส่วนใหญ่ มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร และกระเทียม คือพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ด้วยความที่เป็นกระเทียมพันธุ์ดี สมัยก่อนจึงมีพ่อค้าจากพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด เดินทางเข้ามารับซื้อกระเทียมของชาวบ้าน เพื่อนำไปทำพันธุ์ในปีต่อไป การปลูกกระเทียม จึงเป็นรายได้หลักให้กับคนในชุมชน แต่ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ราคากระเทียมทั้งสด และกระเทียมแห้งค่อนข้างจะตกต่ำ มิหนำซ้ำ ในปีนี้ ไม่มีพ่อค้าคนกลางจากต่างถิ่นเข้ามารับซื้อกระเทียมในพื้นที่เลย จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมประสบกับปัญหาไม่ได้จำหน่าย และไม่มีที่เก็บกระเทียม จึงทำให้นายชาตรี คำจิ่ง กำนันตำบลห้วยผา มีแนวคิดในการรวมกลุ่มผู้ปลูกกระเทียมในหมู่บ้าน หันมาปลูกกระเทียมแบบอินทรีย์ และกระเทียม GAP อย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาด้านคุณภาพของกระเทียมให้ดีขึ้น เนื่องจากการปลูกกระเทียมแบบอินทรีย์นั้น สามารถลดต้นทุนของการใช้ปุ๋ย สารเคมี และยาฆ่าแมลง ส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตร ที่สำคัญกระเทียมอินทรีย์ สามารถเก็บไว้ได้นาน นอกจากนี้ แหล่งน้ำที่มาหล่อเลี้ยงนากระเทียม ยังเป็นแหล่งน้ำจากธรรมชาติที่มีความสะอาด จึงทำให้กระเทียมของนาปลาจาด มีสรรพคุณและคุณค่าด้านโภชนาการสูงกว่ากระเทียมที่อื่น กำนันตำบลห้วยผา หวังว่าการปลูกกระเทียมแบบอินทรีย์ จะเป็นการพัฒนาผลผลิตสู่นวัตกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระเทียมในท้องถิ่น ซึ่งในอนาคต หากไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด กระเทียมอินทรีย์ จะเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ที่สร้างรายได้ให้แก่หมู่บ้านนาปลาจาดได้อย่างยั่งยืน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

"จองพารา" ถูกสมมุติเป็นเหมือนปราสาทที่สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์ในวันออกพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญในงานเทศกาลออกพรรษาของชาวไทใหญ่ คำว่า "จอง" แปลว่าวัดหรือ ปราสาท ส่วนคำว่า "พารา" แปลว่าพระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้า พ่อหลวงตรี ชาตรี คำจิ่ง กำนันตำบลห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เล่าให้ฟังว่าชาวบ้านที่นี่นั้นมีเชื้อสายไทใหญ่ที่อพยพเดินข้ามฝั่งมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และมีวิถีผูกพันยึดมั่นในการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดตามบรรพบุรุษ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลออกพรรษาจะมีการทำจองพาราแบบวิถีเก่าดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น

โดยจองพารามี 3 แบบ

  1. จองยอด = มียอดปราสาท 5 ถึง 9 ยอด
  2. จองปิ๊กต่าน = ไม่มียอด นิยมบูชาไว้ที่บ้าน
  3. จองเข่งต่าง หรือ จองผาสาน = ใช้ตอกสานต่อกันเป็นทรงสามเหลี่ยม ไม่มียอดปราสาท

ส่วนตัวโครงทำด้วยไม้ไผ่ มีทั้งตกแต่งด้วยกระดาษสีสันต่าง ๆ และแบบไม้ไผ่เปล่า ๆ ข้างในจะแบ่งเป็น 2 ชั้น โดยชั้นบนบางบ้านจะมีพระพุทธรูปและใส่อาหารต่าง ๆ ส่วนชั้นล่างจะใส่ผักผลไม้ เพื่อไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป จากนั้นก็จะยกจองพาราขึ้นไว้นอกชายคาหรือนอกรั้วบ้าน "จองพารา" แต่ละหลังใช้เวลาประดิษฐ์ประมาณ 1-2 วัน "จองพารา" จะถูกตั้งไว้จนครบ 7 วัน จึงจะรื้อถอนจองพาราออกไปทิ้งหรือเผา ปีต่อไปก็ทำขึ้นมาบูชาใหม่ไม่นำมา ใช้ซ้ำ ส่วนผักผลไม้ก็ถือเป็นของมงคลนำมาทานต่อภายในบ้าน กำนันบอกว่า "ไม่ว่าจะเป็นจองพาราเล็กหรือจองพาราใหญ่ จองพาราสวยงามวิจิตรหรือจองพาราไม้ไผ่สานอันเรียบง่าย ต่างได้บุญเหมือนกัน สิ่งสำคัญมันขึ้นอยู่กับจิตใจที่ศรัทธาต่างหาก"

วันออกพรรษาของที่นี่ จะมี "การหุงข้าวมธุปายาส" หรืออาหารสมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นข้าวที่หุงเจือด้วย เนย นม และน้ำผึ้ง ตามความเชื่อที่นางสุชาดาได้นำมาถวายเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ซึ่งที่ต้องตื่นมาหุงตอนเช้ามืด ประมาณตีสาม เพื่อให้ทันถวายพระสงฆ์ก่อนการสวดมนต์ ทำวัตรเช้า และทุกครั้งที่ทำพิธีต้องมีการกั้นพื้นที่ด้วยราชวัตรหรือรั้วมณฑลพิธีเล็ก ๆ เป็นแผงไม้ไผ่สานเป็นตาข่าย กำหนดขอบเขตในพื้นที่ต้องห้าม ซึ่งปัจจุบันหาคนมาทำพิธีนี้ค่อนข้างยากบางที่ไม่ทำแล้ว แต่ชาวบ้านที่นี่ยังคงมีอยู่ และทำมาไม่เคยขาด ซึ่งความศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งนี้   ได้หลอมรวมเป็นเอกลักษณ์อันทรงคุณค่า ที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในช่วงปี พ.ศ. 2564 ราคากระเทียมทั้งสด และกระเทียมแห้งค่อนข้างจะตกต่ำ มิหนำซ้ำ ในปีนั้น ไม่มีพ่อค้าคนกลางจากต่างถิ่น เข้ามารับซื้อกระเทียมในพื้นที่เลย จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมประสบกับปัญหาไม่ได้จำหน่าย และไม่มีที่เก็บกระเทียม ทำให้เกิดแนวคิดในการรวมกลุ่มผู้ปลูกกระเทียม ในหมู่บ้าน หันมาปลูกกระเทียมแบบอินทรีย์ และกระเทียม GAP อย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาด้านคุณภาพของกระเทียมให้ดีขึ้น เนื่องจากการปลูกกระเทียมแบบอินทรีย์นั้น สามารถลดต้นทุนของการใช้ปุ๋ย สารเคมี และยาฆ่าแมลง ส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตร ที่สำคัญกระเทียมอินทรีย์ สามารถเก็บไว้ได้นาน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ข้าหาบงานขุน. (2555). ประวัติบ้านนาปลาจาด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: http://naplajad.blogspot.com/

ข้าหาบงานขุน. (2555). ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: http://naplajad.blogspot.com/

เชียงใหม่นิวส์. (2564). ชาวบ้านบ้านนาปลาจาด หันมาปลูกกระเทียมอินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระเทียมในท้องถิ่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.chiangmainews.co.th/

ซีรี่ส์วิถีคน. (2564). “จองพารา” วิถีแห่งความศรัทธา บ้านนาปลาจาด ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaipbs.or.th/

ฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับไทใหญ่. (2555). ชุมชนบ่านนาปลาจาด. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: http://www.taiyai.org/

สุรศักดิ์ นุ่มมีศรี และคณะ. การจัดการมลภาวะทางอากาศโดยชุมชนเพื่อชุมชนเป็นสุขภาคเหนือตอนบน กรณีศึกษาพื้นที่ ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. รายงานการวิจัย. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา.

อบต.ห้วยผา โทร. 0-5369-5381