“วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง” จากอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์การเกษตรมูลค่าสูง
“วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง” จากอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์การเกษตรมูลค่าสูง
บ้านแม่สาน้อย เป็นชุมชนชาวม้งขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขาสูงตระหง่านในอำเภอแม่ริม คาดว่าก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อประมาณ พ.ศ. 2516-2520 เป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อพยพมาจาก 3 พื้นที่ คือ บ้านละอูบ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเริ่มแรกเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณสันดอยบ้านแม่สาเก่า (ปางขมุ) ก่อน แต่เนื่องจากสันดอยบ้านแม่สาเก่ามีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านแม่สาน้อยแทน ประชากรชาวม้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประกอบด้วย ม้งน้ำเงิน (ม้งลาย) และม้งขาว
ม้ง (Hmong) เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ส่วนแถบทางภาคเหนือของหลาย ๆ ประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คําว่า “เมี้ยว” ถูกพบในเอกสารที่มีความเก่าแก่ที่สุดของประเทศจีน ในยุคสมัยของจักรพรรดิชุน โดยเรียกกันว่า “เมี้ยว-หมิน” (Miao-min) แปลว่า ประชาชนม้ง “ยู-เมี้ยว” (Yu-Miao) แปลว่า ชาวม้ง และ “ชาน-เมี้ยว” (San-Miao) แปลว่า ม้งหลายกลุ่ม โดยจะตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนกลางของที่ราบลุ่ม “แยงซี” โดยบรรพบุรุษของชาวม้งในยุคแรกจะอาศัยอยู่ในประเทศพม่าก่อนที่จะ เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งชาวม้งบางส่วนก็อพยพมาจากบริเวณชายแดนของพม่าเข้าสู่อําเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาก็กระจายตัวไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อตั้งถิ่นฐานทั้งบ้านป่าคา บ้านปางขมุ บ้านแม่สาเก่า และบ้านแม่สาน้อย ในเวลาต่อมา
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอแม่แตง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอสันทราย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอหางดง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอสะเมิง
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านแม่สาน้อย เป็นส่วนหนึ่งของตำบลโป่งแยงซึ่งมีลักษณะทางกายภาพทั่วไปเป็นภูเขา บางส่วนเป็นที่ราบและที่ราบเชิงเขา และยังมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย บ้านแม่สาน้อยมีพื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ คือ ลิ้นจี่ พริกหวาน ดอกกุหลาบ และสตรอว์เบอร์รี ฯลฯ มีแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ ลำน้ำแม่สาน้อย
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 10 บ้านแม่สาน้อย ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,039 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 537 คน ประชากรหญิง 502 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 186 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชน คือ ชาวม้ง ที่มีทั้งม้งน้ำเงินและม้งขาวอาศัยอยู่ร่วมกัน
ทั้งนี้ ด้วยนโยบายบางประการเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ของภาครัฐ ส่งผลให้ชาวม้งแม่สาน้อยต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับชาวไทยพื้นราบมากที่สุด หนึ่งในวิธีการ คือ บางตระกูลได้มีการเปลี่ยนแซ่สกุลมาใช้นามสกุลที่ตั้งขึ้นใหม่ ได้แก่ แซ่โซ้ง เปลี่ยนมาใช้ ทรงกิตติกุล ภูสิริพัฒนานนท์ ถนอมวรกุล แซ่ย่าง เปลี่ยนมาใช้ เลิศชัยสหกุล เฟื่องฟูกิจการ ย่างอนันต์กุล แซ่เฒ่า เปลี่ยนมาใช้ ถนอมรุ่งเรือง ถนอมจิตดี และแซ่หาง เปลี่ยนมาใช้ รัตนดิลกกุล หาญศิริลักษณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีชาวม้งบางส่วนในชุมชนที่ยังคงใช้แซ่สกุลดั้งเดิมอยู่
ม้งชาวบ้านแม่สาน้อยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ลิ้นจี่ โดยบ้านแม่สาน้อยมีพื้นที่เพาะปลูกลิ้นจี่และพืชผักคิดเป็นร้อยละ 52.08 และ 56.84 ตามลําดับ โดยผลิตผลของลิ้นจี่และพืชผักสามารถสร้างรายได้ประมาณ 50,000-100,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการปลูกส้มเขียวหวาน อะโวคาโด และสตรอว์เบอร์รี ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้แก่ชาวบ้านได้เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกันงานหัตถกรรมก็เป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้แก่ชาวบ้านแม่สาน้อยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเกษตรกรรม อาทิ การทำห่วงคอ การทอผ้าใยกัญชง ฯลฯ ชาวม้งบ้านแม่สาน้อยได้สืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าใยกัญชงมาจากบรรพบุรุษ และได้นํามาพัฒนาปรับปรุงให้สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งจะต้องผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝนจนเกิดความชํานาญกว่าจะสามารถทอผ้าใยกัญชงขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เครื่องจักรในการปั๊มลายลงบนผ้า จากนั้นนําไปสร้างสรรค์เป็นลวดลายที่มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และส่งขายทั้งแบบขายปลีกและขายส่งทั่วจังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณสมบัติของผ้าใยกัญชงบ้านแม่สาน้อย คือ จะค่อนข้างหนา เมื่อทอเสร็จแล้วจะมีขนาดประมาณ 40 x 60 นิ้ว หากเป็นผ้าฝ้ายดิบราคาจะอยู่ที่ประมาณ 300-400 บาท แต่ถ้าเป็นผ้าใยกัญชงราคาจะอยู่ที่หลักพันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมครัวเรือนการทอผ้าใยกัญชงของชาวบ้านแม่สาน้อยเติบโตจนสามารถจดทะเบียนเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน ภายใต้ชื่อ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ได้สำเร็จ
นอกจากนี้ ปัจจุบัน บ้านแม่สาน้อยยังได้มีการจัดการการท่องเที่ยวชุมชน มีการสร้างที่พักโฮมสเตย์หลายหลังเพื่อรับรองนักท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาใกล้ชิดโดยไม่เบียดเบียนวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยโฮมสเตย์ที่สร้างขึ้นเป็นโฮมสเตย์เล็ก ๆ ของชาวบ้านที่ถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติ ทัศนียภาพด้านหลังเป็นภูเขาสูงตระหง่าน ทะเลหมอกงดงาม และพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน อีกทั้งยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เลือกทำ เช่น เดินป่า ระยะใกล้ ชมวิวพระอาทิตย์ตก โดยมีมัคคุเทศก์หรือไกด์ท้องถิ่นเป็นผู้นำทาง ซึ่งชาวบ้านจะมีรายได้จากการให้บริการนี้ด้วย อนึ่ง ยังมีกิจกรรมชมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ใยกัญชง workshop รวมถึงการเก็บสตรอว์เบอร์รีสดจากสวน ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวนี้ นับเป็นแหล่งรายได้และแหล่งอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านแม่สาน้อย
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง
วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ตั้งอยู่ที่บ้านแม่สาน้อย หมู่ที่ 10 ตําบลโป่งแยง อําเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนางธัญพร ถนอมวรกุล เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งเป็นแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชนในการนําเอาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนานจากบรรพบุรุษมาก่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่สามารถสร้างชื่อเสียง และรายได้ให้กับคนในชุมชน อีกทั้งยังทําให้เส้นใยกัญชงซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นของชาวม้งบ้านแม่สาน้อยให้กลายเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เปิดเป็นโรงเรียนสอนให้กับผู้ที่มีความสนใจที่ต้องการจะศึกษาถึงวิธีการทอและการวาดลวดลายบนผืนผ้าด้วย
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวม้งบ้านแม่สาน้อยถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณที่สิงสถิตตามธรรมชาติและผีบรรพบุรุษมาอย่างยาว โดยศาสนาดั้งเดิมของชาวม้งบ้านแม่สาน้อย คือ การนับถือภูตผีที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ ซึ่งชาวม้งจะให้ความสําคัญเกี่ยวกับการให้ความเคารพต่อดวงวิญญาณเหล่านี้เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากลักษณะการสร้างบ้านเรือนและการนําวัสดุจากธรรมชาติมาทําเป็นเครื่องมือเครื่องใช้สําหรับประกอบในชีวิตประจําวัน นอกจากนี้ ชาวม้งจะมีความเชื่อว่า กัญชง ถือเป็นพืชที่เทพเจ้ามอบมาให้กับชาวม้ง และจะนําพามาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยกัญชงถือเป็นเครื่องลางศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษหรือเทพเจ้าที่คอยดูแลคุ้มครองาคนในชุมชนให้แคล้วคลาด เช่น การนําเส้นใยกัญชงมาทอเป็นรองเท้าเพื่อสวมใส่ให้กับผู้เสียชีวิต เพราะเชื่อว่าจะทําให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษช่วยนําทางให้ไปขึ้นสวรรค์ แต่ปัจจุบันด้วยบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ชาวม้งบางส่วนเริ่มเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ตามชาวไทยพื้นราบมากขึ้น
ประเพณีปีใหม่ม้ง
ประเพณีขึ้นปีใหม่ ถือเป็นงานมงคลของชาวม้ง จะจัดขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังเป็นการฉลองความสําเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี โดยจะต้องทําพิธีบูชาผีฟ้า ผีป่า และผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครองและดูแลความเจริญรุ่งเรืองตลอดทั้งปี แต่ละหมู่บ้านจะฉลองกันอย่างพร้อมเพรียงหรือตามวันเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน ส่วนมากจะเป็นช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ชาวม้งจะเรียกกันว่า “น่อ เป๊ โจ่วฮ์” หมายถึง กินสามสิบ เพราะชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ แบ่งเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ ในวันสุดท้ายของเดือนที่ 12 ของปีจึงถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่จะอยู่ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ซึ่งหัวหน้าครอบครัวของแต่ละบ้านจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อครอบครัว และถัดไปอีก 3 วัน ถึงจะเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ทุกคนจะหยุดงานและมีการละเล่นต่าง ๆ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง และการร้องเพลงม้ง
วัฒนธรรมการกิน
ชาวบ้านแม่สาน้อยยังคงรักษาวิถีชีวิตด้านอาหารการกินที่สืบทอดจากบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน โดยปกติมักจะนิยมเป็นอาหารที่มีรสชาติจืด นําผักและสัตว์เลี้ยงของตนเองมาประกอบอาหารในชีวิตประจําวัน โดยเมนูประจําชุมชน คือ ฟักทองต้มจืด ผักขมต้มจืด ไก่ตุ๋นสมุนไพรสูตรม้ง ข้าวม้งแบบโบราณที่ทํามาจากข้าวโพด ต้มผักเมืองหนาว และข้าวเหนียวปิ้งสูตรม้ง แต่การที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับคนไทยทําให้คนในชุมชนหลายคนนิยมรับประทานอาหารไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของชาวไทยจากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับคนในสังคมไทยได้มากกว่าชาวบ้านทั่วไป
วัฒนธรรมการแต่งกาย
ชาวบ้านม้งแม่สาน้อยยังคงสืบทอดและรักษาการแต่งกายแบบดั้งเดิมตามที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษอยู่ แต่เนื่องจากปัจจัยจากสังคมภายนอกทําให้ชาวบ้านเริ่มมีการลดการแต่งชุดม้งในชีวิตประจําวันลง และเพื่อให้มีความกลมกลืนกับคนในสังคมไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวม้งรุ่นใหม่ที่จะไม่ค่อยนิยมแต่งชุดม้งในชีวิตประจําวันเท่าไรนัก เนื่องจากได้มีโอกาสเรียนหนังสือหรือประกอบอาชีพร่วมกับคนไทยมากกว่าผู้สูงอายุ แต่ทั้งนี้ก็ยังแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายแบบม้งอยู่ เช่น การใส่เสื้อคลุมและเครื่องประดับเงินขนาดเล็กที่สื่อถึงความเป็นม้ง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเมื่อถึงวันสําคัญก็จะมีการแต่งชุดม้ง ทั้งยังมีการปรับปรุงรูปทรงให้มีความทันสมัยเพิ่มมากขึ้นตามความนิยมของชาวม้งรุ่นใหม่ ๆ เพื่อเป็นการเคารพบรรพบุรุษและเป็นการนําเสนอเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ทั้งในชุมชนแม่สาน้อยนั้นมีทั้งชาวม้งน้ำเงินและม้งขาวอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งลักษณะของม้งทั้งสองกลุ่มจะมีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน โดยชายชาวม้งน้ำเงินจะนิยมใส่เสื้อสีดำ หรือน้ำเงิน ปักลวดลาย แขนเสื้อตัดด้วยสีฟ้า กางเกงสีเดียวกับเสื้อ ส่วนผู้ชายม้งขาวจะแต่งกายคล้ายกับม้งน้ำเงิน เพียงแต่มีลวดลายประดับน้อยกว่า และจะสวมห่วงที่คอหลายห่วง ผู้หญิงชาวม้งน้ำเงินมักจะสวมเสื้อสีดํา หรือสีน้ำเงินเข้มคล้ายกับผู้ชาย มีลวดลายที่หน้าอก แขนยาวตรง ส่วนปลายตัดด้วยสีฟ้า ปกเสื้อห้อยพับไปด้านหลัง ปักลวดลาย สวมกระโปรงจีบ ลวดลายรอบ ๆ บริเวณลําตัวเกิดจากการเขียนด้วยเทียนขี้ผึ้ง จากนั้นจึงนําไปย้อมเป็นสีน้ำเงิน มีผ้าผืนยาวที่ปักลวดลายตามแบบเฉพาะของม้ง ปิดด้วยชายกระโปรง ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใช้เป็นผ้า แบบไม่มีลวดลาย ตัดกับชายผ้าที่เป็นสี มีผ้าแดงปักลวดลายที่บริเวณชายทั้งสองข้าง และมีพู่ห้อยลงมา คาดด้วยเข็มขัดสีเงิน พันแข้งด้วยผ้าสีน้ำเงินหรือดํา มวยผมไว้ที่กลางกระหม่อม จากนั้นใช้ผ้าโพกทับมวยผม ส่วนผู้หญิงชาวม้งขาวจะนิยมแต่งกายคล้ายผู้หญิงชาวม้งน้ำเงิน แต่ปัจจุบัน นิยมกางเกงทรงจีนสีน้ำเงินเข้มแทนการใส่กระโปรง มวยผมและกันเชิงผมด้านหน้าให้หน้าผากดูกว้างขึ้น
การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย
เนื่องจากพื้นที่บริเวณหมู่บ้านม้งแม่สาน้อยตั้งอยู่บริเวณภูเขาสูง และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ คนในชุมชนนิยมทําไร่สวนกันเป็นจํานวนมาก บ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างจากคอนกรีตและปูน ส่วนบางบ้านก็จะทําด้วยไม้ตามแบบดั้งเดิม สิ่งที่นํามาใช้ในการปลูกบ้านส่วนใหญ่ล้วนหาได้จากธรรมชาติตามท้องถิ่นบริเวณนั้น ๆ เช่น การเอาไม้ไผ่สับฟาก หรือไม้แผ่นมาทําเป็นฝาเรือน เสาจะใช้ไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงด้วยใบตอง เช่น ใบเหียง ใบก้อ มาเย็บรวมกันเป็นตับ หรือใช้ไม้ไผ่ผ่าครึ่งมาซ้อนกัน นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณภายในบ้านที่สถิตอยู่แต่ละส่วนภายในบ้าน ได้แก่ ผีประตู ผีเสา ผีสีก๊ะ ผีหิ้ง ผีเตาไฟใหญ่ ผีเตาไฟเล็ก และป้อก๊งเหย่อฮ์สี
ในปัจจุบันชาวม้งบ้านแม่สาน้อยยังคงนิยมอาศัยอยู่บนพื้นที่สูงเหมือนในอดีต ซึ่งภายหลังจากที่ภาครัฐได้เข้าไปทําการพัฒนาปรับปรุงจึงได้เปลี่ยนจากถนนที่เป็นดินมาเป็นถนนคอนกรีตแทน ทั้งยังมีน้ำประปาและไฟฟ้าที่เข้าถึงชุมชน เริ่มมีการจัดตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านตลอดจนการสร้างร้านค้า ถือเป็นการพัฒนาที่ทําให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก
1. คุณลุงหยงช่อ แซ่โซ้ง ยอดนักประดิษฐ์ประจำหมู่บ้านแม่สาน้อย ผู้ประกอบอาชีพตีมีดขายมาตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่มจนถึงปัจจุบัน มีดที่ตี เรียกว่า “มีดงง” เป็นมีดที่มีรูปร่างโค้ง ใช้ถากหญ้าทำสวน และมีดปลายแหลมที่ใช้สำหรับประกอบอาหาร
“ตีมีด” เป็นวิชาโบราณที่คุณลุงหยงช่อรับสืบทอดจากบรรพบุรุษมาตั้งแต่โบราณ ปกติในหนึ่งวันคุณลุงหยงช่อจะสามารถตีมีดได้ 1-2 เล่ม เหล็กที่ใช้ตีมีดเป็นเหล็กที่ซื้อมาจากร้านบ้าง เหล็กเก่าบ้าง หรือแหนบรถที่คนขายทิ้ง โดยมีด 1 เล่ม จะขายในราคาประมาณ 500-600 บาท ซึ่งขายดีเป็นอย่างมาก เนื่องจากคุณลุงมีลูกค้าประจำเยอะ และยังมีลูกค้าขาจรที่แวะเวียนมาซื้ออยู่ไม่ขนาดสาย นอกจากนี้ ที่บ้านของคุณลุงหยงช่อยังมีอุปกรณ์ตีมีดโบราณ เตาเผา และที่เบาลมแบบโบราณ หรือปุ๊ ที่คุณลุงสร้างขึ้นเอง ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นทั่วไปแล้ว
2. ครูธัญพร ถนอมวรกุล (แม่ครูเชาว์) ผู้ที่ถือได้ว่ามีทักษะฝีมือในการทำผ้าใยกัญชงและการเขียนเทียนบนผืนผ้าใยกัญชงที่ชำนาญในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตัดต้น การลอกเส้นใย การปั่น การย้อมสีทอเป็นผืนผ้า และนำมาเขียนเทียนด้วยมือ ซึ่งแต่ละขั้นตอนล้วนเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่ากว่าจะออกมาเป็นผืนผ้าที่สวมใส่เป็นชุดประจำชนเผ่าที่งดงามตามแบบฉบับวิถีชาติพันธุ์ชาวม้งและยังคงรักษาภูมิปัญญาแห่งเสน่ห์ของผ้าใยกัญชงเขียนเทียนไว้อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี ซึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแม่ครูเชาว์นอกจากจะมีความสามารถในการทำเส้นใยกัญชงตามภูมิปัญญาแห่งชาติพันธุ์แล้ว ยังมีฝีมือเป็นเลิศด้านการเขียนเทียน โดยมีกระบวนการทำน้ำเทียนที่ผ่านการคิดค้น ทดลองด้วยภูมิปัญญา เพื่อให้ได้น้ำเทียนที่มีคุณสมบัติที่ดีสำหรับการเขียนลายได้ตรงตามลวดลายโบราณที่เล่าขานกันว่าเป็นอักษรโบราณของชาวม้ง กระทั่งได้รับยกย่องเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ประเภทเครื่องทอ (ผ้าเขียนเทียน) จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2564 จากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย
เส้นใยกัญชง สายใยแห่งความผูกพันของชาวม้ง
ผ้าใยกัญชง มาจากชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ดาวม่าง” โดยคำว่า “ดาวม่าง” ผันมาจากภาษาม้งที่ออกเสียงว่า “ด๊าว” ที่แปลว่า “ผ้า” และคำว่า “ม่าง” ในภาษาม้ง แปลว่า “กัญชง” ดังนั้น “ดาวม่าง” จึงหมายถึง ผ้าใยกัญชงในภาษาม้ง ซึ่งปัจจุบันคือชื่อของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านผู้ทอผ้าใยกัญชงบ้านแม่สาน้อย
ใยกัญชง คือ เส้นใยแห่งชีวิตและจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งของบ้านแม่สาน้อยที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์และมีความสัมพันธ์กับกัญชง เส้นใยกัญชงมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชาวม้งตั้งแต่เกิดไปจนตาย ทั้งยังผูกพันไปถึงชาติหน้า ขณะเดียวกันก็มีการนำเส้นใยกัญชงมาทอเป็นเสื้อไว้ใส่ในวันสำคัญทั้งงานมงคลและอวมงคล ชาวม้งแม่สาน้อยเชื่อว่าการนำเส้นใยกัญชงติดตัวผู้เสียชีวิตจะช่วยนำทางให้ผู้เสียชีวิตได้พบกับดวงวิญญาณบรรพชนในโลกของผู้ล่วงลับ “กัญชง” จึงเปรียบเสมือนนัยแทนความเชื่อและความผูกพันของชาวม้งที่ไม่สามารถละทิ้งได้
เช่นเดียวกับการทอผ้าที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ สตรีในหมู่บ้านจึงได้สืบทอดและรักษาศิลปะบนผืนผ้าเครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งจนถึงปัจจุบัน เช่น การทอผ้าใยกัญชง การปักผ้าลายม้ง และการเขียนเทียนซึ่งเป็นอัตลักษณ์ศิลปะการสร้างลวดลายลงบนผืนผ้าของชุมชน โดยจะใช้อุปกรณ์ที่ชาวม้งเรียกว่า “หลาจัง” มีลักษณะเป็นแท่งเล็ก ๆ ที่ทําจากไม้กับทองแดง นํามาจุ่มลงบนเทียนร้อน ๆ ใช้เป็นเครื่องมือวาดลวดลายลงบนผ้า เมื่อวาดลายเสร็จก็จะนําผ้าไปย้อมเป็นสีน้ำเงิน (ต้นห้อม) และต้มด้วยความร้อนต่อ
ความผูกพันดังกล่าวของชาวม้งแม่สาน้อยที่มีต่อเส้นใยกัญชงและการทอผ้า นำมาสู่การรวมตัวก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง สร้างสรรค์งานผ้าใยกัญชงจากอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์การเกษตรที่มีมูลค่าสูง นำมาซึ่งรายได้และชื่อเสียงหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนแม่สาน้อย การรวมตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่างในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชงจะทำตั้งแต่ระยะต้นน้ำถึงปลายน้ำ กล่าวคือ ชาวบ้านจะเริ่มตั้งแต่การปลูกกัญชงด้วยตนเองผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ จนถึงการทอผ้า การตัดออกมาเป็นเสื้อผ้า ตลอดจนการเขียนเทียน (มีทั้งการเขียนมือและการใช้เครื่องปั๊มเพื่อลดระยะเวลาในการวาดลาย) มีการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ผลักดันตลาดสู่สากล อีกทั้งยังมีการนำแนวคิด BCG Model มาปรับใช้ โดยนำวัตถุดิบเหลือทิ้งจากกัญชงมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง บ้านแม่สาน้อย มีผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชงหลากหลายทั้งชุดเดรสใยกัญชง เสื้อใยกัญชงเขียนเทียนแต่งลายปักม้ง เสื้อคลุมใยกัญชงจากสีธรรมชาติ หมวก หระเป๋า รองเท้าใยกัญชงปักลวดลาย เป็นต้น
ชาวม้งบ้านแม่สาน้อยส่วนใหญ่สามารถพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษาม้ง โดยจะนิยมพูดภาษาม้งเป็นหลัก แต่หากจําเป็นต้องติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกก็จะเปลี่ยนมาพูดภาษาไทยแทน เนื่องจากเป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสารให้เข้าใจกันกับคนพื้นราบ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ม้งได้สืบทอดภาษาม้งมาจากบรรพบุรุษ และยังคงดํารงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ชาวม้งบ้านแม่สาน้อยยังคงให้ลูกหลานของตนเองเรียนรู้ภาษาม้งควบคู่ไปกับภาษาไทยเพื่อการอยู่รอดในสังคม
จากการที่ชาวม้งบ้านแม่สาน้อยต้องเผชิญกับความยากลําบากในอดีต จึงทําให้ไม่ค่อยมีฐานะและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเท่าใดนัก ส่งผลให้ในปัจจุบันชาวม้งที่เป็นผู้สูงอายุจึงไม่ได้รับการศึกษาที่สูงเหมือนเด็กรุ่นใหม่ แต่ภายหลังจากที่ได้มีการสร้างโรงเรียนขึ้นภายในหมู่บ้าน คือ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 7 ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ชาวบ้านหันมาให้ความสําคัญกับการศึกษาของลูกหลานเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผู้ปกครองจะส่งลูกไปที่โรงเรียนประจําหมู่บ้าน จึงทําให้มีโอกาสในการประกอบอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าชาวม้งในอดีต
ดอยสุเทพ-ปุย
จิรกิตต์ ปิ่นทอง. (2564). “ผ้าใยกัญชงบ้านแม่สาน้อย” : ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวม้งบ้านแม่สาน้อย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. ภาคนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง. (2567). สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/Daomang.Hemp
บ้านแม่สาน้อย. (2567). สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/JooSMaSaNoi
เบื่องาน. (2566). นอนโฮมสเตย์ชาวบ้านบนดอยแม่สาน้อย เชียงใหม่. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://th.trip.com/
สิรภัทร จิตต์ชื่น. (2564). “ผ้าเผ่าม้ง” : เอกลักษณ์และความเชื่อของชนเผ่าม้ง กรณีศึกษาม้งแม่สาน้อย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. ภาคนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย. (2564). ครูช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2564. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.sacit.or.th/
ดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง. (2566). ศิลปหัตถกรรมเขียนเทียนบนผืนผ้าใยกัญชง คุณค่าแห่งมรดกชาติพันธุ์. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/Daomang.Hemp/
สำนักงานเกษตร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. (2566). “วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง”. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://chiangmai.doae.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง. (2559). สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก http://chiangmaipao.info/
Ninny Yanee. (2567). สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/
NJ โฮมสเตย์. (2564). สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/
Pongyeangtravel. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านแม่สาน้อย. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก http://www.pongyeangtravel.com/
Thai PBS. (2565). วิถีคนม้ง บ้านแม่สาน้อย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.thaipbs.or.th/