Advance search

ผาปังอยู่ในหุบเขาและถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ศูนย์กลางด้านการเกษตรของชุมชน ซึ่งเป็นสวนแห่งแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตแบบพอเพียง โดยได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่

ผาปัง
แม่พริก
ลำปาง
อบต.แม่พริก โทร. 0-5429-9682
ชนิสรา บุณโยดม
14 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
25 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
25 ก.พ. 2024
ผาปัง

มีเรื่องเล่าว่าด้วยชุมชนเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการพักทัพของแม่ทัพนายกองทุกยุคสมัย รวมถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประทับในการพักก่อนเคลื่อนทัพไปเมืองแหง (เวียงแหง) ภายใต้พื้นเนินแห่งนี้มีถ้ำอยู่บริเวณด้านล่าง จึงเป็นที่เก็บสมบัติ ของมีค่า และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในอดีต เมื่อมีลมพัดผ่านเข้าไปในถ้ำ ทำให้อุปกรณ์หรือโลหะที่อยู่ในถ้ำ กระทบกันมีเสียงตัง จึงเรียกกันว่าถ้ำ "ผาตัง" เมื่อชาวบ้านทราบว่าภายในถ้ำมีสมบัติเก็บซ่อนไว้ จึงได้มาขโมยทรัพย์สมบัติเหล่านั้น ทำให้เทวดารักษาถ้ำไม่พอใจ จึงถล่มผาให้ "พัง" ปิดปากถ้ำ จากถ้ำ "ผาดัง" กลายเป็น "ผาปัง" ณ ปัจจุบัน


ผาปังอยู่ในหุบเขาและถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ศูนย์กลางด้านการเกษตรของชุมชน ซึ่งเป็นสวนแห่งแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตแบบพอเพียง โดยได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่

ผาปัง
แม่พริก
ลำปาง
52180
17.5689803630972
99.0951978506228
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พริก

"ผาปัง" เป็นตำนานที่เล่าขานกันมาของบรรพบุรุษ รากเหง้าของคนผาปังอพยพมาจากคนบ้านท่าหลวง อำเภอเถิน ส่วนแหล่งที่มาของคนบ้านท่าหลวงนั้น กล่าวกันว่ามาจากเชียงใหม่ ตอนปลายสมัยอยุธยา หรือต้นสมัยธนบุรี ซึ่งเป็นช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราขทรงขับไล่พม่าออกจากอาณาจักรล้านนาแล้วกวาดต้อนผู้คนมาไว้แถบลำปาง เชียงใหม่ ตาก เถิน ฯลฯ เป็นต้น คนรุ่นแรกที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ ณ ตำบลผาปังที่มาจากบ้านท่าหลวงชื่อ เจ้ากุ เจ้าสาด และส่วนหนึ่งมาตั้งรกรากอยู่ที่วัดห้วยไร่

ตำบลผาปังมีเนื้อที่ประมาณ 81 ตารางกิโลเมตร มีลำห้วยแม่ปุรวมกับห้วยผาปังไหลผ่านหมู่บ้าน ลำห้วยแม่วอดไหลผ่านทิศเหนือ ห้วยแม่ขยากไหลผ่านทิศใต้ มีประชากรทั้งสิ้น 1,968 คน (สำรวจเมื่อปี 49) มีวัด 3 วัด มี 5 หมู่บ้าน และมี 1 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน มีถนนสายเถิน-ผาปัง ระยะทาง 14 กิโลเมตร ติดต่อกับตลาดในอำเภอเถินและใช้เป็นเส้นทางหลักในการสัญจรไปเมืองใหญ่ ตำบลผาปังอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่พริกไปทางทิศเหนือ 24 กิโลเมตร การคมนาคมสะดวกทางลาดยางตลอดสาย

สภาพภูมิอากาศ ตำบลผาปังมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสลับเนินเชิงเขา เพราะอยู่ติดเทือกเขาใหญ่อันเป็นเขตแบ่งระหว่างอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง กับอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ลักษณะดินเป็นกินลูกรังปนทรายที่มีคุณสมบัติซับและระบายน้ำได้ดี ซึ่งเหมาะกับงานเกษตรกรรมที่ใช้น้ำน้อย และเนื่องจากอยู่เชิงเขา เป็นเขตเงาฝน จึงทำให้มีลักษณะภูมิอากาศเป็นเขตร้อนถึงร้อนมากในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุด 43 องศาเซลเซียส จะเป็นพื้นที่ขาดน้ำในฤดูแล้ง ส่วนฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 10 องศาสเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 26 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนที่ตกโดยเฉลี่ยประมาณ 1,100 มิลลิเมตรต่อปี 

ชุมชนผาปังเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีป่าอุตมสมบูรณ์ แต่เป็นป่าเต็งรัง ผสมผสานกับป่าไผ่ ที่ราบเชิงเขาเป็นหินลูกรังปนทราย มีเทือกเขาเป็นเขาหินปูนบังสมมรสมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่เงาฝนขาดแคลนแหล่งน้ำ และไม่มีระบบการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง หนักที่สุดคือชาวบ้านผาปังบางครอบครัวหนีไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน

การเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมในตำบลผาปังกว่า 110 ปี มีมาตั้งแต่การย้ายถิ่นฐานในยุคแรก มาถึงยุคการสร้างโอกาสให้กับตนเอง โดยการไปเรียนหนังสือ และการไปทำงานเป็นคนงานสร้างเขื่อนยันฮี และก้าวเข้าสู่การยุคอุตสาหกรรม ช่างเทคนิคและเข้าสู่ยุคในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ คือ ราษฎร ในตำบลผาปังมีการอพยพไปทำงานในต่างถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีงานรองรับในพื้นที่ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการอพยพจากชุมชนชนบทสู่ชุมชนเมือง ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในเมืองไม่ยอมกลับถิ่นบ้านเกิดของตนเอง จะกลับบ้านเกิดก็จะกลับเฉพาะเทศกาลเพื่อมาเยี่ยมพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ยังมีชีวิตอยู่ สำหรับครอบครัวที่ไม่มีเครือญาติอาศัยอยู่แล้วก็ปล่อยให้เป็นบ้านร้างจาก 10 หลังคาเรือน ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเป็น 18 หลังคาเรือน (ข้อมูลในปี 2558)

ในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการยุบรวมสภาตำบลผาปัง โดยไปรวมกับตำบลแม่พริก ซึ่งมีประชากร 7,037 คน รวมตำบลผาปัง 1,673 คน การพัฒนาชุมชนในตำบลผาปังเชิงโครงสร้างในการบริหารงบประมาณส่วนใหญ่ก็ถูกนำไปพัฒนาในพื้นที่ตำบลแม่พริก ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่กว่าตำบลผาปัง งบประมาณที่นำมาพัฒนาตำบลผาปังจึงมีจำนวนน้อยนิด ทำให้ตำบลผาปังขาดโอกาสการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปี 2550 ชาวตำบลผาปังกลุ่มหนึ่ง ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนตำบลผาปัง ขึ้นมาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการชุมชนแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน โดยจัดตั้ง "วิสาหกิจชุมชน" เพื่อเป็นหน่วยงานดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการมีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผาปัง เป็นหน่วยงานกำกับทิศทางการพัฒนาชุมชน มีมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง ทำหน้าที่เป็นกรรมการอำนวยการบริหารชุมชน เป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือ เชื่อมโยงโครงข่ายผ่านกระบวนการ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ และร่วมเป็นเจ้าของ ในการพัฒนาโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ทั้งในระบบราชการ และนอกระบบ โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การพัฒนามวลรวมความสุขของประชาชนตำบลผาปัง ด้วยการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน

การพัฒนาอาชีพในตำบลผาปัง เป็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการผลิต และการตลาดโดยใช้การตลาดนำการผลิตแต่ชุมชนจะต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของผู้ซื้อโดยมีรายละเอียดการดำเนินงานโดยการพัฒนาปัญญาปฏิบัติศึกษาด้วยการปฏิบัติจริง Interactive Leaning : ชุมชนจะมีการออกแบบประเมินผลรายละเอียดความคุ้มคู่ Detail Design และความเป็นไปได้ในการประกอบอาชีพโดยการทดสอบตั้งแต่การปลูก การผลิตแปรรูป และการจัดการตลาดไผ่ กล้วย ถั่วลิสง ดีปลี กระเจี๊ยบแดง มะนาว มะรุม ฯลฯ ภายใต้ความร่วมมือของเอกชนที่รับซื้อผลผลิตของชุมชนผาปังตั้งแต่เริ่มต้น สำหรับข้าวจะปลูกเพื่อการดำรงอาชีพในครัวเรือน ไม่มีการผลิตเพื่อจำหน่าย

เศรษฐกิจชุมชนตำบลผาปังราษฎรผู้อาศัยในตำบลผาปังส่วนใหญ่ใช้พื้นที่เพื่อการเกษตร มีหน่วยดินหลักคือ 27 โดยตำบลผาปัง ตั้งอยู่เชิงเขา มีลำห้วยแม่ปุไหลผ่านตำบล จึงมีการหาแหล่งอาหารจากป่าบนเขา หรือลำห้วย โดยมีพื้นที่ส่วนใหญ่นั้น ทำการเกษตรด้วยการปลูกข้าว กระเทียม หอม ถั่วลิสง เป็นต้น รวมถึงใช้พื้นที่บางส่วนสำหรับปศุสัตว์และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์โดยมีรายละเอียดดังนี้ เศรษฐกิจการเกษตร การประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ของประชากรในตำบลผาปัง คือ เกษตรกรรม เช่น การทำนา หรือกสิกรรม ทำสวน ทำไร่ อาชีพรับจ้างค้าขาย ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น บางส่วนไปทำงานต่างถิ่น ประชากรที่ประกอบอาชีพทางเกษตรมี 400 ครัวเรือน ผลิตผลทางเกษตรที่สำคัญได้แก่ ข้าว กระเทียม หอม ถั่วลิสง เป็นต้น

สำหรับอาชีพเสริมด้านการเกษตร ได้แก่ การจัดการวิสาหกิจชุมชน อาทิ การปลูกไผ่ การผลิตสมุนไพร พื้นบ้าน การผลิตอาหาร กล้วยอบพลังงานแสงอาทิตย์ แปรรูปการเกษตร ผลิตถ่านไผ่ประสิทธิภาพสูง เวชสำอาง

การพาณิชย์และการบริการ

  1. ตลาดเอกชน ไม่มีตลาดเอกชน
  2. ร้านขายอาหาร จำนวน 3 แห่ง
  3. ร้านขายของชำ จำนวน 6 แห่ง
  4. สถานีน้ำมันขนาดเล็ก จำนวน 1 แห่ง
  5. ศูนย์จำหน่ายสินค้าทางการเกษตร จำนวน 1 แห่ง
  6. ร้านบริการซ่อมรถจักรยานยนต์-เครื่องยนต์ จำนวน 2 แห่ง
  7. การบริการตัดเย็บเสื้อผ้า จำนวน 3 แห่ง
  8. ร้านบริการตัดผม-เสริมสวย จำนวน 2 แห่ง

การอุตสาหกรรมในตำบลผาปัง ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนักแต่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม การเกษตรระดับครัวเรือน-อุตสาหกรรมพลังงานระดับชุมชน ซึ่งเป็นการขายผลยกระดับของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การเกษตรพึ่งตนเอง เป็นกิจการเพื่อสังคม Social enterprise อาทิ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปจากไผ่ วิสาหกิจชุมชนผลิต สมุนไพรไพรพื้นบ้าน วิสาหกิจผลิตถ่านไผ่ประสิทธิภาพสูงการผลิตนวัตกรรมพลังงานชุมชนจากถ่านไผ่ และโรงสีข้าว ชุมชน เป็นต้น

วิสาหกิจชุมชนตำบลผาปัง มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินกิจการเพื่อสังคม Social enterprise ตาม พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 โดยมีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใน ระดับตำบลจำนวน 15 กลุ่ม ทั้งนี้ เพื่อทำให้เกิดแหล่งงานในชุมชนตำบลผาปังมีงานรองรับ ในพื้นที่เป็นการจัดสรร ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีระบบเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนตำบลผาปังในรูปแบบที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต ประจำวันและความสมดุลทางธรรมชาติโดยความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน

มีวัดเป็นศูนย์กลางในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณี มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย - อเมริกัน ชุมชนคุณธรรมวัตผาปังกลาง ใช้หลักการ "บวร.สส. = บ้าน วัด โรงเรียน สถานีอนามัย สภาเด็กและเยาวชน" มีมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน เกิดภูมิคุ้มกัน รักวัฒนธรรมท้องถิ่น ดำเนินวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยึดมั่นในหลักธรรมทางพุทธศาสนา และในสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นแหล่งเรียนรู้สู่ชุมชนอื่นเป็นชุมชนที่มีการดำเนินกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่โดดเด่นออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และแสดงอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน เช่น มีอาคารที่เก่าแก่ มีสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นท้องถิ่น มีตลาดที่ยังเป็นธรรมชาติคงความเป็นท้องถิ่น มีวัด โบราณสถาน ศาสนสถาน รวมถึงวิถีชีวิตแบบไทย ๆ การสาธิตความรู้เชิงช่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกิจกรรมทางศิลปะ ดนตรี กีฬา และการแสดงพื้นบ้าน มีการทอผ้าลายที่เรียกว่า "ผ้าห่มตำโก้ง" และชาวผาปังก็สืบทอดการทอผ้าลายนี้มาจนทุกวันนี้

1.รังสฤษฎ์ คุณชัยมัง ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง การปฏิรูปของตำบลผาปังเริ่มขึ้นในปี 2547 ลูกหลานชาวผาปังคนหนึ่งที่เป็นวิศวกร รับราชการอยู่ที่กระทรวงพลังงานส่วนกลาง ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการกลับมาบุกเบิกแนวคิดด้านพลังงานชุมชน-พลังงานทางเลือกอยู่ที่บ้านของตน เขาได้ชักชวนกลุ่มคนรุ่นใหม่และพี่น้องเครือญาติในชุมชนที่ทำงานในต่างสาขามาร่วมกันพัฒนาแผ่นดินเกิด มีทั้งคนที่ประสบการณ์ด้านการเกษตร วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การบริหาร การตลาด 

ทุนวัฒนธรรม

  • ด้านอาหาร น้ำพริกถั่วเน่า เห็ดตามฤดูกาล หน่อไม้ พืชผักตามฤดูกาล สมุนไพรพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ถ่านไผ่เพื่ออาหาร เครื่องดื่ม
  • ด้านการแต่งกาย ผ้าทอลายตาโก้ง
  • ด้านที่อยู่อาศัย อาคาร สถานที่ 

1. สถาปนิกเพื่อการออกแบบรีสอร์ท โฮมสเตย์ มีไผ่เป็นอัตลักษณ์

2. ห้องนอนตกแต่งมัณฑนศิลป์ภายใน-ภายนอก มีไผ่เป็นอัตลักษณ์

3. ที่อยู่อาศัยสถาปัตยกรรมตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ มีไผ่เป็นอัตลักษณ์

  • ด้านศิลปะการแสดง

1. การรำกระทบไม้

2. การตีกลองปูจา ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ

3. การแสดงศิลปะดนตรี สะล้อ ซอ ซึง

โบราณสถานพระธาตุศรีบุญเรื่อง วัดห่าง พระบรมธาตุเจดีย์หลวง 12 นักษัตร มีโบสถ์ที่ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ (วัดผาปังกลาง) เป็นศูนย์ต้นแบบเผยแผ่คุณธรรมสัญจร การสวดมนต์ทุกวันพระ ศูนย์เผยแผ่พระธรรมทูต ลานธรรมลานวิถีไทย และกิจวัตรการตีกลองปู่จาทุกวันโกน ชุมชนผาปัง มีทะเบียนป่าชุมชน  ตามมาตรา 19 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2537 จากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 24,451 ไร่ มีป่าเป็นซูเปอร์มาเก็ตเป็นแหล่งผลิตอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล มีเห็ดโคนทุกชนิด หน่อไม้ ผักพื้นบ้าน มะขามป้อม ปลาไหลเผือก ฝางแดง กำแพงเจ็ดชั้น มีสมุนไพร มีอากาศบริสุทธิ์

ทุนธรรมชาติ

สวนไผ่เศรษฐกิจชุมชน Bamboo Park ซึ่งเป็นการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในอุทยานการเกษตรเชิงนวัตกรรมการใช้ประโยชน์ พื้นที่ Innovation Square Meter เป็นจำนวน 70 ไร่ เป็นศูนย์เรียนรู้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการพื้นที่ดิน น้ำ ป่า และการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการจัดการสุขภาพโดยพัฒนาระบบการจัดการพลังงานชุมชนพึ่งตนเองผลิตเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากถ่านไผ่สูบน้ำการเกษตรน้ำตกหมุนเวียนและระบบธนาคารน้ำใต้ติน Ground water bank ประกอบอาหาร ส่องสว่าง บริการสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน ไม่มีสารเคมี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมเฟอร์นิเจอร์ ด้วยวัสดุที่ใช้ “ไผ่” เป็นอัตลักษณ์

ชุมชนผาปัง มีถนนท่องเที่ยวด้วยมิติทางวัฒนธรรมที่เป็นธรรมชาติ เป็นถนน “อุโมงค์ไผ่” Bamboo Street ซึ่งมีออกซิเจนมากกว่าถนนอื่นๆ รอบบริเวณป่าชุมชนของตำบลผาปัง เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในหมู่ที่ 1-5 ตำบลผาปัง และพื้นที่ข้างเคียง รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 24 กิโลเมตร

ตำบลผาปัง เป็นตำบลเล็ก ๆ สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายมาจาก "ชาวไทยลั๊ว" มีสำเนียงการพูดเหน่อ ๆ เป็นเอกลักษณ์


ในปี พ.ศ. 2537 เมื่อมีการจัดตั้ง อบต. จึงเป็นสาเหตุให้ชุมชนตำบลผาปังมีประชากรไม่เพียงพอ คือ ไม่ถึง 2,000 คน จึงจัดตั้งเป็น อบต.ไม่ได้ ทำให้ขาดโอกาสการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี เมื่อไปรวมกับ อบต.แม่พริก งบประมาณส่วนใหญ่ก็ถูกนำไปพัฒนาในพื้นที่ตำบลแม่พริก ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่กว่าตำบลผาปัง งบประมาณที่นำมาพัฒนาตำบลผาปังจึงมีจำนวนน้อยนิด กลายเป็นชุมชนด้อยโอกาสในการพัฒนาเพราะการแบ่งเขตการปกครอง และหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างมิอาจหลีกเสี่ยงได้

ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ทางออกของการแก้ปัญหา พึ่งพาตนเองจากทรัพยากรฐานชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่นยั่งยืน จึงถูกนำมาอธิบายขยายผลให้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตชุมชน ลดค่าไข้จ่าย เพิ่มรายได้ เป็นชุมชนที่อยู่กับป่า แต่ไม่มีร้านอาหาร ร้านขายของชำ ไม่มีตลาด ปลูกผักสวนครัว ปลูกสมุนไพรพื้นบ้าน มะนาว มะรุม ปลูกไผ่ ดูแลรักษาป่าไผ่ อยู่อย่างพอเพียง เป็นชุมชนสะอาด ปลอดขยะ ไม่มีการใช้สารเคมี ไม่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้สารเคมี ปลูกกระเจี๊ยบแดง ถั่วลิสง เป็นพืชหมุนเวียนหลังฤดูทำนา การดำรงชีวิตที่พอเพียง และสอดคล้องกับความสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้ไม่มีไข้เลือดออกติดต่อกัน 15 ปี จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน ปัจจุบันได้พัฒนาสร้างนวัตกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ สถาปัตยกรรมบริการท่องเที่ยวชุมชน ที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และสารเคมี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้ให้ถูกต้องตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในลักษณะใหม่ New social Movements : NSM โดยยึดหลักวิชาการ หรือวิทยาศาสตร์ ที่สามารถอธิบายให้คนรุ่นหลังเข้าใจอย่างง่าย คือ การรักษาดิน การปรับปรุงดิน การตัดไผ่ การรักษาเนื้อไม้ไผ่ให้มีอายุการใช้งานทนนาน ไม่มีมอดกิน โดยไม่มีการใช้สารเคมี และเป็น ที่ยอมรับทางสังคม สิ่งแวดล้อม ผ่านกิจการท่องเที่ยวชุมชนผาปัง

ผลิตภัณฑ์และการบริการทางวัฒนธรรมของชุมชนฯ ชุมชนผาปัง แบ่ง "ทุน" สิ่งแวดล้อม โดยใช้ประโยชน์จาก "ไผ่" ให้เป็นมรดกทางสิ่งแวดล้อม เพื่อบริการ และต้อนรับการท่องเที่ยววิถีชุมชน ด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ชุมชนผาปัง ใช้เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ที่ผลิตจากเยื่อไผ่ "ทุน" สิ่งแวดล้อม เพื่อบริการและต้อนรับการท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ชุมชนผาปัง ใช้ผลิตภัณฑ์เวชสำอางชุมชนที่ใช้ผงถ่านไผ่ประสิทธิภาพสูง Activated Charcoal ผลิตเป็นสบู่ ยาสีฟัน แชมพู และน้ำยาทำความสะอาดพื้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริการท่องเที่ยววิถีชุมชนและผู้มาศึกษางาน 

ชุมชนผาปัง ใช้ผลิตภัณฑ์ยารักษาโลก ยาสามัญประจำบ้าน ที่ผลิตจากผงถ่านไผ่ประสิทธิภาพสูง Activated Charcoal บริการท่องเที่ยววิถีชุมชน และผู้มาศึกษาดูงาน

จินดา ฝั้นคำอ้าย. (2551). ประวัติผาปัง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/

พัลลภ หารุคำจา และปรุตม์ บุญศรีตัน. (2562). รูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนผาปัง จังหวัดลำปาง. วารสารพุทธศิลปกรรม. 1(2), 46-64.

โพสต์ ทูเดย์. (2560). ผาปัง แดนในฝันเมืองลำปาง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.posttoday.com/

ระบบบริการข้อมูลภาครัฐ Big DATA สพป.ลำปาง เขต 2. (ม.ป.ป.). ข้อมูลที่อยู่และการติดต่อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.bigdatalpg2.info/

THE BANGKOK INSIGHT EDITORIAL TEAM. (2564). ผาปังโมเดล “ชุมชน” พึ่งตนเอง ด้านพลังงานจากทรัพยากรท้องถิ่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.thebangkokinsight.com/

อบต.แม่พริก โทร. 0-5429-9682