“เมืองขนมจีน ถิ่นมะขามหวาน เทศกาลแข่งเรือยาว ชมหมอกหนาวภูทับเบิก จิตรกรรมล้ำเลิศวัดนาทราย”
“เมืองขนมจีน ถิ่นมะขามหวาน เทศกาลแข่งเรือยาว ชมหมอกหนาวภูทับเบิก จิตรกรรมล้ำเลิศวัดนาทราย”
วัดศรีฐานปิยาราม ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการบันทึกความเป็นมาไว้ว่า ประชาชนชาววังบาลได้อพยพมาจากดินแดนล้านช้าง หลวงพระบาง น้ำลี่ แสนศรี (แสนหวี) ภายใต้การนำของขุนวังบังบาลสองพี่น้องที่ได้มาสร้างบ้านแบ่งเมืองที่วัดศรีฐาน วังบาล และได้สร้างเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2225 เป็นวัดที่เก่าแก่และสร้างมานาน โดยมีหลวงพ่อศรีฐานเป็นผู้นำจัดสร้างวัดจึงได้มีนามว่าวัดศรีฐาน แต่ชาวบ้าน นิยมเรียกว่าวัดวังบาล ตามชื่อหมู่บ้าน อุโบสถก็ได้จัดสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเก่านับเป็นวัดที่ได้รับวิสุงคามสิมานับตั้งแต่ในราวปี พ.ศ. 2225
ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชนหรือตำบลวังบาลเป็นตำบล 1 ใน 9 ตำบลของอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอหล่มเก่า ประมาณ 4 กิโลเมตร มีเนื้อที่ ประมาณ 103.81 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นไร่ประมาณ 64,881 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลโป่ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลหล่มเก่า ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลหมากแข้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของตำบลวังบาล ทางทิศตะวันตกของตำบล เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนทอดเป็น ทิวยาว ลักษณะพื้นที่จะลาดเอียงจากด้านทิศเหนือลงมาทางทิศใต้และมีลำห้วยวังบาลไหลผ่านทางตอนกลางของตำบล
ตำบลวังบาล มีเขตการปกครอง รวม 17 หมู่บ้าน ประชากรทั้งสิ้นตามทะเบียนราษฎร์ 3,579 ครัวเรือน จำนวน 11,699 คน แยกเป็น ชาย 5,593 คน หญิง 6,106 คน โดยชุมชนวัดศรีฐานปิยาราม เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายเดียวกับคนลาวหลวงพระบาง ที่ได้อยู่อาศัยแผ่ขยายครอบคลุมต่อเนื่องลงมาในพื้นที่ทางใต้ทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทยรวมถึงแถบแม่น้ำป่าสักตอนบน
ทุนวัฒนธรรม
ภายในชุมชนจะมี OTOP สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกตำบลวังบาล มีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ได้แก่ ผ้าทอมือ เครื่องจักสาน มะขามแปรรูป เช่น มะขามแช่อิ่มน้ำมะขามแช่อิ่มแห้ง มะขามหวานไร้เมล็ด กล้วยสอดไส้มะขาม ฯลฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน
คนหล่มมีวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาของตนเองที่มีอิทธิพลจากวัฒนธรรมล้านช้าง คนหล่มสืบเชื้อสายมาจากคนลาวที่มีถิ่นกำเนิดจากเมืองหลวงพระบาง ที่คนไทยเคยเรียกว่า ลาวพุงขาว ภาษาที่ใช้พูดกันก็เป็นแบบลาวหลวงพระบาง แม้จะมีสำเนียงหางเสียงต่างกันไปบ้างในแต่ละสถานที่ ภาษาหล่มนี้ มีเอกลักษณ์ที่ฟังไพเราะ มีโทนเสียงงดงาม นุ่มนวลเหมือนภาษาล้านนาแต่ศัพท์จะเป็นแบบภาษาอีสาน
ศูนย์วัฒนธรรม วัดศรีฐานปิยารามตำบลวังบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนผู้สูงวัย ที่ทุกสัปดาห์ผู้สูงวัยในละแวกนี้จะมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมทอผ้าพื้นเมือง ซึ่งปกติชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นชาวไร่ชาวนาและทอผ้าเป็นอาชีพเสริม ด้วยต้นทุนภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีฐานรากที่เข้มแข็ง และปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
โดยกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จึงทำให้เกิดปัญหาทางด้านการสืบสานวัฒนธรรมดังกล่าว โดยทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบูรณ์เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนารวมทั้งกรมการจัดหางานได้จัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ กิจกรรมพัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์ สู่ตลาดออนไลน์ โดยดำเนินการเชิญวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ ในเรื่องของการทำเพจในการจำหน่ายสินค้า รวมถึงช่องทาง Facebook Tiktok และ ช่องทางอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มช่องทางการขายสินค้าให้กับกลุ่มผู้สูงอายุได้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับในเรื่องของการส่งเสริมให้มีการทำงานหลังเกษียณผ่านการเสริมทักษะการดำรงชีวิต ทักษะอาชีพในการหารายได้ มีงานทำที่เหมาะสมกับศักยภาพ การรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุกตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นพลังทางสังคม เน้นการเตรียมคนและสังคมเชิงรุกให้คนทุกช่วงวัยตระหนัก มีความรอบรู้ และมีความพร้อมในทุกมิติ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพสามารถพึ่งตนเอง และเป็นพลังในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศให้นานที่สุด
กรุงเทพธุรกิจ. (2561). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวัดศรีฐานปิยาราม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.bangkokbiznews.com/
พระครูประโชติพัชรพงศ์. (2538). การพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ของวัดและชุมชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ (รายงานการวิจัย). เพชรบูรณ์: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์พ่อขุนผาเมืองเพชรบูรณ์.
องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570) องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.wangban.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล. (ม.ป.ป.). สถานที่ท่องเที่ยวองค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2567. จาก https://www.wangban.go.th/