Advance search

ชุมชนที่มีหลากหลายชาติพันธุ์ เป็นป่าไม้ภูเขา มีการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีที่เพิงผาบ้านไร่ มีพิพิธภัณฑ์บ้านไร่ที่เปรียบเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต

สบป่อง
ปางมะผ้า
แม่ฮ่องสอน
อบต.สบป่อง โทร. 0-5361-7157
ชลิดา พัศโน
15 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
25 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
25 ก.พ. 2024
บ้านไร่

บ้านไร่มีความอุดมสมบูรณ์จากตะกอนทับถมที่มาจากลำน้ำลาง ประกอบกับที่ราบกว้างใหญ่ทำให้เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จนเป็นที่มาของชื่อ “บ้านไร่” หรือ “บ้านไฮ่” ในภาษาไทใหญ่


ชุมชนที่มีหลากหลายชาติพันธุ์ เป็นป่าไม้ภูเขา มีการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีที่เพิงผาบ้านไร่ มีพิพิธภัณฑ์บ้านไร่ที่เปรียบเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต

สบป่อง
ปางมะผ้า
แม่ฮ่องสอน
58150
19.537172171103965
98.2086894245564
องค์การบริหารส่วนตำบลสบป่อง

“ชุมชนบ้านไร่” เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างหุบเขาขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในอำเภอปางมะผ้า รองจากบ้านแม่ละนา ตั้งอยู่ในตำบลสบป่อง มีหย่อมบ้านที่อยู่ในเขตปกครองของหมู่บ้านบ้านไร่รวม 4 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านไร่ บ้านท่าไคร้ บ้านสามหลัง และบ้านน้ำบ่อสะเป่ บนยอดดอยในแนวเทือกเขาท้ายหย่อมบ้านไร่ เป็นกลุ่มบ้านใหญ่ของชาวลีซู

บ้านไร่มีความอุดมสมบูรณ์จากตะกอนทับถมที่มาจากลำน้ำลางประกอบกับที่ราบกว้างใหญ่ ทำให้เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จนเป็นที่มาของชื่อ “บ้านไร่” หรือ “บ้านไฮ่” ในภาษาไทใหญ่ และกลายเป็นหมู่บ้านหนึ่งเดียวของปางมะผ้าที่มีคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ร่วมกัน ชาวบ้านไร่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ คนเมือง คนไทยจากภาคอื่น ๆ นับถือศาสนาพุทธ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งนับถือศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าเมืองที่มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มครองดูแลตามความเชื่อของชาวไทใหญ่

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในพื้นที่บ้านไร่มีจำนวนมาก ประกอบด้วย 1) โลงไม้ ที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่ในหุบเขาท้ายหมู่บ้าน 2) มูยา (กล้องยาสูบ) มีสภาพไม่สมบูรณ์ พบในพื้นที่เกษตรกรรม 3) อิฐสีแดง สภาพแตกหัก พบบริเวณสนาม ฮ. ในศูนย์วิจัยข้าว ที่นาของชาวบ้าน 4) พระพุทธรูป จากคำบอกเล่าบางองค์ที่มีรูปแบบศิลปะแบบสิงห์ พบในบริเวณสำนักงานศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน 5) หมวกเหล็ก สันนิษฐานจากรูปดาวบนหมวกว่าเป็นของทหารญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านและถอยกลับของทหารญี่ปุ่นจากไทยไปพม่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง 6) ดาบเหล็ก หรือดาบซามูไร 7) ปืน สันนิษฐานว่าเป็นของทหารญี่ปุ่นเช่นกัน เศษภาชนะดินเผา พบในพื้นที่เกษตรกรรม

นอกจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เพิงผาบ้านไร่แล้ว ยังพบเครื่องมือหิน ร่องรอยกองไฟของคนก่อนประวัติศาสตร์ เศษภาชนะดินเผาสมัยวัฒนธรรมโลงไม้ โครงกระดูกคน กระดูกสัตว์ ซึ่งหลักฐานบางส่วนได้จัดแสดงร่วมกับสิ่งของเครื่องใช้ของชาวบ้านไร่ เพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ที่ศูนย์ข้อมูลประจำหมู่บ้าน

ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าไม้ ภูเขา ลําห้วยจึงทําให้มีกลุ่มชาติพันธุ์จํานวนมากที่อาศัยอยู่รวมกัน โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสบป่อง อยู่ในเขตอำเภอปางมะผ้า ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงหมายเลข 1095 สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 306 หมู่ 1 ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ห่างจากที่ว่าการ อำเภอปางมะผ้าประมาณ 700 เมตร ห่างจากอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 65 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย, ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า, ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

มีกลุ่มชาติพันธุ์จํานวนมากที่อาศัยอยู่รวมกันถึง 10 ชนเผ่า ได้แก่ คนเมือง ไทยกลาง ไต ลีซู ม้ง ลาหู่ จีน กะเหรี่ยง ปะโอ อีสาน แต่ละชนเผ่ามีการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตัวเองในรูปแบบวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม สินค้าหัตถกรรม อาหารชาติพันธุ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การละเล่น ที่พักอาศัยและการสื่อสารเรื่องความเชื่อทางชาติพันธุ์ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็น "สังคมพหุวัฒนธรรม" ที่หลากหลายทําให้กลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนบ้านไร่ได้แสดงออกและธํารงรักษาวัฒนธรรมพื้นถิ่นของตนไว้ได้เป็นอย่างดี สามารถอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันได้อย่างสงบสุข โดยไม่เคยปรากฏพบปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างภาษาและวัฒนธรรมแต่อย่างใด และเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์อันกลมเกลียวแน่นแฟ้นกันมาโดยตลอด ด้านสังคมเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์เป็นแบบเครือญาติ จํานวน 436 ครัวเรือน ประชากร 1,468 คน คนในชุมชนมีความรักใคร่และผูกพันกัน มีความเอื้ออาทรพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

จีน, ไทยวน, ไทใหญ่, ปกาเกอะญอ, ปะโอ, ม้ง, ลาหู่, ลีซู

ด้านเศรษฐกิจจากการประกอบอาชีพหลักคือ เกษตรกรรม จึงมีการนําแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติในชุมชนแบบเกษตรผสมผสาน ทําให้เกิดการรวมกลุ่มสมาชิกและมักจะได้รับการเสริมสร้างพลังอํานาจในระดับชุมชน การดํารงชีพของชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรในการผลิต การจําหน่าย การระดมทุน การออมทรัพย์เพื่อเป็นสถาบันทางการเงินของชุมชน มีกิจกรรมลดรายจ่าย เพิ่มรายได้เพื่อส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของชุมชน และจัดระบบตลาดในชุมชน เพื่อการแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างชุมชนต่อชุมชน และระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยผ่านการเสริมสร้างพลังอํานาจของชุมชนในระดับบุคคลและชุมชนซึ่งเป็นกลไกสําคัญที่จะทําให้เกิดความยั่งยืนของชุมชนแห่งการเรียนรู้ 

มีการกระจายอํานาจแบ่งการปกครองชุมชนเป็นกลุ่มบ้าน คือ บ้านน้ำบ่อสะเป่ บ้านท่าไคร้ และบ้านสามหลัง แต่ละกลุ่มบ้านมีผู้นําเพื่อช่วยการบริหารและประสานการดําเนินกิจกรรม และผู้ใหญ่บ้านมีความสําคัญแบบบารมีชนเป็นผู้ประสานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับประชาชนเป็นผู้นําทางจิตวิทยาในระดับชุมชน เป็นกลไกที่สําคัญให้เกิดการรวมกลุ่ม การระดมความคิด การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ จึงเป็นกลไกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นเป็นพื้นฐานทําให้ชาวบ้านนั้นเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเป็นการกําหนดทิศทางการพัฒนาหมู่บ้านและการระดมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อช่วยการบริหารและประสานการดําเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน โดยมีการออกกฎ ระเบียบและข้อบังคับของชุมชน มีการรณรงค์กิจกรรมทางการเมืองในการไปใช้สิทธิ์การเลือกตั้งทุกระดับ

สังคม ประเพณี และวัฒนธรรม ประกอบด้วยประชากรหลากหลายชนเผ่า จึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณีที่สำคัญ คือ เทศกาลปีใหม่เมือง เทศกาลกินวอ หรือเทศกาลปีใหม่ของแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีการละเล่น การแสดงวัฒนธรรม ประเพณีที่ไม่เหมือนกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

สืบเนื่องจากโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนนำทีมโดย ศ.ดร. รัศมี ชูทรงเดช เข้าไปสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่หมู่บ้านบ้านไร่ ส่งผลให้ชาวบ้านในท้องที่เกิดความสนใจถึงกระบวนการศึกษาทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ซัวหยี้ แซ่หัน จึงมีแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นภายในหมู่บ้าน โดยใช้อาคารอเนกประสงค์ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้านเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนความรู้จากโครงการทางโบราณคดีฯ และกองทุนเอกอัครราชทูต เพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ภายในพิพิธภัณฑ์ นำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่น อีกทั้งยังเล่าเรื่องทั้งในอดีต ปัจจุบัน และสิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ผ่านป้ายนิทรรศการ สิ่งของเครื่องใช้ที่จัดแสดงอยู่ภายใน ทั้งที่เป็นโบราณวัตถุจากการขุดค้นและเครื่องใช้ปัจจุบัน อาทิ แคนม้ง เครื่องตัดยาเส้น ตาชั่งยา ก๊อกแป หีบตีข้าว เป็นต้น ซึ่งได้รับบริจาคจากชาวบ้านในชุมชน โดยมีเยาวชนในชุมชนรับหน้าที่เป็นเจ้าบ้านน้อยเป็นผู้นำชมภายในพิพิธภัณฑ์ นอกจากการเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว ผู้มาเยี่ยมเยือนสามารถเดินทางไปยังแหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 10,600-9,700 ปีมาแล้ว

แหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่

อยู่ในเขตอนุรักษ์และดูแลของบ้านไร่ เป็นที่รู้จักกันในพื้นที่ปางมะผ้ามานานแล้ว ว่าเป็นเพิงผาเปิดโล่งขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งเต็มไปด้วยโลงผีแมน แต่ได้รับความสนใจจากผู้คนภายนอกเมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยคณะสำรวจถ้ำชาวออสเตรเลีย ในปีถัดมากรมศิลปากรจึงได้ทำการสำรวจและทำผังกำหนดเป็นแหล่งโบราณคดี จากนั้นในปี พ.ศ. 2544 คณะของ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ได้เข้ามาสำรวจอีกครั้งและขุดค้นพบแหล่งโบราณคดีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. เพื่อศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในอดีตเกี่ยวกับโบราณคดี สิ่งแวดล้อมโบราณ และกายภาพของคนสมัยโบราณ ผลการศึกษาพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายยุคสมัย อาทิ เครื่องมือหินกะเทาะ กระดูกสัตว์ ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนโลงไม้ที่พบกระจายทั่วไปตามแนวเพิงผา ซึ่งเป็นหลักฐานเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความตายของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือยุคโลหะ หลักฐานทั้งหมดเหล่านี้แสดงถึงความต่อเนื่องของการใช้เพิงผาเพื่อเป็นที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอยู่อาศัย และประกอบพิธีกรรม

แหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่อยู่สูงจากเชิงเขาประมาณ 170 เมตร มีระยะทางในการเดินราว 300-400 เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง มีลักษณะเป็นเพิงผารูปวงโค้งเกือกม้า ขนาด 105x142 เมตร ปากทางเข้าหันออกทางทิศเหนือ เพิงผามีความสูงประมาณ 30 เมตร บริเวณตรงกลางเป็นหลุมยุบมีไม้ยืนต้นค่อนข้างหนาแน่น ตลอดแนวเพิงผามีโลงไม้ คาน และเสาจำนวนมาก กระจายตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่บริเวณเพิงผาด้านทิศตะวันออก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบ้านไร่ ตําบลสบป่อง อําเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งท่ามกลางแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ความแตกต่างทางชนชั้นที่มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นชุมชนมีบริบทด้านสังคม การเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจในสังคมพหุวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ มีรูปแบบวิธีการอยู่รวมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ุเป็นอย่างไร ที่จะทำให้เข้าใจต่อการอยู่ร่วมกัน

เรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุขบนพื้นฐานของความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรมในชุมชนนี้ ปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุขบนพื้นฐานของความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรมของชุมชนบ้านไร่ คือ

  1. สภาผู้นําชุมชนเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนโครงการและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้โอกาสคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมสํารวจและวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมปฏิบัติการและร่วมติดตามประเมินผล ทำให้ชุมชนและท้องถิ่นเกิดกิจกรรม และโครงการที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
  2. กระบวนการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์การใช้หลักการพูดคุยเจรจาเป็นวิธีการในการประนีประนอมทำความเข้าใจเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยมีผู้นําที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการซึ่งเป็นที่ยอมรับและศรัทธาของคนในชุมชน เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นําอาวุโสหรือผู้นำชนเผ่าเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพย์สิน ร่างกาย และจิตใจซึ่งกันและกัน
  3. กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเน้นการเรียนรู้ร่วมกันจากกิจกรรมต่าง ๆ ตามบทบาทหน้าที่ในการทำงานให้เกิดการยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างของแต่ละคนการช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างมีเหตุมีผล
  4. กฎกติกา/กฎระเบียบชุมชนมีการกําหนดกฎกติกาที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นระเบียบชุมชนเพื่อเป็นแนวทางข้อปฏิบัติร่วมกันของชุมชนเช่น กฎระเบียบหมู่บ้าน กฎระเบียบป่าชุมชน กฎระเบียบของกลุ่มต่าง ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผุสดี รอดเจริญ. (2555). พิพิธภัณฑ์บ้านไร่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://db.sac.or.th/museum/

ภัทรชัย อุทาพันธ์, ประชัน ชะชิกุล, วิเชียร แสนมี และประภาส แก้วเกตุพงษ์. (2565). การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุขบนพื้นฐานของความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม กรณีศึกษาชุมชนบ้านไร่ ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. วารสารสังคมศาสตร์และศาสตร์รวมสมัย. 3(2), 3-7.

รัศมี ชูทรงเดช (2546). โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน (เล่มที่ 4: การขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่): รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. 

องค์การบริหารส่ววนตำบลสบป่อง. (2566). ข้อมูลทั่วไป. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.soppong.go.th/

อบต.สบป่อง โทร. 0-5361-7157