หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไท สืบสานภูมิปัญญาการรักษาโรคด้วยพิธีกรรมเหยาที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปลูกฝังค่านิยมตามแบบฉบับชาวผู้ไท เอกลักษณ์ที่พบเห็นได้จากบ้านม่วงไข่
หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไท สืบสานภูมิปัญญาการรักษาโรคด้วยพิธีกรรมเหยาที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปลูกฝังค่านิยมตามแบบฉบับชาวผู้ไท เอกลักษณ์ที่พบเห็นได้จากบ้านม่วงไข่
จากการรวบรวมหลักฐานการบันทึกเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นของชาวผู้ไท ซึ่งอธิบายถึงการอพยพเข้ามาของชาติพันธุ์ผู้ไทว่า เดิมอพยพมาจากเมืองวัง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้วยเหตุว่าเมืองวังถูกรุกรานจากเมืองเวียงจันทน์ทำให้ประชาชนชาวเมืองวังต้องอพยพข้ามฝั่งโขงเข้ามายังประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเลือกตั้งรกรากอยู่แถบจังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร และจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามบริเวณลุ่มน้ำเพื่อทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์
บ้านม่วงไข่ก็เป็นชนผู้ไทอีกกลุ่มหนึ่งที่คาดว่าอพยพมาจากเมืองวังเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นเดียวกัน โดยเริ่มแรกนั้นชาวบ้านม่วงไข่อาศัยอยู่ร่วมกับชุมชนอื่น แต่อยู่ไปได้สักระยะหนึ่งจำนวนประชากรเกิดการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ชุมชนแออัด ที่ดินทำกินมีไม่เพียงพอ เมื่อราว พ.ศ. 2486 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงได้แยกตัวออกมาก่อตั้งหมู่บ้านใหม่ เรียกชื่อว่า "บ้านม่วงไข่" การอพยพครั้งแรกมีตระกูลหลัก 6 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลอารมณ์สวะ ตระกูลหาศิริ ตระกูลสีเทา ตระกูลเรืองชัย ตระกูลวัดเข้าหลาม และตระกูลศรีเสน การย้ายเข้ามาครั้งแรกนั้นขึ้นอยู่ในเขตปกครองบ้านดงหมู ภายหลังจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ผู้คนจึงย้ายออกมาเพื่อจับจองรกรากตั้งถิ่นฐานทำกิน แต่ยังคงรับเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทอย่างเคร่งครัด ทำให้บ้านม่วงไข่ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวผู้ไทที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพชน
อาณาเขตติดต่อ
บ้านม่วงไข่ ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเขาวง อยู่ในเขตปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลคุ้มเก่า มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนสายเขาวง และอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดงหมู หมู่ที่ 11 ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านดอนไม้คุ้ม และบ้านแดนสามัคคี ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านกุดบอด และบ้านหนองแสง ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านม่วงไข่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ ดินอุดมสมบูรณ์ มีป่าละเมาะตามหัวไร่ปลายนาเป็นหย่อม ๆ สลับกับที่นารอบหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นที่หาอยู่หากินตามธรรมชาติ เช่น หน่อไม้ หวาย แมลง พืชผัก และเห็ดต่าง ๆ ตามฤดูกาล ด้านสภาพภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมีลมกรรโชกแรง ฤดูร้อนเริ่มประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และฤดูฝนประมาณปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนกันยายน โดยบ้านม่วงไข่นับเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำนาตลอดทั้งปี เพราะอยู่ใกล้ต้นน้ำลำพะยังและยังมีการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาภูพาน ประกอบกับมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมด้วย ซึ่งอำเภอเขาวางเองก็ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวเหนียวที่มีคุณภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์
ทั้งนี้ บ้านม่วงไข่เป็นหมู่บ้านที่แยกออกห่างจากหมู่บ้านอื่น อีกทั้งยังมีจำนวนประชากรไม่มากนักจึงทำให้เป็นชุมชนที่เงียบสงบ ปลอดจากเสียงอึกทึกครึกโครม เป็นหมู่บ้านที่อยู่กับธรรมชาติ และมีอากาศบริสุทธิ์ปลอดโปร่งตลอดทั้งปี
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านม่วงไข่ ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 289 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 138 คน ประชากรหญิง 151 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 133 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวผู้ไทที่สืบเชื้อสายจากเมืองวัง ก่อนอพยพข้ามฝั่งมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศไทยเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 3
ผู้ไทชาวบ้านม่วงไข่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรโดยทำนาเป็นหลัก ผลผลิตที่ได้จากการทำนาในแต่ละปีชาวบ้านจะแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะนำไปจำหน่าย และอีกส่วนหนึ่งเก็บใส่ยุ้งฉางไว้บริโภคตลอดทั้งปี เมื่อหมดฤดูกาลผลิต ชาวบ้านม่วงไข่จะประกอบอาชีพเสริม คือ การทำไร่ ทำสวน งานหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมือง ผ้าย้อมสี ผ้าไหม งานจักสาน และรับจ้างต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชนเมื่อยามว่างเว้นจากการทำนา
อย่างไรก็ตาม ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป ชาวบ้านเริ่มมองเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ปัจจุบันจึงนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนประจำอำเภอหรือโรงเรียนประจำจังหวัดแล้วศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษาจะนิยมสอบเข้ารับราชการซึ่งเป็นค่านิยมของชาวบ้านในชุมชนเพื่อยกระดับฐานะครอบครัว บางส่วนที่ไม่ได้รับราชการก็จะเลือกประกอบอาชีพอื่น เช่น พนักงานบริษัท ห้างร้าน รัฐวิสาหกิจ
ชาวบ้านม่วงไข่ส่วนมากแล้วนับถือศาสนาพุทธเป็นหลักควบคู่ไปกับการนับถือผีตามคติความเชื่อดั้งเดิมของชาวผู้ไท มีการสืบถอดประเพณีและวัฒนธรรมโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรม ความเชื่อ มีวัฒนธรรม ประเพณีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวผู้ไทโดยเฉพาะประเพณีเกี่ยวกับวงจรชีวิต ประกอบด้วย ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด ประเพณีเกี่ยวกับการแต่งงานของคนผู้ไท และประเพณีเกี่ยวกับการตาย รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีฮีต 12 คอง 14 ที่ยังคงยึดถือปฏิบัติสืบต่อมาบนฐานความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่ได้ยึดโยงกับสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้คนในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและมีการสืบทอดจนกลายเป็นแบบแผนในการยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
- เดือนอ้าย (เดือนเจียง) บุญเข้ากรรม : เป็นพิธีกรรมที่พระสงฆ์ผู้กระทำความผิดจะได้สารภาพความผิดต่อหน้าคณะสงฆ์ และสำนึกในความผิดของตน
- เดือนยี่ บุญคูณลาน : พิธีกรรมการทำขวัญข้าวหลังนำข้าวขึ้นยุ้ง โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์และทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์จะเข้าสู่ช่วงของการประพรมน้ำมนต์ตามกองข้าว วัว ควาย อุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับทำการเกษตรเพื่อความเป็นสิริมงคล
- เดือนสาม บุญข้าวจี่ : ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวและอุปกรณ์การทำข้าวจี่มารวมกันที่วัดเพื่อทำข้าวจี่ถวายพระสงฆ์ บุญข้าวจี่นี้จะไม่ทำเป็นประจำทุกปี แต่จะเว้นช่วง 2-3 ปี ต่อครั้ง
- เดือนสี่ บุญผะเหวด (เทศน์มหาชาติ) : เป็นประเพณีสำคัญประจำปีที่ชาวบ้านจะร่วมกันหาปัจจัยมารวมกันเป็นกองบุญ เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ ทั้งยังเป็นการฟังเทศน์ครั้งใหญ่ประจำปี คือ การฟังเทศน์เรื่อง พระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์ เชื่อว่าหากผู้ใดฟังเทศน์จบทั้ง 13 กัณฑ์ได้ภายในวันเดียวจะได้กุศลมาก
- เดือนห้า บุญสงกรานต์ : ประเพณีที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน บุญสงกรานต์นี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบุญรวมญาติก็ได้ เนื่องจากเป็นเทศกาลที่ญาติพี่น้องได้กลับมารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในรอบปี
- เดือนหก บุญบั้งไฟ : บุญบั้งไฟนี้จะไม่มีการกำหนดวันแน่นอน แต่จะทำการกำหนดวันขึ้นใหม่ในปีที่จะจัดงาน แล้วประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้โดยทั่วกัน ในการเข้าร่วมงานบุญบั้งไฟ ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชาวผู้ไท นับเป็นงานประเพณีที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทได้เป็นอย่างดี
- เดือนเจ็ด บุญซำฮะ : คือการชำระล้างจิตใจให้สะอาดก่อนเข้าพรรษา มีการทำบุญถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ และทำบุญที่ดินผีปู่ตาให้คุ้มครองหมู่บ้านและคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขปราศจากความวุ่นวาย
- เดือนแปด เข้าพรรษา : เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ และเวียนเทียนรอบศาลาวัด
- เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน : คือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ภูตผีไร้ญาติ โดยการนำอาหารใส่กระทงวางไว้ตามโคนไม้หรือชายคาบ้าน เพื่อไม่ให้ภูตผีไร้ญาติมาทำร้ายบุตรหลาน
- เดือนสิบ บุญข้าวสาก : บุญข้าวสากหรือกระยาสารท เป็นประเพณีการทำบุญที่จะมีการเขียนสลากแจ้งของสำรับอาหารและเครื่องไทยทานไว้ในถาดอาหาร พระภิกษุรูปใดจับได้สลากสำรับใด ก็รับปัจจัยเครื่องไทยทานของเจ้าภาพผู้นั้น
- เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา : จะถูกจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระสงฆ์จะไปรวมกันที่อุโบสถเพื่อแสดงอาบัติต่อกัน จากนั้นจะทําวัตรและทําปวารณาแทนการสวดปาฏิโมกข์ ส่วนชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารไปทําบุญตักบาตรที่วัดในตอนรุ่งเข้า และถวายผ้าจํานําพรรษาแด่ภิกษุสามเณร ตอนค่ำมีการเวียนเทียน
- เดือนสิบสอง บุญกฐิน : เป็นประเพณีที่จัดขึ้นหลังออกพรรษาภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยการตั้งองค์กฐินไปทอดถวายที่วัด พร้อมสิ่งของปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์เทศน์ฉลองกฐิน 1 กัณฑ์ พร้อมให้ศีลให้พร
นอกจากนี้ ชาวบ้านม่วงไข่ยังมีประเพณีที่ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นประเพณีที่ปรากฏเฉพาะในกลุ่มชาวผู้ไทเท่านั้น คือ ประเพณีแต่งงานชาวผู้ไท
ประเพณีแต่งงานชาวผู้ไท เริ่มต้นขึ้นเมื่อหนุ่มสาวผูกสมัครรักใคร่ และตกลงที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน พ่อแม่ฝ่ายชายจะทำขอหมั้นหมายฝ่ายหญิงจากพ่อแม่ โดยมีคู่สามีภรรยาซึ่งเป็นแบบอย่างในการครองเรือนมาเป็นตัวกลางในการสู่ขอ เรียกว่า “พ่อล่ามแม่ล่าม” ซึ่งต่อไปจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของบ่าวสาว นอกจากนี้ ในประเพณีแต่งงานของชาวผู้ไทยังมีพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับคู่บ่าวสาว เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่
อนึ่ง ชุมชนผู้ไทบ้านม่วงไข่ยังปรากฏคติความเชื่อเรื่องตำนานผีบรรพบุรุษและสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติสืบทอดต่อกันมา เช่น ความเชื่อเรื่องผีเหยา ผีเฮือน ผีปู่ตาบ้าน ผีปู่ตานา ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของคนในชุมชนโดยใช้การนับถือผีมาเป็นสื่อกลางความสัมพันธ์และข้อปฏิบัติภายในชุมชนจนทำให้เกิดการสืบทอดเป็นประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามสืบต่อกันมา
ทุนภูมิปัญญา
การรักษาโรคด้วยพิธีกรรมเหยา
พิธีเหยา เป็นความเชื่อและพิธีกรรมในการรักษาสุขภาพของคนในชุมชนผู้ไทบ้านม่วงไข่ที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพกาล อันสืบเนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือผี เป็นการทำพิธีเพื่อติดต่อระหว่างผีกับคน ให้ผู้ช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนโดยเฉพาะการเจ็บไข้ได้ป่วย พิธีกรรมนี้เป็นการเสี่ยงทายเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นในครอบครัว โดยการเจ็บป่วยนี้จะเชื่อว่าเป็นการกระทำของผี จึงต้องทำการเหยาเพื่อแก้ผี และเพื่อจะได้ทราบว่าผีต้องการอะไร หรือผู้เจ็บป่วยทำผิดผีอะไร เชื่อว่าหากแก้ผีแล้ว อาการเจ็บป่วยจะหายเป็นปกติ
มูลเหตุที่ต้องมีการเหยามาจากสภาพสังคมดั้งเดิมที่ไม่มีสถานพยาบาลรับรองความเจ็บป่วย ก่อให้เกิดความจำเป็นที่ต้องดิ้นรนหาที่พึ่งยามเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนใหญ่นั้นใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่มีในท้องถิ่นในการรักษาและดูแลสุขภาพ ในอดีตการรักษาโรคภัยไข้เจ็บจำเป็นต้องอาศัยผีเป็นผู้วินิจฉัยโรคบอกวิธีรักษา แต่ในปัจจุบันแม้มีการแพทย์แผนใหม่ที่สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แต่โรคบางโรคหรืออาการบางอย่างรักษาไม่หาย ผู้ป่วยที่ไม่มีที่พึ่งจึงจำเป็นต้องพึ่งพิธีกรรม อย่างน้อยจะทำให้จิตใจผู้ป่วยดีขึ้น จึงจัดเป็นพิธีกรรมที่สร้างขวัญและกำลังใจกับผู้ป่วยเป็นหลัก เมื่อผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือผู้ป่วยหายจากโรคและอาการเจ็บป่วยก็จะทำพิธีการเหยา ผู้ที่ทำพิธีการเหยาเรียกว่า หมอเหยา เป็นผู้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษโดยปู่ ย่า ตายาย แม่ เป็นหมอเหยามาก่อน ลูกก็จะสืบทอดการเป็นหมอเหยา การเหยาเป็นการติดต่อสื่อสารของมนุษย์และวิญญาณ ซึ่งการติดต่อสื่อสารจะใช้ท่วงทำนองของดนตรีหรือที่ชาวผู้ไทยเรียกว่า กลอนลำ (หมอลำ) มีเครื่องดนตรีประเภทแคนประกอบการให้จังหวะ วิธีการติดต่อสื่อสาร กลอนลำและทำนอง เรียกว่า การเหยา
ผ้าทอผู้ไทบ้านม่วงไข่
ตั้งแต่อดีตชาวผู้ไทบ้านม่วงไข่จะผลิตเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นไว้ใช้เอง โดยชาวบ้านจะปลูกฝ้ายไว้สำหรับทอผ้า ทุกครัวเรือนจะมีกี่ทอผ้าไว้ใต้ถุนเรือน โดยเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าทอผู้ไท คือ ใช้โทนสีครามเป็นหลัก รองลงมา คือ สีน้ำเงิน และสีดำ มีลายขลิบสีแดง ปัจจุบันมีการประยุกต์แบบเสื้อผ้าให้ตามสมัยนิยม แต่ยังคงเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ผู้ไทไว้ คือ มีแถบลายขิดหรือปักลายประดับตัวเสื้อ ซึ่งผ้าทอนี้นอกจากจะทอไว้ใช้เองแล้ว บางส่วนยังสามารถนำออกไปขายสร้างเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย
ภาษาพูด : ภาษาผู้ไทและภาษาอีสาน (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษากลาง (ภาษาราชการ)
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
กนกนาถ โพธิ์สัย และคณะ. (2552). โครงการสวนหลังบ้าน: วิถีการพึ่งตนเองของคนผู้ไทบ้านม่วงไข่ บ้านม่วงไข่ หมู่ที่ 5 ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
นิตยา เดชโคบุตร นุจรี ใจประนบ และ พุทธิพงษ์ หงส์ทอง. (2560). ทุนทางสังคมของชาติพันธุ์ผู้ไทเพื่อการพัฒนา : กรณีศึกษาบ้านม่วงไข่ ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์. วารสารช่อพะยอม, 28(2), 286-295.