Advance search

หมู่บ้านหลากหลายวัฒนธรรมและความเชื่อ ตีแผ่ผ่านวิถีชีวิตชาวม้ง ณ บ้านขุนสาใน

หมู่ที่ 5
บ้านขุนสาใน
โป่งสา
ปาย
แม่ฮ่องสอน
อบต.โป่งสา โทร. 0-5306-4100
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 ก.พ. 2024
บ้านขุนสาใน


หมู่บ้านหลากหลายวัฒนธรรมและความเชื่อ ตีแผ่ผ่านวิถีชีวิตชาวม้ง ณ บ้านขุนสาใน

บ้านขุนสาใน
หมู่ที่ 5
โป่งสา
ปาย
แม่ฮ่องสอน
58130
19.09594701
98.64162549
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งสา

บรรพบุรุษของบ้านขุนสาในเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากประเทศจีน สาเหตุคือการหนีทหารมา โดยตั้งรกรากถิ่นฐานที่บ้านขุนสาใน ได้เดินทางผ่านจังหวัดเชียงใหม่ ดงสามหมื่น ห้วยน้ำดัง แม่สาย ผ่านอำเภอปาย ห้วยพระเจ้าจนมาถึงที่ตั้งถิ่นฐานในปัจจุบัน หมู่บ้านมีอายุประมาณ 90 ปี โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยดังนี้ 

พ.ศ. 2540 หมู่บ้านเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นและทำนา ในสมัยนั้นมีการปลูกฝิ่นรอบพื้นที่ทำกิน โดยได้นำเมล็ดพันธุ์ฝิ่นมาจากประเทศจีน จุดประสงค์ในการปลูกคือ เพื่อเสพและจำหน่ายให้กับพ่อค้าจีนฮ่อที่มารับซื้อฝิ่นมาจากแถบตอนล่างของประเทศจีน โดยเดินทางเข้ามาทางอำเภอปางมะผ้าจนถึงบ้านขุนสาใน ใช้ม้าเป็นพาหนะในการเดินทาง ในการเดินทางแต่ละครั้งจะรวมกลุ่มกันประมาณ 20 คน ต่อมาการระบาดของฝิ่นมากยิ่งขึ้นทำให้ทางการไทยเข้มงวดเรื่องการปลูกฝิ่น ทำให้ปัจจุบันบ้านขุนสาในไม่มีการปลูกฝิ่นแล้ว

พ.ศ. 2505 ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายเล่าซือ เราเท่า เป็นผู้นำที่ได้รับการคัดเลือกจากคนในชุมชน

พ.ศ. 2518 สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้มีการส่งตัวแทนของชาวบ้านคือ นายเลาหลี เข้าร่วมพูดคุยปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อต้องการที่ดินทำกิน

พ.ศ. 2520 รัฐบาลสั่งการให้มีการปราบปรามฝิ่นในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกข้าวแทน

พ.ศ. 2521 หมู่บ้านขุนสาในได้รับงบประมาณในการสร้างบ่อน้ำพักจากประธานสภาในสมัยนั้น

พ.ศ. 2522 สำนักงานเกษตรอำเภอปายเข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยแนะนำให้ปลูกกะหล่ำปลี แครอท มะเขือเทศ และผลไม้เมืองหนาว ในตอนแรกได้รับการตอบรับจากชาวบ้านในจำนวนที่น้อยมาก

พ.ศ. 2526 ก่อตั้งโรงเรียนบ้านขุนสาใน สังกัดหน่วยสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์

พ.ศ. 2545 บ้านขุนสาในมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นครั้งแรกคือ นายกวนอู เราเท่า และนายเพชรรัชต์ เราย้าง โดยดำรงตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ. 2548

พ.ศ. 2550 องค์การบริหารส่วนตำบลได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างถนนคอนกรีตเพื่อการคมนาคม

บ้านขุนสาในอยู่ห่างจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ 170 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอปายประมาณ 80 กิโลเมตร การเดินทางโดยเฉพาะฤดูฝนค่อนข้างลำบากและใช้เวลานานพอสมควร ส่วนในฤดูแล้งการเดินทางสะดวกขึ้นแต่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นแนวยาวล้อมรอบหมู่บ้าน หมู่บ้านตั้งอยู่ในหุบเขา มีป่าไม้อยู่รอบๆ และมีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขามีความลาดชัน บริเวณรอบตัวหมู่บ้านจะเป็นพื้นที่ทำการเกษตร โดยบ้านขุนสาในมีอาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอแตง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโป่งสา หมู่ที่ 1 อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยไร่ หมู่ที่ 2 อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ลักษณะภูมิอากาศ

บ้านขุนสาใน มีลักษณะภูมิอากาศหนาว เนื่องจากหมู่บ้านอยู่บนที่สูง มีฤดูทั้งหมด 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน ประมาณช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนจัดโดยเฉพาะเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
  • ฤดูฝน ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ฝนตกหนักเป็นระยะซึ่งช่วงนี้ชาวบ้านจะปลูกข้าวและปลูกพืช เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำปลี พริก เป็นต้น
  • ฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวเย็นถึงหนาวจัดมีลมแรงในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

ลักษณะการตั้งบ้านเรือน

การตั้งบ้านเรือนโดยทั่วไปของชาวเขาเผ่าม้ง จะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นหุบเขามีภูเขาล้อมรอบและมีพื้นที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก การสร้างบ้านเรือนจะเป็นบ้านไม้หลังใหญ่มิดชิด พื้นบ้านเป็นพื้นดิน บ้างก็เป็นพื้นปูน แต่ส่วนมากจะเป็นพื้นดินเนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นประกอบกับมีสมาชิกภายในครัวเรือนหลายคน ห้องนอนก็จะแบ่งเป็นห้อง ๆ ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกภายในครอบครัว ห้องครัวจะแยกออกจากจากตัวบ้าน บางครัวเรือนประกอบอาหารภายในบ้านโดยจะแยกประกอบอาหารกับพื้นที่นอน ส่วนห้องน้ำจะอยู่ภายนอกของตัวบ้าน

ประชากร

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านขุนสาใน ตำบลโป่งสา อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 940 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 479 คน ประชากรหญิง 461 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 214ครัวเรือน

ระบบเครือญาติ

ลักษณะครอบครัวในหมู่บ้านขุนสาในมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย เมื่อแต่งงานแล้วจะไปอาศัยอยู่บ้านฝ่ายชาย ภายในหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันทางชุมชนเนื่องจากมีบรรพบุรุษข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกัน 3 ตระกูลหลัก คือ ตระกูลเราเท่า ตระกูลเลาลี ตระกูลเราย้าง จึงมีความผูกพันทำให้คนในชุมชนมีความปรองดองช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยชาวม้งจะให้ความสำคัญในเรื่องของความกตัญญูต่อพ่อแม่ โดยพ่อมีหน้าที่หลักคือเป็นหัวหน้าครอบครัวทุกคนภายในบ้านจะต้องเชื่อฟังและเคารพต่อพ่อ ส่วนบทบาทหน้าที่ของแม่จะต้องเลี้ยงดูลูก ทำไร่ทำนา และดูแลงานบ้านทุกอย่างภายในครอบครัว

ม้ง

ชาวบ้านขุนสาในส่วนใหญ่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูกพืชพื้นบ้านและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก โดยนอกเหนือจากการปลูกข้าว พืชผัก และข้าวโพดเลี้ยงการยังชีพแล้ว การปลูกฝิ่นถือเป็นพืชที่นำมาซึ่งรายได้หลักของคนม้ง จนกระทั่งราว พ.ศ. 2520 ที่ทางราชการเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับมีโครงการพัฒนาพันธุ์พืชทดแทนฝิ่น เริ่มเข้าไปนำเสนอให้กับชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงด้วย ทำให้ชาวม้งเริ่มหันมาปลูกพืชผักและไม้ผลอย่างอื่นเข้ามาแทนที่ฝิ่นตามการส่งเสริมขององค์กรต่าง ๆ และตามกลไกของตลาดนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาชีพเกษตรนั้นถือเป็นอาชีพหลัก และหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการทำการเกษตร เช่น ข้าราชการ และรับจ้างทั่วไป 

การทำการเกษตรในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนอีกต่อไป มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงทำการผลิตข้าวไว้บริโภค แต่ส่วนใหญ่นั้นได้หันมาปลูกพืชเชิงพาณิชย์กันอย่างแพร่หลาย แล้วนำเงินที่ได้มานั้นไปซื้อข้าวและพืชผักต่าง ๆ ที่ตนเองเคยปลูกไว้ตามไร่นาเพื่อบริโภคในครัวเรือนเมื่อครั้งอดีต นอกจากอาชีพการเกษตรแล้ว ยังผันตนเองมาทำการค้าขายกับสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าปัก เริ่มตั้งแต่การมีสถานประกอบการไปจนถึงการเป็นกิจการอุตสาหกรรมครัวเรือนขนาดเล็กนอกจากนี้ชาวบ้านขุนสาในยังมีการรวมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ได้แก่ กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสหกรณ์หมู่บ้าน และกลุ่มปักผ้า

ศาสนา 

บ้านขุนสาในมีการนับถือศาสนา 2 ศาสนา คือ ศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ และรองลงมา คือ ศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการนับถือผีบรรพบุรุษ ในอดีตมีการนับถือผีตามบรรพบุรุษ แต่ภายหลังมีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์เข้ามา ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงจากการนับถือผีบรรพบุรุษเป็นศาสนาคริสต์แทน ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือคริสตศาสนา มีโบสถ์ทางศาสนาคริสต์เป็นสถานที่สำคัญในการทำกิจกรรมทางศาสนา เมื่อมีการเผยแพร่ศาสนาเข้ามาภายในหมู่บ้านทำให้มีครูสอนศาสนาเข้ามามีบทบาทสำคัญคือ การให้ความรู้ทางศาสนาและพิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนา รองจากครูสอนศาสนามีกลุ่มปกครองที่ทำหน้าที่ดูแลสมาชิกของศาสนาคือ การดูแลกลุ่มคนที่ไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาให้หันหน้าเข้าสู่การนับถือศาสดา โดยการนับถือศาสนาคริสต์ของบ้านคุณสาในแบ่งได้ 3 ขั้นคือ

  • ขั้นที่ 1 คือการทิ้งผีไม่นับถือผีแบบเดิมไม่มีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ
  • ขั้นที่ 2 รับบัสติสมา คือ การในยอมรับในการสิน 28 ข้อ มีการทำพิธียอมรับสิ่งเดียวการจุ่มน้ำและต้องมีครูสอนศาสนาเป็นผู้ทำพิธี โดยการจุ่มน้ำในอดีตนั้นจำเป็นต้องส่งน้ำในลำห้วย และมีการร้องเพลงขอพรต่อพระเจ้าเพื่อทำพิธีเสร็จจึงจะยอมรับเข้ามาเป็นคนในศาสนาคริสต์
  • ขั้นที่ 3 คือกลุ่มคนที่รอคอยกันเสด็จกลับมาของพระอาทิตย์กลัวคนนี้คือกลุ่มคนที่ได้รับประทานผักเป็นหลักไม่รับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด 

นอกจากกลุ่มของครูสอนศาสนาและกลุ่มปกครองศาสนาแล้วยังมีสัตบุรุษคือ กลุ่มคนที่คอยดูแลความเรียบร้อยภายในโบสถ์ โดยทำหน้าที่ดูแลซ่อมแซมสิ่งของที่ชำรุดภายในโบสถ์ และทำหน้าที่สอนแทนครูสอนศาสนา การไปโบสถ์ถือมีความสำคัญต่อชาวบ้านขุนสาในเป็นอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นการแสดงความศรัทธาต่อพระเจ้า การไปนมัสการพระเจ้า ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า อธิษฐานขอพรจากพระเจ้าและการสอนศาสนา โดยมีคณะครูสอนศาสนาและกรรมการการปกครองศาสนา เป็นผู้ดำเนินการสอน ส่วนการร้องเพลงจะเป็นเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ โดยมากมักไปโบสถ์วันเสาร์ ทุกคนจะต้องหยุดการทำงานทุกอย่างเพื่อพักผ่อน ในแต่ละปีจะมีการบริจาคเงินให้กับองค์กรศาสนา โดยบริจาค 10% จากรายได้ ถ้าครัวเรือนไหนไม่มีรายได้หรือรายได้น้อย ก็ให้บริจาคตามศรัทธาหรือไม่บริจาคอะไรก็ได้

พิธีศพของชาวคริสต์ เมื่อมีคนเสียชีวิตภายในหมู่บ้านจะทำการตั้งศพไว้ในบ้าน 3 วันก่อนจะนำไปฝังที่ป่าช้าด้านล่างของหมู่บ้าน โดยจะมีชาวบ้านมาร่วมงานและช่วยกันทำอาหาร รวมถึงการเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมแบบศาสนาคริสต์ มีผู้นำทางศาสนาเป็นผู้ทำพิธี การแต่งกายของคนที่เสียชีวิตในอดีตจะแต่งกายด้วยชุดชนเผ่าม้งแบบตัวใหญ่กว่าปกติ แต่ปัจจุบันการแต่งกายให้กับศพแบบในอดีตไม่มีแล้วจะเป็นการใส่เสื้อผ้าปกติส่วนคนที่มาร่วมงานจะใส่ชุดม้งที่ใช้ในงานพิธีศพ

ประเพณีปีใหม่ม้ง จะมีกิจกรรมรวมกลุ่มของเครือญาติเพื่อประกอบพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ มีการแต่งกายชุดม้งที่สวยงามที่สุด ปีหนึ่งจะถูกนำมาใช้แต่งครั้งหนึ่งซึ่งถือว่าสำคัญมาก มีการเล่นโยนผ้าเพื่อสร้างความผูกพันหรือการเลือกคู่ของหนุ่มสาว ประเพณีนี้จะจัดติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 - 7 วัน โดยไม่มีการใช้จ่ายเงิน จะหยุดงานอาชีพทุกอย่าง อาหารจะบริโภคเฉพาะที่เป็นเนื้อสัตว์ ถ้าบริโภคผัก ถือว่าผิดผี หรือประกอบอาชีพไม่รุ่งเรือง สำหรับผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ในปัจจุบันก็ปรุงอาหารเจ รับประทาน

ประเพณีกินข้าวใหม่ จะประกอบพิธีกรรมหลังเสร็จสิ้นภาระกิจเก็บเกี่ยวข้าว กิจกรรมจะมีการรวมญาติ เพื่อร่วมไหว้ผีเลี้ยงข้าวใหม่บรรพบุรุษ มีการตำข้าวปุก (ข้าวเหนียวนึ่งตำด้วยครกกระเดื่อง ให้แหลกแล้วนำไปแผ่เป็นแผ่นนำไปทอดหรือปิ้ง) กิจกรรมนี้จะสร้างความผูกพันกันเป็นอย่างดี ระหว่างคนในครอบครัวทำให้เกิดความรู้สึกครอบครัวอบอุ่น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

การละเล่นลูกช่วง

การเล่นลูกช่วง ซึ่งภาษาม้งเรียกว่า ntsum pob หรือที่เรียกกันว่า “จุเป๊าะ” ลูกช่วง (pob) มีลักษณะกลมเหมือนลูกบอลทำด้วยเศษผ้า มีขนาดเล็กพอที่จะถือด้วยมือข้างเดียวได้ การละเล่นลูกช่วง จะแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายโดยที่ก่อนจะมีการละเล่น ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่เอาลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย หรือญาติ ๆ ของฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่นำลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย เมื่อตกลงกันได้ก็จะทำการโยนลูกช่วงโดยฝ่ายหญิง และฝ่ายชายแต่ละฝ่ายจะยืนเป็นแถวหน้า กระดานเรียงหนึ่ง หันหน้าเข้าหากันมีระยะห่างกันพอสมควร แล้วโยนลูกช่วงให้กันไปมาและสามารถทำการสนทนากับคู่ที่โยนได้

การเล่นลูกช่วงเพื่อความสนุกสนานเป็นการฉลองปีใหม่ และเป็นการหาคู่ให้กับหนุ่มสาว เพื่อมิตรภาพที่ดีต่อกัน ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ในการเล่นลูกช่วงอีก เพราะถือว่าผิดตามธรรมเนียมของม้ง ส่วนฝ่ายชาย สามารถเล่นได้แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายหญิงจะทำการยินยอมเล่นกับตนหรือไม่ แล้วแต่ฝ่ายหญิงสาวคนนั้น การเล่นลูกช่วง ยังเป็นการช่วยฝึกทักษะความชำนาญในการคว้าจับสิ่งของที่พุ่งเข้ามาปะทะใบหน้า อันเป็นการฝึกป้องกันตัวจากสิ่งของที่ลอยมาหาใบหน้าอย่างกะทันหันได้ด้วย ในช่วงระหว่าง การเล่นลูกช่วงหนุ่มสาวที่เล่นลูกช่วงจะร้องเพลงโต้ตอบกัน เพิ่มความสนุกสนานในการเล่น ชาวม้งมีการเล่นลูกช่วงเป็นวัฒนธรรมประจำเผ่ามาช้านานแล้ว ชนเผ่าอื่นในไทยไม่มีการละเล่นในทำนองนี้ ม้งได้สืบทอดวัฒนธรรมการเล่นลูกช่วงมาตั้งแต่สมัยที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศจีน

ภาษาพูด : ภาษาม้ง

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านขุนสาใน. (2561). ภาพถ่ายในอดีตบ้านขุนสาใน พ.ศ. 2521. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/Baankhunsanai

บ้านขุนสาใน. (2563). ตลาดนัดชุมชนบ้านขุนสาใน. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/Baankhunsanai

สุริญญา คิ้วนาง (2551). สภาพวิถีชีวิตโดยทั่วไปของชาวเขาเผ่าม้ง: กรณีศึกษาบ้านขุนสาในตำบลโป่งสา อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร.

True Id. (2563). ลูกช่วง สานสัมพันธ์หนุ่มสาวชาวม้ง. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://travel.trueid.net/

อบต.โป่งสา โทร. 0-5306-4100