วัฒนธรรมที่ผสานความเชื่อที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านหนองเต่า
วัฒนธรรมที่ผสานความเชื่อที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านหนองเต่า
หมู่บ้านหนองเต่าเป็นหมู่บ้านชาวชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยงสะกอ) เดิมชาวบ้าน เชื่อว่าบรรพบุรุษของตนอาศัยอยู่แถบบริเวณนี้กว่าร้อยปี โดยโยกย้ายไปมาในบริเวณใกล้เคียงกัน ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น เกิดโรคระบาด เกิดการทำผิดจารีตประเพณีในหมู่บ้าน ซึ่งมีผลตามความเชื่อว่าต้องยายที่อยู่อาศัย จนกระทั่งปักหลักสร้างหมู่บ้านถาวร ณ บริเวณปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2513 โดยพะตี จอนิ โอ่โดเชา ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 ของหมู่บ้านได้ย้ยมาเป็นครอบครัวแรก เพราะเห็นว่าเป็นที่ราบใกล้แหล่งน้ำ และตามมาด้วยครอบครัวอื่น ๆ และต่อมามีการขยายครัวเรือนจากการแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ ตั้งบ้านใหม่ ขยายออกไปเรื่อย ๆ จนรวมเป็นหมู่บ้านหนองเต่าในปัจจุบัน
เดิมทีบ้านหนองเต่า และบริเวณใกล้เคียงนี้ คนเฒ่าคนแก่เล่าว่ามีชุมชนลัวะอาศัยอยู่มาก่อนหรือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า “โกหว่าปู” หมายถึง ถิ่นเก่าของลัวะและมีร่องรอยของวัดร้างตั้งแต่สมัยที่ลัวะเคยอาศัยอยู่มาก่อน ซึ่งมีเศษเครื่องปั้นดินเผา ถ้วย ชาม กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป “วัดคก๊ะ” หรือวัดร้างในภาษาถิ่น และสิ่งที่หลงเหลือเป็นร่องรอยการทำมาหากิน ซึ่งเดิมทีชุมชนลัวะ ได้อาศัยและบุกเบิกอยู่ก่อนแล้วก็คือ “นาฮะ” หมายถึง นาร้าง ที่มีอยู่ไม่มากนัก นอกจากนี้ชุมชนลัวะยังได้มีการขุดลำเหมือง เพื่อผันน้ำจากแม่สะป๊อกมาลงที่ห้วยนาต่อโกล๊ะ เพื่อปลูกข้าว พอผ่านกาลเวลาลำเหมืองก็กัดเซาะดิน จนเป็นร่องเล็กกว้างจนเกือบจะทำให้ภูเขาขาด ชุมชนจึงเรียกภูมิเขาแห่งนี้ตามภาษาถิ่นว่า “เก๊อะเจ่อส่อแทะ” หรือช่องเขาขาด ซึ่งร่องรอยหรือการใช้ประโยชน์เหล่านี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 500 ปีแล้ว และปรากฏว่ามีทั้งหมด 8 กลุ่ม บ้านหนองเต่ามีกลุ่มคนที่ย้ายเข้ามาอยู่
- ในยุคก่อตั้งกลุ่มที่ 1 กลุ่มดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ แต่อยู่ในลักษณะหมุนเวียน ย้ายที่อยู่ไปตามไร่เวียนไป เวียนมา
- กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่อพยพขึ้นมาตามลำน้ำวาง แถว ๆ บ้านหนองเย็น หนองบอน บ้านปางเติมขึ้นมาเรื่อย ๆ จากคำบอกเล่า เดิมทีกลุ่มคนเหล่านี้ก็เคยอาศัยอยู่บริเวณบ้านหนองเต่ามาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ช่วงหนึ่งกลุ่มเครือญาตินี้ก็ถูกเกณฑ์ให้เข้าไปเป็นไพร่ในเมืองหลวง เนื่องจากไม่มีกำลังจ่ายค่ารายหัว(ส่วย) หรือ”เอาะกาตี” แปลว่า “คนหัวโหว่” และต้องอยู่ในสภาพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่ยากจนและเป็นที่รังเกียจจากกลุ่มชาวบ้านอื่น ๆ
- กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มาจากเมืองแจ่ม (อำเภอแม่แจ่ม)
- กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มที่มาจากตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เดินทางมาค้าขายเสี่ยงโชค จนในที่สุดก็ได้เป็นเขยและตั้งรกรากอยู่ที่บ้านหนองเต่า
- กลุ่มที่ 5 คือกลุ่มที่มาจากบ้านห้วยหยวก
- กลุ่มที่ 6 คือกลุ่มที่มาจากตำบลแม่กิ๊ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้เข้ามาติดต่อค้าขาย ต่อมาก็ได้เป็นเขยและเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในเวลาต่อมา เพราะเป็นรุ่นที่บุกเบิกขยายที่นาขึ้นมาอีก
- กลุ่มที่ 7 กลุ่มที่มาจากบ้านขุนป๋วย บ้านโป่ง
- กลุ่มที่ 8 กลุ่มที่อพยพมาเป็นเครือญาติ จากบ้านสะป๊อก สบน้ำแม่สะป๊อก
บ้านหนองเต่าตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่อยู่ห่างจากตัวเชียงใหม่ 90 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นป่าภูเขาสลับที่ราบ เป็นป่าดิบชื้น สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ อยู่ติดกับ บ้านห้วยตอง หมู่ที่ 10
- ทิศใต้ อยู่ติดกับ บ้านป่ากล้วย หมู่ 17
- ทิศตะวันออก อยู่ติดกับ บ้านห้วยยาว หมู่ 14
- ทิศตะวันตก อยู่ติดกับ อำเภอแม่แจ่ม
ลักษณะภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 3 ฤดูดังนี้
- ฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์
- ฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม
- ฤดูฝน ช่วงเดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 941 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 492 คน ประชากรหญิง 449 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 244 ครัวเรือน
ปกาเกอะญอกลุ่มกิจกรรม/อาชีพ มีจำนวน 4 กลุ่ม
- กลุ่มรับจ้าง
- กลุ่มรับราชการ
- กลุ่มเกษตรกรรม
- กลุ่มค้าขายทั่วไป
เดิมทีบ้านหนองเต่ามีความเชื่อที่เหมือนกัน คือ “เอาะแค หรือ เอาะบร๊ะ”เป็นการนับถือผีบรรพบุรุษและนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่หันมานับถือพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาเมื่อ ปี พ.ศ. 2544 โดย ครูจันทร์ทิพย์ นภาคีรีรมย์
ความเชื่อประเพณีวัฒนธรรมปฏิบัติของบ้านหนองเต่าในรอบปีมีดังนี้
- พิธีผูกข้อมือเรียกขวัญซึ่งจัดกันปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ครั้งที่ 2 ประมาณเดือนกรกฎาคม ส่วนใหญ่เป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาดั้งเดิม
- พิธีกินข้าวบือแชะคลี ตอนหว่านข้าว
- พิธีเลี้ยงผีนา ประมาณเดือนสิงหาคม
- พิธีกินข้าวใหม่ ประมาณเดือนพฤศจิกายน
- พิธีกินข้าวสะลาคีดะ ประมาณเดือนพฤศจิกายน
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ชาวปกาเกอะญอบ้านหนองเต่ามีความสัมพันธ์และผูกพันกับธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ ต้นไม้ตั้งแต่ลืม ตาออกมาดูโลก ได้อาศัยอยู่กิน ได้ใช้ประโยชน์ในเรื่องของที่อยู่อาศัย สมุนไพรและอาหาร ป่าไม้จึงเป็นทุก สิ่งทุกอย่างของชาวปกาเกอะญอ ด้วยจิตวิญญาณที่รู้คุณค่าของป่าไม้ พวกเราจึงใช้สอยป่าไม้ด้วยความ ระมัดระวัง ทะนุถนอมไม่ให้ป่าไม้บอบช้ำ ใช้ป่าไม้ด้วยความสำนึกในบุญคุณของป่า ดังนั้นบรรพบุรุษของพวกเราจึงคิดค้นหาวิธีการที่จะรักษาป่าไม้ให้ลูกให้หลานได้มีป่าไว้ใช้ ความรู้และประสบการณ์ได้ถูกสะสม คนแล้วคนเล่า จนเกิดเป็นกฎข้อห้าม โดยผ่านวิธีการต่าง ๆ ตลอดมา ข้อห้ามของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง ดิน น้ำ ต้นไม้ ป่าไม้ รวมถึงสัตว์ป่านานาชนิดนั้น ได้มีการอบรมสั่งสอนถ่ายทอดโดยผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ คนแล้วคนเล่ารุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาศัยการจดจำในรูปแบบของนิทาน และตำนาน โดยอาศัยการเล่าต่อ ๆ กันมา
ทุนภูมิปัญญาของหมู่บ้าน
รำดาบของกลุ่มเยาวชน
รำดาบมีมานานกว่า 100 ปี การรำดาบมีวิวัฒนาการมาจากการฆ่ากันของกะเหรี่ยง ไทใหญ่ และพม่า หลังจากฆ่ากันแล้ว ก็กลับกลายมาเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกันและเปลี่ยนการใช้ดาบในการสู้รบกันนั้นมาเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามที่เกิดขึ้น คือ การรำดาบหรือการฟ้อนดาบนั้นเอง การรำดาบครั้งแรกมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศพม่าก่อนที่จะเข้าสู่มายังชมเผ่ากะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ โดยไทใหญ่เป็นผู้ที่นำการรำดาบเข้ามาเนื่องจากสมัยก่อนไม่มีการใช้ปืนแต่ใช้ดาบในการต่อสู้ แล้วการรำดาบนั้นได้เข้ามายังประเทศไทยโดยกะเหรี่ยง อีกทั้งยังเป็นครูสอนรำดาบที่เข้ามายังบ้านแม่จุม ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ ชื่อว่าครูดีเก สมัยก่อนผู้ชายจะเข้าไปเรียนรำดาบกับครูดีเกในป่าลึกเนื่องจากมีสถานที่กว้างขวางและสะดวกต่อการสอนรำดาบในสมัยนั้น เมื่อมีการเรียนรำดาบครบ 7 วันแล้วนักเรียนจะต้องเตรียมของเพื่อมาขอขมาดาบและครูเพราะถือว่าครูเป็นผู้ประสาทวิชา อีกทั้งยังถือเป็นความสิริมงคลป้องกันอันตรายตลอดเวลาขณะที่นักเรียนรำดาบ
พิธีการในการรำดาบ แต่ละปีจะต้องมีการไหว้ครู 1 ครั้ง เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลในการรำดาบ โดยการนำไก่และสุรามาเป็นเครื่องเซ่นประกอบพิธี ซึ่งการนำไก่มาเป็นเครื่องเซ่นประกอบพิธี จะต้องเป็นไก่แดงเท่านั้น จำนวน 1 คู่ ไม่จำกัดเพศ โดยลักษณะของไก่แดงเพศผู้ จะต้องมีสร้อยคอสีแดง ขนหางสีแดง-ดำ ขนลำตัวสีแดง ขา ปาก สีเหลือง ใบหน้าสีแดง หงอนคล้ายถั่ว เพศเมียจะมีลักษณะเหมือนเพศผู้ ยกเว้นไม่มีสร้อยคอและมีขนหางสีแดง พร้อมทั้งสุรา 1 ขวด แต่เดิมจะต้องเป็นสุราขาว (เหล้าขาว) เท่านั้น ปัจจุบันจะเป็นสุราชนิดใดก็ได้ การประกอบพิธีจะต้องประกอบพิธี ในป่า รวมทั้งเมื่อเรียนเสร็จก็จะต้องมาขอขมาครู ในอดีตจะเป็นการมัดมือ การดำหัว เนื่องจากแต่เดิมมีการนับถือผี ในปัจจุบันมีการนับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็ยังมีการขอขมาครูอยู่เช่นกัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นค่าครูแทน ส่วนจำนวนนั้นก็แล้วแต่จำนวนที่ครูเรียก
การรำดาบจะรำได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาทำให้ผู้หญิงสามารถรำดาบได้ ซึ่งการแต่งกายในการรำดาบจะแบ่งเป็น ผู้ชายจะสวมเสื้อปกาเกอะญอสีแดงและกางเกงแบบผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อปกาเกอะญอสีใดก็ได้และกางเกงสะดอ
ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน, อักษรขาว
เจริญ ดินุ. (2559). การสร้างกลไกบริหารจัดการอาชีพเกษตรวัฒนธรรมและตลาดทางเลือกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงจิตวิญญาณให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ปิยนาถ สรรพา (2560). "กาแฟชนเผ่า" การกลายเป็นผู้ประกอบการของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ: กรณีศึกษา บ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน. (ม.ป.ป.). บ้านหนองเต่า หมู่ที่ 4 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.maewin.net
True Id. (2563). วัฒนธรรมการรำดาบ ของชาวปกาเกอะญอ. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://news.trueid.net/