สัมผัสความบริสุทธิ์ทางธรรมชาติพร้อมไปเยือนถิ่นมันนิ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมและวิถีในผืนป่า ณ บ้านวังนาใน
สัมผัสความบริสุทธิ์ทางธรรมชาติพร้อมไปเยือนถิ่นมันนิ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมและวิถีในผืนป่า ณ บ้านวังนาใน
ชาวมันนิบ้านวังนาในเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายตามพื้นที่ป่าเขาในภาคใต้ของประเทศไทยแถบจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล และยะลา ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน กล่าวว่าพื้นที่ดังกล่าวมีชาวมันนิอยู่อาศัยก่อนหน้าที่ชาวบ้านจะเข้ามาอยู่อาศัยและจัดตั้งขึ้นเป็นตำบลและหมู่บ้านทำให้ชาวมันนิเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมของพื้นที่ดังกล่าว ชาวมันนิได้อาศัยอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติโดยอาศัยเผือกมันเพื่อเป็นอาหารประเภทแป้งและล่าสัตว์ป่า เช่น ลิง ค่าง หมูป่า เต่า หมูหริ่ง เพื่อใช้ในการประกอบอาหารในการดำเนินชีวิตให้เพียงพอในแต่ละวันเท่านั้น โดยจะไม่มีการเก็บสะสมอาหารหรือทรัพย์สมบัติใด ๆ ไว้สำหรับในอนาคต ทำให้ต่อมาเมื่ออาหารในพื้นที่เริ่มหมดลงพวกเขาจึงจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานไปในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อหาแหล่งความสมบูรณ์ของอาหารทำให้ชาวมันนิกลายเป็นชนเผ่าเร่ร่อนไม่มีการตั้งถิ่นฐานถาวรหรือการจับจองแสดงความเป็นเจ้าของต่อพื้นที่อยู่อาศัย ทำให้ขาดที่ดินในการอยู่อาศัยที่กลายมาเป็นปัญหาในปัจจุบัน
ปัจจุบันความก้าวทางเทคโนโลยีได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนโดยชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในป่าได้เริ่มเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมของตนเองให้มีการตั้งถิ่นฐานแบบถาวรมากขึ้น ซึ่งก่อนที่ชาวมันนิบ้านวังนาใน อำเภอละงู จังหวัดสตูล จะมีการตั้งถิ่นฐานถาวรนั้นพวกเขามีการตั้งถิ่นฐานในป่าเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างพื้นที่ในจังหวัดตรัง พัทลุงและสตูล อยู่เป็นประจำ แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของอาหารลดลงจึงทำให้ทางภาครัฐเล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นทั้งความลำบากในการล่าสัตว์ ความยากลำบากต่อการเข้าถึง การติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอกและการได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไปโดยยากลำบากทางภาครัฐจึงจำเป็นจะต้องจัดพื้นที่ให้ชาวมันนิอยู่อาศัยอย่างถาวร ชาวมันนิจึงจำเป็นจะต้องอพยพออกจากป่าลงมายังพื้นที่ที่รัฐจัดให้ซึ่งพื้นที่ที่จัดให้อยู่อาศัยถาวรนั้นจะอยู่แยกออกจากหมู่บ้านอย่างชัดเจน โดยจะอยู่ติดกับป่าเป็นที่ดินของเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีการแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ เช่น ทับน้าตกวังสายทอง คือ กลุ่มทับเฒ่าเพรียวและทับกำนันไข่ เป็นต้น พวกเขาจึงจำเป็นจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านจึงทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและชาวมันนิเกิดขึ้น
บ้านวังนาใน ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล ชุมชนบ้านวังนาในเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายของศาสนาและชาติพันธุ์ เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์และมีชาติพันธุ์อย่างมันนิอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย พื้นที่แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยคุณค่าที่ควรเก็บรักษาจึงทำให้นักท่องเที่ยวสายธรรมชาติเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่บริเวณเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดชุมชนการท่องเที่ยวเกิดขึ้นและเกิดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์
บ้านของชาวมันนิที่ใช้อยู่อาศัยคือ“ทับ”หรือชำวมันนิจะเรียกว่า“ฮยะ”เป็นบ้านที่มีการสร้างแบบเรียบง่ายเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตในป่าแบบไม่ตั้งถิ่นฐานถาวรเพราะเมื่ออาหารในพื้นที่ที่อยู่อาศัยเริ่มหมดหรือมีสมาชิกเสียชีวิตในพื้นที่ พวกเขาก็จะย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยไปยังพื้นที่อื่น ชาวมันนิจึงไม่นิยมสร้างบ้านที่ใช้เวลาแรงงาน วัสดุหายาก แต่จะหาวัสดุที่หาได้ง่ายตามป่าเขาที่พวกเขาอยู่อาศัยมาใช้สร้างบ้าน ทับจึงเป็นสถาปัตยกรรมการสร้างบ้านแบบดั้งเดิมของชำวมันนิโดยทับจะมีลักษณะลักษณะคล้ายเพิงที่สร้างขึ้นอย่างง่าย ๆ จากโครงสร้างเสาและคานมุงด้วยใบไม้ ชาวมันนิจะเลือกตำแหน่งที่ตั้งของทับอยู่บริเวณที่ราบไม่ไกลจากลำธารเพื่อการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในการดำเนินชีวิต เช่น หาปลาและใช้น้าเพื่ออุปโภคบริโภค เป็นต้น โดยจะคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในพื้นที่
ประชากรชาวมันนิบ้านวังใน
ข้อมูลประชากรตำบลป่าแป๋จากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 10 บ้านวังนาใน มีประชากรทั้งสิ้น 1,137 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 552 คน ประชากรหญิง 585 คน และจำนวนครัวเรือน 429 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
มานิชาวมันนิมีความชำนาญและความรู้เรื่องป่าเขาเป็นอย่างมาก ทำให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องสมุนไพร สัตว์และการหาของป่าอย่างน้ำผึ้ง เพื่อนำมาขายหรือแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชาวบ้าน แต่มีรายได้ที่ไม่แน่นอนนักขึ้นอยู่กับฤดูกาลของป่า ของป่าที่นิยมนำมาแปรรูปและกลายเป็นอีกหนึ่งรายได้หลัก คือ การแกะลูกเหรียงที่หาได้จากในป่าและนำมาแกะเป็นเมล็ดออกไปขายราคากิโลละ 100 บาท และเมื่อพวกเขาว่างจากการล่าสัตว์พวกเขายังมีงานอดิเรกคือการทำตะกร้าใส่ของที่ทำมาจากหวายและไผ่ที่หาได้จากในป่านามาสานเป็นรูปทรงต่าง ๆ ไว้สำหรับใส่ของที่กลายมาเป็นสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของกลุ่มมันนิเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านมันนิ
อาชีพรับจ้างทั่วไปชาวมันนิบ้านวังนาในส่วนใหญ่จะไม่ประกอบอาชีพอย่างเป็นทางการ แต่จะเป็นการทำงานตามคำขอจากชาวบ้านในพื้นที่ เช่น การทำงานพายเรือให้กับแขกที่มาเข้าพักในรีสอร์ท ซึ่งจะได้ค่าตอบแทนเป็นรอบของการพายเรือ โดยถ้าหากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจะอยู่ที่วันละ 500-1,000 บาทต่อวัน งานปีนเก็บมะพร้าวรับจ้างถางป่าและงานทำสวนซึ่งงานส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ใช้แรงงานเพราะพวกเขามีความคุ้นชินกับงานประเภทนี้อยู่แล้วเนื่องจากเป็นงานที่ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตของชาวมันนิ โดยงานส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากการจ้างงานจากชาวบ้านหรือผู้ประกอบการรีสอร์ทโดยรอบ
ความเชื่อศาสนา
ชาวมันนิในยุคสมัยก่อนและสมัยปัจจุบันนั้นยังมีลักษณะความเชื่อและศาสนาที่เหมือนเดิมก็คือ การไม่นับถือศาสนาศาสนาอื่น แต่พวกเขาจะนับถือผีและบรรพบุรุษ โดยพวกเขาจะเชื่อว่าในธรรมชาติล้วนมีวิญญาณสิงสถิตย์อยู่ มีวิญญาณทั้งดีและไม่ดีที่คอยปกป้องรักษาสมาชิกให้รอดพ้นจากภัยอันตรายความเชื่อของชาวมันนิเป็นความเชื่อที่ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่มีการยึดถือกันเรื่อยมาซึ่งเป็นความเชื่อที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างป่าไม้ในการเคารพและเห็นคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาได้รับอย่างการตัดไม้ โดยจะตัดต้นไม้ที่จะใช้ประโยชน์เท่านั้น จะไม่มีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ เป็นต้น
พิธีกรรม
เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบันอย่างการตั้งถิ่นฐานถาวรตามพื้นที่ที่รัฐจัดให้การติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอก ทำให้ชาวมันนิรับเอาเทคนิควิธีคิดจากภายนอกเข้ามาปรับใช้ทำให้พิธีกรรมบางอย่างได้เริ่มสูญหายไปตามกาลเวลาเนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยไม่ใช่ในป่าลึกอีกต่อไป ทำให้สถานที่ไม่เอื้อต่อการประกอบพิธีและชาวมันนิที่เกิดในยุคสมัยที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้รับเอาหลักวิธีที่ยึดถือปฏิบัติมาอย่างยาวนานอย่างครบถ้วนทำให้บางสิ่งบางอย่างหายเริ่มหายไป พิธีกรรมที่ยังมีการปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 พิธีดังนี้
1) พิธีการแต่งงาน เมื่อชายหญิงชาวมันนิอายุได้ประมาณ 16-17 ปี พวกเขาก็สามารถมีคู่ครองได้แล้วเมื่อพวกเขาเริ่มมีความรู้สึกชอบซึ่งกันและกันแล้วและตกลงใจที่จะแต่งงาน ฝ่ายชายจะให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ฝ่ายตนเองไปสู่ขอฝ่ายหญิง ซึ่งสังคมชาวมันนิจะไม่มีระบบสินสอดทองหมั้นแต่จะมีสิ่งที่ฝ่ายชายจะต้องเตรียมแทนคือ บ้านหรือทับ ไว้สำหรับเป็นเรือนหอ 1 หลัง และต้องแสดงความสามารถในการล่าสัตว์เพื่อนำมากินเลี้ยงตอนประกอบพิธี และเมื่อถึงเวลาผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย จะนำเจ้าสาวและเจ้าบ่าวมานั่งบริเวณลานกว้างและจะเริ่มอัญเชิญเทวดาเจ้าป่าเจ้าเขามาเป็นพยานและให้พรต่อคู่บ่าวสาว
2) ประเพณีการทำศพ กลุ่มชาวมันนิเมื่อมีคนเจ็บป่วยและเกิดการตายขึ้นสมาชิกคนอื่น ๆ จะเตรียมตัวสำหรับการย้ายทับไปที่อื่น จึงทำให้อาจไม่มีการประกอบพิธีใดอย่างเป็นทางการ เพราะชาวมันนิมีความเชื่อเรื่องผีคนตายทำให้เชื่อว่าถ้าหากมีคนตายแล้วควรจะย้ายทับไปที่อื่น อาจเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดวงวิญญาณเข้ามาทำร้ายสมาชิกกลุ่มและจากคำบอกเล่าของชาวมันนิกล่าวว่าพวกเขาเกิดในธรรมชาติเมื่อพวกเขาตายพวกเขาก็ควรกลับและทำประโยชน์ให้กับธรรมชาติ จึงทำให้เมื่อเวลามีคนตายพวกเขาก็จะตั้งศพไว้ในบริเวณที่อยู่อาศัยเก่าในป่าและทำรั้วล้อมรอบเพื่อไม่ให้สัตว์คุ้ยเขี่ยซากศพและจากนั้นจึงย้ายไปที่อื่น ขณะที่ในปัจจุบันเมื่อมีการตั้งถิ่นฐานถาวรที่ไม่สามารถย้ายทับไปที่อื่นได้แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์สมาชิกในกลุ่มเกิดเจ็บป่วยและตายเกิดขึ้นพวกเขาจะนำศพไปวางไว้ในถ้ำหรือในที่ที่ห่างไกลจากที่อยู่อาศัยแทน
น้ำตกวังสายทอง เป็นน้ำตกหินปูนขนาดใหญ่ 6 ชั้น กว้างประมาณ 50 เมตร ความสูงโดยเฉลี่ยของชั้น 1-5 อยู่ที่ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ส่วนชั้น 6 นั้นมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 8 เมตร มีต้นน้ำมาจากถ้ำใต้ภูเขาไหลทลักออกมาสู่ คลองวังน้อย ก่อนจะไหลผ่านภูเขาหินปูนและนำพาสารละลายแคลเซียมคาร์บอเนตและตะกอนแขวนลอยมาด้วย จึงทำให้แต่ละชั้นของน้ำตกมีลักษณะคล้ายหินงอกหินย้อยลดหลั่นลงมา นอกจากนี้น้ำตกวังสายทอง ยังมีลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ พื้นของน้ำตกที่เป็นหินปนทราย จึงทำให้มีความพรุนสูง ไม่มีตะไคร่น้ำเกาะจับ สามารถเดินบนพื้นน้ำตกได้สะดวกและไม่ลื่น
ชาวมันนิเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาเป็นของตัวเอง ภาษามันนิเป็นหนึ่งในภาษาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก โดยจะมีเพียงภาษาพูดที่ใช้สำหรับพูดคุยสื่อสารกันเท่านั้น ไม่มีภาษาเขียน ด้วยเหตุนี้จึงทําให้ภาษามันนิเกิดการลื่นไหลได้ โดยพบว่าชาวมันนิในพื้นที่ต่าง ๆ จะมีรูปแบบหรือสําเนียงการพูดที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งออกได้ 4 รูปแบบภาษา ได้แก่
- ภาษาแต็นแอ็น จะพบในกลุ่มชาวมันนิที่อาศัยอยู่ตามป่าเขาบริเวณเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดตรัง สตูล พัทลุง และสงขลา
- ภาษาแตะแด๊น พบในกลุ่มชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในแถบอำเภอรือเสาะ และอําเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
- ภาษายะฮาย พบในกลุ่มชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดยะลา
- ภาษากันซิว พบในกลุ่มชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในแถบตําบลบ้านแหร อําเภอธารโต จังหวัดยะลา
สำหรับภาษาที่ชาวมันนิในตำบลลิพังกลุ่มนี้ใช้ในการสื่อสาร คือ ภาษามันนิแต็นแอ็น ใช้ในการพูดคุยสื่อสารกับชาวมันนิด้วยกัน และใช้ภาษาถิ่นภาคใต้ในการสื่อสารกับชาวบ้านในพื้นที่
การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านวังนาใน. (2560). ทริปรักษ์ธรรมชาติ ล่องแก่งวังสายทองเยี่ยมหมู่บ้าน มันนิ เรียนรู้วิถีชีวิต น้ำตกวังสายทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/WangnanaiSatun/
การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านวังนาใน. (2562). ศึกษาวิถีชุมชนดึกดำบรรพ์ ชนเผ่ามานิเขาบรรทัด. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/WangnanaiSatun/
อรวรรณ อักษรชู (2564).ปฏิสัมพันธ์กับรัฐและสังคมกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของชาวมันนิบ้านวังนาใน ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
True Id. (2564). น้ำตกวังสายทอง ที่เที่ยวสตูล น้ำตกสวยสุดอลังการ เล่นน้ำฟินตลอดปี. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://travel.trueid.net/