"ดินแดนแห่งคลองร้อยสาย" มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าสองร้อยปี ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำ ลําคลองน้อยใหญ่หลายสายไหลผ่านหมู่บ้าน
สถานที่ตั้งตำบลมีลำคลองเป็นจำนวนมาก สองข้างเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ในลำคลองจะมีใบไม้ลอยทับถมกันน้ำขึ้นลงไม่สะดวก เมื่อมีการตั้งตำบลหมู่บ้านจึงใช้ชื่อ บางใบไม้
"ดินแดนแห่งคลองร้อยสาย" มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าสองร้อยปี ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำ ลําคลองน้อยใหญ่หลายสายไหลผ่านหมู่บ้าน
ตําบลบางใบไม้ อําเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นตําบลแรกเริ่มของชาวในบางที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าสองร้อยปี ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำไหลผ่าน มีลําคลองน้อยใหญ่หลายสายไหลผ่านพื้นที่ตําบล หมู่บ้าน และยังมีลําน้ำมากมายหลายสายแยกออกจากลําคลอง เช่น คลองขวาง คลองพุนพิน คลองบางกล้วย และลําคลองเล็ก ๆ อีกหลายสาย เป็นต้น ทําให้ตําบลบางใบไม้กลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปในนาม "ดินแดนแห่งคลองร้อยสาย"
ตำบลบางใบไม้เป็นตำบลที่ตั้งห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ตั้งห่างจากตัวเมืองฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร สถานที่ตั้งตำบลมีลำคลองเป็นจำนวนมาก สองข้างเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ในลำคลองจะมีใบไม้ลอยทับถมกันน้ำขึ้นลงไม่สะดวก เมื่อมีการตั้งตำบลหมู่บ้านจึงใช้ชื่อ บางใบไม้ สืบเนื่องจากในลำคลองมีใบไม้มาก มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบางไทร อำเภอเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ แม่น้ำตาปี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบางชนะ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบางไทร, คลองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สภาพภูมิประเทศ
เป็นตำบลที่มีลำคลองเป็นจำนวนมาก ชายฝั่งทั้งสองข้างเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ในลำคลองจะมีใบไม้ลอยทับถมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำขึ้นลงไม่สะดวก ชายฝั่งของตําบลบางใบไม้ทั้งสองข้าง เป็นป่าไม้เบญจพรรณ มีพืชพรรณหลากหลาย ได้แก่ ลําพูโกงกาง แสม ต้นจาก เป็นต้น และยังมีพันธุ์ไม้น้ำอื่น ๆ จํานวนมาก งอกงามเป็นทิวแถวตามริมลําคลอง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุสัตว์น้ำทุกชนิด และเป็นแหล่งพักพิงของหิ่งห้อยและนกนานาพันธุ์อีกด้วย
ตำบลบางใบไม้ มีประชากรทั้งสิ้น 2,381 คน แยกเป็นชาย 1,130 คน หญิง 1,251 คน มีความหนาแน่นเฉลี่ย 231 คน/ตารางกิโลเมตร จำนวนครัวเรือน 603 ครัวเรือน
อาชีพหลักของประชากรในตำบลบางใบไม้ มักเป็นอาชีพทางด้านการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งประกอบไปด้วยอาชีพทำสวนมะพร้าว รับจ้าง รับราชการ ประมง สวนผลไม้ และเลี้ยงสัตว์
พยนตร์ ศรีคิรินทร์ หรือลุงไก่ อายุ 61 ปี เจ้าของเรือหางยาวพานักท่องเที่ยวชมธรรมชาติในคลองบางใบไม้ รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นนักเล่าเรื่องชุมชน บอกเล่าถึงวิถีชีวิตคนตำบลบางใบไม้ว่า ก่อนปี พ.ศ. 2535 ยังไม่มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำตาปี คนบางใบไม้และตำบลใกล้เคียงต้องใช้เรือกันทั้งนั้น มีทั้งเรือแจว เรือพาย เรือติดเครื่องยนต์ หรือเรือหางยาว วิ่งแล่นไปมาในคลอง ตอนเช้า ๆ เด็กโตก็จะนั่งเรือไปเรียนในเมืองสุราษฎร์ฯ ส่วนเด็กเล็กจะเรียนชั้นประถมในตำบล เด็กที่นี่พายเรือและว่ายน้ำเป็นกันทั้งนั้น เพราะในตำบลมีแต่คลอง เชื่อมโยงไปมาถึงกันหมด คนแถบนี้จึงเรียกที่นี่ว่า "คลองร้อยสาย" พอมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำตาปีแล้ว การใช้เรือจึงลดน้อยลง เพราะรถยนต์สะดวกกว่า แต่การใช้เรือก็ยังมีอยู่
ทุนวัฒนธรรม
- ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ เป็นตลาดน้ำที่ตั้งอยู่ในสวนมะพร้าวริมฝั่งคลองตรงข้ามวัดบางใบไม้ บรรยากาศร่มรื่น อากาศเย็นสบาย เปิดทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น มีชาวบ้านบางใบไม้และใกล้เคียงมาค้าขายประมาณ 130 ราย สร้างรายได้หรือเป็นอาชีพเสริมให้แก่ชาวบ้านที่มาค้าขายหรือวิ่งเรือท่องเที่ยวได้อาทิตย์ละหลายพันบาท
- วัดบางใบไม้ เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2325 ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเกิดจากการรวมวัด 2 วัด คือ วัดนอกและวัดใน ตามประวัติ คือ ชุมชนบางใบไม้เป็นชุมชนเก่าแก่เริ่มแรกของชาวในบาง มีความเป็นมายาวนานกว่าสองร้อยปี สมัยพระยาตากสินยกทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราช ขุนประจันศึกประชิดซึ่งเป็นทหารคู่ใจของเจ้าเมืองนครฯ รักษาหัวเมืองทางด้านทิศเหนือเห็นว่าพระยานครสู้ทัพพระยาตากสินไม่ได้ จึงสั่งให้ทหารลงเรือเพื่อจะหนีพระยาตากสิน ขุนประจันศึกประชิดพร้อมทหารคู่ใจและครอบครัวหลบหนีมาทางแม่น้ำหลวง ผ่านบ้านดอนเพื่อจะไปเมืองไชยา แต่ปรากฏว่าเมืองไชยาก็โดนพระยาตากสินยกทัพมาตีแตก ขุนประจันศึกประชิดจึงถอยร่นลงมาในลำคลองเล็ก ๆ ซึ่งเหมาะกับการตั้งบ้านเรือน โดยสร้างบ้านหลังใหญ่ประมาณห้าหลัง และตั้งชื่อว่าหมู่บ้านใหญ่และกลายเป็นตำบลบางใบไม้ในปัจจุบัน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ไม่เว้นแม้แต่การท่องเที่ยวชุมชนที่ตำบลบางใบไม้ เพราะก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2559 นับแต่เปิดตลาดน้ำประชารัฐเป็นต้นมา มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่เรื่องราวของตลาดน้ำและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลบางใบไม้ผ่านสื่อทีวีและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ อัมรินทร์ทีวีออนไลน์ สำนักข่าวไทย ฯลฯ จึงช่วยให้บางใบไม้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วไป รวมทั้งบริษัททัวร์ได้นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาล่องเรือชมธรรมชาติและวิถีชีวิตริมคลองด้วย
กิตติพิชญ์ โสภา และขวัญทยา บุญเชิด. (2565). สิทธิชุมชนในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : กรณีศึกษาชุมชนบางใบไม้ ตำบลบางใบไม้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น. 6(2), 184-206.
ไทยโพสต์. (2565). วิถีคนคลองร้อยสาย ตำบลบางใบไม้ จ.สุราษฎร์ธานี และการปรับตัวฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจของตลาดน้ำชุมชน. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaipost.net/
องค์การบริหารส่วนตำบล. (2566). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangbaimai.go.th/
แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์. (2564). ตำบลบางใบไม้. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/
Palanla. (2561). วัดบางใบไม้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://palanla.com/