วัดท่ามะปรางค์ที่อยู่คู่ชุมชนมานานกว่า 100 ปี, หลวงพ่อใหญ่, ภูเขารูปช้าง และมีพื้นทีติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
สืบเนื่องมาจากตรงบริเวณท่าน้ำของหมู่บ้านมีต้นมะปรางค์ใหญ่หักโค่นลงมา ชาวบ้านจึงมักเรียกท่าน้ำนั้นว่าท่ามะปรางค์ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “ท่ามะปรางค์ ” มาจนถึงปัจจุบัน
วัดท่ามะปรางค์ที่อยู่คู่ชุมชนมานานกว่า 100 ปี, หลวงพ่อใหญ่, ภูเขารูปช้าง และมีพื้นทีติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
บ้านท่ามะปรางค์เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาคือ บรรพบุรุษของชาวบ้านท่ามะปรางค์ ได้อพยพย้ายถิ่นมาจากหมู่บ้านหมูสีและบ้านกุดคล้า ซึ่งเป็นชุมชนที่เคยอพยพลงมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้สำรวจภูมิประเทศที่เป็นป่าดงร้างว่างเปล่า เห็นว่ามีทำเลที่เหมาะสมที่จะตั้งถิ่นฐาน เพราะเป็นที่ราบอยู่ท้ามกลางหุบเขา อีกทั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ จึงได้หักล้างถางพงปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านในปัจจุบัน เดิมที่มีจำนวน 7 หลังคาเรือนเวลาต่อมามีราษฎรอพยพมาสมทบทำให้มีจำนวนบ้านเรือนเพิ่มขึ้นตามลำดับ กระทั่งปี พ.ศ. 2465 จึงได้แยกออกมาจากบ้านกุดคล้า เพื่อตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่มีชื่อว่า "หมู่บ้านท่ามะปรางค์ "
ชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบในหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบหมู่บ้าน มีพื้นที่ติดต่อกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และมีแหล่งน้ำที่สำคัญคือคลองลำตะคองไหลผ่านหมู่บ้าน การเดินทางมายังหมู่บ้านท่ามะปรางค์จากกรุงเทพฯ ด้วยรถสาธารณะ มีรถตู้ รถโดยสารและรถไฟใช้เวลา 2 ชั่วโมง ส่วนรถยนต์ส่วนตัวใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับ เขาวังหินและบ้านหมูสี ม.4 ต.หมูสี
- ทิศใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
- ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับ บ้านวังโต่งโต้น ม.11 ต.หมูสี
- ทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับ คลองลำตะคองและบ้านคลองเพล ม.1
จากข้อมูลของสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลหมูสี เดือนเมษายน ปี 2564 ระบุจำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากรบ้านท่ามะปรางค์ จำนวน 507 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 924 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 459 คน หญิง 465 คน ส่วนระบบเครือญาติ ความเป็นอยู่ในชุมชน เป็นแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แตกต่างจากสังคมเมืองโดยสิ้นเชิง ผู้คนในชุมชนจึงมีความเอื้ออาทรต่อกันและอยู่กันแบบเครือญาติมีลักษณะเป็นแบบครอบครัวขยาย กล่าว คือ เมื่อสมาชิกในครอบครัวแต่งงานหรือมีครอบครัวออกไป ก็มักจะแยกตัวออกไปตั้งครอบครัวใหม่ แต่ยังปลูกสร้างบ้านเรือนติดกับญาติๆ หรือบางทีก็จะอยู่บ้านคนละหลังแต่อยู่ในรั้วเดียวกัน และลูกหลานที่แต่งงานกันออกไปนั้นก็มักจะเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกันหรือหมู่บ้านใกล้เคียง จึงทำให้เกิดการดองญาติกันในหมู่บ้าน นามสกุลของคนในหมู่บ้านจึงมีนามสกุลหลักๆ ไม่กี่นามสกุลอาทิ ดีจันทึก, เปาะชนะ, มาทาจันทึก, มะปรางค์
เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม จึงมีรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้าน ได้แก่ กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน อ.พ.ป., กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์, กลุ่มออมทรัพย์เงินฝากสัจจะ, กลุ่มสตรี-แม่บ้าน, กลุ่มสงเคราะห์หมู่บ้าน และกลุ่มอสม.
วิถีชีวิตทางประเพณี
เดือนมกราคม : ทำบุญประเพณีขึ้นปีใหม่
เดือนเมษายน : ทำบุญประเพณีวันสงกรานต์
เดือนพฤษภาคม : ทำบุญประเพณีเลี้ยงผีตา-ปู่
เดือนกรกฎาคม : ทำบุญประเพณีวันเข้าพรรษา
เดือนตุลาคม : ทำบุญประเพณีวันออกพรรษา, ทอดกฐิน และสารทไทย
เดือนพฤศจิกายน : ทำบุญประเพณีวันลอยกระทง
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยเศรษฐกิจภาพรวมทั้งหมู่บ้านมีการประกอบอาชีพ และรายได้จากการขายผลผลิตของคนในชุมชน เช่น การทำไร่ข้าวโพด, เลี้ยงวัวเนื้อ, ทำสวนมะขามหวาน, ทำสวนมะม่วง, กลุ่มผลิตน้ำพริกเผา, หมู่บ้าน Home Stay, ร้านขายของชำ และส่วนใหญ่มีอาชีพเสริมโดยใช้เวลาที่ว่างเว้นจากงานประจำไปรับจ้างตามโรงแรม รีสอร์ท และสนามกอล์ฟเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว
ทุนวัฒนธรรม
- วัดท่ามะปรางค์
เป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่ชุมชนมากกว่า 100 ปีแห่งเดียวในหมู่บ้านท่ามะปรางค์เป็นที่ยึดเหนี่ยวศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน โดยมีหลวงพ่อใหญ่เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแบบอีสานดั้งเดิม มีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับการปั้นด้วยมือ ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเก่าของวัดท่ามะปรางค์และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมประเพณีของสมาชิกในหมู่บ้านท่ามะปรางค์ที่ยังคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ทุนธรรมชาติ
- แหล่งท่องเที่ยว
เนื่องจากหมู่บ้านท่ามะปรางค์มีพื้นที่ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และในชุมชนมีสถานที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาอันเขียวชอุ่มและภายในชุมชนมีสถานที่ให้ทำกิจกรรมมากมาย เช่น กิจกรรมทำมือจากใบเตยกับมะกรูดที่ปลูกอยู่สวนหลังบ้านในชุมชน(กิจกรรมลูกไม้ใกล้บ้าน), กิจกรรมช้อนกุ้งช้อนปูในลำน้ำลำตะคอง, รับประทานอาหารเมนูท้องถิ่น ผลไม้จากสวนของชุมชน เป็นต้น ทางคนในชุมชนจึงให้มีการจัดกิจกรรมปั่นจักรยานรอบหมู่บ้านท่ามะปรางค์ โดยแบ่งเป็นรอบเช้าเวลา 9 โมง ราคา 650 บาท/ท่าน ส่วนรอบบ่ายเวลาบ่าย 2 โมง ราคา 550 บาท/ท่าน เพื่อหารายได้เข้าชุมชน
- ปี พ.ศ. 2428 มีบ้านอยู่ 7 หลังคาเรือน เป็นชาวบ้านที่อพยพมาจากบ้านกุดคล้าและบ้านหมูสี
- ปี พ.ศ. 2465 มีบ้านอยู่ 30 หลังคาเรือน ตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ โดยแยกออกมาจากบ้านกุดคล้า มีการก่อสร้างถนนลูกรังแทนทางเกวียน ชาวบ้านมีอาชีพทำนาเพาะปลูกพืชไร่พืชสวน
- ปี พ.ศ. 2518 มีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านครั้งแรก
- ปี พ.ศ. 2527 มีการก่อสร้างถนนลาดยางเข้าหมู่บ้านและตัดถนนเชื่อมกับถนน พรช. ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน
- ปี พ.ศ 2536 ก่อสร้างสะพาน คสล.ข้ามคลอง ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านก่อสร้างแนวป้องกันตลิ่งพัง ก่อสร้างศูนย์ข้อมูลประจำหมู่บ้านและใช้เป็นที่ประชุมชาวบ้าน
- ปี พ.ศ. 2537 – 2538 ก่อตั้งกลุ่มสตรี-แม่บ้าน เพื่อส่งเสริมการถนอมอาหารและผลิตผลทางการเกษตร มีคู่สายโทรศัพท์เข้าถึงหมู่บ้าน เกิดอาชีพใหม่ๆในหมู่บ้าน ชาวบ้านที่ว่างเว้นจากการเพาะปลูกก็จะไปรับจ้างตามโรงแรม รีสอร์ทและเป็นแคทดี้ตามสนามกอล์ฟ
- ปี พ.ศ. 2539 มีบ้านอยู่ 223 หลังคาเรือนมีถนนลาดยางตามถนนสายหลักในหมู่บ้านครบทุกสาย
- ปี พ.ศ. 2541 มีบ้านเหลืออยู่ 115 หลังคาเรือน เนื่องจากมีการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่คือ หมู่บ้านคลองเพล
- ปี พ.ศ. 2542 มีการจัดสรรที่ สปก. ให้เป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรที่มีครอบครัวแต่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จำนวน 11 ไร่
- ปี พ.ศ. 2543 มีไฟฟ้าใช้ครบทุกหลังคาเรือน มีการสร้างบ้านพักอาศัยของราษฎรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้จำนวน 39 หลังคาเรือน เรียกว่าคุ้มบ้านใหม่ท่ามะปรางค์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน
- ปี พ.ศ. 2544 มีการก่อสร้างถังปะปาขนาดใหญ่ของกรมอนามัย ส่งผลให้ชาวบ้านมีน้ำปะปาใช้ครบทุกหลังคาเรือน ผ่านการประเมินหมู่บ้านสุขภาพดีถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน (สดถ.ย.) ตามนโยบายของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จัดตั้งกองทุนเงินหนึ่งล้านบาท
- ด้านความท้าทายของชุมชน บ้านท่ามะปรางค์ ในปี พ.ศ. 2545 มีบ้านทั้งหมด 154 หลังคาเรือน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากบ่อขยะของ อบต. หมูสี จึงร่วมตัวกันเข้าลงชื่อร้องเรียนประธานกรรมการบริหาร อบต. หมูสี เพื่อดำเนินการแก้ไข
1. เนื่องจากหมู่บ้านท่ามะปรางค์เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบในหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีวิวจุดถ่ายภาพทางธรรมชาติที่สวยงามให้กับผู้ที่มาท่องเที่ยวในชุมชนแห่งนี้นั้นก็คือภูเขารูปช้าง
2. ต้นหมากเม่า เป็นต้นไม้ที่จะได้พบเจออยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะตามเส้นทางปั่นจักรยาน หรือในชุมชนท่ามะปรางค์ ซึ่งเมล็ดของหมากเม่า สามารถนําไปทําผลิตภัณฑ์น้ำหมากเม่าได้
3. สวนเกษตรแบบผสมผสาน ที่บ้านของพี่หนุ่ม พยุงศักดิ์ เป็นคนในชุมชนท่ามะปรางค์ ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้จัดการโรงแรม แต่ได้ผันตัวมาทำการเกษตรผสมผสานแบบก้าวทีละก้าวตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง บ้านของพี่หนุ่ม จึงเป็นเหมือนห้องเรียนใหญ่ของชุมชน ที่ใครอยากตั้งต้นทำการเกษตรให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ สวนเกษตรแบบผสมผสาน ของพี่หนุ่ม มีทั้ง พืชผัก ไม้มงคล และ เลี้ยงสัตว์หลากหลายประเภท เช่น กบ ปลา วัว หมู และไก่งวง
ไฉไล. (2562). “ดีท็อกปอด กอดเขาใหญ่” ณ ชุมชนบ้านท่ามะปรางค์ บ้านคลองเพล จ.นครราชสีมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://chailaibackpacker.com/hug-khaoyai/
เทศบาลตำบลหมูสี. (ม.ป.ป.). เทศบาลตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: http://moosi.go.th/fileupload/data.pdf
อรุณ รัศมีสุนทรางกูล. (2545). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษากองทุนหมู่บ้านท่ามะปรางค์ หมู่ที่ 3 ตําบลหมูสี อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
GowithAmp. (2562). ดีท็อกปอด กอดเขาใหญ่ ณ ชุมชนบ้านท่ามะปรางค์ บ้านคลองเพล จ.นครราชสีมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://gowithampth.com/hug-khaoyai/
PubHTML5. (2563). ชุมชนบ้านท่ามะปรางค์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://pubhtml5.com/ohxr/fbwc/basic/