มีพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เช่น การปลูกมะเขือเทศ และยังคงมีประเพณีและวัฒนธรรมที่ยังคงรักษาและสืบทอดต่อกันมา เช่น การรักษาอาการเจ็บปวดด้วยหมอเหยา
ชาวบ้านบางส่วนเล่าว่า บ้านหนองบัวมาจากการนำชื่อผู้นำกลุ่ม คือ ลุงสนองกับป้าบัวมารวมกัน แต่ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่เล่าว่า “บ้านหนองบัว” เป็นชื่อที่มาจากหนองน้ำขนาดใหญ่ที่มีบัวแดงขึ้นอยู่เต็มสระที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดหนองบัว ปัจจุบันหนองน้ำดังกล่าว ได้มีการขุดลอกทำให้มีขนาดกว้างใหญ่กว่าเดิมและจำนวนบัวแดงที่เกิดขึ้นเต็มสระ ก็ลดจำนวนลงเหลือเพียงเล็กน้อย เนื่องจากถูกขุดขึ้นมาจนเกือบหมด
มีพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เช่น การปลูกมะเขือเทศ และยังคงมีประเพณีและวัฒนธรรมที่ยังคงรักษาและสืบทอดต่อกันมา เช่น การรักษาอาการเจ็บปวดด้วยหมอเหยา
ชุมชนบ้านหนองบัวมีภูมิลำเนาเดิมของบรรพบุรุษอยู่ที่เมืองภูวานากระแด้ง ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของประเทศลาว ภายหลังเกิดภัยสงคราม และที่อยู่เดิมมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ขาดความอุดมสมบูรณ์ทำให้ชาวเมืองภูวานากระแด้งจำนวนหนึ่งพากันอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่ดินแดนภาคอีสานของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2370 แล้วแยกย้ายกันออกเป็นกลุ่มเพื่อหาที่อยู่และที่ทำกิน ในจำนวนนี้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 20 ครัวเรือน มีลุงสนองกับป้าบัว สามีภรรยาที่ชาวบ้านให้ความเคารพในฐานะที่เป็นผู้อาวุโสเป็นหัวหน้า ได้มุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน ประมาณปี พ.ศ.2374 เมื่อมาพบบริเวณแห่งหนึ่ง เห็นว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากมีที่ราบกว้างใหญ่ มีป่าไม่อุดมสมบูรณ์ สามารถตัดโค่นต้นไม้เพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร คือ ทำนา ทำไร่ รวมถึงพื้นที่แห่งนั้นมีแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับใช้อุปโภค และเป็นแหล่งจับปลา รวมทั้งสัตว์น้ำอื่น ๆ เพื่อเป็นอาหาร จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานบริเวณดังกล่าว
เดิมที่บ้านหนองบัวอยู่เป็นพื้นที่ของอำเภอเมืองสกลนคร ซึ่งพื้นที่ของอำเภอเมืองในขณะนั้นกว้างใหญ่มาก แต่ประมาณปี พ.ศ. 2521 อำเภอเมืองสกลนคร จึงได้มีการแยกพื้นที่บางส่วนออกเป็นเขตการปกครองเพิ่มขึ้น คือ กิ่งอำเภอเต่างอย กิ่งอำเภอโคกศรีสุวรรณ และกิ่งอำเภอโพนนาแก้ว เพื่อสะดวกต่อการดูแลความสงบเรียบร้อย เนื่องจากในขณะนั้น มีปัญหาเรื่องผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ก่อความไม่สงบอยู่เป็นประจำ ในพื้นที่ตำบลเต่างอย ตำบลจันทร์เพ็ญ และตำบลนาตาล ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงในขณะนั้นและได้ยกฐานะเป็นอำเภอเต่างอย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2534
บ้านบัว อยู่ไม่ไกลจากเทือกเขาภูพานมากนัก โดยมีแนวเทือกเขาโอบขนาบในด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ ส่วนด้านทิศเหนือนั้นก็อยู่ไม่ไกลจากหนองหาน บ้านหนองบัวจึงมีลักษณะทางกายภาพหรือสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบ สลับหนองน้ำเล็กๆและป่าไม้ ซึ่งในปัจจุบันกลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม
สภาพภูมิอากาศ
- ฤดูฝน อยู่ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม มีฝนตกปานกลางถึงมากเป็นระยะ เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ ที่มีเทือกเขาภูพานโอบเป็นแนวทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ของหมู่บ้าน ปริมาณน้ำฝนส่วนใหญ่จะไหลหลากมาจากเทือกเขาที่ทอดตัวอยู่ทางตะวันตก จึงมีน้ำไหลหลากผ่านพื้นที่หมู่บ้านเข้ามาท่วมไร่นา ถนน เพื่อไหลลงสู่ลำน้ำพุง ซึ่งทอดตัวอยู่ในแนวด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน น้ำจากลำน้ำพุงก็ไหลสู่หนองหาร ทะเลสาบกลางเมืองสกลนครต่อไป
- ฤดูหนาว อากาศเริ่มหนาวเย็นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม จนกระทั่งถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จากตำแหน่งที่ตั้งของหมู่บ้าน อยู่ในภาคอีสานตอนบน ทำให้ได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศสูงจากตอนใต้ของประเทศจีน ที่แผ่อิทธิพลลงมาในช่วงฤดูหนาวของทุกปี จึงส่งผลให้อากาศมีความหนาวเย็นเป็นระยะเวลานาน รวมถึงสภาพทางกายภาพเป็นที่ราบเชิงเขาและมีเทือกเขาภูพานโอบอยู่ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ซึ่งทำหน้าที่เสมือนกระจกสะท้อนลมหนาวที่ได้รับจากด้านเหนือ ทำให้เมื่อถึงฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็นกว่าพื้นที่อื่น ที่อยู่ในภาคอีสานตอนบนเช่นกันนอกจากนี้ในฤดูหนาวแทบทุกปีจะมีฝนหลงฤดูในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ หรืออุณหภูมิลดลงแบบผิดปกติ จนอากาศหนาวเย็นมาก เป็นประสบการณ์ที่ชาวบ้านหนองบัวพบแทบทุกปี
- ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยอากาศร้อนเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม เป็นต้นมา ซึ่งมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในช่วงนี้ระดับน้ำในหนองสาธารณะ สระน้ำส่วนตัวจะลดปริมาณลง การปลูกพืชฤดูแล้งในช่วงหน้าร้อนนั้น ต้องอาศัยน้ำจากบ่อบาดาลเป็นหลัก ชาวบ้านจะหันมาปลูกผักสวนครัวเพื่อใช้ในการบริโภคในครัวเรือนแทนพืชชนิดอื่นที่ไม่ทนแล้ง
ประชากรของชุมชนบ้านหนองบัว รวมทั้งหมด 905 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 454 คน ประชากรหญิง 451 คน ลักษณะการตั้งบ้านเรือนมีลักษณะกระจุกตัวตั้งอยู่ใกล้ชิดกันมากจนหนาแน่น เนื่องจากเนื้อที่ใช้สำหรับการสร้างบ้านเรือนนั้นมีไม่มาก โดยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ ซึ่งส่วนมากบ้านเรือนของญาติ พี่น้องกันมักจะอยู่ใกล้ชิดกัน ขอบเขตของพื้นที่ที่ตั้งบ้านเรือนไม่มีการทำรั้วรอบขอบชิด แบ่งสัดส่วนที่ชัดเจนยกเว้นบ้านเรือนที่ติดถนนเท่านั้นจึงมีการทำรั้วด้วยไม้ไผ่ หรือลวดหนามเพื่อให้เกิดความสวยงามและป้องกันวัว ควาย กัดกินพืชสวนครัวที่ปลูกไว้ ทำให้สามารถไปมาหาสู่กันได้สะดวก เช่น การไปเยี่ยมเยียนดูแลกันเวลาเจ็บป่วย การเก็บพืชผักสวนครัวระหว่างบ้านที่เป็นญาติพี่น้องกัน การขอแลกเปลี่ยนอาหารซึ่งกันและกัน ส่วนมากผู้หญิงใช้พื้นที่บริเวณหน้าบ้านหรือใต้ถุนบ้านเป็นแหล่งกิจกรรม ทอผ้า ทอเสื่อ ปลอกเปลือกมะขาม รอส่งขายให้พ่อค้า รับประทานอาหารร่วมกันกับเพื่อนบ้านที่เป็นเครือญาติ รวมถึงการนั่งพูดคุยกันประจำวันที่เป็นปกติของชาวบ้าน
ญ้อสภาพเศรษฐกิจ
การประกอบอาชีพ
อาชีพทำนา การทำนาถือว่าเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านชุมชนบ้านหนองบัวทุกหลังคาเรือนถึงแม้บางครัวเรือนจะมีรายได้หลักจากอาชีพอื่น ๆ เช่น รับราชการ พนักงานเอกชน ค้าขาย รับจ้าง แต่ก็ยังไม่ละทิ้งอาชีพที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดเป็นมรดกสืบต่อกันมา เนื่องจากทุกครอบครัวจะต้องปลูกข้าวเพื่อบริโภคเอง โดยจะปลูกข้าวเหนียวเป็นหลัก และปลูกข้าวเจ้าเพียงเล็กน้อย เพื่อใช้บริโภคในบางโอกาสหรือใช้สำหรับเป็นส่วนประกอบพิธีกรรมในโอกาสงานบุญประเพณีต่าง ๆ มีเพียงบางครอบครัวเท่านั้นที่มีที่นามาก ก็จะปลูกข้าวเจ้าจำนวนมากเพื่อขายสร้างรายได้
อาชีพเลี้ยงสัตว์ การที่ชาวบ้านชุมชนบ้านหนองบัวมีอาชีพหลักคือการทำนา ทำให้มีการเลี้ยงกระบือ เพื่อใช้ในการไถนาควบคู่กับการทำนาไปด้วย โดยชาวบ้านจะผูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา ซึ่งเป็นที่ดอนไม่สามารถปลูกข้าวได้ แต่ปัจจุบันทุกหลังคาเรือน ที่มีอาชีพทำนาใช้รถไถนาแบบเดินตามแทนการใช้กระบือไถนาแล้ว นอกจากเลี้ยงกระบือแล้วชาบบ้านยังเลี้ยงวัวพื้นบ้านและวัวลูกผสม ซึ่งเป็นสัตว์ที่แทบทุกครอบครัวเลี้ยงไว้ โดยจะเลี้ยงไว้ที่คอกในช่วงฤดูฝนหรือฤดูทำนา จะไม่ปล่อยออกให้หากินเองตามธรรมชาติ เนื่องจากเกรงว่าวัวของตนเองจะกัดกิน หรือเหยียบย้ำต้นข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านยังนิยมเลี้ยง หมู ไก่ และเป็ด โดยเฉพาะไก่ชาวบ้านจะเลี้ยงกันทุกหลังคาเรือนเพราะเลี้ยงง่าย ไม่ต้องมีการเลี้ยงดูเอาใจใส่มากนัก สำหรับหมูนั้นจะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่สำคัญ ๆ เช่น การเลี้ยงญาติพี่น้องเพื่อนบ้านที่มาช่วยงานดำนา เกี่ยวข้าว ตลอดจนการทำบุญต่าง ๆ ซึ่งจะแสดงออกถึงการให้เกียรติและมีน้ำใจของเจ้าของบ้าน
อาชีพเพาะปลูกมะเขือเทศ มะเขือเทศเป็นพืชที่สำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านชุมชนบ้านหนองบัว โดยเริ่มการเพาะปลูกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2526 ภายหลังจากมีการตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ณ บ้านนางอย-โพนปลาโหล ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านหนองบัวประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นสถานที่รับซื้อมะเขือเทศที่เป็นผลผลิตจากชาวบ้าน เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้หลังจากฤดูทำนา การเพาะปลูกมะเขือเทศนั้นจะปลูกในพื้นที่ที่ทำนา หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ โดยชาวบ้านจะเลือกพื้นที่นาที่อยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำ เช่น หนองสาธารณะ บ่อน้ำ หรือสระน้ำในที่นาส่วนตัว ในกรณีที่พื้นที่อยู่ไกลแหล่งน้ำ ก็จะใช้วิธีเจาะน้ำบาดาลซึ่งมีน้ำอยู่ในระดับตื้นประมาณ 3-5 เมตร ใช้แรงคนโยกน้ำขึ้น หรือเครื่องสูบน้ำ ปล่อยน้ำไปตามสายยางให้ไหลไปตามร่องน้ำระหว่างแปลงมะเขือเทศ
อาชีพเย็บผ้าโหล ถึงแม้ชุมชนบ้านหนองบัวจะนำนาปลูกข้าวเพื่อบริโภคเองก็ตาม แต่รายได้ที่ได้จากการขายข้าวที่เหลือจากการบริโภค ถือว่าเป็นส่วนน้อยเท่านั้น จึงไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย อาชีพเย็บผ้าจึงเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับชาวบ้านชุมชนบ้านหนองบัว โดยจะมีพ่อค้าจำหน่ายเสื้อผ้าชาวญวน จากตัวเมืองสกลนคร เข้ามาสำรวจภายในหมู่บ้านเพื่อหาชาวบ้านที่มีจักรเย็บผ้า แล้วติดต่อชาวบ้านให้เย็บผ้าเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ เป็นเสื้อ กางเกง สำเร็จรูป หรือที่เรียกว่า “เสื้อผ้าโหล” ผ้าที่ชาวบ้านรับมาเย็บส่วนใหญ่นั้นจะเป็น ผ้าร่มรวมทั้งผ้าอื่น ๆ ทั่วไป ในการรับผ้ามาเย็บแต่ละครั้งต้องเย็บให้เสร็จและนำส่งพ่อค้าภายในเวลาไม่เกิน 10 วัน เสื้อผ้าที่เย็บเสร็จแล้วจะนำไปบรรจุในถุงกระสอบ แล้วเขียนชื่อของผู้เย็บพร้อมกับชื่อหมู่บ้าน และวางไว้ที่หน้าบ้านบริเวณริมถนน เพื่อรอรถโดยสารประจำทางที่วิ่งเข้าตัวเมืองสกลนครมารับถุงกระสอบนั้นไปส่งที่ร้านของพ่อค้าเสื้อผ้าที่ได้ตกลงกันไว้
ชาวบ้านหนองบัวทุกครัวเรือนนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก มีวัดประจำหมู่บ้าน คือ วัดหนองบัว ลักษณะการนับถือและการปฏิบัติทางศาสนา เป็นการผสมผสานความเชื่อเรื่องพุทธ พราหมณ์ และผี เข้าด้วยกัน ชาวบ้านมีความเชื่อว่ากรรมและบาปบุญมีจริง การที่จะได้รับบุญชาวบ้านเชื่อว่าได้มาจากการทำบุญด้วยการถวายปัจจัย เงินทอง สิ่งของมีค่าให้กับพระสงฆ์ รวมทั้งบุญที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ผลของบุญที่จะได้รับจะทำให้ชีวิตนี้มีความสุข ปราศจากภัยต่าง ๆ ที่มาเบียดเบียน นอกจากนี้ยังมีขนบธรรมเนียม พิธีกรรม และความเชื่อดังเช่นชาวอีสานทั่วไป
ปฏิทินประเพณี ของชุมชนบ้านหนองบัว
- มกราคม - บุญกองข้าว
- กุมภาพันธ์ - บุญข้าวจี่
- มีนาคม - ฟ้อนผีหมอ
- เมษายน - บุญเผวส
- พฤษภาคม - บุญบั้งไฟ
- มิถุนายน - บุญชำระ
- กรกฎาคม - เข้าพรรษา
- สิงหาคม - บุญข้าวประดับดิน
- กันยายน - บุญข้าวสาก
- ตุลาคม - ออกพรรษา
- พฤศจิกายน - งานลอยกระทง
- ธันวาคม - บุญผ้าป่าปีใหม่
ด้านสังคม
ในอดีตวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนบ้านหนองบัว วิถีชีวิตที่เรียบง่าย พึ่งพาอาศัยปัจจัยการดำรงชีวิตจากธรรมชาติเป็นหลัก อาชีพหลักคือการทำไร่ทำนา เพื่อเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัว ดังนั้น เรื่องฐานะความเป็นอยู่ จึงขึ้นอยู่กับจำนวนพืชผลที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในแต่ละปี รวมถึงความขยันของสมาชิกภายในครอบครัว ที่จะสามารถเก็บเอาปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้จากธรรมชาติ เช่น เก็บของป่า ตัดไม้มาสร้างบ้านเรือน ทำฟืนหรือเผ่าถ่านใช้หุงต้ม พอถึงฤดูน้ำหลากชาวบ้านก็จะจับสัตว์น้ำเพื่อบริโภคได้ตามฤดูกาล เช่น กบ ปู หอย ปลา กุ้ง โดยใช้เครื่องมือพื้นบ้านได้แก่ สะดุ้ง(ยอ) มอง(ตาข่าย) ไซ แห เบ็ด ฯลฯ ทำให้ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่ต้องเสียเงินซื้อกับข้าว และยังสร้างรายได้ จากการจับปลาไปขายให้กับพ่อค้าคนกลางภายในหมู่บ้านได้อีกด้วย
ด้านวัฒนธรรม
การฟ้อนผีหมอหยา เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของคนไทยแถบภาคอีสาน โดยนิยมทำในแถบภูไท ผู้ไท หรือผู้ไทย พิธีกรรมนี้เป็นการเสี่ยงทาย เมื่อมีการเจ็บป่วยในครอบครัว โดยการเจ็บป่วยนี้จะเป็นการกระทำของผี จึงต้องทำการเหยาเพื่อแก้ผี และเพื่อจะได้ทราบว่าผีต้องการอะไร หรือผู้เจ็บป่วยทำผิดผีอะไร จะได้ทำการแก้ เชื่อว่าหากแก้ผีแล้ว อาการเจ็บป่วยจะหายเป็นปกติ โดยมีหมอเหยา เป็นผู้ทรงเจ้า ทำหน้าที่คล้ายผู้ประนีประนอมทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างวิญญาณต่าง ๆ
กระบวนการประกอบพิธีกรรม
1. พิธีเกลือกไข่ จะใช้ไข่ไก่ 1 ฟอง ให้ผู้ชำนาญในการเกลือไข่อธิษฐานเสี่ยงทาย หากเป็นผีคุณให้กินตา หากเป็นผีเชื้อ (ผีตระกูลบรรพบุรุษ) ให้กินปีก หากเป็นผีต้องให้กินกระดูกสันหลัง แล้วใช้มือทั้งสองข้างถือไข่กวาดและถูเบา ๆ ตามร่างกายผู้ป่วยให้สำแดงเดชที่ไข่ตามอธิษฐานเสี่ยงทายแล้วก็ทุบไข่เพื่อแกะดูตำหนิว่าเกิดตำหนิที่ส่วนใดของไข่จะทราบได้ว่าเกิดจากผีประเภทใด ก็จะบะหรือการบนไว้เป็นเสร็จพิธี
2. พิธีลงยันต์ เริ่มด้วยการทำคายขันห้าวางไว้บนหมอน ใช้ผ้ายันต์ปิดตาคนที่จะลงยันต์ มือทั้งสองของคนที่จะลงยันต์จะประนมมือนึกถึงคุณพระศรีรัตนะตรัย แล้วนั่งตามที่ตนถนัดผู้ลงยันต์จะมีอาการสั่นไปเรื่อย ๆ ถ้าหากทราบเกี่ยวกับเรื่องใดก็จะกล่าวเรื่องนั้นออกมาในทำนองว่าผิดผีป่า ผีนา ผิดผีบ้านอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถามจะถามว่าจะให้ทำอย่างไร ต้องการอะไร ผู้ลงยันต์ก็ตอบในทำนองให้ “บน” ให้คนป่วยหายเสียก่อนหากหายแล้วให้แก้ตามที่บนไว้ ซึ่งเรียกว่า“คาย”ประกอบด้วย ขันห้า เงิน 3 บาท ส่วนเหล้า 1 ขวดนั้นไว้นอกคาย เมื่อคนป่วยหายแล้วก็แก้บนเลิกคายเป็นเสร็จพิธี
3. พิธีกระท็อง ใช้ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ผ่าครึ่งโยนลงในกระด้งที่มีข้าวสารประมาณหยิบมือเดียว พร้อมทั้งอธิษฐานเสี่ยงทายตามความชำนาญของผู้เสี่ยงทาย เมื่อเสี่ยงทายเป็นที่พอใจแล้วก็จะบนไว้ในทำนองว่าถ้าหากคนป่วยหาย จะแก้บนให้ตามต้องการทุกอย่างเป็นเสร็จพิธี
ภาษาที่ชาวบ้านหนองบัวใช้สื่อสาร คือ ภาษาอีสานสำเหนียงญ้อ ภาษาชาวญ้อจะจัดอยู่ในกลุ่มตระกุลภาษาไท-กระได มีการใช้เสียงสูง และอ่อนหวาน คล้ายสำเนียงเลย แต่จะมีการใช้สระและวรรณยุกต์ที่ต่างออกไป เช่น เฮือ เป็น เฮีย, ให้ เป็น เห้อ ตัวอย่างประโยค เช่น อยู่ทางได เป็น อยู่ทางเลอ เป็นต้น
การได้รับการส่งเสริมให้มีอาชีพปลูกมะเขือเทศ โดยการส่งผลผลิตให้กับโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งที่ 3 อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ณ บ้านโพนปาโหล ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้าน ชุมชนบ้านหนองบัวเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ชาวบ้านเริ่มรู้จักการเกษตรที่มีฐานอยู่บนการค้า แทนที่การเกษตรแบบดั้งเดิมที่อยู่บนฐานของปากท้องของตนเองและครอบครัว ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถจับจ่ายใช้สอย ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้ เช่น โทรทัศน์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงเงินก่อสร้างบ้าน ให้เป็นรูปแบบบ้านที่ทันสมัยในขณะนั้น
ในระยะแรกมีผู้ปลูกมะเขือเทศเพียง 4-5 รายเท่านั้น ต่อมามีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอมาส่งเสริมกลุ่มยุวชนเกษตรกรบ้านหนองบัวให้ปลูกมะเขือเทศ เพื่อขายผลผลิตให้โครงการหลวง จนทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกกันมากขึ้น ปี พ.ศ. 2545 ได้มีพ่อค้าและนายหน้าจากโรงงานเอกชนเข้ามาติดต่อขอซื้อมะเขือเทศกับชาวบ้านด้วยราคาที่สูงกว่า ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากนำมะเขือเทศไปขายให้ นอกจากได้ราคาสูงแล้วยังได้รับเงินสดทันทีที่ส่งผลผลิต ในขณะที่การขายให้กับโรงงานหลวงต้องรอเวลาหลังจากส่งมอบมะเขือเทศแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะได้เงิน ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่จากโรงงานเอกชนเข้ามาส่งเสริมการเพาะปลูกและทำการซื้อขายผลผลิตมะเขือเทศจากเกษตรด้วยระบบ “เกษตรพันธะสัญญา” (Contract Farming) เหมือนกับโรงงานหลวงฯ ชาวบ้านหนองบัวจึงเห็นว่าการเพาะปลูกมะเขือเทศเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัวเนื่องจากมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอนทำให้อาชีพปลูกมะเขือเทศเป็นที่ยอมรับในหมู่เกษตรกรชุมชนบ้านหนองบัวเป็นต้นมา
ภาคภูมิ เชื้อสวย. (2552). การสร้างถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกมะเขือเทศของเกษตรกร : กรณีศึกษา บ้านหนองบัว หมู่ที่ 5 ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร. ประกาศนียบัตรบัณฑิต, สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.