Advance search

ชุมชนคุณธรรม ร่วมสืบสานวัฒณธรรมบุญบั้งไฟ แหล่งค่ายบั้งไฟที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในตำบลกลางใหญ่

หมู่4, 7, 8, 10
บ้านไผ่
กลางใหญ่
เขื่องใน
อุบลราชธานี
อบต.กลางใหญ่ โทร. 0-4522-7180
วิไลวรรณ เดชดอนบม
10 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
14 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 ก.พ. 2024
บ้านไผ่

บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีดงป่าไผ่เป็นจำนวนมาก เมื่อก่อตั้งหมู่บ้านจึงเรียกชื่อว่า "บ้านไผ่"


ชุมชนชนบท

ชุมชนคุณธรรม ร่วมสืบสานวัฒณธรรมบุญบั้งไฟ แหล่งค่ายบั้งไฟที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในตำบลกลางใหญ่

บ้านไผ่
หมู่4, 7, 8, 10
กลางใหญ่
เขื่องใน
อุบลราชธานี
34320
15.5212912201448
104.404032379388
องค์การบริหารส่วนตำบลกลางใหญ่

บ้านไผ่ ตำบลกลางใหญ่ อำเภอเขื่อนใน จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งมาแล้วกว่า 200 กว่าปี ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไผ่ได้อพยพมาจากหลายพื้นที่ ในครั้งแรกเกิดจากการรวมกันระหว่างชาวบ้านไผ่และชาวบ้านกลางใหญ่อาศัยอยู่ที่โนนบ้านเก่าบึงเขาหลวง แต่ได้เกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้น ชาวบ้านจึงต้องอพยพเพื่อหนีโรคระบาด โดยได้เดินทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและได้ปักหลักตั้งถิ่นฐานใหม่อีกครั้งอยู่ที่หัวไร่ปลายนาดงนาฮี เรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านนาฮี"

ต่อมาได้เกิดสงครามและภัยแล้งขึ้น ชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรซึ่งถือเป็นอาชีพหลักในการเลี้ยงครอบครัวได้ จึงได้พากันอพยพอีกครั้ง การอพยพในครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มซึ่งอพยพมาพร้อม ๆ กัน กลุ่มแรกได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณหนองไผ่น้อย (เรียกชื่อบ้านกลุ่มนี้ว่า บ้านเก่าน้อย) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาปักหลักฐานอยู่ที่บริเวณหน่อป่าแดง (เรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหน่อป่าแดง) ในเวลาต่อมาทั้งสองกลุ่มได้รวมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน และเนื่องจากพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านทั้งสองมีหนองน้ำธรรมชาติและมีต้นไผ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า "บ้านหนองไผ่คำ" และมีการก่อสร้างวัดขึ้น แต่จากนั้นไม่นานวัดได้ย้ายไปทางทิศใต้มาตั้งอยู่ระหว่างป่าต้นโพธิ์กับริมทุ่งจึงได้เรียกชื่อวัดที่ย้ายมาใหม่ว่า “วัดโพธิ์ศรีวนารามบ้านไผ่”

ทว่า การย้ายวัดทำให้ชาวบ้านไม่สะดวกในการเดินทางไปที่วัด เนื่องจากเส้นทางไปสู่วัดนั้นมีแต่ป่าดง ชาวบ้านจึงได้ย้ายมาสร้างบ้านอยู่ใกล้วัด โดยกลุ่มบ้านเก่าน้อยได้แยกกันตั้งบ้านเรือนออกเป็นคุ้ม ได้แก่ คุ้มหนองหลุบ คุ้มกกแคน และคุ้มกกม่วง ทั้งสามคุ้มนี้รวมกันเป็นคุ้มบ้านใหญ่ ส่วนกลุ่มบ้านหน่อป่าแดงได้ย้ายเข้ามาอยู่บริเวณป่าหมาก เรียกว่า คุ้มบ้านน้อย ต่อมาทั้งคุ้มบ้านใหญ่และคุ้มบ้านน้อยได้ขยายพื้นที่และเข้ามาอยู่ระหว่างคุ้มบ้านใหญ่และคุ้มบ้านน้อย จึงทำให้เกิดเป็นคุ้มใหม่ขึ้นเรียกว่าคุ้มโคกกลาง และทั้งสามคุ้มนี้รวมกันเป็นหมู่บ้านเดียวเรียกชื่อว่า หมู่บ้านไผ่ ในปัจจุบัน

อาณาเขตและที่ตั้ง

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองแคน้อย ตำบลดงแคนใหญ่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านดงจงอาจ ตำบลบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกลางใหญ่ ตำบลกลางใหญ่ อำเภอเขื่อนใน จังหวัดอุบลราชธานี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านผักบุ้ง ตำบลดงแคนใหญ่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านไผ่มีพื้นที่ทั้งหมด 6 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,750 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ใช้เพื่อการเกษตร สภาพดินมีลักษณะเป็นเหนียวและดินร่วนปนทราย บริเวณโดยรอบหมู่บ้านมีหนองน้ำธรรมชาติและหนองน้ำสาธารณะที่ชาวบ้านร่วมกันขุดขึ้นเพื่อใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร เนื่องจากหมู่บ้านไผ่ไม่มีแม่น้ำหรือคลองไหลผ่าน แต่หมู่บ้านก็ยังไม่เคยมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบลุ่ม และเป็นบริเวณที่มีฝนตกเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคของชาวบ้าน

ลักษณะภูมิอากาศ

  • ฤดูร้อน มีเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศจะเริ่มร้อนขึ้นตามลำดับและอาจจะมีฝนตกบ้างแต่ไม่มาก ในฤดูนี้มักจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง 
  • ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม มีฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม แต่ระยะทิ้งช่วงในแต่ละปีไม่เหมือนกัน 
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยจะมีอุณหภูมิลดลงตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และจะหนาวมากในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม 

บ้านไผ่ ตำบลกลางใหญ่ อำเภอเขื่อนใน จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบไปด้วยประชากร 4 หมู่ คือ หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 10 มีประชากรรวม 1,891 คน โดยแบ่งเป็นประชากรชาย 935 คน และประชากรหญิง 956 คน โดยจำนวนประชากรบ้านไผ่ตามรายงานสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง แบบแยกรายหมู่บ้านทั้ง 4 หมู่ (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) มีดังนี้

  • บ้านไผ่ หมู่ที่ 4 มีจำนวนประชากร 530 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 263 คน ประชากรหญิง 267 คน 166 หลังคาเรือน
  • บ้านไผ่ หมู่ที่ 7 มีจำนวนประชากร 328 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 170 คน ประชากรหญิง 158 คน 101 หลังคาเรือน
  • บ้านไผ่ หมู่ที่ 8 มีจำนวนประชากร 642 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 322 คน ประชากรหญิง 320 คน 186 หลังคาเรือน
  • บ้านไผ่ หมู่ที่ 10 มีจำนวนประชากร 396 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 181 คน ประชากรหญิง 215 คน 115 หลังคาเรือน

โดยครอบครัวในหมู่บ้านจะมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ในอดีตครอบครัวในหมู่บ้านไผ่มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีญาติผู้ใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกัน เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง เนื่องจากคนในสมัยก่อนก่อนมักจะมีลูกมากเพื่อมาเป็นแรงงานด้านเกษตรกรรม แต่ในปัจจุบันลักษณะทางสังคมของหมู่บ้านไผ่มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก สมาชิกภายในครอบครัวเมื่อเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาวก็มักจะออกจากบ้านไปเรียนหรือไปทำงานนอกหมู่บ้านหรือต่างจังหวัดโดยเฉพาะกรุงเทพฯ เพราะการคมนาคมความสะดวกมากขึ้น บางคนเมื่อแต่งงานก็มักออกไปสร้างบ้านเรือนของตนเองแยกอยู่ต่างหากด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้รูปแบบครอบครัวเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น 

หมู่บ้านไผ่เป็นสังคมแบบเกษตรกรรม มีพื้นที่ในการทำการเกษตรมากกว่า 2,000 ไร่ อาชีพหลักของชาวบ้าน คือ การทำนา ทั้งนาดำและนาหว่าน แต่ส่วนมากชาวบ้านมักจะทำนาหว่านมากกว่า เพราะใช้ระยะเวลาและแรงงานในการทำนาน้อยกว่าทำนาดำ ข้าวที่ปลูกมีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วนิยมเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน แต่บางสายพันธุ์นิยมนำไปขาย โดยมีปัจจัยมาจากความแตกต่างด้านราคาจำหน่าย 

นอกจากการทำนาแล้ว ชาวบ้านบางครอบครัวยังมีการทำไร่มันสำปะหลัง หลังการทำนาตั้งแต่เดือนธันวาคม โดยจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อถึงหมู่บ้าน บางครอบครัวยังมีการทำสวนยางพาราในพื้นที่บริเวณรอบนอกหมู่บ้าน โดยช่วงของการเปิดหน้ายาง คือ ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ หรือช่วงระยะที่ปลูกต้นยางครบ 7-8 ปี ส่วนการขายนั้นจะมีทั้งแบบนำไปขายให้กับโรงงานในอำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบ และแบบที่มีพ่อค้ามาซื้อถึงสวนยาง

นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านยังมีค่ายบั้งไฟ (ภายใต้ชื่อ ค่ายบั้งไฟ ไผ่สีทอง) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตบั้งไฟเพื่อจำหน่ายให้กับชาวบ้านทั้งภายในและภายนอกหมู่บ้านที่ต้องการนำบั้งไฟไปจุดในประเพณีบุญบั้งไฟและประเพณีต่าง ๆ โดยมีราคาที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดที่ผลิต ในปัจจุบันการผลิตบั้งไฟได้มีการนำเอาเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้กับภูมิปัญญาของชาวบ้านอีก เพื่อให้การผลิตมีความรวดเร็วและสามารถผลิตได้จำนวนมากขึ้น

ปฏิทินการดำเนินชีวิต

  • เดือนมกราคม ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ในตอนเช้าที่วัดบ้านไผ่ และในช่วงเย็นแต่ละบ้านก็จะมีการทำกับข้าวเลี้ยงญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน เป็นการทำบุญต้อนรับปีใหม่
  • เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ชาวบ้านจะเริ่มออกไปท้องไร่ท้องนาเพื่อเตรียมพื้นที่ในการทำนา มีการไถเตรียมหน้าดินและคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะใช้ในการหว่าน และเพาะต้นกล้าสำหรับดำนา
  • เดือนเมษายน-พฤษภาคม ชาวบ้านเริ่มหว่านเมล็ดข้าวทำนา หรือบางครอบครัวใช้วิธีแบบดำนา ก็จะนำต้นกล้ามาปักดำในนา
  • เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ชาวบ้านจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต
  • เดือนธันวาคม ชาวบ้านเริ่มปลูกมันสำปะหลัง

ประเพณีสำคัญ

บ้านไผ่ เป็นหมู่บ้านที่ยังคงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเพณีบุญบั้งไฟซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวอีสานและเป็นประเพณีที่สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน จนเกิดเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน

ประเพณีบุญบั้งไฟมักจัดขึ้นในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าบุญเดือนหก เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล เพราะชาวอีสานต้องใช้น้ำฝนในการทำนา ซึ่งการทำนาถือเป็นอาชีพหลักของชาวอีสาน ดังนั้น น้ำฝนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงต้องมีการจัดพิธีขอฝน โดยใช้บั้งไฟเป็นสื่อกลางในการทำพิธีขอฝน เพื่อให้ฝนตก ในอดีตการจัดประเพณีบุญบั้งไฟของหมู่บ้านไผ่เป็นการจัดกันแค่ภายในหมู่บ้าน มีระยะเวลาในการจัด 2 วัน คือ วันแห่บั้งไฟและวันจุดบั้งไฟ มักจะจัดในอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงก่อนที่ชาวบ้านจะทำนา สถานที่เตรียมงานและสถานที่จัดงานจะเป็นบริเวณวัดบ้านไผ่ เพราะเป็นสถานที่รวมตัวของชาวบ้านในการจัดประเพณีต่าง ๆ มาตั้งแต่อดีต

ในปัจจุบันการจัดประเพณีบุญบั้งไฟของชาวบ้านไผ่นั้นถือเป็นประเพณีประจำตำบลกลางใหญ่ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานราชการในการจัดงาน ทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านบ้านไผ่อีกด้วย เมื่อมีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟชาวบ้านทั้งในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียงมักจะนำสินค้ามาตั้งเป็นแผงขายขนาดย่อม มีทั้งอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์กันแดด ให้เช่าที่ร่มและเก้าอี้ในการนั่งชมบั้งไฟ ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจชุมชนและตำบลกลางใหญ่มีความคึกคักมาก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาอีสาน (สำเนียงอุบลราชธานี) ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

รติยา นิสะโสกะ. (2557). การเปลี่ยนแปลงประเพณีบุญบั้งไฟสู่กระบวนการกลายเป็นสินค้า กรณีศึกษา: ประเพณีบุญบั้งไฟหมู่บ้านไผ่ ตำบลกลางใหญ่ อำเภอเขื่อนใน จังหวัดอุบลราชธานี. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2554). รู้จักบุญบั้งไฟ. สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.thaihealth.or.th/

มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.)ฮีต 12 คอง 14. สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://cac.kku.ac.th/cac2021/

ค่ายบั้งไฟ ไผ่สีทอง. (2567). บั้งไฟ. สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/

อบต.กลางใหญ่ โทร. 0-4522-7180