Advance search

มีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น มีความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มวัฒนธรรมมอญมากว่า 160 ปี นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัดและมีใจในประเพณีความเชื่อและวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม

บางขันหมาก
เมืองลพบุรี
ลพบุรี
อบต.บางขันหมาก โทร. 0-3661-7370
วีรยา วงษ์สนิท
13 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
26 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
26 ก.พ. 2024
บางขันหมาก

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าในสมัยหนึ่งเคยมีพระเจ้ากรุงจีนได้เดินทางมาพร้อมกับขบวนขันหมากใหญ่โตเพื่อจะไปเข้าพิธีแต่งงานกับนางนงประจัน ซึ่งมีบ้านอยู่ที่โคกสำโรงในปัจจุบัน แต่เมื่อพระเจ้ากรุงจีนได้เดินทางเข้ามายังหมู่บ้านบางขันหมากก็ได้เกิดอาเพศหลายอย่างขึ้น จึงเป็นเหตุที่ต้องทำให้พระเจ้ากรุงจีนออกคำสั่งให้ทหารโยนของขันหมากทิ้งน้ำเพื่อให้เรือสามารถไปต่อได้ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า "บางขันหมาก"


มีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น มีความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มวัฒนธรรมมอญมากว่า 160 ปี นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัดและมีใจในประเพณีความเชื่อและวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม

บางขันหมาก
เมืองลพบุรี
ลพบุรี
15000
14.8055841
100.595016
องค์การบริหารส่วนตำบลบางขันหมาก

ชุมชนบางขันหมากเป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ด้วยประวัติการตั้งชุมชนประกอบด้วย ชาวไทยภาคกลาง และชาวไทยเชื้อสายมอญ ด้วยเหตุนี้ชุมชนจึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต มอญบางขันหมากมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลพบุรีเมื่อใดไม่สามารถระบุได้ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าอยู่อาศัยหรืออพยพมาที่เมืองลพบุรีครั้งใดสมัยใด มีการสันนิษฐานกันว่า ชาวมอญบางขันหมากได้อพยพมาจากพม่าในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้อพยพชาวมอญกลุ่มนี้มาสร้างเมืองลพบุรี เพราะชาวมอญมีความถนัดในการทำอิฐเมื่อสร้างเสร็จแล้วเห็นว่าภูมิประเทศแห่งนี้ทำเลดีเหมาะที่จะตั้งหลักปักฐานเลยไม่ขอกลับไปกรุงศรีอยุธยา จึงตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลบางขันหมากจนทุกวันนี้ แต่ชาวมอญบางขันหมากเองนั้นมีความเชื่อว่าตนอพยพต่อเนื่องมาจากที่สามโคก ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และจากที่อื่น ๆ เพราะมีรกรากและเครือญาติที่ยังสามารถติดต่อและสืบเชื้อกันได้อยู่

แต่ส่วนหนึ่งอ้างว่าได้รับการบอกเล่าจากบรรพบุรุษของตนว่า ตระกูลของตนอพยพมาจากเมืองมอญ โดยเดินทางมาตามแม่น้ำสายหลักเป็นกลุ่มจำนวนมาก บางกลุ่มเห็นว่าถิ่นฐานแห่งใดเหมาะสมอุดมสมบูรณ์ก็ตั้งรากฐานที่นั่น บางส่วนก็อพยพต่อไปเรื่อย ๆ จนมาตั้งรกรากที่ลพบุรี เมื่ออาศัยอยู่แล้วเห็นว่าอุดมสมบูรณ์ก็ได้มีการชักชวนพี่น้องชาวมอญที่ตั้งรกรากถิ่นฐานอื่น ๆ มาอยู่ที่ลพบุรี อย่างไรก็ตามชาวมอญบางขันหมากน่าจะอาศัยอยู่ที่ลพบุรีก่อนปีพุทธศักราช 2393 เพราะมีหลักฐานปรากฏชัดเกี่ยวกับการสร้างวัดโพธิ์ระหัต ซึ่งเป็นวัดมอญที่เก่าแก่ที่สุดในชุมชนบางขันหมาก ที่มีการสร้างวัดในปีพุทธศักราช 2393

ชาวมอญบางขันหมากในปัจจุบันมีลักษณะใกล้เคียงกับคนไทยเพราะความผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมแต่ยังคงมีการอนุรักษ์และรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไว้ชัดเจนอย่างเห็นได้ชัด

ชุมชนบางขันหมากอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองลพบุรี ห่างจากเขตเทศบาลเมืองลพบุรีประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ทางด้านใต้ของทางหลวงจังหวัดหมายเลข 311 สายลพบุรี-สิงห์บุรีระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 161-162 สำหรับชาวลพบุรีเมื่อพูดถึงมอญก็จะคิดถึงบ้านมอญบางขันหมากทันที เพราะเป็นชุมชนที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มากประมาณร้อยละ 60 ในอดีตบางขันหมากแบ่งการปกครองเป็นสองตำบล คือ บ้านบางขันหมากใต้เป็นที่อาศัยของชาวมอญ ส่วนบ้านบางขันหมากเหนือจะเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวไทย เมื่อทางราชการยุบเขตหมู่บ้านทั้งสองรวมเป็นตำบลบางขันหมาก คนในถิ่นอื่นจึงมักจะเข้าใจว่าเป็นที่อาศัยของชุมชนมอญ ซึ่งตำบลบางขันหมากมีทั้งชาวมอญและชาวไทยอาศัยร่วมกัน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลพรหมศาสตร์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลโพตลาดแก้ว อำเภอวุ้ง จังหวัดลพบุรี

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ตำบลบางขันหมากเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลพบุรีไหลผ่าน มีระบบชลประทานที่ทั่วถึง ประชาชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม และในด้านของการคมนาคมในอดีตผู้คนในตำบลบางขันหมากจะใช้แม่น้ำลพบุรีในการเดินทางและติดต่อค้าขายกับภายนอก แต่ในปัจจุบันมีถนนสายลพบุรี-สิงห์บุรี ที่ได้ตัดผ่านตำบลและเป็นถนนสายหลักที่ผู้คนใช้ นอกจากนี้ยังมีถนนบริเวณที่คลองชัยนาท-ป่าสัก 3 ที่ประชาชนใช้ในการคมนาคมและขนส่งผลผลิตในทางเกษตร

บางขันหมากทั้ง 12 หมู่บ้าน มีประชากรรวมทั้งสิ้น 9,148 คน เป็นชาย 4,458 คนและเป็นหญิง 4,690 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 2,342 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการทำนา ทำสวน ส่วนอาชีพเสริม คือ มีการค้าขาย อุตสาหกรรมในครัวเรือน และมีการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น มีประเพณีการทำบุญตามพุทธศาสนาในเดือนต่าง ๆ มีความเป็นอยู่แบบเครือญาติผูกพัน และพึ่งพาอาศัยกัน มีความเคารพนับถือพระสงฆ์ ผู้อาวุโส และผู้นำชุมชน

มอญ

ชุมชนบ้านบางขันหมาก มีวัดเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ เพราะนอกจากจะเป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจแล้ว วัดยังเป็นศูนย์รวมของชุมชน เป็นที่ศึกษาหาความรู้ และเป็นแหล่งรวมของสรรพวิชาต่าง ๆ นอกจากชนชาติไทยที่นับถือศาสนาพุทธแล้วนั้น ในหมู่บ้านบางขันหมากยังมีชาวมอญบางส่วนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน มีการรักษาเอกลักษณ์ของชาวมอญไว้ และมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงทำให้ชุมชนบางขันหมากมีวัดถึง 4 แห่ง ด้วยกัน คือ วัดโพธิ์ระหัต วัดอัมพวัน วัดกลาง และวัดราษฎร์ศรัทธาทำ ซึ่งวัดมอญเหล่านี้สังกัดธรรมยุติกนิกาย โดยจะมีการสวดมนต์เป็นภาษารามัญหรือภาษามอญ

ชาวมอญที่ตำบลบางขันหมากนั้นยังคงมีการยึดความเชื่อและประเพณีที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งจะมีประเพณีในรอบปี คือ เริ่มขึ้นวันขึ้นปีใหม่ในวันสงกรานต์ซึ่งตรงกับเดือนห้า ตามปฏิธินจันทรคติ ชาวมอญก็จะเริ่มนับเดือนจากเดือนห้า เช่นเดียวกัน เดือนห้าหรือเดือนเมษายน มีประเพณีสำคัญ คือ ประเพณีสงกรานต์ ของชาวมอญนั้นจะมีการทำบุญ 5 วัน โดยในตอนเช้าจะไปทำบุญที่วัด และเมื่อกลับมาจะมีการร้องรำทำเพลงกันภายในหมู่บ้าน และเมื่อถึงเวลาเพลก็จะมีการนำเอาข้าวแช่ไปถวายพระตอนบ่าย จะมีการเข้าผี ซึ่งในวันนี้จะมีการบังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษ และสรงน้ำพระ มีการรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ให้เป็นสิริมงคลกับตัวเอง และเมื่อตกเย็น ก็จะมีการรวมตัวกันที่วัดอีกครั้งเพื่อร่วมกันก่อเจดีย์ทราย ซึ่งมีความเชื่อว่า การก่อเจดีย์ทรายนั้นเป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง เพราะเจดีย์ทรายถือว่าเป็นพระองค์หนึ่งที่เราต้องเคารพสักการะ ซึ่งในสมัยก่อนชาวบ้านจะขนทรายจากบ้านของตนหรือจากลำคลองมา แต่ในปัจจุบันไม่มีใครหิ้วทรายมาก่อเจดีย์ จึงทำให้ทางวัดต้องมีการจัดเตรียมทราย เพื่อให้ชาวบ้านใช้ก่อ

1.พระปัญญาวุฒิ วุฑฒิโก

อุปสมบทมาเป็นพระเป็นระยะเวลา 10 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอัพวัน ตำบลบางขันหมาก จังหวัดลพบุรี พระปัญญาวุฒิ วุฑฒิโก เป็นผู้ก่อตั้งชมรม "ยุวชนมอญชาวบางขันหมาก" และส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญ โดยเป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมไทยรามัญเมืองลพบุรี มีการจัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตไทยรามัญบ้านบางขันหมากในเทศกาลต่าง ๆ ส่งเสริมให้เด็กเรียนภาษามอญ และเป็นผู้จัดขบวนมอญโบราณร่วมงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และมีการจัดทำหนังสือมอญเผยแพร่สู่สาธารณชน

ทุนวัฒนธรรม

อาหาร อาการการกิน หรือวัฒนธรรมการกินของชาวมอญบางขันหมากยังคงความเป็นอาหารมอญพื้นถิ่น เช่น "ข้าวแช่" หรือที่ชาวมอญเรียกว่า "เปิงด๊าจก์" โดยจะมีความเป็นอารยทางวัฒนธรรมอย่างโดดเด่น มีรสชาติอร่อยกลมกล่อม และมีวิธีที่ประณีต ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญ เนื่องจากข้าวแช่เป็นอาหารในพิธีกรรมของชาวมอญที่ใช้ถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งการทำข้าวแช่ของชาวมอญในบ้านบางขันหมาก มีกรรมวิธีหลายขั้นตอน ก่อนที่จะทำนั้นต้องมีการเตรียมของทั้งหมดให้พร้อม และจะทำกันในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ เพื่อถวายพระสงฆ์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่นิยมทำขายเป็นการค้า และไม่ทำไว้กินเองเลี้ยงทั้งบ้าน นอกจากนี้ยังมี "แกงมะตาด" หรือ (แกงฟะฮะเปร๊า) ซึ่งเป็นผักที่มีเฉพาะถิ่น ผลของมะตาดจะออกในช่วงฤดูฝนเท่านั้น และมี "แกงเอื้อง" ซึ่งเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ชาวมอญบางขันหมากนิยมรับประทานกันอย่างมาก เพราะเอื้องหรือต้นเอื้องนั้นจะขึ้นอยู่บริเวณริมน้ำทั่วไป แต่ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยรู้จัก เพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกับผักบุ้ง ผักกระเฉด สามารถเก็บและนำมาทำอาหารได้ตลอดทั้งปี

ภาษาของชาวมอญอยู่ในกลุ่มของภาษาออสโตร-เอเชียติค สาขามอญ-เขมร ได้อพยพมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอิระวดี สาละวิน สะโตง และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งชาวมอญที่ตำบลบางขันหมาก นับเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใช้ภาษาของตนเองอย่างมั่นคงมาโดยตลอด และสามารถพูดได้ 2 ภาษา คือ ภาษามอญและภาษาไทย เนื่องจากความห่างไกล ขาดการติดต่อกับถิ่นอื่น ๆ ซึ่งมีภาษาแม่เป็นภาษาเดียวกัน นับเป็นเวลาช้านาน ทำให้คนมอญแต่ละท้องถิ่นมีถ้อยคำและสำเนียงแตกต่างกัน


สถานภาพในปัจจุบันของชาวมอญในหมู่บ้านบางขันหมาก มีลักษณะใกล้เคียงกับคนไทย เพราะมีความผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรม สามมารถสังเกตได้ชัดจากการแต่งกาย เช่น คนหนุ่มสาวจะแต่งกายแบบคนไทยทั่วไป ส่วนในวัยกลางคนจะยังคงมีการแต่งตัวตามแบบเดิม ผู้หญิงนิยมไว้ผมมวย นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก หรือเด็ก ๆ ชาวมอญ แต่เดิมที่มีการไว้ผมจุก ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นผมตัดธรรมดา ทั้งนี้อาจจะมีเหตุมาจากเพราะเด็ก ๆ ต้องมีการเข้าโรงเรียน อาจจะทำให้เป็นภาระกับผู้ปกครอง จึงทำให้ค่านิยมในการไว้จุกเริ่มลดลงจนเกือบหาเด็กที่ไว้จุกไม่ได้

ส่วนในด้านของภาษาการพูดนั้น ชาวมอญยังคงมีการพูดภาษารามัญในหมู่ชาวมอญด้วยกัน แต่หาคนที่อ่านและเขียนภาษารามัญได้ยาก เพราะไม่มีคนรุ่นใหม่นิยมเรียนกันแล้ว โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ๆ เมื่อได้เข้าโรงเรียน ก็ได้มีการเรียนภาษาไทยกันมากขึ้น จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านของภาษา อาจจะรวมไปถึงการสวดมนต์ของพระด้วย จึงทำให้บางคนที่ยังมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมเดิมไม่ค่อยชอบใจมากนัก เนื่องจากกลัวที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กาสัก เต๊ะขันหมาก, พนิตสุภา ธรรมประมวล และกานดา เต๊ะขันหมาก. (2564). การจัดการความรู้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการของชุมชนมอญบางขันหมาก ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี. วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. 15(3), 16-32.

นพรัตย์ น้อยเจริญ. (2550). วิถีชุมชนบางขันหมาก. สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2566). ชุมชนบางขันหมาก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://culturalenvi.onep.go.th/

อบต.บางขันหมาก โทร. 0-3661-7370