Advance search

บ้านหนองดู่-บ่อคาว

กวานหนองดู่

ชุมชนที่ยังคงยึดมั่นในการอนุรักษ์ชุมชนและวัฒนธรรมประเพณีชาวมอญ เช่น การรำผีเม็ง(มอญ) ประเพณีลอยอะมด(ลอยกระทง)

บ้านเรือน
ป่าซาง
ลำพูน
ญาณภัค คล้ายสุบรรณ
11 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
26 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
26 ก.พ. 2024
บ้านหนองดู่-บ่อคาว
กวานหนองดู่

ในอดีตภายในหมู่บ้านมีหนองน้ำกว้างใหญ่และลึก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน และมีต้นประดู่ใหญ่ขึ้นอยู่ริมหนองน้ำจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า "หมู่บ้านหนองดู่"


ชุมชนที่ยังคงยึดมั่นในการอนุรักษ์ชุมชนและวัฒนธรรมประเพณีชาวมอญ เช่น การรำผีเม็ง(มอญ) ประเพณีลอยอะมด(ลอยกระทง)

บ้านเรือน
ป่าซาง
ลำพูน
51120
อบต.บ้านเรือน โทร. 0-5359-3222
18.5216881308
98.8988368986
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเรือน

ชุมชนคนมอญแห่งเมืองหริภุญชัยกลุ่มสุดท้ายที่ยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี โดยมีหลักฐานเอกสารยืนยันว่า คนมอญมาจากเมืองตะแลงคนาซึ่งอยู่ในแถบอินเดียตอนใต้ ก่อนจะอพยพย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีที่เมืองหงสาวดีแล้วตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นเรียกว่า “อาณาจักรพยู” ตอนหลังถูกพม่าเข้ารุกรานและได้อพยพหนีเข้ามาอยู่ในสยาม โดยเข้ามาตั้งรกรากครั้งแรกที่บริเวณจังหวัดนครปฐม ต่อมาได้กระจายออกไปตามที่ต่าง ๆ ในประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการขุดพบหลักฐานที่นครปฐมเป็นเหรียญเงินซึ่งปรากฏอักษรมอญไว้ว่า “เย ธฺมมา ศรีทวารวติ” ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับชื่อของเมืองทวารวดี ทำให้ทราบว่ากลุ่มคนมอญเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนในสมัยทวารวดีเมื่อก่อนศตวรรษที่ 15 สำหรับกลุ่มคนมอญที่เข้ามาอยู่ในหริภุญชัย สันนิษฐานว่าเข้ามาเมื่อราวศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งน่าจะเป็นคนมอญกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่

ชุมชนมอญบ้านหนองดู่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ในเขต อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นชุมชนมอญอีกแห่งหนึ่งที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงสำเนียงเสียงภาษามอญ แม้ว่าชุมชนบ้านหนองดู่จะเป็นชุมชนมอญขนาดเล็ก แต่ก็รักษาขนบประเพณีมอญเอาไว้เป็นอย่างดี

ความเชื่อของชาวมอญที่นี่ พวกเขาเชื่อว่าอพยพมาจากเมืองมอญ ในประเทศพม่าโดยตรง อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่า ชาวมอญบ้านหนองดู่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญในสมัยหริภุญชัย พร้อม ๆ กับการกำเนิดของพระนางจามเทวี ตามตำนานโยนกนคร กล่าวว่า “พระนางจามเทวีทรงสมภพเมื่อเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน 5 ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ปี พ.ศ. 1176 โดยประสูติที่บ้านหนองดู่ (นครบุรพนคร) เป็นชาวเมงคบุตร ดังนั้นชาวมอญที่นี่จึงนับถือพระนางจามเทวีเป็นเสมือนบรรพบุรุษ และทุกปีจะมีพิธีบวงสรวงวิญญาณเจ้าแม่จามเทวี อันเป็นประเพณีที่ชาวมอญยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งจะทำพิธีภายในเดือน 4 ของมอญ (ปอน=4) เดือน 5 ของล้านนา หรือราวเดือนกุมภาพันธ์

เอกลักษณ์ของชาวมอญบ้านหนองดู่ที่ยังคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การแต่งกายและภาษา คนมอญ นิยมเรียกตนเองว่า “เมง” การแต่งกายของคนเมงคือ ผู้ชายจะใส่โสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดบ่า สวมเสื้อคอมน ผู้หญิงจะใส่ชุดลูกไม้สีชมพู หากแต่ปัจจุบันการแต่งกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ใส่โสร่ง การแต่งกายแบบมอญจะมีในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น งานวันบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวี วันเปิงสงกรานต์ (วันสงกรานต์) วันลอยหะมด (วันลอยกระทง) และวันฟ้อนผีเท่านั้น ส่วนภาษาของชาวมอญก็ยังคงมีการสื่อสาร โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ทว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ได้ให้ความสนใจในการพูด - เขียนภาษามอญมากยิ่งขึ้น

ในรายงานวิชาการเรื่องการขุดแต่งเจดีย์ประธานวัดเกาะกลาง โดยวิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดีอิสระ กล่าวถึงวัดเกาะกลางว่าเดิมเป็นวัดร้างตั้งอยู่กลางทุ่งนาในเขตบ้านบ่อคาว ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน วัดนี้มีเรื่องเล่าเชิงมุขปาฐะสืบต่อกันมาว่า เป็นวัดที่สร้างโดยเศรษฐีอินตา เชื้อสายมอญซึ่งเป็นบิดาของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ต่อมาถูกทิ้งร้างโดยไม่ทราบสาเหตุ

ตำบลบ้านเรือน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอป่าซาง ระยะทางจากตัวอำเภอประมาณ 7.5 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงชนบทป่าซาง-หนองดู่ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้เส้นทางป่าซาง-ลี้ มีองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเรือนตั้งอยู่บริเวณบ้านทรายทอง มีพื้นที่ทั้งหมด 8.11 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,205 ไร่

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลปากบ่อง และตำบลแม่แรง
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลท่าตุ้ม และแม่น้ำปิง
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลท่าตุ้ม และตำบลแม่แรง
  • ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำปิง และเขตอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ประชากรที่อาศัยในชุมชนชาวมอญบ้านหนองดู่ หมู่ที่ 1 และบ้านบ่อคาว หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

  • บ้านหนองดู่ ประชากรรวมทั้งหมด จำนวน 572 คน แยกเป็นประชากรเพศชาย 256 คน ประชากรเพศหญิง 316 คน
  • บ้านบ่อคาว ประชากรรวมทั้งหมด จำนวน 223 คน แยกเป็นประชากรเพศชาย 12 คน ประชากรเพศหญิง 111 คน

ประชากรที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นระบบเครือญาติ/กลุ่มชาติพันธุ์ของชาวมอญที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ผู้คนที่อยู่อาศัยถึงแม้จะมีการแยกเป็น 2 หมู่บ้านคือ บ้านหนองดู่ และ บ้านบ่อคาว แต่ก็ไม่ได้มีการแตกแยกแต่อย่างใด เพราะเนื่องจากต่างก็เป็นญาติชาวมอญด้วยกัน มีผู้นำชุมชนเป็นผู้คอยประสานให้ชาวมอญทั้ง 2 หมู่บ้าน มีความรักใคร่สามัคคี ชุมชนบ้านหนองดู่-บ่อคาว ยังคงยึดมั่นในการอนุรักษ์ชุมชนและวัฒนธรรมมอญ ภายในชุมชนอาศัยอยู่บ้านเรือนเก่าไม้ชั้นเดียวและสองชั้นกระจายอยู่ในชุมชน

มอญ

ด้านวัฒนธรรม

คนในชุมชนหมู่บ้านหนองดู่-บ่อคาว มีการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ สามารถแบ่งได้ดังนี้

กลุ่มคนศรัทธาผีตามความเชื่อของคนในชุมชน

ฟ้อนผีมอญของชาวบ้านหนองดู่-บ่อคาว เป็นการฟ้อนเพื่อแก้บน เมื่อลูกหลานหรือคนในตระกูลเกิดอาการเจ็บป่วย รักษาอย่างไรก็ไม่หาย และเมื่อได้รู้ว่าเกิดจากการผิดผี ไม่ใส่ใจละเลยต่อวิญญาณ “ผีปู่ย่า” หรือ “ผีบรรพบุรุษ” ผู้ที่เจ็บป่วยหรือคนในตระกูลก็จะมีการบนบานขอขมาต่อผีบรรพบุรุษ หากอาการดีขึ้นก็จะจัดฟ้อนผีมอญถวาย โดยจะไม่มีกำหนดว่าหลังจากที่อาการดีแล้วกี่วันจึงจะทำ แต่จะนิยมทำกันในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคมก่อนเทศกาลเข้าพรรษา

กลุ่มศรัทธาวัด

หลังจากชาวบ้านมีที่อยู่ที่ทำกินเป็นหลักแหล่งแล้ว ก็ได้พากันสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นในบริเวณที่เป็นวัดหนองดู่ปัจจุบันจึงกลายเป็นว่าหมู่บ้านหนองดู่มีวัด 2 แห่ง วัดหนึ่งคือ วัดเกาะกลาง และวัดหนองดู่

ด้านกลุ่มอาชีพ

เดิมเป็นชุมชนเกษตรกรรม ชุมชนริมน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตร มีที่นาของตนเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รองลงมาคือ แม่บ้าน เกษตรกร พนักงานบริษัทเอกชน ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว นักศึกษา และรับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากส่วนใหญ่ มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ขณะเดียวกันชาวมอญในบ้านหนองดู่มีอาชีพเก่าแก่ คือ อาชีพทำขนมเส้นเม็ง (ขนมจีน) ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างชื่อเสียงให้ชาวมอญในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก

วิถีชีวิตทางด้านวัฒนธรรมของชาวมอญ คือ การตักบาตรน้ำผึ้ง ที่ชาวมอญจัดขึ้นทุกวันเพ็ญเดือน 10 ตามปกติในวันเพ็ญเดือน 10 ชาวบ้านจะร่วมใจกันเตรียมน้ำผึ้งไปตักบาตรพระ พอสายก็เลี้ยงอาหารมอญ และทำบุญสลากภัตก่อนเที่ยงวัน โดยได้รับการสนับสนุนในการฟื้นฟูจารีตประเพณีมอญดั้งเดิมจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่หันมาสนใจรากเหง้าของตนเองมากขึ้น กล้าแสดงออกบอกคนภายนอกว่าตนเองเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ มีความกระตือรือร้นในการแต่งกายแบบมอญ ทำอาหารมอญไว้รับประทานภายในบ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม 

วัดเกาะกลาง

ตั้งอยู่ที่บ้านบ่อคาว ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง เป็นวัดที่อยู่คู่ชุมชนชาวมอญ บ้านหนองดู่-บ่อคาวมายาวนาน และยังคงเหลือซากโบราณสถานที่สมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดลำพูน เดิมทีชาวบ้านเชื่อว่า วัดเกาะกลาง สร้างโดยเศรษฐีอินตา ซึ่งเป็นชาวมอญ และปัจจุบันวัดเกาะกลางมีความโดดเด่นคือ มีเสาตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารวิหารของวัด เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนมอญที่ใช้หงส์ เป็นเครื่องรำลึกและสักการะถึงเมืองหลวงของมอญในพม่าคือ เมืองหงสาวดี พื้นที่โดยรอบวัดได้ค้นพบโบราณวัตถุ โบราณสถาน ได้แก่ มณฑปบนทุ่งนา ซากฐานอุโบสถ ซากฐานพระวิหารหลวง แนวกำแพงแก้ว บ่อน้ำ ซากฐาน  พระนอน มณฑป โขงทิศตะวันออก ซุ้มประตูโขงทิศตะวันตก เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากรมศิลปากรและองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้ร่วมกันทำการอนุรักษ์ปูนปั้นและขุดแต่งบูรณะโบราณสถานโดยรอบวัดเกาะกลางเสร็จสมบูรณ์บางส่วน

วัดเกาะกลางในอดีตเคยเป็นวัดของคนมอญสร้างขึ้นอยู่กลางน้ำ รอบ ๆ วัดเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2517 พระมหาสงวน ปัญญา วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ พระมหาดวงจันทร์ เขียวพันธ์ วัดพระศรีมหาธาตุกรุงเทพฯ และพระอุดม บุญช่วย จากวัดหนองดู่ลำพูน ได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัดเกาะกลางซึ่งเป็นวัดร้างและมีโบราณสถานอยู่เป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันวัดเกาะกลางเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เมื่อเดินทางเข้ามาในวัดจะพบกับโบราณสถานที่สำคัญซึ่งเป็นเจดีย์ประธานทรงล้านนาที่มีลวดลายปูนปั้นค่อนข้างชัดเจนมาก ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง สร้างขึ้นบนฐานเขียงสี่เหลี่ยม องค์เรือนธาตุแต่ละด้านมีซุ้มจรนำยื่นออกมาจนมีลักษณะเป็นมุข ที่เสากรอบมุขและหลังคาประดับด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพรรณพฤกษา จากลวดลายปูนปั้นของเจดีย์องค์นี้เรียกได้ว่า น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่จะสามารถสืบค้นอายุของเจดีย์ได้ ลวดลายพรรณพฤกษาและลายเมฆไหลที่พบประดับกรอบซุ้มจรนำด้านเหนือของเจดีย์ประธานวัดเกาะกลางนั้น เป็นงานประติมากรรมฝีมือช่างสกุลล้านนาที่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการรับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์มาจากสุโขทัย ดังนั้นนักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่าประติมากรรมปูนปั้นที่ประดับองค์เจดีย์ประธาน เป็นประติมากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 20 หรือหลังสิ้นแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช

นอกจากนี้รอบ ๆ วัดเกาะกลางยังปรากฏเจดีย์ต่าง ๆ และโบราณสถานอีกกว่า 7 แห่ง โดยเฉพาะเจดีย์หมายท่าที่อยู่ปากทางเข้าวัด เจดีย์หมายท่านี้น่าจะหมายถึงท่าน้ำบ้านหนองดู่ ที่ด้านหน้าวัดยังมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมมีเสาแกนกลางเพื่อรับน้ำหนักซึ่งไม่เคยปรากฏรูปแบบที่ใดมาก่อนตั้งอยู่บนเนินดิน ในวัดยังมีซุ้มประตู ฐานอุโบสถและรากหรือฐานกำแพงวัดตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ เป็นเศษอิฐจมอยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมาก

กลุ่มโบราณสถานภายในวัดเกาะกลางที่พบ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มโบราณสถานที่อยู่ภายในบริเวณวัดและกลุ่มโบราณสถานที่อยู่รอบ ๆ วัด รูปแบบของโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในวัดเกาะกลาง เป็นศิลปกรรมล้านนาคือตัวเจดีย์เป็นทรงมณฑปแบบล้านนา ข้างล่างเป็นฐานจตุรมุข ข้างบนเป็นทรงระฆังคว่ำ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแต่ยังไม่ได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซม

ชุมชนคนมอญแห่งเมืองหริภุญไชยกลุ่มสุดท้ายที่ยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลางแห่งนี้น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการสืบค้นอดีต แม้ว่าคนมอญส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตให้เข้ายุคสังคมในปัจจุบันไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยสายเลือดของคนมอญที่ฝังรากอยู่ในมโนสำนึกแล้วทุก ๆ ปีชาวบ้านเกาะกลางจะจัดงานเทศกาลฟ้อนผีเม็งซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดียวที่ยังถูกถ่ายทอดมาจนถึงลูกหลานเป็นการสานต่อวัฒนธรรมของพวกเขาไว้ไม่ให้สูญสลาย

การแต่งกาย

ผู้ชายจะใส่โสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดบ่า สวมเสื้อคอมน ผู้หญิงจะใส่ชุดลูกไม้สีชมพู หากแต่ปัจจุบันการแต่งกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือการใส่โสร่ง การแต่งกายแบบมอญจะมีในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น งานบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวี วันเปิงสังกรานต์ (วันสงกรานต์) วันฟ้อนผีและวันลอยหะมด (วันลอยกระทง) สำหรับการแต่งกายประจำวันปกติมีการแต่งกายแบบชาวบ้านภาคเหนือปกติ

ในหมู่คนเฒ่า คนแก่ และวัยกลางคน รวมถึงพระสงฆ์ ซึ่งเป็นชาวมอญ ยังคงสวดมนต์ด้วยภาษามอญ ทางชุมชนได้มีการสนับสนุนให้ผู้เฒ่าผู้แก่สอนภาษามอญแก่เด็กและเยาวชน รณรงค์ให้ประชาชนในชุมชนพูดคุยสื่อสารกันด้วยภาษามอญ


การเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดของหมู่บ้านหนองดู่-บ่อคาว คือการเปลี่ยนแปลงในด้านแนวความคิดของประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยชาวมอญที่บ้านหนองดู่-บ่อคาว ถือเป็นชาติพันธุ์มอญเก่าแก่ คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ยังคงรับประทานอาหารพื้นบ้านมอญ และพูดภาษามอญได้ ขณะที่กลุ่มเด็กและวัยรุ่น 65% จะออกไปเรียนหรือประกอบอาชีพนอกชุมชน เหลือ 35% อยู่ในหมู่บ้าน ไม่ค่อยสนใจทั้งที่อาหารมอญมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก

จากสภาพปัญหานี้ ชาวมอญบ้านหนองดู่จึงขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการชุมชนน่าอยู่หมู่บ้านหนองดู่ เพื่อคันหารากเหง้าวิถีชีวิตของคนมอญ โดยเฉพาะภาษา การแต่งกาย และอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ ที่จำเป็นต้องฟื้นฟูเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและสืบทอดต่อไป เดิมชาวบ้านทำนา มีที่นาของตนเอง แต่ภายหลังได้ถูกลูกหลานขายไปจนหมด ทำให้ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นแบบกระจัดกระจาย และในหมู่บ้านเหลือเพียงผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ จึงขอความร่วมมือจากคนกลุ่มนี้เป็นหลักในการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาในด้านต่าง ๆ และจัดกิจกรรมตามวิถีของคนมอญให้กับเด็กมอญรุ่นใหม่ รณรงค์ให้แต่งกายแบบมอญในประเพณีสำคัญต่าง ๆ เช่น การแห่หงส์ แห่ธงตะขาบ เป็นต้น สอนเพาะพันธุ์ไม้ที่สำคัญต่อคนมอญ และให้กลุ่มแม่บ้านสอนเด็กทำอาหาร

“กวาญย์ แหมะ ปะ เน่าฮ์” หรือ ขนมเม็ดขนุน พบว่ายังนิยมทำกันในชุมชนมอญในเมืองไทย คือ หมู่บ้านหนองดู่และหมู่บ้านบ่อคาว ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และยังคงมีหน้าตาแบบเดียวกัน เรียกชื่อเดียวกันกับมอญในเมืองมอญทุกประการ

วิภาดา เพชรโชติ. (2555). ฟ้อนผีมอญของชาวมอญบ้านหนองดู่และบ้านบ่อคาว ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 13(2), 35-42.

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร. (2567). สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร(รายเดือน). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน. (2566). เม็ดขนุน: ขนมมอญโบราณหากินยาก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://lamphun.m-culture.go.th

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอป่าซาง. (2563). ตำบลบ้านเรือน ตำบลต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต. รายงานสรุปผลการพัฒนา. สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน.

North Public News. (2560). มอญหนองดู่ปลื้มอบจ.หนุนงบต่อยอดฟื้นวัฒนธรรมโปรโมทสู่แหล่งท่องเที่ยว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.northpublicnews.com

ThaiHealth Official. (2560). ชุมชนคน “มอญ” หริภุญชัยปลุกคนรุ่นใหม่ใส่ใจรากเหง้า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.thaihealth.or.th