ชุมชนเกษตรปลอดสารพิษ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีกับพืชผลทางการเกษตร สู่การรวมตัวก่อตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพื่อจุดมุ่งหมายหลักให้คนในชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างพอมี พอกิน พอใช้ จากรายได้ในภาคการเกษตร และสนับสนุนให้ชุมชนปลอดจากสารเคมีทุกชนิดในการทำเกษตรกรรม
ชุมชนเกษตรปลอดสารพิษ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีกับพืชผลทางการเกษตร สู่การรวมตัวก่อตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพื่อจุดมุ่งหมายหลักให้คนในชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างพอมี พอกิน พอใช้ จากรายได้ในภาคการเกษตร และสนับสนุนให้ชุมชนปลอดจากสารเคมีทุกชนิดในการทำเกษตรกรรม
บ้านดอกแดงก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2479 เดิมทีเคยเป็นส่วนหนึ่งของบ้านอมลองแต่แยกออกมาด้วยสาเหตุบ้านอมลองอยู่ห่างไกลจากที่ทำกิน ชาวบ้านต้องเดินทางไปที่ไร่ที่นาไกลถึงประมาณ 8 กิโลเมตร กอปรกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายถูกเกณฑ์แรงงานไปขนสัมภาระให้ทหารญี่ปุ่น ทำให้ขาดแรงงานในการทำนา ชาวบ้านที่มีที่นาทำกินอยู่ฝั่งขวาของห้วยน้ำแม่โถหลวงจึงย้ายมาอยู่ที่ใหม่ คือ บ้านดอกแดง ในปัจจุบัน โดยการนำของครอบครัวนายกอแก๊ะ จอพอ มีผู้ติดตามมาอยู่ด้วยสองครอบครัว คือ ครอบครัวนายอาแง๊ะ วอบือ และครอบครัวนายพายะ เหว่พอ เนื่องจากนายกอแก๊ะ จอพอ เป็นผู้นำในการตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านดอกแดง จึงจำเป็นที่ต้องเป็นผู้ที่ทำพิธีทางศาสนา (ฮิโข่) และทางอำเภอก็ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2502 นายกอแก๊ะ จอพอ จึงได้ควบตำแหน่งทั้งผู้นำทางพิธีกรรมและผู้นำทางการ ต่อมามีสมาชิกย้ายมาเพิ่มอีกสองครอบครัวจากบ้านตะลอโปคี (บ้านโป่ง) ตำบลป่าโปง อำเภอแม่สะเรียงในอดีต (ปัจจุบันคืออำเภอสบเมย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ ครอบครัวนายบุญเชอ-นาง กรือเชอ โทสบ้า และครอบครัวนายแหละเชอ-นาง แปะโพ เหว่ทู ย้ายมาจากบ้านแม่ลิดป่าแก่ ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ในอดีตนั้นชาวบ้านยึดถือปฏิบัติตามความเชื่อของผี ต่อมามีการเข้ามาของศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวบ้านได้เปลี่ยนจากนับถือความเชื่อประเพณีเดิมมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก โดยการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของบาทหลวงเซกีน๊อท และบาทหลวงโบนา ในสมัยนั้น
บ้านดอกแดง ตั้งอยู่ในตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับพื้นที่ราบลุ่ม ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ ด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงสลับพื้นที่ราบจึงเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยสายต่าง ๆ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลกองก๋อย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 10 บ้านดอกแดง ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 561 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 273 คน ประชากรหญิง 288 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 148 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2567) ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ
ปกาเกอะญอชาวบ้านดอกแดงส่วนใหญ่มีอาชีพหลักที่ทำกันเป็นส่วนใหญ่ คือ การทำเกษตรกรรม นอกเหนือจากนี้มีอาชีพหลัก ๆ คือ รับจ้าง ค้าขาย และยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังนิยมออกไปทำงานนอกหมู่บ้านทั้งในตัวเมืองเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร
การทำเกษตรกรรมของชาวบ้านดอกแดงนั้นนับว่ามีความหลากหลาย เนื่องจากพืชที่ปลูกหาได้มีเพียงแต่ข้าวเท่านั้น แต่มีพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะเสาวรส ซึ่งนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของบ้านดอกแดงในขณะนี้ ลักษณะเด่นของเสาวรสจากบ้านดอกแดง คือ เป็นเสาวรสที่ปลูกแบบปลอดสารพิษ หรือที่เรียกว่า เกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีการปลูกผักปลอดสารในโรงเรือนส่งจำหน่ายให้แก่โครงการหลวง ซึ่งในปัจจุบันนี้เกษตรผู้ทำการเกษตรปลอดสารพิษได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอกแดงขึ้น เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนบริหารจัดการรายได้ และหาตลาดรองรับผลผลิตของสมาชิก
กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอกแดง
เกษตรอินทรีย์บ้านดอกแดงได้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
- การปลูกผักปลอดสารในโรงเรือน รวมกลุ่มเป็นสมาชิกผักปลอดสารโครงการหลวง จำหน่ายผ่านโครงการหลวง
- การปลูกเสาวรสอินทรีย์บ้านดอกแดง
จุดเริ่มต้นของการปลูกเสาวรสอินทรีย์ คือ มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทแห่งหนึ่งได้มาติดต่อรับซื้อเสาวรสและแนะนำให้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อไปขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เพื่อจะได้ทำสัญญาซื้อขายผลผลิตอย่างเป็นทางการ จึงเกิดการพูดคุยกันเพื่อก่อตั้งกลุ่ม โดยเริ่มต้นมีสมาชิกรวมกันทั้งหมด 14 คน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 หลังจากนั้นจึงมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในการก่อตั้งกลุ่มนั้นมีเป้าหมายเพื่อให้สมาชิกทำการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมีและเสริมสร้างรายได้ในครอบครัวให้เกษตรกรพออยู่ได้ และเป้าหมายหลักอีกอย่างหนึ่ง คือ ให้เกษตรกรในหมู่บ้านดอกแดง ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีในที่สุด
ปฏิทินชุมชนบ้านดอกแดง
เดือน | กิจกรรม/กิจวัตรชุมชนบ้านดอกแดง |
มกราคม | - |
กุมภาพันธ์ | - ปีใหม่ (หนิ่ซอโข่) - เตรียมที่ทำไร่ - เตรียมอุปกรณ์สร้างบ้าน |
มีนาคม | - ซ่อม/สร้างบ้าน - ทำบุญ/ผีหมู่บ้าน - เลี้ยงผีป่า |
เมษายน | - การทำแนวกันไฟ - เตรียมพื้นที่ข้าวไร่ - หยอดข้าวไร่ |
พฤษภาคม | - เลี้ยงผีเหมืองฝาย - หว่านกล้า - ไถนา |
มิถุนายน | - เลี้ยงผีเหมืองฝาย - หว่านกล้า - ไถนา |
กรกฎาคม | - ดายหญ้าข้าวนา - ดายหญ้าข้าวไร |
สิงหาคม | - ปีใหม่รอบ 2 (ลาคุปู) - เลี้ยงผีนา/ผีไร่ |
กันยายน | -เลี้ยงผีนา/ผีไร่ - เรียกขวัญควาย/ช้าง |
ตุลาคม | - พิธีเรียกขวัญข้าว - พิธีกินข้าวใหม่ - พิธีนวดข้าว |
พฤศจิกายน | - พิธีขนข้าวเข้ายุ้ง - พิธีเลี้ยงส่งนก - ขวัญข้าว (โท บี ข่า) |
ธันวาคม | - พิธีดื่มเหล้าก้นยุ้ง - เยี่ยมญาติพี่น้อง |
ภาษาพูด : ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรไทย
บุญสม ชายชลศรีจินดา และคณะ. (2559). การสร้างกลไฟบริหารจัดการดิน น้ำ ป่าและระบบเกษตรทางเลือกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงจิตวิญญาณให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านดอกแดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่. รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.