ซึมซับวัฒนธรรมปกาเกอะญอ สัมผัสความงามธรรมชาติและกลิ่นไอแห่งการผสมผสานของวิถีชีวิตดั้งเดิมและพลวัตทางสังคมที่ไหลบ่าในชุมชนบ้านแม่อูคอหลวง
ซึมซับวัฒนธรรมปกาเกอะญอ สัมผัสความงามธรรมชาติและกลิ่นไอแห่งการผสมผสานของวิถีชีวิตดั้งเดิมและพลวัตทางสังคมที่ไหลบ่าในชุมชนบ้านแม่อูคอหลวง
หมู่บ้านแม่อูคอหลวง ขึ้นกับการปกครองของตำบลแม่อูคอ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมูบ้านที่ประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มชาวปกาเกอะญอ โดยบ้านแม่อูคอหลวงนี้มีชุมชนที่เป็นสายตระกูลเดียวกันอีกถึง 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยบง บ้านพะทีคี บ้านแม่อูคูเหนือ บ้านแม่อูคอน้อย และบ้านสบแม่สุรินใต้
สำหรับประวัติความเป็นมาของบ้านแม่อูคอหลวงนั้นไม่หลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าประชากรชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ ณ บ้านแม่อูคอหลวงนี้อพยพหรือมีภูมิลำเนาเดิมมาจากสถานที่ใด แต่คาดว่าการรวมตัวก่อตั้งหมู่บ้านอาจเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ดังที่ พนา ชอบขุนเขา และคณะ (2556) ได้กล่าวถึงพัฒนาการของบ้านแม่อูคอหลวงโดยแบ่งเป็นยุคสมัยต่าง ๆ โดยสรุป ดังนี้
พ.ศ. 2456 : ยุคก่อตั้ง
ในอดีตบ้านแม่อูคอหลวงถูกเรียกว่า “อูคอโกล๊ะ” เป็นภาษาปกาเกอะญอ เมื่อนํามาแปลความหมายเป็นภาษาไทย มีความหมายว่า ห้วยอูคอ สันนิษฐานว่าคําว่า “อูคอ” อาจเป็นชื่อเฉพาะของคนที่มีบทบาทในพื้นที่แห่งนี้ในเวลานั้น หรืออาจเป็นผู้ค้นพบพื้นที่นี้ เป็นบุคคลแรกที่เข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ หรืออาจเป็นผู้นําการอพยพในสมัยนั้น ซึ่งไม่มีข้อมูลสนับสนุนมากพอที่จะให้ข้อมูลได้
เริ่มแรกหมู่บ้านมีจำนวนหลังคาเรือนเพียง 5 ครอบครัว พื้นที่ “อูคอโกล๊ะ” มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก วิถีชีวิตของชาวแม่อูคอหลวงในสมัยนั้นเป็นวิถีการพึ่งพิงอาหารจากการผลิตในระบบไร่หมุนเวียน และการหาอาหารจากป่า เพราะทรัพยากรที่มีอยู่ภายในชุมชนและรอบชุมชนต่างก็บริบูรณ์ เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในหมู่บ้านน้อยนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงปัจจัยจากภายนอก
พ.ศ. 2515 : ยุคแห่งการเปิดชุมชนสู่ภายนอก
ในช่วงนี้ทางการได้ส่งครูคนแรกมายังหมู่บ้าน เพื่อสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ชาวปกาเอกะญอในชุมชนภายใต้ชื่อโครงการครูหลังม้า เนื่องจากการคมนาคมในยุคนี้ยังยากลำบากอยู่ ครูที่ไปสอนหนังสือยังต้องใช้ม้าเป็นพาหนะนําทาง ซึ่งการเข้ามาของครูเพื่อสอนหนังสือถือเป็นสื่อกลางที่นำพาชาวแม่อูคอหลวงเปิดชุมชนให้ออกสู่สายตาคนภายนอก ไม่นานหลังจากนั้นก็มีหน่วยงานราชการหลายหน่วยเข้ามายังชุมชน และมีการแต่งตั้งผู้นําอย่างเป็นทางการ
พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา : ยุคแห่งการพัฒนา
.ในช่วงนี้องค์การบริหารส่วนตำบลแม่อูคอเน้นหนักในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนน ระบบน้ำประปา ฯลฯ ตลอดจนการพัฒนาระบบสังคม ศักยภาพทางการศึกษา ยุคนี้จึงเป็นยุคที่ความเจริญต่าง ๆ ทั้งการคมนาคมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านแม่อูคอหลวงมากขึ้น
พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน : ยุคสมัยแห่งโลกาภิวัตน์
เหตุที่กล่าวว่ายุคนี้คือยุคสมัยแห่งโลกาภิวัตน์ เพราะนอกจากการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสังคม และกปารศึกษาแล้ว การรับอิทธิพลจากภายนอกก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ชุมชนบ้านแม่อูคอหลวงได้รับอิทธิพลอันเป็นผลพวงจากระบบโลกาภิวัตน์อันเป็นผลจากการหลั่งไหลทางวัฒนธรรมจากคนพื้นราบอย่างชัดเจน เช่น วิถีการกิน ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค รวมถึงเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ช่วยให้การดำรงชีวิตเกิดความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
จากพัฒนาการของชุมชนบ้านแม่อูคอหลวงในยุคสมัยต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาจสรุปได้ว่าการเริ่มก่อตั้งชุมชนนั้นอาจเริ่มขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2456 ทว่า ความเป็นมาเกี่ยวกับถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิมของชาวปกาเกอะญอที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่แห่งนี้ไม่มีปรากฏแน่ชัด สันนิษฐานได้เพียงแต่ว่าอาจมาจากประเทศเมียนมา แต่ก่อนที่จะมาตั้งหมู่บ้านที่บ้านแม่อูคอหลวงนั้นเคยอาศัยที่หมู่บ้านที่ใดมาก่อนหรือไม่ ไม่สามารถอธิบายได้ ภายหลังก่อตั้งหมู่บ้าน บ้านแม่อูคอหลวงเริ่มมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามยุคสมัยมาตามลำดับ จากเริ่มแรกที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต เริ่มมีการเปิดชุมชนออกสู่สายตาคนภายนอก นำมาซึ่งการหลั่งไหลทางวัฒนธรรมจากคนภายนอก นำมาสู่การนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ตลอดจนวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เริ่มมีความคล้ายคลึงกับคนพื้นราบมากขึ้นในปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านปางตอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทุ่งบัวตอง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านปูกู่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ห้วยสุริน
บ้านแม่อูคอหลวงมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตวนอุทยานทุ่งดอกบัวตอง มีพื้นที่ราบเชิงเขาเล็กน้อยตามร่องหุบห้วยแม่อูคอและลำห้วยสาขา พื้นที่บริเวณนี้จะถูกใช้สำหรับการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ส่วนที่ราบลุ่มต่ำเชิงเขาใช้ทำการเกษตรในลักษณะของนาขั้นบันได แต่ก็มีน้อยมาก เนื่องจากการทำเกษตรกรรมส่วนมากจะใช้พื้นที่บริเวณที่สูงระหว่างหุบเขา ซึ่งมีความลาดชันเกิน 30 องศา
สภาพภูมิอากาศ
บ้านแม่อูคอหลวงจัดอยู่ในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศแบบฝนตกชุกสลับแห้งแล้งในเขตร้อน ซึ่งแตกต่างกันไปตามระดับความสูง-ต่ำของภูเขา ทำให้ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์แตกต่างกันไปตามตำแหน่งและความสูงของพื้นที่ แต่โดยปกติแล้วสามารถแบ่งฤดูกาลได้ 3 ฟโุกาล ได้แก่
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีผลทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกชุก ซึ่งจะมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในเดือนสิงหาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ได้อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ โดยได้รับความกดอากาศจากประเทศจีน ทำให้มีอากาศหนาวเย็น มีหมอกมากในเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมกราคม
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม เดือนที่มีอากาศร้อนมากที่สุด คือเดือนเมษายน
สถิติจำนวนประชากรจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรตำบลแม่อูคอ หมู่ที่ 5 แม่อูคอหลวง มีจำนวนประชากร 592 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 317 คน ประชากรหญิง 275 คน และจำนวนคัวเรือนทั้งสิ้น 163 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชน คือ ชาวปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยงที่สันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากประเทศพม่า
ปกาเกอะญออาชีพหลักของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่อูคอหลวง คือ การทำเกษตรกรรม ผลผลิตที่สำคัญ คือ ข้าวไร่ แต่จะทำสำหรับบริโภคเสียส่วนใหญ่ มีการเก็บหาของป่าและการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกชุมชน แต่ระยะหลังเมื่อคนในชุมชนเริ่มมีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการประกอบอาชีพเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย โดยคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านปัจจุบันนี่นิยมหันมาประกอบอาชีพรับจ้าง บางส่วนมีโอกาเข้ารับราชการ และประกอบกิจการอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้รายได้หลักไม่ได้ผูกติดอยู่แต่กับการทำเกษตรกรรมอีกต่อไป
ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด : ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวปกาเกอะญอให้ความสำคัญเป็นอย่างมาห เชื่อว่าหากมีเด็กเกิดในหมู่บ้าน ในวันนั้นทุกคนในหมู่บ้านต้องหยุดการทำงานทุกอย่าง จะมีการตัดรกใส่กระบอกไม้ไผ่ ผูกปิดด้วยผ้านําไปผู้กติดไว้กับต้นไม้ใหญ่ โดยเปรียบรกเป็นขวัญ และเปรียบต้นไม้นี้เป็นที่พักอาศัยของขวัญ และห้ามตัดต้นไม้นี้เด็ดขาด เพราะจะทำให้ขวัญหายไป
ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ : เปรียบเป็นการเปิดหน้างานใหม่ หากไม่มีประเพณีนี้ถือว่ายังลงมือทำไร่ไม่ได้ โดยประเพณีขึ้นปีใหม่จะมีราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่ละปีจะไม่ตรงกัน คลาดเคลื่อนเล็กน้อยเพราะถือเวลาจากดวงเดือน ก่อนจะถึงวันขึ้นปีใหม่สองวัน แม่บ้านทุกบ้านจะต้มเหล้าไว้สำหรับทำพิธีผูกข้อมือ ส่วนพ่อบ้านจะไปหาใบไม้ห่อข้าวเหนียวและปล้องไม่ไผ่เพื่อทำข้าวหลาม นอกจากนี้ จะมีการทำข้าวปุกด้วย
การเลี้ยงผี : ในอดีตและปัจจุบันเมื่อยามที่ชาวบ้านปกาเกอญอบ้านแม่อูคอหลวง (บางส่วน) มีการเจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งแรกที่จะคำนึงถึงทันทีคือสันนิฐานว่าเกิดจากการผิดผี ซึ่งต้องทบทวนดูว่าช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นได้กระทำการละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือข้อห้ามใด เมื่อสันนิฐานว่าเป็นการผิดผีอะไร สถานที่ใดแล้ว ผู้ป่วยนั้นจะทำพิธีเลี้ยงผีนั้น ๆ เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษที่ได้ลบหลู่ โดยจะให้ผู้นําทางจิตวิญญาณเป็นผู้ดำเนินการให้การเลี้ยงผีเพื่อขอขมาลาโทษ
การเลี้ยงผีไร่ : เมื่อมีการปลูกข้าวได้ระยะหนึ่งแล้วต้นข้าวจะงอกงามสีเขียวชอุ่มเต็มผืนไร่ ช่วงนี้ข้าวจะมีอายุประมาณ 2 เดือน ชาวบ้านแม่อูคอหลวงจะทำพิธีเลี้ยงผีไร่ เพราะเชื่อว่าการที่ไร่ข้าวเจริญงอกงามนั้นเป็นผลมาจากการได้รับการคุ้มครองดูแลจากผีไร่ ดังนั้นเพื่อให้ผีไร่ดูแลผลิตไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวจึงจำเป็นต้องทำพิธีเลี้ยงผีไร่
ภาษาพูด : ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรไทย
มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตวนอุทยานทุ่งดอกบัวตอง ซึ่งห่างไปไม่ไกลในเขตวนอุทยานทุ่งดอกบัวตองมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ คือ ทุ่งดอกบัวตองดอยแม่อูคอ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีลักษณะเป็นทิวเขาเขียวสูงสลับกับทุ่งดอกบัวตองทั่วพื้นเขา โดยจะบานพร้อม ๆ กันในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มีสีเหลืองอร่ามปกคลุมทั่วทั้งภูเขา มีความสวยงามมาก จุดที่เป็นที่นิยมในการชมทัศนียภาพอันสวยงามของทุ่งดอกบัวตอง คือ บนดอยแม่อูคอ เนื่องจากข้างบนนี้สามารถมองเห็นทุ่งดอกบัวตองได้แบบ 360 องศา มีบริการเต็นท์ให้เช่า ซึ่งสามารถตั้งเต็นท์ได้ประมาณ 100 หลัง นอกจากนี้ ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น พิธีรับขวัญดอกบัวตอง และการจำหน่ายสินค้า OTOP ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมากมาย ทุ่งดอกบัวตองปห่งนี้จึงถือเป็นแลนด์มาร์กของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเลยก็ว่าได้
กรมประชาสัมพันธ์. (2566). ทุ่งดอกบัวตอง ดอยแม่อูคอ ที่เที่ยวแม่ฮ่องสอน หนาวนี้ ต้องไม่พลาด!. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.prd.go.th/
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). ทุ่งดอกบัวตองดอยแม่อูคอ. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/
บ้านแม่อูคอหลวง จ.แม่ฮ่องสอน. (2563). ลงแขกบ้านข้าวทำนา. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/
บ้านแม่อูคอหลวง จ.แม่ฮ่องสอน. (2564). ลงแขกบ้านข้าวทำนา. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/
บ้านแม่อูคอหลวง จ.แม่ฮ่องสอน. (2566). บ้านแม่อูคอหลวง. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/
พนา ชอบขุนเขา และคณะ. (2556). การศึกษาและฟื้นฟูเพื่อจัดการอาหารแบบพอเพียงตามวิถี "ปากาเกอญอ" บ้านแม่อูคอหลวง. รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.