เศรษฐกิจพอเพียง เกาะสวย หาดหอยขาว อิสลามงามตา รักษาป่าชุมชนและป่าชายเลน
อดีตมีครอบครัวอาศัยในละแวกนี้ สามีชื่อ “เชย” ภรรยาชื่อ “ชี” ครอบครัวนี้มีฐานะดี ขยันทำมาหากินและมีอัธยาศัยไมตรีดีต่อเพื่อนบ้าน ฉะนั้นเมื่อใครผ่านไปมามักจะแวะทักทายและกินน้ำกินข้ายกันบ่อยครั้ง ผู้ที่ผ่านไปมามักจะถามถึงนางชี กับ สามี ว่า “ชีมีหม้าย” หมายถึง “ชี อยู่หรือไม่” นายเชยสามี ตอบว่า “ชีมี” หมายถึง “นางชีอยู่” ผู้คนที่ผ่านไปมามักทักทายและถามกระทั่งพูดจนติดปากว่า “ชีมี” ดังนั้นจึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “ชีมี” กระทั่งปัจจุบัน
เศรษฐกิจพอเพียง เกาะสวย หาดหอยขาว อิสลามงามตา รักษาป่าชุมชนและป่าชายเลน
บ้านชีมี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ บ้านด่าน หมู่ที่ 1 แต่เพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองจึงแยกเป็นบ้านชีมี หมู่ที่ 8 วันที่ 17 เมษายน 2517 ในด้านเศรษฐกิจของชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกสัมปทานป่าชายเลนในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งก่อนหน้านั้นในชุมชนมีสัมปทานเตาถ่าน เป็นการเผาไม้โกงกางขนาดใหญ่นำไปใช้ในการเผาเพื่อทำเป็นถ่าน ภายหลังยกเลิกสัมปทานอาชีพของสมาชิกในชุมชนก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยเปลี่ยนจากการเผาไม้โกงกางและการทำไร่ ทำนา เปลี่ยนเป็นการทำสวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพาราและสวนผลไม้ อย่างไรก็ดีสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพประมง ทว่าปัจจุบันทรัพยากรประมงในธรรมชาติ ในพื้นที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา สมาชิกในชุมชนจึงมีอาชีพเสริมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ อาทิ การทำใบจาก ทั้งการตัดเย็บตับจาก ตัดใบจากขาย ลอกใบจาก
ภัยพิบัติที่ชุมชนบ้านชีมีประสบและส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างมาก และยังคงเล่าขานในชุมชนคือ ชุมชนประสบภัยแล้งอย่างมากในปี พ.ศ. 2536 ส่งผลให้พืชพรรณยืนต้นตายจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้นความแห้งแล้งนี้ก่อให้เกิดไฟไหม้ สวนปาล์ม สวนยางพารา และสวนป่าในพื้นที่ต้นน้ำ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบให้ชุมชนขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภค และเหตุการณ์ภัยพิบัติจากคลื่นซึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ก็ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างมาก เช่นเดียวกันกับชุมชนบริเวณทะเลอันดามัน เหตุการณ์คลื่นสึนามิทำให้ชุมชนอยู่อย่างหวาดผวา มีการหยุดอาชีพด้านการประมงไปช่วงหนึ่งเพราะความกังวลเนื่องมาจากเหตุการณ์ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดจำนวนลง
อาณาเขตติดต่อ
บ้านชีมี หมู่ที่ 8 ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ตั้งอยู่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกห่างจากจังหวัดระนอง 50 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 4,792 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านด่าน ตำบลกะเปอร์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ชายฝั่งทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองชีมี หมู่ที่ 1 บ้านด่าน ตำบลกะเปอร์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองห้วยลุง ตำบลม่วงกลวง
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
พื้นที่ชุมชนบ้านชีมี สามาถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ พื้นที่บริเวณด้านเหนือ ติดกับภูเขานารายน์ ลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา ในพื้นที่มีคลองขนาดเล็กไหลผ่านพื้นที่หมู่บ้านซึ่งเหมาะสมกับการปลูกพืช เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารารวมถึงสวนผลไม้ ส่วนด้านทิศใต้ของชุมชน ติดกับทะเลอันดามัน จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน พื้นที่นี้บางส่วนมีการทำการประมงและเพาะเลี้ยงชายฝั่ง อาทิ เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เลี้ยงปูนิ่ม การเลี้ยงปลาในกระชัง ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้บ้านชีมีเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำเอื้อให้บ้านชีมีมีต้นทุนในการเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญก่อให้เกิดรายได้แก่สมาชิกของชุมชน ไม่เพียงแต่ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ลักษณะของพื้นที่ยังเอื้อต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในชุมชน อาทิ น้ำตกเขานารายณ์ หาดหอยขาว ป่าชายเลน เกาะนก
ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานสถิติจำนวนประชากรบ้านชีมี หมู่ที่ 8 ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ เดือนธันวาคม 2566 พบว่า บ้านชีมี มีจำนวนหลังคาเรือน 365 หลังคาเรือน จำนวนประชากร ชาย 455 คน หญิง 435 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 880 คน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ราว 70 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นนับถือศาสนาพุทธ อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าสมาชิกในชุมชนมีการนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด แต่ความสัมพันธ์ของชุมชนยังมีการอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันเสมือนญาติพี่น้องถึงแม้ว่าต่างศาสนิก
โครงสร้างทางสังคมชุมชนบ้านชีมี ประกอบด้วยสมาชิกของชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนดำเนินไปด้วยการอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน กิจกรรมทางศาสนาของทั้ง 2 ศาสนิกดำเนินไปอย่างไม่ขัดแย้งกัน อาชีพของสมาชิกชุมชนบ้านชีมีความสัมพันธ์กับลักษณะของพื้นที่ทางกายภาพทั้งอาชีพด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง และการทำการเกษตรกรรม นอกจากนี้มีการประกอบอาชีพหา “หอยกัน” บริเวณป่าชายเลนเพื่อสร้างรายได้ซึ่งมีทั้ง ขายทั้งตัวและแกะเนื้อ ช่วงฝนตกหนักและน้ำนอง "หอยกัน" มีลักษณะผอม ตัวเล็ก ไม่ค่อยมีเนื้อราคาจึงไม่ดี "หอยกัน" อาศัยบริเวณโคลนค่อนข้างแข็ง ลักษณะปากอ้าเหนือโคลนเล็กน้อย หรืออาศัยบริเวณลักษณะผืนดินราบที่มีทางน้ำไหลผ่าน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันจำนวนสัตว์น้ำในธรรมชาติเริ่มลดจำนวนส่งผลให้สมาชิกชุมชนเริ่มมาประกอบอาชีพเสริมเฉพาะอย่างยิ่งการเย็บตับจาก ตัดใบจากและลอกใบจากเพื่อเป็นอาชีพเสริม แต่กิจกรรมการตัดเย็บใบจากมักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน เพราะเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากอดีตผู้ประกอบอาชีพนี้เป็นผู้สูงอายุในชุมชน ประโยชน์จากต้นจากที่สมาชิกในชุมชนนำมาทำให้เกิดรายได้ ประกอบด้วย "ลูกจาก" ใช้ทำขนมหวานแทนลูกชิด "งวง" ใช้ทำน้ำตาลและน้ำส้มจาก
ปฏิทินประเพณีของชุมชน
จากปฏิทินชุมชนพบว่า ลักษณะทางสังคมของชุมชนบ้านชีมี ค่อนข้างมีลักษณะพหุวัฒนธรรมทางศาสนา ฉะนั้นปฏิทินชุมชนในรอบปีจึงประกอบด้วยกิจกรรมทางศาสนาของสมาชิกในชุมชนที่มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยและเข้าใจซึ่งกันและกัน สมาชิกชุมชนต่างมีความเข้าใจความหลากหลายหรือลักษณะพหุวัฒนธรรมของชุมชน
ปฏิทินอาชีพชุมชนบ้านชีมี
การประกอบอาชีพของสมาชิกชุมชนบ้านชีมี จำแนกได้ 2 ประเภทหลัก คือ กิจกรรมด้านการเกษตรกรรมด้านการเพาะปลูก พืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะม่วงหิมพานต์ นอกจากพืชเศรษฐกิจยังมีการเก็บฝักสะตอ ซึ่งเป็นพืชที่แสดงถึงอัตลักษณ์อาหารของชุมชนภาคใต้ ในส่วนของพื้นที่ที่ติดชายฝั่งสมาชิกของชุมชนประกอบอาชีพประมงทั้งด้านการเพาะเลี้ยงชายฝั่งและประมงชายฝั่ง ซึ่งสอดคล้องกับภูมิปัญญาด้านการสร้างเครื่องมือประมงของสมาชิกในชุมชน
ทุนทางวัฒนธรรมทำหน้าที่ในการเป็นภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้านในชุมชน ประกอบด้วย
- หมอต้อกระดูก
- ตัดต้อเนื้อ
- หมอนวดคลายเส้น
- หมอตำแย
- หมอเอ็น
ภูมิปัญญาด้านอาชีพ ประกอบด้วย
- ช่างต่อเรือ
- การทำลอบดักปู ปลา
- การทำไซ
- แทงปลาไหล
- ล้วงกุ้งเข็บในรู
- การเป่านกควัก
- การใช้ประโยชน์จากต้นจาก
ภาษาถิ่นภาคใต้ จังหวัดระนอง
ความท้าทายในการใช้ประโยชน์จาก “ป่าจาก” ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนและเป็นแหล่งรายได้เสริมทางเศรษฐกิจของชุมชนในท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน การบริหารจัดการป่าจากให้ยังคงอยู่และมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนชุมชนจึงมีแนวทางในการบริหารจัดการร่วมกัน อาทิ
- การจัดอบรมมัคคุเทศก์น้อย เพื่อเป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้เรื่องป่าจากและป่าชายเลน เพื่อปลูกจิตสำนึกแก่คนรุ่นต่อไป
- การฟื้นฟูภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากต้นจาก เช่น การเย็บตับจาก การทำใบยาสูบ น้ำส้มจาก น้ำตาลจาก และ การจักสานใช้ในครัวเรือน
- การเพาะพันธุ์ต้นจากในรูปแบบธนาคารต้นจาก เพื่อสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชน
- การกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ตามแนวทางการจัดการป่าต้นจากเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบ้านชีมี
อย่างไรก็ดีการจัดการป่าจาก ชุมชนบ้านชีมี มีการจัดการ 2 รูปแบบ คือ
- การจัดการเพื่อการอนุรักษ์ ชุมชนบ้านชีมี มีการรวมกลุ่ม “อนุรักษณ์ฟื้นฟูป่าชายเลนกะเปอร์” เป็นการร่วมมือกันของชุมชนทั้งหมดรอบอ่าวกะเปอร์ เพื่อให้มีป่าชายเลนเพิ่มขึ้นโดยการเพาะชำไม้ป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 15 ชนิด มีไม้ชายเลนไม่ต่ำกว่า 30,000 กล้าต่อปี จัด กิจกรรมให้ความรู้แก่ชุมชนและเยาวชนในพื้นที่ โดยร่วมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 9 (กะเปอร์) ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล องค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานด้านวิชาการ เป็นต้น
- การจัดการเพื่อเศรษฐกิจชุมชน ชุมชนมีการจัดการป่าชายเลนและป่าจากเพื่อการอนุรักษ์ ส่งผลให้จำนวนป่าชายเลนรอบอ่าวกะเปอร์มีปริมาณเพิ่มขึ้น เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญก่อประโยชน์ต่อชุมชนสามารถประกอบอาชีพด้านการประมงประเภทการเพาะเลี้ยงชายฝั่งรวมถึงประมงชายฝั่ง เกิดเป็นรายได้แก่สมาชิกในชุมชน และในส่วนป่าจาก ได้มีการส่งเสริมให้เกิดอาชีพและรายได้จากการใช้ประโยชน์จากต้นจากทางเศรษฐกิจ
สมาชิกชุมชนบ้านชีมี สามารถใช้ประโยชน์จากต้นจากที่เป็นทรัพยากรในชุมชน จากการถ่ายทอดภูมิปัญญาของชุมชนบริเวณรอบอ่าวกะเปอร์มากระทั่งปัจจุบัน ซึ่งประโยชน์จากต้นจากสามารถนำมาใช้ได้ดังนี้
- ยอดจากอ่อน ลอกแล้วนำไปตากแดด เมื่อแห้งทำเป็นใบจากม้วนกับยาเส้น ม้วนยาสูบ หรือนำมาใช้ห่อขนมต้ม ที่ทำจากข้าวเหนียว น้ำกะทิ น้ำตาล หรือนำมาใช้สานเป็นภาชนะตักน้ำ เรียกว่า หมาน้ำ ในส่วนก้านใบอ่อนใช้ เป็นเชือกมุงหลังคา เรียกว่า ตอกบิด หรือสามารถนำมาสานเป็นที่รองหม้อ รวมถึงการทำไม้กวาด ไม้ตีแมงวัน ไม้จิ้มฟัน
- ใบแก่ นำมาสานเพื่อกันฝนคล้ายหมวกจีนทรงกลม ปีกกว้าง หรือเรียวว่า เปี้ยว นอกจากนี้ใช้เย็บเป็น ตับจากมุงหลังคาบ้าน ฝาบ้าน ขนมจาก ฝาชี
- ช่อดอก เรียกว่า นกจาก ลักษณะเป็นงวงยังไม่เป็นผล ปาดงวง เรียกว่า งวงตาล เพื่อนำน้ำหวานไปทำน้ำตาลจาก และ ช่อดอก ที่เรียกว่า นกจาก สามารถนำมาทำแกงเผ็ด แกงนกจาก
- น้ำหวานจาก ได้จากก้านทะลายหรือช่อดิก นำมาเคี่ยวให้เป็นน้ำตาลเหลว น้ำตาลปี๊ป น้ำหวานเมา น้ำส้มจาก หรือเคี่ยวเป็นสุราพื้นบ้าน
- ลูกจาก ลูกจากอ่อนสามารถนำมาเป็นผักเหนาะ (ผักเครื่องเคียง) รับประทานกับน้ำพริกหรือแกงเผ็ด เช่น แกงพุงปลา แกงคั่ว ส่วนหัวของลูกจากอ่อนนำมาดองกินกับขนมจีน ลูกจากขนาดซามกิน(กำลังกิน) สามารถผ่ากินเนื้อหอมหวานและสามารถนำมาเชื่อมเป็นขนมหวานเหมือนลูกตาล ลูกจากแก่จัด นำมาเพาะชำขยายพันธุ์ ส่วนลูกจากแห้งสามารถนำมาเผาใช้ไล่ยุง
- ทางจากหรือพอนจาก นำมาผ่าซีกเป็นไม้ตับจาก ทางจากนำมาตากให้แห้งใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงในการเคี่ยวน้ำตาล ย่างปลา หุงข้าว ในส่วนของพอนบดให้ละเอียด ผสมทำปุ๋ยหมักใช้เพาะชำต้นไม้
วิโรจน์ เดชสองแพรกและคณะ (2556). โครงการแนวทางการจัดการป่าจากอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองของชุมชนบ้านชีมี หมู่ที่ 8 ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.