Advance search

ชุมชนหนองผักนากมีความโดดเด่นด้านภูมิปัญญาการขับร้องเพลงพื้นบ้าน

หมู่ที่ 5
หนองผักนาก
หนองผักนาก
สามชุก
สุพรรณบุรี
อบต.หนองผักนาก โทร. 0-3544-0842
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 ก.พ. 2024
หนองผักนาก

เรื่องเล่าเกี่ยวกับชื่อบ้านหนองผักนาก มีด้วยกัน 2 ชุด ชุดแรกเล่าว่า ครั้งอดีตในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ชุมชนหนองผักนากเป็นพื้นที่สำคัญในการจัดงานอุปสมบท ซึ่งนอกจากชาวบ้านในพื้นที่ยังมีชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง “แห่นาค”เพื่อมาบวชยังวัดหนองผักนากด้วยเช่นกัน เพราะพระอุปัชฌาย์เดินทางมาทำพิธีที่วัดหนองผักนาก นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่มีโบสถ์ จึงเหมาะสำหรับการประกอบพิธีอุปสมบท ขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณด้านหน้าวัดหนองผักนากมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำ เมื่อขบวนแห่นาคจากหมู่บ้านต่าง ๆ เดินทางมาถึงก็จะหยุดพักจากความเหนื่อยล้า จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า “หนองพักนาค” เรียกต่อมากระทั่งเพี้ยนเป็น “หนองผักนาก”

เรื่องเล่าชุดที่สองเล่าว่า อดีตหนองน้ำนี้เต็มไปด้วย “ผักนาก” จึงเรียกพื้นที่และชุมชนว่า “หนองผักนาก” อย่างไรก็ดีมีการสอบถามสมาชิกในชุมชนเกี่ยวกับ “ผักนาก” แต่ไม่มีใครรู้จัก เรื่องเล่าแรกจึงมีความเป็นไปได้มากที่สุดเกี่ยวกับที่มาของชื่อชุมชน “หนองผักนาก”


ชุมชนชนบท

ชุมชนหนองผักนากมีความโดดเด่นด้านภูมิปัญญาการขับร้องเพลงพื้นบ้าน

หนองผักนาก
หมู่ที่ 5
หนองผักนาก
สามชุก
สุพรรณบุรี
72130
14.75999
100.0472
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองผักนาก

ชุมชนหนองผักนากและพื้นที่โดยรอบ เป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งสันนิษฐานว่าก่อตั้งชุมชนในสมัยสุโขทัย เพราะพบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยประดิษฐานในอุโบสถหลังเก่าของวัดหนองผักนาก และยังพบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยบริเวณนี้อีกหลายองค์ นอกจากนี้หลักฐานการขุดค้นพบทางโบราณคดีพบโครงกระดูก ขวานหิน วัตถุสัมริด เศษภาชนะดินเผารวมถึงลูกปัด จากหลักฐานจึงสามารถกล่าวได้ว่าชุมชนหนองผักนากและบริเวณโดยรอบมีการอาศัยและตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาอย่างยาวนาน ส่วนกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานในบ้านหนองผักนากส่วนใหญ่เป็นคนไทย รวมถึงคนไทยเชื้อสายลาวและคนไทยเชื้อสายจีน อย่างไรก็ดีในพื้นที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธ์ุลาวต่อมาได้อพยพไปด้านเหนือและตะวันตก กลุ่มชาติพันธ์ุไทยจึงเข้ามาตั้งถิ่นฐานแทน ส่วนชาวจีนเข้ามาทำงานในพื้นที่และแต่งงานกับผู้หญิงในหมู่บ้าน

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนหนองผักนาก โดย บุญรอง ชาวบ้านกร่าง. (2013) ซึ่งแบ่งช่วงเวลาเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อน ปี พ.ศ. 2500-2520 และ ช่วงปี พ.ศ. 2520-2556 พบว่า

ช่วงก่อน พ.ศ. 2500-2520 ชุมชนหนองผักนาก เป็นชุมชนชนบทสมาชิกในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ลักษณะครอบครัวเป็นแบบครอบครัวขยาย เมื่อแต่งงานอาจมีบุตร 3-5 คน กระทั่ง 10 คน ตั้งบ้านเรือนใกล้ชิดกันเป็นครอบครัวใหญ่รูปแบบบ้านเป็นทรงเรือนไทยสร้างด้วยไม้ ใต้ถุนสูงสำหรับเก็บอุปกรณ์การประกอบอาชีพต่าง ๆ ด้านการแพทย์ยังเป็นแบบพื้นบ้านมีการใช้คาถาในการรักษา ความสัมพันธ์ของสมาชิกในบ้านหนองผักนากมีความใกล้ชิดกัน สนิทกันแบบเครือญาติ กิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้านต้องใช้แรงงานจากสมาชิก ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและงานประเพณีของหมู่บ้าน การเดินทางสัญจรใช้เกวียนเป็นพาหนะและการเดินเท้า ช่วงฤดูฝนจึงมีความยากลำบากในการเดินทาง ฉะนั้นในช่วงฤดูน้ำหลากจึงใช้เรือเป็นพาหนะ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ยังมีอยู่มากจึงพบสัตว์ป่า อาทิ เก้ง กวางชะนี ลิง ชุกชุมในหมู่บ้าน อย่างไรก็ดีด้วยเหตุที่ไกลจากเมืองจึงมีโจรผู้ร้ายเข้ามาปล้นบ้านผู้มีฐานะในหมู่บ้านกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาประจำการในหมู่บ้าน อย่างไรก็ดี ในช่วง พ.ศ. 2504 มีการขุดคลองส่งน้ำชื่อ คลองวัดต่ำ ทางด้านตะวันออกของหมู่บ้าน รับน้ำจากแม่น้ำท่าจีน สู่อำเภอสามชุกไปอำเภอดอนเจดีย์ และขุดคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง รับน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ช่วงปี พ.ศ. 2510 เริ่มทำนาปีละ 2 ครั้ง เพราะพื้นที่มีระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่ของหมู่บ้าน

ช่วง พ.ศ. 2520-2556 การพัฒนาระบบชลประทาน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนหนองผักนาก เฉพาะอย่างยิ่งการทำนาได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง ปี พ.ศ. 2533 เริ่มมีการทำนาปีละ 3 ครั้ง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปฏิทินรอบปีของชุมชน นอกจากนี้ลักษณะครอบครัวเริ่มมีขนาดเล็กลง ครอบครัวมีบุตรหลานครอบครัวละ 1-3 คน รูปแบบบ้านเรือนจากทรงไทยและทรงปั้นหยาเปลี่ยนเป็นแบบตะวันตก ไม้จากบ้านเก่าขายแก่พ่อค้ารับซื้อไม้เก่า

ลักษณะทางกายภาพ

ชุมชนหนองผักนาก มีลักษณะทางกายภาพเป็นที่ลุ่มสลับกับเนินหรือที่ดอน จึงมีชุมชนกระจายตัวบริเวณที่ดอนซึ่งน้ำไม่สามารถท่วมถึง ฉะนั้นโดยรอบจึงเป็นพื้นที่ทางการเกษตรบริเวณที่เป็นที่ราบ  โดยมีคลองมะขามไหลผ่านพื้นที่จากด้านตะวันตกไปยังตะวันออก ในพื้นที่ยังประกอบด้วยคลองชลประทานใช้สำหรับการเกษตร อาทิ คลองวัดต่ำ คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง  ด้วยเหตุที่สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มในช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมที่นา ซึ่งเป็นน้ำหลากมาจากด้านเหนือ รวมถึงน้ำล้นจากแม่น้ำท่าจีน อย่างไรก็ดีในพื้นที่มีระบบชลประทานจึงลดความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง

ที่ตั้งบ้านหนองผักนาก

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 2 บ้านหนองโป่งแดง ตำบลหนองผักนาก และหมู่ที่ 3 บ้านคลองขาม ตำบลสามชุก
  • ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ที่ 4 บ้านหนองปลาดุก
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 4 บ้านหนองโรง ตำบลหนองผักนาก
  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ที่ 3 บ้านดอนยาว ตำบลหนองผักนาก

จำนวนประชากรบ้านหนองผักนาก หมู่ที่ 5 หนองผักนาก อำเภอสามชุก ตำบลหนองผักนาก จังหวัดสุพรรณบุรี (สำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง)

  • เพศชาย จำนวน 615 คน
  • เพศหญิง จำนวน 671 คน
  • รวมทั้งสิ้น 1,286 คน
  • หลังคาเรือน 526 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือน มกราคม 2567)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปฏิทินชุมชนช่วง ปี พ.ศ. 2500 – 2520

วิถีชีวิตของชาวหนองผักนาก ผูกพันกับการทำนาซึ่งมิได้ทำนาเฉพาะบริเวณหมู่บ้านเท่านั้น แต่มีการอพยพเพื่อไปทำนาด้านทิศตะวันตก ในตำบลราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ รวมถึงนาทุ่งกระเสียว ตำบลกระเสียว อำเภอสามชุก เมื่อเสร็จสิ้นการดำนาจึงกลับมาหนองผักนาก ฉะนั้นวิถีชีวิตจึงผูกพันกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของหมู่บ้าน

ปฏิทินชุมชนช่วง ปี พ.ศ. 2520 – 2556

การชลประทานเข้ามาในหมู่บ้านช่วง ปี พ.ศ. 2520 ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี การประกอบอาชีพเกษตรกรรมจึงเปลี่ยนแปลงตามการทำนาสามารถทำได้ทั้งปี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความเชื่อของชุมชน ประเพณีบางประการหายไป การดำรงชีวิตเริ่มมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนปฎิทินในรอบปีของชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เพลงพื้นบ้านชุมชนหนองผักนาก

การรร้องและการละเล่นเพลงพื้นบ้านของชุมชนหนองผักนาก กระทำในโอกาสแตกต่างกัน อาทิ ช่วงวันสงกรานต์ ร้องประกอบการทำขวัญข้าวในฤดูทำนา ซึ่งแบบแผนการร้องมีความคล้ายคลึงกับการร้องเพลงพื้นบ้านของภูมิภาคอื่น ทว่าแตกต่างในเรื่องภาษา ความเชื่อประจำถิ่น อย่างไรก็ดีเพลงพื้นบ้านชุมชนหนองผักนากได้รับความนิยมและแพร่หลายในช่วง ปี พ.ศ. 2520 ขึ้นไป ความนิยมเกิดจากพ่อเพลและแม่เพลง เดินทางร่วมงานบุญหรือลงแขกยังพื้นที่ต่างชุมชน และนำเพลงพื้นบ้านไปร้องกระทั่งเป็นที่ชื่นชอบและฝึกฝนถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจ รวมถึงการเรียนรู้แบบครูพักลักจำ เพลงพื้นบ้านหนองผักนาก มีการร้อง 2 ลักษณะ คือ

  • เพลงที่มีผู้ร้องคนเดียว ไม่มีการตอบโต้เชิงปฏิภาณไหวพริบ เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงแหล่
  • เพลงที่ร้องเป็นกลุ่ม โดยพ่อเพลง แม่เพลง มีการร้องตอบโต้ด้วยโวหารและมีลูกคู่ร้องรับ

เพลงพื้นบ้านหนองผักนากสามารถจำแนกได้ ดังนี้

  • เพลงพื้นบ้านช่วงตรุษสงกรานต์ ร้องเล่นกันหลังจากทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ เป็นเพลงที่มีเนื้อหาหยอกล้อ ยั่วเย้า อาทิ เพลงพิษฐาน
  • เพลงประกอบการละเล่นเกี่ยวกับความเชื่อ เรียกเพลงชนิดนี้ว่า เพลงผีเข้า ร้องเล่นเฉพาะชาวงงานสงกรานต์ อาทิ เพลงแม่ศรี เพลงผีลิงลม เพลงผีกระด้ง เพลงผีสุ่ม
  • เพลงประกอบการละเล่นช่วงสงกรานต์ เป็นเพลงที่ให้เกิดความสนุกสนาน อาทิ เพลงประกอบการเล่นชักกะเย่อ ลูกช่วง ไม้หึ่ง มอญซ่อนผ้า
  • เพลงพื้นบ้านฤดูทำนา เป็นเพลงประกอบพิธีกรรม อาทิ บททำขวัญข้าวช่วงตั้งท้อง และบทรับขวัญข้าวเมื่อเกี่ยว ข้าวเสร็จ
  • เพลงพื้นบ้านประกอบการเก็บเกี่ยว ร้องประกอบการเก็บเกี่ยวข้าวและนวดข้าว มีการหมุนเวียนจากเก็บเกี่ยวข้าวเบาบริเวณนาดอน และเกี่ยวข้าวหนักบริเวณที่ลุ่ม อาทิ เพลงแขกอาสา เพลงสงฟาง เพลงชักกระดาน
  • เพลงพื้นบ้านร้องทั่วไปไม่จำกัดเวลา เป็นเพลงที่มีการร้องคนเดียว ไม่มีการตอบโต้ ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ จังหวะทั้งเพลงเร็วและเพลงช้า อาทิ เพลงกล่อมเด็ก เพลงล้อเลียน เพลงแหล่
  • เพลงประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตทั่วไป เป็นเพลงที่ร้องไม่จำกัดเวลาขึ้นอยู่กับประเพณีนั้นกำเนิดเมื่อใด อาทิ บทถามตอบขันหมาก

อย่างไรก็ตามหลังจาก ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิต การปลูกข้าว รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในชุมชน เพลงพื้นบ้านจึงมีการเปลี่ยนแปลงตามปฏิทินการดำรงชีวิตของชุมชน ทำให้เพลงพื้นบ้านบางประเภทหายไป รวมถึงการเข้ามาของวิทยุ โทรทัศน์ ละครหรือภาพยนตร์ ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบความบันเทิงของชุมชน อีกทั้งพ่อเพลง แม่เพลง รุ่นเก่าลดน้อยลงจึงขาดช่วงและการสานต่อ ดังกล่าวทำให้ชุมชนเริ่มมีการส่งเสริมและสืบสานการขับร้องเพลงพื้นบ้านหนองผักนากในหมู่เยาวชนผ่านการเรียนรายวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภาษาไทย สำเนียงพื้นถิ่นสุพรรณบุรี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บุญรอง ชาวบ้านกร่าง. (2556). แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูเพลงพื้นบ้าน : กรณีศึกษาเพลงพื้นบ้านชุมชนหนองผักนาก ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรีวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. นครปฐม. มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นจาก https://sure.su.ac.th/

อบต.หนองผักนาก โทร. 0-3544-0842