Advance search

ผ้าทอกะเหรี่ยงที่สืบทอดจากบรรพชนสู่สินค้าหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของบ้านขุนอมแฮด

หมู่ที่ 5
บ้านขุนอมแฮดใน
สบโขง
อมก๋อย
เชียงใหม่
อบต.สบโขง โทร. 0-5208-1890
วิไลวรรณ เดชดอนบม
23 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 ก.พ. 2024
บ้านขุนอมแฮดใน

ขุนอมแฮดใน มาจากชื่อต้นน้ำที่อยู่ในป่าดงดิบใกล้เขตหมู่บ้านทางทิศตะวันตก


ผ้าทอกะเหรี่ยงที่สืบทอดจากบรรพชนสู่สินค้าหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของบ้านขุนอมแฮด

บ้านขุนอมแฮดใน
หมู่ที่ 5
สบโขง
อมก๋อย
เชียงใหม่
50310
17.74912267
98.34040487
องค์การบริหารส่วนตำบลสบโขง

ชุมชนบ้านขุนอมแฮดในมีที่มาจากชื่อต้นน้ำที่อยู่ในป่าดงดิบใกล้จากอาณาเขตของหมู่บ้าน ซึ่งป่าดงดิบนี้อยู่หางจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร บ้านขุนอมแฮดนี้มีอยู่สองหย่อมบ้านจึงมีคําต่อท้ายตามสถานที่ตั้ง จากการสืบถามจากผู้นําหมู่บ้าน และผู้รู้กล่าวโดยสรุปว่า เดิมทีหมู่บ้านนี้ได้อพยพมาจากบ้านเก่าที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร เมื่อปี พ.ศ. 2529 สาเหตุจากการย้ายเนื่องจากขาดแคลนน้ำที่จะอุปโภคบริโภค โดยการย้ายครั้งนี้ได้แบ่งการตั้งหมู่บ้านเป็นสองหย่อมบ้านคือบ้านขุนอมแฮดในและบ้านขุนอมแฮดนอก เมื่อปี พ.ศ. 2531 ชุมชนบ้านขุนอมแฮดในได้รับจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการโดยขึ้นต่อตําบลสบโขงจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านขุนอมแฮดใน มีพื้นที่สวนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบเชิงเขาเป็นป่าสงวนแห่งชาติบริเวณดอยแบแล (ขุนหวยสักกะหลัก) ดอยอมแฮด ตําบลสบโขง อำเภออมกอย จังหวัดเชียงใหม่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับหุบห้วย ปกคลุมไปด้วยป่าที่มีความชุ่มชื่น เพราะพื้นที่บริเวณดอยแบแลแห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยอมแฮด ซึ่งมีห้วยสักกะหลัก และห้วยกวางเป็นแห่ลงน้ำที่ไหลมาสู่ลําห้วยอมแฮด ทำให้มีน้ำไหลตลอดปีเพื่อนํามาใช้ประโยชน์ต่อหมู่บ้าน

ชุมชนขุนอมแฮดใน มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบเชิงเขาเป็นป่าสงวนแห่งชาติบริเวณดอยแบแล (ขุนห้วยสักกะหลัก) ดอยอมแฮด ตําบลสบโขง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับหุบห้วย ปกคลุมไปด้วยป่าที่มีความชุมชื่น เพราะพื้นที่บริเวณดอยแบแลแห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยอมแฮด ซึ่งมีห้วยสักกะหลักและห้วยกวางเป็นแหล่งน้ำที่ไหลมาสู่ลําห้วยอมแฮด ทำให้มีน้ำไหลตลอดปี เพื่อนํามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่บ้านขุนอมแฮดนอกและขุนอมแฮดใน แต่บางปีหากแห้งแล้งมาก ฝนไม่ตกหมู่บ้านก็ขาดแคลนน้ำ ชุมชนบ้านขุนอมแฮดในหมู่ที่ 5 ตําบลสบโขง อยู่ในเขตการปกครองของอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภออมก๋อย มีระยะทางห่างจากอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร หมู่บ้านขุนอมแฮดแบ่งออกเป็น 2 หย่อมบ้าน คือ บ้านขุนอมแฮดนอกและบ้านขุนอมแฮดใน 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อเขตหมู่บ้านดอยและบ้านยางใต้ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อเขตบ้านกองซาง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดต่อเขตป่าดงดิบและป่าสงวน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อเขตบ้านขุนอมแฮดนอก อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะภูมิอากาศ 

ลักษณะภูมิอากาศของชุมชนบ้านขุนอมแฮดในเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง จึงมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี สภาพภูมิอากาศ แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู ได้แก่ 

ฤดูร้อน อยู่ในช่วงประมาณ เดือนเมษายน - พฤษภาคม เป็นช่วงแห้งแล้งมาก เพราะบริเวณพื้นที่แถวนี้ไม่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ที่จะรับน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อนอีกด้วย 

ฤดูฝน อยู่ในช่วงประมาณ เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม เป็นช่วงการทำนาของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านบริเวณนี้อาศัยน้ำฝนซึ่งในหนึ่งปีพื้นที่นี้จะทำนาและปลูกข้าวไร่ได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง ทำได้ในฤดูฝน ฤดูหนาว อยู่ในช่วงประมาณเดือนตุลาคม - มีนาคม ฤดูหนาวบริเวณนี้จะมีความหนาวเย็นมาก

ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชุมชนบ้านขุนอมแฮดใน จะเลือกสร้างบ้านเรือน บริเวณที่ราบกลางไหล่เขาและใกล้แหล่งทำการเกษตร และจะไม่ปลูกบ้านให้อยู่ในแนวเดียวกันแม้ว่าสร้างบ้านหันหน้าเข้าหากัน แต่จะไม่ให้ประตูบ้านตรงกันและจะไม่ให้ประตูบ้านขวางตะวัน บ้านเรือนชุมชนบ้านขุนอมแฮดในไม่มีโฉนดที่ดินโดยอาศัยอยูในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอำเภออมก๋อย ชาวบ้านจะรู้กันเองว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นของใคร หากใครต้องการใช้ที่ดินตรงนั้นก็จะมีการซื้อขายกัน โดยให้ค่าตอบแทนที่เจ้าของเดิมได้เสียเวลาปรับที่ดินนั้น จากเดิมที่มีต้นไม้มากมายมาเป็นที่ดินที่พร้อมสร้างบ้านได้ทันที การตั้งบ้านเรือนนั้นหากเป็นเครือญาติกันจะตั้งบ้านเรือนติดกัน หรืออยู่ในละแวกเดียวกัน ลักษณะของบ้านเรือนส่วนใหญ่จะมี 3 ลักษณะ คือ บ้านกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิมตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย บ้านกะเหรี่ยงแบบผสมผสานระหว่างแบบเก่าและแบบใหม่ และบ้านกะเหรี่ยงแบบสมัยใหม่

ประชากร

ชุมชนบ้านขุนอมแฮดใน หมู่ที่ 5 ตําสบโขงอยู่ในเขตการปกครองของอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภออมก๋อย มีระยะทางห่างจากอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร หมู่บ้านขุนอมแฮดแบ่งออกเป็น 2 หย่อมบ้าน คือ บ้านขุนอมแฮดนอกและบ้านขุนอมแฮดใน มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 320 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 921 คน แบ่งเป็นเพศชาย 466 คน และเพศหญิง 455 คน

ระบบเครือญาติ

ชุมชนบ้านขุนอมแฮดส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงโปว์ และมีการเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่เริ่มแรก คือ ตระกูลเลาดีและจริตดีสม เป็นประชากรกลุ่มแรก ๆ ที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ตั้งแต่ที่หมู่บ้านยังไม่มีความเจริญเข้ามา โดยการสร้างบ้านเรือนของคนในหมู่บ้าน จะมีการสร้างบ้านเรือนอยู่ติด ๆ กันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งความเป็นมาของตระกูลเลาดีและตระกูลจริตดีสม เกิดจากที่แรกเริ่มสมาชิกในครอบครัวของตระกูลได้แต่งงานกับสมาชิกในครอบครัวอื่น สมาชิกในครอบครัวบางคนก็แต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านแล้วย้ายมาตั้งบ้านอยู่อาศัยในที่ใกล้ ๆ กันในหมู่บ้าน และได้เปลี่ยนนามสกุลตามสามีหรือภรรยาก็ได้ขึ้นอยู่กับการตกลงของคนทั้งคู่

ปกาเกอะญอ, โพล่ง

ชาวบ้านในชุมชนบ้านขุนอมแฮดในประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก รองลงมาคือเลี้ยงสัตว์ ทอผ้าส่งโครงการหลวงและรับจ้างทั่วไป รายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรกรรม เช่นมะเขือเทศ ผักกะหล่ำปลี พริก ผักกาดจอ แตงกวา ฟักทอง ส่วนสัตว์ที่เลี้ยง เช่น หมู ไก่ วัว ควาย ส่วนใหญ่เลี้ยงไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พิธีกรรมมัดมือ และเลี้ยงไว้เป็นอาหารบางส่วน ถ้ามีเหลือเยอะก็จะนําไปขายต่อชาวบ้านในชุมชน 

การทำการเกษตรส่วนใหญ่ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะทำไร่ ทำนา และปลูกผักส่วนครัวไว้ประกอบอาหารและบางส่วนปลูกไว้ส่งออกไปขายคนในหมู่บ้านเฉลี่ยแล้วมีรายได้ประมาณปีละ 20,000 บาท/หลังคาเรือน และทุกหลังคาเรือนเป็นหนี้จากการกู้หนี้นอกระบบหรือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ซึ่งรายได้ที่มาจากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เช่น การทำไร่ ทำนา และทำสวนผสม ชาวบ้านจะมีกินตลอดปี ปีหนึ่งชาวบ้านสามารถปลูกข้าวได้ประมาณ 100 ถังต่อครัวเรือน นับว่าพอกินระยะเวลาหนึ่งปีและยังสามารถเอาบางส่วนไปแลกข้าวของอย่างอื่นที่ตัวเองไม่ 

กลุ่มทอผ้าปกาเกอะญอย้อมสีธรรมชาติบ้านขุนอมแฮด

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 โดยการพัฒนาดังกล่าว ครอบคลุมทั้งด้านโภชนาการและสุขภาพอนามัย การศึกษา สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพเพื่อยกระดับรายได้ประชาชน 

ในปี พ.ศ. 2543 มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าปกาเกอะญอย้อมสีธรรมชาติอำเภออมก๋อยนั้น ตามพระราชดำริฯ เพื่อส่งเสริมอาชีพจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงซึ่งประชาชนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการทอผ้า จึงได้มีการผสมผสานวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของลวดลายที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสมาชิก

ปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 37 คน ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเน้นจุดเด่นที่ลวดลายและการย้อมสีธรรมชาติ ผ้าทอทุกชิ้นที่ได้มาจากการย้อมสีธรรมชาติ มีสีสวย ดูน่าใช้ ไม่มีสารเคมีตกค้าง เก็บไว้ได้นาน ผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่าย ได้แก่ ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน ผ้ารองแก้ว ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ เสื้อ ย่าม กระเป๋าสะพาย เป็นต้น ซึ่งจำหน่ายผ่านทางร้านภูฟ้า

ชาวบ้านชุมชนบ้านขุนอมแฮดในส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและนับถือผี รองลงมานับถือศาสนาคริสต์ โดยศาสนาพุทธในกะเหรี่ยงนั้นมีมานานหลายศตวรรษแล้ว ซึ่งรับมาจากชาวมอญ ศาสนาพุทธที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์รับผ่านมอญนั้น เป็นศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การนับถือศาสนาพุทธไม่ได้ขัดกับพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการนับถือผีชาวกะเหรี่ยงโปว์เชื่อว่า มีเทพเจ้าสร้างโลกและมีผีประจำอยู่ในป่า ในไร่ ในน้ำ ในภูเขามีผีเจ้าที่ ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ ฯลฯ ดังนั้นชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์จึงอยู่กับพิธีกรรมการเซ่นไหว้ผีทั้งหมดเหล่านี้ เพื่อผีจะได้ไม่ทำร้าย ไม่ทำให้เจ็บป่วยและจะได้คุ้มครองให้มีชีวิตที่ดี

ผีที่ทำหน้าที่คุ้มครองดูแลซึ่งแต่ละสายสกุลจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้คือผีฝ่ายมารดา หรือ เตอะ มึง เซี่ย โดยผู้นําอาวุโสฝ่ายหญิงผู้สืบสายมารดาจะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม พิธีนี้จะจัดขึ้นเมื่อสมาชิกของกลุ่มสายฝ่ายมารดาเดียวกันเจ็บป่วยและสมาชิกทุกคนของสายสกุลนี้จะต้องมารวมพิธีนี้ด้วย ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านขุนอมแฮดในไม่ได้ประกอบพิธีร่วมสายสกุลแบบนี้แล้ว เพราะเป็นพิธีกรรมที่ใช้เวลานานและสิ้นเปลืองเป็นอย่างมาก แต่ยังประกอบพิธีกรรมอื่น ๆ เช่น พิธีกรรมเซ่นไหว้ผีเจ้าที่ ซึ่งมีทั้งผีเจ้าของน้ำ เจ้าของดิน ซึ่งก่อนที่จะทำกิจกรรมใดก็ตามที่เกี่ยวกับพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบ้านเรือน การตั้งยุ้งฉาง การเลือกพื้นที่ทำไร่ การเตรียมฟันไร่ ใน 1 ปี จะมีการเลี้ยงผี 2 ครั้ง คือในเดือน 5 และเดือน 9 การเลี้ยงผี จะเลี้ยงวันไหนก็ได้ แต่บริเวณที่ทำการเลี้ยงผีจะห้ามบุคคลภายนอกเขาไปเป็นเวลา 2 คืน 3 วัน ซึ่งบ้านที่ทำพิธีเลี้ยงผีจะมีตะหลิวเป็นสัญลักษณ์ ปักไว้อยู่หน้าบ้าน หากบุคคลภายนอกจะเข้าไปก็ต้องรอให้เสร็จสิ้นพิธีการเลี้ยงผีก่อน ผู้ทำหน้าที่ประก่อบพิธีกรรมเหล่านี้คือหัวหน้าหมู่บ้านผู้เฒ่าหลา จริตดีสม

ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านขุนอมแฮดในยังเชื่อเรื่องความฝนอีกด้วย เช่น หากทำพิธีเซ่นไหว้เพื่อเลือกพื้นที่ทำไร่หรือเลือกพื้นที่ปลูกบ้านแล้วคนในบ้านเกิดฝันไม่ดี ก็จะมีการขยับหรือย้ายพื้นที่การทำไร่หรือการปลูกบ้านไปจากพื้นที่เดิมที่ได้เลือกไว้ในตอนแรก ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านขุนอมแฮดในยังคงมีความเชื่อถือในเรื่องการทำนายและเสี่ยงทายอยู่ เช่น ถ้าเลือกพื้นที่ไว้แล้ว บังเอิญมีสัตว์ร้ายเดินผ่านเข้าไปในพื้นที่ก็จะย้ายพื้นที่ทำไร่ หากบังเอิญพบงู ผึ้ง เต่า ชาวกะเหรี่ยงโปว์จะไม่ทำไร่ต่อ แต่จะกลับบ้าน แล้วจึงไปทำไร่ต่อในวันรุ่งขึ้น ถ้ามีใครล้มเจ็บป่วยหรือเกิดเหตุการณไม่ดีขึ้นในหมู่บ้าน และเมื่อมีการตรวจสอบแล้วไม่พบสาเหตุ ชาวกะเหรี่ยงเชื่อกันว่ามีการประพฤติผิดจารีตของสาว ๆ ในหมู่บ้าน และจะมีการจัดพิธีการเสี่ยงทายหาผู้กระทำผิด โดยมีขั้นตอนคือให้หญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานทุกคนในหมู่บ้านนําข้าวต้มมัดมาต้มพร้อมกัน และหากข้าวต้มมัดของใครไม่สุก นั่นหมายความว่า หญิงสาวผู้นั้นคือผู้กระทำผิดจารีตของหมู่บ้าน เช่น มีการได้เสียกับชายหนุ่มก่อนแต่งงาน เป็นต้น

ด้วยความเชื่อและนับถือในเรื่องผีบรรพบุรุษหรือวิญญาณของชนเผ่ากะเหรี่ยงโปว์ชุมชนบ้านขุนอมแฮด จึงมีประเพณี วัฒนธรรมและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงผีอยู่เสมอ ดังนั้นความเชื่อในเรื่องผีและวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงโปว์ชุมชนบ้านขุนอมแฮดใน จึงมีผลดีต่อคนสังคมกะเหรี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะทำให้เกิดคุณธรรมขึ้น ไม่มีใครกล้าทำผิดแม้แต่ต่อหน้าและลับหลัง เช่น การลักขโมยหรือการผิดลูกเมียผู้อื่น เป็นต้น นอกจากการนับถือศาสนาพุทธแล้วชาวกะเหรี่ยงบางส่วนยังนับถือศาสนาคริสต์อีกด้วย ซึ่งก่อให้เกิดเป็นการผสานวัฒนธรรมและประเพณีในกลุ่มขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผ้าทอบ้านขุนอมแฮดใน

ผ้าทอขุนอมแฮดในมีการคงอัตลักษณ์ของผู้หญิงเผ่ากะเหรี่ยงด้วยการทอแบบดั้งเดิม ด้วยการขึงเกี่ยวเอวที่เป็นเอกลักษณ์ ที่เรียกว่ากี่เอว โดยมีหน้าผ้าขนาดเท่าเอวผู้ทอ ประมาณ 1 ศอก เพราะการทอผ้าของกะเหรี่ยงจะไม่ใช้กี่ แต่จะเอาเครือหูกมาคล้องกับเอวของผู้ทอ เมื่อจะทำเป็นเสื้อ จะนำผ้าที่ทอแล้ว 2 ชิ้นมาเย็บติดกันโดยเว้นตรงกลางไว้สวมหัว แล้วพับครึ่งเว้นตอนบนของด้านข้างไว้พอให้แขนสอด เย็บด้านข้างลงไปจนถึงชายเสื้อ ตกแต่งขอบคอ ขอบแขน และชายเสื้อด้วยลายปัก หรือประดับด้วยลูกเดือยเป็นลวดลายตามต้องการ หรือทอแทรกสีที่ส่วนชายผ้า การทำผ้าห่ม ย่าม ผ้าถุงจะเอาผ้าที่ทอแล้วมาเย็บติดกันตามแบบที่ต้องการและแต่งชายผ้าโดยทำเป็นชายครุยหรือลาย ปัก สีที่ใช้จะเป็นสีธรรมชาติที่นำส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ในท้องถิ่นมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก โดยสีหลักของพื้นที่ คือ สีแดง ขาว เหลือง เขียว โอรส โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับสี ดังนี้ ขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ เหลืองหมายถึงความปลอดภัยและความเจริญก้าวหน้า สีเขียวหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ สีชมพูโอรส หมายถึง ความสว่างและความรักของครอบครัว ดังนั้นการแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงจะเกี่ยวข้องกับ ความเชื่อและความสัมพันธ์ของสังคม

การผลิตผ้าทอของพื้นที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เดิมทีมีการปลูกฝ้ายร่วมกับการปลูกข้าว เพื่อใช้เป็นเส้นใยในทอผ้า ในปัจจุบันเส้นใยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและมีการสั่งซื้อขึ้นไปเพื่อทอผ้า ลักษณะของผ้ากะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงจะวางแผนและเตรียมการก่อนการทอผ้าโดยกำหนดว่าจุดประสงค์การทอก่อนเสมอ เช่น ทอเสื้อ ทอผ้าห่ม ผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น การย้อมผ้าของกลุ่มจะให้พืชในท้องถิ่นเป็นหลัก ทำให้ได้สีที่ไม่เหมือนที่อื่น ๆ และยังมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณะของพื้นที่ มีความเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมของกะเหรี่ยง ที่แสดงออกถึงความ เคารพในการอยู่รวมกันของมนุษย์และธรรมชาติ เรียกลวดลายนี้ว่า “ลายโปร่วมใจ” ซึ่งลวดลาย ดังกล่าวได้นำสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของความสมบูรณ์ในชุมชนบ้านขุนอมแฮดใน ประกอบด้วย อากาศบริสุทธิ์ ความอุดม สมบูรณ์ของผลผลิต และความสุขในการแบ่งปันของคนในชุมชน จนเป็นลวดลายใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นของบ้านขุนอมแฮด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มทอผ้าปกากะญอย้อมสีธรรมชาติบ้านขุนอมแฮดใน. (2564). กลุ่มทอผ้าปกากะญอย้อมสีธรรมชาติบ้านขุนอมแฮดใน จังหวัดเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/BaanKhunOmHadNai/

เสาวลักษณ์ กาญจนธนสิน (2559). ประเพณีการแต่งงานของชาวกะเหรี่ยงโป: กรณีศึกษาบ้านขุนอมแฮดใน หมู่ที่ 5 ตำบลสบโขง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อรวิภา มงคลดาว. (2565). การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการเป็นผู้ประกอบการของชุมชนผ้าทอมือ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อบต.สบโขง โทร. 0-5208-1890