Advance search

หมู่บ้านนำร่องในโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วมสนับสนุนและพัฒนา จนได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551 ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม

หมู่ที่ 19
สันติสุข
ป่าตึง
แม่จัน
เชียงราย
อบต.ป่าตึง โทร. 0-5318-0022
วิไลวรรณ เดชดอนบม
18 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 ก.พ. 2024
บ้านหล่อชา

ความเป็นมาของชื่อชุมชนนั้นไม่ปรากฏที่มาแน่ชัด แต่ว่ากันว่า "หล่อชา" อาจเพี้ยนมาจาก "หวั่งซาง" ชื่อจีนของผู้นำชุมชนในช่วงแรกของการก่อตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ แล้วจึงชื่อว่า "บ้านหล่อชา" นับแต่นั้นเป็นต้นมา


หมู่บ้านนำร่องในโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วมสนับสนุนและพัฒนา จนได้รับรางวัลดีเด่น รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2551 ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม

สันติสุข
หมู่ที่ 19
ป่าตึง
แม่จัน
เชียงราย
57110
20.102476
99.603485
องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง

ในอดีตพื้นที่ทํากินบริเวณทิศตะวันออกของบ้านหล่อชา (ในช่วงเวลานั้นยังไม่ได้ ชื่อว่าบ้านหล่อชา) เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่ามูเซอ (ลาหู่) ในปี พ.ศ. 2520 ชาวบ้านกิ่วสะไตจํานวน 5 หลังคาเรือน ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณสวนลิ้นจี่หลังของชุมชนในปัจจุบัน และได้ใช้ที่ดินบริเวณทางทิศตะวันออกของชุมชนเป็นที่ดินทํากิน หลังจากนั้นต่อมา 1 ปี ชาวบ้านมูเซอที่อยู่อาศัยก่อนหน้านี้ได้พากันอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณบ้านสันติสุข อําเภอเวียงป่าเป้า จากนั้นอีกไม่นานชาวบ้านทั้ง 5 หลังคาเรือน ได้ย้ายไปสร้างบ้านใหม่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ทํากินของตัวเองซึ่งเป็นพื้นที่ราบสันเขา ซึ่งก็คือที่ตั้งบ้านหล่อชาในปัจจุบัน ขณะเดียวกันในช่วงเวลานั้นก็ได้มีชาวบ้านจากทั้งชุมชนกิ่วสะไตและจากที่อื่น ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย ทําให้บ้านหล่อชามีจํานวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นถึงประมาณ 10 หลังคาเรือน ปี พ.ศ. 2532 มีผู้นําชุมชนคนแรกชื่อนายอากอ บีเช (บ้างออกเสียงว่า เบเซ) ใน พ.ศ. 2536 ในช่วงเวลาที่ผู้เฒ่าอากอดํารงตําแหน่งเป็นผู้นําชุมชน ทางการได้ตัดถนนหลวงผ่านชุมชนเพื่อสะดวกในการเรียกชื่อชุมชน และขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนทางการ จึงได้ไปถามชาวบ้านสันติสุขว่าชุมชนแห่งนี้ชื่อว่าอะไร ชาวบ้านสันติสุขซึ่งเป็นชาวจีนฮ่อได้เรียกชื่อภาษาจีนของผู้นําชุมชน คือ หวั่งซาง (อากอ บีเซ) ซึ่งเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ในขณะนั้นอาจจะฟังเพี้ยนไปเป็น “หล่อชา” จึงได้ตั้งชื่อว่า “บ้านหล่อชา” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ในความเป็นจริงแล้วชื่อที่ทางการเรียกชุมชน คือ บ้านอีก้อหล่อชา โดย “อีก้อ” คือชื่อเผ่าของชาวอาข่าที่คนส่วนใหญ่เรียกกันจนติดปาก และที่เรียกว่าบ้านอีก้อหล่อชา เพื่อให้จําได้ว่าชุมชนนี้เป็นชาวเขาเผ่าอาข่า (อีก้อ) ทั้งหมด แต่คําว่าอีก้อในภาษาอาข่ามีความหมายตรงกับอวัยวะเพศของหญิงและชาย จึงถือเป็นคําไม่สุภาพ และชาวอาข่าไม่ชอบให้เรียกว่า อีก้อ จึงได้เอาสีลบคําว่า อีก้อ บนป้ายชุมชนทิ้ง เหลือเพียงชื่อเรียกว่าบ้านหล่อชากันตลอดมา

ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ

บ้านหล่อชา เป็นชุมชนบริวารหนึ่งในแปดชุมชนของหมู่ 19 บ้านสันติสุข ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากอำเภอแม่จันเป็นระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดเชียงราย 62 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านรวมใจ ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านพนาสวรรค์ ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกิ่วสะไต ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านสันติสุข ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านหล่อชามีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอนและที่ราบสันเขา มีเทือกเขาล้อมรอบ ปกคลุมด้วยป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และพื้นที่บางส่วนของภูเขาที่ล้อมรอบชุมชนซึ่งค่อนไปทางทิศใต้ถูกจับจองเป็นพื้นที่ทํากินของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีลําธารเล็ก ๆ สองสาย ซึ่งไหลมาจากหุบเขาทางทิศเหนือและทิศใต้มาบรรจบกันทางทิศตะวันออกของชุมชน ทางทิศเหนือของชุมชนมีถนนหลวงหมายเลข 1089 แม่จัน-ท่าตอน โดยบ้านหล่อชาตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ 32

ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรดินและป่าไม้ : ชาวบ้านหล่อชาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ดินตรงส่วนที่เป็นที่ราบเชิงเขาและที่ไหล่เขาเป็นแหล่งอาหารของชุมชน มีการเพาะปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผักสวนครัว สวนผลไม้ เป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ และหาอาหารตามธรรมชาติ ในปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์บริเวณนี้ลดลงไปมาก เนื่องจากมีการตัดไม้ทําลายป่า และความผันผวนของดินฟ้าอากาศ แต่ก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ส่วนที่ดินบนภูเขาสูงนั้นทางการได้กําหนดให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านจึงไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายเป็นพื้นที่ทํากินเพิ่มเติม และไม่ได้ตัดต้นไม้นอกเขตพื้นที่ทํากินของตนเอง จึงทําให้ทรัพยากรป่าไม้โดยรอบชุมชนยังอุดมสมบูรณ์

ทรัพยากรน้ำ : บ้านหล่อชามีลําห้วยเล็ก ๆ ไหลผ่าน 2 สาย ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของชุมชนซึ่งมีน้ำไหลตลอดทั้งปี แต่ในฤดูร้อนปริมาณน้ำลดลงทุกปีตามสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด จึงมีการจัดทําระบบประปาภูเขาโดยได้รับการสนับสนุนและดําเนินการโดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ทําให้ชาวบ้านมีน้ำอุปโภค บริโภค และเพาะปลูกทางการเกษตรตลอดทั้งปี

บ้านหล่อชา เป็นชุมชนชาวอาข่าผาหมี ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลุ่มย่อยของชาวอาข่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย (อีกสองกลุ่ม คือ โลมีอาข่า และ อู่โล้อาข่า) โดยชาวบ้านให้ความเคารพนับถือผู้สูงอายุอันเป็นวัฒนธรรมที่ชาวอาข่ายึดถือกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านมักเชื่อฟังผู้อาวุโสในเรื่องการปกครอง การจัดการปัญหาและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวจึงมีผู้สูงอายุเป็นใหญ่ในการตัดสินใจ คําสั่งสอนของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่ลูกหลานต้องเชื่อฟัง ลักษณะทางสังคมดังกล่าวสะท้อนออกมาในการประกอบประเพณี พิธีกรรม เช่น ประเพณีกินข้าวใหม่ ที่มีการประกอบอาหารเป็นพิเศษเพื่อเป็นการให้เกียรติผู้อาวุโสในชุมชนได้รับประทานอาหารก่อนลูกหลานในแต่ละครัวเรือน พิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวอาข่าที่มักมีการเซ่นไว้บูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งสะท้อนลักษณะทางสังคมดังกล่าวได้ดี

นอกจากนี้ บ้านหล่อชามีลักษณะเด่นทางสังคมอีกประการหนึ่ง คือ ระบบเครือญาติ ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด สมาชิกของชุมชนส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ ย่า ตา ทวด จึงสนิทสนมกันทั้งชุมชน มีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น และมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะการช่วยแรงงานในงานต่าง ๆ เช่น การปลูกข้าวไร่ การเกี่ยวข้าว การสร้างบ้านใหม่และงานพิธีกรรมต่าง ๆ

อ่าข่า

ชาวบ้านหล่อชามีรายได้ประจำจากการเป็นสมาชิกสมาคมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านหล่อชา บางครัวเรือนมีสมาชิกออกไปทำงานรับจ้างนอกชุมชนหรือต่างประเทศ รวมถึงการรับจ้างทำไร่ซึ่งเป็นอาชีพเสริมในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำไร่ของตนเอง แต่รายได้หลักแท้จริงนั้นมาจากการค้าขายผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ขิง และบางครัวเรือนมีการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ลิ้นจี่ ลําไย เชอร์รี เพื่อส่งโรงงานแปรรูป นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีรายได้จากการขายดอกไม้กวาด (โก๋ง) และไพรหญ้าคา โดยลิ้นจี่ ลําไย เชอรี่ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนนั้น เริ่มปลูกครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2542 โดยชาวบ้านคนหนึ่งได้นําพันธุ์ต้นลิ้นจี่จํานวนหนึ่งมาทดลองปลูกในที่ดินทํากินของตนเอง เวลาต่อมาลิ้นจี่เจริญเติบโตงอกงามดีและออกผลให้เก็บเกี่ยวในปริมาณมาก เมื่อขายออกสู่ตลาดได้ราคาดี ชาวบ้านครัวเรือนอื่น ๆ จึงสนใจหันมาลองปลูกกันมากขึ้น การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นจึงได้ปลูกตามมาหลังจากนั้น

ทั้งนี้ บ้านหล่อชานั้นนับเป็นหมู่บ้านนำร่องโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) จัดตั้งขึ้นเป็นโครงการนำร่อง ก่อนที่จะเผยแพร่การพัฒนาแบบเดียวกันนี้สู่หมู่บ้านชาวอาข่าเผ่าอื่น ๆ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวบ้านในปัจจุบันอีกแหล่งหนึ่ง เนื่องจากชาวบ้านจะได้รับส่วนแบ่งจากการดำเนินกิจกรรมการให้บริการนักท่องเที่ยวนี้ด้วย

สมาคมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านหล่อชา

พ.ศ. 2542 สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (Population Community Development Association: PDA) ได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนให้บ้านหล่อชาเป็นหมู่บ้านนําร่องในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยชุมชนมีส่วนร่วม มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชีวิตบ้านหล่อชาขึ้น และชักชวนให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนร่วมกันเป็นสมาชิกของสมาคมฯ กิจกรรมของสมาคมฯ คือ การพัฒนาและบริหารจัดการบ้านหล่อชาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว อาทิ การต้อนรับและบริการนําชมชุมชน การแสดง การละเล่น การส่งเสริมอาชีพ การผลิตของที่ระลึก การจัดการบัญชีและการเงินของสมาคมฯ ที่ได้จากการเก็บค่าตั๋วเข้าชม ฯลฯ ซึ่งชาวบ้านจะได้รับค่าตอบแทนจากการต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยสมาชิกจะต้องสมาชิกในครัวเรือนหรือครอบครัวมาเป็นตัวแทนในการต้อนรับนักท่องเที่ยววันละ 1 คน จึงจะได้รับค่าตอบแทนซึ่งเฉลี่ยออกมาเป็นรายได้ต่อเดือน แต่หากสมาชิกไม่มาทำหน้าที่จะถูกหักเงินเป็นรายวัน 

วิถีชีวิต

ด้วยลักษณะทางกายภาพของชุมชนบ้านหล่อชาที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ ดิน แหล่งน้ำ และสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการทําเกษตรกรรม วิถีชีวิตของชาวบ้านจึงมีลักษณะเป็นการใช้ชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ โดยเฉพาะด้านอาหาร ชาวบ้านใช้ทรัพยากรดังกล่าวในการผลิตอาหารและหาอาหารตามธรรมชาติเพื่อบริโภค ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล ชาวบ้านมีการเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด พืชหลักที่ชาวบ้านเพาะปลูกเพื่อบริโภค คือ ข้าวไร่ ข้าวโพด และพืชอาหารที่มีลักษณะเป็นพืชล้มลุก ซึ่งชาวบ้านปลูกตลอดทั้งปี แต่ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีสภาพอากาศและทรัพยากรพื้นฐานจะมีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดเนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพอากาศเหมาะสม และแหล่งน้ำมีเพียงพอสําหรับการเพาะปลูก ชาวบ้านมีระบบการผลิตที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า คือ การปลูกพืชเดี่ยว-พืชตาม คือ การปลูกพืชในไร่ข้าวและไร่ข้าวโพด เพื่ออาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติหล่อเลี้ยงพืชให้เจริญเติบโต แทนการปลูกพืชชนิดเดียวอันเป็นสาเหตุให้ดินเสื่อมสภาพเร็ว พืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกเป็นพืชตามไร่ข้าว ได้แก่ งา ถั่ว แตงไทย ฟักทอง เนื่องจากพืชเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตและเก็บผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก นอกจากนี้ ยังมีพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ออปะยูไช้ ออปะหว่อหะ และออปะออบู๊ ชาวบ้านนิยมปลูกในฤดูหนาวของทุกปี เพราะเป็นพืชที่ต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงพืชล้มลุกที่ปลูกครั้งเดียวแล้วเด็ดยอดรับประทานได้นาน 3-4 เดือน ก็เป็นที่นิยมที่ชาวบ้านนำมาเพาะปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนเช่นเดียวกัน

ประเพณีสำคัญของชุมชน

ประเพณีชนไข่แดง (วันสงกรานต์) : ประเพณีชนไข่ของชาวอาข่าจะตรงกับวันสงกรานต์ของชาวไทย แต่ละบ้านจะนําไข่มาต้มกับหญ้าชนิดหนึ่ง หญ้าชนิดนี้เมื่อต้มออกมาแล้วจะมีสีแดง และไข่ที่นำไปต้มกับหญ้าก็จะมีสีแดง จากนั้นคนในบ้านจะนําไข่ไปแลกกับเพื่อนบ้านที่ตนรู้สึกดีด้วย เป็นประเพณีที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ในชุมชนให้มีความรักใคร่ปรองดองกัน

นอกจากนี้ ชาวอาข่าที่นับถือผีบรรพบุรุษจะฆ่าไก่บ้านละ 2 ตัว ในเวลา 5 วัน ที่ประกอบพิธีกรรม กล่าวคือ 2 วันแรกต้องฆ่าไก่ 1 ตัว และ 3 วันต่อมาฆ่าอีก 1 ตัว เพื่อบูชาบรรพบุรุษ ส่วนหมอผีและผู้นําทางศาสนาของชุมชนต้องฆ่าไก่ทั้งหมด 3 ตัว และผู้นําศาสนายังต้องฆ่าหมูอีก 1 ตัว เพื่อเซ่นไหว้เทพเจ้า พิธีกรรมการเซ่นไหว้บรรพบุรุษจะทําในช่วงเวลากลางคืนหลังจาก 5 วันนี้ วันถัดไปชาวบ้านที่ทําพิธีต้องอยู่ในบริเวณอาณาเขตของชุมชน ออกไปนอกชุมชนหรือออกไปไร่ไม่ได้

ประเพณีเปลี่ยนประตูชุมชนและประตูผี : วัฒนธรรมของชาวอาข่าจะต้องสร้างประตูชุมชนเอาไว้ที่ท้ายชุมชนบริเวณทางออกที่จะไปไร่ และสร้างประตูผีไว้ที่หน้าป่าช้าทางเข้าชุมชน เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งชั่วร้ายจากภายนอกไม่ให้เข้ามาในชุมชน ดังนั้น ประตูทั้งสองจึงถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจําชุมชนที่ชาวอาข่าต้องให้ความเคารพ และต้องทําพิธีเปลี่ยนประตูชุมชนและประตูผีทุกปี โดยการเปลี่ยนประตูชุมชนจะทําหลังจากประเพณีชนไข่ (วันสงกรานต์) เสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้นําศาสนาจะหาวันดีและทําพิธีเปลี่ยนประตู คือ การสร้างประตูชุมชนใหม่แทนประตูเก่าที่ชํารุดทรุดโทรม ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนต้องตัดไม้เป็นท่อนแล้วขีดเขียนด้วยสีเป็นรูปต่าง ๆ คล้ายเป็นการลงยันต์เพื่อป้องกันภูตผีและสิ่งชั่วร้าย ส่วนประเพณีการเปลี่ยนประตูผีก็จะทําเช่นเดียวกันนี้ แต่จะทําในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หรือหลังจากประเพณีโล้ชิงช้าได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

ประเพณีเซ่นไหว้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และต้นไม้ก่อนปลูกข้าว : ตํานานของชาวอาข่าที่เล่าต่อกันมาว่า ในอดีตมีการปลูกข้าวในไร่แล้วต้นข้าวในไร่หายไป ชาวบ้านเกิดความสงสัยจึงออกตามหาก่อนมาพบต้นข้าวที่หายไปบริเวณบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน จึงได้ทําพิธีเซ่นไหว้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาในช่วงเวลาก่อนที่จะเริ่มปลูกข้าว เมื่อเซ่นไหว้เสร็จก็จะตักน้ำจากบ่อมาล้างข้าวแล้วจึงนําข้าวไปปลูก พิธีดังกล่าวจะทํากันในช่วงปลายเดือน 4 ถึง เดือน 5 หลังจากที่ข้าวเริ่มโตในราวเดือนกันยายนก่อนที่จะมีพิธีโล้ชิงช้า ชาวบ้านจะมาทําพิธีเซ่นไหว้ต้นไม้ใหญ่ในชุมชน ถือเป็นการไหว้ดินขอบคุณบรรพบุรุษที่ช่วยดูแลต้นข้าวในไร่ ขอบคุณพื้นดินที่ช่วยโอบอุ้มข้าวในไร่ และการไหว้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ก็มีนัยแทนการขอบคุณที่ทําให้มีน้ำไว้เพาะปลูกข้าวจนเจริญเติบโต ทว่า พิธีกรรมดังกล่าวจะทํากันในกลุ่มที่ยังเคารพในผีบรรพบุรุษเท่านั้น แต่สําหรับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จะไม่ปฏิบัติ

ประเพณีกินข้าวใหม่ : จัดให้มีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ข้าวออกรวงโตเต็มที่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว ผู้นําทางศาสนาของชุมชนจะทําพิธีหาวันดีเพื่อกินข้าวใหม่ หลังจากนั้นทุกบ้านจะหาวันดีของตนเองเพื่อทําพิธี พิธีดังกล่าวจะทําให้เสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคมก่อนที่จะเกี่ยวข้าว หากยังไม่ได้ทําพิธีกินข้าวใหม่ก็จะยังเกี่ยวข้าวไม่ได้

ประเพณีโล้ชิงช้า : ตามวัฒนธรรมของชาวอาข่าจะมีการสร้างชิงช้าที่มีขนาดใหญ่และสูงเอาไว้ที่บริเวณประตูชุมชน เพื่อละเล่นในโอกาสเฉลิมฉลองข้าวออกรวง ประเพณีโล้ชิงช้า หรืองานเทศกาลปีใหม่โล้ชิงช้าของชาวอาข่าจึงจัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองให้พืชผลที่มีความเจริญงอกงามรอเก็บเกี่ยว ปัจจุบันประเพณีโล้ชิงช้าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และต้นเดือนกันยายน ตรงกับช่วงที่ผลผลิตกำลังงอกงาม พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วัน ในระหว่างนี้ชาวบ้านจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วจะรอจนถึงวันเก็บเกี่ยวซึ่งตรงกับเดือนของอาข่า คือ ฉ่อลาบาลา โดยประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่านอกจากจะถือเป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่า มากด้วยภูมิปัญญาที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของอาข่าอีกมากมายด้วย

ลักษณะการตั้งบ้านเรือน

ด้วยลักษณะทางภูมิประเทศของชุมชนบ้านหล่อชาเป็นที่ไหล่เขาและที่ราบสันเขา จึงทําให้ชาวบ้านหล่อชาต้องสร้างบ้านเรือนรวมกันเป็นกลุ่มบนไหล่เขาที่มีความชันน้อย บางส่วนเรียงตัวกันบนที่ราบสันเขา และบางส่วนได้ปลูกสร้างบ้านเรือนริมถนนหลวงที่ตัดผ่านทางทิศเหนือของชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านหล่อชาได้แยกออกจากพื้นที่ทํากินซึ่งอยู่บริเวณเทือกเขาที่ล้อมรอบชุมชน ลักษณะการปลูกสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าอาข่าทั้งหมด ส่วนใหญ่ยังคงนิยมปลูกบ้านโดยใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลัก มุงหลังคาด้วยหญ้าคา ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถหาได้รอบชุมชน ถือเป็นการคงรูปแบบการสร้างบ้านตามวัฒนธรรมของชาวอาข่าดั้งเดิมเอาไว้ คือ มีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียว ปลูกติดกับพื้นดิน ส่วนที่นอนมีการยกพื้นให้สูงจากพื้นดินประมาณ 1 คืบ (1 ฝ่ามือ) ด้วยท่อนไม้หนาและปูพื้นด้วยไม้ไผ่ที่ถูกผ่าครึ่งและสับเป็นซี่ ๆ โดยไม่แยกออกจากกัน มีการแยกและกั้นที่นอนชายและหญิงออกจากกัน มีประตู 2 ด้าน คือ ด้านที่นอนฝ่ายชายและที่นอนฝ่ายหญิง สร้างเตาไฟเพื่อประกอบอาหารภายในบ้านและให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว และนิยมสร้างห้องน้ำไว้นอกตัวบ้าน นอกจากนี้ ยังมีการสร้างบ้านแบบบ้านชั้นเดียวใช้อิฐและปูนเป็นวัสดุหลัก มุงหลังคาและปูพื้นด้วยกระเบื้อง มีลักษณะเหมือนกับบ้านของชาวจีนฮ่อชุมชนสันติสุขที่อยู่ใกล้เคียง บ้านลักษณะดังกล่าวไม่แยกห้องนอนชายและหญิง และไม่มีเตาไฟประกอบอาหารอยู่ภายในบ้าน แต่ยังคงนิยมสร้างห้องน้ำเอาไว้นอกตัวบ้านตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอาข่า

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ชีวิต พิพิธภัณฑ์ชาวเขาบ้านหล่อชา

บ้านหล่อชา หมู่บ้านชาวไทยภูเขาบนเส้นทางกิโลเมตรที่ 32 ถนนสายแม่จัน-แม่สาย หมู่บ้านแห่งนี้เคยได้รับรางวัลกินรีดีเด่น ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมในเขตภาคเหนือ เนื่องจากความสามารถในการบริหารจัดการหมู่บ้านให้เป็น พิพิธภัณฑ์ชีวิตหมู่บ้านหล่อชา พื้นที่อาศัยของชาวเขาเผ่าอาข่า หรือที่เรียกตัวเองว่า “หละบืออาข่า” อาข่าจีนทิเบตที่อาศัยอยู่ ณ แห่งนี้มานานมากกว่า 30 ปี

พิพิธภัณฑ์ชีวิตบ้านหล่อชา เกิดขึ้นเพราะสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA เชียงราย) ได้เข้ามาพัฒนาหมู่บ้านหล่อชาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมทุกส่วนทั้งการบริหารจัดการ การบริการการท่องเที่ยว ตลอดจนการคิดค้นสร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยว รายได้ที่ได้จากการเก็บค่าเข้าชมหมู่บ้านจะนำไปพัฒนาหมู่บ้านโดยชาวบ้านเป็นคนบริหารจัดการเอง ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวเขาเผ่าอาข่าบ้านหล่อชาขึ้น เพื่อจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวอาข่า ภูมิปัญญาพื้นบ้าน การแสดงของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นหัตถกรรมการทอผ้า การตัดเย็บเสื้อผ้า การตีเหล็ก การทำไม้กวาด รวมถึงถึงประเพณีดั้งเดิม เช่น ประเพณีโล้ชิงช้า ประเพณีปีใหม่ไข่แดง โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้านได้ผ่านการแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เช่น การล่าสัตว์โดยใช้วัสดุที่ประดิษฐ์ขึ้น การเลี้ยงสัตว์ การทำหัตถกรรมการทอผ้า การตัดเย็บเสื้อผ้าและการตีเหล็ก ซึ่งถือเป็นการรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนอาข่าบ้านหล่อชาเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

ชาวบ้านหล่อชาเป็นกลุ่มชาวอาข่าที่พูดภาษา ลาบือ เช่นเดียวกับชาวอาข่าที่บ้านผาหมีและดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชาวจีนมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ภาษาจีนเป็นอีกภาษาหนึ่งที่มีการใช้ปะปนอยู่ในชุมชนชาวอาข่าเป็นจำนวนมาก 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานเชียงราย. (2565). บ้านหล่อชา. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.tourismchiangrai-phayao.com/

ททท.สำนักงานเชียงราย. (2561). “บ้านหล่อชา” อัตลักษณ์อาข่าที่มาพร้อมแรงบันดาลใจ. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, คณะมนุษยศาสตร์. (ม.ป.ป.). Ban Lorcha Hilltribe Museum. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก http://human.crru.ac.th/

มัสลิน บุตรเพชร. (2548). ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า : กรณีศึกษา บ้านหล่อชา หมู่ที่ 19 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุจิตราภา พันธ์วิไล. (2545). รูปแบบการจัดการหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วใม : กรณีศึกษา บ้านหล่อชา (อาข่า) ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. วิทยานิพนธ์ปริญญาสิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

องค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑ์ชาวเขาบ้านหล่อชา. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.patueng.go.th/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.google.co.th/intl/th/earth/

Post Today. (2555). หล่อชาโมเดล. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.posttoday.com/

suchaya.t. (2561). เที่ยววิถีชุมชน 2 หมู่บ้านน่าเที่ยว เชียงรายสไตล์ใหม่ เก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://travel.mthai.com/

อบต.ป่าตึง โทร. 0-5318-0022