ชมความงามของทะเลหมอกที่ทอดยาวไปไกลถึงอุทยานแห่งชาติแม่โถ สูดอากาศบริสุทธิ์ที่จุดชมวิวเด่นกระต่ายบนยอดดอยบ้านเซโดซา
คําว่า “เซโดซา” เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ผลสามารถกินได้ มีมากในป่าบนเขาของหมู่บ้านในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันนี้หาได้ยากแล้ว
ชมความงามของทะเลหมอกที่ทอดยาวไปไกลถึงอุทยานแห่งชาติแม่โถ สูดอากาศบริสุทธิ์ที่จุดชมวิวเด่นกระต่ายบนยอดดอยบ้านเซโดซา
ชาวบ้านเซโดซาเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (สะกอ) เรียกตัวเองว่า “ปกาเกอะญอ” ซึ่งแปลว่า “คน” บ้านเซโดซาก่อตั้งมานานกว่า 200 ปีแล้ว ในอดีตนั้นการอพยพหรือย้ายหมู่บ้าน ตลอดจนการแยกพื้นที่ตั้งบ้านเรือน จะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลสําคัญหลายประการ คือ เมื่อพื้นที่ทำกินอยู่ห่างไกลจนเกินไป เมื่อต้องเผชิญกับโรคระบาดที่ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตไม่เว้นแต่ละเดือน และเนื่องจากมีความเชื่อว่าเมื่อเปลี่ยนฮีโข่หรือผู้นําหมู่บ้านเสียชีวิต และเมื่อหมู่บ้านเริ่มไม่สงบสุขก็จะต้องมีการย้ายถิ่นฐาน จากเหตุปัจจัยดังกล่าวทำให้ชาวบ้านต้องย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่มายังพื้นที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน และชาวบ้านบางส่วนก็อพยพมาจากบ้านแม่แฮใต้ซึ่งสาเหตุเกิดความแตกแยกในการนับถือศาสนา ดังนั้นบ้านเซโดซาเป็นเพียงแค่หย่อมบ้านของบ้านแม่แฮใต้ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่แฮใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสาม หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยหวาย หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบลอเด หมู่ที่ 9 ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะทางกายภาพ
หมู่บ้านเซโดซาตั้งอยู่ในเขตภูเขาสูงที่มีระบบนิเวศป่าไม้ที่แตกต่างกัน ประกอบไปด้วย ป่าดิบเขาผลัดใบ ป่าดิบเขาไม่ผลัดใบ และป่าเบญจพรรณ มีภูเขาล้อมรอบ 6 ลูก ได้แก่ ดอยหลวง ดอยหมือหลองโจ ดอยกว่าเกละเมโจ ดอยแม่จุ้น ดอยห่อโข่วาโจ และดอยอมพาย ดอยส่วนใหญ่มีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น ยกเว้นดอยอมพายและดอยหลวงซึ่งเป็นทุ่งหญ้าสลับกับต้นสน รอบหมู่บ้านและใกล้กับพื้นที่ทํากินมีลําห้วยต่าง ๆ ถึง 16 สาย ลําห้วยเหล่านี้จะมีน้ำตลอดทั้งปี มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งชุมชนได้พึ่งพาอาศัยในการทําไร่ ทํานา จับสัตว์น้ำอุปโภคบริโภคเสมอมา
บ้านเซโดซา เป็นหย่อมบ้านหนึ่งของบ้านแม่แฮใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยง โดยชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก
ปกาเกอะญอชาวบ้านเซโดซาส่วนใหญ่จะมีอาชีพททำไร่และรับจ้าง อาชีพรับจ้างส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างเก็บผลผลิตทางการเกษตรตามพื้นที่ต่าง ๆ ตามแต่ละฤดูกาล และจะรับจ้างที่สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยอมพาย
การทำไร่ของชาวบ้านเซโดซาจะเน้นการทำเกษตรเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก เมื่อมีเหลือจึงจะนําไปขาย และบางปีจะมีการปลูกพืชเศรษฐกิจบ้าง เช่น กาแฟ ถั่วแดง ถั่วลิสง กะหล่ำปลี ผักกาดขาว การปลูกพืชเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งทางภาครัฐและเอกชนเข้ามาส่งเสริม และบางครั้งก็มีการค้าขายสัตว์เลี้ยง คือ หมู วัว ควาย นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านยังมีร้านค้าขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ขนม ยาสูบ เครื่องครัว ฯลฯ
ภายในชุมชนบ้านเซโดซา ปรากฎการนับถือศาสนา 2 ศาสนาด้วยกัน คือ ศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ (ผี) โดยศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามาในหมู่บ้านประมาณ 80 กว่าปีแล้ว มีโบสถ์เป็นศูนย์รวมการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทุกวันอาทิตย์ และในวันนี้จะถือว่าเป็นวันว่าง ชาวบ้านจะพักผ่อนไม่ทำกิจกรรมใด ๆ การปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาในวันอาทิตย์นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเช้า เที่ยง และเย็น โบสถ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม คือ โบสถ์แม่พระลูกประคํา นอกจากการเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์แล้ว ในวันที่มีพิธีการที่สําคัญต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ ขึ้นบ้านใหม่ ปีใหม่ คริสต์มาส จะมีการทำพิธีกรรมทางศาสนาที่โบสถ์แห่งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งญาติ ๆ ที่ไปทำงานหรือเรียนที่อื่นก็จะกลับมาร่วมงานด้วย
ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ (ผี) นั้น จะมีผู้นําทางพิธีกรรมเรียกว่า “ฮีโข่” จะเป็นผู้พิทักษ์รักษาจารีตประเพณี ผู้ตักเตือน ผู้กําหนดบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดประเพณี บทลงโทษจะขึ้นอยู่กับความหนักเบาของกรณีนั้น ๆ อาจแค่ตักเตือนหรือปรับเป็นเงิน สุรา หรือสัตว์เลี้ยง สําหรับประกอบพิธีกรรมขอขมาลาโทษ หรือไล่ออกจากหมู่บ้านในกรณีที่กระทำความผิดร้ายแรง แต่จะไม่มีการใช้กําลัง เมื่อหัวหน้าหมู่บ้านตาย ลูกชายจะรับตําแหน่งสืบต่อ ผีที่นับถือ คือ ผีบ้านผีเรือน เชื่อว่าผีบ้านเป็นผีเจ้าที่ที่คอยปกป้องดูแลหมู่บ้าน ผีเรือนเป็นผีดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งคอยปกปักรักษาบุตรหลานผู้สืบทอดตระกูลของตนด้วยความห่วงใย นอกจากนี้ ยังมีผีประจําไร่หรือผีนา ซึ่งจะช่วยทำให้ผลผลิตของไร่นาเจริญงอกงาม ดังนั้น จึงมีการทำร้านเลี้ยงผีไร่ ผีนา ก่อนการปลูกข้าวหรือพืชไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวได้ผล ก็จะมีการทำพิธีเลี้ยงอีกครั้ง เรียกว่า ประเพณีงานกินข้าวใหม่ และมีการเลี้ยงผีที่สําคัญ ได้แก่ พิธีเลี้ยงผีเรือน ผีบรรพบุรุษ และพิธีเลี้ยงผีน้ำ
จุดชมวิวเด่นกระต่าย
เด่นกระต่าย จุดชมวิวบนยอดดอยบ้านเซโดซา อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเนินหญ้าสูง สามารถดูภูเขาและป่าไม้โดยรอบได้ถึง 360 องศา ซึ่งปัจจุบันนี้ได้เปิดเป็นจุดกางเต็นท์ให้นักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์ขึ้นมานอนพักค้างแรมเพื่อพักผ่อนสูดอากาศบริสุทธิ์ และในช่วงเช้าก็จะสามารถชมทะเลหมอกที่มีความสวยงามทอดยาวตามยอดดอยต่าง ๆ นอกจากนั้น เมื่อมองจากจุดชมวิวเด่นกระต่ายแห่งนี้จะสามารถมองเห็นพื้นที่ความสวยงามของอุทยานแห่งชาติแม่โถด้วย แต่ทั้งนี้บริเวณลานกางเต็นท์นี้ไม่มีไฟฟ้าให้บริการ จึงต้องนำอุปกรณ์ให้แสงสว่างขึ้นไปเอง
ในการติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชนหรือระหว่างหมู่บ้านที่เป็นปกาเกอะญอด้วยกันจะสื่อสารกันด้วยภาษาปกาเกอะญอ ส่วนเมื่อไปติดต่อราชการหรือพูดคุยกับผู้ที่ไม่สามารถฟังหรือพูดภาษาปกาเกอะญอได้ จะใช้คำเมืองและภาษาไทยกลาง ด้านภาษาเขียนนั้น เนื่องจากชาวบ้านเซโดซานับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก จึงใช้อักษรโรมัน (หลิโรเม) เป็นอักษรเขียน อักษรหลิโรเมนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยมิชชันนารีในพม่า ในเวลาต่อมาถูกนำมาใช้แพร่หลายในหมู่ชาวปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงสะกอที่นับถือศานาคริสต์
เก็บตกทั่วไทย. (2565). เชียงใหม่ พาชมความสวยงามของจุดชมวิวบ้านเซโดซา อ.แม่แจ่ม (คลิป). สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://gebtoktourthai.com/
เบญจพร อินทร์งาม. (2551). ความคิดเห็นต่อเรื่องการศึกษาต่อของชาวปกาเกอะญอ : กรณีศึกษาบ้านเซโดซา หมู่ที่ 9 ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
องค์การบริหารส่วนตำบลปางหินฝน. (ม.ป.ป.). ข้อมูลทั่วไป. สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2567, จาก http://www.panghinfon.go.th/