Advance search

บ้านกวน

หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง ชุมชนที่มีวิสาหกิจชุมชนเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ เป็นผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนจนเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตหม้อน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

หมู่ที่ 6
กวน
หารแก้ว
หางดง
เชียงใหม่
วิไลวรรณ เดชดอนบม
19 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 ก.พ. 2024
บ้านกวน

สันนิษฐานว่า “กวน” น่าจะมาจากคําว่า “ควน” ซึ่งก็คือ “ควันไฟ” ที่มาจากการเผาภาชนะดินเผาซึ่งเป็นอาชีพของคนในชุมชน


หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง ชุมชนที่มีวิสาหกิจชุมชนเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ เป็นผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนจนเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตหม้อน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

กวน
หมู่ที่ 6
หารแก้ว
หางดง
เชียงใหม่
50230
ทต.หารแก้ว โทร. 0-5302-3194
18.64117620157024
98.92878144979477
เทศบาลตำบลหารแก้ว

บ้านกวนนั้นไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีการตั้งถิ่นฐานกันมาแต่สมัยใด แต่จากหลักฐานเอกสารของทางราชการได้ระบุว่า แต่เดิมตําบลหารแก้วขึ้นอยู่กับอําเภอสันป่าตอง ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่ในตําบลหารแก้วเป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กันมานานโดยไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าอพยพย้ายถิ่นกันมาจากที่ใด แต่ก็มีบางท่านกล่าวว่าอาจเป็นชาวลัวะที่ถูกกวาดต้อนมาในยุคสมัย “เก็บผัก ใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” โดยชาวลัวะที่อพยพเข้ามานี้ก็มีความสามารถในการปั้นภาชนะดินเผาติดตัวเข้ามาด้วย

ขณะที่ช่างปั้นดินเผาพื้นบ้านที่ยังคงผลิตเครื่องปั้นดินเผาพื้นบ้านในปัจจุบัน กล่าวว่า ได้ทำเครื่องปั้นดินเผาสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า มีตำนานเล่าขานกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยพญามังรายยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และได้มาสร้างเวียงกุมกามเป็นเมืองหลวง ต่อมาก็ได้อพยพชาวบ้านจากเมืองสิงสองปันนาให้มาอยู่ที่เวียงกุมกามและนำช่างสิบหมู่เข้ามาด้วย ในจำนวนช่างเหล่านั้น ก็ยังมีช่างปั้นดินเผารวมอยู่ด้วย

สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านกวนนั้น จากคําบอกเล่าของของคนในชุมชนก็ได้ความว่า น่าจะมาจากคําว่า “ควน” ซึ่งก็คือ “ควันไฟ” ที่มาจากการเผาภาชนะดินเผา แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น เพราะที่มาของชื่อหมู่บ้านกวนที่แท้จริงยังไม่เป็นข้อสรุปกันอย่างแน่ชัด และยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ของชาวบ้านในหมู่บ้าน

บ้านกวน ตั้งอยู่ในตำบลหารแก้ว ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งทางทิศใต้ของอำเภอหางดง ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนบ้านกวนมีสภาพเป็นที่ราบซึ่งมีความเหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม มีคลองชลประทานไหลผ่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนในชุมชน โดยการเดินทางเข้าสู่บ้านกวนนั้นสามารถเดินทางผ่านถนนสายเชียงใหม่-ฮอด 

บ้านกวนมีพื้นที่ 302 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 เป็นภูเขาในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย และเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีแม่น้ำสายสำคัญ 2 สาย คือลำน้ำแม่ปิงและลำน้ำแม่ท่าช้าง

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านกวน ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 530 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 239 คน ประชากรหญิง 291 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 183 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมีทั้งชาวพื้นเมืองเดิมและชาวลัวะที่สันนิษฐานว่าถูกกวาดต้อนมาในยุคสมัย “เก็บผัก ใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” แล้วก็ได้นำเอาความสามารถในการปั้นภาชนะดินเผาติดตัวเข้ามาด้วย 

ลัวะ (ละเวือะ)

ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านกวนประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม รองลงมา คือ การค้าขาย รับจ้าง ทํางานฝีมือ หัตถกรรม (ปั้นหม้อ) และรับราชการ

การทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนา เป็นอาชีพที่ทำกันแทบทุกครัวเรือน ทั้งนี้ การปลูกข้าวทํานาของชาวบ้านนั้นส่วนมากจะปลูกไว้รับประทานเองภายในครอบครัว แต่หากปลูกได้จํานวนมากจนเกินรับประทาน ก็จะนําส่วนที่เหลือไปจําหน่าย ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวเหนียวสันป่าตอง ส่วนอาชีพการค้าขาย รับจ้าง ทํางานฝีมือและงานหัตถกรรมนั้นจะเป็นอาชีพเสริม โดยการผลิตภาชนะดินเผาถือเป็นอาชีพเสริมที่สำคัญของชุมชน เริ่มผลิตในระหว่างที่ว่างเว้นจากการทํานาของทุกปี แต่ในปัจจุบันก็จะมีบางบ้านที่มีการผลิตภาชนะดินเผาตลอดทั้งปีแต่ก็ยังคงทํานาอยู่ด้วย ซึ่งการผลิตภาชนะดินเผานี้ถือเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างดี เนื่องจากมีพ่อค้าจากภายนอกหมู่บ้านเข้ามาสั่งภาชนะดินเผาในรูปแบบต่าง ๆ อยู่ตลอด โดยในการสั่งภาชนะดินเผาแต่ละครั้งก็มักจะสั่งเป็นจํานวนมาก

ปัจจุบันมีการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวนขึ้น เพื่อสนับสนุนการทำหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพ บริหารจัดการหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาจากคนในชุมชน ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการปั้นหม้อไม่ให้สูญหาย แต่การผลิตภาชนะดินเผามักจะหยุดชะงักในช่วงหน้าฝนของทุกปี เนื่องจากหากฝนตกก็ไม่สามารถตากหรือเผาภาชนะได้ ดังนั้น ในช่วงนี้ก็จะออกไปรับจ้างทํางานนอกหมู่บ้าน 

ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดศรีสว่างเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเช่นเดียวกันกับชาวพุทธทั่วไป ในสมัยก่อนนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมให้บุตรชายได้บวชเป็นพระ เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนและชาวบ้านส่วนมากก็ยังไม่มีทุนทรัพย์ที่เพียงพอที่จะส่งลูกไปเรียนที่อื่น การบวชเรียนจึงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ทําให้ลูกได้เรียนหนังสือ แต่ในปัจจุบันนี้การบวชไม่ได้เป็นที่นิยมเช่นสมัยก่อน เพราะมีโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นใกล้บ้าน ทําให้ชาวบ้านส่งลูกหลานไปเข้าโรงเรียนหมด

นอกจากศาสนาพุทธแล้วชาวบ้านกวนยังมีการนับถือผี โดยจะมีประเพณีการเลี้ยงผีบ้านที่บริเวณดงพ่อบ้าน พิธีการเลี้ยงผีบ้านนี้จะทําในช่วงวันปีใหม่ไทยหรือในช่วงวันสงกรานต์ (เดือนเมษายน) โดยจะมีการนําสิ่งของต่าง ๆ ไปไหว้พ่อบ้าน มีการเข้าทรงและมีการรดน้ำดําหัวผู้ใหญ่ ซึ่งการเข้าทรงนี้หากบ้านใดที่เป็นคนทรงที่พ่อบ้านมาเข้าก็จะต้องสร้างศาลาไว้ในบ้านเพื่อใช้ในการเข้าทรง โดยจะมีข้อกําหนดว่าห้ามหญิงมีครรภ์และหญิงที่มีประจําเดือนขึ้นไปบนศาลาโดยเด็ดขาด

หลังจากการเลี้ยงผีบ้านแล้วในช่วงเดือนมิถุนายน ก่อนหน้าฝนจะมีการเลี้ยงผีปู่ย่า โดยจะจัดขึ้นเป็นงานเฉพาะของแต่ละบ้าน เปรียบเสมือนการรวมญาติ โดยญาติทั้งหลายจะมารวมตัวกันที่บ้านใดบ้านหนึ่ง นำอาหารคาวหวานต่าง ๆ มาไหว้ มีข้อกำหนดว่าต้องใช้เทียนในการไหว้เท่านั้น ไม่ใช้ธูป เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนเมืองหรือชาวภาคเหนือ (ธูปถือเป็นวัฒนธรรมจีนที่เข้ามาแทรกซึมในช่วงหลัง) เป็นการไหว้ผีบรรพบุรุษ และเนื่องจากหมู่บ้านกวนถือเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมที่มีการทํานาเป็นอาชีพหลัก จึงยังคงมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวอยู่ด้วย คือ การเลี้ยงลานข้าว หรือพิธีเชิญขวัญข้าวสู่ลาน ซึ่งจะมีการประกอบพิธีในช่วงที่ข้าวแตกรวงจนเป็นข้าวเมล็ดแก่ได้ที่ในราวเดือนสิบสองและเดือยอ้าย โดยจะเป็นช่วงที่ลงมือเก็บเกี่ยวและหาบขนมาขึ้นลาน มีการอัญเชิญพระแม่โพสพ ซึ่งเปรียบเหมือนชีวิตหรือขวัญของข้าวมาด้วย จากนั้นจึงเก็บข้าวที่เก็บอยู่ใส่ห่อผ้าหรือกระบุง แล้วนําไปไว้ในที่อันควรในลานนวดข้าว ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าจะทําให้ข้าวที่ปลูกเอาไว้เจริญงอกงามดี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวน

บ้านกวนเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง ชุมชนแห่งนี้มีวิสาหกิจชุมชนเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ โดยจุดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวน คือ ยังคงใช้วิธีการผลิตแบบโบราณไม่ว่าจะเป็นการใช้แป้นที่หมุนด้วยมือ การใช้ดินเหนียวผสมทรายเป็นวัตถุดิบในการปั้น รวมไปถึงการปั้นดินแบบแยกเป็นส่วน ๆ จากนั้นจึงนำมาประกอบแล้วเผาเป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่เดิมการปั้นหม้อของชาวบ้านกวนจะเป็นการปั้นหม้อน้ำและน้ำต้น แต่ในระยะหลังจะเน้นที่การปั้นหม้อน้ำมากกว่า บ้านกวนจึงเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตหม้อน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

การปั้นหม้อ นับเป็นภูมิปัญญาที่ติดตัวชาวบ้านกวนมายาวนานหลายชั่วอายุคน และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้แก่ชุมชนมาหลายสิบปี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ความต้องการใช้ภาชนะดินเผาเพื่อการหุงต้มก็ลดน้อยลง เนื่องจากความเจริญของเทคโนโลยี วิทยาการต่าง ๆ ทุกสิ่งอย่างล้วนมีพัฒนาการให้ทันสมัย ด้วยเหตุนี้อาชีพปั้นหม้อจึงไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบกำอีกต่อไป ช่างปั้นหม้อที่เคยมีอยู่มากเริ่มลดจำนวนน้อยลง บ้างเสียชีวิต และบ้างก็หันไปประกอบอาชีพอื่นเสียส่วนใหญ่ กระทั่งพระบุญต่อ อุปลวณฺโณ (ครูบาจง) เจ้าอาวาสวัดศรีสว่าง (บ้านกวน) (ที่มาของชื่อ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวนอุปลวณฺโณอุปถัมภ์) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพปั้นหม้อ จึงได้ก่อตั้ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนฟื้นฟูการทำหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพ บริหารจัดการหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาจากคนในชุมชน ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการปั้นหม้อน้ำดินไม่ให้สูญหาย อนึ่ง ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวน มีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้คนภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผา นัยหนึ่งเพื่อสร้างรายได้ และนัยที่สองก็เพื่ออนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาการปั้นหม้อให้คงอยู่

ภาษาพูด : ภาษาลัวะและคำเมือง (ในการสื่อสารและติดต่อกับคนในพื้นที่) และภาษาไทยกลาง (ติดต่อสื่อสารกับคนนอกพื้นที่)

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จิ้ง เหอ. (2565). รูปแบบและบทบาทหน้าที่ของเครื่องปั้นดินเผาชุมชนบ้านกวน ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

จิตสุภา วิกรานต์. (2545). การศึกษาชาติพันธุ์วรรณนาทางโบราณคดี : กรณีศึกษาขั้นตอนการผลิตภาชนะดินเผาหมู่บ้านกวน ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านกวนอุปลวณฺโณอุปถัมภ์. (2559). สืบค้น 19 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/