Advance search

ชุมชนเก่าแก่ท่ามกลางขุนเขาติดดอยหลวง และเป็นทางผ่านขึ้นดอยหนอกซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดลำปาง

องค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง โทร. 055- 311 -094
ปงทอง
วังทอง
วังเหนือ
ลำปาง
วิไลวรรณ เดชดอนบม
18 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 ก.พ. 2024
บ้านปงทอง

เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของบ้านปงถ้ำ ต่อมาเมื่อแยกออกจากบ้านปงถ้ำจึงตั้งชื่อใหม่ว่า บ้านปงทอง เพื่อให้คล้องกับ ปงถ้ำแต่ที่มาหนึ่งก็ว่าเนื่องจากในอดีตลำน้ำและบริเวณป่าที่ติดกับหมู่บ้านมีแร่ทองคําที่ชาวบ้านสามารถไปขุดไปขายได้ เมื่อแยกหมู่บ้านใหม่จึงตั้งชื่อว่า “บ้านปงทอง” 


ชุมชนชนบท

ชุมชนเก่าแก่ท่ามกลางขุนเขาติดดอยหลวง และเป็นทางผ่านขึ้นดอยหนอกซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดลำปาง

ปงทอง
องค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง โทร. 055- 311 -094
วังทอง
วังเหนือ
ลำปาง
52140
19.117812935382247
99.69891339540482
องค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง

บ้านปงทอง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ในอดีตเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับหมู่บ้านปงถ้ำ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับระบบการปกครองและจํานวนบ้านเรือนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2541 ทางอําเภอจึงได้มีคําสั่งให้แยกออกเป็น 2 หมู่บ้าน โดยชาวบ้านปถ้ำ-ปงทองเดิมอพยพมาจากหลายพื้นที่ บางส่วนมาจากอําเภอแจ้ห่ม จังหวัดลําปาง บ้างก็มาจากจังหวัดพะเยา เหตุที่ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ก็ด้วยหนีความอดอยากเพื่อมาหาที่ทํากินใหม่ คนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ก่อน คือ คนที่มีโอกาสข้ามเขตแดนเข้ามาล่าสัตว์ในบริเวณแห่งนี้ และเล็งเห็นว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ติดกับภูเขา มีสัตว์ป่าชุกชุม และแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ต่อมาก็ได้ชักชวนญาติพี่น้องของตนเองมาอาศัยอยู่ร่วมกันเพื่อประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม การตั้งหมู่บ้านในระยะแรกมีผู้ที่อพยพมาอยู่เพียง 7 ครอบครัว ต่อมามีการอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้น กลุ่มคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านในรุ่นแรก ๆ ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่าหมู่บ้านปงถ้ำ เพราะติดกับหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่เป็นหน้าผาและมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ ปัจจุบันภายนอกบริเวณหน้าถ้ำได้มีการวาดภาพและแกะสลักพระพุทธรูปเอาไว้ชื่อว่า “พระพุทธโลกุตระมิ่งขวัญศรีเมืองทอง” เป็นพระแกะสลักความสูงประมาณ 10 เมตร และภายในได้อัญเชิญพระพุทธรูปเข้าไปไว้ ชาวบ้านเรียกกันว่าเป็นถ้ำพระเจ้า เวลาต่อมาเมื่อแยกหมู่บ้าน ก็ตั้งชื่อใหม่ว่า ปงทอง เพื่อให้คล้องกับหมู่บ้านเดิมที่ชื่อบ้านปงถ้ำ และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ เนื่องจากในอดีตลำน้ำและบริเวณป่าติดกับหมู่บ้านมีแร่ทองคําที่ชาวบ้านสามารถไปขุดนํามาขายได้ เมื่อแยกหมู่บ้านใหม่จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านที่แยกตัวออกมาใหม่ว่า “บ้านปงทอง” 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ  บ้านปงถ้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลวังทอง

  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลวังทรายคำ

  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติดอยหลวง

  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่เย็น หมู่ที่ 4 ตำบลวังทอง

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านปงทอง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเชิงเขามีต้นไม้ปกคลุมเป็นแนวชัดเจน พื้นที่ราบลุ่มจะเป็นพื้นที่ทุ่งนาของชาวบ้าน ซึ่งจะอยู่รอบ ๆ ตัวหมู่บ้าน ส่วนตัวบ้านเรือนจะตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงเชิงเขา บริเวณที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ถัดจากที่ตั้งของหมู่บ้านทางด้านทิศตะวันออกมีลักษณะเป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเป็นพื้นที่ป่าแพะและป่าเบญจพรรณ ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของถ้ำต่าง ๆ และทางด้านใต้ของแนวเขตป่าและบริเวณถ้ำเป็นพื้นที่ทําการเกษตรกรรมของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไร่ข้าวโพดจนสุดแนวเขตหมู่บ้าน สภาพดินในหมู่บ้านปงทองลักษณะโดยทั่วไปเป็นดินทรายปนดินเหนียว ที่ราบลุ่มตามซอกเขาเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ทํานาสําหรับใช้บริโภคในครัวเรือนและปลูกพืชอื่น ๆ ในการเพาะปลูกชาวบ้านอาศัยน้ำจากธรรมชาติ คือ น้ำฝน และ น้ำจากห้วยแม่เกินและห้วยแม่แสด ที่มีต้นกําเนิดในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกภายในหมู่บ้าน โดยลําห้วยแม่เกินและแม่แสดนี้ไหลมาจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ลัดเลาะภูเขาผ่านพื้นที่เกษตรกรรมผ่านหมู่บ้านและไหลไปบรรจบกันบริเวณทิศใต้ของปากทางเข้าหมู่บ้าน          

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านปงทอง ตำบลวังทอง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 706 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 352 คน ประชากรหญิง 354 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 276 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชาชนที่ในหมู่บ้านเป็นคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน บางครอบครัวมีพื้นเพเดียวกันจึงมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ รู้จักกันหมดทั้งหมู่บ้าน       

เศรษฐกิจของบ้านปงทองส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากกิจกรรมทางด้านการเกษตร ได้แก่ ทํานา ทําไร่ และเลี้ยงสัตว์ การทำนาส่วนมากเป็นกรทำนาปีเพื่อปลูกข้าวเหนียวสําหรับใช้ในการบริโภคภายในครัวเรือน และนํามาต้มเหล้า ส่วนการทําไร่นั้นทําเพื่อขายอย่างเดียว พืชที่ปลูกกันมาก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทําเงินรายได้ให้กับชาวบ้านมากที่สุด ปลูกกันจํานวนมากเกือบทุกครัวเรือน ในการขายข้าวโพดในแต่ละปี สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเฉลี่ยครัวเรือนละ 10,000-35,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชหมุนเวียนอื่น เช่น ถั่วแระญี่ปุ่น ถั่วแขก ผักกาดเขียวปลี และยาสูบ ซึ่งในการทําการเกษตรในปัจจุบันชาวบ้านได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าประยุกต๋ใช้ เช่น การใช้รถไถนา การใช้รถอีแต๋น และใช้เครื่องพ่นเมล็ดข้าวหรือปุ๋ย ในการทุ่นแรงของตนเอง สําหรับการเลี้ยงสัตว์เป็นการเลี้ยงเพื่อบริโภคและใช้แรงงาน ได้แก่ วัว หมู เป็ด ไก่

ผลผลิตทางการเกษตรเกือบทั้งหมดจะขายให้กับพ่อค้าคนกลางซึ่งมารับซื้อถึงในหมู่บ้าน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ชาวบ้านนําออกไปขายเองในอําเภอหรือจังหวัด ส่วนการจับจ่ายซื้อของกินของใช้ประจําวัน ชาวบ้านจะซื้อของจากร้านขายของชําภายในหมู่บ้าน เจ้าของร้านค้าเหล่านี้จะออกไปซื้ออาหารสดจากตลาดเทศบาลอําเภอวังเหนือ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านเป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร มาขายตลาดเช้าและเย็นในหมู่บ้าน เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อควาย ผัก และอาหารสําเร็จรูป ส่วนเครื่องครัวประเภทหอมแดง กระเทียม พริก น้ำปลา ชาวบ้านจะรอซื้อ หรือรอแลกจากรถเร่ และในตลาดนัดที่จัดขึ้นภายในหมู่บ้านทุกวันศุกร์

นอกจากจากนี้ ยังมีอาชีพอื่นนอกเหนือจากการเกษตร เช่น หาของป่า ค้าขาย รับราชการ ทําเฟอร์นิเจอร์ไม้จำพวกโต๊ะ ประตู หน้าต่าง และรับจ้างไม่ประจําในช่วงว่างเว้นจากการทำนาทำไร่  

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันบ้านปงทองจะแยกการปกครองออกจากบ้านปงถ้ำแล้ว แต่เนื่องด้วยอาณาเขตที่ติดต่อ มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมกันมาช้านาน การพัฒนาบ้านปงถ้ำเป็นชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจึงได้ส่งอิทธิพลมาถึงบ้านปงทอง ชาวบ้านปงถ้ำมีรายได้ ชาวบ้านปงทองก็มีรายได้ กระทั่งว่าถูกเหมารวมเป็นหมู่บ้านเดียวดัน คือ บ้านปงถ้ำ-ปงทอง แม้ว่าความเป็นจริงจะแยกจากกันแล้วก็ตาม สำหรับการท่องเที่ยวบ้านปงถ้ำ-ปงทองนั้นสืบเนื่องมาจากที่ตั้งของทั้งสองหมู่บ้านอยู่ติดดอยหลวงและเป็นทางขึ้นดอยหนอกซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดลำปาง “ดอยหนอก” เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง เมื่อขึ้นไปบนสุดยอดดอยจะมองเห็นทัศนียภาพกว้างไกลถึง 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำปาง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านปงถ้ำ-ปงทองร่วมกันจัดเตรียมการบริการทุกอย่างพร้อมสรรพสำหรับการบริการนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านชุมชนเพื่อขึ้นไปพิชิตดอยหนอก นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง เช่น อุทยานพระพุทธเจ้า 29 พระองค์ พระพุทธรูปแกะสลักหินบนหน้าผาปางปฐมเทศนาที่สูงที่สุดในประเทศไทยและในโลก ส่วนบริเวณด้านล่างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 3 พระองค์ ชาวบ้านเรียกว่า “พระเจ้าสามยุค” และตรงบริเวณนี้ยังมีลักษณะเป็นภูเขาขนาดเล็ก มีถ้ำน้อยใหญ่รวมอยู่ด้วยกันอีกประมาณ 5 ถ้ำ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย รวมทั้งมีร่องรอยของการใช้ชีวิตของคนในอดีต เป็นถ้ำธรรมชาติที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ 

ชาวบ้านปงทองทุกคนนับถือศาสนาพุทธ โดยมีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ วัดประจําหมู่บ้านที่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของประชาชนคือ “วัดปงถ้ำ” ซึ่งเป็นวัดประจําหมู่บ้านและเป็นศูนย์รวมศรัทธาของประชาชนบ้านปงทองและบ้านปงถ้ำ

ด้านความเชื่อนั้นชาวบ้านยังคงมีความเชื่อในการนับถือผีอยู่มาก พิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อที่ชาวบ้านทําส่วนใหญ่เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทางการเกษตร โดยต้องมีการเลี้ยงผีเจ้าพ่อประจําหมู่บ้านคือ เจ้าพ่อกระโจมหัวคํา ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมิถุนายน เพื่อขอฝนและดูแลผลผลิตให้มีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากเลี้ยงผีเจ้าพ่อประจําหมู่บ้านแล้ว ชาวบ้านจะมีพิธีการบนผีไร่ผีนาที่อยู่ตามหัวไร่ปลายนาของชาวบ้านแต่ละคน โดยนําข้าวตอกดอกไม้ใส่กระสวย มีเทียน 1 คู่นํามาบอกผีไร่ผีนาให้ช่วยคุ้มครองพืชในไร่นาให้มีความเจริญงอกงามอย่าได้มีแมลงหรือสัตว์มารบกวน และก็ให้ช่วยคุ้มครองคนที่มาทําไร่ทํานาอย่าให้ได้รับอันตรายใด ๆ ถ้าเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวนําผลผลิตออกจากไร่จากนาก็ต้องนําข้าวปลาอาหารเครื่องเซ่น มาทําการเลี้ยงดูแก้บน หลังจากนั้นจะมีงานบุญ “ตานข้าวใหม่” หรือการถวายทานข้าวใหม่ ชาวบ้านจะแบ่งข้าวใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวได้ไปทําบุญที่วัด วัตถุประสงค์ของการทําบุญตานข้าวใหม่นี้เพื่อเป็นการถวายทานข้าวใหม่ไปให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ มีนัยถึงการระลึกถึงบุญคุณที่บรรพบุรุษได้ถากถางนาไร่ให้ได้เป็นมรดกตกทอดไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน ได้ทํามาหากิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือภาษาคําเมือง และใช้ภาษาไทยกลางในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ

ภาษาเขียน : ไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จิตานนท์ สุชาติ. (2547). บทบาทของเหล้าในชุมชนบ้านปงทอง หมู่7 ตำบลวังทอง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ดอยหนอก ดอยเดียวเที่ยวสี่จังหวัด บ้านปงถ้ำ จ.ลำปาง. (2564). สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/

พะเยาโพสต์ PhayaoPost. (2559). สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/