ชุมชนปกาเกอะญอที่ก่อตั้งมานานเกือบ 100 ปี แหล่งอนุรักษ์วัฒนธรรมสืบสานและวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวกะเหรี่ยงสะกอผ่านการเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยือนเพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ เรียนรู้ ศึกษาวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิดกับคนในชุมชน และสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ไกลนัก คือ ประตูผา ถ้ำหินธรรมชาติที่มีลำธารไหลผ่านตรงกลาง
เดิมทีจะได้ชื่อว่า “ไม้ซาง” เป็นภาษาไทยถิ่นเหนือ แปลว่า ไม้ไผ่ เพราะสถานที่ตั้งหมู่บ้านนั้นอดีตเต็มไปด้วยไม้ไผ่ แต่เพราะนายพะเต๊ะพูดไม่ชัด เจ้าหน้าที่จึงเขียนชื่อหมู่บ้านเพี้ยนเป็น “แม่ซา”
ชุมชนปกาเกอะญอที่ก่อตั้งมานานเกือบ 100 ปี แหล่งอนุรักษ์วัฒนธรรมสืบสานและวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวกะเหรี่ยงสะกอผ่านการเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยือนเพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ เรียนรู้ ศึกษาวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิดกับคนในชุมชน และสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ไกลนัก คือ ประตูผา ถ้ำหินธรรมชาติที่มีลำธารไหลผ่านตรงกลาง
หมู่บ้านแม่ซาก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2473 โดยในอดีตนั้นชาวบ้านนิยมสร้างบ้านอยู่กระจัดกระจายตามลําห้วยต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณห้วยครกซึ่งมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านเป็นชาวกะเหรี่ยงสะกอ (ปกาเกอะญอ) ทุกครัวเรือนนับถือผี มีเรื่องเล่าว่า
นานมาแล้วมีคนหนุ่มชื่อ นายพะเต๊ะ เป็นคนชอบเดินทาง ครั้งหนึ่งเดินทางไปรับจ้างลากไม้ที่ประเทศพม่า ได้พบเห็นการสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนด์ของคณะมิชชันนารีในประเทศพม่าเข้าก็เกิดความเชื่อและศรัทธาในคริสต์ศาสนา ภายหลังได้เดินทางกลับเข้าหมู่บ้านและแต่งงานกับภรรยามีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ต่อมาภรรยาของนายพะเต๊ะได้ล้มป่วยลง นายพะเต๊ะจึงลองอธิษฐานขอพรต่อพระเจ้าด้วยความเชื่อตามที่ได้พบเห็นในประเทศพม่า ปรากฏว่าภรรยาของนายพะเต๊ะหายจากอาการป่วย นายพะเต๊ะตัดสินใจเล่าเรื่องราวของคริสต์ศาสนาให้ภรรยาและคนในครอบครัวฟัง เมื่อชาวบ้านในหมู่บ้านรู้เรื่องเข้าก็ไม่พอใจเกรงว่านายพะเต๊ะจะทําให้ผีไม่ชอบและพลอยเดือดร้อนกันหมดทั้งหมู่บ้าน จึงรวมตัวกันขับไล่นายพะเต๊ะและครอบครัวออกจากหมู่บ้าน ซึ่งคนในครอบครัวต่างพยายามชักชวนให้นายพะเต๊ะกลับมานับถือผีเหมือนเดิมแต่ไม่สําเร็จ โดยสถานที่ที่นายนาเต๊ะและครอบครัวย้ายมาตั้งบ้านเรือน คือ บริเวณห้วยแม่ซา อยู่ห่างจากหมู่บ้านเดิมซึ่งตั้งอยู่บริเวณห้วยครกประมาณ 4 กิโลเมตร หลังจากนั้นประมาณ 6 ปี ชาวบ้านจากหมู่บ้านเดิมที่นายพะเต๊ะและครอบครัวถูกขับไล่ ย้ายตามมาตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วยกลายเป็น 6 หลังคาเรือน เพราะเห็นว่าเมื่อนายพะเต๊ะและครอบครัวเลิกนับถือผีแล้วมีข้าวกินตลอดทั้งปีและมีเหลือแบ่งให้ชาวบ้านที่นับถือผีด้วย
ประมาณปี พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ประมาณ 5 ปี ชาวบ้านในหมู่บ้านได้ออกเดินทางไปหาซื้อเกลือที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเชื้ออหิวาตกโรค เมื่อเดินทางกลับเข้าหมู่บ้านก็เป็นเหตุให้ชาวบ้านคนอื่น ๆ ได้รับเชื้อไปด้วย จากเหตุการณ์นี้ทําให้ชาวบ้านหลายรายล้มป่วยและเสียชีวิตในที่สุด ชาวบ้านที่เหลือรอดต้องพากันย้ายออกมาตั้งบ้านเรือนใหม่ซึ่งร่นลงมาทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร และสถานที่แห่งนี้ต่อมาได้กลายเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านแม่ซาในปัจจุบัน ภายหลังได้มีชาวบ้านจากต่างหมู่บ้าน ต่างอําเภอ อพยพมาตั้งบ้านเรือน เพราะความเชื่อและศรัทธาในพระเจ้ามากขึ้น หลังจากย้ายที่ตั้งบ้านเรือนใหม่เพราะเกิดโรคระบาด ประมาณปี พ.ศ. 2500 ทางนายอําเภอและกํานันได้ออกสํารวจพื้นที่ในเขตความรับผิดชอบ พบชาวบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่จึงให้ตั้งเป็นหมู่บ้าน นายพะเต๊ะได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะเป็นคนแรกที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่และสามารถพูดภาษาไทยถิ่นเหนือได้ ประมาณปี พ.ศ. 2531 ได้มีการแยกหมู่บ้านออกเป็น 4 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านแม่หอย หมู่บ้านห้วยผา หมู่บ้านแม่ขอ และหมู่บ้านแม่ซา ซึ่งสาเหตุของการแยกหมู่บ้านนั้นเกิดจากความไม่ทั่วถึงในการดูแล สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านนั้นเดิมทีนายพะเต๊ะจะใช้ชื่อ “ไม้ซาง” ซึ่งคําว่า “ซาง” เป็นภาษาไทยถิ่นเหนือ แปลว่า ไม้ไผ่เพราะสถานที่ตั้งหมู่บ้านนั้นอดีตเต็มไปด้วยไม้ไผ่ แต่เพราะนายพะเต๊ะพูดไม่ชัด เจ้าหน้าที่ของอําเภอจึงเขียนชื่อหมู่บ้านเพี้ยนเป็น “แม่ซา” และได้ใช้ชื่อนี้เป็นชื่อหมู่บ้านมาจวบจนปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านแม่ซาตั้งอยู่บริเวณหุบเขา มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 3,520 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทํากิน 1,420 ไร่ ที่อยู่อาศัย 100 ไร่ พื้นที่ป่าโดยรอบ 2,000 ไร่ สภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นภูเขา ภูเขาส่วนใหญ่มีสภาพป่าเป็นป่าแพะหรือป่าเต็งรัง ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ขึ้นอยู่ไม่ค่อยแน่นทึบ ป่าชนิดนี้จะเกิดในสภาพพื้นที่แล้งเป็นดินทรายและดินลูกรัง ไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์ด้านธาตุอาหารพืชมากนัก พบไม้สําคัญ เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้ตะแบก สัตว์ป่าที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น อีเก้ง ไก่ฟ้า ชะนี กระรอก กระแต หมูป่า ลิ้น แลน เม่น งูและนกชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ดุร้ายจําพวกเสือ หมี หมาป่า ให้เห็นในบริเวณป่าดงดิบด้วย นอกจากนั้นก็มีป่าไผ่ ป่าสน และป่าดงดิบประปรายเป็นบางส่วน
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในพื้นที่หมู่บ้านแบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน
- ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เนื่องจากมีสภาพเป็นภูเขาสูง และมีป่าต้นน้ำจํานวนมาก ทําให้ความชุ่มชื้นในอากาศสูง โดยเฉพาะบนยอดดอยจะมีฝนตกเกือบทุกวันในช่วงฤดูนี้
- ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศไม่หนาวจัดมาก ท้องฟ้าแจ่มใส มีแดดตลอดวัน มีหมอกลงบ้างในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 14 องศาเซลเซียส และอาจต่ำลงถึง 4 องศาเซลเซียส ในตอนกลางคืน
- ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อากาศจะร้อนมากในช่วงกลางวัน เนื่องจากสภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ในช่วงกลางคืนอากาศจะเย็นลง อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 30 องศาเซลเซียส
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านแม่ซา ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 843 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 446 คน ประชากรหญิง 397 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 291 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชน คือ ชาวกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ โดยทั่วไปชาวกะเหรี่ยงจะให้ความเคารพพ่อแม่ โดยเฉพาะผู้อาวุโสซึ่งจะได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้านและลูกหลานมาก พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะไม่ถูกปล่อยปละละเลยแม้ลูกหลานจะแยกออกไปมีครอบครัวใหม่แล้ว การลงแรงช่วยงานในไร่ ในนา ในสวน ยังคงมีอยู่ไม่ขาด และธรรมเนียมของชาวกะเหรี่ยงคือต้องมีลูกหลานคนใดคนหนึ่งทําหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่จนแก่เฒ่า ซึ่งอาจจะเป็นการนําครอบครัวของตนมาอยู่ที่บ้านพ่อแม่หรืออาจจะนําพ่อแม่ไปอยู่ที่บ้านใหม่ของครอบครัวใหม่ตนก็ได้ ส่วนเรื่องการจัดสรรมรดก เช่น ที่นา ที่สวน ที่ไร่ วัว ควาย ฯลฯ ลูกที่ทําหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่จะได้รับมรดกมากกว่าลูกคนอื่น ๆ
ปกาเกอะญอชาวบ้านแม่ซามีอาชีพดั้งเดิม คือ การปลูกข้าวต่อมาภายหลังจึงเริ่มหันมาปลูกข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจจากการส่งเสริมจากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน แต่ด้วยในระยะแรกชาวบ้านยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรดินและทรัพยากรธรรมชาติเท่าที่ควร เกิดการทำเกษตรแบบล้างผลาญ บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดจนเกิดปัญหาทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมอย่างหนัก ในปี พ.ศ.2559-2560 ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานจึงได้เข้ามาส่งเสริมรณรงค์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนบ้านแม่ซาเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ในอำเภอแม่แจ่ม ให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นสาเหตุของการบุกรุกทำลายป่าและสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไปปลูกพืชอื่นทดแทน
นอกจากเกษตรกรรมแล้ว ชาวบ้านบ้านแม่ซายังมีอาชีพเกี่ยวกับการทอผ้า ซึ่งแต่เดิมเป็นการทอเพื่อใช้ในครัวเรือนด้วยกี่เอว แต่ภายหลังสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และโครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ได้เข้ามาสนับสนุนและจัดอบรมการทอผ้าเพื่อส่งเสริมสู่การสร้างอาชีพ ชาวบ้านจึงหันมาทอผ้าด้วยกี่หลังตามแบบคนเมือง ซึ่งทำให้ทอได้เร็วขึ้นกว่ากี่เอวมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังคงรักษารูปแบบ ลวดลายดั้งเดิมของตนไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์สินค้าผ้าทอบ้านแม่ซา ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการส่งออกผ้าทอจากชุมชนออกไปขายยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันยังถือเป็นการประชาสัมพันธ์ผ้าทอของชุมชนให้คนนอกได้รู้จักเพิ่มมากขึ้นด้วย
อนึ่ง บ้านแม่ซายังเปิดให้คนนอกชุมชนสามารถเข้าไปท่องเที่ยวชม ศึกษา เรียนรู้วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนในชุมชน โดยประสบการณ์ที่เหล่าผู้มาเยือนจะได้รับเมื่อมาที่บ้านแม่ซานั้นมีทั้งการล่องแพในลำน้ำแจ่มที่ไหลผ่านมาหมู่บ้าน การเรียนรู้วิถีการทอผ้าหรือเสื้อผ้าแบบกะเหรี่ยง ตลอดจนความรู้และการรับการรักษาตามภูมิปัญญากะเหรี่ยงด้วยสมุนไพรไม้ป่าที่มีในป่ารอบหมู่บ้าน นอกจากนี้ บ้านแม่ซายังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ไกลนัก คือ ประตูผา ถ้ำหินธรรมชาติที่มีลำธารไหลผ่านตรงกลาง บริเวณนี้เรียกว่า ประตูผา แต่ทั้งนี้ การเดินทางไปชมประตูผาจะต้องติดต่อให้คนในพื้นที่เป็นผู้นำทางเท่านั้น
การแอ่ว
ในสังคมที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ความสัมพันธ์ที่ดีของเพื่อนบ้านทั้งใกล้ไกล ทั้งเพื่อการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในยามดีและในยามเจ็บไข้จึงเป็นสิ่งจําเป็นยิ่ง ธรรมเนียมการแอ่วถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของชาวบ้านให้สนิทชิดเชื้อกันยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากทุก ๆ เย็นหลังจากอาบน้ำกินข้าวกินปลาเสร็จสรรพ ชาวบ้านทั้งชายหญิงมักจะไป “แอ่ว” ในภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือ “เที่ยว” ในภาษาไทย ซึ่งอาจจะเป็นการแอ่วบ้านเพื่อน บ้านญาติ หรือบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ ในวงการสนทนาความกันนั้น ก็จะมีการดื่มน้ำชาไปด้วยซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าบ้านที่ต้องจัดเตรียมไว้รับรองแขก เรื่องที่นํามาพูดคุยกันมักเป็นเรื่องสัพเพเหระ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (อุไร เดชพลกรัง, 2544 : 11)
ชาวบ้านแม่ซามีภาษาที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน คือ ภาษากะเหรี่ยง นอกจากภาษากะเหรี่ยงที่ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังสื่อสารด้วยภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมืองและภาษาไทยกลางได้ โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นผู้ชาย แต่ส่วนมากภาษาดังกล่าวนี้จะใช้สื่อสารกับคนพื้นราบเท่านั้น หากอยู่ในกลุ่มชาวกะเหรี่ยงด้วยกันแล้วภาษาไทยถิ่นเหนือและไทยกลางจะไม่ถูกนำมาสื่อสารเลย
ลักษณะการปกครองจากอดีตจนถึงปัจจุบันของบ้านแม่ซามีลักษณะการปกครองแบบสืบสายโลหิต ตระกูลซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดี จะเป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้านในหมู่บ้าน แต่ทั้งนี้ยังมีรูปแบบการปกครองแบบพี่ปกครองน้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการแบ่งปันให้กับผู้ยากไร้กว่าตน การปกครองดังกล่าวนี้ทําให้ในยุคสมัยหนึ่ง ผู้นำชุมชนบ้านแม่ซา คือ นายมิตรภาพ ปลูกเงิน ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านดีเด่นในปี 2533 2534 และ 2536 และในปี 2540 ได้รับตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมคนแรกของอําเภอแม่แจ่ม และเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผลการดําเนินการปกครองภายใต้การดูแลของนายมิตรภาพ ปลูกเงิน ส่งผลให้หมู่บ้านแม่ซาได้รับรางวัลหมู่บ้านอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (อพป.) ดีเด่น ในปี 2533 และในปี 2536 ได้รับรางวัลกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือดีเด่นแห่งชาติจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และปัจจุบันนี้หมู่บ้านแม่ซาได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบกับหมู่บ้านอื่น ๆ ในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความรักใคร่ปรองดอง และการมีกลุ่มอนุรักษ์ที่เข้มแข็ง (อุไร เดชพลกรัง, 2544 : 11)
เหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งสำคัญของชุมชน
- พ.ศ. 2513 เกิดสภาพอากาศหนาวจัดครั้งแรก วัดอุณหภูมิได้ประมาณ 4 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังมีอุทกภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นในชุมชน
- พ.ศ. 2539 ชาวบ้านแม่ซาประสบอุทกภัยอีกครั้งหนึ่ง สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและที่นาซึ่งนิยมขุดสร้างขึ้นใกล้แม่น้ำ การสูญเสียพื้นที่ทํานานับว่ามีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านอย่างยิ่ง เพราะหลายครอบครัวไม่สามารถทํานาได้อีกต่อไป และจากเหตุการณ์นี้ทําให้ปัจจุบันชาวบ้านเกิดความตระหนักในการดูแลและอนุรักษ์พื้นที่ป่ามากขึ้น
- พ.ศ. 2538 เกิดปัญหาความแห้งแล้งจากสภาพที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทําให้ในปีนี้ผลผลิตข้าวไร่ไม่ดี และข้าวนาได้ผลผลิตน้อยกว่าเดิมถึงครึ่ง
- พ.ศ. 2541 ข้าวเกิดโรคระบาด จากเหตุการณ์นี้ทําให้ทุกครัวเรือนที่ปลูกข้าวในปีดังกล่าวเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวไม่ได้ ทั้งข้าวที่ปลูกที่ไร่และที่นา
สุริยา รัตนกุล และ สมทรง บุรุษพัฒน์. (2540). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยงสะกอ. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
อุไร เดชพลกรัง. (2544). พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของบ้านกะเหรี่ยงสะกอ : กรณีศึกษาแม่บ้านชาวกะเหรี่ยงสะกอ หมู่บ้านแม่ซา ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Casemay. (2558). ตามหาดาวพลูโตที่ดอย ณ บ้านแม่ซา. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://pantip.com/