ชุมชนบนสันดอยในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยบ่อ หมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อแบบดั้งเดิม มีการจัดการการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ อีกทั้งยังมีกิจกรรมหลากหลายให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส เช่น กางเต็นท์บนจุดชมวิวดอยบ่อทะเลหมอกยามเช้า การสอนทำอุปกรณ์ไม้ไผ่ เรียนรู้วิถีชุมชน และการเดินป่าไปยังน้ำตกโดยไกด์ชาวลาหู่
ชุมชนบนสันดอยในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยบ่อ หมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อแบบดั้งเดิม มีการจัดการการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ อีกทั้งยังมีกิจกรรมหลากหลายให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส เช่น กางเต็นท์บนจุดชมวิวดอยบ่อทะเลหมอกยามเช้า การสอนทำอุปกรณ์ไม้ไผ่ เรียนรู้วิถีชุมชน และการเดินป่าไปยังน้ำตกโดยไกด์ชาวลาหู่
บ้านยะฟู เป็นชุมชนที่มีชาวลาหู่หรือมูเซอแดงที่อพยพจากพม่าผ่านเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยบริเวณดอยตุงตั้งแต่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 โดยได้อพยพเคลื่อนย้ายมาอยู่บริเวณบ้านยะฟูเดิม ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านดอยยาวปัจจุบัน แต่เนื่องจากบ้านยะฟูเดิมไม่มีที่ทํากิน ราว พ.ศ. 2525 ผู้นําหมู่บ้าน คือ นายยะฟู จะเตาะ จึงได้นําชาวบ้านโยกย้ายขึ้นไปทางทิศเหนือของกลุ่มบ้านเดิม ห่างออกไปประมาณ 12 กิโลเมตร ในฐานะหมู่บ้านบริวารของบ้านห้วยแม่ซ้าย ในระยะแรกมีชาวบ้านที่ย้ายมากับนายยะฟูประมาณ 6 หลังคาเรือน ต่อมาอีก 5 ปี ก็มีชาวบ้านย้าย เข้ามารวมกันอีก 10 หลังคาเรือน และเพิ่มขึ้น ๆ จนปัจจุบัน
บ้านยะฟูมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขาสูงชันลาดไปตามแนวสันเขา มีภูเขาล้อมรอบ ดินที่พบในพื้นที่มีหลายลักษณะ บริเวณที่เป็นภูเขาสูงผุพังเต็มไปด้วยกรวดหิน บริเวณนี้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำถึงปานกลาง มีไม้ปกคลุมบ้างและสามารถทำไร่ได้ แต่ไม่จัดอยู่ในระดับอุดมสมบูรณ์ ส่วนดินบริเวณพื้นราบมีหลายชนิด ได้แก่ ดินร่วน ดินเหนียว ซึ่งเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมทั้งการทำนา ปลูกข้าวโพด และพืชหมุนเวียนหลากหลายชนิด ด้านสภาพอากาศนั้นจะมีความหนาวเย็นมากในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่บนดอยสูง อีกทั้งยังถูกล้อมรอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่และพรรณไม้นานาชนิด และร้อนชื้นในช่วงฤดูฝน
บ้านยะฟู เป็นหนึ่งในหมู่บ้านบริวารของบ้านห้วยแม่ซ้าย สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 11 บ้านห้วยแม่ซ้าย ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,380 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 700 คน ประชากรหญิง 680 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 688 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ในจำนวนนี้เป็นชาวบ้านยะฟูประมาณ 50 ครัวเรือน และประชากรในหมู่บ้านยะฟู คือ ชาวลาหู่หรือมูเซอแดงที่อพยพจากพม่าเข้ามายังประเทศไทยเมื่อราว พ.ศ. 2510
ลักษณะครอบครัวของชาวบ้านยะฟูมีทั้งที่เป็นครอบครัวขยายและครอบครัวเดี่ยว โดยส่วนใหญ่ลูกที่แต่งงานจะออกไปสร้างบ้านเรือนที่อยู่ในละแวกเดียวกับบ้านพ่อแม่ เพราะความผูกพันของคนในครอบครัว บ้านยะฟูมีลักษณะเด่นเรื่องการสืบเชื้อสายเครือญาติ คือ คนในชุมชนเป็นญาติพี่น้องกันกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากคนในตระกูลแรก ๆ ที่มาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ส่วนมากป็นคนจากตระกูลเดียวกัน และในอดีตจะมีลูกหลานจํานวนมากเพื่อช่วยกันทํามาหากินและใช้แรงงานในครัวเรือน
ลาหู่ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่แล้วจะประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม มีการปลูกข้าวไร่ ปลูกข้าวโพด และพืชผัก ผลไม้นานาชนิด ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งเพื่อไว้บริโภคครัวเรือน และส่วนหนึ่งจะขายเป็นรายได้ มีการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โค ไก่ เป็ด สุกร เพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ไว้ขาย และบริโภคภายในครอบครัว นอกจากนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทํางานเพื่อหารายได้
อนึ่ง ปัจจุบันบ้านยะฟูยังมีการทําที่พักรูปแบบโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่มาพักค้างคืนในหมู่บ้าน ซึ่งนำไปสู่การนำหัตถกรรมฝีมือพื้นบ้านของกลุ่มแม่บ้านในชุมชน เช่น การทอผ้าทําถุงย่าม การปักผ้าลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่แต่เดิมเป็นการทำเพื่อใช้ในครัวเรือน แต่ภายหลังมีวัตถุประสงค์เพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นหลัก
ปฏิทินทางการเกษตร
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม | เป็นช่วงเก็บเกี่ยวหญ้าคาเพื่อนํามามุงหลังคาหรือซ่อมแซมบ้าน ทําความสะอาดในบ้านและรอบ ๆ บ้านให้น่าอยู่เพื่อต้อนรับประเพณีกินวอ |
กุมภาพันธ์ | หาของป่าเพื่อที่จะนําไว้ที่บ้าน สำหรับใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวลาหู่ หรือประเพณีกินวอ |
มีนาคม | ช่วงนี้เป็นช่วงหาของป่าและเตรียมหาพื้นที่ทําไร่ ทําสวน |
เมษายน | เตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวไร่ และทําแนวกันไฟรอบ ๆ พื้นที่ มีพิธีกรรม คือ พิธีกรรมก่อทราย ชาวลาหู่เรียกว่า แช่ก่อ |
พฤษภาคม | เป็นช่วงที่มีการเตรียมดิน พรวนดิน ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด |
มิถุนายน | เป็นช่วงปลูกข้าวไร่และปลูกพืชผักในไร่ มีพิธีกรรมทําบุญต้นข้าวเมื่ออายุประมาณ 30 วัน |
กรกฎาคม | หาของป่า เช่น หาหน่อไม้ซาง หาเห็ดชาง |
สิงหาคม | หาของป่า เช่น การหาหน่อไม้มาขายหรือเป็นอาหาร |
กันยายน | เป็นช่วงหาของป่า หาหนอนไม้ไผ่ เช่น ดักแด้ หาหน่อไม้ไร่ ชาวบ้านในแต่ละครัวเรือนจะเริ่มเก็บผลผลิตจากในไร่มาไว้ที่บ้าน เช่น ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ |
ตุลาคม | เป็นช่วงเตรียมเก็บเกี่ยวข้าวไร่ |
พฤศจิกายน | เก็บเกี่ยวข้าวไร่ |
ธันวาคม | ในเดือนนี้จะมีการเก็บฟืนไว้ใช้ตลอดทั้งปี โดยต้องเก็บให้เรียบร้อยก่อนเทศกาลกินวอและมีการเย็บผ้าเพื่อจะไปใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือกินวอ |
ศาสนา ประเพณี และความเชื่อ
ชาวบ้านยะฟูทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ประเพณีที่สําคัญ ได้แก่ ประเพณีเขาะเจ๊าเว (ปีใหม่ของชาวลาหู) ประเพณีกินข้าวใหม่ ประเพณีก่อทราย และประเพณีทําบุญศาลา
- ประเพณีเขาะเจ๊าเว หรือประเพณีกินวอ คือ ประเพณีการเฉลิมฉลองปีใหม่ของชาวลาหู่ ปีใหม่หรือการกินวอนี้ มีความสำคัญต่อชาวลาหู่อย่างยิ่ง เพราะเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเผ่าเสียเป็นส่วนมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่บรรดาญาติมิตรได้กลับมารวมตัวกันที่บ้านอย่างพร้อมเพรียง โดยกำหนดการในแต่ละปีนั้นไม่ได้กำหนดวันไว้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าจะจัดขึ้นวันใด แต่จะมีการตกลงร่วมกันให้จัดในช่วงเวลาที่ชาวบ้านเสร็จสิ้นจากภาระกิจการงานต่าง ๆ เพราะประเพณีดังกล่าวนี้มักจะจัดยาวนานถึง 12 วัน ในวันเฉลิมฉลองจะมีการใช้ หมูดำ เป็นหลักในการสังเวยและการเลี้ยงกัน กล่าวคือ จะมีการฆ่าหมูดำ แล้วเอาส่วนที่เป็นเนื้อหมูและหัวของหมูไปเซ่นสังเวยต่อเทพเจ้าอื่อซา ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ชาวลาหู่ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก พร้อมกับข้าวเหนียวนึ่งที่นึ่งแล้วนำมาตำให้เหนียว เมื่อเสร็จแล้วก็ปั้นให้เป็นก้อนกลม ๆ เรียกว่า “อ่อผุ” หรือ “ข้าวปุ๊ก” แล้วจึงน้ำเนื้อหมูดังกล่าวมาปรุงหรือทำเป็นอาหารเลี้ยงกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ เทศกาลฉลองปีใหม่นี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีก คือ มีการจุดเทียนเพื่อสวดอ้อนวอนเทพเจ้า เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวหรือหมู่บ้านของตนมีความสุข มีความอุดมสมบูรณ์ มีฝนฟ้าตกต้องตามฤดู
- ประเพณีกินข้าวใหม่ หรือ “จ่าสือจา” จัดขึ้นประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวเริ่มออกรวง การประกอบพิธีจะต้องทำขึ้นในวันขึ้น 12 ค่ำ-15 ค่ำ โดยกำหนดเอาคืนที่พระจันทร์ส่องสว่างเต็มดวงเป็นวันประกอบพิธี ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง เชื่อกันว่าผลผลิตในไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด แตงกวา เป็นสิ่งที่เทพเจ้าประทานมาให้ จะได้ผลผลิตมากหรือน้อยก็อยู่ที่เทพเจ้าจะบันดาล ถ้าไม่มีประเพณีนี้ก็ไม่สามารถจะเกี่ยวข้าวมาบริโภคได้
- ประเพณีก่อทราย (แซก่อเว) และทําบุญศาลา เป็นประเพณีที่ปฏิบัติเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับชีวิตที่ล่วงลับจากการประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำสวน ของคนในชุมชน เชื่อว่าเมื่อทำพิธีกรรมแซก่อเวแล้วจะทำให้ไม่มีบาป เมื่อทำไร่ ทำสวน ผลผลิตจะดี และชีวิตจะอยู่เย็นเป็นสุข หลังจากเสร็จพิธีกรรม ชาวบ้านจะเก็บเมล็ดพืชที่ใช้ประกอบพิธีกลับมาไว้ในบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล
การสร้างบ้านเรือน
ชาวบ้านนิยมสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยแฝกหรือหญ้าคา หน้าบ้านมีนอกชานมีเตาไฟก่อไว้กลางบ้านหรือมุมบ้านสําหรับให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว และหุงต้มอาหาร ส่วนมากปลูกยกพื้นใต้ถุนสูง ซึ่งจะใช้พื้นที่ใต้ถุนเป็นที่เก็บฟืน เสาบ้านเป็นไม้เนื้อแข็ง พื้นฟาก ฝาฟาก มุงด้วยหญ้าคาหรือใบก้อ
จุดชมวิวดอยบ่อ ทะเลหมอกยะฟู
จุดชมวิวดอยบ่อตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านยะฟู บนเทือกเขาดอยบ่อ จุดชมวิวแห่งนี้มีลานโล่งกว้าง เป็นจุดที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของตัวเมืองเชียงรายได้อย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมากางเต็นท์เพื่อสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อากาศเย็นจัดจะมองเห็นสายหมอกก่อตัวที่หุบเขาเบื้องล่าง ช่วงกลางคืนจะเห็นทิวทัศน์ตัวเมืองของจังหวัดเชียงรายด้วยแสงไฟระยิบระยับสวยงาม หรือแม้กระทั่งฤดูฝนก็จะมีสายหมอกบาง ๆ ปกคลุมไปทั่ว และเมื่อถึงยามรุ่งอรุณจะสามารถชมทัศนียภาพพระอาทิตย์ขึ้น หรือจะเก็บภาพประทับใจไว้ในความทรงจำก็ได้ จากจุดนี้อยู่ห่างจากหมู่บ้านยะฟูไม่ถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งภายในหมู่บ้านก็มีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้พักอาศัย จากหมู่บ้านยะฟูตอนเช้าตรู่เดินลัดเลาะตามสันดอยเพื่อไปยังจุดชมวิวทะเลหมอกดอยบ่อได้
ดอยบ่อ
ชัยวัฒน์ ชีวินมหาชัย. (2556). ประเพณีเขาะจาเว. ของ ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก http://m-culture.in.th/
เทศบาลตำบลแม่ยาว. (2565). โฮมสเตย์บ้านยะฟู หมู่ที่ 11. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.maeyao.go.th/
เทศบาลนครเชียงราย. (ม.ป.ป.). จุดชมวิวดอยบ่อ. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.chiangraicity.go.th/
โธ่หมอน. (2563). สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/Tohmhon/
พรพิมล พิณเสนาะ. (2560). ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้ามาทำงานในชุมชนเมือง กรณีศึกษา: บ้านยะฟู หมู่ 11 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ไม่กี่บาทBackPacker. (2561). หนีความวุ่นวาย..ไป "บ้านยะฟู" จ.เชียงราย หมู่บ้านเล็กๆกลางหุบเขา. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://th.readme.me/
Chiangraifocus. (2564). จุดชมวิวดอยบ่อ ทะเลหมอกบ้านยะฟู. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.chiangraifocus.com/
Museumthailand. (ม.ป.ป.). ประเพณีกินวอ การเฉลิมฉลองปีใหม่ของชาวเขาเผ่าลาหู่ (มูเซอ). สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.museumthailand.com/