Advance search

บ้านบ้องตี้บนชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อันได้แก่ ชาวพม่า ชาวทวาย ชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญ ชาวไทยและชาวอินเดีย

บ้านบ้องตี้บน
บ้องตี้
ไทรโยค
กาญจนบุรี
อบต.บ้องตี้ โทร. 0-3468-6433
วิไลวรรณ เดชดอนบม
28 ธ.ค. 2022
วิไลวรรณ เดชดอนบม
14 ก.พ. 2023
บ้านบ้องตี้บน


บ้านบ้องตี้บนชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อันได้แก่ ชาวพม่า ชาวทวาย ชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญ ชาวไทยและชาวอินเดีย

บ้านบ้องตี้บน
บ้องตี้
ไทรโยค
กาญจนบุรี
71150
14.077367
98.998511
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้องตี้

บ้านบ้องตี้บน ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แต่เดิมเคยเป็นชุมชนเดียวกันกับบ้านท้ายเหมือง มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งติดกับชายแดนประเทศพม่า เป็นเหตุให้บ้านบ้องตี้บนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบ้านบ้องตี้บนประกอบด้วย คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ คนไทยจากภาคอีสาน เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และอื่น ๆ ที่มาบุกเบิกที่ดินทำกินใหม่ นอกจากนี้ยังมีชาวกะเหรี่ยงนอกซึ่งเป็นชาวต่างด้าวประเทศพม่า ทั้งคนพม่า คนทวาย กะเหรี่ยง และมอญ ที่หลบหนีลี้ภัยทางการเมืองและการสู้รบปราบปรามคนกลุ่มน้อยของรัฐบาลทหารพม่า คนพม่ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มาจากเมืองทวาย บางครั้งจึงถูกเรียกว่าชาวทวาย ในอดีตชนกลุ่มนี้เดินทางเข้าออกชายแดนไทย-พม่าเป็นประจำ เพื่อเข้ามาเยี่ยมญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และเข้ามาเป็นคนงานเหมืองแร่ เมื่อเหมืองแร่ปิดตัวลงคนพม่าส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นแรงงานในเหมืองยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อไป ชาวอินเดียก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์การเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านบ้องตี้บนเป็นเวลานานกว่า 40 ปี  

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพื้นที่บ้านบ้องตี้บน มีปัจจัยมาจากการที่กองกำลังทหารพม่าเข้าตีค่ายกะเหรี่ยงอิสระที่อยู่ตามแนวชายแดนเพื่อปราบปรามชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า เมื่อประมาณปี พ.ศ 2538 ทำให้ชาวกะเหรี่ยงพม่าในพื้นที่ชายแดนต้องอพยพเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไทยจึงได้จัดสรรที่ดินเหมืองแร่เก่าบริเวณบ้านท้ายเหมืองจัดตั้งศูนย์ผู้พลัดถิ่นชาวพม่าขึ้น เพื่อให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าได้อาศัยอยู่

ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของบ้านบ้องตี้บนนั้น ปรากฏคำบอกเล่าและข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการบางส่วน กล่าวว่า ในอดีตบ้องตี้ทำหน้าที่เป็นด่านปราการในช่วงสงครามเก้าทัพ พระเจ้าปดุงของพม่าได้เกณฑ์กำลังพลจากเมืองหลวง หัวเมือง และเมืองประเทศราช จัดเป็นกระบวนเก้าทัพ และให้แม่ทัพเคลื่อนกำลังพลผ่านทางด่านบ้องตี้เข้ามาตีเมืองราชบุรี เพชรบุรี และไปบรรจบกับกองทัพที่ 1 ที่เมืองชุมพร นอกจากนี้ยังมีความตามเอกสารของผู้ที่เคยเข้ามาจัดกิจกรรมในชุมชน กล่าวว่าชุมชนบ้องตี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 มีนายบอ เสือหอม เป็นผู้นำชุมชน และได้รับการยกฐานะเป็นตำบลบ้องตี้เมื่อ พ.ศ. 2519 ภายใต้เขตปกครองอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี 

ปัจจุบันชุมชนบ้านบ้องตี้บนยังมีการแบ่งกลุ่มหมู่บ้านแยกย่อย ได้แก่ กลุ่มดงหมาก กลุ่มห้วยน้ำขาว กลุ่มหลังอนามัย กลุ่มต้นตาล กลุ่มวังคะโดะ และกลุ่มพุสมี

ที่ตั้งและสภาพแวดล้อม

บ้านบ้องตี้บน ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ติดกับเขตทวาย ภาคตะนาวศรีของพม่า ตามบริเวณร้อยต่อเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า บริเวณนี้ในอดีตเคยอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระ (Karen National Union-KNU) สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ล้อมรอบด้วยพื้นที่ป่าและทรัพยากรป่าไม้ มีลำห้วยบ้องตี้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญของชุมชน ลำห้วยบ้องตี้มีแหล่งต้นน้ำอยู่ที่เขาพร้าว ไหลจากเทือกเขาตะนาวศรีทางทิศตะวันตก ผ่านบ้านท้ายเหมืองสู่บ้องตี้ล่าง ทุ่งมะเวอย่อ แล้วไหลลงแม่น้ำแควน้อยที่บ้านแก่งประลอม สำหรับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่บ้านบ้องตี้บนนั้นค่อนข้างที่จะแปรปรวน อากาศร้อนมากในช่วงฤดูร้อน ในฤดูฝนจะตกลงมาอย่างรวดเร็ว แต่ตกไม่ทั่วบริเวณอันเนื่องมาจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นหุบเขา ส่วนในฤดูหนาวช่วงกลางวันจะมีแดดร้อนและท้องฟ้าสว่างมาก ทว่าในเวลากลางคืนจะมีอากาศหนาวจัด ลมพัดแรงและมีฝนตกบ่อยครั้ง ด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าไม้ ล้อมรอบด้วยภูเขาใหญ่น้อย กอปรกับสภาพอากาศที่แปรปรวนตลอดทั้งปี ส่งผลให้บ้านบ้องตี้บนและหมู่บ้านอื่นในบริเวณชายแดนไทย-พม่าเป็นแหล่งชุกชุมของไข้มาลาเรีย  

สถานที่สำคัญ

คริสตจักรแบ๊บติสท์บ้องตี้ หรือชาวบ้านเรียก คริสตจักรบ้องตี้หรือโบสถ์ต้นตาล ศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวคริสต์ชุมชนบ้องตี้บนและบ้านท้ายเหมือง  

คริสตจักรตะนาวศรี (โบสถ์หลังโรงเรียน) ตั้งอยู่บริเวณหลังโรงเรียนบ้องตี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่าโบสถ์หลังโรงเรียน เป็นอีกหนึ่งศาสนสถานสำคัญของชาวคริสต์ชุมชนบ้านบ้องตี้บนและบ้านท้ายเหมือง 

วัดบ้องตี้ล้วนพูลผลาราม  เป็นวัดราษฎร์ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นศาสนสถานที่ใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ของพุทธศาสนิกชนชาวบ้านบ้องตี้บนและบ้านท้ายเหมือง 

บ้องตี้บนเป็นเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์ อันได้แก่ ชาวพม่า ชาวทวาย ชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญ ชาวไทย และชาวอินเดีย รวมถึงวัฒนธรรม และประเพณี อันสืบเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า 

ในปี พ.ศ. 2553 รัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติมอบสัญชาติให้คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งการได้มาของสัญชาตินั้นทำให้คนต่างด้าวได้รับความเท่าเทียมเทียบเท่ากับคนไทย มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินในประเทศไทย และมีสิทธิ์เข้าถึงสวัสดิการจากภาครัฐทุกประการ ทว่าหาใช่ชาวต่างด้าวทุกคนจะได้รับสัญชาติไทย เนื่องจากต้องพิจารณากฎเกณฑ์และคุณสมบัติหลายประการ บ้านบ้องตี้บนจึงจำแนกจำนวนประชากรออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ประชากรผู้มีสัญชาติไทย และประชากรผู้ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยประชากรผู้มีสัญชาติไทยบ้านบ้องตี้บนมี 366 ครัวเรือน จำนวน 588 คน แบ่งเป็นชาย 299 คน และหญิง 288 คน ส่วนครัวเรือนผู้ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 80 ครัวเรือน 

นอกจากการจำแนกกลุ่มประชากรออกตามกลุ่มชาติพันธ์ุแล้ว บ้านบ้องตี้บนยังมีการแบ่งประชากรในชุมชนออกเป็นกลุ่มบ้านย่อย ๆ ที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มดงหมาก กลุ่มห้วยน้ำขาว กลุ่มหลังอนามัย กลุ่มต้นตาล กลุ่มวังคะโดะ และกลุ่มพุสมี 

กลุ่มดงหมาก ประชากรในกลุ่มนี้ประกอบด้วย คนไทย กะเหรี่ยงใน (คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง) และกะเหรี่ยงนอก (กะเหรี่ยงสัญชาติพม่า) อยู่ติดลำห้วยบ้องตี้ ขนาบด้วยภูเขา และมีต้นหมากเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ว่ากลุ่มดงหมาก  

กลุ่มห้วยน้ำขาวหรือกลุ่มหลังโรงเรียน ประชากรส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงนอก (กะเหรี่ยงสัญชาติพม่า) เป็นที่ตั้งของคริสตจักรตะนาวศรีหรือโบสถ์คริสต์วันอาทิตย์ ส่งผลให้ทุกวันอาทิตย์จะมีคริสตชนไปประกอบศาสนพิธีบริเวณกลุ่มห้วยน้ำขาวเป็นจำนวนมาก 

กลุ่มหลังอนามัย ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยอีสาน และคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ตั้งอยู่หลังโรงพยาบาลประจำตำบล และคลินิกมาลาเรียบ้องตี้ 

กลุ่มต้นตาล ประชากรส่วนใหญ่คือคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง และกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า เป็นที่ตั้งคริสตจักรบ้องตี้หรือโบสถ์ต้นตาล ศูนย์รวมคนที่นับถือศาสนาคริสต์ในหมู่บ้านต่าง ๆ ของตำบลบ้องตี้  

กลุ่มวังคะโดะ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า อดีตกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระ 

กลุ่มพุสมี ในอดีตเคยเป็นที่อยู่ของชาวมอญ แต่เมื่อชาวมอญย้ายไปอยู่บริเวณหลังอนามัย ปัจจุบันจึงเหลือบ้านที่ตั้งอยู่บริเวณนี้เพียง 1 หลัง ซึ่งเจ้าของเป็นคนทวาย 

การปกครอง 

บ้านบ้องตี้บน มีการปกครองทางการโดยผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ผู้นำชุมชนและจะถูกยกให้เป็นหน้าที่ของชาวกะเหรี่ยงใน (กะเหรี่ยงสัญชาติไทย) นอกจากนี้ยังมีผู้นำอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ผู้นำศาสนาคริสต์วันอาทิตย์ เจ้าอาวาสวัดบ้องตี้ และโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด  

การประกอบอาชีพ  

การประกอบอาชีพของคนในชุมชนบ้านบ้องตี้บนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กลุ่มคนไทยในบ้านบ้องตี้บนมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย บางส่วนทำงานราชการ เช่น ครู อบต. ตชด. บางส่วนเป็นนายทุนจำหน่ายปุ๋ย ยาฆ่าแมลง รถแทรกเตอร์ สำหรับการประกอบอาชีพของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ พม่า กะเหรี่ยง ทวาย และคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ส่วนใหญ่แล้วจะทำอาชีพรับจ้างในชุมชน ทำไร่ เปิดร้านขายของชำ ส่วนคนทวาย พม่า และมุสลิมที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงจะมีอาชีพรับจ้างรายวันเป็นอาชีพหลัก การประกอบอาชีพรับจ้างจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลต่าง ๆ ว่าในฤดูนั้นผู้ว่าจ้างซึ่งส่วนมากจะเป็นคนไทยจะปลูกพืชหรือว่าจ้างให้ไปทำงานในส่วนใด การทำงานแต่ละอย่างจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ทว่าค่าแรงกลับคงที่ นาน ๆ ปีจึงจะมีการขึ้นค่าแรงสักครั้งหนึ่ง ปัจจุบันค่าแรงต่อวันของคนต่างด้าวในชุมชนบ้องตี้บนคือ 200-250 บาท อย่างไรก็ตาม ลักษณะการประกอบอาชีพรับจ้างของคนต่างด้าวในพื้นที่ โดยส่วนมากจะอยู่กับการรับจ้างรายวันทำไร่นา เช่น รับจ้างปลูกมัน ดายหญ้า เก็บข้าวโพด นอกจากนี้ยังมีประชากรบางส่วนที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว เดินทางออกไปทำงานในกรุงเทพ ฯ และจังหวัดอื่น ๆ เนื่องจากมีบัตรประจำตัวประชาชนยืนยันตัวตน จึงสามารถเดินทางออกไปทำงานต่างถิ่นได้สะดวกกว่าคนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ  

การศึกษา 

ชาวชุมชนบ้านบ้องตี้บนจะได้รับการศึกษาตามรูปแบบการเรียนการสอนของรัฐไทย มีโรงเรียนประจำชุมชนคือโรงเรียนบ้านบ้องตี้ เปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยกลุ่มนักเรียนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด ศาสนาใด จะถูกกำหนดให้เรียนรู้ระบบการศึกษาและพูดภาษาไทย บางครอบครัวที่มีฐานะดีจะส่งลูกเข้าศึกษาในระดับสูง ๆ กระทั่งจบมหาวิทยาลัยก็มี ส่วนลูกหลานของคนกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า ซึ่งมีความสามารถและเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ อันเป็นผลมาจากการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันเป็นประจำ เพราะต้องอ่านพระคัมภีร์ไบเบิล และสนทนากับชาวต่างชาติที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในชุมชน คนกลุ่มนี้มักจะได้รับทุนการศึกษาจากหน่วยงานของศาสนาคริสต์เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยนานาชาติของศาสนาคริสต์ บางส่วนที่ได้กรีนการ์ดจะได้ทุนสนับสนุนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  

องค์กรชุมชน 

บ้านบ้องตี้บนมีการจัดองค์กรชุมชนต่าง ๆ หลายองค์กร ดังนี้ 

1. กลุ่มกองทุนเงินล้าน คือกองทุนกู้ยืมสำหรับสมาชิกในชุมชน โดยมีกฎว่าสมาชิกที่ได้รับสัญชาติไทยจะต้องเป็นสมาชิกครบหกเดือนจึงจะสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนได้ เพื่อรับรองว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่จริง และยืนยันเจตนารมณ์ว่าจะไม่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปที่ใดอย่างถาวร 

2. กลุ่มอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพ (อสม.) มีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย รักษาพยาบาล และให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาให้การรักษาแก่คนในชุมชน  

3. กลุ่มทอผ้า จะทำงานอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมกะเหรี่ยง ผ้าที่ทอจะมีหลายแบบ เช่น เสื้อกะเหรี่ยง 

นอกจากนี้ยังมี กลุ่มเยาวชน กลุ่มหมอดินอาสา กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มอื่น ๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ภายในชุมชน แสดงออกถึงความเท่าเทียม ความปรองดอง และความสามารถในการอยู่ร่วมกันของคนหลากชาติพันธุ์ และหลายวัฒนธรรม 

วัฒนธรรมการกิน 

อาหารการกินของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชนบ้องตี้บนนั้นมีความใกล้เคียงกัน อาหารส่วนใหญ่จะประกอบด้วยผักจิ้มกับน้ำพริก ในช่วงเทศกาลจะมีอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และนิยมอาหารที่หาซื้อได้ง่ายตามตลาดนัด แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนจะมีลักษณะการบริโภคอาหารที่คล้ายกัน แต่อาหารของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะมีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น แกงของคนมอญ พม่า กะเหรี่ยง ทวาย จะมีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่ แต่แกงของคนไทยจะใส่ผักเยอะ ๆ และหั่นเนื้อเป็นชิ้นเล็ก ๆ อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าจะนิยมใส่มาซาลา ใส่น้ำมันพืชน้ำมันพืชซึ่งทำให้อาหารมีความมัน แตกต่างจากคนไทยที่ไม่นิยมมาซาลาและอาหารที่มีความันเท่าใดนัก นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์จากพม่านิยมดื่มกาแฟตอนเช้าเป็นอย่างมาก หากมีแขกมาเยี่ยมไม่ว่าเวลาใดก็ตาม จะนิยมชงกาแฟร้อนรับแขกคู่กับขนมขบเคี้ยว  

วัฒนธรรมการแต่งกาย 

การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชนบ้านบ้องตี้บนปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกัน เช่น หากเป็นหญิงสูงอายุส่วนใหญ่อยู่บ้านจะสวมใส่ผ้าถุง และเสื้อคอกระบอก ต่างด้าวที่ได้รับสัญชาติไทยบางส่วนนิยมแต่งกายตามสมัยนิยมเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมกับกลุ่มคนไทย แต่บางส่วนก็ยังคงรูปแบบการแต่งกายเดิมของชาติพันธุ์ตนเอาไว้เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเห็นอย่างเด่นชัดในวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง เด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงจะสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีขาวคอวี บริเวณคอเสื้อประดับด้วยเส้นด้ายหลากสีสัน ยาวคลุมข้อเท้า ผู้หญิงที่มีครอบครัวจะนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อหลากสีสันคอวียาว ลักษณะเสื้อเป็นทรงกระบอกยาวคลุมเอว ผู้ชายสวมเสื้อสีแดง เขียว น้ำเงิน หรืออื่น ๆ คอวี ยาวถึงเอว ประดับด้วยริ้วผ้าหลากสีสัน กางเกงที่สวมจะเป็นแบบใดก็ได้ 

การแต่งกายของชาวทวายจะมีความแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นอยู่บ้าง โดยหนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยมทั่วไป กลุ่มผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง ผู้สูงอายุจะสวมโสร่ง ชอบทาหน้าด้วยทานาคาสีเหลืองนวล  

คนมุสลิมหนุ่มสาวจะแต่งกายด้วยชุดสมัยนิยมทั่วไป แต่เมื่อไปสุเหร่า ผู้ชายจะสวมโสร่งสีสันต่าง ๆ สวมเชิ้ตหรือเสื้อคอกลม และสวมหมวกสีขาว ผู้หญิงจะโพกหัวด้วยฮิญาบ และนุ่งผ้าถุง 

ทางด้านคนมอญก็มิได้แตกต่างไปจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเท่าใดนัก หนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยม ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อคอกลมหรือคอปก ทาหน้าด้วยทานาคา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่า หากมีงานบุญจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส สวมเครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน กำไล เป็นต้น 

ศาสนา ความเชื่อ และประเพณี 

ชุมชนบ้านบ้องตี้บนเป็นชุมชนที่ปรากฏเป็นชุมชนที่ความหลากหลายในการนับถือศาสนา มีทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ถึงกระนั้นชาวบ้านในชุมชนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่นำเอาความแตกต่างทางศาสนามาแบ่งแยกฝักฝ่าย ชาวบ้องตี้บนมีลักษณะการนับถือศาสนาหนึ่งที่พบได้บ่อยครั้งในชุมชน คือการแต่งงานข้ามศาสนาพุทธและอิสลาม เมื่อแต่งงานกันแล้วฝ่ายที่นับถือศาสนาพุทธจะเปลี่ยนมานับถืออิสลามตามคู่แต่งงาน นอกจากศาสนาแล้วชาวบ้านบ้องตี้บนยังปรากฏการนับถือภูตผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น ชาวทวายบ้านบ้องตี้บนจะนับถือปูชิดิอี (ศาลเจ้า) ที่ตั้งอยู่เหนือศูนย์ผู้พลัดถิ่นชาวพม่าทางทิศเหนือของหมู่บ้านท้ายเหมือง  เป็นต้น 

ด้านการประกอบประเพณีพีกรรมทางศาสนานั้น เนื่องจากบ้านบ้องตี้บนเป็นชุมชุนที่มีลักษณะสังคมแบบพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา จึงจะจำแนกลักษณะการประกอบประเพณีพิธีกรรมตามกลุ่มการนับถือศาสนา ดังนี้ 

1. ศาสนาพุทธ  

พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านบ้องตี้บนประกอบด้วยคนไทย คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มอญ ทวาย และพม่า เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารไปทำบุญที่วัด ทว่าการประกอบพิธีกรรมทางศาสนานั้นมีคนเข้าร่วมน้อยมากจนในบางครั้งจำต้องยกเลิกการประกอบพิธีกรรมครั้งนั้น ๆ ไป เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่าเจ้าอาวาสวัดบ้องตี้รูปเดิมท่านมีอัธยาศัยไม่ดีนัก ชาวบ้านในชุมชนจึงไม่พึงใจจะไปร่วมพิธีกรรมที่วัด เมื่อท่านมรณภาพผลกระทบจึงตกมาอยู่ที่เจ้าอาวาสวัดรุ่นต่อ ๆ มา 

2. ศาสนาคริสต์ 

คริสตชนชาวบ้านบ้องตี้บนจะเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่โบสถ์หลังโรงเรียน และโบสถ์ต้นตาลในวันอาทิตย์ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายเซเวนเดย์แอดเวนติสจะเข้าโบสถ์ในวันเสาร์ ชาวคริสต์บ้านบ้องตี้บนมีกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญประจำปีในวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี หรือวันคริสต์มาส ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้เข้าวมงานเป็นจำนวนมาก การเตรียมงานจะเริ่มเตรียมตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน โดยในช่วงคริสต์มาสจะมีกลุ่มเยาวชนชาวคริสต์เดินร้องเพลงอวยพรตามบ้านต่าง ๆ ไม่ว่าบ้านหลังนั้นจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ซึ่งจะยืนร้องจนกว่าเจ้าของบ้านจะลุกมาเปิดประตูและบริจาคเงินให้ตามศรัทธาเพื่อนำเงินบริจาคมาใช้ในการจัดงานคริสต์มาส สำหรับการร้องเพลงนี้ชาวคริสต์ถือว่าเป็นการอวยพรให้มีความสุขในวันคริสต์มาส 

3. ศาสนาอิสลาม 

กลุ่มผู้นับถือศาสนาจะมีธรรมเนียมการละหมาด 5 ครั้งต่อวัน และไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทุกวันศุกร์ นอกจากนี้ยังมีงานทำบุญต้อนรับการเกิดของหลานซึ่งมีลักษณะคล้ายประเพณีโกนจุกของไทย ในช่วงเช้าจะมีโต๊ะอิหม่ามมาอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านเพื่อขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเด็กที่เกิดมามีแต่ความสุข และตั้งชื่ออิสลามให้ เมื่อเสร็จสิ้นจะมีการเลี้ยงรับประทานอาหารร่วมกัน อาหารที่ใช้ในงานส่วนใหญ่จะเป็นแกงแพะ แกงมาซาลา เป็นต้น 

การตั้งที่อยู่อาศัย  

ภายหลังเหมืองสมพรปิดตัวลง แรงงานเหมืองส่วนใหญ่ซึ่งประกอบด้วยชาวมุสลิมเชื้อสายพม่าและอินเดียไม่ได้เดินทางกลับประเทศ ทางรัฐบาลไทยจึงได้จัดสรรที่ดินบริเวณเหมืองแร่เก่าสร้างเป็นศูนย์ผู้พลัดถิ่นชาวพม่า การสร้างบ้านเรือนแรกเริ่มเป็นเพียงหลังคามุงสังกะสี กั้นฟากและปูพื้นด้วยไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาสร้างแบบถาวรโดยการกั้นผนังด้วยอิฐบล็อค ปูพื้นซีเมนต์ และมุงหลังคาสังกะสี  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด: ภาษาไทย ภาษาพม่า (ภาษากลางของคนต่างด้าวที่มาจากพม่า) ภาษาทวาย (ภาษาถิ่น) ภาษากะเหรี่ยง ภาษาอาหรับ (สำหรับชาวมุสลิมที่ต้องศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน) 

ภาษาเขียน: ภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษาอาหรับ 


ปัจจุบันชาวบ้านบ้องตี้บนส่วนหนึ่งประสบกับปัญหาไร้สัญชาติ เนื่องจากมีสมาชิกในชุมชนกว่า 80 ครัวเรือนที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนสัญชาติไทยและถูกเรียกว่าคนต่างด้าว แม้ว่าคนกลุ่มดังกล่าวจะเข้ามาอยู่อาศัยและสร้างบ้านเรือนในประเทศไทยเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม สืบเนื่องมาจากนโยบายการให้สัญชาติของรัฐบาลไทยที่มีแนวทางไม่ชัดเจน มาตรฐานไม่แน่นอน และยังมีแนวโน้มกีดกันเกี่ยวกับการให้สัญชาติ ภาวะการเป็นบุคคลไร้สัญชาตินี้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าในพื้นที่ชุมชนบ้านบ้องตี้บนถูกมองว่าเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย และถูกละเลยไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ อีกทั้งยังทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงรัฐสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งการรักษาพยาบาล การศึกษา ความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่พลเมืองทุกคนพึงได้รับ   

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิชาย คชมิตร. (2558). การธำรงชาติพันธุ์ของคนทวายในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาลุ่มน้ำโขงศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 

อบต.บ้องตี้ โทร. 0-3468-6433