Advance search

ชุมชนไทดำแห่งเดียวในตำบลหนองเต่า อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ 

หมู่ที่ 3
บ้านยางใหญ่
หนองเต่า
เก้าเลี้ยว
นครสวรรค์
อบต.หนองเต่า โทร. 0-5621-7740
ไทดำ
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
20 เม.ย. 2023
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
20 เม.ย. 2023
บ้านยางใหญ่

ในชุมชนมีต้นยางขนาดใหญ่


ชุมชนไทดำแห่งเดียวในตำบลหนองเต่า อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ 

บ้านยางใหญ่
หมู่ที่ 3
หนองเต่า
เก้าเลี้ยว
นครสวรรค์
60230
15.875427
100.138473
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเต่า

ชุมชนไทดำบ้านยางใหญ่ เป็นชุมชนที่ประชากรบางส่วนแยกตัวมาจากบ้านวังหยวก ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมืองจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแสวงหาพื้นที่สาหรับทำกินและตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย ชื่อ “บ้านยางใหญ่” มีที่มาจากในชุมชนมีต้นยางขนาดใหญ่ ปัจจุบันต้นยางต้นดังกล่าวได้ตายลงไปแล้ว ชาวบ้านจึงมีการตั้งศาลเจ้าแม่พยุงทองขึ้นในบริเวณใกล้เคียง วิเชียร เชื่อมชิต อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางใหญ่ ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของบ้านยางใหญ่เอาไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2474 มีชาวไทดำสองครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่หมู่บ้านยางใหญ่ คือ ครอบครัว นายเสา เหลืองสุวรรณ์ และครอบครัว นายพัด สายใจหนัก ต่อมาในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2478-2495 ได้มีคนไทดำจากจังหวัดเพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 110)

บ้านยางใหญ่เป็นชุมชนที่กระจายตัวตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 หรือถนนสายเก้าเลี้ยว-ยางใหญ่ และถนนภายในชุมชน บางส่วนมีการเกาะตัวกันเป็นกลุ่ม แตกต่างไปจากชุมชนชาวไทยที่มักตั้งถิ่นฐานกระจายตัวไปตามแนวลำน้ำหรือลำคลอง สาเหตุของการกระจายตัวของชุมชนไทดำบ้านยางใหญ่ในลักษณะนี้ อาจมีที่มาจากพื้นฐานการดำรงชีวิตของไทดำที่นิยมตั้งเรือนอยู่ในพื้นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ถนนที่มีพื้นที่สูงกว่าบริเวณโดยรอบจึงถูกเลือกเป็นพื้นที่สร้างเรือนพักอาศัยมากกว่าพื้นที่ริมน้ำ โดยทิศทางของเรือนส่วนใหญ่จะหันหน้าไปยังถนนหรือเส้นทางสัญจร โดยมีพื้นที่นาข้าว และเกษตรกรรม อยู่ล้อมรอบชุมชน (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 110)

บ้านยางใหญ่ เป็นชุมชนไทดำแห่งเดียวในตำบลหนองเต่า อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ 

จากข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองเต่า (2566) ระบุว่า บ้านยางใหญ่มี 192 หลังคาเรือน ประชากร 582 คน  (ชาย 285 คน หญิง 297 คน) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านยางใหญ่ เป็นชุมชนไทดำเพียงแห่งเดียวของตำบลหนองเต่า ที่มีการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ และแยกตัวออกจากชุมชนอื่นเป็นเอกเทศ ในช่วงเวลาที่มีการตั้งชุมชนบ้านยางใหญ่เป็นเวลาที่คนไทดำมีการเปิดรับความเชื่อของศาสนาพุทธ มาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม พื้นที่ทางวัฒนธรรมส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทดำ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างป่าแฮ่วทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของชุมชน แต่ยังไม่มีวัดของชุมชน การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธต้องใช้วัดของชุมชนข้างเคียง แต่ก็ยังคงประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวจิตใจของสมาชิกในชุมชน และปกป้องคุ้มครองจึงมีการสร้างศาลผีประจำหมู่บ้านขึ้น มีการเสนผีบ้าน หรือพิธีเซ่นไหว้ศาลผีประจำหมู่บ้านเป็นประจำทุกปี จนถึงปี พ.ศ. 2500 จึงได้มีการสร้างวัดยางใหญ่ขึ้น แต่พิธีกรรมการทำศพยังนิยมทาที่ป่าแฮ่วเช่นเดิม กระทั่งปี พ.ศ. 2515 สมาชิกในชุมชนจึงเริ่มนิยมมาเผาศพที่วัด โดยในเวลานั่นยังเป็นเมรุชั่วคราว เมรุเผาศพได้ถูกสร้างขึ้นในภายหลัง ส่งผลทำให้ป่าแฮ่วถูกลดความสำคัญลงจนถูกปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่กลายเป็นป่าชุมชนดังในปัจจุบัน (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 110-111)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในชุมชนมีการพูดลาวหรือภาษาไทดำ ร่วมกับภาษาไทย


กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำมีระบบความเชื่อเกี่ยวข้องกับผี ขวัญ และระบบโครงสร้างทางสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับศักดิ์ต่างๆ ที่กำหนดบทบาทหน้าที่พึงกระทำหรือห้ามกระทำต่อกัน ระบบเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของวัฒนธรรมที่คนไทดำนำติดตัวมากจากถิ่นฐานเดิมในจังหวัดเดียนเบียน ประเทศเวียดนาม และเมื่อมีการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเพชรบุรีแล้วอพยพย้ายถิ่นไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย ระบบดังกล่าวก็ติดตัวกลุ่มชนไปในรูปแบบของ “สัมภาระทางวัฒนธรรม” จนเกิดการปฏิสัมพันธ์กับศาสนาพุทธ มีการยอมรับเอาประเพณี ความเชื่อที่แตกต่างมาไว้กับตัว ความเชื่อทางศาสนาพุทธมาปรากฏขึ้นภายหลังจากไทดำเข้าไปอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรีแล้วระยะหนึ่ง

ภายในชุมชมไทดำมีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับชุมชนชาวไทยภาคกลาง ที่มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน และมีวิถีชีวิตแบบชุมชนเกษตรกรรมที่ผูกพันกับน้ำ แต่เมื่อศึกษาลงลึกพบว่าชุมชนเหล่านี้มีการผสมผสานกันของวัฒนธรรมไทดำกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลางของไทย และความเชื่อของศาสนาพุทธสอดแทรกอยู่ในการดำเนินชีวิต รวมถึงมีการสร้างพื้นที่ที่สัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มในลักษณะที่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมไทดำ (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 84-85)

จากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐาน และมีศักยภาพในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ดึงดูดให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม ดังเห็นได้จากวัฒนธรรมไทดำได้สอดประสานเข้ากับชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือตามอิทธิพลของวัฒนธรรมหลัก นั่นคือศาสนาพุทธ ยกตัวอย่างเช่น ในพิธีศพมีการสวดศพโดยพระสงฆ์ร่วมกับการทำเรือนแฮ่ว (เรือนจำลองที่สร้างขึ้นอาศัยในภพหน้าสำหรับผู้ตาย) การปาดตงเซ่นไหว้บรรพชนยังคงดำเนินทุก 5 วัน 10 วัน ควบคู่ไปกับการเข้าวัดทำบุญ มีการนับมื้อประกอบด้วย มื้อฮับ มื้อฮาย มื้อเมิง มื้อเปิ๊ก มื้อกั๊ด มื้อคด มื้อฮ่วง มื้อเต๋า มื้อก๋า มื้อก๋าบ (วิไล สระทองหล, 2558) มีวันที่เหมาะสมสำหรับพิธีกรรมของผู้ต๊าว และผู้น้อย ร่วมกับการนับวันตามข้างขึ้นข้างแรมเพื่อใช้กำหนดวันมงคลและวันพระ ในชุมชนมีการพูดลาวหรือภาษาไทดำ ร่วมกับภาษาไทย (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 85)

ในเวลาเดียวกันวัฒนธรรมไทดำดั้งเดิมยังถูกแสดงออกในช่วงเวลาที่สำคัญ เช่น การเข้าร่วมพิธีกรรมตามความเชื่อโดยผู้เข้าร่วมก็มักจะแต่งกายด้วยชุดไทดำ เป็นต้น สำหรับวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต สามารถเห็นได้จากบริเวณรอบ ๆ เรือนที่จะมีเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันเก็บเอาไว้ โดยเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้จะใช้ในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และเป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรม แสดงถึงภูมิปัญญาสืบทอดจากถิ่นฐานเดิม และพัฒนาปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 85-86)

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรม คือ การซ้อนทับของพื้นที่ทางวัฒนธรรม เนื่องจากการลดบทบาทความสาคัญของพื้นที่ทางวัฒนธรรมไทดำดั้งเดิม จนนาไปสู่การปรับเปลี่ยนที่ดินไปใช้งานในบริบทใหม่ รวมถึงการนำพื้นที่ไปเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 30-40 ปี ที่ผ่านมา ในเวลาเดียวกัน ไทดำเองยังยึดถือข้อปฏิบัติ ประเพณีพิธีกรรม ตามความเชื่อดั้งเดิม ควบคู่กับการประกอบพิธีกรรมของศาสนาพุทธ แสดงการเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่างเข้ามาในวิถีชีวิต และความสามารถในการปรับตัวเพื่อรักษาวัฒนธรรมความเชื่อของกลุ่ม (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 199) 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปรียานุช คำสนอง. (2562). “พลวัตเรือนพื้นถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ในบริบทของการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน กับรูปแบบทางสถาปัตยกรรม และการดำรงตัวตนทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษากลุ่มไทดำ จังหวัดนครสวรรค์” วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเต่า. (2566). "สภาพทั่วไป." (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 20 เมษายน 2566. เข้าถึงจาก https://www.nongtao.go.th/condition.php

อบต.หนองเต่า โทร. 0-5621-7740