Advance search

ชุมชนสืบเชื้อสายมาจากชาติพันธุ์ลาวครั่งมีร่องรอยของประวัติศาสตร์ ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของลาวครั่งบ้านกุดจอก

หมู่ที่ 1
บ้านกุดจอก
กุดจอก
หนองมะโมง
ชัยนาท
วิไลวรรณ เดชดอนบม
21 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 ก.พ. 2024
บ้านกุดจอก

ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณริมบึงที่มีดอกจอกขึ้นอยู่เต็มบึง ตามภาษาของชนกลุ่มนี้เรียก “บึง” ว่า “กุด” จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านกุดจอก” 


ชุมชนสืบเชื้อสายมาจากชาติพันธุ์ลาวครั่งมีร่องรอยของประวัติศาสตร์ ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของลาวครั่งบ้านกุดจอก

บ้านกุดจอก
หมู่ที่ 1
กุดจอก
หนองมะโมง
ชัยนาท
17120
15.28136231
99.90918785
องค์การบริหารส่วนตำบลกุดจอก

ในปลายสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นพบว่าคนไทยเชื้อสายลาวเผ่าต่าง ๆ ได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศสยามด้วยสาเหตุต่าง ๆ ต่างยุคต่างสมัย บ้างก็อพยพหนีภัยสงครามทั้งภายในและภายนอกอาณาจักร หนีภัยธรรมชาติ โรคภัย ความอดอยากแร้นแค้น ที่อพยพมากที่สุดคือคราวอาณาจักรล้านช้างล่ม เป็นเหตุให้ชาวลาวหลายชนเผ่าต้องถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่บริเวณภาคกลางของไทย คนกลุ่มน้อยเหล่านั้นก็แยกกันอยู่ตามกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของตน หนึ่งในนั้นก็คือ ลาวครั่งเป็นคนลาวมาจากเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2427 ผู้นำกลุ่มลาวครั่ง ได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านเขากระจิว จังหวัดกาญจนบุรี (ปัจจุบันคือ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี) มายังบริเวณบ้านกุดจอก ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณริมบึงที่มีดอกจอกขึ้นอยู่เต็มบึง ตามภาษาของชนกลุ่มนี้เรียก “บึง” ว่า “กุด” จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านกุดจอก” วัดเก่าแก่คู่บ้านกุดจอกเป็นศูนย์กลางของชาวบ้านก็คือ “วัดศรีสโมสร” 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอหนองมะโมงและ ตำบลบางสะพานหิน จังหวัดชัยนาท
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านกุดจอกพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ประมาณร้อยละ 98 สภาพพื้นดินเดิมมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย และดินดาน มีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ 2 แห่ง คือ บึงกุดจอกในอดีตประชาชนในหมู่บ้านสามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ส่วนมากใช้ในการเกษตรกรรมตลอดทั้งปี แต่ในปัจจุบันมีความเจริญเข้ามามากขึ้น มีน้ำประปาใช้ทำให้บึงกุดจอกถูกลดความสำคัญลงไป แต่ก็ยังคงเป็นแหล่งน้ำสำรองยามจำเป็น ส่วนแหล่งน้ำทางธรรมชาติแห่งที่สองคือบึงอู่เข้หรือบึงกุดเข้ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ใช้เป็นแหล่งน้ำที่ผลิตน้ำประปาของหมู่บ้าน

ลักษณะภูมิอากาศ

  • ช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน
  • ช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม
  • ช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - มกราคม 

ประชากร

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านกุดจอก ตำบลกุดจอก อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 344 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 157 คน ประชากรหญิง 187 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 181 ครัวเรือน

ระบบเครือญาติ

ปัจจุบันการอยู่อาศัยของชาวบ้านลาวครั่งในพื้นที่ส่วนมากจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวเล็ก ๆ มีพ่อ แม่ ลูก ไม่ได้นิยมอยู่กันหลายรุ่นในบ้านเดียวกัน แต่เมื่อมีการแต่งงานฝ่ายชายจะแต่งออกไปบ้านฝ่ายหญิง ซึ่งการอยู่อาศัยโดยรอบจะพบว่าเป็นกลุ่มเครือญาติที่รู้จักกันทั้งหมด ทำให้เห็นว่าสังคมลาวครั่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากระหว่างเครือญาติ 

ลาวครั่ง

ชาวบ้านส่วนใหญ่นอกจากประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาทิ ทำนาแล้ว การทำปศุสัตว์ก็ยังมี ค้าขาย รับจ้าง มีการรวมตัวของคนในหมู่บ้านจัดตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนียนศรีกุดจอกพัฒนาจำกัด และยังมีการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพและรายได้ ได้แก่ กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง กลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านกุดจอก กลุ่มข้าวซ้อมมือบ้านกุดจอก กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มทำไม้เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในอดีตอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านกุดจอกคือ ทำนา ปลูกข้าว มีรับจ้างทั่วไปบ้างเล็กน้อย เป็นเพราะพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เอื้อต่อการเพาะปลูก ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามการเพาะปลูกข้าวก็ยังคงเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงวัวเลี้ยงควายและเพาะปลูกอย่างอื่นเป็นอาชีพรองลงมา ส่วนผู้ชายจะจักสานอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการทำงาน เช่น กระด้ง บุ้งกี๋ เป็นต้น ปัจจุบันมีการพัฒนาฝีมือเพื่อใช้สอยประโยชน์ได้มากขึ้น นอกจากนี้เริ่มมีการปลูกอ้อยบ้างเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม บางส่วนก็กลายเป็นพื้นที่ดอน สาเหตุอีกประการก็คือ การทำนาข้าวจะต้องหว่านทุกครั้งที่ทำชาวบ้านก็เหนื่อยในการปลูก แต่ถ้าเป็นการปลูก อ้อยหนึ่งครั้งจะได้ผลผลิตนานยาวประมาณ 3-4 ปี ชาวบ้านก็จะได้ผลดี คือมีงานทำตลอดทั้งปี ในระหว่างรอผลผลิตก็มีงานรับจ้างทำไปควบคู่กันไปด้วยเพื่อหารายได้เพิ่มเติม 

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวลาวครั่งบ้านกุดจอกนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการปฏิบัติตามความเชื่อลัทธิผี ในทางพุทธศาสนาชาวลาวครั่งมีการบำเพ็ญบุญกุศลโดยการตักบาตรในตอนเช้า หรือนำอาหารไปถวายพระในตอนเช้า เมื่อถึงวันพระบางคนจะงดเว้นไม่ฆ่าสัตว์ หรือไม่ใช้แรงงานวัวควายลากคราดไถ เพราะถือว่าเป็นการทรมานสัตว์ ครั้นเมื่อมีกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ โกนผมไฟ ตาย ก็มักจะโน้มนำเข้าไปหาพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระมาสวดในงานถือว่าเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ในวาระสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา มักจะมีการทำบุญใหญ่ นอกจากนี้ชายชาวลาวครั่งยังบวชเป็นภิกษุสามเณรเพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนของศาสนา ส่วนความเชื่อถือเรื่องผีในหมู่ชนชาวลาวครั่งก็ยังคงดำเนินไปพร้อมกับการนับถือพุทธศาสนา เช่น ความเชื่อเรื่องผีเทวดาอารักษ์ การทรงเจ้า การอ้อนวอนขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง 

การนับถือศาสนาของชาวลาวครั่งปฏิบัติเพื่อให้สอดรับกับความเชื่อและความเป็นอยู่ มีความเชื่อตามคำบอกเล่าหรือคำสอน หรือข้อห้ามซ่อนคำสอนเอาไว้ เป็นหลักการแห่งคุณธรรมเพื่อนำมาบอกสอนให้สมาชิกของครอบครัวให้เป็นคนดี เป็นบุคคลที่พึงประสงค์ในสังคมโดยประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต ดังนี้

พิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย และการทำศพ ชาวลาวครั่ง จำแนกการตายเป็น 2 ลักษณะ คือ การตายธรรมดากับการตายโหง การปฏิบัติต่อศพคนที่ตายทั้ง 2 ลักษณะจึงแตกต่างกันโดย ถ้าตายธรรมดาจะตั้งศพไว้ที่บ้าน แต่ถ้าตายโหงจะไม่ตั้งศพไว้ที่บ้านให้ตั้งไว้ที่วัด หรือรีบนำไปฝังที่ป่าช้า ไม่นิยมในไปเผา 

พิธีการโกนจุก ในอดีตนั้นชาวลาวครั่งที่อาศัยในเขตภาคกลางประเทศไทย ได้รับเอาการไว้ผมจุกไปใช้ในสังคมเป็นบางส่วน โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย การไว้จุกนี้เชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กเลี้ยงง่าย ปลอดภัยจากโรคร้ายหรือความเจ็บป่วย แต่มิได้เป็นการไว้ผมจุกทุกคน มีเป็นบางครอบครัวเท่านั้น มูลเหตุของการไว้จุกให้เด็ก เกิดจากความเชื่อที่ว่าเด็กที่คลอดออกมาแล้วมีอาการเจ็บป่วยอยู่บ่อย ๆ สุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การไว้จุกจึงเป็นเคล็ดว่า จะทำให้อายุยืนยาวรอดพ้นจากการป่วยไข้ได้ พ่อแม่หรือญาติที่เชื่อดังกล่าวจึงไว้จุกให้แก่ลูกหลานของตนเอง โดยการเหลือเส้นปอยผมไว้ตรงการศีรษะ หรือค่อนมาทางหน้าผากเล็กน้อย แต่โกนผมบริเวณรอบศีรษะโดยทั่ว 

พิธีเลี้ยงผีตาแฮก หรือพิธีแฮกนา การแฮกนา เป็นการเซ่นบวงสรวงผีที่เชื่อว่ามีอยู่ประจำนาเรียกว่า ผีตาแฮก ผีนี้ทำหน้าที่ปกปักรักษาผืนนา ให้ข้าวกล้าเจริญเติบโตมีความอุดมสมบูรณ์ โดยจะจัดในช่วงเดือน 6 อันเป็นการเริ่มฤดูทำนา ชาวลาวครั่งจะจัดสำรับเซ่นไหว้ใส่ในกระบะกาบกล้วย ประกอบไปด้วยธูป เทียน หมากพลู บุหรี่ อาหารคาว-หวาน น้ำ เหล้า และมีไก่ต้ม 1 ตัว ซึ่งไก่ต้มนี้ เป็นทั้งเครื่องเซ่นและเครื่องเสี่ยงทาย โดยจะนำไปวางที่แปลงนาแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่กำหนดหรือที่เคยทำพิธีนี้มาตั้งแต่เก่าก่อน

1.นางซ้อง จบศรี อายุ 90 ปี ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านทอผ้าลาวครั่ง และได้รับการยกย่องเป็นครูศิลป์ของแผ่นดินประจำปี 2563 ประเภทเครื่องทอ (ผ้าซิ่นตีนจกลาวครั่ง) จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นผู้อนุรักษ์ และถ่ายทอดความรู้การทอผ้า และลายผ้าโบราณของชาติพันธุ์ลาวครั่ง

พิพิธภัณฑ์ในชุมชน 

พิพิธภัณฑ์ลาวครั่งเป็นมรดกที่ผสมผสานอารยธรรมไทย-ลาว ตั้งอยู่ที่หอประชุมวัดศรีสโมสร ภายในพิพิธภัณฑ์แสดงข้อมูลทางประวัติศาสตร์และเครื่องใช้ของสงฆ์ที่ บรรพบุรุษนำมาถวายให้กับวัดด้วยจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธา โดยมีการจัดพื้นที่แสดงนิทรรศการถาวรของ พิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่หนึ่ง เป็นการจัดแสดงพระพุทธรูปปางต่าง ๆ และงาช้างคู่
  • ส่วนที่สอง แสดงประวัติศาสตร์ของชุมชน เล่าเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
  • ส่วนที่สาม คือส่วนสุดท้ายแบ่งเป็นเรื่องของเครื่องใช้โบราณ เช่น เครื่องกรองน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากชาวตะวันตก เครื่องดับเพลิงที่เป็นท่อสูบฉีดที่ได้อิทธิพลจากจีน เป็นต้น 

นอกจากนี้ในส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งยังจัด แสดงพระคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมขอม อักษรธรรมลาว เรื่อง “ลำพระบาง” ตำนานพระแก้วเจ้า เครื่องทองเหลือง เครื่องลายคราม เครื่องเคลือบ ภาพถ่ายโบราณ ภาพวาด กลองใหญ่ใน ประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งผ่านการใช้งานมาแล้วจริง ๆ โดยใช้ตีเพื่อเป็นสัญญาณบอกเหตุให้แก่ประชาชนได้รู้โดยทั่วกัน โดยพิพิธภัณฑ์จะเปิดให้ชมด้านในเฉพาะผู้ที่ติดต่อเข้ามาขอชมล่วงหน้าเท่านั้น

วัดและโบสถ์มีความเป็นมาที่ยาวนานเกินร้อยปี ในปี พ.ศ. 2427 เริ่มมีการสร้างโบสถ์แห่งนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยหน้าบ้านเป็นแบบลาว มีพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณและมีพญานาคอยู่ด้วย นอกจากนี้จะเห็นมังกรและดอกไม้ของจีนหรือที่เรียกว่า ดอกโบตั๋นร่วมอยู่ในโบสถ์ด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเชื้อสายหรือความสัมพันธ์ใดกับประเทศจีน แต่ช่างที่สร้างโบสถ์ในสมัยนั้นเป็นคนเชื้อสายจีน จึงต้องการฝากสิ่งที่เป็นจีนไว้บนสถาปัตยกรรมของโบสถ์ด้วย ซึ่งอยู่จนถึงปัจจุบัน

ผ้าทอ 

การทอผ้าของชาวลาวครั่งถือเป็นสิ่งที่ความเป็นเอกลักษณ์สูง เนื่องจากลายผ้าที่มีเฉพาะกลุ่ม และยากที่จะเลียนแบบได้ เดิมเส้นใยฝ้ายจะย้อมดีสีธรรมชาติ กล่าวคือ สีเหลือง ย้อมมาจากหัวขมิ้นชันหัวไพล แก่นขนุน แก่นฝรั่ง เป็นต้น ส่วนสีแดงได้จากการย้อมรากยอป่ามะไฟ แก่นฝาง แก่น ประดู่ เปลือกล้มเสี้ยว และสีเขียวย้อมมาจากใบหูกวาง ใบตะขบเปลือกสมอ เปลือกเพกา สีดำย้อมมาจากผลมะเกลือป่าผลมะยมป่า ผลสมอพิเภก สุดท้ายคือสีน้ำเงินย้อมมาจากลูกหว้า ดอกอันชัน ดอกเข็ม ต้นและใบคราม ฯลฯ การย้อมสีธรรมชาติซึ่งจะให้สีสันที่สวยงามกลมกลืน แต่ในขณะเดียวกันก็จะไม่มีความทนทานต่อการซักและแสงแดด เนื่องด้วยวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ย้อมหายากกรรมวิธีย้อมที่ซับซ้อน ทำให้การย้อมสีธรรมชาติสูญหายไปจากจังหวัดชัยนาทไปนานแล้ว สีวิทยาศาสตร์จึงเป็นสีที่เข้ามาแทนที่สีธรรมชาติ เพราะว่ามีราคาที่ถูกหาซื้อเข้าถึงและย้อมได้ง่าย บวกกับทนทานต่อการซักรีดและแสงแดด แต่เป็นการทำให้ผ้าทอในปัจจุบันขาดความกลมกลืนคุณค่าความงามลดลง การทอผ้าจะใช้ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ซึ่งจะทอด้วยกี่มือหรือกี่โบราณ จกลายที่ละเส้น ทอด้วย ความละเอียดและประณีต ซึ่งลายที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอลาวครั่ง มีดังนี้ ลายขอดอกรัก ลายขอ ซ้อนขอ ลายกบ ลายด่านเมืองลาว ลายขอขื่อ เป็นต้น เพื่อเป็นสไบ เป็นซิ่น หรือใช้สำหรับเป็นผ้าทอที่ ใช้ในพิธีทางศาสนา ผ้าคลุมหัวนาค ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าทอใช้ในชีวิตประจำวัน ผ้าขาวม้า หมอนน้อย เป็นต้น ทั้งนี้การทอแต่ละลายและแต่ละแบบก็จะมีความสลับซับซ้อนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับทักษะและฝีมือของผู้ทอผ้านั้นเอง

ศิลปหัตถกรรม 

ชาวลาวครั่งมีความชำนาญในการจักสานทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของความนิยม เช่น ผู้หญิงนิยมสานข้อง ไซ ส่วนผู้ชายจะนิยมสานกะทอ (ภาชนะจักสานที่มีขนาดใหญ่ ไว้สำหรับใส่ข้าวเปลือก ฉาบด้วยขี้วัวผสมกับแกลบ) สานลอบจับปลา ปลอกมีด กระบุง กระซอมงัว (ภาชนะจักสานรูปวงกลมไม่มีก้นสานด้วยไม้ไผ่หนาประมาณ 2 นิ้ว สำหรับใส่หญ้าหรือฟางให้วัวกิน) ตะกร้า กระด้ง กระจาด ฝาเรือนขัดแตะ (ใช้ผิวไผ่ผ่าเป็นริ้วกว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาว 2 ฟุต สานขัดกันไปมา) ไม้ขี้เตียกขัดแตะ ใช้ไม้ไผ่บริเวณด้านในลำไผ่ที่เป็นสีขาวแยกจากผิวไผ่ เหลาเป็นปื้นกว้างประมาณ 1 นิ้ว ยาว 2 ฟุต สานขัดกันไปมาแบบห่าง ๆ ใช้ทำรั้วชั่วคราวหรือกั้นสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก เช่น ลูกเป็ด ลูกไก่ นอกจากนั้นยังมีการถักแห ถักตะขัด (ที่ดักปลา) เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการดำรงชีพ

ดนตรีและการละเล่นพื้นบ้าน 

เครื่องดนตรีประเภทที่ใช้แห่ เช่น แห่นาค ฉลองวันเลี้ยงปีเจ้าพ่อ แห่ธง หรือบรรเลงในวัน สงกรานต์ หรือบางครั้งใช้เล่นกันในช่วงเย็นในชีวิตประจำวัน มักจะใช้วงกลองยาวที่เล่นกับกลองรำมะนา บางครั้งก็จะเป่าแคนด้วย เครื่องดนตรีประเภทกลองยาวและกลองรำมะนาผู้ชายจะเป็นผู้เล่นและเป็นผู้ประดิษฐ์ ซึ่งกลองยาวนิยมทำด้วยไม้ขนุน เพราะขุดง่ายและเนื้อเหลืองสวย ส่วนกลองรำมะนาทำจากไม้จามจุรี กลองทั้ง 2 ชนิดนี้ ขึงด้วยหนังวัว กลองรำมะนาบางครั้งก็จะนำครกไม้ที่มี อยู่ที่มีขนาดเหมาะสมดัดแปลงเป็นรำมะนา คือจากครกทำไปเป็นกลองรำมะนาก็มี การเล่นกลองยาว กับกลองรำมะนาหลายคนเรียกว่า วงกลองยาว (วงกองญาว) ผู้ชายเด็กหนุ่มและวัยกลางคน รวมถึงวัยชราจะนิยมตั้งกันเป็นกลุ่มตีกลองยาวพร้อม ๆ กัน ส่วนการฟ้อนรำจะนิยมทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย และนิยมทุกช่วงวัย ในปัจจุบันวงกลองยาวจะพบเห็นในบางพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากไม่มีผู้ที่สืบทอด และค่อนข้าง จะเสื่อมความนิยมลงไป เพราะมีแคนวงที่เสียงดังและมีท่วงทำนองที่เร้าใจกว่าเข้ามาแทน บางครั้งก็จะใช้แตรวง ส่วนแคนวงนั้นเล่นเฉพาะในโอกาสงานบวช งานเลี้ยงประจำปีเจ้าพ่อ งานแห่ธง เครื่องดนตรีประกอบด้วยแคน พิณ กลอง เป็นต้น แคนวงเหล่านี้เจ้าของวงหรือคนเล่นมักจะเป็นคนที่มีเชื้อสายลาวครั่งทั้งสิ้น 

ภาษาพูด : ลาวครั่ง

ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย.(2564). ชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งกุดจอก. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). วัฒนธรรมจังหวัดชัยนาท ลงพื้นที่ชุมชนคุณธรรมบ้านกุดจอก อำเภอหนองมะโมง. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www2.mculture.go.th/

กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง บ้านกุดจอก ชัยนาท. (2562). การทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดจอก. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2556). พิพิธภัณฑ์ลาวคั่ง บ้านกุดจอก. ครั่ง. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://db.sac.or.th/museum/

อรณิชา ภมรเวชวรรณ. (2560). อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของชาวลาวครั่ง: กรณีศึกษาชุมชนลาวครั่งหมู่บ้านกุดจอก จังหวัดชัยนาท.

OTOP นวัตวิถี บ้านกุดจอก. (2561). แผนที่ชุมชนบ้านกุดจอก กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/Navatvitee.Kudjok/