วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุ ผ้าฝ้ายทอมือสามสีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน จากการผสมผสานของเส้นใยฝ้ายหลายสายพันธุ์โดยไม่ผ่านการย้อมสี เพื่อมุ่งเน้นการรักษาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะที่เกิดจากสารเคมีและน้ำเสียในการฟอกย้อมสี จนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Green Production ได้มาตรฐานระดับดีเด่น ประจำปี 2565
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุ ผ้าฝ้ายทอมือสามสีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน จากการผสมผสานของเส้นใยฝ้ายหลายสายพันธุ์โดยไม่ผ่านการย้อมสี เพื่อมุ่งเน้นการรักษาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะที่เกิดจากสารเคมีและน้ำเสียในการฟอกย้อมสี จนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Green Production ได้มาตรฐานระดับดีเด่น ประจำปี 2565
บ้านก้อทุ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุนับร้อยปี ตามบันทึกตํานานของชุมชนเล่าถึงความเป็นมาของบ้านก้อทุ่งนั้นเริ่มตั้งรากฐานเป็นชุมชนเมื่อราว 100 กว่าปีก่อน เมื่อเจ้าฟ้าเมืองตากและครอบครัว ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของสัมปทานป่าไม้ทั้งหมดของป่าแม่หาด-แม่ก้อ เดินทางมาพร้อมไพร่ ข้าทาสบริวาร และสัตว์เลี้ยง เพื่อทำการตัดไม้และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากป่าไม้ เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ราบกลางหุบเขาซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยจึงปลูกสร้างบ้านเรือนขึ้นที่บริเวณที่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านก้อทุ่งในปัจจุบัน เมื่อได้ปลูกสร้างบ้านเรือนแล้ว จึงได้มีการหาที่ทำกินในการปลูกข้าวเลี้ยงตัว ภายหลังแม้ว่าจะหมดกําหนดการทำสัมปทานป่าไม้แล้วก็ตาม ผู้ที่เดินทางเข้ามาพร้อมครอบครัว ผู้ติดตาม และข้ารับใช้ที่พากันก่อสร้างบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัยก็ไม่ได้อพยพออกจากพื้นที่ ดังนั้น ประชากรในหมู่บ้านก้อทุ่งจึงประกอบด้วยคนเมืองที่เป็นคนดั้งเดิมของพื้นที่ ข้ารับใช้ชาวพม่าที่มากับเจ้าเมืองตาก ชาวขมุที่เป็นลูกจ้าง และนายฮ้อยดูแลช้างที่เข้ามาเพื่อลากจูงไม้ตามป่า รวมทั้งผู้มีเชื้อสายของเจ้าเมืองระแหงหรือเจ้าฟ้าเมืองตากที่ต่อมากลายมาเป็นตระกูลผู้อุปถัมภ์ใหญ่ของหมู่บ้านก้อทุ่งอยู่ช่วงหนึ่ง
กระทั่ง พ.ศ. 2475 ทางราชการได้ประกาศจัดตั้งหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติปกครองท้องถิ่น บ้านก้อทุ่งขึ้นอยู่กับอําเภอสามเงา จังหวัดตาก แต่เนื่องจากเป็นหมู่บ้านป่าที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากอําเภอสามเงามาก รวมทั้งการคมนาคมไม่สะดวก เมื่อต้องการติดต่อราชการกับอําเภอสามเงาจะสามารถเดินทางโดยทางน้ำจากการล่องเรือไปตามลําน้ำปิงได้เพียงทางเดียว ฉะนั้น ราวปี พ.ศ. 2506 ทางราชการจึงประกาศเปลี่ยนให้ตําบลก้อ ซึ่งประกอบด้วยหมู่บ้านก้อทุ่ง ก้อท่า ก้อหนอง ก้อจอก รวม 4 หมู่บ้าน ขึ้นตรงต่ออําเภอลี้ จังหวัดลําพูน ตั้งแต่นั้นมา
บ้านก้อทุ่งนับเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมหมู่บ้านแรกที่ก่อตั้งขึ้นและตั้งอยู่ในพื้นที่เดิมตั้งแต่แรกจนปัจจุบัน ส่วนอีก 3 หมู่บ้าน คือ บ้านก้อท่า ก้อหนอง ก้อจอก รวมเรียกว่าบ้านก้อจัดสรร ซึ่งถูกย้ายมาเนื่องจากน้ำที่เกิดจากการเก็บกักของเขื่อนภูมิพลได้ท่วมบริเวณหมู่บ้านเดิมที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทั้ง 3 หมู่บ้าน จึงย้ายมาตั้งถิ่นฐานบนที่จัดสรรที่ทางราชการจัดให้ในปี พ.ศ. 2506 พื้นที่ที่ทางราชการจัดสรรให้กับชาวบ้านนี้เป็นพื้นที่ทำไร่ทำนาของชาวบ้านก้อทุ่งเดิม จากการย้ายหมู่บ้านมาโดยทางการเป็นผู้จัดสรรให้ ทั้ง 3 หมู่บ้านจึงถูกเรียกว่าบ้านก้อจัดสรร เนื่องจากบ้านก้อทุ่งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมและตั้งอยู่ในบริเวณที่ถูกปิดล้อมไปด้วยป่า เมื่อดูจากแผนที่จะพบว่าหมู่บ้านก้อทุ่งมีลักษณะเหมือนกับแยกอยู่โดดเดี่ยว ในขณะที่ทั้ง 3 หมู่บ้านจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่เรียงรายตามริมถนนที่ตัดตรงมาจากอําเภอลี้ จากสภาพพื้นที่ที่ตั้งดังกล่าวนี้เอง เมื่อส่วนราชการมีโครงการต่าง ๆ ลงสู่ตําบล โครงการเหล่านั้นจะกระจุกตัวอยู่ที่บ้านก้อจัดสรรทั้งสิ้น ทําให้สภาพเศรษฐกิจและการสื่อสารคมนาคมของหมู่บ้านก้อทุ่งล้าหลังกว่าหมู่บ้านก้อจัดสรรทั้ง 3 หมู่บ้านเป็นอันมาก
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านก้อทุ่ง ตั้งอยู่ใจกลางเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ 155 กิโลเมตร เดินทางโดยใช้เส้นทางหมายเลข 106 ผ่านอําเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่เข้าสู่อําเภอลี้ จากอําเภอประมาณ 4 กิโลเมตรจะแยกเข้าทางไปอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ไปตามถนนสาย 1087 สายลี้-ก้อ ที่ตั้งของหมู่บ้านก้อทุ่งตั้งอยู่ในที่ราบระหว่างหุบเขา มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านก้อจัดสรรทั้ง 3 หมู่บ้าน (บ้านก้อท่า ก้อหนอง ก้อจอก)
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ห้วยแม่ปันเด็ง ห้วยแม่ก้อ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ภูเขาปันเด็ง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ห้วยฟ้าผ่า ห้วยโป่งคา ห้วยแหน
ลักษณะทางกายภาพ
บ้านก้อทุ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในที่ราบระหว่างหุบเขาขนาดเล็ก ป่าบริเวณรอบหมู่บ้านเป็นป่าผสมผลัดใบ (Mixed Decidous Forest) ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าโปร่ง มีพันธุ์ไม้สักเป็นพืชเด่นและมีพันธุ์พืชอื่น ๆ ขึ้นปะปนหลายชนิดแต่ไม่หนาแน่น ดินในป่าเป็นดินร่วนปนทรายและมีหินโผล่เป็นแห่ง ๆ นอกจากนี้ ยังมีไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ ขึ้นปะปน ดินทั่วไปทั้งตามที่ราบและแนวเชิงเขาในความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 480-800 เมตร มีหน้าดินที่ลึกกว่าป่าเต็งรัง ดินอุ้มน้ำได้มากกว่าและค่อนข้างชุ่มชื้น ส่วนบริเวณพื้นที่ราบ ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกและอยู่อาศัย เดิมเคยเป็นพื้นที่ป่าเต็งรังที่ถูกตัดฟันและถากถางแล้ว ลักษณะโครงสร้างของดินจะเป็นดินร่วนปนทรายและหิน มีดินเหนียวปนอยู่น้อยกว่า 35 % เป็นดินที่มีการชะล้างเอาแร่ธาตุบางชนิดไปสะสมอยู่ชั้นล่าง ชั้นดินตื้น จากผิวดินจะพบชั้นสัมผัสหินแข็ง ในแง่ศักยภาพของดินแล้วไม่ค่อยมีความสมบูรณ์ทําให้ยากแก่การเพาะปลูกทํากสิกรรม
สภาพภูมิอากาศ
หมู่บ้านก้อทุ่งจัดอยู่ในลักษณะภูมิอากาศแบบสะวันนาหรือมรสุม มีช่วงฝนตกและฝนแล้งแยกกันอย่างเห็นได้ชัด ฤดูฝนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และความหนาวเย็นจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะอากาศที่รับอิทธิพลจากลมมรสุมทําให้บ้านก้อทุ่งมีลักษณะของฤดูกาลแตกต่างกันดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม ในช่วงนี้จะมีอากาศร้อนจัดและแห้งแล้งเป็นเหตุให้เกิดไฟป่าอยู่เสมอ ชาวบ้านในหมู่บ้านจะมีการเตรียมการป้องกันไฟไหม้ทุกปี โดยการเตรียมไม้ไผ่หุ้มปลายด้วยผ้าชุบน้ำเก็บไว้ทุก ๆ บ้าน เพื่อป้องกันสะเก็ดไฟที่จะกระเด็นมาตกที่หลังคาบ้าน
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และจะทิ้งช่วงราวเดือนมิถุนายนจนถึงกรกฎาคม ช่วงกลางฤดูฝนจะเป็นช่วงที่ชาวบ้านเริ่มทําการเพราะปลูก เนื่องจากปัญหาการทิ้งช่วงเป็นเวลานานของฝน ต่างจากที่อื่น ๆ ที่จะเริ่มทําการเพาะปลูกตั้งแต่ต้นฤดูฝน ชาวบ้านก้อทุ่งส่วนใหญ่จึงเริ่มเพาะปลูกเมื่อเข้าสู่กลางฤดูฝนแล้ว
- ฤดูหนาว จะเริ่มต้นหนาวเย็นตั้งแต่ปลายตุลาคม-กลางเดือนมกราคม อากาศหนาวจะเริ่มอย่างฉับพลัน และอุณหภูมิจะต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว เนื่องจากลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางและเป็นที่ราบกลางหุบเขา ล้อมรอบด้วยป่าไม้ ฤดูหนาวที่หมู่บ้านก้อทุ่งจึงมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นจัดมาก
แหล่งน้ำสำคัญ
ในหมู่บ้านก้อทุ่งมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ ประกอบด้วยลําห้วยต่าง ๆ ดังนี้
- ห้วยแหน อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ใช้เป็นแนวเขตแบ่งระหว่างหมู่บ้านก้อทุ่งกับหมู่บ้านก้ออื่น ๆ ลำห้วยแห่งนี้จะมีน้ำไหลเฉพาะฤดูฝน ชาวบ้านใช้บริเวณใกล้เคียงลําห้วยในการเพาะปลูกพืช
- ห้วยโป่งคา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝน แต่บริเวณโดยรอบห้วยโป่งคาจะมีการเพาะปลูกมากกว่าบริเวณลําห้วยอื่น ๆ เพราะที่ปลายลําห้วยโป่งคาจะมีอ่างเก็บน้ำตั้งอยู่
- ห้วยแม่ก้อ อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน เป็นห้วยน้ำหลักซึ่งชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบันเริ่มเกิดปัญหาการตื้นเขินของลําห้วย และน้ำบางตอนแห้งหายไป ทั้งนี้อาจเนื่องจากความเสื่อมโทรมของสภาพป่าที่เกิดขึ้น
- ห้วยแม่ปันเด็ง อยู่ทางทิศใต้ นอกจากจะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรแล้ว ชาวบ้านยังใช้เป็นแนวกั้นเขตของหมู่บ้านกับอุทยานแห่งชาติแม่ปิงด้วย
- ห้วยปันปืน อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ในอดีตใช้เป็นแหล่งน้ำประปาภูเขา ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรเป็นหลัก ส่วนประปาภูเขานั้นได้ผลเป็นบางพื้นที่
- ห้วยคี่ อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ความสําคัญของห้วยคี่อยู่ที่การเป็นแนวเขตแบ่งระหว่างหมู่บ้านก้อทุ่งกับก้อหนอง เนื่องจากหมู่บ้านก้อหนองได้ขายที่ดินของตนให้กับนายทุนบางส่วน และบรรดานายทุนนั้นพยายามบุกรุกที่ซึ่งเป็นของชาวบ้านก้อทุ่ง ดังนั้นชาวบ้านก้อทุ่งจึงใช้แนวเขตลําน้ำห้วยคี่เป็นพรมแดนธรรมชาติเป็นเกณฑ์ในการต่อต้านการรุกล้ำพื้นที่ของนายทุน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านก้อทุ่ง ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 686 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 343 คน ประชากรหญิง 343 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 255 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นนับได้ว่าค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งคนพื้นเมืองเดิม ชาวพม่า ชาวไทยใหญ่ และชาวขมุ (กำมุ) จึงอาจกล่าวได้ว่า บ้านก้อทุ่งนับเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีการรวมตัวผสมผสานของรูปแบบสังคมและวัฒนธรรมของประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันนานนับร้อยปี
กำมุ, ไทใหญ่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทําการเพาะปลูกข้าวไร่เพื่อเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน และปลูกข้าวโพดเพียงปีละ 1 ครั้งเอาไว้ขายนําเงินมาใช้สอย หลังจากที่เลิกสัมปทานป่าทั้งหมด ชาวบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพในการทําไม้ซึ่งเคยทําเป็นอาชีพเสริมได้ คนในวัยแรงงานส่วนใหญ่จึงพากันออกจากหมู่บ้านเพื่อประกอบอาชีพอื่น ๆ แทน เช่น เป็นลูกจ้างในฟาร์มกุ้งที่จังหวัดจันทบุรี ทํางานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ทํางานบ้านในนิคมอุตสาหกรรมที่ลําพูน
ชาวบ้านก้อทุ่งจะใช้ตลาดที่ตัวอําเภอลี้ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้านราว 36 กิโลเมตร เป็นที่จับจ่ายซื้อและขายของ ในหมู่บ้านก้อทุ่งมีร้านขายสินค้าเล็ก ๆ หลายแห่ง ชาวบ้านสามารถซื้อสินค้าประเภทกับข้าวและของใช้ทั่วไปได้
นอกจากนี้ บ้านก้อทุ่งยังมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่ง แหล่งผลิตสินค้าโอท็อปประจำชุมชนอย่างผ้าฝ้ายทอมือที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชนบ้านก้อทุ่ง อีกทั้งยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้ชุมชนเป็นที่รู้จักแก่ผู้คนภายนอก ผ้าทอบ้านก้อทุ่งนอกจากจะเป็นสินค้าโอท็อปของชุมชนแล้วยังนับได้ว่าเป็นหนึ่งในสินค้าโอท็อปที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลำพูน เนื่องจากรูปแบบและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ผ้าทอที่สร้างสรรค์จาก “ผ้าฝ้ายสามสี” (เขียว ขาว น้ำตาล) ที่ได้มาจากการผสมผสานของเส้นใยฝ้ายหลากหลายสายพันธุ์โดยไม่ผ่านการย้อมสีใด ๆ มาประยุกต์ ดัดแปลง ให้เกิดเป็นสินค้าหลายชนิด เช่น เสื้อ หมวก กระเป๋า พวงกุญแจจากเศษผ้าเหลือใช้ ผ้าถุงลายแซงล้านนา ลายพิกุลกลม ลายพิกุลเหย่ง ลายคอกแก้ว โดยราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าผ้าฝ้ายทอมือของกลุ่มฯ จะมีหลายราคา เริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักหมื่นบาทต่อชิ้น
1.กัลยาณี รุ่นหนุ่ม หรือป้าติ๋ม อดีตครูเกษียณผู้มีความตั้งใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิด เมื่อเห็นผู้สูงอายุในหมู่บ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้นและไม่มีอาชีพ จึงชักชวนผู้สูงอายุมาทอผ้า จัดตั้งกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่ง (ปัจจุบันได้รับจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่ง) โดยใช้โรงเรียนร้างที่ต่อมาชุมชนได้ร่วมกันทอดผ้าป่าหาทุนซ่อมแซมปรับปรุง จนกลายเป็นพื้นที่ใช้สอยร่วมกันของชุมชนและเป็นแหล่งทอผ้าของกลุ่มฯ
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่ง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่ง ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 จากแรงบันดาลใจของกัลยาณี รุ่นหนุ่ม หรือป้าติ๋ม อดีตครูเกษียณที่ตั้งใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิด เมื่อเห็นผู้สูงอายุในหมู่บ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้นและไม่มีอาชีพ จึงมีแนวคิดชักชวนกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนมาทอผ้า แล้วก่อตั้งเป็นกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่ง เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพแก่ผู้สูงอายุ สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างรายได้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน กลุ่มฯ เริ่มต้นทอผ้าจากฝ้ายย้อมสีเคมี เริ่มแรกทำไปแบบสะเปะสะปะ และมีการทดลองไปเข้าอบรมกับหน่วยงานต่าง ๆ หลายครั้ง เอาความรู้จากหลาย ๆ แห่งมาปรับใช้เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และการบริหารจัดการกลุ่มฯ กระทั่งปัจจุบันผ้าทอจากภูมิปัญญาจากกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่งกลายเป็นสินค้าโอท็อปประจำชุมชน สมาชิกในกลุ่มมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูกฝ้ายสำหรับทอผ้า ไปจนถึงขั้นตอนการทอและจัดจำหน่าย ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีรายได้จากการจัดจำหน่ายสินค้าที่เกิดจากการลงแรงสร้างสรรค์ด้วยตนเอง
อนึ่ง นอกจากผ้าฝ้ายทอมือแล้ว ปัจจุบันกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่งกำลังส่งเสริมการทำหัตถกรรมจักสานเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเพิ่มอีกหนึ่งประเภท โดยมีการจัดโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพ เพิ่มทักษะจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่แก่ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อย มีวิทยากรกลุ่มจักสานไม้ไผ่จากจังหวัดลำปางที่มีความชำนาญมาสอนการสานชะลอม ตะกร้า กระจาด เพื่อเป็นการให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะให้กับผู้ร่วมเรียนรู้สามารถเพิ่มช่องทางในการพึ่งพาตนเอง สร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์หลังว่างจากภารกิจอาชีพหลักจากการทำไร่ และยังเป็นการรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ให้เยาวชนรุ่นต่อไป
ก้อทุ่งโฮม. (2564). สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/kohthunghome/
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร. (2565). ยกระดับ “ผ้าทอฝ้ายสามสี” ของดีบ้านก้อทุ่ง ด้วยนวัตกรรม. สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.nstda.or.th/
สุรีรัตน์ กฤษณะรังสรรค์. (2540). การจัดการป่าขององค์กรชุมชนในเขตอุทยานแห่งชาติ ศึกษากรณี: หมู่บ้านก้อทุ่ง ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน. วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.