Advance search

เมืองเรียบร้อยน่าอยู่ เรียนรู้วิถีเกษตรยั่งยืน ตามฉบับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชำปลาไหล

หมู่ที่ 12
บ้านชำปลาไหล
สองพี่น้อง
ท่าใหม่
จันทบุรี
ทต.สองพี่น้อง โทร. 0-3943-3616-7
วิไลวรรณ เดชดอนบม
5 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 ก.พ. 2024
บ้านชำปลาไหล

ชำปลาไหล มาจากคำว่า ชำ เป็นภาษาถิ่นที่ใช้เรียกแทนชื่อของลำคลองขนาดเล็ก มีสัตว์น้ำชุกชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาไหล จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “ชำปลาไหล”


ชุมชนชนบท

เมืองเรียบร้อยน่าอยู่ เรียนรู้วิถีเกษตรยั่งยืน ตามฉบับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชำปลาไหล

บ้านชำปลาไหล
หมู่ที่ 12
สองพี่น้อง
ท่าใหม่
จันทบุรี
22120
12.66967151
101.9902521
เทศบาลตำบลสองพี่น้อง

ความเป็นมาของหมู่บ้านชำปลาไหล มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตามคำบอกเล่าอาจย้อนกลับไปถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเกิดตำบลสองพี่น้อง และในขณะเดียวกันก็กำเนิดหมู่บ้านด้วย ลักษณะของหมู่บ้านในอดีต มีสภาพเป็นป่า และต่อมาพื้นที่ตำบลสองพี่น้องก็กลายเป็นพื้นที่การทำไร่ทำสวน ชำปลาไหลมีที่มาที่ไปจากคำว่า ชำ เป็นภาษาถิ่นที่ ใช้เรียกแทนชื่อของลำคลองขนาดเล็ก มีไว้สำหรับน้ำไหลผ่าน เมื่อก่อนความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมดีมาก มีสัตว์บกและสัตว์น้ำชุกชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาไหลเต็มชำไปหมด จึงเป็นที่ของชื่อหมู่บ้าน “ชำปลาไหล”

จากการบอกเล่าทำให้เห็นถึงความเป็นมาของหมู่บ้านชำปลาไหลที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตามคำบอกเล่า อาจย้อนกลับไปถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเกิดตำบลสองพี่น้อง และในขณะเดียวกันก็กำเนิดหมู่บ้านด้วย ลักษณะของหมู่บ้านในอดีต มีสภาพเป็นป่า และต่อมาพื้นที่ตำบลสองพี่น้องก็กลายเป็นพื้นที่การทำไร่ทำสวน

บ้านชำปลาไหลตั้งอยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อ หมู่ที่ 3 ตำบลสองพี่น้อง 
  • ทิศใต้ ติดต่อเขตเทศบาลอำเภอท่าใหม่ 
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ หมู่ที่ 8 ตำบลเขาบายศรี 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อหมู่ที่ 9 ตำบลสองพี่น้อง

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 12 บ้านชำปลาไหล ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 574 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 283 คน ประชากรหญิง 291 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 239 ครัวเรือน

ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ พืชทางการเกษตรที่ปลูกมากได้แก่ ทุเรียน เงาะ ลองกอง พริกไทย สละ แก้วมังกร และพืชสมุนไพร จากการที่เป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ และภายหลังการเปลี่ยนแปลงแล้วของผู้นำและชาวบ้านเกษตรกรในพื้นที่จึงได้มีการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ และใช้กลไกของเกษตรอินทรีย์เป็นการพัฒนาหลักของชุมชนเรื่อยมา ทำให้มีการทำการเกษตรที่เหมาะสม ใช้หลักการพึ่งพิงอิงกันกับธรรมชาติ ยึดแนวทางของการไม่ทำลายล้าง และใช้กระบวนการเสริมสร้างการขาดหายไปของพืชและสัตว์ในระบบนิเวศน์ จนสามารถพลิกฟื้นสภาพแวดล้อมที่เริ่มเสื่อมโทรมให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้การเกษตรได้ผลดี มีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติ ฯ และเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจน ทำให้ปัจจุบันเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของตำบลสองพี่น้อง

ชุมชนชำปลาไหล เป็นชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงและทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้น ปัจจุบันสามารถยกฐานะชุมชนขึ้นเป็นชุมชนตัวอย่างเกษตรอินทรีย์ และมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเพื่อ ต่อยอดความสำเร็จ สามารถนำมาสู่รายได้ของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับ ความยั่งยืนที่ทำให้ชุมชน ผลดีอีกอย่างหนึ่งที่ตามมา คือ รายได้ของคนในชุมชนมีความหลากหลายขึ้น มีกลุ่มองค์กรชุมชนผลิตสินค้าแปรรูป ผลผลิตดูดีมีคุณภาพ พ่อค้าแม่ค้าก็อยากได้แย่งกันมารับซื้อ ปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก็ถูกแก้ไขอย่างเด็ดขาด แถมทุกครัวเรือนยังมีเงินออมภายกลุ่มชุมชนและในธนาคาร เป็นความยั่งยืนที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลง

กลุ่ม/องค์กรในชุมชน

  • ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชำปลาไหล เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนเกิดขึ้นจากผลสำเร็จด้านการทำเกษตรอินทรีย์ ผู้ก่อตั้งคือ นายคำนึง ชนะสิทธิ์ ภายหลังจากที่ประสบผลสำเร็จด้วยการขับเคลื่อนทางเกษตรอินทรีย์ขึ้น เริ่มต้นที่ในสวนของตนเอง ต่อมามีการขยายพัฒนามาสู่เกษตรอินทรีย์ชุมชน จึงมีแนวคิดเปิดบ้านเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้สู่ผู้สนใจที่เข้ามาเยี่ยมชม จากเมื่อก่อนก็จะมีแต่ผู้นำและคนในครอบครัว แต่หลังจากนี้จะเริ่มถ่ายทอดให้กับเพื่อนเกษตรกรทั่วไปได้นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเอง จนเกิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนขึ้นในปี พ.ศ. 2551
  • กองทุนหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชน 
  • กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านชำปลาไหล 
  • วิสาหกิจชุมชนแปรรูปขนมไทย
  • คณะกรรมการพัฒนาสตรีบ้านชำปลา

ในส่วนของวัฒนธรรมและด้านศาสนาชุมชนบ้านชำปลาไหล นับถือศาสนาพุทธทุกครัวเรือน มีวิถีชีวิตดำเนินตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ทุกเช้า ไปฟังเทศน์ฟังธรรมทุกวันพระ

1.นายคำนึง ชนะสิทธิ์

เกิดปี พ.ศ. 2488 อาชีพปัจจุบัน ทำสวนผลไม้ เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำสวนผลไม้ สมุนไพร สวนผสมผสาน การทำปุ๋ยอินทรีย์ จุลินทรีย์ น้ำชีวภาพ ขยายผล

วิธีคิด/วิธีการทำงานของปราชญ์ชาวบ้าน เป็นผู้นำลงมือการปฏิบัติพึ่งตนเอง ครอบครัว ที่จะสอนครัวเรือนอื่นต่อ กล้าทำกล้าคิด เป็นผู้นำ พอสำเร็จแล้ว ขยายผลต่อชุมชนต้นแบบอย่างต่อเนื่อง แบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอื้ออาทร

สมุนไพร

บ้านชำปลาไหลได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะต้องพึ่งพิงอิงกันของธรรมชาติ ด้วยการให้ความสำคัญของการรับรู้และการสังเกตด้วยประสบการณ์ของตนเองที่มีต่อธรรมชาติ การลองผิดลองถูก เป็นสูตรสำเร็จอย่างหนึ่งสำหรับผู้นำ เพราะการได้อยู่และทำอะไรร่วมกับธรรมชาติบ่อย ๆ จะทำให้รู้ว่าจะต้องเสริมหรือลดส่วนไหนให้กัน ดังเช่นเรื่องของสมุนไพร ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่มีสมุนไพรหลากหลายชนิดประเภทพืชสมุนไพรที่ใช้ในการไล่แมลงแบ่งเป็น 5 ชนิด คือ

  1. ชนิดที่มีรสขม ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันแมลง เช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด สะเดา หญ้าใต้ใบ โทงเทง
  2. ชนิดที่มีรสฝาด ใช้ป้องกันเชื้อราและโรคพืช เช่น เปลือกแค เปลือกมังคุด เปลือกสีเสียด ใบฝรั่ง ใบทับทิม ขมิ้น
  3. ชนิดที่มีรสเปรี้ยว ใช้ไล่แมลง ประเภทแสบร้อน เช่น เปลือกส้ม มะกรูด น้ำส้มสายชู น้ำมะขาม น้ำมะนาว
  4. ชนิดที่มีรสเบื่อเมา ใช้ฆ่าหนอน เพลี้ย และแมลงอื่น ๆ เช่น หางไหล (โล่ติ๊น) ยาสูบ ขอบชะนางแดง-ขาว หนอนตายหยาก ใบน้อยหน่า สลัดได พญาไร้ใบ แสยก เม็ดมะกล่ำ
  5. ชนิดที่มีกลิ่นหอมระเหย ใช้ไล่แมลงแสบร้อน เปลี่ยนกลิ่นต้นพืช เช่น ตะไคร้หอม โหระพา กะเพรา ผักชี สาบเสือ สาบแร้งสาบกา กะทกรก ผักแพรวแดง ข่า ฯลฯ

ตัวอย่างสูตรการใช้สมุนไพรในการเกษตร

สมุนไพรป้องกันและรักษาโรครา สำหรับรักษาโรคพืชและป้องกันโรคราพืช เช่น ราสนิม ราน้ำค้าง ราดำ มีส่วนประกอบที่สำคัญ หมาก 20 กิโลกรัม เปลือกมังคุด 20 กิโลกรัม ขมิ้น 20 กิโลกรัม น้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล 20 กิโลกรัม จุลินทรีย์ พ.ด.2 5 ซองน้ำเปล่า ¾ ถัง ขนาด 150 ลิตร

ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นส่วนเติมเต็มหนึ่งที่ทำให้เกิดการยอมรับและเป็นที่เชื่อถือ ยังสามารถเป็นถ่ายทอดให้เกิดการนำไปใช้นำไปปฏิบัติ จนเกิดองค์ความรู้เรื่องของภูมิปัญญาที่มีมากในบ้านชำปลาไหล เป็นการสร้างศักยภาพด้านเกษตรอินทรีย์และเป็นกระบวนการพึ่งตนเองได้ทางความรู้ และทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นอย่างดี

ภาษาพูด : ภาษาไทย

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


หลังจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพัฒนาการไปทิศทางที่ดีขึ้นอาชีพชาวสวนเริ่มมั่นคง มีพื้นที่ทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชและสัตว์ สุขภาพปลอดภัยจากสารเคมี สารพิษในกระแสเลือดก็ลดลง และที่สำคัญชุมชนแห่งนี้มีศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพื่อฝึกอบรมให้เด็กและเยาวชน ตลอดถึงผู้ที่สนใจบริเวณโดยรอบและบุคคลภายนอกเพื่อศึกษาดูงาน และที่ขาดไม่ได้สำหรับชุมชนแห่งนี้จะมีกิจกรรมชุมชนเป็นประจำ เช่น การหมักปุ๋ยอินทรีย์จะต้องทำร่วมกันเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เห็นและได้เรียนรู้ควบคู่กันไป การประชุมกลุ่มอาชีพเพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทุกเดือน มีกองทุนสวัสดิการชุมชนชำปลาไหล กำหนดการออมเดือนละ 30 บาท มีสมาชิกจำนวน 508 คน ปัจจุบันมีเงินกองทุนทั้งหมดประมาณ 2 แสนบาทเศษ จัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกที่คลอดบุตรรายละ 1,000 บาท เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลช่วยค่ารักษาคืนละ 200 บาท ไม่เกิน 5 คืน และหากมีการเสียชีวิตเป็นสมาชิกครบ 1 ปีขึ้นไป ช่วยเหลือ 10,000 บาท มีสภาองค์กรชุมชนตำบลสองพี่น้องบทบาทของ สภาองค์กรชุมชนที่ผ่านมา คือ การเชื่อมโยงกลุ่มและองค์กรต่าง ๆ ในตำบลให้มาทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน เช่น มีการนำเรื่องการทำนาทำสวนเข้ามาพูดคุยในสภาหมู่บ้าน ทำให้หมู่บ้านอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมทำนาทำสวนเกษตรอินทรีย์วิถีพุทธเกิดความสนใจ และนำไปชี้แจงขยายผลต่อให้ชาวบ้านในหมู่ของตนได้รับทราบ ทำให้มีชาวบ้านที่สนใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติม

ปัจจุบันกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านชำปลาไหลมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีเงินทุนหมุนเวียนทั้งหมดประมาณ 800,000 บาทเศษ และได้ขยายแนวคิดออกไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบล จนถึงขณะนี้มีกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์เกิดขึ้น 12 กลุ่ม จากทั้งหมด 17 หมู่บ้าน เฉพาะในหมู่บ้านชำปลาไหลซึ่งมีทั้งหมด 127 ครอบครัว มีครัวเรือนที่ยังทำการเกษตรเคมีเหลืออยู่เพียง 3 ครอบครัวเท่านั้น ส่งผลไปในทิศทางที่ดีนั้น เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยกับชุมชนบ้านชำปลาไหลย้อนกลับไปในช่วงก่อนหน้านี้ประมาณ 10 ปี ชาวบ้านก็มีกินมีใช้และสิ่งสำคัญที่สุดที่เห็นผลอย่างชัดเจน คือ สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมดูมีชีวิตชีวา ความสมดุลทางธรรมชาติทั้งอากาศและสภาพพื้นดิน มีเสียงนกเสียงกา มีเสียงของสัตว์เล็กสัตว์น้อยอาศัยอยู่ตามต้นไม้ แม้ว่าจะส่งผลกระทบสำหรับไม้ผล บางชนิดแต่เมื่อแนวทางของการประนีประนอมของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ถูกปลูกฝังลงในจิตใจของชาวบ้านแล้ว จะเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย แมลง หนู ไส้เดือน ผึ้ง ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และทุกวันนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ ผลสำเร็จในพื้นที่ และมองเห็นประโยชน์กับเกษตรอินทรีย์ จึงขยายแนวคิดไปสู่ชาวบ้าน จนกระทั่งสู่ชุมชน เกิดเป็นองค์ความรู้ขึ้นด้านเกษตรอินทรีย์ มีหลายปัจจัยเข้ามาร่วมกันขยายแนวคิด ทั้งพระสงฆ์ ชาวบ้าน กลุ่มผู้นำในชุมชน จากผลสำเร็จของตนเอง มาเป็นผลสำเร็จของส่วนรวม คือ ชุมชน จึงนำมาสู่การแก้ไขปัญหาชุมชนและเกิดเป็นผลสำเร็จหลายประการ กล่าวคือ สิ่งแวดล้อมดี ปราศจากโรคภัยจากสารเคมี ได้รับการยอมรับจากภาครัฐและหมู่บ้านใกล้เคียง การเกิดขึ้นของศูนย์เรียนรู้ชุมชนซึ่งเกิดจากผลสำเร็จจากการทำเกษตรอินทรีย์ และผลสำเร็จดังกล่าว นำมาซึ่งรายได้ของชุมชน การมาศึกษาดูงานของกลุ่มคนภายนอก การมีตลาดรับซื้อผลไม้หลักของชุมชน จากผลสำเร็จดังกล่าว ได้นำมาซึ่งการพึ่งตนเองของชุมชนได้ทั้งด้านอาชีพ และวิถีชีวิตชุมชน จนกลายเป็นผลสำเร็จของความเป็นชุมชนที่มีการพัฒนาแบบยั่งยืนอีกด้วย


เมื่อก่อนความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมดีมาก มีสัตว์บกและสัตว์น้ำชุกชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาไหลเต็มไปหมด แต่คนที่นี่ส่วนใหญ่ไม่นิยมนำมาทำอาหารกินจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีปริมาณปลาไหลจำนวนมาก แต่หลังจากที่ชุมชนเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตด้านการผลิตโดยมุ่งเน้นไปที่รายได้ และผลของการผลิตในจำนวนมาก ๆ ก็มีการใช้สารเคมีเพื่อทำเกษตรผลไม้ และสมุนไพร จึงทำให้ระบบนิเวศที่เคยอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยทำสวน เหมือนมีป่า มีสัตว์ มีพืช มีแมลง มีสิ่งแวดล้อมคอยบำบัดให้ซึ่งกันและกัน หันมาทำลายล้างกันด้วยสารเคมี ซึ่งเกิดขึ้นมานาน และก็มีหลายต่อหลายปัจจัยสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ปัจจัยสำคัญคือ ความโลภกับหลง เมื่อปัญหาเกิดแล้วถึงจะเลิกโลภและหลง และที่มาของการเปลี่ยนแปลงชุมชนก็เกิดมาจากปัญหาชุมชนที่สุกงอมจากการใช้สารเคมีเผื่อผลิตเกษตรของชุมชน

ศูนย์กสิกรรมชำปลาไหล

ข้อมูลทั่วไป

ศูนย์กสิกรรมชำปลาไหล หรือสวนเกษตรอินทรีย์ผู้ใหญ่คำนึง ชนะสิทธิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ มีพื้นที่ 33 ไร่ โดยเป็นศูนย์รวมปราชญ์ชาวบ้าน มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป จนในปี พ.ศ. 2529 นายคำนึง ชนะสิทธิ์ ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน (ในขณะนั้น) เริ่มเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนด้านการเกษตร โดยทำสวนผลไม้ของตนเองให้เป็นสวนป่า สวนผลไม้ ที่ปลูกพืชสวน พืชสมุนไพร คล้ายป่าบนภูเขาไม่ใช้สารเคมี ซึ่งการไม่ใช้สารเคมีปีแรกก็พบการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนต้องอาศัยเวลาเห็นผลจนถึงปัจจุบัน ทำให้พื้นดินให้มีความสมบูรณ์ ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตแข็งแรง ไม่มีโรคแมลงมารบกวน ทำให้เกิดการเกษตรธรรมชาติที่ยั่งยืนตลอดไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่สามารถเป็นต้นแบบและมีเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านรวมตัวกันในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนากสิกรรมธรรมชาติแก่บุคคลทั่วไป จึงมอบให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเกษตรกรที่สนใจทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ด้วยหลักสูตรการทำกสิกรรมธรรมชาติขั้นพื้นฐานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปปฏิบัติ และขยายผลได้อย่างกว้างขวาง

กิจกรรม

  1. เรียนรู้การทำและการดูแลบำรุงรักษาสวนผลไม้ (ทุเรียน เงาะ มังคุด สละ ลองกอง มะขาม)
  2. เรียนรู้การปลูกพืชสมุนไพร (กระวาน กานพลูชะพลูหน่อแดง ว่านสาวหลง ตะไคร้หอม)
  3. ศึกษาและชมการสาธิตการอนุรักษ์พืชท้องถิ่น (หญ้างูแดง หญ้ารามพระอินทร์)
  4. เรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์
  5. เรียนรู้การดำเนินวิถีชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  6. กิจกรรมฐานการเรียนรู้ เช่น การทำไข่เค็มสมุนไพร สบู่สมุนไพรว่านสาวหลง ถั่วเคลือบสมุนไพรไมโล โลชั่นมะพร้าว น้ำยาเอนกประสงค์ ถั่วงอกคอนโด น้ำยาปรับผ้านุ่ม การเลี้ยงผึ้ง การเพาะเห็ดนางฟ้า การทำนาข้าวในยางรถยนต์ การอนุรักษ์พืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน น้ำส้มควันไม้ หมูหลุม สมุนไพรควบคุมศัตรูพืชไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การใช้เทคโนโลยีพลังงานน้ำทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้า การขยายพันธุ์พืชและอนุรักษ์ไม้ท้องถิ่น การแปรรูปผลไม้ตลอดฤดูกาล การผลิตผลไม้คุณภาพปลอดสารพิษ เป็นต้น

ณรงค์ พลีรักษ์และปริญญา นาคปฐม. (2560). การศึกษาโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ในพื้นที่ ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย. โครงการวิจัยประเภทงบประมาณเงินรายได้จากเงินอุดหนุนรัฐบาล (งบประมาณแผ่นดิน) มหาวิทยาลัยบูรพา.ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

พระณรงค์ศักดิ์ น่วมเจริญ (2558). ผู้นำกับการสร้างชุมชนเกษตรอินทรีย์ ศึกษาผ่านผู้นำชุมชน: ชุมชนบ้านชำปลาไหล ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี. วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชำปลาไหล. (2565). ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชำปลาไหล. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567. จาก https://www.facebook.com/champlalai/

ทต.สองพี่น้อง โทร. 0-3943-3616-7