Advance search

จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่าสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลา และพื้นที่สาธารณะสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน

แหลมสนอ่อน
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
เทศบาลนครสงขลา โทร. 0-7431-1015
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
28 ก.พ. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
28 ก.พ. 2024
แหลมสนอ่อน

ชื่อชุมชนเรียกตามสถานที่สำคัญของที่ตั้งชุมชนคือ "แหลมสนอ่อน" พื้นที่ชายหาดบริเวณปากน้ำที่กั้นกลางระหว่างทะเลสาบสงขลากับทะเลอ่าวไทย ที่เดิมเป็นป่าสนธรรมชาติ


จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่าสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลา และพื้นที่สาธารณะสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชน

แหลมสนอ่อน
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
90000
7.227545946577241
100.57764494769076
เทศบาลนครสงขลา

พื้นที่บริเวณแหลมสนอ่อนเป็นพื้นที่ราชพัสดุ เดิมมีชื่อเรียกว่า "อ่าวกอและ" เป็นพื้นที่หลบลมพายุ ที่ทิ้งขยะ และที่จำหน่าย (ยิ่งนักโทษ) ต่อมาเริ่มมีชาวประมงพื้นบ้านในท้องถิ่นอพยพมาตั้ง "ทับ" หรือกระท่อมอาศัยอยู่ ในปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มาตรวจราชการที่จังหวัดสงขลา เห็นว่าบริเวณพื้นที่นี้เหมาะแก่การพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จึงสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้ย้ายชุมชนประมงพื้นบ้านไปอยู่ที่บริเวณท่าสะอ้าน หัวเขาแดง และเก้าเส้ง

ในปี พ.ศ. 2511 มีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากร่องน้ำสงขลา เพื่อป้องกันตะกอนชายฝั่งทะเลไปตกในร่องน้ำเดินเรือของทะเลสาบสงขลา ส่งผลให้ตะกอนทรายที่เคลื่อนมาจากทิศใต้ตกทับถมทางด้านโครงสร้างนี้ แหลมสนอ่อนจึงเริ่มขยายพื้นที่จากการสะสมตัวของตะกอนทรายทำให้พื้นที่กว้างมากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จัดระเบียบชายหาดสมิหลาแล้วก็ให้พ่อค้าแม่ค้าที่มาอยู่แถวชายหาดมาอยู่อาศัยที่ชุมชนแหลมสนอ่อนในปัจจุบัน โดยไม่ได้ทำสัญญาให้เป็นกิจลักษณะ สมาชิกเริ่มสร้างบ้านทำร้านอาหารประกอบกิจการของตนมานับสิบปี ไฟฟ้าที่ได้เป็นไฟชั่วคราว น้ำก็เป็นน้ำบาดาลเจาะเองหรือซื้อ และต่อมาทางเทศบาลนครสงขลาจึงได้จัดตั้งเป็นชุมชนแหลมสนอ่อน เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560 มาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนแหลมสนอ่อน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นดินราชพัสดุตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ระหว่างทะเลสาบสงขลากับทะเลอ่าวไทย สภาพภูมิศาสตร์เป็นพื้นดินยื่นออกไปในทะเล มีทะเลล้อมรอบสามด้าน มีเนื้อที่ทั้งหมด 130 ไร่ เป็นพื้นที่ป่า ชายหาด แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนขนาดเล็ก และพื้นที่ของหน่วยงานราชการ โดยชุมชนแหลมสนอ่อนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ทะเลสาบสงขลา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนแหลมสนอ่อน (ติดกำแพงทหารเรือ)
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนแหลมสนอ่อน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลสาบสงขลา 

ชุมชนแหลมสนอ่อน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก มีจำนวนครัวเรือนอยู่อาศัยร่วมกันในชุมชนทั้งหมด 95 ครัวเรือน มีประชากรชาย จำนวน 96 คน ประชากรหญิง จำนวน 112 คน มีประชากรรวมทั้งหมด 208 คน

ชุมชนแหลมสนอ่อน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่ย้ายมาจากบริเวณหาดสมิหลา เดิมเป็นชุมชนร้านค้าที่ค้าขายในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสงขลา ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนแหลมสนอ่อนยังประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายเช่นเดิม นอกจากนี้ยังมีประชากรที่ประกอบอาชีพข้าราชการ และรับจ้างทั่วไป โดยชุมชนแหลมสนอ่อนมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 127,545 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 54,454 บาท/ปี

ชุมชนแหลมสนอ่อน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยนายกเทศมนตรีนครสงขลา กิจกรรมวิถีชีวิตของชุมชนจึงเกี่ยวเนื่องกับประเพณี วัฒนธรรมความเชื่อที่มีในท้องถิ่น และร่วมกิจกรรมตามปฏิทินในรอบปี ที่จัดในสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในบริเวณใกล้กับชุมชน เช่น

  • งานเดือนสิบ
  • ประเพณีตักบาตรเทโวหน้าเขาตังกวน
  • ประเพณีลากพระข้างสระบัว

1.นายทัตเทพย์ มหาสงคราม ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ

2.นายวรวิทย์ จันทโฆษ ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ

3.นายมานพ มะเลโลหิต ปราชญ์ชุมชนด้านการเกษตร

แหลมสนอ่อน

แหลมสนอ่อน อยู่บริเวณแหลมสมิหลา ร่มรื่นไปด้วยทิวสนทะเล บริเวณปลายแหลมเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มไทยอาสาป้องกันชาติในทะเลจังหวัดสงขลา ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอันเกี่ยวเนื่องกับการปกครองร่วมกับกองทัพเรือ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2530 เพื่อให้ชาวเรือได้สักการบูชาก่อนออกไปประกอบอาชีพในทะเล บริเวณแหลมสนอ่อนมีประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ประติมากรรมพญานาคนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตั้งอยู่สถานที่ต่างกัน ส่วนหัวอยู่ที่แหลมสนอ่อน ส่วนลำตัวหรือสะดือพญานาคอยู่ที่แหลมสมิหลา ส่วนหางอยู่ที่ถนนชลาทัศน์-หาดสมิหลา จากแหลมสนอ่อน สามารถชมทัศนียภาพอันสวยงามของทะเลสาบสงขลา และมองเห็นเกาะหนูได้ใกล้และชัดที่สุด รอบ ๆ บริเวณมีที่นั่งพักผ่อนยามเย็นสำหรับประชาชน

สวนสองทะเล

สวนสองทะเล ตั้งอยู่สุดปลายแหลมสนอ่อน เป็นสวนสาธารณะรูปแบบหนึ่งที่ดัดแปลงจากพื้นที่ที่เป็นป่าสนให้เป็นอุทยานที่มีความร่มรื่น สวยงาม เป็นจุดชมทิวทัศน์ได้ทั้ง 2 ทะเล คือทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย มีศูนย์กีฬาทางน้ำ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน และลานอเนกประสงค์สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ไว้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนแหลมสนอ่อน อยู่ในพื้นที่เทศบาลนครสงขลา ประสบปัญหาการใช้กรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารอยู่อาศัยในพื้นที่มากว่า 35 ปี ในฐานะคนอพยพ ในเนื้อที่ 130 ไร่ (แปลงหมายเลขทะเบียนที่ สข 553 นับเฉพาะพื้นที่ชุมชนเพียง 30 ไร่) แต่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าให้ถูกต้อง

เป็นชุมชนที่เริ่มต้นท่ามกลางปัญหาทับซ้อนกันหลายมิติ กล่าวคือ ที่ดินเป็นของธนารักษ์ ส่วนหนึ่งมอบให้เทศบาลนครสงขลาเช่าใช้ประโยชน์ ส่วนที่ชุมชนหลายครัวเรือนอาศัยอยู่นั้นยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าให้ถูกต้อง ประชาชนที่อยู่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าที่ถูกจัดระเบียบมาแต่สมัยจอมพลสฤกษ์ ต่างมาอาศัยสร้างบ้านทำร้านของตัวเอง พวกเขาเป็นคนต่างถิ่น ต่างที่ สถานที่แห่งนี้จัดว่าเป็นทำเลทอง มีผู้ต้องการใช้ประโยชน์เในเชิงพาณิชย์มากมาย และมีมิติความขัดแย้งสะสมตัวเองมายาวนาน


สภาพปัญหาพื้นฐานทั้งชุมชนที่นี่และในพื้นที่อำเภอเมืองก็คือ การเป็นชุมชนผู้สูงวัย คุณภาพชีวิตพื้นฐานทั้งด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ ความยากจน สิทธิต่าง ๆ ที่พึงได้รับแต่ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ตกหล่น เนื่องจากเป็นคนต่างถิ่น เข้ามาทำมาหากินนานนับสิบปีแต่ไร้บัตรประชาชน หรือเป็นคนต่างถิ่น ไร้ที่ดินของตัวเอง ปัญหาเหล่านี้ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่อมาตกแต่งได้ภรรยาหรือสามีกระทั่งมีเด็กอีกมากเกิดขึ้น ครอบครัวบางส่วนหย่าร้าง ภาระเป็นของปู่ย่าดูแลเด็ก หรือเป็นของมารดา บ้างก็เป็นคนพิการ ถูกทอดทิ้ง มีอีกมากที่ไปบุกรุกที่ดินการท่า การรถไฟ เอกชน ปัญหาสังคมเหล่านี้ไม่ปรากฏในระบบทางการ แต่เป็นปัญหาเชิงมนุษยธรรมที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างที่บีบคั้นให้ครอบครัวแตกสลาย อพยพจากบ้านเกิดมาทำมาหากินในดินแดนใหม่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศาลากลางจังหวัดสงขลา. (ม.ป.ป.). แหลมสนอ่อน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhla.go.th/travel/detail/109

ชาคริต โภชะเรือง. (2562)."ชุมชนแหลมสนอ่อน". มูลนิธิชุมชนสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://scf.or.th/paper/225

เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.).แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนแลมสนอ่อน เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/ 

มูลนิธิชุมชนสงขลา. (2565)."แผนที่และประวัติศาสตร์ชุมชนแหลมสนอ่อน". [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://scf.or.th/paper/866

เทศบาลนครสงขลา โทร. 0-7431-1015