Advance search

ชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนยอดดอยในอำเภอแม่วิน สถานที่ที่ยังคงอบอวลด้วยกลิ่นไอวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ ถ่ายทอดลำนำวิถีผ่านเสียงพิณเตหน่าและการขับบททา ชมนาขั้นบันไดและสวนผลไม้เมืองหนาว พืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ขุนป๋วย
แม่วิน
แม่วาง
เชียงใหม่
อบต.แม่วิน โทร. 0-5302-7777
วิไลวรรณ เดชดอนบม
20 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
21 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 ก.พ. 2024
บ้านขุนป๋วย

มีที่มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่อยู่ติดกับแม่น้ำ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ และต้นไม้นี้ในหมู่บ้านมีเพียงต้นเดียว จึงเรียกชื่อหมู่บ้าน “บ้านขุนป๋วย” ตามชื่อต้นไม้ บ้างก็ว่า เพราะสร้างหมู่บ้านอยู่ใกล้จุดกำเนิดของแม่น้ำป๋วย จึงตั้งชื่อว่า ขุนป๋วย


ชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนยอดดอยในอำเภอแม่วิน สถานที่ที่ยังคงอบอวลด้วยกลิ่นไอวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ ถ่ายทอดลำนำวิถีผ่านเสียงพิณเตหน่าและการขับบททา ชมนาขั้นบันไดและสวนผลไม้เมืองหนาว พืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ขุนป๋วย
แม่วิน
แม่วาง
เชียงใหม่
50360
18.59777332
98.60139102
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน

บ้านขุนป๋วยเป็นหมู่บ้านที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 200-300 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านขุนป๋วยเป็นชาวปกาเกอะญอ มีส่วนน้อยที่เป็นชาวพื้นราบที่ได้เข้ามาแต่งงานกับชาวปกาเกอะญอในพื้นที่แล้วย้ายมาอยู่ในชุมชน ชาวบ้านในสมัยก่อนมีที่อยู่อาศัยไม่เป็นหลักแหล่งเนื่องจากหนีโรคระบาด และส่วนใหญ่จะเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไส้ติ่ง เพราะการเดินทางมารับการรักษาพยาบาลยังไม่สะดวกสบาย จึงทําให้ผู้คนเสียชีวิตกันมาก ต่อมาเมื่อโรคระบาดลดลง ชาวปกาเกอปะญอจึงมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่งมากขึ้น

การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ปัจจุบันของชาวบ้านเกิดขึ้นในสมัยใดนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เนื่องจากชาวปกาเกอะญอเป็นชาติพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มทิเบต-พม่า เชื่อว่าบรรพบุรุษอพยพมาจากทางตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบตเข้าสู่สุวรรณภูมิหลังชนกลุ่มมอญ เขมร แต่ชาวปกาเกอะญอได้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่บริเวณที่ตั้งชุมชนนี้ก่อนกลุ่มชาวไทยพื้นราบ การตั้งชื่อชุมชนว่าบ้านขุนป๋วยสันนิษฐานว่ามาจากชื่อของลำน้ำป๋วย แต่อีกที่มาหนึ่งก็ว่ามาจากชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ต้นไม้ดังกล่าวนี้เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ บ้างก็ว่าสามารถนําไปเป็นยาได้ และบ้างก็ว่าไม่สามารถนําไปใช้อะไรได้ และต้นไม้ชนิดนี้เหลือเพียงต้นเดียวภายในหมู่บ้าน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่าขุนป๋วย

บ้านขุนป๋วยตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,100 เมตร ประกอบด้วย 5 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านห้วยหอย บ้านห้วยข้าวลีบ บ้านประตูเมือง (บ้านปิ้งกล้วย) บ้านขุนป๋วยล่าง และบ้านขุนป๋วยบน มีพื้นที่ทำกินกว้างขวาง ขอบเขตภูเขาพื้นที่ทำกินครอบคลุมแนวสันเขาทอดยาวไปติดกับดอยอินทนนท์ มีการปลูกข้าวทั้งข้าวไร่และข้าวนา นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านแห่งนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้หลายชนิด เป็นป่าต้นน้ำลำธาร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านโป่งน้อย หมู่ที่ 14 ตำบลแม่วิน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยข้าวลีบ หมู่ที่ 8 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง และบ้านห้วยหอย หมู่ที่ 19 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านขุนวาง หมู่ที่ 12 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง

เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงและมีความลาดชัน จึงทำให้บ้านขุนป๋วยมีพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรเพียง 462 ไร่ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 1,600 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ แต่สามารถเข้าไปเก็บสมุนไพรเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ ทั้งนี้ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ป่าใช้สอยสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยและทำกินประมาณ 125 ไร่ โดยป่าที่เป็นพื้นที่ใช้สอยจะไม่สามารถทำการเกษตรได้ แต่จะใช้สอยประโยชน์ด้านการตัดไม้มาสร้างบ้านเรือน ซึ่งก็ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการหมู่บ้านเสียก่อน ส่วนป่าที่เป็นพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่สร้างบ้านเรือนและใช้ประโยชน์ทางการเกษตร เช่น ทำนาข้าว ปลูกผักโครงการหลวง ปลูกดอกเยอบีรา ทว่า เนื่องจากข้อจำกัดของลักษณะภูมิประเทศและคุณภาพดิน ทำให้บ้านขุนป๋วยมีพื้นที่เพียงที่ราบแคบ ๆ ทางทิศตะวันออกของบ้านขุนป๋วยล่างและทิศเหนือของบ้านขุนป๋วยบนซึ่งเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงของห้วยแม่ป๋วยเท่านั้นที่เหมาะสมแก่การทำนา ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย และดินภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นที่นาและที่ไร่สำหรับบริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านขุนป๋วย ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 531 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 253 คน ประชากรหญิง 278 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 157 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชน คือ ชาวปกาเกอะญอ และส่วนหนึ่งคือคนพื้นราบหรือชาวพื้นเมืองเดิมที่แต่งงานกับชาวปกาเกอะญอ แล้วเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน

ปกาเกอะญอ

ชาวบ้านขุนป๋วยส่วนใหญ่มีอาชีพทําการเกษตรกรรมเป็นหลัก คือ มีการปลูกข้าวนา ข้าวไร่ ไว้บริโภคเพียงให้พอกินตลอดทั้งปี มีการทำไร่ผสมผสาน ปลูกพืชผักเมืองหนาว เช่น ผักกาดฮ่องเต้ ผักกวางตุ้ง ซูกินี คะน้า เพื่อส่งขายให้แก่โครงการหลวง นอกจากนี้ ยังมีการปลูกดอกเยอบีราและดอกลิลีตัดดอกขาย ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้เกือบตลอดทั้งปี เมื่อว่างจากงานสวน งานไร่ ชาวบ้านจะออกไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกหมู่บ้านหรือในตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น รับจ้างเก็บลําไย เฝ้าสวน ปลูกต้นหอม และงานรับจ้างที่ปางช้างแม่วิน ซึ่งไม่ได้เป็นคนงานประจํา แต่จะไปทํางานเฉพาะฤดูกาลเท่านั้น เวลาว่างแม่บ้านจะอยู่บ้านทอเสื้อ ผ้าถุง ผ้าพันคอ กระเป๋า ทั้งใช้เองในครอบครัวและนําไปขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาพักที่โฮมสเตย์ในหมู่บ้าน สานตะกร้าสําหรับใส่ฟืน บางบ้านทําแปลงผักสวนครัวไว้สําหรับบริโภคในครัวเรือน เช่น ปลูกพริก ตะไคร้ กะเพรา

การทำเกษตรกรรม

  • การปลูกข้าว มีลักษณะเป็นนาขั้นบันได ชาวบ้านจะทำนาปีละหนึ่งครั้ง คือ นาปี ในแบบนาดำ พันธุ์ข้าวที่ปลูกมีหลายสายพันธุ์ ส่วนมากจะเป็นข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวกลม (บือโปโละ) ข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิมของหมู่บ้าน ส่วนข้าวที่นิยมปลูกกันมาก คือ สายพันธุ์เบอซูคลี เพราะมีรสชาติอร่อย นุ่ม เหนียว

  • การปลูกดอกลิลี (Lily) ในระหว่างที่รอข้าวเจริญเติบโตนั้น ชาวบ้านขุนป๋วยมีอาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่ง คือ การปลูกดอกลิลีขาย การปลูกนี้จะทําการเพาะปลูกที่สวนของตนเอง เริ่มปลูกในตั้งแต่กลางเดือน สิงหาคมเป็นต้นไป ซึ่งการปลูกดอกลิลีนั้นจะมีทั้งวิธีแช่หัวในห้องเย็นและไม่ได้แช่หัวห้องเย็น ถ้าเป็นลักษณะการแช่ห้องเย็น จะนำไปแช่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะแช่ประมาณ 1-2 เดือน เหตุที่แช่ในห้องเย็นก็เพื่อต้องการให้ดอกลิลีเจริญเติบโตงอกงามได้รวดเร็วขึ้น เมื่อตัดออกมาขายจะได้ราคาดี เพราะดอกลิลีที่นำไปแช่ห้องเย็นจะออกดอกก่อนฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกลิลีในตลาดยังมีไม่มาก 

การท่องเที่ยวในชุมชน

ภายหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านจะว่างเว้นจากการทํานา ในช่วงเวลานี้มีบางรายที่จะต้องดูแลดอกลิลีในส่วนที่ยังไม่ออกดอก และในส่วนที่ออกจะนําไปขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า บ้างก็เข้าป่าไปหาของป่า และบางส่วนจะมีรายได้จากการบริการบ้านพักนักท่องเที่ยว เนื่องจากภายในหมู่บ้านได้มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาพักค้างแรมอยู่เป็นประจำในช่วงฤดูหนาว จึงได้มีการจัดพื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านเป็นที่พักรับรองนักท่องเที่ยว ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของที่พักจะมีรายได้จากการเก็บค่าบริการการเช่าที่พัก นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมหมู่บ้าน ซึ่งทําให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย เมื่อปลูกข้าว เกี่ยวข้าวเสร็จ ก็จะอยู่กับบ้านหาของป่ามาไว้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ กล้วย เห็ด หมูป่า ฯลฯ ผู้หญิงก็จะหาไม้เกี๊ยะ ไม้ฟืน มาเก็บไว้ใช้ แต่ภายหลังการเข้ามาของธุรกิจภาคการท่องเที่ยว บ้านบางหลังได้กลายเป็นที่พักของนักท่องเที่ยว นอกจากจะนำมาซึ่งรายได้ที่นอกเหนือจากการทำเกษตรกรรมแล้ว ยังนำมาซึ่งอาชีพใหม่ ๆ ตามมา ได้แก่ หัตถกรรมการทอผ้า ลูกหาบไกด์นำเที่ยว ฯลฯ

หัตถกรรมทอผ้า

แต่เดิมการทอผ้าเป็นเพียงหัตถกรรมในครัวเรือน แต่ภายหลังการเข้ามาของธุรกิจท่องเที่ยว การทอผ้าได้กลายมาเป็นอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นเพราะอิทธิพลของการท่องเที่ยว ชาวบ้านเริ่มหันมาทอผ้าเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าสำหรับจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เช่น ย่าม ผ้าพันคอ ผ้าถุง โดยจะวางขายที่หน้าบ้านพักของนักท่องเที่ยว หรือวางขายที่หน้าบ้านของตนเอง ซึ่งนอกจากผ้าที่ทอเองแล้ว ส่วนหนึ่งยังมีผ้าที่ซื้อมาจากอำเภอแม่แจ่มมาวางขายร่วมด้วย 

ศาสนาและความเชื่อ

ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านขุนป๋วยกว่าร้อยละ 85 นับถือศาสนาคริสต์ โดยแยกเป็น 2 นิกาย คือ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ส่วนอีกร้อยละ 15 นับถือศาสนาพุทธและความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่า คือ การนับถือผี ผีที่ชาวบ้านนับถือ เช่น ผีหมู่บ้าน ผีบ้านผีเรือน ผีบรรพบุรุษ ผีฝาย ผีนา ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะหันมานับถือศาสนาคริสต์ แต่ความเชื่อดั้งเดิมบางส่วนยังคงอยู่ ดังจะเห็นได้จากผู้ที่นับถือผียังคงความเชื่อในพิธีกรรม เช่น การไหว้ผีนา คือ ผีที่นาข้าวซึ่งเชื่อว่าจะคอยช่วยให้ผลผลิตของไร่นานั้นเจริญงอกงาม ในหนึ่งปี ชาวบ้านจะต้องเลี้ยงผีนาทั้งหมด 5 ครั้ง คือ ตั้งแต่เริ่มปลูกข้าว ข้าวเขียว ข้าวออกรวง เกี่ยวข้าว และหลังจากโม่ข้าว การไหว้ผีนานั้นจะมีไก่ 1 ตัว ข้าว กับข้าวที่ทํามาจากไก่หรือแกงไก่ เหล้าที่ใช้ในการประกอบพิธี และจะทําการมัดข้อมือในระหว่างที่ข้าวเจริญเติบโตช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน โดยมีการเตรียมการหนึ่งวัน และวันที่สองเป็นวันประกอบพิธีกรรม การประกอบพิธีกรรมดังกล่าวนี้เป็นการแสดงถึงความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ โดยมีความเชื่อว่า ทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ อีกประการหนึ่ง คือ พิธีกรรมเหล่านี้เปรียบเสมือนกำลังใจให้คนมีความหวัง เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านสามารถอยู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยความเคารพ ไม่ตักตวงผลประโยชน์ หากจะมองอย่างลึกซึ้งเป็นการควบคุมทางสังคมอย่างหนึ่งในการที่จะอยู่กับธรรมชาติ เหมือนเป็นกฎที่จะต้องเคารพ ไม่ทําลาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง พิธีกรรมเหล่านี้เปรียบเป็นกฎหมายที่เป็นนามธรรมที่คอยควบคุมพฤติกรรมของคนในชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องต่าง ๆ เช่น หากเมื่อตําน้ำพริกแล้วสากคาอยู่กับครก จะทําให้ผู้ชายที่ออกไปหาของป่าไม่ได้อะไรกลับมา การผ่าฟักต่าง ๆ จะผ่าตามยาวของลูกฟักนั้น ๆ หากผ่าขวางเชื่อว่าจะทําให้หญิงสาวที่ท้องนั้นคลอดบุตรยาก การกินเป็ด พี่น้องบ้านเดียวกันจะไม่กินด้วยกัน เพราะถือว่าจะทําให้ทะเลาะกัน แต่สามารถไปกินบ้านอื่นได้ แต่ต้องมีสากตําน้ำพริกไว้ข้าง ๆ ด้วย การเจองูดิน หากหญิงสาวคนใดได้เจองูดินมีความเชื่อว่า งูดินเปรียบเป็นเงาของผู้ชายที่ปรากฏตัวให้เห็น ความหมายคือ หญิงสาวจะได้เจอเนื้อคู่

ประเพณีสำคัญ

1) ประเพณีมัดมือ หรือประเพณีปีใหม่ มักจะจัดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี

2) ประเพณีกินข้าวใหม่ (ข้าวเม่า) จัดขึ้นภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนสิงหาคม

3) ประเพณีแต่งงาน นิยมแต่งงานในเดือนพฤษภาคม มีพิธีกรรม 2 แบบ คือ พิธีกรรมแบบผู้ที่นับถือผี และแบบผู้นับถือคริสต์

การสร้างบ้านเรือน

ลักษณะบ้านเรือนของชาวบ้านขุนป๋วยในปัจจุบันส่วนใหญ่มีการประยุกต์ผสมผสานระหว่างบ้านปกาเกอะญอแบบดั้งเดิมกับบ้านในพื้นที่ราบด้านล่าง มีการปรับเปลี่ยนจากวัสดุธรรมชาติมาใช้วัสดุที่คงทนถาวรมากขึ้น เช่น เปลี่ยนหลังคาบ้านจากที่เคยมุงด้วยจากหรือตองตึงตากแห้งเย็บติดกันมาใช้เป็นหลังคากระเบื้อง ฝาบ้านและพื้นบ้านที่นิยมทําด้วยฟากไม้ไผ่กระบอกใหญ่มาตีเป็นแผ่นแบน ๆ มาใช้เป็นแผ่นไม้กระดาน เพื่อความแข็งแรงทนทานและกันฝนกันลมกันแดดได้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการนําวัสดุที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้น แต่รูปแบบการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านยังคงเอกลักษณ์ความเป็นบ้านปกาเกอะญอให้เห็น คือ การสร้างบ้านโดยตัวบ้านเป็นแบบยกใต้ถุนสูง บริเวณใต้ถุนบ้านจะถูกแบ่งเป็นที่ใช้สําหรับเก็บฟืนและเป็นที่นั่งเล่นทํากิจวัตร เช่น ตําข้าว ผ่าฟืน เลื่อยไม้ ในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนจะต้อนหมู ไก่ วัว ควายเข้าล้อมไว้ที่ใต้ถุนบ้าน การสร้างบ้านเรือนยังคงมีธรรมเนียมที่เชื่อถือกันอยู่ว่าญาติข้างมารดาจะอยู่รวมกลุ่มกัน ไม่ควรมีคนอื่นมาสร้างบ้านแทรกกลางบ้าน จะทําให้ขัดใจผีบ้านผีเรือน ต้องไม่สร้างบ้านสามหลังในลักษณะสามเส้า หากฝ่าฝืนข้อห้ามนี้ก็จะมีเหตุเภทภัยอัปมงคลเกิดขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านขุนป๋วยมีศิลปวรรณกรรมที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนเผ่าซึ่งมี คุณค่าและมีความสําคัญต่อวิถีชีวิต ในที่นี้กล่าวถึง “บททา” ของชาวปกาเกอะญอ

บททา คือ บทกลอน เพลง ฯลฯ ที่แฝงด้วยข้อคิด สุภาษิต คําสั่งสอนของบรรพบุรุษ โดยจะใช้วิธีจดจํา บันทึก และถ่ายทอดวิถีชีวิตสู่ลูกหลานผ่านการขับลํานําบททาประกอบการบรรเลงพิณเตหน่าเป็นเครื่องประกอบจังหวะ สมัยก่อนทุกช่วงฤดูหนาว ชาวบ้านจะล้อมวงกันผิงไฟ จิบน้ำชา เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย และเล่นพิณเตหน่าขับร้องบททา เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินไปด้วย แต่ปัจจุบันการเล่นพิณเตหน่าและร้องบททาของชาวบ้านเริ่มเสื่อมถอยลดน้อยลงไป ส่วนหนึ่งได้ถูกแทนที่ด้วยบทเพลงร้องสรรเสริญพระเจ้าในโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ พร้อมกับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ที่ใช้ประกอบพิธีในที่นี้ คือ กีตาร์

บ้านขุนป๋วยเป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ซึ่งมีภาษาพูดเป็นของตนเอง และมีภาษาเขียนที่เรียกว่า “ลิวา” แต่ไม่ค่อยนิยมใช้กัน ส่วนมากจะใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในปัจจุบันจะเขียนและอ่านภาษาไทยตามหลักสูตรที่โรงเรียนจัดให้ จึงทําให้เด็กและเยาวชนในชุมชนปัจจุบันสามารถเขียนและอ่านภาษาของตนเองไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีการเรียนการสอน และไม่ค่อยได้ใช้มากนัก


การคมนาคม

การคมนาคมทั้งในชุมชนและติดต่อสัญจรออกนอกชุมชนโดยปกติจะเป็นการเดินทางทางบก ในสมัยก่อนนั้นจะเป็นการใช้ทางเดินเท้า เนื่องจากชุมชนอยู่บนที่สูงและห่างไกล ต่อมาเมื่อชาวบ้านเริ่มมีการติดต่อกับหน่วยงานราชการ จึงจําเป็นที่จะต้องมีสิ่งอํานวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ชาวบ้านจึงได้เริ่มช่วยกันทำถนนสําหรับรถจักรยานยนต์ในเบื้องต้น เพราะรถจักรยานยนต์มีความคล่องตัว ไปมาสะดวก รวดเร็วประกอบกับมีเส้นทางที่เป็นดินขรุขระถนนลูกรังบ้างเป็นบางช่วง อีกทั้งในขณะนั้นยังไม่มีรถโดยสารประจำทางเข้ามาถึงถนนบ้านกาด-แม่แฮ การเดินทางเข้ามาหมู่บ้านขุนป๋วยต้องโบกขอโดยสารรถดอย หรือรถของนักท่องเที่ยวขึ้นมา จากนั้นจะต้องดักรอรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เพื่อที่จะขึ้นมาที่หมู่บ้าน ต่อมาองค์การบริหารส่วนตําบลแม่วิน ให้งบการสนับสนุนการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่เป็นช่วง ๆ เส้นทางการติดต่อในปัจจุบันจึงดีขึ้น

ไฟฟ้า

บ้านขุนป๋วยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่จะอาศัยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือไฟโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ผ่านโครงการพัฒนาชนบทในปีงบประมาณ พ.ศ. 2540 แต่ยังได้รับแผงโซลาร์เซลล์ไม่ครบทุกหลังคาเรือน แต่อย่างไรก็ตาม บ้านที่ได้รับแผงโซลาร์เซลล์แล้วก็ยังคงมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างจำกัด เพราะแบตเตอรี่ในการบรรจุไฟน้อยและเสื่อมสภาพ ไม่ได้รับการซ่อมบำรุง บางวันท้องฟ้ามืดครึ้ม พลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอต่อการใช้งานยามค่ำคืน ทั้งหมู่บ้านจะมืดมิดเพราะพลังงานที่สะสมไว้อยู่ในระดับต่ำ จึงให้แสงสว่างเพียงสลัว ๆ ในบ้านเท่านั้น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กัณต์ วงษ์ศิลป์. (2555). เยอบีร่าไม่ตัดดอก - พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของชาวบ้านขุนป๋วย หมู่ที่ 3 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ระพีพร เกตุแก้ว. (2546). การทอผ้าของชาวเขาเผ่าปกาเกอญอ กรณีศึกษา บ้านขุนป๋วย หมู่ที่ 3 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิมุตติธรรม. (2562). กฐินวัดขุนป๋วย ตุลาคม 2562. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.vimuttidhamma.net/

สมเกียรติ เบญจศาสตร์. (2535). การแพร่กระจายและการยอมรับผงน้ำตาลเกลือแร่ของมารดาชาวกะเหรี่ยงในการรักษาโรคอุจจาระร่วงสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี: กรณีศึกษาบ้านขุนป๋วย ตำบลแม่วิน กิ่งอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน. (2562). หมู่ที่ 3 บ้านขุนป๋วย. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.maewin.net/

อบต.แม่วิน โทร. 0-5302-7777