ดงอินตาบ้านสวย เมืองงาม นามตำบลบ้านเหล่า
ในอดีตได้ตั้งชื่อหมู่บ้านเรียกว่า “บ้านดง” และกลายเป็น “บ้านดงอินตา” ในปัจจุบัน (โดยนำเอาชื่อพ่ออินตาต่อท้ายเป็นการให้เกียรติผู้ที่มาอยู่เป็นคนแรก)
ผู้เฒ่าเล่าขาน โบราณนานมา บ้านดงอินตา มาจากลำปาง
ผู้ดีหาญกล้า ได้พานำทาง ช่วยกันถากถาง สร้างบ้านปลูกเรือน
ที่สันคอกม้า หาสุขใดเหมือน นานนับปี เดือน จำเคลื่อนย้ายไป
เพราะเหตุถิ่นนี้ ไม่มีน้ำใช้ จำเป็นต้องไป หาแหล่งสมบูรณ์
มาพบที่ใหม่ ดงใหญ่เกื้อกูล ความสุขเพิ่มพูน ทุกข์สูญหายพลัน
อยู่อย่างพี่น้องปรองดองแบ่งปัน เลี้ยงวัวควายกัน ทำไร่ไถนา
อยู่มาไม่นานผู้เฒ่าหาญกล้า คือลุงอินตาที่พาทำกิน
เกิดล้มเจ็บลงปลงทั้งชีวิน เรานั้นสูญสิ้นผู้นำถิ่นตน
ธรรมดาชีวีย่อมหนีไม่พ้น เพื่อเกียรติบุคคลตั้งชื่อตามมา
หมู่บ้านแห่งนี้จึงมีชื่อว่า บ้านดงอินตามีค่าควรจำ
ลูกหลานเทิดไว้ ใฝ่ใจเน้นย้ำ เรื่องราวทุกคำจงจำใส่ใจ
ดงอินตาบ้านสวย เมืองงาม นามตำบลบ้านเหล่า
บ้านดงอินตาใต้ หมู่ที่ 9 แยกออกมาจากบ้านดงอินตา หมู่ที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2527 ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2470 โดยการนำของ พ่ออินตา อุตตะมะ การอพยพครั้งแรกได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสันคอกม้า (ปัจจุบันเป็นฌาปนสถาน) มีจำนวน 30 ครัวเรือน ต่อมามีผู้อพยพตามมาเรื่อย ๆ มีประชากรมากขึ้น และประชาการส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พ่ออินตาได้นำกระบือไปเลี้ยงในป่าดง นานวันเข้ามีชาวบ้านนำกระบือมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับพื้นที่บ้านสันคอกม้าน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภคกลายเป็นน้ำสีเหลือง (น้ำมีสนิม) ใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้ พ่ออินตาจึงพาครอบครัวย้ายถิ่นฐานมาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านดงเป็นครอบครัวแรก ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า เมื่อปี พ.ศ. 2465 และมีชาวบ้านอพยพตามมาทีหลัง มีผู้คนเยอะขึ้น จึงตั้งเป็นหมู่บ้านเรียกว่า “บ้านดง” และกลายเป็น “บ้านดงอินตา” ในปัจจุบัน (นำเอาชื่อพ่ออินตาต่อท้ายเป็นการให้เกียรติผู้ที่มาอยู่เป็นคนแรก) ต่อมาพ่ออินตาได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะวัดร้าง (วัดห่าง) ขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คือ วัดดงอินตา ในปัจจุบัน และจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัดเพื่อให้ลูกหลานมีโอกาสได้เรียนหนังสือ วัดดงอินตาเป็นวัดโดยสมบูรณ์ และมีเจ้าอาวาสปกครองดูแลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา พ่ออินตาได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างบ้านเรือน และพัฒนาบ้านดงอินตาจนรุ่งเรืองมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต พ่ออินตาได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา ในปี พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 85 ปี
พ.ศ. 2470 ชาวบ้านกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน จากที่ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านได้เล่าให้ฟังว่าอพยพมาจากบ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง โดยการนำของพ่ออินตา อุตตะมะ การอพยพครั้งแรกตั้งบ้านเรือนที่บ้านสันคอกม้า (ปัจจุบันเป็นฌาปนสถาน) จำนวน 30 ครัวเรือน ภายหลังที่อาศัยถิ่นฐานนี้ได้ไม่นาน บ่อน้ำตื้นที่ขุดใช้ น้ำมีสภาพเป็นสีสนิม ไม่สามารถนำน้ำมาอุปโภคบริโภคได้ จึงชักชวนกันย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ใหม่ไม่ไกลกัน ที่บ้านดงอินตา ณ ปัจจุบัน ต่อมาได้มีประชาชนอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ และประชากรส่วนใหญ่ในขณะนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม
พ.ศ. 2474 มีการขุดเจอพระพุทธรูปจึงได้สร้างวัดดงอินตาขึ้น โดยมีวิหาร 1 หลังเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
พ.ศ. 2475 มีหมอพื้นเมือง หมอตำแย คือ พ่อหนานน้อย อุตตะมะ ได้ทำคลอดให้กับคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง
พ.ศ. 2480 มีการตั้งโรงเรียนขึ้น โดยให้ชื่อว่าโรงเรียนบ้านดงอินตา
พ.ศ. 2488 มีการระบาดของโรคไข้ทรพิษในหมู่บ้าน ชาวบ้านรักาตัวเองด้วยการใช้ยาต้ม ยาสมุนไพรพื้นบ้าน จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สงบลง ตำบลแม่ใจ ได้ขึ้นอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2512 มีรถจักรยานยนต์คันแรก ของพ่อหนานศรี ไม่ทราบนามสกุล ชาวบ้านได้รู้จักรถจัรยานยนต์เป็นครั้งแรก
พ.ศ. 2521 ก่อตั้งสถานีอนามัยบ้านดงอินตา
พ.ศ. 2525 เริ่มมีไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน
พ.ศ. 2526 เริ่มมีถนนลาดยางในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2527 มีการแยกหมู่บ้านดงอินตาใต้ หมู่ 9 จากบ้านดงอินตา หมู่ 6 และมีผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อนายเสกสรรค์ ปิกจุมปู (2527-2531) และมี อสม.คนแรก คือ พ่อหนานไล มุมวงค์ และเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นเมือง
พ.ศ. 2528 มีโทรทัศน์เครื่องแรกของหมู่บ้านโดยใช้แบตเตอรี่ที่บ้านพ่อน้อยคำ และมีส้วมซึมที่เทหล่อเบ้าจากคอนกรีตใช้เป็นบ้านแรกครั้งแรก
พ.ศ. 2530 มีการตั้งโรงสีข้าวในหมู่บ้านเป็นแห่งแรก และจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านใหญ่และกลุ่มแม่บ้านเล็ก
พ.ศ. 2531 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ชื่อนายอินจันทร์ ทาฟุ่น (2531-2544)
พ.ศ. 2536 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านดงบุนนาค อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาโดยเฮลิคอปเตอร์ และได้ทรงเห็นว่าบ้านดงอินตาอยู่ห่างไกลสถานีรักษาจึงได้ทรงจัดตั้งสถานีรักษาแพทย์อาสาทางอากาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พย 1 (หน่วยแพทย์ พอ.สว.) ขึ้น ปัจจุบันโรงเรียนบ้านดงอินตาได้เก็บรักษาลูกเปตองที่สมเด็จย่าไว้ที่โรงเรียน และต้นมะม่วงที่สมเด็จย่าทรงปลุก 2 ต้น เหลือเพียงต้นเดียว
พ.ศ. 2540 จัดตั้งกลุ่มฉางข้าวและกลุ่มผู้สูงอายุ
พ.ศ. 2544 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 ชื่อนายสว่าง จันทร์เป็ง (2544-2547) และจัดตั้งกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
พ.ศ. 2547 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ชื่อนายถนอม ศรีใจ (2547-2553)
พ.ศ. 2548 ได้รับรางวัล “หมู่บ้านน่าอยู่เชิดชูคุณธรรม”
พ.ศ. 2553 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 ชื่อ นายสว่าง จันทร์เป็ง (2553-2558)
พ.ศ. 2557 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง “โครงการบ้านสวยงาม นามตำบลบ้านเหล่า”
พ.ศ. 2558 มีประปาหนองเล็งทรายที่วัดดงอินตา และมีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 ชื่อ นายชัยวัฒน์ ณัติพัฒนวัฒน์ (2558-ม.ค. 2564)
พ.ศ. 2559 มีอาสาพัฒนาชุมชน และจัดตั้งกลุ่มอาชีพถักผ้าโครเช และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับตำบลโครงการ “บ้านสวย เมืองงาม”
พ.ศ. 2561 ได้รับรางวัลชนะเลิศ “โครงการบ้านสวย เมืองงาม นามตำบลบ้านเหล่า” และได้รับรางวัลชมเชย “โครงการต้นกล้าความดี”
พ.ศ. 2562 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง “โครงการหมู่บ้านสะอาด”
พ.ศ. 2564 มีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7 ชื่อ นางปาณิสรา ท่อนคำ (ก.พ. 2564-ปัจจุบัน) มีคณะกรรมการหมู่บ้าน และหัวหน้าคุ้ม และได้รับรางวัลชมเชย “องค์กรดีเด่นระดับจังหวัด (กลุ่มออมทรัพย์)”
ลักษณะที่ตั้งบ้านดงอินตาใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา อยู่ห่างจากตัวเมืองพะเยา ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอแม่ใจประมาณ 9 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 193 ครัวเรือน อยู่ในเขตการให้บริการด้านสุขภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านดงอินตา โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,400 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยประมาณ 200 ไร่ และพื้นที่การเกษตร ประมาณ 1,200 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านดงอินตา หมู่ 6 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านไร่อ้อย หมู่ 1 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองบัว หมู่ 2 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หนองเล็งทราย
ลักษณะภูมิประเทศ สภาพภูมิประเทศส่วนโดยทั่วไปของบ้านดงอินตาใต้ หมู่ที่ 9 สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีแหล่งน้ำไหลผ่านคือ น้ำห้วยเคียน เป็นจุดศูนย์กลางตั้งอยู่ส่วนกลางของหมู่บ้านดงอินตา ลักษณะดินเป็นดินเหนียวและดินร่วนปนทราย มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ คือ หนองเล็งทราย และมีอ่างเก็บน้ำแม่ปืมที่สามารถใช้ในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
ลักษณะภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์
จำนวนประชากรของบ้านดงอินตาใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จำนวน 193 หลังคาเรือน อาศัยอยู่จริง 153 หลังคาเรือน ว่ามีประชากรทั้งหมด 461 คน เพศชายจำนวน 231 คน คิดเป็น ร้อยละ 50.12 เพศหญิงจำนวน 230 คน คิดเป็นร้อยละ 49.88 พบว่าประชากรส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 55-59 ปี จำนวน 53 คน คิดเป็นร้อยละ 11.50 รองลงมาเป็นอายุ 50 – 54 ปี จำนวน 36 คน คิดเป็นร้อยละ7.81 และ พบประชากรน้อยที่สุดในช่วง 80-84 ปี คน คิดเป็นร้อยละ 0.65 ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยกลางคน จำนวน 158 คน คิดเป็นร้อยละ 34.3 รองลงมาคือ วัยผู้สูงอายุ จำนวน 132 คน คิดเป็น ร้อยละ28.60
บ้านดงอินตาใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีองค์กรบริหารจัดการดูแลในหมู่บ้าน โดยมีนางปาณิสรา ท่อนคำ เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในหมู่บ้าน และคนในชุมชนให้การยอมรับนับถือและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี การบริหารจัดการได้แบ่งคุ้มบ้านออกเป็น 7 คุ้มบ้าน และหัวหน้าคุ้มจะเป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง ภายในหมู่บ้านมีการการจัดตั้งกลุ่มของทั้งเป็นทางการและกลุ่มอย่างเป็นทางการ ดังนี้
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน | มีจำนวน 3 คน |
คณะกรรมการหมู่บ้าน | มีจำนวน 13 คน |
อาสาสมัครรักษาความปลอดภัย | มีจำนวน 7 คน |
อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) | มีจำนวน 4 คน |
อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) | มีจำนวน 21 คน |
อาสาสมัครเกษตร | มีจำนวน 1 คน |
กลุ่มแม่บ้าน ( กลุ่มบริหาร ) | มีจำนวน 5 คน |
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต | |
กองทุนหมู่บ้าน | |
กลุ่มฉางข้าวกลุ่มอยู่ดีมีสุข | |
กลุ่มสตรี |
ปฏิทินเศรษฐกิจชุมชน ในรอบ 1 ปี ของชาวบ้านดงอินตาใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีกิจกรรมทั้ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน มีดังนี้
- เดือนมกราคม : กรีดยางพารา ปลูกถั่วลิสง เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ มีอาชีพเสริม คือ รับจ้างทั่วไป ชาวบ้านจะออกไปรับจ้างระหว่างการรอเก็บเกี่ยวผลผลิต
- เดือนกุมภาพันธ์ : กรีดยางพารา ปลูกถั่วลิสง เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ และเริ่มปลูกผัก จนถึงเดือนพฤศจิกายน
- เดือนมีนาคม : ปลูกผัก กรีดยางพารา ปลูกถั่วลิสง เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ เริ่มปลูกมันสำปะหลัง
- เดือนเมษายน : ปลูกผัก กรีดยางพารา ปลูกถั่วลิสง เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกมันสำปะหลัง
- เดือนพฤษภาคม : ปลูกผัก กรีดยางพารา ปลูกถั่วลิสง เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกมันสำปะหลัง
- เดือนมิถุนายน : เริ่มหว่านไถกล้าและเริ่มปลูกข้าวนาปี และเริ่มลงนาเนื่องจากเป็นฤดูฝน และมีการปลูกข้าวนาปี
- เดือนกรกฎาคม : ลงนา ปลูกข้าวนาปี เริ่มเก็บลำไย
- เดือนสิงหาคม : ใส่ปุ๋ย พ่นยา ในนาข้าว
- เดือนกันยายน : ใส่ปุ๋ย พ่นยา ในนาข้าว กรีดยางพารา ปลูกถั่วลิสง เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกมันสำปะหลัง
- เดือนตุลาคม : กรีดยางพารา ปลูกถั่วลิสง เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกมันสำปะหลัง
- เดือนพฤศจิกายน : เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร คือ การเก็บข้าวนาปี
- เดือนธันวาคม : เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ข้าวนาปี เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ก็จะกลับไปรับจ้างต่อไป
ประเพณีและวัฒนธรรม ในรอบ 1 ปี ของชาวบ้านดงอินตาใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีกิจกรรมทั้ง ด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เทศกาลประจำปี ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน มีดังนี้
- เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม) : ทำบุญวันออกพรรษา ตักบาตรเทโว ตานขันข้าวให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับและทอดกฐิน ที่วัดบ้านดงอินตา
- เดือนยี่ (พฤศจิกายน) : วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 งานประเพณียี่เป็ง ตอนเช้าทำบุญตักบาตร ช่วงตอนเย็นมีประเพณีลอยกระทง ปล่อยโคมลอย และตานหลัวพระเจ้าที่วัดดงอินตา
- เดือนสาม (ธันวาคม) : ทำบุญตักบาตรวันพ่อแห่งชาติ และเทศกาลส่งท้ายปีเก่า สวดมนต์ข้ามปี
- เดือนสี่ (มกราคม) : ช่วงขึ้นปีใหม่ไทย มีการลงแขกเก็บเกี่ยวข้าว
- เดือนห้า (กุมภาพันธ์) : ทำบุญข้าวใหม่
- เดือนหก (มีนาคม) : ประเพณีบวชพระ เลี้ยงผีปู่ย่า
- เดือนเจ็ด (เมษายน) : ประเพณีสงกรานต์ (ปีใหม่เมือง) ถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ชาวบ้านจะเริ่มหยุดงาน ช่วงวันที่ 13-17 เมษายน สรงน้ำพระธาตุ ขนทรายเข้าวัด ทำบุญตักบาตร ตานไม้ก้ำ ตานตุง ที่รดน้ำดำหัวเจ้าอาวาส ญาติผู้ใหญ่หรือบุคคลที่นับถือในชุมชน
- เดือนแปด (พฤษภาคม) : ทำบุญตักบาตรวันวิสาขบูชา ที่วัดดงอินตา
- เดือนเก้า (มิถุนายน) : เลี้ยงศาลเจ้าบ้าน (เจ้าพ่อต๋นซ้อย) ที่เป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้าน เลี้ยงผีปู่ย่า
- เดือนสิบ (กรกฎาคม) : วันเข้าพรรษา ทำบุญ แห่เทียน ถวายเทียนพรรษา
- เดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม) : ชาวบ้านร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันแม่แห่งชาติ
- เดือนสิบสอง (กันยายน) : ประเพณี 12 เป็ง ชาวบ้านจะมาทำบุญตักบาตร ตานของไปให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป หรือกรรมนายเวร
1. นายปุ๊ด วันเที่ยง อายุ 77 ปี
นายปุ๊ด วันเที่ยง มีความสนใจการจักสานของใช้ด้วยเรียวมะพร้าว ได้ศึกษาจากผู้รู้จากการสังเกตคิดค้นและลองทําเอง ด้วยความวิริยะอุตสาหะและความพยายามจนทําให้ปัจจุบันกลายเป็นผู้ที่มีความชํานาญด้านงานประดิษฐ์ของใช้จากเรียวมะพร้าว สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว
ภูมิลําเนา : บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 9 ตําบลบ้านเหล่า อําเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา 56130
การศึกษา : -
2. นางมา ใจมา อายุ 66 ปี
นางมา ใจมา มีความสนใจการจักสานของใช้ด้วยเรียวมะพร้าว ได้ศึกษาจากผู้รู้จากการสังเกตคิดค้นและลองทําเอง ด้วยความวิริยะอุตสาหะและความพยายามจนทําให้ปัจจุบันกลายเป็ นผู้ที่มีความชํานาญด้านงานประดิษฐ์ของใช้จากเรียวมะพร้าว สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว
ภูมิลําเนา : บ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 9 ตําบลบ้านเหล่า อําเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา 56130
การศึกษา : มัธยมศึกษาตอนต้น
แหล่งประโยชน์ในชุมชนประกอบด้วย
- โรงน้ำดื่มหมู่บ้าน : ประชาชนส่วนใหญ่จะซื้อน้ำดื่มเพื่อการบริโภค ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภคจะมาจากระบบประปาหมู่บ้าน บางครัวเรือนจะใช้น้ำบ่อในการอุปโภค
- ร้านค้า : (ร้านขายของชำ) ในหมู่บ้านมีจำนวน 2 แห่ง
- ปั๊มน้ำมัน (ปั๊มหลอด) : ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ อย่างละ1แห่ง
- ตลาดสด (ตลาดเช้า) : ประจำหมู่บ้าน (ใช้ร่วมกันทั้งหมด 3 หมู่ คือ หมู่ที่ 6, 9 และ 11)
- วัดบ้านดงอินตา : (ใช้ร่วมกันทั้งหมด 3 หมู่ คือ หมู่ที่ 6, 9 และ 11)
- โรงเรียนบ้านดงอินตา
ใช้ภาษาท้องถิ่นล้านนา (คำเมือง)
สภาพทางเศรษฐกิจ : อาชีพหลักของประชาชนคือการทำเกษตรกรรม (ทำนา)
อาชีพเสริม : ปลูกแตงโม ปลูกถั่วลิสง กรีดยางพารา ทำสวนลำไย รับจ้างทั่วไป และค้าขาย
รายได้ของประชาชน : ส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกถั่วลิสง ปลูกลำไย กรีดยางพารา รับจ้างทั่วไป ค้าขาย เช่น ผัก ไข่ไก่ จากเบี้ยยังชีพ และเงินจากลูกหลาน
รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าอุปโภคบริโภค ค่าหวย ค่าปุ๋ย ค่าบุหรี่-สุรา ค่าสารเคมีทางการเกษตร รายจ่ายที่เป็นภาระของประชาชนคือการจ่ายค่าฌาปณกิจสงเคราะห์ ที่บางครอบครัวเข้าสมาชิกของหมู่บ้าน บางครอบครัวเข้าสมาชิกของตำบล ซึ่งค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น และเป็นผู้สูงอายุที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น
หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากกองทุนเงินล้าน ธกส.
แหล่งเงินทุน : กองทุนเงินล้านในหมู่บ้าน, กลุ่มออมทรัพย์ ธกส.
ในชุมชนบ้านดงอินตาใต้ มีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น วัดบ้านดงอินตา ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หนองเล็งทราย หนองเล็งทราย เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ในอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เนื้อที่ประมาณ 5,500 ไร่ ครอบคลุมหลายตำบล ได้แก่ ตำบลป่าแฝก ตำบลศรีถ้อย ตำบลแม่ใจ และตำบลบ้านเหล่า ที่ไหลลงมาสมทบกับกว๊านพะเยา ถือได้ว่าเป็นหนองน้ำที่เป็นต้นน้ำของกว๊านพะเยา ซึ่งไหลลงสู่น้ำอิงและผ่านหลายอำเภอของจังหวัดพะเยา-จังหวัดเชียงราย จนไปสิ้นสุดที่แม่น้ำโขง ยังมีประโยชน์แก่ชาวบ้านให้ได้ใช้น้ำในการเพาะปลูกทำ ประมงและเลี้ยงสัตว์ และใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่หนองเล็งทรายเป็นที่หลบอาศัยของพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำในช่วงฤดูแล้ง และเป็นแหล่งแพร่พันธุ์สัตว์น้ำสำหรับประชากรสัตว์น้ำในที่ราบลุ่มรอบบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ และต่อเนื่องถึงกว๊านพะเยา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง หนองเล็งทรายจึงมีความสำคัญต่อประชากรสัตว์น้ำในพื้นที่ราบลุ่มและในลุ่มน้ำอิง เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร ใช้เลี้ยงสัตว์ ทำการประมง ปลูกพืช และนำน้ำมาใช้เป็นน้ำประปา เป็นหนองน้ำที่มีตำนานและประวัติศาสตร์ที่บอกถึงอารยธรรมเก่าแก่
พื้นที่หนองเล็งทรายยังไม่มีหนังสือสำคัญที่หลวงแสดงขอบเขตของแหล่งน้ำ แต่มีการขุดคูกั้นพื้นที่หนองน้ำในเนื้อที่8.64 ตารางกิโลเมตร (5,400 ไร่) ในขณะพื้นที่บางส่วนได้มีการออกเอกสารสิทธิ์ประเภทโฉนด ปัจจุบันการประปาอำเภอแม่ใจทำหน้าที่ดูแลจัดการหนองน้ำ บริเวณที่เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับทำน้ำประปา โดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำบริเวณในหนองน้ำและขุดคูสร้างคันดินรอบหนองเล็งทราย และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับจังหวัด คณะกรรมการที่ปรึกษาระดับอำเภอ และคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาหนองเล็งทราย เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาหนองเล็งทรายให้สามารถเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ แหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ มีระบบนิเวศที่ดี และเป็น
แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ โดยคณะกรรมการดำเนินงานซึ่งเป็นกำนันจาก 3 ตำบล เป็นประธานและรองประธาน และมีสมาชิกสภาจังหวัดเป็นเลขานุการ ทำหน้าที่ในการกำหนดแผนงาน การประสานงาน การพิจารณากิจกรรมต่างๆ
- พื้นที่หนองเล็งทรายส่วนหนึ่งได้รับการขุดลอก เพื่อเป็นที่กักเก็บน้ำในการทำน้ำประปา และส่วนหนึ่งถูกถมเพื่อทำเป็นที่ทำการประปา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนาหนองเล็งทราย
- การทำการประมง โดยการสร้างเฝือกหรือดักไซบริเวณทางน้ำ (ท่อน้ำเข้า) ให้การอพยพของสัตว์น้ำเป็นไปได้น้อยมาก
- การนำดินจากการขุดคูปริมาณมากมาถมทิ้งในเขตหนองน้ำ เพื่อสร้างเป็นที่พักผ่อน การขุดบ่อของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ทำให้พื้นที่ผิวหนองน้ำลดลง ถึงแม้จะเก็บกักน้ำได้มากขึ้น
- ไม่มีการควบคุมและจัดรูปแบบในการใช้ประโยชน์ปลูกพืชและสัตว์เลี้ยง อาจเพิ่มโอกาสการบุกรุกเข้าครอบครองกรรมสิทธิ์ในเขตหนองเล็งทราย
- ในเขตตอนบนบริเวณตำบลป่าแฝกและตำบลบ้านเหล่าของหนองเล็งทราย มีการตัดเขตพื้นที่หนองตามแนวขอบถนนทำให้บางส่วนของหนองเล็งทรายอยู่นอกคูรอบหนองเปิดโอกาสให้มีการถูกคุกคามพื้นที่หนองน้ำมากขึ้น
- การใช้ยา สารเคมี ในการปลูกข้าว การปลูกผักสวนครัว น้ำทิ้งจากชุมชน การเลี้ยงสัตว์บริเวณหนองเล็งทราย บางครั้งทำให้คุณภาพของน้ำประปาเกิดปัญหา ข้อมูลจากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ http://www.maechai.ac.th/art/maechai.htm
มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์. หนองเล็งทราย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก http://www.maechai.ac.th/
Google Maps. (2564). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านดงอินตาใต้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธม.โม). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิ เมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
บุญศิริ สุขพร้อมสรรพและอาทิตย์ ลิมปิยากร. (2564). ภูมินาม-ภาพสะท้อนเมืองพะเยา. วารสารวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่. 2(1). 88-94.
กชนุช แสงทอเจริญกุล และคณะ. (2564). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านดงอินตาใต้ หมู่ 9 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. พะเยา : วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา.