Advance search

แห่กัณฑ์หลอน เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ สืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน กลองยาวฟ้าใหม่นานกเขียน

หมู่ที่ 13
นานกเขียน
ขามป้อม
เขมราฐ
อุบลราชธานี
เทศบาลตำบลขามป้อม โทร. 0-4521-5009
วิไลวรรณ เดชดอนบม
14 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ก.พ. 2024
บ้านนานกเขียน

ในอดีตทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่หนองหนึ่ง เป็นที่หากินของนกชนิดหนึ่งทราบว่าคือ นกเขียน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า "หนองนกเขียน" แต่ภายหลังมีการประกาศจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "นานกเขียน" เนื่องจากชื่อหนองนกเขียนนั้นมีหมู่บ้านอื่นใช้อยู่ก่อนแล้ว


ชุมชนชนบท

แห่กัณฑ์หลอน เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ สืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน กลองยาวฟ้าใหม่นานกเขียน

นานกเขียน
หมู่ที่ 13
ขามป้อม
เขมราฐ
อุบลราชธานี
34170
15.976902
105.150216
เทศบาลตำบลขามป้อม

บ้านนานกเขียนเดิมทีเคยเป็นส่วนหนึ่งของบ้านนาตาลเหนือ แต่ต่อมาชาวบ้านเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น บ้านโนนแดง เพราะบริเวณหมู่บ้านมีต้นไม้แดงจำนวนมาก ในเวลาต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็น หนองนกเขียน เนื่องจากทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ดินอุดมสมบูรณ์ และมีหนองน้ำใหญ่อยู่หนองหนึ่ง เป็นที่หากินของนกซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ปากสีเหลือง ขาสีเหลือง ขนสีหม่น ตัวสูงใหญ่มาก ทราบว่าคือ นกเขียน (นกกระเรียน) จึงเรียก หนองนกเขียน ต่อมามีผู้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้หมู่บ้านมีขนาดใหญ่ขึ้น พ.ศ. 2527 อำเภอเขมราฐจึงได้มีประกาศอำเภอแยกหมู่บ้านออกจากบ้านนาตาลเหนือ และมีการตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ โดยในคราแรกชาวบ้านต้องการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านโนนแดง" และ "บ้านหนองนกเขียน" แต่เนื่องจากชื่อซ้ำกับบ้านโนนแดง ตำบลขามป้อม และบ้านหนองนกเขียน ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จึงเปลี่ยนชื่อบ้านเป็น "บ้านนากนกเขียน" มาจนปัจจุบัน

บ้านนานกเขียนเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบลุ่ม มีลักษณะลาดเทเล็กน้อย สภาพดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายซึ่งเหมาะแก่การทำนา แต่ในปัจจุบันสภาพดินขาดความอุดมสมบูรณ์เนื่องจากขาดการบำรุงรักษา และเกิดจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม ทำให้ดินแข็งกระด้างและเกิดโรค

ทรัพยากรน้ำภายในหมู่บ้านมีทั้งที่เป็นลำห้วย หนองน้ำธรรมชาติ และหนองน้ำส่วนบุคคล แหล่งน้ำที่สำคัญคือ ห้วยใหญ่ หรือห้วยบังโกย ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ลำห้วยใหญ่สายนี้จะไหลผ่านหมู่บ้านก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ถือเป็นลำห้วยที่มีความสำคัญกับชาวบ้านนานกเขียนและหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นอย่างมาก เพราะใช้เป็นทั้งแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำใช้สำหรับการเกษตร ปลูกพืชผัก เช่น ข้าวโพด ถั่ว แตงกวาพริก หอม กระเทียม เผือก และยังมีลำห้วยบง เป็นลำห้วยธรรมชาติที่อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ซึ่งลำห้วยบงจะไหลลงสู่ลำห้วยใหญ่ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงเป็นลำดับถัดไป

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 13 บ้านนานกเขียน ตำบลขามป้อม อำเภอเขมราฐ จังหวัดรนครพนม มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 502 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 250 คน ประชากรหญิง 252 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 155 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ในช่วงแรกของการก่อตั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านมักตั้งบ้านเรือนให้อยู่บริเวณใกล้เคียงกันกับญาติของตนเอง ต่อมาพื้นที่ในหมู่บ้านเริ่มมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของประชากร ปัจจุบันนี้เมื่อมีคนในครอบครัวแต่งงานจึงจะแยกเรือนออกจากพ่อ แม่ ออกไปตั้งบ้านเรือนใหม่ บางส่วนออกไปสร้างบ้านใหม่ใกล้กับที่นา เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง

ชาวบ้านนานกเขียนส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมเช่นเดียวกับสังคมชนบททั่วไป โดยการทำเกษตรกรรมที่เกิดขึ้นภายในชุมชนมีทั้งการทำนา ทำไร่เผือก มันสำปะหลัง รวมถึงการปลูกพืชผักสวนครัวนานาชนิดสำหรับนำออกไปขายเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีการประกอบอาชีพในลักษณะของการเปิดกิจการร้านค้าขนาดเล็กทั้งร้านขายของชำและตั้งเป็นแผงขายสินค้าในตลาด ตลอดจนการประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น รับจ้าง รับราชการ พนักงานเอกชน รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีประปรายอยู่ในชุมชน ในที่นี้จะกล่าวถึงกลุ่มอาชีพหลัก 3 อาชีพ ดังต่อไปนี้

1. อาชีพในภาคการเกษตร

  • การทำนา ถือเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านนานกเขียน การทำนาขอชาวบ้านนานกเขียนมีอยู่ 2 แบบ คือ การทำนาดำ และการทำนาหว่าน ในอดีตแรงงานที่ช่วยในการทำนาจะเป็นสมาชิกภายในครอบครัว หากครอบครัวใดที่มีแรงงานมากจะนิยมทำนาดำ ส่วนครอบครัวที่มีแรงงานภายในครอบครัวน้อย จะนิยมทำนาหว่าน โดยการทำนาจะเริ่มในช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม และเริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนมกราคม ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้บริโภคตลอดทั้งปี และอีกส่วนหนึ่งจะนำออกไปขาย

  • การปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังเป็นพื้นที่ดอน ไม่มีน้ำท่วมขัง แต่ไม่สามารถปลูกข้าวได้จึงปลูกมันสำปะหลังแทน จะเริ่มปลูกมันสำปะหลังช่วงต้นฝนคือเดือนพฤษภาคม และเริ่มทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

  • การปลูกเผือก ในชุมชนบ้านนานกเขียนมีการปลูกเผือกหอมหรือเผือกน้ำ โดยการปลูกเผือกสามารถปลูกได้ทั้งหน้าฝนและหน้าแล้งไม่จำกัดฤดูกาล ชาวบ้านจะนำผลผลิตที่ได้ไปขายที่ตลาดเจริญศรี อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี 

2. อาชีพทางการค้าขาย

  • ขายของชำ ภายในหมู่บ้านมีร้านขายของชำอยู่หลายร้าน ที่น่าสนใจ คือ หนึ่งในนั้นเป็นร้านค้ากองทุนหมู่บ้าน มีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้ขาย และจะได้รับค่าตอบแทนจากกำไรสินค้าร้อยละ 27 บาท จ่ายให้กรรมการผูกตรวจสินค้าอีกร้อยละ 10 บาท และทางกองทุนร้านค้ายังมีการคืนกำไรให้กับลูกค้าผู้ซื้อร้อยละ 6 บาท ทุก 6 เดือน ทำให้เงินจำนวนหนึ่งยังคงหมุนเวียนอยู่ในชุมชน 

  • การตั้งแผงขายสินค้าในตลาด ส่วนใหญ่เป็นการขายเสื้อผ้า ทั้งเสื้อผ้าใหม่ และเสื้อผ้ามือสอง ถุงเท้า ถุงมือ รองเท้า รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร เช่น พืชผักสวนครัว ทั้งที่ชาวบ้านปลูกเอง และไปรับซื้อมา สถานที่ในการขายสินค้าจะจำหน่ายตามตลาดนัดต่าง ๆ และตลาดเจริญศรี อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราธานี 

  • ร้านขายอาหาร เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ที่ชาวบ้านทำมานานแล้ว ชาวบ้านจะอาศัยพื้นที่หน้าบ้านของตนเองในการขายอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำปั่น ผลไม้ดอง หรือบางครัวจะนำรถจักรยานยนต์เร่ขายภายในหมู่บ้านหรือบ้านใกล้เคียง

3. รับจ้าง

การรับจ้างนั้นนับว่าค่อนข้างมีความหลากหลาย โดยปกติแล้วอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ชาวบ้านมักทำในช่วงที่ว่างเว้นจากฤดูกาลการทำเกษตรกรรม มีทั้งการรับจ้างภายในชุมชนและออกนอกชุมชน เช่น รับจ้างก่อสร้าง รับจ้างทำงานในไร่ ในสวน ฯลฯ 

อีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจที่พบในชุมชนบ้านนานกเขียน คือ การรับผสมพันธุ์สัตว์ สัตว์ที่นิยมนำมาผสมพันธุ์ ได้แก่ พ่อพันธุ์วัวและพ่อพันธุ์สุกร หากผสมติดจึงจะเก็บเงิน แต่หากผสมแล้วไม่ติดก็จะผสมให้ใหม่จนกว่าจะติด จะคิดเงินแค่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะผสมพันธุ์วัวหรือผสมพันธุ์หมูก็จะใช้วิธีเดียวกัน อนึ่ง ภายในชุมชนยังมีการทำหัตถกรรมจักสานกระติบข้าว หมอยาสมุนไพร และคณะกลองยาว ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้เช่นเดียวกัน

บ้านนานกเขียนยังคงเป็นหมู่บ้านที่ปรากฏการร่วมกันรักษาวัฒนธรรมและประเพณีให้คงสืบต่อไว้ แม้วิธีการสืบทอดประเพณีต่าง ๆ มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากอดีตอยู่บ้าง ไม่ยึดรูปแบบวิธีปฏิบัติที่เคร่งครัดเท่าแต่ก่อน เน้นความรวดเร็ว สะดวก และประหยัด แต่ยังคงยึดการปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิมของชุมชนเช่นเดิม โดยประเพณีสำคัญในชุมชนนั้นจะเกี่ยวข้องกับฮีต 12 หรือบุญ 12 เดือน ซึ่งเป็นรูปแบบประเพณีที่พบได้ทั่วไปในสังคมชาวอีสาน แต่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบวิถีชีวิตของคนในชุมชน ดังนี้ 

เดือน 1 : ประเพณีขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะมีการเลี้ยงสังสรรค์ร่วมกับเครือญาติ มีการทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ และยังมีประเพณีเข้าปริวาสกรรม (เข้ากรรม) ด้วย

เดือน 2 : ประเพณีเข้าปริวาสกรรม (เข้ากรรม) เหมือนกับเดือน 1 แต่จะหมุนเวียนไปหมู่บ้านใหม่เรื่อย ๆ จนครบกำหนด

เดือน 3 : ในเดือนนี้จะมีประเพณีการทำบุญตักบาตรในวันมาฆบูชา ประเพณีบุญเบิกบ้าน เป็นบุญประเพณีที่ทำทุกปี เพราะเชื่อว่าถือเป็นการขับไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไปจากหมู่บ้าน 

เดือนที่ 4 : ประเพณีบุญมหาชาติ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าบุญผะเหวด ถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีที่ใช้เวลาถึง 3 วันด้วยกัน วันแรกเป็นการเชิญพระเวชสันดรเข้าเมือง โดยการแห่ผ้าผะเหวดเข้าไปไว้ในวัด ในวันที่สองจะมีการแห่ต้นเงินเข้าไปถวายที่วัดหรือที่เรียกว่า "แห่กัณฑ์หลอน" และในวันที่สามจะมีการแห่ต้นเงินไปขอบริจาคตามหมู่บ้านใกล้เคียงแล้วนำมาถวายที่วัด หรือเรียกว่า "แห่กัณฑ์หลง"

เดือน 5 : ประเพณีสงกรานต์ ในตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรที่วัด มีพิธีสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อความเป็นสิริมงคล เล่นน้ำสงกรานต์เพื่อความรื่นเริง พร้อมกันนี้ยังมีการก่อพระเจดีย์ทราย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ตบปะทาย" ในภาษาถิ่น มีนัยเพื่อนำเศษดินทรายที่ชาวบ้านได้เหยียบติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย อีกนัยหนึ่งยังเกี่ยวข้องกับการบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลด้วย

เดือน 6 : ประเพณีเลี้ยงเจ้าปู่บ้าน เป็นพิธีที่ชาวบ้านจัดทำขึ้นเพื่อเสี่ยงทายดูฝนฟ้าในแต่ละปี และขอให้เจ้าปู่บ้านดูแลข้าวในนาให้อุดมสมบูรณ์ คนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข โดยจะนำอาหารคาวหวาน ไก่ 1 ตัว เหล้า 1 ขวด ดอกไม้ธูปเทียน จะมีการทำพิธีในตอนเช้า เมื่อเสร็จพิธีจะดูการเสี่ยงทายที่คางของไก่ ถ้าคางไก่งอแสดงว่าในปีนี้ฝนจะดี แต่ถ้าคางไก่ตรงแสดงว่าในปีนี้ฝนไม่ค่อยจะดีนัก

เดือน 7 : ทำพิธีแรกนาขวัญ

เดือน 8 : ประเพณีเข้าพรรษา ในตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร มีการถวายต้นเทียนพรรษา ต้นเงิน ผ้าอาบน้ำฝนให้แก่พระภิกษุ สามเณร เพื่อใช้ในช่วงจำพรรษา 3 เดือน

เดือน 9 : ประเพณีห่อข้าวประดับดิน จะทำให้คืนวันแรม 15 ค่ำเดือน 9 ถือว่าเป็นวันที่ภูตผี หรือดวงวิญญาณของญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว จะมารับห่อข้าวจากญาติพี่น้องผู้ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะใช้ใบตองห่ออาหารทั้งของคาวและของหวาน หมากพลู วางลงบบนพื้นดิน หลังเที่ยงคืนพระจะทำพิธีกรวดน้ำใส่ห่อข้าว เพื่อให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วมารอรับ

เดือน 10 : ประเพณีข้าวสลากภัต หรือบุญข้าวสาก จะทำขึ้นในวันขั้น 15 ค่ำเดือน 10 มีลักษณะคล้ายบุญห่อข้าวประดับดิน 

เดือน 11 : ประเพณีออกพรรษา ในตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร ถวายต้นเงินแก่พระสงฆ์ สามเณร ในตอนเย็นจะมีการเวียนเทียน ดอกไม้ไฟ

เดือน 12 : ประเพณีลอยกระทง และบุญกฐิน เป็นประเพณีที่ทำขึ้นเพื่อถวายสิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แก่พระภิกษุสงฆ์ แต่ในวัดนั้นต้องมีพระภิกษุจำพรรษาในวันนั้นอย่างน้อย 5 รูป จึงจะสามารถตั้งองค์กฐินได้ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาในชุมชน

1. การสานกระติบข้าว เป็นภูมิปัญญาในชุมชนที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ถึงแม้จะสร้างรายได้ไม่มากแต่เป็นการสร้างอาชีพเสริมจากภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย 

2. หมอยาสมุนไพร เป็นอาชีพที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านนานกเขียนที่ทำการผลิตยาสมุนไพรขึ้นมาใช้เอง ซึ่งชาวบ้านจะหาต้นสมุนไพรหลาย ๆ ชนิดจากป่าชุมชน นำมาต้ม เคี่ยวรวมกันสกัดเป็นสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านนานกเขียนได้ในระดับหนึ่ง ยาที่เป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเป็นยาที่รักษาเกี่ยวกับอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

3. กลุ่มกลองยาว เกิดจากการรวมตัวของเหล่านักดนตรีพื้นบ้านในชุมชนร่วมกันก่อตั้ง จัดซื้อเครื่องดนตรี คือ กลองยาว และเครื่องดนตรีบางประเภทก็ประดิษฐ์ขึ้นเอง การก่อตั้งกลุ่มกลองยาวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนงานอดิเรกของชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง คือ การตีกลองยาว เป็นรายได้เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเริ่มแรกรับงานแห่กลองยาวในละแวกหมู่บ้านใกล้เคียง พอมีทุนมาซื้ออุปกรณ์เพิ่ม ต่อมาเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวบ้านนานกเขียนไม่ให้สูญหายไป จึงได้ตั้งชื่อคณะกลองยาวว่า "คณะกลองยาวฟ้าใหม่นานกเขียน" ราคาการจ้างงานแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะทาง

ภาษาที่ชาวบ้านนานกเขียนใช้สื่อสารกันภายในหมู่บ้านเป็นภาษาอีสานที่มีสำเนียงการพูดที่เป็นเอกลักษณ์มักเรียกกันว่าเป็นสำเนียงอุบลฯ สำเนียงนี้มักจะพูดเร็วและมีสำเนียงที่ค่อนข้างแข็งกร้าวเนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากภาษาเขมรและภาษาลาวซึ่งมีพื้นที่ติดกับตัวอำเภอเขมฐาน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านนานกเขียน ตำบลขามป้อม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี. (2567). สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/

สุเมธ เทียนอบ. (2555). โครงการศึกษาต้นทุนชีวิตฟื้นเศรษฐกิจระดับครอบครัวของชุมชนบ้านนานกเขียน ตำบลขามป้อม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี. (ม.ป.ป.). ข้อมูลกลุ่มชุดดิน อำเภอเขมราฐ. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://r04.ldd.go.th/ubon

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์. (2566). เกร็ดความรู้ สำเนียงเสียงอีสานสืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.isancreativefestival.com/

เทศบาลตำบลขามป้อม โทร. 0-4521-5009