ชุมชนโบราณ หมู่บ้านเส้นทางสายไหมที่มีประวัติมายาวนานตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แหล่งผลิตผ้าทอที่สำคัญของเมืองปักธงชัย ของดีประจำจังหวัดนครราชสีมา
คำว่า "จะโปะ" มาจากเสียงผ่ากะละพร้าวที่ถูกผ่าซีกจะเกิดเสียงดัง "โปะ ๆ" ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า "บ้านกะโปะ" แต่ในปี พ.ศ. 2536 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น "บ้านธงชัย" แต่ชาวบ้านยังคงนิยมเรียกบ้านจะโปะ เหมือนเดิม
ชุมชนโบราณ หมู่บ้านเส้นทางสายไหมที่มีประวัติมายาวนานตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แหล่งผลิตผ้าทอที่สำคัญของเมืองปักธงชัย ของดีประจำจังหวัดนครราชสีมา
ชาวบ้านธงชัยถูกสันนิษฐานว่าพื้นเพเดิมเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเป็นเชลยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในสมัยธนบุรีตอนปลาย สืบเนื่องมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างเมืองนครราชสีมาขึ้นเพื่อเป็นเมืองหน้าด่าน คอยป้องกันข้าศึกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วตั้งเมืองปักเป็นเมืองหน้าด่านคอยป้องกันเมืองนครราชสีมา มีชื่อเรียกว่า "ด่านจะโปะ" ซึ่งในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ได้กวาดต้อนเชลยศึกชาวลาวเวียงจันทน์และดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ และต่อมาได้มีการอพยพเพิ่มเติมอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์
ก่อนที่จะถูกตราชื่อในหนังสือราชการว่าบ้านธงชัยดังเช่นปัจจุบัน ในอดีตชุมชนแห่งนี้มีนามว่า "บ้านจะโปะ" โดยจากคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่าว่า ในระยะแรกของการตั้งชุมชนนั้น คนลาวนิยมปลูกมะพร้าวกันมาก เมื่อนำมะพร้าวมาผ่าซีกจะเกิดเสียงดัง "โปะ ๆ" ไปทั่วหมู่บ้าน จึงเรียกว่า "บ้านกะโปะ" (กะโปะ หรือ กะโป๋ ในภาษาลาวหรือภาษาไทยถิ่นอีสาน หมายถึง กะลามะพร้าว) แล้วเพี้ยนเป็น "จะโปะ" แต่ต่อมาใน พ.ศ. 2536 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อบ้านจะโปะเป็น "บ้านธงชัย" แต่ชาวบ้านยังคงนิยมเรียกชื่อหมู่บ้านว่าบ้านจะโปะอยู่เช่นเดิม
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนตลาดเก่า อำเภอปักธงชัย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านดำรงสุข อำเภอปักธงชัย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านวังหมีและบง้านนาแค อำเภอปักปธงชัย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบ่อปลา อำเภอปักปธงชัย
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านธงชัย ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,473 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 683 คน ประชากรหญิง 790 คน จำนวนหลังคาเรือทั้งสิ้น 738 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในหมู่บ้านสืบเชื้อสายจากชาวลาวเวียงจันทน์ที่สันนิษฐานว่าอาจจะอพยพเข้ามาในพื้นที่ 2 ระลอกด้วยกัน ระลอกแรกน่าจะเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และระลอกที่สองในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังเหตุการณ์ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์
ในอดีตชาวบ้านธงชัยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งที่ดินทำการเกษตรจะอยู่บริเวณด้านหลังหมู่บ้าน ชนิดของพืชที่นิยมปลูกมากที่สุด คือ ข้าว รองลงมา คือ อ้อย เพื่อขายทำน้ำตาลปี๊บ เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรมชาวบ้านจะประกอบอาชีพเสริม เช่น หนุ่มสาวออกไปทำงานในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผู้ชายมักจะออกไปรับจ้างทั้งในและนอกชุมชน ส่วนผู้หญิงจะทอผ้าไหม
ในระยะแรกชาวบ้านธงชัยทอผ้าเพื่อใช้ภายในครอบครัวเท่านั้น แต่หากมีความขัดสนทางการเงินภายในครอบครัวหรือมีผ้าทอมากเกินไป ชาวบ้านก็จะนำผ้าออกไปแบ่งขายเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือเหลือจุนเจือครอบครัวบางครั้งบางคราว แต่ต่อมารัฐบาลได้มีการสนับสนุนผ้าทอให้เป็นสินค้าส่งออก ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาทอผ้าไหมขายมากขึ้น เนื่องจากผ้าไหมนั้นมีราคาค่อนข้างสูง รายได้ดี การทอผ้าที่จากเดิมมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อใช้ในครัวเรือน แต่ในปัจจุบันกลายเป็นสินค้าสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ครอบครัว และกระตุ้นเศรษฐกิจของหมู่บ้าน ด้วยหัตถกรรมผ้าทอบ้านธงชัยได้รับความนิยมอย่างมากจากคนภายนอก เนื่องจากคุณภาพของผ้าและลวดลายที่โดดเด่น ทำให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ จนกลายเป็นสินค้าสำคัญและถือเป็นหนึ่งในของดีของจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้ สำหรับเศษผ้าไหมที่เหลือจากการแปรรูป ชาวบ้านไม่ได้นำไปทิ้งให้ไร้ประโยชน์ แต่ได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าไหมต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งการณ์นี้นับเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
อนึ่ง บ้านธงชัยเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ยังคงหลงเหลือกลิ่นไอแห่งอารยธรรมของบรรพบุรุษจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงชาวลาวเวียงจันทน์ให้เห็นอยู่ทั้งวิถีการดำรงชีวิต การทอผ้าไหม การใช้ภาษาที่มีลักษณะแตกต่างจากที่อื่น ตลอดจนเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยังถูกเล่าขานกันอยู่หนาหู หมู่บ้านใหญ่ในเมืองปักธงชัยแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่น่าสนใจแก่การเข้าไปท่องเที่ยวซึมซับสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรม อันจะทำให้ท่านได้รู้จักประวัติความเป็นมาของอำเภอปักธงชัยได้อย่างแท้จริง
ชาวบ้านธงชัยเกือบทั้งหมู่บ้านนับถือพระพุทธศาสนา ดังนั้น ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีความเกี่ยวข้องกับหลักศาสนาพุทธ เช่น ประเพณีบุญเทศน์มหาชาติ งานประเพณีสงกรานต์ ประเพณีเข้าพรรษา วันสารทเดือนสิบ วันสิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ฯลฯ ทั้งนี้ ชาวบ้านก็ยังคงมีคติความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติอันนับคติความเชื่อดั้งเดิมที่ได้รับสืบทอดมาอย่างยาวนานรุ่นสู่รุ่น ดังที่ปรากฏให้เห็นในบริเวณทางเข้าหมู่บ้านจะมีศาลเรียกว่า "ศาลปู่ตา" หรือ "ศาลสุริวงศ์" เป็นศาลประจำหมู่บ้าน เชื่อกันว่าเจ้าปู่สุริวงศ์นี้เป็นบรรพบุรุษที่เคยอาศัยอยู่ในหมุ่บ้านมาก่อน โดยในเดือนพฤษภาคมของทุกปี หมู่บ้านธงชัยจะมีการจัดงานฉลองศาลปู่ตาขึ้น ถือเป็นงานเลี้ยงใหญ่ประจำปีของหมู่บ้าน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นอีสาน (สำเนียงโคราช) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่าบ้านธงชัย ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นชุมชนที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยการทำหัตถกรรมทอผ้าไหมเป็นผลิตภัณฑ์เด่นประจำชุมชน แต่ก่อนหน้าที่ผ้าไหมบ้านธงชัยจะกลายมาเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงดังเช่นปัจจุบัน ได้ก้าวข้ามกระบวนการเปลี่ยนผ่านของวัตถุประสงค์และรูปแบบมามากมาย ที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนจากงานหัตถกรรมในครัวเรือนมาเป็นงานหัตถกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น มีการจ้างแรงงานและนำอุปกรณ์ เช่น มอเตอร์ เครื่องมือจักรกลเข้ามาช่วยในขั้นตอนการทอ ขณะเดียวกันการทอผ้าที่แต่เดิมผู้ทอจะต้องรับผิดชอบทุกขั้นตอนก็เปลี่ยนมาเป็นการแบ่งหน้าที่อย่างเป็นสัดส่วน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการผลิต ในปัจจุบันบ้านธงชัยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมให้ความรู้ที่เกี่ยวกับการทอผ้าเพื่อเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ อนุรักษ์วิถีการทอผ้าไหมแบบดั้งเดิม และส่งเสริมเผยแพร่ให้ผ้าไหมเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากขึ้น นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านยังมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่จัดแสดงเครื่องมือการทอผ้าไหมแบบดั้งเดิม สิ่งของเครื่องใช้โบราณ ผ้าไหมเก่าอายุกว่า 200 ปี ข้องยักษ์ และจักรยานโบราณ อีกทั้งยังมีลานกิจกรรมและฐานเรียนรู้การปฏิบัติกว่า 9 ฐาน เช่น ย้อมไหมแต้มสี ค้นหูก กระตุกซุกยู้ สำหรับให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้กระบวนวิธีการทอผ้าไหมแบบฉบับชาวบ้านธงชัยด้วย
เจิดนภางค์ พรหมคง. (2542). พัฒนาการของการทอผ้าและบทบาทของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงในสังคมอีสาน กรณีศึกษา : หมู่บ้านจะโปะ (ธังชัย) ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. สารนิพนธ์ปริญาศิลปศาสตรบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
บ้านจะโปะ บวร On Tour. (2564). สืบค้น 13 กุมภาพันธ์ 2567, https://web.facebook.com/
บ้านจะโปะ บวร On Tour. (2565). สืบค้น 13 กุมภาพันธ์ 2567, https://web.facebook.com/
มติชนออนไลน์. (2565). กลุ่มทอผ้าไหมปักธงชัย หวังภาครัฐช่วยดันสู่ซอฟต์เพาเวอร์ไทย ดังไกลระดับโลก. สืบค้น 13 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.matichon.co.th/
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา. (2563). พช.ปักธงชัย ลงพื้นที่ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านจะโปะ อำเภอปักธงชัย โคราช เพื่อร่วมเตรียมความพร้อม ในการถ่ายทำวีดีทัศน์ประชาสัมพันธ์ ตามแผนการดำเนินงานจัดทำวีดีทัศน์ประชาสัมพันธ์ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี (เส้นหา ๙ ตำนานมรดกวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไทย)ประจำงบประมาณ พศ. ๒๕๖๓. สืบค้น 13 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://district.cdd.go.th/pakthongchai
แหล่งท่องเที่ยวในเขตเทศบาลเมืองเมืองปัก. (2557). หมู่บ้านท่องเที่ยว "ด่านจะโปะ". สืบค้น 13 กุมภาพันธ์ 2567, https://web.facebook.com/
Travel.mthai. (2561). ปักหมุด 7 แห่ง แหล่ง ทอผ้า ถิ่นอีสานใต้ ถักทอวิถีชีวิตชุมชน ทอผ้า. สืบค้น 13 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://travel.mthai.com/