Advance search

หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ประจำปี 2562 ชุมชนที่มีการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ นำไปสู่การก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน กระทั่งผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนได้รับ GAP จากสำนักงานเกษตรอำเภอบ่อเกลือ  

หมู่ที่ 11
ก่อก๋วง
บ่อเกลือใต้
บ่อเกลือ
น่าน
อบต.บ่อเกลือใต้ โทร. 0-5477-8057
วิไลวรรณ เดชดอนบม
23 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ก.พ. 2024
บ้านก่อก๋วง

ที่ตั้งหมู่บ้านในอดีตมีไม้ใหญ่ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่จำนวนมาก เรียกว่า ต้นก่อ ไม้ชนิดนี้มีโพรงอยู่ข้างในซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ก๋วง จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า ก่อก๋วง


หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ประจำปี 2562 ชุมชนที่มีการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ นำไปสู่การก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน กระทั่งผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนได้รับ GAP จากสำนักงานเกษตรอำเภอบ่อเกลือ  

ก่อก๋วง
หมู่ที่ 11
บ่อเกลือใต้
บ่อเกลือ
น่าน
55220
19.18039393
101.1199625
เทศบาลตำบลบ่อเกลือใต้

ประวัติความเป็นมาการก่อตั้งหมู่บ้านก่อก๋วงไม่มีปรากฏแน่ชัดว่าตั้งมาตั้งแต่ปีพุทธศักราชใด ทราบเพียงว่าตั้งมานานแล้วกว่า 300 ปี เดิมทีชาวบ้านก่อก๋วงอาศัยอยู่ที่บ้านภูยื่น ตำบลบ่อเกลือใต้ ซึ่งเป็นหย่อมบ้านของบ้านหนองน่านในปัจจุบัน ต่อมาได้มีชาวบ้านภูยื่นและบ้านขุนน้ำจอนเข้ามาทำไร่ ณ บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านปัจจุบัน แล้วก่อตั้งเป็นบ้านก่อก๋วง ด้วยเหตุว่าพื้นที่แห่งนี้มีต้นไม้ก่อขนาดใหญ่จำนวนมาก ต้นไม้ชนิดนี้มีโพรงอยู่ข้างใน ชาวบ้านเรียกว่า ก๋วง จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านก่อก๋วง

ในระยะแรกมีประชากรเพียง 10 ครัวเรือนเท่านั้น ต่อมาจำนวนประชากรในหมู่บ้านเริ่มมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นในชุมชน ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ต้องใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของหมู่บ้านเป็นที่ฝังศพ พื้นที่ตั้งบ้านเรือนและที่ทำกินบางส่วนจึงลดน้อยลง สำหรับสาเหตุการตายนี้มีพระธุดงค์ 5 รูปที่เดินทางผ่านมา ได้บอกกับชาวบ้านว่าเป็นเพราะชาวบ้านฝังศพคนตายในหมู่บ้าน ทำให้คนกับผีกินอยู่ร่วมกัน ถือว่าเป็นสิ่งไม่ดีและไม่เป็นมงคล คนกับผีต้องแยกกันอยู่จึงจะถูกต้องตามประเพณี พ.ศ. 2535 ชาวบ้านจึงได้ย้ายออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่ห่างจากที่ตั้งเดิมประมาณ 500 เมตร ส่วนที่ตั้งเดิมกลายเป็นป่าช้า ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า บ้านเก่า

ต่อมาอําเภอบ่อเกลือได้จัดสรรพื้นที่แห่งใหม่ให้ชาวบ้านซึ่งอยู่ติดกับถนนลาดยางเพื่อความสะดวกต่อการคมนาคม เหมาะสําหรับการเพาะปลูก และทําให้ง่ายต่อการติดต่อราชการกับทางการ พ.ศ. 2540 นายจื่น จอมหล้า ได้ย้ายครอบครัวออกมาตั้งบ้านใหม่อยู่ในพื้นที่ที่ทางอําเภอจัดสรรให้เป็นครอบครัวแรก หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านบางส่วนย้ายตามออกมาเรื่อย ๆ อําเภอบ่อเกลือจึงได้มีการตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่นี้เป็นบ้านก่อก๋วงนอก ส่วนบ้านเดิมก็ได้ตั้งเป็นหมู่บ้านก่อก๋วงใน ทั้งนี้ ทั้งบ้านก่อก๋วงนอกและก่อก๋วงในยังคงรวมเป็นหมู่ 11 บ้านก่อก๋วง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านขุนน้ำจอน หมู่ที่ 5 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านน้ำแพะนอก หมู่ที่ 13 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองน่าน หมู่ที่ 12 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านก่อก๋วงเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงระหว่างขุนเขาน้ำมางกับภูลังกา ตั้งอยู่ห่างไกลจากเส้นทางหลักและตัวอําเภอ ทางเข้าหมู่บ้านเป็นถนนลูกรัง บ้านเรือนตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดใหญ่ มีห้วยน้ำมางที่มีต้นกำเนิดจากขุนเขาน้ำมางไหลผ่านทางตอนล่างของหมู่บ้าน บริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านเป็นป่าเขา ป่าต้นน้ำ และหุบเขา มีป่าไม้หลากหลายชนิด เช่น ป่าไม้ก่อ ป่าไผ่ ป่าต้นชมพูภูคา โดยมากจะเป็นป่ารกทึบ อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม ป่าไม้ที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ มีความเป็นธรรมชาติสูง หากยืนอยู่บนยอดดอยหรือยอดเขาสูง จะมองเห็นความสวยงามของทะเลหมอกและทิวเขาสูงต่ำสลับกันไป พื้นที่ทํากินหรือพื้นที่ทําไร่จะอยู่บริเวณรอบ ๆ หมู่บ้าน

จากลักษณะของพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูง มีป่าขึ้นหนาทึบ ทำให้ในช่วงเช้ามืดบ้านก่อก๋วงจะมีหมอกลงจัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวหมอกจะลงจัดมาก จนไม่สามารถมองเห็นภูเขาที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ จนกว่าจะถึงเวลาประมาณ 10.00 น. บางวันหมอกลงจัดปกคลุมอยู่ตลอดทั้งวัน มีไอน้ำลอยขึ้นมาจากหุบเขาผ่านยอดไม้ด้านล่างอยู่ตลอดเวลา ในฤดูฝนจะมีฝนตกบ่อย และตกวันละหลายครั้ง

ในแต่ละฤดูชาวบ้านจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ในฤดูฝน เป็นฤดูที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์มากที่สุด เพราะพืชผักที่อยู่ตามป่าและที่ชาวบ้านปลูกไว้ในไร่จะออกดอกออกผล ผลไม้ที่มีอยู่ในหมู่บ้านก็อุดมสมบูรณ์ เช่น แพะดา (ฝรั่ง) แพะโอ (ส้มโอ) มะนาว แตงกวา ปลีกล้วยป่า ข้าวโพด สาลี (ข้าวโพดเล็ก) ส่วนในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว ชาวบ้านจะเก็บสะสมฟืนสำหรับไว้ใช้ในฤดูต่อไปได้นาน 4-5 เดือน เพราะถ้าถึงฤดูฝนฟืนจะเปียกติดไฟยาก

ทรัพยากรธรรมชาติ

ป่าไม้ : บ้านก่อก๋วงมีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เป็นจํานวนมาก ทําให้อากาศบริเวณหมู่บ้านเย็นสบายตลอดทั้งปี ป่าไม้มี หลากหลายชนิด เช่น ป่าต้นไม้ก่อ ป่าไผ่ ป่าต้นชมพูภูคา มีป่าต้นน้ำ 3-4 แห่ง ป่าไม้ที่มีความสําคัญต่อชาวบ้านเป็นอย่างมาก คือ ป่าอนุรักษ์และป่าชุมชนรวมทั้งป่าใช้สอย มีพื้นที่รวมกันกว่า 5,314.13 ไร่ เป็นที่สําหรับหาอาหารของชาวบ้านและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด

น้ำ : เนื่องจากสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านตั้งอยู่บนภูเขาสูง มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จึงเกิดแหล่งน้ำหลายสายที่มีอยู่ตามป่า หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในหมู่บ้าน ตลอดจนพืชพันธุ์ธัญญาหารและสัตว์ป่า ใกล้กับหมู่บ้านมีลําห้วยหลายสายไหลผ่าน เช่น ห้วยน้ำมาง ห้วยผาเหนือ ห้วยกํากอม ห้วยน้ำยอ ห้วยภูลังกา ห้วยนายอ ห้วยกระแต ห้วยก่อก๋วง นอกจากนี้ ในหมู่บ้านยังมีป่าต้นน้ำ ทําให้มีน้ำซับไหลซึมออกมาอยู่หลายแห่ง (ตาน้ำ) บริเวณลําห้วยจะเห็นร่องน้ำไหลลงมายังลําห้วยตลอดสาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและป่ารอบบริเวณหมู่บ้าน

น้ำที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภคมาจากลําห้วยตามธรรมชาติ โดยชาวบ้านได้ทําเป็นบ่อแล้วต่อท่อน้ำประปาลงมายังถังพักน้ำ แล้วค่อยปล่อยต่อไปตามบ้านเรือน นอกจากนี้ น้ำในลําห้วยยังเป็นแหล่งอาหารที่สําคัญของชาวบ้าน เพราะมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก เช่น ปู ปลา กุ้ง หอย รวมทั้งกบ เขียด ชาวบ้านนิยมจับสัตว์เหล่านี้มาเป็นอาหาร 

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 11 บ้านก่อก๋วง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 317 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 162 คน ประชากรหญิง 155 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 78 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชน คือ ชาวลัวะ ภายในหมู่บ้านจะมี 2 นามสกุลหลัก คือ จอมหล้า และใจปิง ชาวบ้านมีการแต่งงานทั้งกับคนภายในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน แต่เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องเข้าไปอยู่ที่บ้านของฝ่ายหญิง ทํามาหากินร่วมกันเป็นครอบครัวขยาย และเมื่อสามารถสร้างฐานะได้แล้วก็จะตั้งบ้านเรือนเป็นของตนเอง โดยจะยังได้รับการดูแลจากพ่อแม่ของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย

ลัวะ (ละเวือะ)

ชาวบ้านก่อก๋วงประกอบอาชีพการทําข้าวไร่เป็นอาชีพหลัก และจะออกไปทํางานรับจ้างในตัวเมืองและต่างจังหวัดในช่วงที่ว่างเว้นจากการทําไร่ พอถึงช่วงที่ต้องทําไร่หรือเก็บเกี่ยวข้าวจึงค่อยกลับมาทํางานที่ไร่ ขณะที่ปลูกไร่ข้าว ชาวบ้านจะปลูกแตงกวา ผักกาด เผือก มัน และพืชพันธุ์ต่าง ๆ ระหว่างต้นข้าวไปด้วย เอาไว้สําหรับบริโภคในครอบครัวและเอาไว้เป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักกาดและแตงกวาที่ถือว่าเป็นอาหารหลักของชาวบ้าน

เมื่อปลูกข้าวเสร็จ ผู้ชายและวัยรุ่นในหมู่บ้านจะออกไปทํางานรับจ้างอยู่ที่ในเมืองหรือต่างจังหวัด เช่น เพชรบูรณ์ จันทบุรี ระยอง ชลบุรี กรุงเทพมหานคร ลักษณะงานที่ชาวบ้านออกไปรับจ้าง คือ งานโรงงาน ก่อสร้าง เก็บทุเรียน ตัดอ้อย เก็บถั่วเหลือง เก็บข้าวโพด ทุกปีเมื่อถึงช่วงการเก็บข้าวโพดจะมีพ่อเลี้ยง (นายจ้าง) จากไร่ข้าวโพดที่จังหวัดเพชรบูรณ์เดินทางมารับชาวบ้านไปทำงานเก็บข้าวโพดที่ไร่ จะไปครั้งละประมาณ 1 เดือน ได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในไร่ ชาวบ้านที่ออกไปทํางานรับจ้างนอกพื้นที่จะกลับมาเก็บเกี่ยวข้าวของตนเอง

อนึ่ง ข้าวและพืชผักที่ชาวบ้านปลูกจะเป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ คือ การปลูกข้าวและพืชผักโดยปราศจากสารพิษและสารเคมีทุกชนิด แปลงพืชผักจะใช้พื้นที่ว่างด้านหลังบ้าน ตามไหล่เขา แผ้วถางสร้างโรงเรือน มุงด้วยพลาสติก เป็นสวนขนาดย่อมที่สามารถเลี้ยงตนเอง และเหลือพอที่จะเก็บขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในสวนเกษตรอินทรีย์นี้มีพืชผักมากกว่า 20 ชนิด เช่น มะเขือเทศ ผักกาดแก้ว คะน้า กวางตุ้งไต้หวัน สตรอว์เบอร์รี ฯลฯ โดยชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มปลูกผักก่อพัฒนาต่อไปเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผักที่ส่งไปยังร้านอาหารต่าง ๆ ในตัวเมืองน่านในราคาไม่แพง และยังนำมาจำหน่ายวางขายที่เพิงร้านค้าของชุมชน และจากผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมของวิสาหกิจชุมชนบ้านก่อก๋วง จากความเข้มแข็ง สามัคคี ได้เสริมสร้างทักษะในการผลิตสินค้าจนผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่มฯ ได้รับใบ GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี Good Agricultural Practices) จากสำนักงานเกษตรอำเภอบ่อเกลือ 

ในหมู่บ้านมีร้านขายของเล็กที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เกิดขึ้นจากชาวบ้านที่เป็นญาติพี่น้องกันรวมหุ้นกัน 3 หุ้นในราคาหุ้นละ 1,000 บาท กลุ่มที่สอง เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มโดยครูประจําศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาบ้านก่อก๋วงใน รวมหุ้นกัน 6 หุ้นในราคาหุ้นละ 100 บาท สิ่งของที่นํามาจําหน่ายจะเป็นประเภทของใช้ภายในครัวเรือน ของใช้ส่วนตัว และอาหารแห้ง เช่น สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน ผ้าอนามัย บะหมี่กึ่งสําเร็จรูป ปลาทูเค็ม ปลากระป๋อง ในแต่ละกลุ่มจะลงทุนซื้อสิ่งของมาขายเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1,000-2,000 บาท และได้กําไรเดือนละ 300-400 บาทต่อคน นอกจากนี้ ภายในชุมชนยังมีการเลี้ยงแพะ วัว ควาย สุกร ไว้เพื่อขายและใช้ในการประกอบพิธีกรรม รวมถึงการสร้างโฮมสเตย์ขนาดเล็กสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมทัศนียภาพความงดงามบนยอดดอยบ้านก่อก๋วง ซึ่งถือเป็นอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นล่าสุดภายในชุมชน

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวบ้านก่อก๋วงนับถือศาสนาพุทธกันทุกคน แต่ตามคติความเชื่อชาวบ้านจะนับถือผีกันทั้งหมู่บ้าน กิจกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในหมู่บ้านตลอดจนประเพณี พิธีกรรม จะเกี่ยวข้องกับการนับถือผี และต้องมีการเลี้ยงผี เซ่นไหว้ผีอยู่ตลอดทั้งปี ชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องกำ (ข้อห้ามเกี่ยวกับการผิดผี) หากละเมิดแล้วเชื่อว่าจะได้รับความเจ็บป่วยจากการกระทําของผี เช่น ในรอบ 10 วัน จะมี 2 วัน (วันคดและวันห้วง) เป็นวันที่ชาวบ้านทุกคนจะต้องหยุดทํางานทุกอย่างในไร่ ห้ามแบกหามสิ่งของเข้าหมู่บ้าน ห้ามตําข้าวด้วยครกกระเดื่อง เป็นต้น ส่วนข้อห้ามอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะหยุดงานทุกอย่าง และจะเข้าร่วมงานศพ เชื่อว่าหากไม่หยุดงานในไร่ข้าว พืชพันธุ์ในไร่จะไม่เจริญงอกงาม ได้ผลผลิตไม่ดี เพราะผีไร่ลงโทษ

ความเชื่อเรื่องผีในชุมชนบ้านก่อก๋วงแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1.ผีที่ทําหน้าที่คุ้มครอง เป็นผีดีทําหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชาวบ้านให้มีความสุข ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยให้มีผลผลิตในไร่เพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี ชาวบ้านจะมีการเลี้ยงผีเป็นระยะตลอดทั้งปี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คนในครอบครัว ผีประเภทนี้ เช่น ผีบ้านผีเรือน ผีศาลเจ้าที่ ผีแคว่น

2.ผีที่ทําให้เป็นอันตราย เป็นความเชื่อเกี่ยวกับผีที่ทําอันตรายให้แก่คน โดยทําให้เกิดความเจ็บป่วย ชาวบ้านเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นเกิดมาจากการกระทําของผี ทําให้ผีไม่พอใจผีจึงทําให้เจ็บป่วย ผีที่ชาวบ้านเชื่อว่าทําให้เป็นอันตรายให้แก่คน คือ ผีป่าช้า ผีไร่ ผีต้นไฮ

ประเพณีสำคัญ

1.ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ ถือเป็นงานที่สําคัญ เชื่อว่าบ้านเรือนใดที่ไม่ได้จัดงานขึ้นบ้านใหม่ ผู้ที่อยู่อาศัยจะเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เป็นประจํา ครอบครัวไม่มีความสุข เมื่อถึงวันกําที่เป็นฤกษ์ดีที่จะขึ้นบ้านใหม่ ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะมาอวยพรและแสดงความยินดีกับเจ้าของบ้าน หลังจากที่สร้างบ้านเสร็จสิ่งแรกที่เจ้าของบ้านจะต้องนําขึ้นบ้าน คือ เตาไฟ เพราะเชื่อกันว่าเตาไฟเป็นที่สําหรับทําอาหารให้ทุกคนในบ้านได้มีอยู่มีกิน เมื่ออากาศหนาวเตาไฟก็จะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

2.ประเพณีกินข้าวโพดใหม่ เป็นการเฉลิมฉลองการกินข้าวโพดที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้ หลังจากที่ข้าวโพดอยู่ในช่วงที่สามารถเก็บเกี่ยวได้

3.ประเพณีกินข้าวใหม่ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ประเพณีกินข้าวเม่า" ประเพณีนี้เริ่มขึ้นเมื่อข้าวที่อยู่ในไร่เริ่มสุกและเก็บเกี่ยวมาเก็บไว้ที่บ้าน แต่มีบางบ้านที่ข้าวยังไม่สุกก็จะยืมจากบ้านที่เก็บมาไว้ที่บ้านแล้ว ในวันนี้ชาวบ้านจะมีการดูดเหล้าอุและรับประทานอาหารร่วมกันอย่างสนุกสนานทั้งหมู่บ้าน

4.ประเพณีกินดอกแดง เป็นประเพณีที่ชาวบ้านทําพร้อมกันในวันคด (วันลำดับที่ 7 ใน 10 วัน ตามลำดับการนับวันในหนึ่งรอบสัปดาห์ตามปฏิทินชาวลัวะ เมื่อเริ่มนับจากวันขาบ) หลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวจากไร่มาบ้านเสร็จกันหมดทั้งหมู่บ้าน ถือเป็นวันสิ้นสุดฤดูกาลเพาะปลูก ชาวบ้านจะจัดงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปี

5.ประเพณีแก้ม เป็นการเลี้ยงบูชาผีแคว่นและฝีปางป่ากล้วย เป็นพิธีเลี้ยงผีที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีของบ้านก่อก๋วง ตามคติความเชื่อว่าผีแคว่นคือผีที่คอยดูแลปปักหมู่บ้าน ฉะนั้นจึงต้องมีการเลี้ยงขอบคุณ หากไม่มีการเซ่นไหว้นี้เชื่อว่าจะทำให้หมู่บ้านเกิดเหตุร้ายเพราะผีแคว่นโกรธ

พิธีกรรม

ชาวบ้านก่อก๋วงในจะมีความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทําไร่ เช่น พื้นดินที่ไร่จะมีผีอาศัยอยู่ ก่อนที่จะทําไร่ต้องมีการเลี้ยงผีก่อนถึงจะสามารถทําไร่ได้ พิธีกรรมที่ชาวบ้านยังทําอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้

1.พิธีปลูกแฮก ชาวบ้านจะทําพร้อมกันทั้งหมู่บ้านในช่วงที่ต้นข้าวขึ้นสูงประมาณ 1 คืบ เพื่อเชิญผีไร่ให้มาดูแลรักษาข้าวที่อยู่ในไร่และขอบคุณผีไร่ที่ทําให้ข้าวเจริญงอกงามดี

2.พิธีทําขวัญข้าว พิธีนี้จะทําเช่นเดียวกับพิธีปลูกแฮก แต่จะทําในช่วงที่ข้าวกําลังตั้งท้องและเริ่มออกรวง เป็นพิธีเลี้ยงผีไร่เพื่อขอบคุณผีที่ดูแลรักษาต้นข้าว ทําให้ข้าวตั้งท้องและออกรวงดี

วิถีชีวิต

วิถีชีวิตในชุมชนของชาวลัวะบ้านก่อก๋วงใน คนวัยทํางานจะมีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละวันไม่แตกต่างกันมาก ในแต่ละวันแต่ละบ้านจะตื่นแต่เช้าเพื่อหุงข้าวทํากับข้าว แล้วเตรียมตัวออกไปทํางานที่ไร่ ระหว่างนี้ก็จะให้อาหารสัตว์เลี้ยงและปล่อยไก่ที่ขังไว้ในเล้าตั้งแต่เมื่อเย็นวาน เมื่อถึงเวลาจะเลิกงานจากไร่ จะให้อาหารหมู เป็ด ไก่ ที่เลี้ยงไว้ และทํากับข้าวในมื้อเย็น

วิถีชีวิตเกือบตลอดทั้งปีของชาวบ้านจะอยู่กับการทําไร่ข้าว 10-11 เดือน ชาวบ้านจะมีช่วงเวลาการทํางานในแต่ละปีอย่างชัดเจน คือ จะทําการเสี่ยงทายเพื่อขอไร่และถางไร่ประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปล่อยทิ้งไว้ 1 เดือนเพื่อให้เศษไม้เศษหญ้าที่ถางแห้งก่อนที่จะเผาไร่ในช่วงต้นเดือนมีนาคม จึงจะปลูกข้าว แตงกวา ข้าวโพด ผักกาด และพืชพันธุ์ต่าง ๆ ประมาณปลายเดือนมีนาคม จากนั้นจะถอนหญ้า ถอนวัชพืช 3-4 รอบ จะเป็นช่วงที่แตงกวา ผักกาด ข้าวโพดกําลังออกดอกออกผล ชาวบ้านก็จะนําติดมือกลับบ้านทุกวันเพื่อทําเป็นอาหาร ในเดือนกันยายน-พฤศจิกายนจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าว แต่ผักกาดยังสามารถเก็บได้จนถึงเดือน มกราคมของปีถัดไป

โดยทั่วไปผู้ชายจะทํางานหลัก ๆ ในไร่ เช่น สร้างงัวะ (ตูบไร่) ทํากับดักหนู ทําแนวรั้วรอบ ๆ ไร่ป้องกันวัว ควาย ไม่ให้เข้าไปกัดกินพืชพันธุ์ที่ได้ปลูกไว้ วัว ควาย จะเลี้ยงแบบปล่อยไว้ในป่า 3-4 วัน จึงจะเข้าไปดูครั้งหนึ่ง ผู้หญิงจะปลูกผัก ตําข้าว ทํากับข้าว ในช่วงที่มีเวลาว่างมาก ๆ คือประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ชาวบ้านผู้หญิงทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทํางาน และคนแก่จะช่วยกันเก็บฟืนมาเก็บสะสมเอาไว้สําหรับใช้หุงหาอาหาร (เอกสิทธิ์ ไพศูนย์, 2552 : 47)

ปราชญ์ด้านหัตถกรรมการจักสานไม้ไผ่

1.นายพรม จอมหล้า

2.นายอุ๊ จอมหล้า

3.นายจันทร์ จอมหล้า

4.นายตา จอมหล้า

ปราชญ์ด้านการประกอบพิธีกรรม

ผู้นําในการประกอบพิธีกรรมของชุมชนมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรก คือ หมอผู้ทําพิธีที่ถือว่าเป็นต้นตระกูลผี มีการสืบทอดทางสายเลือดโดยตรงจากแม่สู่ลูก ซึ่งต้องให้ลูกผู้หญิงเป็นผู้สืบทอดต่อจากแม่ ถ้าไม่มีลูกผู้หญิงจะต้องให้ญาติพี่น้องที่เป็นผู้หญิงสืบทอดแทน ชาวบ้านจะเรียกหมอผู้ทําพิธีที่เป็นต้นตระกูลผีนี้ว่า แม่กําฮีตและ หมอฮีต แม่กําฮีตเปรียบเสมือนผู้นำสูงสุดทางด้านพิธีกรรมของหมู่บ้าน ประเภทที่สอง คือ หมอฮีตที่ทําพิธีเลี้ยงผีที่หอผีอยู่ในป่า มีการสืบทอดทั้งทางสายเลือดและที่เป็นญาติพี่น้องกัน โดยจะให้ผู้ชายเป็นหมอผู้ทําพิธี โดยชาวบ้านที่เป็นผู้นําในการประกอบพิธีกรรมของบ้านก่อก๋วง มีดังนี้

1.นางต่อม จอมหล้า (แม่กำฮีต)

2.นายบัว จอมหล้า (หมอฮีต)

3.นายเปลี่ยน จอมหล้า (หมอฮีต)

4.นายต๊ะ จอมหล้า (หมอฮีต)

5.นายวิท จอมหล้า (หมอฮีต)

6.นายแก่น จอมหล้า (หมอฮีต)

7.นายมา จอมหล้า (หมอทำขวัญ)

ภูมิปัญญาการจักสานไม้ไผ่

ไม้ไผ่เป็นไม้ที่มีความสําคัญมากในวิถีชีวิตของชาวบ้านก่อก๋วง เพราะในวิถีชีวิตของชาวบ้านจะมีไม้ไผ่มาเกี่ยวข้องอยู่มาก ทั้งการสร้างบ้าน ใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ และคุณค่าที่สําคัญของไม้ไผ่ต่อชาวบ้าน คือ ใช้ทําเครื่องจักสาน เช่น กะลา (ใช้สําหรับตากข้าว) สาด (เสื่อ) กระบุง หวดนึ่งข้าว กระติ๊บข้าว ซึ่งมีหลายขนาด มีการนําไปใช้ประโยชน์ต่างกัน และยังสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านอีกด้วย คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านจะหาบเครื่องจักสานที่ทําแล้วนําไปขายในตัวอําเภอบ่อเกลือและหมู่บ้านใกล้เคียง หรือแลกเปลี่ยนกับสิ่งของอื่น ๆ นํารายได้มาใช้จ่ายภายในครอบครัว เครื่องจักสานมีราคาตั้งแต่ 20-150 บาท เครื่องจักสานที่แพงที่สุด คือ กะลาสําหรับใช้ตากข้าวซึ่งจะซื้อขายกันในราคา 800-1,000 บาท

ชาวลัวะไม่มีอักษรเขียนเป็นของตนเอง แต่มีภาษาพูด คือ ภาษาลัวะ ซึ่งชาวบ้านก่อก๋วงสามารถพูดได้ถึง 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาลัวะ ภาษาคําเมือง และภาษาไทยกลาง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สามารถพูดภาษากลางได้อย่างชัดเจน หรือชาวบ้านคนที่ออกไปทํางานในต่างจังหวัดเป็นเวลานาน ๆ ก็จะสามารถพูดภาษากลางได้เป็นอย่างดี 


ดอยภูคา
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านผัก บนดอยก๋วง. (2563). บ้านผัก บนดอยก๋วง. สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/

มูลนิธิรักษ์ไทย. (2564). กลุ่มวิสาหกิจ หมู่บ้านก่อก๋วง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน. สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.raksthai.org/

ภูเขาและสายหมอก. (2563). สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/

เอกสิทธิ์ ไพศูนย์. (2552). ลัวะคนนับถือผี : กรณีศึกษา บ้านก่อก๋วงใน หมู่ที่ 11 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อบต.บ่อเกลือใต้ โทร. 0-5477-8057