Advance search

ชุมชนของชาวยองบ้านศรีเมืองยู้ มีประวัติศาสตร์ของชุมชนที่ยาวนาน และยังคงปรับตัวให้เข้ากับโลกปัจจุบัน อีกทั้งยังมีวิถีชีวิตที่หลากหลาย 

หมู่ที่ 6
บ้านศรีเมืองยู้
เวียงยอง
เมืองลำพูน
ลำพูน
เทศบาลเวียงยอง โทร. 0-8356-0988
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
20 เม.ย. 2023
ศุภาพิชญ์ คำจันทร์
20 เม.ย. 2023
บ้านศรีเมืองยู้

แต่เดิมบ้านศรีเมืองยู้ก็มีชื่อสั้น ๆ ว่าบ้านยู้ เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็นศรีเมืองยู้ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามนี่เอง ในการเปลี่ยนชื่อช่วงแรกก็เพื่อจะใช้กับนามวัด จากเดิมคือ วัดบ้านยู้ ด้วยความนิยมสมัยนั้นคงเห็นว่าฟังแล้วห้วนสั้นเกินไป เพื่อให้ดูไพเราะและมีนัยบอกถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษชัดเจนขึ้นจึงเปลี่ยนมาเป็น วัดศรีเมืองยู้ มาจนปัจจุบัน


ชุมชนของชาวยองบ้านศรีเมืองยู้ มีประวัติศาสตร์ของชุมชนที่ยาวนาน และยังคงปรับตัวให้เข้ากับโลกปัจจุบัน อีกทั้งยังมีวิถีชีวิตที่หลากหลาย 

บ้านศรีเมืองยู้
หมู่ที่ 6
เวียงยอง
เมืองลำพูน
ลำพูน
51000
18.5641
99.01055
เทศบาลตำบลเวียงยอง

ชาวบ้านศรีเมืองยู้สืบเชื้อสายมาจากชาวไทยลื้อซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในสิบสองปันนา ประเทศจีน ต่อมาได้อพยพไปอยู่รัฐฉาน ประเทศพม่า และมีเมืองเป็นของตนเองคือเมืองยองซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอแม่สายไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร ตามตำนานเมืองยองระบุว่าในสมัยพระเจ้ากาวิละผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ทำสงครามกับพม่าเพื่อจะให้ล้านนาเป็นอิสระจากการครอบงำของพม่า เนื่องด้วยเชียงใหม่ขาดแคลนผู้คนที่จะเป็นกำลังในการสร้างบ้านเมืองภายหลังที่ได้รับอิสรภาพกลับคืนจากพม่า เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่กับเจ้าอุปราชธรรมลังกาผู้เป็นพระอนุชาได้ตั้งกองทัพไปตีเมืองต่าง ๆ เพื่อกวาดต้อนผู้คนมาเป็นพลเมืองของเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและเชียงราย พลเมืองล้านนาในเวลาต่อมาจึงมีคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ไทยวน (คนเมือง) ลื้อ เขิน ยอง และลาว

ในปี พ.ศ. 2347 พระยาอุปราชธรรมลังกาได้ยกกองทัพไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นสิบสองปันนาและยกทัพไปถึงเมืองยอง เจ้าเมืองยองมิได้สู้รบและออกมาสวามิภักดิ์ด้วยอย่างดี จากนั้นก็ได้แยกย้ายกันไปตีหัวเมืองลื้อต่าง ๆ เช่น เมืองยู้ เมืองหลาย เมืองก๋าย เมืองเลน เมืองวะ เมืองลวง เมืองพะยาก เมืองขอน เมืองมาง

ในปี พ.ศ. 2438 มีการตั้งเมืองลำพูน พระเจ้ากาวิละโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหลวงคำฝั้นเจ้าเมืองลำพูนและเจ้าศรีบุญมาอุปราชเป็นผู้ปกครองลำพูนโดยให้นำครัวพระยาเมืองยองและไพร่ชาวยองที่กวาดต้อนมาจากเมืองยองและเมืองยู้เข้าไปเป็นกำลังสร้างเมืองลำพูน จึงปรากฏมีชาวยองในจังหวัดลำพูนตั้งแต่นั้นมา 

ลักษณะภูมิประเทศ

โดยทั่วไปของจังหวัดลำพูนเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา ระหว่างหุบเขาทั้ง 3 ด้านมีแม่น้ำสายหลัก ๆ ไหลผ่านคือแม่น้ำปิง แม่น้ำลี้และแม่น้ำทา พื้นที่ส่วนที่เป็นที่ราบลุ่มที่กว้างใหญ่และเด่นชัดเฉพาะบริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งได้แก่ ที่ตั้งของอำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าชาง และตอนเหนือของอำเภอบ้านโฮ่ง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1,502,000 ไร่ หรือ เท่ากับ 2 ใน 5 ของพื้นที่จังหวัดทั้งหมด บ้านศรีเมืองยู้ก็อยู่ในเขตพื้นที่ราบกว้างใหญ่ของจังหวัดเช่นกัน ทั้งชุมชนมีพื้นที่ 1,420 ไร่ แบ่งตามประโยชน์ใช้สอยได้ดังนี้คือ เป็นที่นา 562 ไร่ อีก 858 ไร่ เป็นพื้นที่สวนและที่อยู่อาศัย การตั้งหมู่บ้านจะขนานไปกับลำน้ำแม่กวง บ้านเรือนจะอยู่เป็นกระจุก ๆ แต่ละกลุ่มบ้านก็คือบรรดาญาติพี่น้องที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน

สภาพอากาศ บ้านศรีเมืองยู้ตั้งอยู่ในภาคเหนือโดยทั่ว ๆ ไปอากาศจึงค่อนข้างเย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25-27 องศาเซลเซียส

  • ฤดูร้อน  :  เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม อาจร้อนอบอ้าวเพราะเป็นพื้นที่ที่โอบล้อมไปด้วยทิวเขา อุณหภูมิประมาณ 30-40 องศาเซลเซียส
  • ฤดูฝน  :  เริ่มในเดือนมิถุนายน-ตุลาคม บรรยากาศรอบชุมชนดูเขียวขจีด้วยข้าวในนาและพืชพันธุ์ไม้ในไร่ในสวนกำลังเติบโต
  • ฤดูหนาว  :  เริ่มในเดือนพฤศจิกายน อากาศเริ่มเย็นและหนาวยิ่งขึ้นในเดือนธันวาคมและมกราคม โดยเฉพาะตอนใกล้รุ่งเช้าอากาศเย็นจัด มีหมอกลงมืดครึ้มไปทั่วจังหวัดลำพูน ช่วงกลางวันอาจมีลมพัดมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งทำให้อากาศเย็นมากขึ้นกว่าปกติ อุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ 10-18 องศาเซลเซียส

ลักษณะบ้าน บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นไม้ยกใต้ถุนสูง หลังคามุงกระเบื้องตามแบบบ้านทางภาคเหนือทั่ว ๆ ไป บ้านรุ่นใหม่รูปทรงคล้ายกับแบบบ้านชาวตะวันตก ความจริงอาจได้แบบอย่างมาจากอาคารบ้านเรือนตามโครงการจัดสรรที่มีอยู่มากในจังหวัดเชียงใหม่และชานเมืองลำพูน มีกระท่อมมุงหลังคาด้วยหญ้าคาเพียง 2-3 หลัง

การคมนาคม จากอำเภอเมือง ไม่มีรถยนต์โดยสารประจำทางผ่านชุมชน หากต้องการไปบ้านศรีเมืองยู้อาจว่าจ้างรถสามล้อหรือจักรยานยนต์รับจ้าง

บ้านศรีเมืองยู้มีประชากร 92 หลังคาเรือน มีประชากร 755 คน เป็นชาย 323 คน และเป็นหญิง 354 คน

ตามธรรมเนียมของยองบ้านศรีเมืองยู้นั้นทั้งลูกชายและลูกสาวมีสิทธิได้รับมรดกเท่าเทียมกัน สำหรับลูกชายนั้นจะถือว่าสินสอดและวัวควายที่พ่อแม่ให้เมื่อคราวแต่งงาน คือ ส่วนแบ่งในมรดกของครอบครัว ผู้ที่มีฐานะดีอาจปันที่นาไร่ให้ลูกชายอีกส่วนหนึ่ง บรรดาลูกสาวจะได้รับส่วนแบ่งที่นาไร่และของมีค่าประเภทเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ น้องสุดท้องหรือผู้ที่แต่งงานเป็นคนสุดท้ายในครอบครัวนอกจากจะได้รับส่วนแบ่งที่ดินเหมือนพี่น้องคนอื่น ๆ แล้วยังได้บ้านหลังเดิมของบรรพบุรุษเสมือนเป็นรางวัลที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่ชรา ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน มักไม่ค่อยได้ยกให้ลูกคนใดเป็นการเฉพาะแต่ลูกทุกคนก็สามารถหยิบยืมไปใช้การได้ เมื่อเสร็จกิจก็จะนำมาคืน เรือนหลังของบิดามารดาจึงคล้ายกับเป็นคลังพัสดุของทุก ๆ คนในวงศ์ตระกูล เครื่องมือทอผ้าก็เช่นกัน สำหรับผู้ที่อยู่บ้านพ่อแม่ยามชราลูกสะใภ้ก็จะได้เครื่องมือทอผ้าเป็นมรดกตกทอดจากแม่สามี

ยอง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางการเกษตร ชุมชนศรีเมืองยู้ปลูกข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นอาหารหลักของผู้คนในชุมชน ผลผลิตเก็บเกี่ยวที่ได้เฉลี่ย 1 ไร่จะได้ข้าวเปลือก 40-50 ถัง ครัวเรือนส่วนใหญ่มีที่นาประมาณ 7-8 ไร่ ผลผลิตข้าวที่ปลูกจึงเก็บไว้บริโภคเองในครอบครัว ผู้ที่ผลิตเกินความต้องการบริโภคก็ไม่ต้องเอาไปขายนอกชุมชนเพราะยังมีความต้องการบริโภคในท้องถิ่นอีกมาก  ทั้งนี้เพราะหลายรอบครัวมีที่นาเพียง 2-3 ไร่ และผู้ที่ไม่มีที่นาเลยก็มีอยู่มาก บางครอบครัวไม่ได้ทำนาเองเพราะผู้นำครอบครัวสูงอายุและลูกหลานก็มีการงานอย่างอื่นทำเป็นประจำ จึงให้ผู้อื่นเช่าที่นาของตนโดยแบ่งผลผลิตข้าวเปลือกกันมากกว่าจะคิดค่าเช่าเป็นเงิน ในฤดูหนาว ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ชาวบ้านปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลประเภทที่ต้องการอากาศหนาวเย็นเพื่อการติดดอกออกผล เช่น ผักกะหล่ำดอก และแคนตาลูป ไม้ผลอย่างลิ้นจี่และลำใยในสวนบ้านศรีเมืองยู้จะมีดอกและติดผลดกมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับความหนาวเย็นของอากาศด้วยส่วนหนึ่ง

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ พิจารณาจากการประกอบอาชีพแล้วพบว่าในชุมชนมีผู้ประกอบการหลากอาชีพสามารถไล่เรียงตามลำดับจากมากที่สุด ได้ดังนี้ ทำนา ทำสวนและไร่ ค้าขาย รับจ้างและทำงานตามสำนักงาน

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม วัดศรีเมืองยู้เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่ผู้คนส่วนใหญ่จะได้เข้ามาพบสังสรรค์กัน ชาวยองเป็นพุทธมามะกะที่เคร่งครัดต่อการทำบุญทำทานอยู่มาก ในชุมชนมีพิธีประเพณีทั้งเนื่องด้วยพุทธาศาสนาและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อผี ดังปฏิทินประเพณีพิธีกรรม ดังนี้

  • เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม) : ออกพรรษา ทำบุญ ฟังธรรม ดำหัวคนเฒ่าเพื่อขอพร ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า
  • เดือนยี่ : ทอดยี่เป็ง (ลอยกระทง)
  • เดือนสาม : บุญทานข้าวใหม่
  • เดือนสี่ : ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน
  • เดือนห้า : มาฆะบูชา ปอยน้อย
  • เดือนหก : ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือนเจ็ด : ปอยหลวง สงกรานต์ เซ่นผีเมือง เลี้ยงผีปู่ย่า และเลี้ยงผีพ่อบ้าน
  • เดือนแปด : วิสาขะบูชา
  • เดือนเก้า : แฮกนา
  • เดือนสิบ : บุญเข้าพรรษา
  • เดือนสิบเอ็ด : ไม่ปรากฎประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
  • เดือนสิบสอง : ตานก๋วยสลาก

1. นายบงกช บุญมาทัน ผู้ใหญ่บ้าน

ทุนทางกายภาพ

ในอดีตก่อนที่จะมีการสร้างถนนขนานไปตามริมฝั่งแม่น้ำแม่กวงนั้น ในฤดูน้ำหลากระดับน้ำจากแม่น้ำแม่กวงซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำปิงมักจะไหลเอ่อเข้าท่วมบริเวณสองฝั่งรวมไปถึงบริเวณไร่นาและพื้นที่อยู่อาศัย จึงทำให้มีตะกอนดินขึ้นมาทับถมตามบริเวณที่น้ำท่วมอยู่เสมอ ดินในแถบนี้จึงเหมาะต่อการเพาะปลูกมาก  เป็นดินสีดำมีคุณสมบัติระบายน้ำได้ดี ประอบกับพื้นที่ชุมชนอยู่ริมลำน้ำสามารถสูบน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรได้ไม่ยาก การทำนา ทำสวนผักและสวนผลไม้โดยเฉพาะลำใยในแถบนี้จึงได้ผลดีอยู่เสมอ น้ำในลำน้ำแม่กวงนอกจากจะมีความสำคัญทางการเกษตรแล้วยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อบริโภคของชาวบ้านมาตั้งแต่อดีต ความสำคัญข้อนี้เพิ่งจะลดลงไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เมื่อหมู่บ้านมีประปาใช้แล้ว กระนั้นผู้ที่อยู่ริมฝั่งน้ำหลายครอบครัวก็ยังลงไปซักผ้าและล้างภาชนะหุงต้มในลำน้ำอยู่บ่อย ๆ

ทุนทางวัฒนธรรม

ทอผ้า ชาวบ้านมีประสบการณ์ทอผ้ามาตั้งแต่อดีต ปู่ย่าตายายจะทอผ้าเพื่อทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มใช้กันเองภายในครัวเรือน ต่อมาแม้จะซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากตลาดใช้กันเป็นประจำ แต่สตรีในชุมชนก็ยังใช้ความรู้และประสบการณ์ด้านนี้ โดยรับจ้างทอผ้าให้กับนายทุนเพื่อส่งขาย โดยมากจะทอผ้าที่มีลวดลายในตัวเพื่อใช้ทำผ้าซิ่นและผ้าตัดเสื้อเป็นหลัก ช่างทอผ้าบ้านศรีเมืองยู้ 4-5 รายรับจ้างทอผ้าจกยกดอก ลวดลายผ้าจกยกดอกที่เคยทำกันมาตั้งแต่อดีตคือ ลายดอกแก้ว(ดอกพิกุล) ลายเกล็ดเต่า ลายผักแว่น ลายดอกสร้อยตัวหนอน ลายจันทร์คว่ำจันทร์หงาย ลายดูกงู แต่ลวดลายเหล่านี้นับวันก็จะค่อย ๆ หายไปจากชุมชนเช่นเดียวกับผ้าซิ่นพื้นเมืองซึ่งมีอยู่ 4 แบบ คือ ซิ่นตีนเตาะ ซิ่นตีนป้าน ซิ่นสามแลว และซิ่นตีนลวด

ช่างไม้ ผู้ชายชาวยองบ้านศรีเมืองยู้มีชื่อเสียงด้านงานช่างไม้มานาน สมัยก่อนเมื่อหมดฤดูมาจะรับจ้างปลูกบ้านทั้งในและนอกชุมชน บางรายมีความถนัดในการทำเครื่องเรือนเป็นพิเศษก็จะหาไม้สักมาแปรรูปเป็นโต๊ะ ตู้และเตียงขายในอำเภอเมืองลำพูน มาในระยะหลังความต้องการตลาดเครื่องเรือนจากที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ อย่างเช่นที่เชียงใหม่มีมากขึ้น ชาวบ้านศรีเมืองยู้ได้ยึดอาชีพการทำเครื่องเรือนเป็นงานหลักโดยรับจ้างทำเครื่องเรือนตามแบบที่สั่งเข้ามา 

ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงพูดภาษาถิ่นของตน โดยเฉพาะคนรุ่นปู่ย่าตายายจะใช้ภาษาถิ่นตลอดเวลาที่สนทนากับผู้คนท้องถิ่นด้วยกัน ลักษณะเด่นของภาษายองที่แปลกไปจากสำเนียงพูดของคนยวน (คนเมือง) คือการออกสำเนียงสระ โ- (โอ) จะออกเป็น อัว คำว่าหัว สำเนียงยองจะเป็น โห หอมบั่ว (ภาษาคำเมืองหมายถึงหัวหอม) ยองออกเสียงเป็นหอมโบ่ ยองจะใช้สระเออแทนสระเอือ คำเมืองว่าเกลื๋อ (เกลือ) ยองออกเสียงเป็น เก๋อ สระแม่กมและแม่กนจะใช้เสียงสระแม่กุ๋มหรือแม่กุนแทน 


ชุมชนบ้านศรีเมืองยู้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองลำพูนและสังคมเมืองเชียงใหม่มาน นับตั้งแต่เริ่มสร้างชุมชนเมื่อครั้งสมัยพระเจ้ากาวิละ เวลาแห่งการสัมพันธ์กับภายนอกที่ยาวนานน่าจะมีผลให้รูปแบบดั้งเดิมในแบบแผนความเป็นอยู่ของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กรณีของบ้านศรีเมืองยู้ที่เห็นได้ชัดคือการเปลี่ยนแบบแผนการผลิตบางส่วนที่เคยเป็นไปเพื่อการยังชีพก็หันไปทำเพื่อการค้าขาย การเลิกปลูกฝ้ายและพืชผักหลายชนิดรวมทั้งพืชไร่พันธุ์ต่าง ๆ เพราะต้องการใช้พื้นที่แห่งเดียวกันนั้นทำเป็นสวนลำใย

รวมไปถึงหัตถกรรมการทอผ้าที่ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่เป้าหมายการผลิตและสิ่งทอที่ผลิตรวมทั้งสีสันและลวดลายผ้าก็ไม่ได้เหมือนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเมื่อ 40-50 ปีก่อน การหัตถกรรมผ้าพื้นเมืองถูกกำหนดจากตลาดโดยสิ้นเชิง พ่อค้าคนกลางเป็นผู้ออกแบบหรือนำรูปแบบลวดลายที่ตลาดต้องการมาว่าจ้างให้ชาวบ้านทำ


คนวัยหนุ่ม – สาวซึ่งจบการศึกษาภาคบังคับหรือสูงกว่านั้นพากันออกจากศรีเมืองยู้ไปหางานทำตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หรือหาดใหญ่ นับวันคนเหล่านี้จะค่อย ๆ ถูกตัดขาดออกไปจากชุมชนเพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตอยู่ต่างถิ่น หลายคนกลับมาเยี่ยมญาติพี่น้องในตอนเทศกาลงานบุญบ้าง แต่ก็อาจจะมีความรู้สึกแปลกแยกบางอย่างต่อชุมชนเพราะความสับสนหรือการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่กับเก่าที่แตกต่างกัน 


ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเพณีกินแขก (การแต่งงาน) ที่คนรุ่นเก่ารู้สึกว่าการประกอบพิธีกรรมตามขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การไขว้ผี ที่เจ้าบ่าวจะจัดเสื้อผ้าและอาหารมาเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษฝ่ายหญิงและการบายศรีสู่ขวัญบ่าวสาวได้ย่นย่อลงไป ขณะที่ความสำคัญของงานไปอยู่ที่การกินเลี้ยงแบบโต๊ะจีน การกล่าวปราศรัยและการอวยพรสลับกับการแสดงดนตรีบนเวทีที่หามาเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับเจ้าภาพ วิถีชีวิตของชาวยองบ้านศรีเมืองยู้ในภายภาคหน้าก็คงจะผันแปรไปมากกว่านี้เพราะการติดต่อกับภายนอกนับวันจะมีมากขึ้น

จังหวัดลำพูนได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ปลูกลำใยมากที่สุดในประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพการทำสวนลำใยและส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่น ทางจังหวัดได้จัดให้วันเสาร์ - อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคมของทุกปีเป็นงานวันลำใย ในวันเปิดงานจะจัดขบวนแห่รอบเมือง ขบวนแห่ตกแต่งด้วยลำไยและมีการแสดงที่เป็นลักษณะของวัฒนธรรมล้านนา ในบริเวณงานมีการประกวดต่าง ๆ เช่น การตกแต่งรถขวบแห่ ประกวดลำใยและธิดาลำใย ชุมชนบ้านศรีเมืองยู้มีส่วนร่วมกับเทศกาลนี้ด้วยดีตลอดมา ใคร ๆ ก็หวังว่าผู้ชนะประกวดธิดาลำใยก็อาจจะมีสิทธิ์ไปลุ้นตำแหน่งนางสาวเชียงใหม่หรือนางสาวไทยในโอกาสต่อ ๆ ไป

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2544). ประมวลข้อมูลพื้นฐานชุมชนในมิติทางมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. ค้นคืนเมื่อ 20 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=12

ที่เที่ยว . (ม.ป.ป.). หมู่บ้านหัตถกรรมผ้าฝ้ายเวียงยองและขัวมุงท่าสิงห์. ค้นคืนเมื่อ 20 เมษายน 2566 , จาก http://www.teethiao.com/th/view_travel.php?tid=3180

เทศบาลตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน . (ม.ป.ป.). ประวัติและข้อมูลสภาพทั่วไป. ค้นคืนเมื่อ 20 เมษายน 2566 , จาก https://wiangyong.go.th/public/list/data/index/menu/1142

เที่ยวลำพูน . (ม.ป.ป.). หัตถกรรมปูนปั้นบ้านศรีเมืองยู้ เวียงยอง. ค้นคืนเมื่อ 20 เมษายน 2566 , จาก http://travel.lamphunpao.go.th/

อีสานร้อยแปด . (ม.ป.ป.). กลุ่มทอผ้าศรีเมืองยู้ (หมู่บ้านหัตถกรรมผ้าฝ้ายเวียงยอง). ค้นคืนเมื่อ 20 เมษายน 2566 , จาก https://esan108.com/place/

ThaiTour . (ม.ป.ป.). กาดขัวมุง. ค้นคืนเมื่อ 20 เมษายน 2566 , จาก https://www.thai-tour.com/place/663

 

เทศบาลเวียงยอง โทร. 0-8356-0988