
“สปันก้าวหน้า พัฒนาคุณภาพชีวิต ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน แก้ปัญหาความยากจนยั่งยืน”
เหตุที่ชื่อบ้านสปัน เพราะมีลําน้ำปันไหลผ่าน ชาวบ้านเรียกว่า “สบปัน” ก่อนเพี้ยนมาเป็น “สปัน” ดังปัจจุบัน
“สปันก้าวหน้า พัฒนาคุณภาพชีวิต ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน แก้ปัญหาความยากจนยั่งยืน”
สปัน เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ตั้งมานานหลายร้อยปีโดยการนําของเจ้าพ่อพญาตึ๋น แรกเริ่มเป็นเพียงเป็นหมู่บ้านเดียวเล็ก ๆ ต่อมามีบ้านบริวารอพยพมาอยู่ด้วย คือ บ้านเด่น บ้านนาโป่ง บ้านห้วยข่า บ้านป่าก๋อ บ้านนาปู ตั้งกระจัดกระจายอยู่ตามหย่อมบ้าน กลายเป็นหมู่บ้านใหญ่และมีประชากรมาก
เหตุที่ชื่อบ้านสปัน เพราะมีลําน้ำปัน (เกิดจากน้ำตกสปัน) ไหลผ่าน เดิมตั้งอยู่ในเขตอําเภอปัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 มีการแข่งเขตการปกครองใหม่ บ้านสปันจึงได้ย้ายมาขึ้นกับตําบลบ่อเกลือเหนือ กิ่งอําเภอบ่อเกลือ และในปี พ.ศ. 2538 ได้เปลี่ยนจากกิ่งอําเภอเป็นอําเภอบ่อเกลือ และได้มีการแบ่งเขตการปกครองใหม่อีก ในครั้งนี้บ้านสปันได้เปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 1 ตําบลดงพญา อําเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เรื่อยมาจนปัจจุบัน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสว้าใต้ ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านนาบง ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติขุนน่าน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านป่าบง ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
สภาพภูมิศาสตร์
สภาพพื้นที่ของชุมชนโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับหุบเขาน้อยใหญ่ และมีพื้นที่ราบลุ่มลำน้ำว้าและลําน้ำปาด ซึ่งชาวบ้านได้ใช้เป็นพื้นที่นาสําหรับการปลูกข้าวและปลูกพืชผัก ทั้งยังมีแหล่งน้ำสําคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนภายในชุมชน ได้แก่ ลําน้ำว้า ลําน้ำปัน ห้วยนัวะ ห้วยต้า ห้วยแกะ ห้วยว่าน ห้วยจะรอง ห้วยจ้าง ห้วยแต้ ห้วยอ่าง ห้วยข่า ห้วยแฟน ห้วยลึก ห้วยสะลุน ห้วยปาน ซึ่งเป็นแหล่งกําเนิดประปาภูเขาหมู่บ้าน ลําห้วยทั้งหมดนี้จะไหลลงสู่ลำน้ำว้า อันเป็นลําน้ำสายหลักที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการหาอาหาร เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย ผักกูดและพืชผักชนิดอื่น ๆ
ทรัพยากรป่าไม้
ป่าไม้ในพื้นที่หมู่บ้านสปันถือว่ายังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าชุมชนของหมู่บ้าน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ ลักษณะเป็นป่าดิบเขา มีความชื้นสูง และมีต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดปี รวมถึงมีความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ และภายในผืนป่าของหมู่บ้านยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่ชาวบ้านได้ใช้ในการอุปโภค บริโภค โดยป่าในชุมชนบ้านสปันสามารถจําแนกได้ ดังนี้
1. ป่าอนุรักษ์ เป็นป่าที่ห้ามตัดต้นไม้และใช้ประโยชน์ใด ๆ เพราะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ เชื่อว่ามีเทวดา เจ้าป่า เจ้าเขา และผีบรรพบุรุษดูแลรักษา ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำให้ชาวบ้านเคารพและหวงแหนรักษาป่า โดยการนําเอาความเชื่อในเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์
2. ป่าชุมชน คือ บริเวณส่วนที่เป็นทั้งป่าต้นน้ำและป่าที่ชาวบ้านได้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการเก็บพืชผัก เห็ด ฟืน ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อห้ามว่าห้ามทําไร่ข้าวในเขตป่าชุมชน ห้ามมีการบุกรุกแผ้วถางป่าด้วยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และมีกฎระเบียบการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันร่างขึ้น และยึดถือปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งป่าชุมชนจะอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านติดแนวเขตอุทยานขุนน่าน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านสปัน ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,335 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 688 คน ประชากรหญิง 647 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 458 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
อาชีพที่ชาวบ้านทํากันและสามารถพบเห็นได้ในชุมชน หลัก ๆ สามารถจําแนกได้ ดังนี้
1.การทํานา ถือเป็นอาชีพที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมาช้านาน เกือบทุกครัวเรือนประกอบ อาชีพทํานา เนื่องจากสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านติดกับลำลําน้ำว้าและลำน้ำปาด ทําให้มีพื้นที่ราบสําหรับทํานา โดยในรอบ 1 ปี ชาวบ้านจะเริ่มทํานาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน หลังจากเสร็จสิ้นการปลูกข้าวแล้ว ชาวบ้านแต่ละครอบครัวก็จะดูแลแปลงนาของตนเองจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว โดยจะเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน ผลผลิตข้าวที่ได้ในแต่ละปีขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จํานวนแปลงนาของแต่ละครัวเรือน สภาพภูมิอากาศในพื้นที่หนาวเย็นและมีฝนตกชุก หรือปัญหาน้ำท่วมพื้นที่นา การดูแลเอาใจใส่แปลงข้าว โดยเฉพาะการถอนหญ้าในนา รวมถึงแมลง สัตว์ โดยเฉพาะหนูที่เข้ามากัดกินต้นข้าวทําลายผลผลิต ส่งผลต่อปริมาณข้าวในแต่ละปี ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน
2.การทําไร่ ถือเป็นอาชีพที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมาช้านาน ในอดีตเกือบทุกครัวเรือน ประกอบอาชีพทําไร่ เนื่องจากมีพื้นที่นามีน้อย ผลผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค ชาวบ้านจึงแก้ปัญหาด้วยการทําไร่ข้าวเพิ่ม โดยในรอบ 1 ปี ชาวบ้านจะใช้เวลาอยู่ในไร่เป็นส่วนใหญ่ ภายในพื้นที่ไร่ยังมีการปลูกพืชผักหลากหลายชนิดรวมอยู่ด้วย เช่น ฟักทอง ฟักเขียว มันสําปะหลัง มะนอย (บวบ) มันอ่อน มันพร้าว แตง ถั่ว พริก ข้าวโพด ผักกาด ผักอีหลีน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการทําไร่แบบผสมผสานและเป็นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามวิถีชีวิตของคนในชุมชน
3.การปลูกพืชหลังฤดูกาลทำนา ภายหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จสิ้นราวเดือนพฤศจิกายน-เมษายนของทุกปี ชาวบ้านนิยมปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะพืชผักเมืองหนาว เช่น ผักกาด กะหล่ำ ข้าวโพดหวาน ฟักทอง กระเทียม หอมแดง ต้นหอม ผักชี และพืชผักชนิดต่าง ๆ ลงในแปลงนา ทั้งที่ปลูกไว้บริโภคในครัวเรือนและจําหน่ายเป็นรายได้ ซึ่งการปลูกพืชผักดังกล่าว ชาวบ้านจะไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง ทําให้พืชผักมีราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยกลุ่มผู้ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงในพื้นที่อําเภอบ่อเกลือ
4.การรับจ้าง ถือเป็นอาชีพที่เสริมรายได้เป็นเงินตราให้แก่คนในชุมชน การรับจ้างมี 2 ลักษณะ ดังนี้
- รับจ้างในชุมชนหรือชุมชนใกล้เคียง เช่น ชาวบ้านไปรับจ้างปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ที่บ้านนาปู บ้านสะว้า แต่ถือเป็นการรับจ้างตามฤดูกาล โดยส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มของผู้หญิง ส่วนผู้ชายจะเป็นการรับจ้างในการใช้แรงงาน เช่น การรับจ้างสร้างบ้าน
- รับจ้างภายนอกชุมชน การรับจ้างในลักษณะนี้จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือน ซึ่งจะเป็นการไปทํางานต่างถิ่น เช่น ถ้าไปทํางานที่กรุงเทพฯ ลักษณะของงานที่ทําเป็นแรงงานไร้ฝีมือ คือ ไปทํางานก่อสร้าง การทํางานในโรงงาน ต่อมาเมื่อประชากรในหมู่บ้านที่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ทําให้การประกอบอาชีพรับจ้างมีการพัฒนา โดยจะเป็นการทํางานในบริษัท ห้างร้าน ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถและทักษะที่สูงขึ้นและได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า และจะกลับมาเยี่ยมบ้านอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่และวันสงกรานต์
5.การเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย สุกร เป็ดไก่
6.การค้าขาย เป็นอาชีพเสริมอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนนอกเหนือจากการรับจ้างและการเลี้ยงสัตว์ แต่สินค้าที่นํามาขายในชุมชนจะมีราคาสูงกว่าปกติเล็กน้อย เพราะต้องเสียค่าขนส่งซึ่งมีระยะทางที่ไกลและยากลําบาก
อนึ่ง เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์และงดงามของทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดจากความเพียรพยายามของชาวบ้านในการร่วมแรง ร่วมใจ อนุรักษ์ ดูแล ฟื้นฟู ประกอบกับความเงียบสงบกลางขุนเขา ส่งผลให้บ้านสปันเริ่มกลายเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักท่องเที่ยวที่ต้องการแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวที่เงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดกำเนิดของธุรกิจภาคการท่องเที่ยวขนาดย่อม ๆ ในชุมชนบ้านสปัน มีการก่อสร้างโฮมสเตย์ทั้งน้อยใหญ่ ถนนคนเดินบ้านสปัน และอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสามารถสร้างทั้งรายได้ และยังเป็นการรักษาจำนวนแรงงานในชุมชนไม่ให้หลั่งไหลออกนอกชุมชนด้วย
ศาสนา
ชาวบ้านสปันได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนามาจากชาวพื้นเมืองภาคเหนือมาแต่โบราณ ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการนับถือผีซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนในชุมชน ภายในหมู่บ้านมีวัดประจําหมู่บ้าน คือ วัดสะปัน โดยในแต่ละช่วงปีจะมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ เช่น การตักบาตรทุกวันพระ การฟังธรรม การถวายองค์ผ้าป่า ถวายกฐิน สรงน้ำพระในวันสงกรานต์
ความเชื่อเรื่องผี
ความเชื่อในเรื่องผีในชุมชนบ้านสปันแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. ผีที่ทําหน้าที่คุ้มครองดูแล (ผีดี) ได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเรือน ผี แม่น้ำ ผีพระแม่ธรณี เป็นต้น ซึ่งเป็นผีที่ดีทําหน้าที่คุ้มครองดูแลให้ชาวบ้านมีความสุข ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยดูแลผลผลิตในนาให้เจริญงอกงาม สัตว์ป่า โรค แมลงไม่มารบกวน และมีผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี ซึ่งชาวบ้านจะมีการประกอบพิธีเลี้ยงผีเหล่านี้เป็นประจําทุกปีตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต จนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งการประกอบพิธีจะมีทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน
2. ผีที่ทําให้เป็นอันตราย ได้แก่ ผีป่า ผีเขา ผีตายโหง ผี เร่ร่อน เจ้าที่เจ้าทาง ชาวบ้านจะเชื่อว่าผีเหล่านี้ทําให้เกิดการเจ็บป่วย เมื่อชาวบ้านได้รับการเจ็บป่วยก็ต้องไปดูหมอเพื่อเสี่ยงทายว่าการเจ็บป่วยดังกล่าวเกิดจากการกระทําของสิ่งใด อาจเกิดจากการไปลบหลู่เจ้าที่เจ้าทาง ทําให้ผีต่าง ๆ โกรธ เมื่อชาวบ้านทราบแล้วว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทําของสิ่งใด จากนั้นชาวบ้านจะต้องนําเอาของไปเซ่นไหว้เพื่อต้องการให้ผียกโทษให้และไม่มาทําร้ายอีก
ประเพณีและพิธีกรรมสำคัญ
1. เลี้ยงเจ้าพ่อพญาตึ๋น มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปี ในช่วงวันขึ้นเก้าค่ำ เดือนเก้า แต่ต้องเป็นเดือนเก้าของทางภาคเหนือเท่านั้น
2. ประเพณีสงกรานต์ ในวันที่ 13-16 เมษายน ของทุกปี ซึ่งจะมีการรดน้ำดําหัวผู้สูงอายุ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เข้าวัดฟังเทศน์ ฟังธรรม
3. การเลี้ยงผีปู่ย่า ตายาย ระยะเวลาขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มเครือญาติจะเป็นผู้กําหนดวันเวลาในแต่ละปี ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงของเซ่นไหว้ผีปู่ย่าก็แตกต่างกัน
4. การสู่ขวัญควาย ช่วงระยะเวลาหลังจากการดํานา โดยการนําเอาควายทุกตัวที่ดํานามาทําพิธีบายศรีสู่ขวัญ
การสร้างบ้านเรือน
บ้านเรือนแบบเก่าของชาวบ้านสปัน มีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียว หลังคามุงด้วยหญ้าคา ตัว บ้าน ฝาบ้าน เสาบ้าน โครงบ้านทําจากไม้เนื้อแข็ง ภายในบ้านจะจัดเป็นสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องครัว ส่วนใต้ถุนบ้านจะเป็นที่เก็บไม้ฟืนและที่สําหรับนั่งเล่น ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนตัวบ้านและหลังคาเป็นการมุงด้วยสังกะสี หรือกระเบื้อง ในปัจจุบันบ้านแบบใหม่จะสามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยมีลักษณะเป็นทั้งบ้านชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง บ้านสองชั้น ด้านล่างก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ส่วนโครงสร้างต่าง ๆ ทําจากไม้เนื้อแข็งทั้งหมด รวมถึงบ้านที่ก่อด้วยปูน ภายในบ้านยังคงจัดไว้เป็นสัดส่วนตามแบบดั้งเดิม
1.นายเขียว อิดสุด : ปราชญ์ด้านหมอสู่ขวัญ
2.นายปิม ใจปิง : ปราชญ์ด้านจักสาน
3.นายแก้ว ใจปิง : ปราชญ์ด้านยาแผนโบราณ
4.นายวัน อินสุด : ปราชญ์ด้านหมอสู่ขวัญ
5.นางจม อินสุด : ปราชญ์ด้านจักสาน
6.นางใบ อินสุด : ปราชญ์ด้านจักสาน
7.นางดวงจันทร์ ใจปิง : ปราชญ์ด้านจักสาน
8.นายผัด โนใจ : ปราชญ์ด้านยาสมุนไพร
9.นายหล้า อินสุด : ปราชญ์ด้านจักสาน
ทุนธรรมชาติ : แหล่งอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติบ้านสปัน
1.น้ำตกสปัน ถือเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดในพื้นที่อําเภอบ่อเกลือ มีทั้งหมด 3 ชั้น ถือเป็นจุดท่องเที่ยวที่สําคัญแห่งหนึ่งของอำเภอบ่อเกลือ และบริเวณที่ตั้งของน้ำตกสปันยังปกคลุมไปด้วยผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มากและมีความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสําคัญที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ทั้งจากการนํามาอุปโภค บริโภค โดยผ่านระบบการจัดการประปาภูเขา
2.แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาบ้านสปัน เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของหมู่บ้าน แหล่งอนุรักษ์ดังกล่าวตั้งอยู่ที่ลําน้ำว้าที่ไหลผ่านหมู่บ้าน บริเวณสะพานเชื่อมระหว่างบ้านสปันไปทางบ้านมาโป่ง โดยมีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีการจัดตั้งกฎระเบียบในการห้ามจับสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว กระทั่งปัจจุบันมีพันธุ์ปลาหลากหลายชนิดอาศัยอยู่และแพร่ขยายพันธุ์ไปนอกเขตอนุรักษ์ ซึ่งชาวบ้านสามารถจับสัตว์น้ำมาบริโภคในครัวเรือนได้
3.น้ำตกบ้านเด่น (หย่อมบ้านของบ้านสปัน) อยู่ห่างจากบ้านสปันประมาณ 2 กิโลเมตร นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางไปเที่ยวชมความงามของน้ำตกบ้านเด่นและศึกษาความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติได้ตลอดทั้งปี
4.ล่องแพลําน้ำว้า ถือเป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของหมู่บ้านสปัน เนื่องจากลําน้ำว้ามีขนาดกว้างและลึกพอที่จะสามารถล่องแพได้ รวมถึงยังสามารถสัมผัสความสวยงามของผืนน้ำและผืนป่าสองฟากฝั่งได้ ปัจจุบันมีนักธุรกิจเอกชนต่างถิ่นได้เข้ามาจัดกรุ๊ปทัวร์สําหรับการล่องแพในลำน้ำนี้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านมีความคิดเห็นร่วมกันว่า ชุมชนควรจะเข้ามาจัดการเอง เพราะการดําเนินการล่องแพของธุรกิจทัวร์เอกชนชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์และไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจดังกล่าว เพราะความงดงามที่นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสล้วนมาจากการร่วมแรง ร่วมใจอนุรักษ์ผืนป่าและแหล่งน้ำของคนในชุมชนทั้งในหมู่บ้านสปันและหมู่บ้านใกล้เคียงสองฟากฝั่งลำน้ำน้ำว้าแห่งนี้
เนื่องจากชาวบ้านสปันเป็นชาวไทยล้านนา (คนเมือง) จึงมีภาษาท้องถิ่น คือ ภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือคําเมือง ทั้งนี้ ชาวบ้านสามารถพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา คือ คําเมืองและภาษาไทยกลาง นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่สามารถสื่อสารภาษาลัวะได้ด้วย
เมธวัฒน์ พุทธิธาดากุล และคณะ. (2556). แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติชุมชนบ้านสะปัน หมู่ 1 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
Hashcorner. (2564). รีวิว บ้านสะปัน x น่าน : ความสงบโอบกอดด้วยภูเขา. สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.hashcorner.com/