บ้านเปิ่งเคลิ่ง ชุมชนพหุวัฒนธรรมกับความหลากหลายของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการปรับตัวอยู่ร่วมกันของชาวบ้าน ทรัพยากรในท้องถิ่น และการปลูกไม้ผลที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
“เปิ่งเคลิ่ง” เป็นภาษามอญ มีความหมายว่า “หมู่บ้านใต้ท้องเรือ” มีสาเหตุมาจากสภาพภูมิศาสตร์ชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มหุบเขา โดยมีแนวเทือกเขาขนาบทั้งสองข้าง ทำให้พื้นที่ชุมชนมีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายท้องเรือ
บ้านเปิ่งเคลิ่ง ชุมชนพหุวัฒนธรรมกับความหลากหลายของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการปรับตัวอยู่ร่วมกันของชาวบ้าน ทรัพยากรในท้องถิ่น และการปลูกไม้ผลที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
การเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณชุมชนบ้านเปิ่งเคลิ่งเริ่มต้นขึ้นในราวปี พ.ศ. 2437 โดยมีกลุ่มชาวบ้านจากแถบพื้นที่ประเทศเมียนมาอพยพเข้ามายังพื้นที่ และกลุ่มชาวไทยในพื้นที่รวมตัวกันจนกลายเป็นชุมชน ในระยะแรกมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 6 ครอบครัว ทำการเกษตรในพื้นที่เพื่อหาเลี้ยงชีพ และได้ตั้งชื่อชุมชนว่า “เปิ่งเคลิ่ง” เป็นภาษามอญ มีความหมายว่า “หมู่บ้านใต้ท้องเรือ” มีสาเหตุมาจากสภาพภูมิศาสตร์ชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มหุบเขา โดยมีแนวเทือกเขาขนาบทั้งสองข้าง ทำให้พื้นที่ชุมชนมีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายท้องเรือ ทั้งพื้นที่ชุมชนยังเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก มีสัตว์ต่าง ๆ ชุกชุม เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียงที่เข้ามาล่าสัตว์ป่า ทำให้ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์เพื่อกันพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นเขตอภัยทานห้ามล่าสัตว์ คือ “วัดเปิ่งเคลิ่งธรรมถาราม” หรือ วัดเก่า
ต่อมามีชาวบ้านจากพื้นที่ใกล้เคียงย้ายเข้ามาอาศัยอยู่รวมด้วย ทั้งจากหมู่บ้านรอบนอก จังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงจากฝั่งประเทศเมียนมาร์ก็มีการอพยพเข้ามาในพื้นที่เช่นเดียวกัน ทำให้ชุมชนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในระยะหลังจึงได้มีการสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นอีกหนึ่งแห่งในปี พ.ศ. 2522 คือ “วัดเปิ่งเคลิ่งสามัคคีวราราม” หรือ "วัดใหม่"
ในปี พ.ศ. 2519 กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เข้าบุกรุกชุมชนบ้านเปิ่งเคลิ่งและยึดครองพื้นที่ชุมชนในวันที่ 12 สิงหาคม ในปีเดียวกัน ทำให้หมู่บ้านอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนานกว่า 6 ปี จนทางรัฐบาลยึดพื้นที่คืนได้สำเร็จในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ทำให้ชุมชนได้รับการดูแลและพัฒนามากยิ่งขึ้น และกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านเปิงเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 12.7 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ทำกินประมาณ 7 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่อยู่อาศัยประมาณ 5.7 ตารางกิโลเมตร บริเวณที่ตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่เขตชายแดนประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ ลักษณะภูมิประเทศและสภาพภูมิศาสตร์ชุมชนล้อมรอบไปด้วยภูเขาคือเทือกเขาธงชัย หรือเทือกเขามะม่วงสามหมื่นในเขตประเทศไทย และเทือกเขาด่าวน่าในฝั่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ที่ทอดตัวขนานกันตามแนวเหนือใต้ พื้นที่ชุมชนตั้งอยู่บริเวณหุบเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 120 เมตร โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านกุยเลอตอ ตำบลอุ้มผาง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเลตองคุ ตำบลอุ้มผาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านกุยเคลอะ ตำบลอุ้มผาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยแดน
บ้านเปิงเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ประชากรมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ปกาเกอะญอ ลาว ปะโอ และคนพื้นเมือง โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 9 บ้านเปิงเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 4,314 คน แยกเป็นประชากรชาย 2,230 คน ประชากรหญิง 2,084 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 980 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ปกาเกอะญอ, ปะโอบ้านเปิงเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนจะประกอบอาชีพหลักด้านการทำเกษตรกรรม เนื่องจากบริเวณชุมชนเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมต่อการปลูกพืชหลากหลายชนิด ทั้งการทำนา ทำสวนผลไม้ ทำไร่ ทำสวนยางพารา โดยพืชส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านนิยมปลูกคือ หมาก และพริก ทั้งนี้สภาพภูมิอากาศของชุมชนยังมีความเหมาะสมต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิดที่พื้นที่อื่นในบริเวณรอบนอกและจังหวัดใกล้เคียงไม่สามารถปลูกได้ โดยพืชเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นพืชสวน ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลูกเนียง ฯลฯ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ การประกอบอาชีพค้าขาย และอาชีพรับจ้างทั่วไป
บ้านเปิงเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทั้งวิถีชีวิต และวิถีวัฒนธรรมของชุมชน โดยบ้านเปิงเคลิ่งมีศาสนสถานประจำชุมชนอยู่สองวัด ประกอบด้วยสำนักสงฆ์เปิงเคลิ่งธรรมถาราม (วัดเก่า) มีการสวดมนต์เป็นภาษากะเหรี่ยง และสำนักสงฆ์เปิงเคลิ่งสามัคคีวราราม (วัดใหม่) มีการสวดมนต์เป็นภาษาพม่า นอกจากนี้ในพื้นที่ชุมชนยังมีโบสถ์คริสต์อีกหนึ่งแห่ง เป็นศาสนสถานของชาวบ้านกลุ่มคริสเตียนที่ได้รับการเผยแผ่ศาสนาจากมิชชันนารี ชาวบ้านส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันและเกี่ยวเนื่องกับวิถีแบบพุทธศาสนา ทั้งความเชื่อและวิถีปฏิบัติ มีการเข้าวัดทำบุญอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญทางศาสนา และประเพณีสำคัญของชุมชนที่ชาวบ้านจะมีการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น กี้จือลาขุ (มัดมือกะเหรี่ยง) เบิงกู่ตะ (งานบวชลูกแก้ว) ฯลฯ
ทรัพยากรธรรมชาติ
1. ทรัพยากรป่าไม้ พื้นที่ชุมชนบ้านเปิ่งเคลิ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของพืชพรรณ โดยไม้สำคัญที่พบได้ในพื้นที่ เช่น มะค่าโมง แดง ประดู่ มะม่วงป่า พะยอม งิ้วป่า และไผ่ชนิดต่าง ๆ เช่น ไผ่หนาม ไผ่ซาง ไผ่ไร่ ไผ่รวก
2. ทรัพยากรดิน สภาพดินในพื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นดินแดงภูเขาที่มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำไว้ได้ดี พื้นที่บริเวณริมลำห้วยและฝั่งแม่น้ำจะเป็นดินร่วน และดินร่วมปนทราย มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืช
3. ทรัพยากรน้ำ พื้นที่ชุมชนบ้านเปิ่งเคลิ่งเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและมีแหล่งป่าต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาธงชัยห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร มีลำห้วยไหลผ่านคือห้วยเปิ่งเคลิ่งที่มีต้นน้ำมาจากห้วยผาผึ้ง ไหลตัดผ่านชุมชนไปทางทิศตะวันตกไปยังฝั่งประเทศเมียนมาร์ นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำดะ มีต้นน้ำอยู่ที่บริเวณเขามะม่วงสามหมื่น ห่างจากบ้านเปิ่งเคลิ่งไปทางทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร ไหลผ่านบริเวณชุมชนจากด้านทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์
โรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง)
โรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวรหัวหิน เดิมชื่อ โรงเรียนนเรศวรอุปถัมภ์ 2 ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 ได้โอนให้ตำรวจตระเวนชายแดน พ.ศ. 2513 โอนให้ส่วนการศึกษาอำเภออุ้มผาง ดำเนินการสอนถึงปี พ.ศ. 2519 จึงปิดทำการเนื่องจากถูกคุกคามจากกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ร้อยตรีสืบสกุล บรรจงรัตน์ เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลายในปี พ.ศ. 2527 จึงได้เปิดทำการอีกครั้ง และได้มีการเสนอชื่อ “สืบสกลุอนุสรณ์” ต่อท้ายชื่อโรงเรียนเดิมเพื่อเป็นเกียรติแด่ร้อยตรีสืบสกุล บรรจงรัตน์ ต่อมาโรงเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนในพระราชดำริและประทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง)” เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2548 เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
บ้านเปิงเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมและพหุภาษา มีชาวบ้านกลุ่มที่อาศัยอยู่ร่วมกัน การใช้ภาษาในการสื่อสารจึงมีความหลากหลาย โดยภาษาที่ใช้ในชุมชนและกลุ่มชาวบ้านประกอบด้วย ภาษาไทยถิ่นเหนือ (ล้านนา/คำเมือง) ภาษากะเหรี่ยง ภาษาปะโอ และภาษาลาว
นิพล ธรรมวงศ์. (2557). พิธีกรรมทางศาสนาพุทธในหมู่บ้านเปิงเคลิ่ง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์.
หมู่บ้านเปิ่งเคลิ่งสุดเขตประเทศไทย. (2567). สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/
Morsainews. (2565). ชาวบ้านเปิ่งเคลิ่ง เร่ง ตัดหมากสด โกอินเตอร์ พืชเศรษฐกิจมาแรง ส่งออกเวียดนาม สร้างรายได้กว่า 50 ล้านบาท. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2567, จาก https://morsainews.com/