ชุมชนต้นแบบด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสู่ความสำเร็จในการพลิกฟื้นผืนป่าชุมชนกว่า 1,000 ไร่ ตามแนวพระราชดำริให้กลับมาคืนคงความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งรายได้เป็นดอกผลจากความพยายามในการอนุรักษ์
เดิมทีชื่อ “บ้านห้วยจาน” เรียกตามชื่อลำน้ำสายหนึ่งที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ ลำห้วยจาน ภายหลังเปลี่ยนเป็น “บ้านดงผาปูน” ตามลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนภูเขาหินปูน และแวดล้อมด้วยดงป่าดิบเขา
ชุมชนต้นแบบด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสู่ความสำเร็จในการพลิกฟื้นผืนป่าชุมชนกว่า 1,000 ไร่ ตามแนวพระราชดำริให้กลับมาคืนคงความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งรายได้เป็นดอกผลจากความพยายามในการอนุรักษ์
เดิมทีบ้านดงผาปูนเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านนาขวาง ซึ่งในขณะนั้นมีเพียงประชาชนบางส่วนของบ้านนาขวางเข้ามาจับจองพื้นที่ทำกินแต่ไม่ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยถาวร ขณะเดียวกัน ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นจุดแย่งชิงของเหล่ามวลชนอันเกิดจากความแตกต่างทางอุดมการณ์การเมืองเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กระทั่ง พ.ศ. 2526 เมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย ชาวบ้านส่วนหนึ่งซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเหนือที่เรียกตัวเองว่า "ถิ่น" (หรือชาวลั๊วะ) ซึ่งอพยพมาจากบ้านผาแดง (ส่วนหนึ่งของบ้านนาขวางในอดีต ปัจจุบันไม่มีแล้ว) เข้ามาจับจองพื้นที่ทํากินและทําการสร้างบ้านแปงเมืองโดยการนําของนายอุ๋ย ใจปิง นายศรีจันทร์ พิศจาร นายตั๋น พิศจาร และนายรัตน์ พิศจาร เนื่องมาจากที่อยู่อาศัยเดิมประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่ทํากิน ที่ดินในบริเวณหมู่บ้านเดิมไม่เพียงพอต่ออัตราการเพิ่มขึ้นของจํานวนประชากร ชาวบ้านจึงอพยพเข้ามาจับจองและทําการบุกเบิกพื้นที่ป่าตามไหล่เขา เพื่อเพาะปลูกข้าวไร่ไว้บริโภคในครัวเรือน ขณะนั้นเรียกว่า “บ้านห้วยจาน” (ตั้งตามชื่อลําห้วยสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้าน) เป็นหมู่บ้านสาขาของบ้านนาขวางในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 มีราษฎรจากบ้านม่อน บ้านบ่อหลวง อพยพเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอีก ตํารวจตระเวนชายแดนและหน่วยงานของรัฐได้เข้ามาพัฒนาหมู่บ้านร่วมกับชาวบ้าน และได้ทําการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจาก “บ้านห้วยจาน” มาเป็น “บ้านดงผาปูน” ตามลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาหินปูนซึ่งแวดล้อมไปด้วยป่าดิบเขา
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านนาบง หมู่ที่ 14 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห่างทางหลวง ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านวังปะ ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
ลักษณะทางกายภาพ
บ้านดงผาปูนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบหุบเขาหินปูนซึ่งมีอาณาเขตบางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน มีภูเขาสูงชันล้อมรอบ ชาวบ้านมักตั้งบ้านเรือนอยู่ตามไหล่เขาเรียงรายลดหลั่นกันไป มีลําห้วยจาน (ชาวบ้านมักคุ้นเคยกับชื่อนี้) หรือเรียกอีกชื่อว่าลําห้วยคํา เป็นลําห้วยสายหลักที่มีน้ำไหลผ่านหมู่บ้านตลอดทั้งปี ทั้งยังมีลําห้วยสาขาสายอื่น ๆ ที่ไหลมาจากป่าชุมชนและนอกเขตป่าชุมชนอีก 6 สาย ได้แก่ ห้วยบง ห้วยโต้ง ห้วยเปน ห้วยปลาบู่ ห้วยหมาร้อง และห้วยน้ำอุ่น ซึ่งลําห้วยทั้ง 6 สายนี้จะไหลมาบรรจบกันที่ลําห้วยจาน ไหลผ่านหมู่บ้าน ก่อนไหลลงสู่ลําน้ำมาง ลําน้ำว้า และแม่น้ำน่าน
ทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านดงผาปูนเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน มีสภาพแวดล้อมเป็นป่าดิบเขา (Hill evergreen forest) สลับกับป่าดิบชื้น (Moist evergreen) ที่ระดับสูงตั้งแต่ 600-1,745 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นป่าที่มีความชุ่มชื้นสูงและค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลําธารสําหรับอุปโภค บริโภคในชุมชน โดยเฉพาะห้วยโต้งและห้วยเปน เป็นแหล่งน้ำที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศค่อนข้างสูง พบพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นอย่างหวาย ไม้ก่อ ต๋าว มะค่า ประดู่ กระจายอยู่ทั่วไปในป่า มีภูเขารายรอบหมู่บ้าน มีป่าใช้สอยจํานวน 7,408.50 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทํากินและพื้นที่ถือครองของชาวบ้านจํานวน 420.75 ไร่ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไว้เป็นป่าชุมชนจํานวน 170.75 ไร่
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 8 บ้านดงผาปูน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 169 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 94 คน ประชากรหญิง 75 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 57 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
โดยทั่วไปชาวบ้านดงผาปูนสืบเชื้อสายมาจากชาวไทยพื้นเมืองภาคเหนือเดิม บางส่วนที่มีเชื้อสายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขมุ และไทลื้อจากอำเภอทุ่งช้างที่อพยพเข้ามากันเป็นครอบครัวหรือเป็นกลุ่ม ๆ ฉะนั้น ลักษณะทางสังคมของบ้านดงผาปูนส่วนใหญ่จึงมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ แต่มีลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว 4-5 คน ประกอบด้วยสามี ภรรยา และบุตร เพราะหากแต่งงานแล้ว มักจะแยกครอบครัวออกไปเป็นของตนเอง โดยปลูกสร้างบ้านเรือนใหม่ไม่ห่างจากบริเวณเรือนของบิดา มารดา
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค มีบางส่วนปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปนอกชุมชนเป็นรายได้เสริมหลังเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว แต่บางคนก็ทำการรับจ้างเป็นอาชีพหลัก และมีการเก็บของป่าขายด้วย
เกษตรกรรม
เนื่องจากบ้านดงผาปูนมีลักษณะเป็นภูเขาล้อมรอบ ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกแก่ชาวบ้านมากนัก การประกอบอาชีพส่วนใหญ่จึงเป็นการเกษตรเพื่อบริโภคในชุมชน พืชที่ปลูกหลัก ๆ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ผักผลไม้ เผือก มันซึ่งเป็นพืชที่ปลูกเสริมเข้าไปในพื้นที่ปลูกข้าว
1) ข้าวไร่/ข้าวนา การปลูกข้าวไร่จะปลูกในลักษณะไร่หมุนเวียนสลับกันไปช่วงละ 3-5 ปี จึงจะกลับมาปลูกซ้ำที่เดิม เพราะหากปลูกซ้ำที่เดิมทุก ๆ ปี จะทําให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวไร่ตามภูเขาสูงเนื่องจากพื้นที่หมู่บ้านมีที่ราบจํากัด ส่วนการปลูกข้าวนาชาวบ้านจะปลูกตามที่ราบริมห้วยจาน ห้วยโต้ง และห้วยบง ส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้สารเคมี ยังคงใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยตามธรรมชาติที่หาได้ในชุมชน ลักษณะการทํานาเป็นนาดําไม่ใช่นาหว่าน ชาวบ้านจะนิยมปลูกข้าวไว้กินเอง พันธุ์ข้าวที่ปลูกได้แก่ ข้าวต๋าว ข้าวก่ำ ข้าวขาว ข้าวซิว และข้าวลาย
2) ข้าวโพด ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อขายและแบ่งไว้สําหรับเลี้ยงสัตว์บ้างเล็กน้อย การปลูกข้าวโพดในอดีตจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาติดต่อตั้งแต่การนําเมล็ดพันธุ์มาให้ชาวบ้าน มาสี รับซื้อ และหักค่าเมล็ดพันธุ์หลังจากขายผลผลิตแก่พ่อค้าแล้ว ฉะนั้นกระบวนการผลิตข้าวโพดจึงค่อนข้างเบ็ดเสร็จที่พ่อค้าคนกลาง ชาวบ้านเป็นเพียงผู้ผลิต ปัจจุบันการปลูกข้าวโพดมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากขายได้ราคาถูก บางคนไม่คุ้มทุนเมื่อหักค่าเมล็ดพันธุ์ ทั้งยังมีสัตว์ป่ามารบกวนกัดกินจนผลผลิตได้รับความเสียหาย ทำให้ความนิยมการปลูกข้าวโพดเริ่มลดน้อยลงไป
3) ผักและผลไม้ ผักนิยมปลูกในพื้นที่สวนของตนเองหรือบริเวณบ้าน ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งชาวบ้านจะปลูกในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว มีทั้งปลูกเพื่อบริโภคกันเองในครัวเรือนและแบ่งขาย ผักที่ปลูก เช่น กะหล่ำปลี คะน้า ต้นหอม ส่วนผลไม้ชาวบ้านจะนิยมปลูกบริเวณสวนของตนเอง เป็นลักษณะเกษตรผสมผสาน ปลูกทั้งผัก ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ไว้ในที่เดียวกัน ผลไม้ที่ปลูก เช่น ลิ้นจี่ มะม่วง ลําไย ฝรั่ง มะละกอ
4) พืชอื่น ๆ ได้แก่ เผือกและมัน เป็นพืชที่ชาวบ้านปลูกเสริมแทรกเข้าไปในพื้นที่ปลูกข้าวไร่เพื่อสร้างรายได้เสริมหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวไร่เสร็จ เพราะลงทุนน้อย ขายได้ราคาดี มีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อถึงในชุมชน
5) การเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติให้หากินในป่า สัตว์เลี้ยงส่วนมากเป็นจําพวกสัตว์พื้นเมืองที่ทนต่อสภาพแวดล้อมของพื้นที่สูงได้ดี ได้แก่ ไก่ โค สุกร เป็ด กบ ปลา โดยเลี้ยงไว้เป็นอาหารและแบ่งขายบ้างบางครั้ง
รับจ้างทั่วไป
รับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพหลักของคนส่วนน้อยในชุมชน มีทั้งเป็นลูกจ้างรายวันให้กับโครงการของรัฐและเอกชน ลูกจ้างทํางานก่อสร้าง ส่วนชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักจะทํางานรับจ้างเป็นอาชีพเสริมหลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดลําปางเพื่อรับจ้างทํางานที่โรงงานลูกชิ้น บางคนเดินทางไปทํางานประจําเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แรงงานก่อสร้างที่กรุงเทพมหานคร เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกจึงกลับมายังชุมชน
การเก็บของป่าชาย
บ้านดงผาปูนนับว่ามีความโชคดีในเรื่องความหลากหลายทางทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ไม่เพียงแค่พอสําหรับการยังชีพ แต่ยังมีทรัพยากรมากพอสําหรับการค้าขาย ซึ่งในแต่ละฤดูพืชผัก สัตว์ป่า และของป่าชนิดต่าง ๆ จะมีให้ชาวบ้านหาเก็บได้แตกต่างและหลากหลายออกไป ชาวบ้านจะนําของป่ามาขายในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ให้แก่พ่อค้าคนกลางที่เข้ามาซื้อของป่าถึงในหมู่บ้าน เช่น ผักกูด ปลาไหล กระชาย ปลีกล้วย กบ เขียด กระรอก หนอนไม้ไผ่ ฯลฯ โดยการหาของป่าขายในปัจจุบันยังมีแนวโน้มว่ามีความต้องการจากตลาดค่อนข้างสูง การเก็บของป่าจึงเป็นแนวทางการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งของชาวบ้านดงผาปูน
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวบ้านบ้านดงผาปูนนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก ขณะเดียวกันก็ยังให้ความเคารพนับถือผีเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ผีที่ชาวบ้านเคารพ คือ ผีบรรพบุรุษ โดยจะตั้งตูบผีไว้ทางทิศตะวันออกของบ้านให้เป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษ ทั้งนี้ยังมีผีเจ้าสม เจ้าสร้อย เจ้าหลวงภูคา เป็นผีที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถืออย่างมาก โดยแสดงผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นประจำ เช่น การบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเซ่นไหว้ขอพรผี
ประเพณีสำคัญ
1. ประเพณีกินข้าวใหม่ เป็นประเพณีของการเฉลิมฉลองซึ่งการได้มาของข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในแต่ละปีโดยการนึ่งข้าวแล้วเชิญผีบรรพบุรุษมาร่วมยินดี กินข้าวใหม่ร่วมกับลูกหลาน จัดขึ้นประมาณช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม
2. ประเพณียองบ้าน เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดี ความโชคร้าย โรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนภยันอันตรายต่าง ๆ ให้ออกไปจากหมู่บ้าน แล้วอัญเชิญสิ่งดีงาม ความสุข ความเจริญเข้ามาแทน สถานที่ประกอบพิธี คือ บริเวณทางเข้าหมู่บ้านและท้ายหมู่บ้าน จัดขึ้นช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ในช่วงของการประกอบพิธียองบ้านนี้เป็นฤดูกาลที่ชาวบ้านเข้าป่าล่าสัตว์ พิธียองบ้านจึงมีนัยหนึ่งที่หมายถึงการสัญญากับเจ้าป่าเจ้าเขาว่าจะไม่ใช้อุปกรณ์การล่าสัตว์หรือวิธีที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผืนป่า เช่น ไฟฟ้า เปาป่า
3. ประเพณีสู่แก้ว ทำขวัญ หรือบายศรีสู่ขวัญ เป็นการเรียกขวัญให้กลับเข้าสู่ร่างกาย ในกรณีที่เกิดอาการเจ็บป่วย ต้องออกเดินทางไกล เมื่อกลับมายังหมู่บ้านขวัญอาจพลัดหลงไม่ติดตัวกลับมาด้วย จึงต้องทำการเรียกขวัญโดยมี “พ่ออุ๊ย” หรือ “หมอขวัญ” เป็นผู้นำประกอบพิธีกรรม
4. ประเพณีฮอมขวัญข้าว เอาขวัญคน จัดขึ้นหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จสิ้นทุกหลังคาเรือน จากนั้นจะกำหนดวันประกอบพิธีกรรมเพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้ได้ผลผลิตดี โดยชาวบ้านจะนำข้าวมารวมกันยังศาลากลางบ้านแล้วจึงเริ่มประกอบพิธีกรรม เมื่อเสร็จพิธีกรรมชาวบ้านจะนำข้าวที่ได้จากพิธีกรรมมาเก็บไว้ในธนาคารข้าว จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม เป็นประจำทุกปี
5. ประเพณีเลี้ยงขวบ จัดขึ้นเพื่อขอขมาหรือตอบแทนผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลังจากที่ชาวบ้านได้ทำการบนบาน ขอพร หรือได้กระทำการล่วงเกินไว้ โดยพิธีกรรมนี้จะจัดขึ้นที่ศาลากลางบ้านในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ของทุกปี
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
ในสมัยเริ่มแรกของการอพยพ ผู้มาตั้งรกรากทำมาหากินแบบไร่หมุนเวียน โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด ไร่ข้าว โดยเปลี่ยนเวียนไปเรื่อย ๆ ทุก 3 ปี เป็นวิถีดำรงชีพที่สืบทอดมาจากบรรพชน แต่เงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต ประกอบกับการแผ้วถางป่าอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ป่าเสื่อมโทรม และเกิดปัญหาความแห้งแล้ง ฝนแล้งที่เริ่มหนักขึ้นมาตั้งแต่ปี 2533 ทำให้ชาวบ้านเริ่มหันหน้ามาพูดคุยกัน แหล่งน้ำธรรมชาติที่เปรียบเป็นเสมือนสายเลือดของหมู่บ้านเริ่มแห้งเหือด จะมีบ้างก็ตรงที่เป็นร่องลึกซึ่งอยู่ไกลจากหมู่บ้าน (สถาบันลูกโลกสีเขียว, ม.ป.ป.) ด้วยเหตุว่าชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผูกพันอยู่กับป่า จึงได้มีการกันพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ติดกับป่าช้ามาทำเป็นป่าใช้สอยของชุมชน โดยได้มีการเจรจาตกลงร่วมกันกับเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคาว่าจะกันไว้เป็นป่าชุมชน ชาวบ้านจะช่วยกันดูแล แม้จะเป็นป่าผืนเล็ก ๆ แต่เมื่อเทียบกับประชากรภายในชุมชนที่มีเพียงร้อยกว่าครัวเรือน ป่าผืนนี้ก็ถือเป็นแหล่งอาหารที่เพียงพอ พรั่งพร้อมด้วยทรัพยากรทั้งพืชและสัตว์ ทั้งหวาย สมุนไพร หมูป่า เก้ง กวาง นก นานาชนิด และพืชที่กลายเป็นรายได้เสริมของชาวบ้าน คือ “ต๋าว” (ในภาษาเหนือ มะต๋าว มะตาว ก็เรียก) หรือลูกชิด พืชตระกูลปาล์มเช่นเดียวกับมะพร้าว
ในชุมชนบ้านดงผาปูนแห่งนี้ ที่บ้านดงผาปูนจะมีกิจกรรมเก็บผลผลิตต๋าวจากป่าชุมชนเพื่อนำมาแปรรูปเพียงปีละ 1 ครั้ง โดยจะมีชาวบ้านตัวแทนจากแต่ละครัวเรือนมาช่วยในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่ตัดต๋าว ต้มต๋าว จนถึงกระบวนการแปรรูปต๋าว โดยแบ่งชาวบ้านเป็นกลุ่มหมุนเวียนกันไปในแต่ละปี เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเก็บต๋าว และมีรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกระจายทั่วถึงกัน โดยจะมีพ่อค้ามารับซื้อด้วยตนเองถึงชุมชนในราคาถังละประมาณ 300 บาท หรือจะนำมาแปรรูปเป็นผลไม้แห้งบรรจุถุงขาย กิโลกรัมละ 120-150 บาท รายได้ส่วนหนึ่งจะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกลุ่มที่ได้สิทธิในรอบนั้น และรายได้ส่วนหนึ่งจะมอบให้แก่กองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมการดูแลป่าชุมชน โดยในแต่ละปีชุมชนมีรายได้ประมาณจากการต๋าวทั้งที่แปรรูปแล้วและยังไม่แปรรูปรวมประมาณ 30,000-40,000 บาท/กลุ่ม/ปี (ในรอบปีจะเก็บต๋าว 2 ช่วง คือ เดือนมีนาคม และพฤศจิกายน)
นอกจากต๋าวแล้ว ในป่าชุมชนบ้านดงผาปูนยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้แก่ชาวบ้านไม่น้อยหน้ากัน คือ “หวาย” บางปี หวายมีมากพอที่จะตัดขายได้ ก็จะมีการช่วยกันตัดเพื่อจำหน่ายให้ชุมชนใกล้เคียงนำไปเป็นวัตถุดิบสานตะกร้า รายได้จากการขายหวายก็เช่นเดียวกับต๋าว คือส่วนหนึ่งเป็นรายได้แก่สมาชิก และอีกส่วนหนึ่งหักเข้ากองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน เพื่อนำไปทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของต๋าวที่ตัดไปนั้น ชาวบ้านดงผาปูนมิได้นิ่งนอนใจปล่อยให้หมดไปจากผืนป่า แต่ได้ทำการปลูกเพิ่มเพื่อทดแทนต้นต๋าวที่ตายไป ทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ต่อไปในทุกปี
ตามอำเภอจาน. (2565). สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/
นรชาติ วงศ์วันดี. (2554). ความสำเร็จของการจัดการป่าชุมชน บ้านดงผาปูน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านดงผาปูน ต้นแบบการจัดการทรัพยากรอย่างยุติธรรม จังหวัด น่าน. สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.greenglobeinstitute.com/
สุกัญญา เศษขุนทด. (2550). บันทึกจากป่า ผ่านคุณค่าแห่งพงไพร : กรณีศึกษาบ้านดงผาปูน หมู่ที่ 8 ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. สารพิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.