แหล่งวิสาหกิจชุมชนจักสานผิวไม้ไผ่จากภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์จากทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ นำมาสร้างงานจักสานของใช้ในครัวเรือน และของใช้ที่งดงามทรงคุณค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างเอกลักษณ์ประจำชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวในอำเภอแจ้ห่ม
เดิมทีเรียกว่าบ้านนาวอก แต่ภายหลังแยกการปกครองชื่อว่า “นางาม” ตามที่นายอำเภอกมลเป็นผู้ตั้งให้
แหล่งวิสาหกิจชุมชนจักสานผิวไม้ไผ่จากภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์จากทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ นำมาสร้างงานจักสานของใช้ในครัวเรือน และของใช้ที่งดงามทรงคุณค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างเอกลักษณ์ประจำชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวในอำเภอแจ้ห่ม
บ้านนางามเดิมชื่อว่าบ้านนาวอก ตั้งเป็นหมู่บ้านมาประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้มีสภาพพื้นที่เป็นป่ามีภูเขาล้อมรอบ มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตมีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ ท้าว ไม่ทราบนามสกุล เป็นชาวบ้านทรายมูล ตําบลเสด็จ อําเภอเมือง จังหวัดลําปาง เป็นผู้เข้ามาทําไร่ในพื้นที่บ้านนาไหม้ หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านตามเข้ามาทําไร่อีกจํานวนหนึ่ง ต่อมาชาวบ้านได้พบหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งวางอยู่หน้าปากถ้ำมีรูปร่างคล้ายวอก (ลิง) ลักษณะเป็นทองคําอยู่บนภูเขา ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวอกศักดิ์สิทธิ์ เล่ากันว่าคนในสมัยโบราณมีเงิน มีทองคํามาก จึงเอาทองคํามาหล่อเป็นวอก เพราะในอดีตชาวบ้านได้เล่าว่าเคยมีวอก (ลิง) อาศัยอยู่บริเวณภูเขาทางทิศตะวันตะตกอยู่มาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “บ้านนาวอก”
ต่อมาอีกประมาณ 200 ปี วอกทองคําก็หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อภูเขาลูกนี้ว่า ดอยสัตย์คํา เชื่อกันว่าดอยสัตย์คําเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีเจ้าพ่อสัตย์คําสิงสถิต และมีร่มอยู่ 1 คัน ซึ่งมีลักษณะเป็นทองคํา เป็นของคู่กาย และเชื่อว่าเจ้าพ่อสัตย์คําได้คอยดูแลรักษาหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือมาก บ้านนาวอกแต่เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ห่างจากบ้านนาไหม้ 4 กิโลเมตร มีการปกครองร่วมกัน ต่อมาหมู่บ้านนาวอกขยายใหญ่ขึ้น ประกอบกับระยะทางที่ไกลและการเดินทางไม่สะดวก จึงได้แยกหมู่บ้านออกมาปกครองต่างหากเมื่อ พ.ศ. 2400 และได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านนางาม” จนถึงปัจจุบัน โดยนายอําเภอกมลเป็นผู้ตั้งชื่อให้
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในชุมชน
- พ.ศ. 2400 บ้านนาวอกแยกการปกครองออกมาจากบ้านนาไหม้
- พ.ศ. 2445 เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านนาวอกเป็นบ้านนางาม
- พ.ศ. 2503 มีการตั้งพื้นที่ป่าทางทิศตะวันตกและบริเวณรอบบ้านนางามเปผ็นพื้นที่ป่าสงวนแม่ต๋า
- พ.ศ. 2512 ก่อตั้งโรงเรียนบ้านนางาม
- พ.ศ. 2518 เปลี่ยนเส้นทางสัญจรเข้าชุมชนจากเส้นทางคนเดินเป็นถนนลูกรัง
- พ.ศ. 2519 ก่อตั้งวัดนางาม
- พ.ศ. 2528 ไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- พ.ศ. 2529 มีการก่อตั้งสถานีอนามัยบ้านนางาม และชาวบ้านเลิกใช้ควายในการทำนา
- พ.ศ. 2530 น้ำประปาเข้าถึงหมู่บ้าน มีการนำรถไถนาเดินตามเข้ามาใช้แทนควายสำหรับไถนา
- พ.ศ. 2539 การเข้ามาของกลุ่มบริษัทสัมปทานแร่ดินขาวของบริษัทเอกชน และมีการนำควายกลับมาเลี้ยงใหม่ในชุมชน
- พ.ศ. 2543 สร้างสำนักสงฆ์นางามเหนือ
- พ.ศ. 2550 ก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 20 ลูกร่วมกับสมาชิก อบต. เมืองมาย และมีการติดตั้งสัญญาณเตือนภัยภายในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการเริ่มนำเครื่องตัดหญ้ามาประยุกต์ตัดข้าวบนนาพื้นราบด้วย
- พ.ศ. 2551 มีการนำยางพาราเข้ามาปลูกในพื้นที่นาของตนเอง และปรับปรุงถนนสายไผ่งามถึงบ้านนาไหม้เป็นลูกรังอัดบด
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านนางาม มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีพื้นที่ลาดชันตามเนินเขาถึงร้อยละ 90 ที่ราบส่วนใหญ่อยู่ริมฝั่งลําห้วยแม่ต๋าและลําห้วยแม่ขิ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตําบลแม่อ้อน อําเภองาว
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่ก๋า ตําบลเมืองมาย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านไผ่ทอง ตําบลเมืองมาย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนาไหม้ ตําบลเมืองมาย
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของบ้านนางาม มีความคล้ายคลึงกับสภาพอากาศทั่วไปของภาคเหนือ คือจะมีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ มีหมอกในตอนเช้า ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติจํานวนน้อยลงแต่ยังคงพอใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ และบางเดือนอากาศจะร้อนจัดมาก และในฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จะมีฝนตกชุก เนื่องจากหมู่บ้านล้อมรอบด้วยป่าไม้และภูเขา
ทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านนางาม มีลําห้วยแม่ต๋าไหลผ่าน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการอุปโภคบริโภคในชุมชน ลําห้วยแม่ต๋าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน บริเวณริมลำห้วยแม่ต๋ามีพื้นที่ราบใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปี โดยส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวเหนียว นอกจากการทำไร่บริเวณลำห้วยแม่ต๋าแล้วยังมีการทำไร่บนดอยซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน มีการไปจับจองเป็นพื้นที่ทําไร่ข้าวโพด ปลูกถั่วลิสง และกระเทียม ป่าไม้บริเวณโดยรอบชุมชนเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่าแห่งนี้โดยสามารถเป็นแหล่งอาหารและหาของป่าขายเป็นอาชีพเสริมหลังจากที่ว่างจากการทําไร่
ป่าไม้โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณหลากหลายชนิด บางชนิดใช้เป็นอาหารได้หลากหลาย บางชนิดเป็นผลไม้ป่าที่มีวิตามินสูง นอกจากนี้ยังมีป่าไผ่ ในฤดูฝนชาวบ้านสามารถเข้าไปเก็บหน่อไม้มาถนอมอาหารไว้รับประทานในฤดูแล้ง ส่วนต้นไผ่นำไปทำเป็นเครื่องจักสานที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านนางาม ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 534 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 293 คน ประชากรหญิง 241 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 215 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
บ้านนางาม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ ซึ่งส่งผลต่อความหลากหลายด้านการประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชน ได้แก่ เกษตรกรรม รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ
1. เกษตรกรรม เป็นอาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ คือ ห้วยแม่ต๋า ซึ่งจะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี มากน้อยตามสภาพอากาศ แต่ก็เพียงพอให้ชาวบ้านใช้เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี รวมถึงมีดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ชาวบ้านจึงสามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่จะปลูกไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือนและจําหน่าย เช่น ข้าวไร่ ข้าวนา ข้าวโพด ถั่วลิสง และผักอื่น ๆ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ การเก็บของป่าจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากป่าโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ชาวบ้านจะเก็บรถด่วน หรือที่เรียกว่า แมะ เป็นหนอนที่อาศัยอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ไปขาย ซึ่งสามารถขายได้ราคาค่อนข้างสูง นอกจากการทําเกษตรกรรมแล้วชาวบ้านนางามยังมีอาชีพเสริมจากการเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เลี้ยงหมู ทั้งหมูป่า หมูแดง เลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองซึ่งจะเห็นได้แทบทุกบ้าน
2. อาชีพค้าขาย ส่วนใหญ่ร้านค้าในชุมชนจะเป็นร้านค้าขายของเบ็ดเตล็ด เช่น เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องมือในการประกอบอาชีพ รวมถึงร้านอาหาร เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ร้านอาหารสด และบางครั้งจะมีรถขายกับข้าวจากต่างชุมชนเดินทางเข้ามาขายในบ้านนางามด้วย
3. รับราชการ ชาวบ้านส่วนหนึ่งของหมู่บ้านจะรับราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น ครู สมาชิกองค์การบริหารส่วนตําบล พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งส่วนมากเป็นหน่วยงานราชการใกล้ชุมชน ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านที่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นจากการส่งเสริมของครอบครัวที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี จากการตระถึงคุณค่าและความสำคัญของการศึกษา จึงนิยมส่งเสียลูกหลายคนรุ่นใหม่ให้ออกไปเรียนไกลบ้าน เพื่ออาชีพการงานที่ดีในอนาคต
4. รับจ้าง ส่วนมากเป็นกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ออกไปขายแรงงานในเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะไปรับจ้างที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลําพูน และในกรุงเทพมหานคร หรือออกไปรับจ้างในตัวเมืองจังหวัดลําปาง การรับจ้างนั้นถือได้ว่าเป็นอาชีพรองจากการทําเกษตรกรรม เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาแล้ว มักจะนิยมออกไปทํางานรับจ้างต่างถิ่นซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามความต้องการ หรือสภาพทางสังคม หรือความนิยมในช่วงนั้น ๆ
การรวมกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
ชาวบ้านนางามมีการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ ภายในชุมชนหลายกลุ่ม เช่น
1. กลุ่มสตรีแม่บ้าน เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการมีอาชีพและรายได้เสริมภายหลังว่างเว้นจากกิจกรรมในครัวเรือนและการทําไร่ ทั้งยังมีส่วนช่วยเหลืองานด้านประเพณี วัฒนธรรมในชุมชนเรื่องของการต้อนรับกลุ่มผู้มาเยือนจากภายนอก
2. กลุ่มจักสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานภูมิปัญญางานจักสานไม้ไผ่โดยการผลักดันส่งเสริมให้กลายเป็นแหล่งรายได้ สร้างงานผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติจากภูมิปัญญาชาวบ้าน นำมาสร้างงานหัตถกรรมจักสานของใช้ในครัวเรือนและของใช้ที่งดงามทรงคุณค่า ทั้งกระเป๋า กระติบข้าว ตะกร้า กระจาด กระด้ง ฯลฯ ที่ทำจากผิวไม้ไผ่ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่สมาชิก ทั้งนี้กลุ่มจักสานบ้านนางามยังได้รับจดทะเบียน มผช. เป็นวิสาหกิจชุมชนจักสานผิวไม้ไผ่บ้านนางาม ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วย
3. กลุ่มข้าวเหนียวก่ำ เป็นกลุ่มเกษตรกรเพื่อการผลิตข้าวเหนียว มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวเหนียวก่ำ ข้าวเหนียวพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชน และเพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายข้าวเหนียวก่ำจากเกษตรกรผู้เป็นสมาชิกแก่คนนอกชุมชน
ประเพณีสำคัญ
1. ประเพณีสิบสองเป็ง จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนก่อนออกพรรษา เป็นประเพณีการตาน (ทาน) ทําบุญให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หรืออุทิศให้เปรตที่ไม่มีญาติให้มารับส่วนบุญส่วนกุศล จะมีการจัดตานกองทราย และจะมีการฟังเทศน์ฟังธรรมในตอนเย็นของวันนั้นด้วยเช่นกัน
2. การสืบชะตาคนในหมู่บ้าน คือ การที่คนในหมู่บ้านเจ็บป่วยไม่สบายโดยไม่ทราบสาเหตุมาเป็นเวลานาน ๆ จะมีการทําพิธีต่อชะตาหรือต่ออายุของบุคคลนั้น
3. การสืบชะตาหมู่บ้าน มีรูปแบบคล้ายกับการสืบชะตาคนในหมู่บ้าน มีการเตรียมอาหารคาวและอาหารหวาน ทำพิธีที่หอเจ้าพ่อสัตย์คำ นอกจากนี้จะมีการเลี้ยงเสี่ยวบ้าน คือ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ช่น ปู่ย่า ตายาย ให้ปกรักษาปกป้องคุ้มครองให้อยู่ดีมีสุข ซึ่งเป็นการเลี้ยงของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวก็จัดรอบเดียว และบางครอบครัวก็จัดเลี้ยงหลายรอบ
4. ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีการทําบุญหรือตานให้กับคนที่ตายไปแล้ว จะมีการเตรียมอาหารคาวหวาน สดสําหรับใส่ลงไปในกล่องข้าวที่ชาวบ้านมักนิยมทํากันขึ้นมาเอง และนําไปวัดเพื่อไปกินสลากก๋วยข้าวดอ จะมีการนิมนต์พระภิกษุทุกวัดในตําบลมารับสลากที่ชาวบ้านจัดขึ้น และจะมีการเขียนชื่อใส่ลงไปในใบลาน เพื่อให้พระจับว่าสลากของแต่ละคนนั้นจะไปตกที่วัดใดหรือพระรูปใด จากนั้นจะมีการอุทิศส่วนกุศล ตามด้วยพิธีกรรมของสงฆ์และจบด้วยการกรวดน้ำ หลังจากที่รับเช่นสลากเสร็จก็จะเป็นการรับฟังเทศน์จากพระหนึ่งกันฑ์
ลักษณะการสร้างบ้านเรือน
ลักษณะของบ้านเรือนที่พบในชุมชนบ้านนางามมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ บ้านแบบพื้นเมืองและบ้านแบบประยุกต์
1. บ้านแบบพื้นเมือง เป็นการสร้างบ้านตามแบบดั้งเดิมด้วยไม้ทั้งหลัง ยกใต้ถุนสูงอากาศ ลักษณะของบ้านเรือนจะสร้างแบบเรียบง่าย ซึ่งจะมีทั้งเอาไม้ทั้งแผ่นมาตีเป็นฝาบ้าน บางหลังมีการตกแต่งบ้านอย่างสวยงามโดยการใช้ลูกเล่นที่ทําจากไม้มาตีเป็นแผ่นเพดานของบ้าน หรือเรียกว่าไม้เมตร ส่วนใหญ่มุงหลังคาด้วยกระเบื้องลอนคู่สีขาวธรรมดาเกือบทั้งหมด แต่บางหลังมุงด้วยกระเบื้องสี ส่วนเสานิยมใช้เสาไม้ขนาดใหญ่ ยิ่งเสาไม้มีขนาดใหญ่ยิ่งสะท้อนความมีฐานะของบ้านนั้น
2. บ้านแบบประยุกต์ คือ บ้านที่มีการประยุกต์ให้มีความทันสมัย โดยการทาสีให้ดูสวยงามและโดดเด่นเพิ่มมากขึ้น และมีการต่อเติมพื้นที่ใต้ถุนเป็นห้องด้านล่างโดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็กตามสมัยนิยม
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
สุพรรษา สุกใส. (2556). การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตข้าวของชาวนาบนพื้นที่สูงภาคเหนือ : กรณีศึกษาบ้านนางามหมู่ที่ 3 ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้หม จังหวัดลำปาง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.