Advance search

ดินแดนแหล่งโบราณคดีกลางหุบเขา ชุมชนแห่งการร้อยเรียงเรื่องราวความเป็นมากว่าสหัสวรรษของเหล่าลูกหลานผู้สืบเชื้อสายจากขุนหลวงวิลังคะ กษัตริย์ในตำนานของชาวลัวะเมื่อกว่า 1,000 ปีก่อน

หมู่ที่ 5
เมืองก๊ะ
สะลวง
แม่ริม
เชียงใหม่
อบต.สะลวง โทร. 0-5337-4355
วิไลวรรณ เดชดอนบม
17 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ก.พ. 2024
บ้านเมืองก๊ะ


ชุมชนชนบท

ดินแดนแหล่งโบราณคดีกลางหุบเขา ชุมชนแห่งการร้อยเรียงเรื่องราวความเป็นมากว่าสหัสวรรษของเหล่าลูกหลานผู้สืบเชื้อสายจากขุนหลวงวิลังคะ กษัตริย์ในตำนานของชาวลัวะเมื่อกว่า 1,000 ปีก่อน

เมืองก๊ะ
หมู่ที่ 5
สะลวง
แม่ริม
เชียงใหม่
50330
19.007336
98.810858
องค์การบริหารส่วนตำบลสะลวง

บ้านเมืองก๊ะเป็นหมู่บ้านชาวลัวะหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาของตําบลสะลวง อําเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตบ้านเมืองก๊ะขึ้นอยู่กับบ้านสะลวงใน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่กว่า จนกระทั่ง พ.ศ. 2517 ได้แยกออกมาตั้งเป็นหมู่บ้านต่างหาก ด้วยเป็นเพราะขนาดของพื้นที่หมู่บ้านเมืองก๊ะกว้างใหญ่ การบริหารปกครองของบ้านสะลวงในจึงทําได้ไม่ทั่วถึง 

มีตํานานเล่าสืบกันมานานว่าบ้านเมืองก๊ะก่อตั้งโดยพ่อขุนหลวงวิลังคะ หรือ “ขุนหลวงบะลังก๊ะ” กษัตริย์ในตํานานของชาวลัวะเมื่อประมาณ 1,300 ปีก่อน จากข้อมูลเท่าที่สามารถสืบค้นได้ ประวัติบ้านเมืองก๊ะมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ ประวัติบ้านเมืองก๊ะกับตำนานพระบาทสี่รอย และประวัติบ้านเมืองก๊ะกับตำนานพ่อขุนหลวงวิลังคะ

1) ประวัติบ้านเมืองก๊ะกับตํานานพระบาทสี่รอย

จากคําบอกเล่าของครูบาชัย เจ้าอาวาสวัดพระบาทสี่รอย ได้เล่าว่า บ้านเมืองก๊ะนี้เป็นเมืองเก่า สมัยก่อนเรียกเมืองนี้ว่า เมืองตามิละ เพราะว่าชาวตามิละเป็นผู้ที่เจอรอยเท้าพระพุทธบาทก่อนใคร มีเรื่องเล่าว่าในอดีตได้มีรุ้ง (เหยี่ยว) ตัวใหญ่มาจับกินไก่ของชาวตามิละ คือ บ้านก๊ะในปัจจุบัน ทางชาวตามิละได้ติดตามรอยเลือดของไก่ที่รุ้งจับไปกิน ชาวตามิละได้ตามมาถึงรอยพระบาทแล้วรอยเลือดก็หายไปที่รูของรอยพระบาท ทางชาวตามิละจึงนึกได้ว่าเจ้าป่าเจ้าเขาหรือพระพุทธเจ้าอยากให้คนเห็นรอยพระบาท ชาวตามิละจึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า รอยพระพุทธบาทรังรุ้ง

2) ประวัติบ้านเมืองก๊ะกับตำนานพ่อขุนหลวงวิลังคะ

ชื่อบ้านเมืองก๊ะได้มาจากชื่อของพ่อขุนหลวงวิลังคะที่ออกเสียงว่า “ขุนหลวงบะลังก๊ะ” มีตํานานเล่าสืบกันมาโดยคําบอกเล่าของพ่ออุ้ยศรี ดอยคํา เล่าว่า หลังจากพ่อขุนหลวงวิลังคะได้พ่ายแพ้จากการพุ่งหอกเสน้า (เป็นภาษาล้านนา อ่านว่า สะ-เน่า แปลว่า หอกด้ามยาวมีสองคม ใช้ทำลายศัตรู) ไม่อยากจะพบหน้าผู้ใด จึงหลบเร้นไปด้วยความอับอาย ชาวบ้านชาวเมืองบางส่วนได้ติดตามไป แล้วตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ที่บ้านลัวะก๊ะ ด้านพ่อขุนหลวงวิลังคะได้สร้างที่พำนักอยู่ในป่า ทำมาหากินตามประสาแบบชาวบ้าน อยู่มาวันหนึ่งพ่อขุนหลวงวิลังคะได้เรียกเหล่าเสนาอารักษ์และชาวบ้านมาประชุมกันเพื่อสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้ายว่า หากตนตายไป อย่านําศพข้ามน้ำ จงเอาศพไปฝังที่ยอดดอยสูง และให้เห็นเมืองหริภุญชัย ลําพูน เมื่อพูดจบก็วิ่งออกไปยังลานกว้าง โยนหอกขึ้นบนฟ้าแล้วใช้อกรับหอกที่ตกลงมา ชาวบ้านชาวเมืองและเหล่าเสนาอารักษ์ต่างพากันเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก วันรุ่งขึ้นชาวบ้านได้นําเอาไม้มาต่อเรียงเป็นล่อง (โลงศพ) แล้วยกเอาร่างของพ่อขุนหลวงลงนอนในล่อง ต่อมาชาวบ้านชาวเมืองและเสนาอารักษ์ได้แห่ศพของพ่อขุนหลวงขึ้นดอยกิ่วครก มีทหารบางส่วนตีฆ้อง กลอง นำขบวน เสียงฆ้อง กลอง ไปทางใดก็ให้หามศพไปทางนั้น แต่ทางฝ่ายฆ้อง กลอง นั้นเดินเร็วกว่าคนหามศพ ทั้งพวกคนที่หามศพยังมัวแต่อาลัยพ่อขุนหลวงจนไม่ได้ยินเสียงฆ้อง กลอง จนหามศพมาสุดดอยหัวชุกสูงข้างหน้า ส่วนล่างเป็นลำน้ำแม่สา ชาวบ้านเห็นว่าคงหลงทางเป็นแน่ จึงหามศพพ่อขุนหลวงกลับทางเดิม แต่อนิจจาปรากฏว่าล่องเกิดคว่ำและเอียงตะแคงหน้าไปทางเมืองลำพูน

ส่วนชาวบ้านที่ติดตามพากันเสียใจจนล้มตายไปจนหมด ปัจจุบันดอยนี้เรียกว่า “ดอยคว่ำล่อง” ตั้งอยู่บนดอยโป่งแยง ต่อมาชาวบ้านไปสร้างศาลเล็ก ๆ ไว้บนดอยคว่ําล่อง มีผู้เคารพนับถือไปกราบไหว้บูชาอยู่จำนวนมาก เพราะเชื่อว่าคิดหวังสิ่งใดก็จะได้สมปรารถนา

ส่วนพวกฆ้อง กลอง ได้ผ่านสันดอยไปคนละฟากกับลําน้ำแม่สา พากันหลงทางไปที่หน้าผา จะกลับก็กลับไม่ได้ จึงติดอยู่ที่นั่นและได้ล้มตายไปในที่สุด เหลือเพียงแต่ฆ้อง กลองที่กลายเป็นหิน ต่อมาชาวบ้านพากันเรียกว่า “ผาฆ้องผากลอง” สืบมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันผาฆ้องผากลองตั้งอยู่ในเขตบ้านกองแหะ ตําบลโป่งแยง

ส่วนพวกที่ไม่ได้ไปร่วมแห่ศพพ่อขุนหลวงได้เฝ้าบ้านอยู่กันอย่างตามมีตามเกิด ไม่มีใครทราบว่าหลังจากสมัยของขุนหลวงวิลังคะแล้วมีใครสืบทอดปกครองบ้านเมือง ผู้คนที่เหลืออยู่ก็สร้างบ้านแปงเมืองมาจนเป็นบ้านเมืองก๊ะในปัจจุบัน ซึ่งชื่อหมู่บ้านเมืองก๊ะนอกจากจะเชื่อว่ามาจากชื่อของพ่อขุนหลวงวิลังคะแล้ว ยังเชื่อกันว่าชาวลัวะเหล่านี้เป็นเชื้อสายของขุนหลวงวิลังคะด้วย (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2556 : 6-11)

บ้านเมืองก๊ะตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาใกล้กับพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาขนาดใหญ่พอสมควร สําหรับพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาใช้สําหรับการปลูกข้าวมีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ชาวบ้านส่วนใหญ่บริโภคข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ถัดขึ้นไปในพื้นที่เชิงเขาเดิมปลูกข้าวบ้าง ซึ่งในระยะหลังได้กลายเป็นพื้นที่สําหรับการทำสวนผลไม้ เช่น ลูกท้อ ลิ้นจี่ และลําไย

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านเมืองก๊ะ ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 278 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 146 คน ประชากรหญิง 132 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 100  ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ชาวบ้านในชุมชน คือ ชาวลัวะ 

ลัวะ (ละเวือะ)

ชาวบ้านเมืองก๊ะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม มีการปลูกข้าวทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้าในลักษณะนาขั้นบันได ในอดีตชาวบ้านเมืองก๊ะมีผลผลิตทางการเกษตรซึ่งถือเป็นสินค้าหลักของชุมชน คือ การทำใบตองบุหรี่ ซึ่งทำกันเกือบทุกบ้าน นอกจากนี้ยังมีพริกแห้ง ไม้ขาง เป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่งสำหรับใส่ในบุหรี่ขี้โย โดยสินค้าทั้งหมดจะถูกนำไปขายที่ตลาดบ้านหนองก๋าย แต่ปัจจุบันทั้งใบตองบุหรี่ พริกแห้ง และไม้ขางไม่มีแล้ว

พ.ศ. 2530 ชาวบ้านเมืองก๊ะเริ่มปลูกลิ้นจี่และถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจทดแทนการทำไร่ข้าวแบบหมุนเวียน เมื่อได้ผลผลิตจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อในหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่ได้ขนออกไปขายเองเพราะมีปัญหาเรื่องการขนส่งและตลาด แต่ในช่วง พ.ศ. 2540 ลำห้วยต่าง ๆ เริ่มประสบปัญหาความแห้งแล้ง เนื่องจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวดังเช่นลิ้นจี่และมะม่วงต้องใช้น้ำมาก ขณะเดียวกันได้มีบริษัทนายทุนเข้ามาแนะนำให้ชาวบ้านปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อส่งผลิตให้กับนายทุน แต่ส่วนใหญ่เมื่อใกล้เก็บผลผลิตบริษัทกลับไม่ทำตามสัญญา ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะหนี้สินจากการลงทุน ชาวบ้านจึงต้องบุกเบิกที่ดินทำการเกษตรมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กระทั่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการปลูกส้ม เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้แก่ชาวบ้านเมืองก๊ะ

นอกจากนี้ ภายในชุมชนยังมีร้านขายสินค้าและของป่าที่ชาวบ้านหามาได้ เป็นสินค้าจากธรรมชาติปลอดสารพิษ เช่น หน่อไม้ เห็ด กล้วย ส้มโอ ปลา น้ำผึ้ง อีกทั้งยังมีรายได้ที่ได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจากชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอยู่หลายแห่ง เช่น บริเวณรอบอนุสาวรีย์ของขุนหลวงวิลังคะ ตลอดจนทิวทัศน์โดยรอบซึ่งประกอบด้วยไร่นาติดเชิงเขา ต้นไม้ขนาดใหญ่อายุมากกว่าร้อยปี วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน และร่องรอยอารยธรรมของชาวลัวะที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างมั่นคง โดยช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากที่สุดคือช่วงเดือนเมษายน เพราะจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่าช่วงเดือนอื่น ๆ 

ความเชื่อและพิธีกรรม

1) พิธีกรรมเลี้ยงผีพ่อขุนหลวงวิลังคะ ปกติแล้วจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 9 ก่อนเริ่มทำไร่ทำสวน เพราะเชื่อว่าจะทำให้พืชผลดี ฟ้าฝน น้ำ ปลา อุดมสมบูรณ์ โดยการกำหนดวันเลี้ยงพ่อขุนหลวงนั้นต้องไม่ตรงกับวันพระ ไม่ใช่วันเสีย วันอาทิตย์ และวันศุกร์ ก่อนเริ่มพิธีจะมีการปักตาแหลวหลวง เป็นตาแหลว 9 ตา มีโซ่ร้อยปลา 2 เส้น ซึ่งตาแหลวนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของพิธีกรรมเลี้ยงผีพ่อขุนหลวง

ในสมัยก่อนพิธีเลี้ยงผีพ่อขุนหลวงเป็นพิธีกรรมที่มีความเคร่งครัดมาก ในช่วงเวลาที่ประกอบพิธีคนที่ทําพิธีอยู่ห้ามออกนอกพิธี และคนที่อยู่ข้างนอกก็ห้ามเดินเข้ามา นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้คนในออกนอกหมู่บ้าน และห้ามคนนอกเข้ามาในหมู่บ้าน โดยจะมีการสานตาแหลวแม่ม่ายไว้หน้าหมู่บ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ไม่ให้คนอื่นเข้า เว้นแต่ชาวลัวะเท่านั้นที่อนุญาตให้เดินทางเข้ามาในหมู่บ้านได้

2) พิธีกรรมเลี้ยงผีลัวะ (จ๊ะพะล็อก) ผีลัวะ ถือกันว่าเป็นผีบรรพบุรุษ โดยปัจจุบันภายในชุมชนมีผู้นับถืออยู่ 4 ครอบครัว ผีนี้จะต้องเลี้ยงอยู่เป็นประจำ โดยมากแล้วจะทำกันในงานแต่ง โดยในงานแต่งเจ้าของบ้านจะปิดบ้าน จากนั้นจะทำการเลี้ยงผีด้วยหมูรุ่นสีดำ ในระหว่างนี้ชาวบ้านคนอื่น ๆ จะเข้าบ้านนี้ไม่ได้ จะต้องรอจนเลี้ยงผีเสร็จเสียก่อน หากมีผู้ฝ่าฝืนจะถือว่างานแต่งครั้งนี้ต้องยกเลิกและต้องหาฤกษ์วันใหม่

3) พิธีกรรมเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ถือเป็นผีม่อน (ทวด) ซึ่งชาวบ้านเมืองก๊ะได้สืบทอดมาอย่างยาวนาน แต่ภายหลัง พ.ศ. 2507 นายเรือน ตากลม ผู้นับถือผีม่อนเสียชีวิตลง ก็ไม่มีใครสืบทอดผีม่อนต่อ แต่ภายหลังจากการเลี้ยงขุนหลวงวิลังคะแล้ว ภายในเดือน 9 ชาวบ้านจะทําการเลี้ยงผีม่อน โดยยึดว่าหากจะเริ่มปลูกข้าววันไหน ต้องเลี้ยงผีม่อนวันนั้น

4) พิธีกรรมเลี้ยงผีเจ้านาย ผีเจ้านาย หรือผีเสื้อบ้าน ถือเป็นผีที่ทําหน้าที่ดูแลรักษาบ้านเมือง และขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ปัจจุบันมีหอผีอยู่ตรงต้นมะม่วงกลางหมู่บ้าน ช่วงเวลาที่เลี้ยงผีเจ้านายจะทําช่วงเดียวกับที่เลี้ยงผีพ่อขุนหลวง โดยจะนําอาหารและเครื่องเซ่นจากพิธีเลี้ยงผีพ่อขุนหลวงมาถวายแก่ผีเสื้อบ้าน ของที่เลี้ยงก็ขึ้นอยู่กับว่าเลี้ยงไก่หรือหมูให้กับพ่อขุนหลวง นอกจากนี้จะมีขนมจ๊อก ห่อนึ่งไก่ ข้าวตอก ดอกไม้ เหล้า และน้ำ

5) พิธีกรรมลงย่าหม้อนึ่ง เป็นพิธีการสอบถามผีที่อยู่ในหท้อนึ่งถึงสาเหตุของการเจ็บป่วย ทํานายทายทักในเรื่องความสําเร็จ และสิ่งของที่สูญหาย ในพิธีถ้าหากผีบอกให้ทําอะไร ชาวบ้านก็ต้องทําตาม เพื่อแก้อาถรรพ์ แล้วคนที่ป่วยจะอาการดีขึ้น

6) พิธีแรกนา (แฮกนา) เป็นพิธีกรรมเริ่มต้นก่อนทําการเพาะปลูก คล้ายกับแรกนาขวัญ มีเป้าหมายเพื่อให้การเพาะปลูกเกิดความอุดมสมบูรณ์ และให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล สัตว์ไม่มารบกวน บ้านแต่ละบ้านจะจัดพิธีแรกนาเพื่อเป็นสิริมงคลก่อนการเริ่มต้นปลูกข้าว ปกติจะทําในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงหลังงานพิธีกรรมเลี้ยงผีพ่อขุนหลวง

ความเชื่อเรื่องตาแหลว

ชาวบ้านเมืองก๊ะมีความเชื่อในการนับถือตาแหลว ซึ่งใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ตาแหลวที่ ชาวบ้านเมืองก๊ะใช้มีอยู่ 4 ชนิด ดังนี้

1) ตาแหลวหลวง หรือตาแหลว 9 ตา ใช้สําหรับงานพิธีกรรมสําคัญ เช่น เลี้ยงผีพ่อขุนหลวงวิลังคะและพิธีแรกนา

2) ตาแหลวแม่ม่าย หรือตาแหลว 5 เส้น ใช้สําหรับปักในไร่นา เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีหรือแมลงเข้านาโดยจะปักอยู่ที่มุมทั้งสี่ของนา

3) ตาแหลวเจ็ดชั้น ใช้สําหรับแขวนที่บ้านเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย โดยจะทําช่วงสงกรานต์และมีการ เปลี่ยนทุกปี นอกจากนี้ ในงานพิธีเลี้ยงพ่อขุนหลวงยังใช้ตาแหล่วเจ็ดชั้นปิดทางเข้าออกหมู่บ้าน เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีเข้าหมู่บ้าน

4) ตาแหลวตาเดียว หรือตาแหลว 6 เส้น ใช้สําหรับงานแต่งงานและงานเลี้ยงผีลัวะในงานแต่งงาน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โบราณสถานและโบราณวัตถุ บ้านเมืองก๊ะ

บ้านเมืองก๊ะเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อาจอยู่กันมาตั้งในแต่สมัยพ่อขุนหลวงวิลังคะเมื่อประมาณ 1,300 ปี ก่อน และคงอยู่ต่อมาถึงในสมัยล้านนา เพราะทางโบราณคดีได้พบแหล่งโบราณคดี จํานวน 5 แห่ง ด้วยกัน กําหนดอายุอย่างกว้าง ๆ ว่าอยู่ในสมัยล้านนาคือตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19-22 หรือเมื่อประมาณ 400-600 ปีมาแล้ว ดังนี้

1) แหล่งโบราณคดีวัดเมืองก๊ะ ในสมัยก่อนบริเวณที่เป็นที่ตั้งพระวิหารในปัจจุบันเคยมีซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ แต่ภายหลังเมื่อมีการสร้างพระวิหารหลังใหม่จึงได้มีการรื้อฐานโบราณสถานเก่า ปัจจุบันยังคงพบว่ามีเศษอิฐสมัยล้านนาอยู่ภายในบริเวณวัด และได้มีการพบเศษเครื่องถ้วยล้านนาจากแหล่งเตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย กําหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 และเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง กําหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22

2) แหล่งโบราณคดีไร่บ้านเมืองก๊ะ แหล่งโบราณคดีนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่เชิงเขาฝั่งตรงข้ามกับวัดเมืองก๊ะ ในพื้นที่ไร่ของพ่อหลวงไพศาล ไทยใหม่ โดยพบเศษภาชนะดินเผา เช่น ครก หม้อ เศษเครื่องถ้วยล้านนาจากแหล่งเตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย แหล่งเตาสันกําแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีอายุประมาณ 400-500 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ บริเวณนี้ยังพบอิฐด้วย แสดงว่าอาจเคยเป็นที่ตั้งของโบราณสถาน เช่น เจดีย์ หรือวัดมาก่อน

3) แหล่งโบราณคดีไร่นายถวิล รังสี ไร่นายถวิลตั้งอยู่ในหุบเขา ห่างจากบ้านเมืองก๊ะประมาณ 1 กิโลเมตรไปทางทิศตะวันออก พบเศษภาชนะดินเผาและเครื่องถ้วยสมัยล้านนาเป็นจํานวนมาก โดยเป็นเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย แหล่งเตาเมืองพาน จังหวัดเชียงราย และจากแหล่งเตาเครื่องถ้วยสันกําแพง จังหวัดเชียงใหม่ กําหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 หรือประมาณ 400-500 ปีมาแล้ว

4) แหล่งโบราณคดีหลุมฝังศพลัวะ มีลักษณะเป็นเนินดินรูปวงกลมบนสันเขา หรือในบางท้องที่เรียกเนินดินลักษณะนี้ว่า “วงตีไก่” เพราะมีลักษณะเป็นวงกลมและแบนราบ เชื่อกันว่าเนินดินฝังศพรูปวงกลมเป็นสถานที่ฝังศพชาวลัวะ โดยผู้ตาอาจเป็นบุคคลสําคัญ เช่น ผู้นํา หัวหน้า หรือขุน

5) แหล่งโบราณคดีดอยหินแมน เป็นการขุดดินเป็นร่องรอยยอดเขา รูปร่างเกือบเป็นวงกลม ว่ากันว่าใช้เป็นที่ลอบซุ่มดูข้าศึก หลักฐานที่พบบนยอดเขานอกจากจะมีการขุดรอบยอดเขาเป็นวงกลมแล้ว ยังพบกลุ่มของก้อนหินซึ่งน่าเสียดายว่าได้ถูกเคลื่อนย้ายจากการทําถนน เพราะอาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มหินที่พบบนยอดเขาดอยหินแมนนั้นคงจะเป็นกลุ่มของหินที่เป็นสัญลักษณ์หรือใช้เป็นจุดสังเกตในการเดินบนยอดเขา

ภาษาพูด : ภาษาลัวะ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย

นิทานโบราณของชาวลัวะในเรื่องเล่าของชาวเมืองก๊ะ

ชาวลัวะบ้านเมืองก๊ะ เรียกตนเองว่า “พะล็อก” เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในดินแดนล้านนาก่อนที่คนเมืองจะอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาภายหลัง

ในตํานานน้ำเต้าปุงเล่าว่า ชาวลัวะเป็นคนกลุ่มแรกที่เกิดมาจากรูที่เหล็กแทงที่น้ำเต้า จึงทําให้มีผิวกายคล้ำ ส่วนคนกลุ่มอื่นเกิดตามหลังมาจึงมีผิวที่ขาวกว่า” ตํานานนี้จึงช่วยยืนยันว่าชาวลัวะหรือพะล็อกเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมก่อนกลุ่มคนไท

นิทานในบ้านเมืองก๊ะมีเหลืออยู่เพียงเรื่องเดียว นางนวล ดอยคํา เล่าว่า “ในสมัยก่อนชาวลัวะมีตัวหนังสือใช้แต่เขียนบนหนังสัตว์ อยู่มาวันหนึ่งสุนัขได้คาบหนังสัตว์นั้นไปกิน ทําให้ชาวลัวะไม่มีตัวหนังสือใช้มาจนถึงทุกวันนี้”

ถึงกระนั้นเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เรื่องเล่าเก่าแก่ประเภทนิทานของชาวลัวะบ้านเมืองก๊ะในปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก ชาวบ้านเชื่อกันว่าเรื่องราวส่วนใหญ่สูญหายไปเมื่อคราวเกิดโรคระบาด ทําให้คนเฒ่าคนแก่ตายไปเป็นจํานวนมาก จึงขาดผู้ที่เล่าเรื่องราวเพื่อสืบทอดต่อ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เที่ยวแบบไม่แคร์. (2565). หมู่บ้านเมืองก๊ะ. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://th.trip.com/

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. (2556). ประวัตฺศาสตร์ชุมชนของบ้านเมืองก๊ะ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. ใน โครงการศึกษาและฟื้นฟูประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กลุ่มเลอเวือะ และมอญ ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาภาษาและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์บนฐานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น: การบูรณาการความรู้จากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่ความรู้เชิงวิชาการ เล่ม 3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

แม่ริม เชียงใหม่. (2563). สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/

อบต.สะลวง โทร. 0-5337-4355