ชุมชนรามัญกลุ่มสุดท้ายแห่งเมืองหริภุญไชยผู้เชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากชาวมอญตั้งแต่สมัยหริภุญไชยพร้อมกับการกำเนิดของพระนางจามเทวีดังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏที่วัดเกาะกลางและตำนานโยนกนคร
ในอดีตทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้านมีหนองน้ำใหญ่อยู่หนองหนึ่ง มีความลึกมาก รอบหนองน้ำนั้นมีต้นประดู่ขึ้นอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า "บ้านหนองดู่"
ชุมชนรามัญกลุ่มสุดท้ายแห่งเมืองหริภุญไชยผู้เชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากชาวมอญตั้งแต่สมัยหริภุญไชยพร้อมกับการกำเนิดของพระนางจามเทวีดังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏที่วัดเกาะกลางและตำนานโยนกนคร
บ้านหนองดู่ เป็นหมู่บ้านชาวมอญที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปีแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน สาเหตุที่ได้ชื่อว่าหมู่บ้านหนองดู่ ก็เนื่องมาจากในอดีตกาลที่ผ่านมาภายในหมู่บ้านมีหนองน้ำกว้างใหญ่ซึ่งมีความลึกมากอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน และบริเวณริมหนองน้ำนั้นมีต้นประดู่ขึ้นอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านหนองดู่” ซึ่งในภาษามอญที่ใช้พูดกันในหมู่บ้านนั้นจะเรียกว่า “กวานหนองดู่”
แรกเริ่มเดิมทีบ้านหนองดู่แห่งนี้เป็นแต่เพียงหมู่บ้านร้าง ภายในหมู่บ้านมีวัดร้างวัดหนึ่ง คือ วัดเกาะกลาง เป็นวัดเก่าแก่มาก มีหนองน้ำล้อมรอบบริเวณวัด สังเกตจากสิ่งปลูกสร้างและสภาพวัดสันนิษฐานว่าน่าจะเคยมีหมู่บ้านและวัดที่เจริญมาก่อน เพราะมีลักษณะการปลูกสร้างอย่างวิจิตรพิสดาร จากตำนานการสร้างวัดเกาะกลาง ซึ่งก็คือหมู่บ้านหนองดู่ในสมัยนั้นได้กล่าวไว้ว่า “วัดนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1176 โดยตระกูลของท่านเศรษฐีอินตา พระบิดาของพระนางจามเทวี” ซึ่งตามประวัติพระนางจามเทวีที่ถูกอ้างถึงในเรื่องเล่ามุขปาฐะ พระนางมีเชื้อสายมอญบ้านหนองดู่โดยกำเนิด จึงสันนิษฐานได้ว่า ในสมัยก่อนคงจะมีชาวบ้านมอญอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านหนองดู่แห่งนี้ และกาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวัฏจักร จึงได้รกร้างไประยะหนึ่ง
ต่อมาราว พ.ศ. 2265 ได้มีชาวมอญอพยพมาจากเมืองเมาะตะมะและหงสาวดี (ประเทศเมียนมาในปัจจุบัน) ประมาณ 6-7 ครอบครัว เข้ามาทำไร่ทำสวนและทำขนมจีนขายเป็นอาชีพ นอกจากนี้ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายและเป็นหัวหน้าครอบครัวยังมีอาชีพเสริม คือ รับจ้างทำแพและล่องแพขนส่งสินค้าตามลำน้ำปิงไปยังจังหวัดตาก-นครสวรรค์ จนเป็นที่เลื่องลือกันว่าชาวบ้านหนองดู่เป็นผู้ชำนาญในการล่องแพ หากพ่อค้าคนใดจะขนสินค้าไปทางน้ำก็มักจะว่าจ้างชาวบ้านหนองดู่เป็นผู้ล่องแพเพื่อนำสินค้าไปส่งให้ (ส่วนมากจะเป็นพ่อค้าจากจังหวัดเชียงใหม่)
ในอดีตบ้านหนองดู่เป็นหมู่บ้านเดียวกันกับบ้านบ่อคาว แต่ใน พ.ศ. 2526 ได้มีการแยกเป็น 2 หมู่บ้าน เนื่องจากชาวบ้านมีความคิดเห็นตรงกันว่าเพื่อความสะดวกในด้านการปกครอง และด้านการพัฒนาจึงแบ่งแยกหมู่บ้านหนองดู่-บ่อคาวออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองดู่ หมู่ที่ 1 ในปัจจุบัน และบ้านบ่อคาว หมู่ 8 ที่แยกออกไป อย่างไรก็ตาม มีการสันนิษฐานถึงความเป็นมาเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวมอญบ้านหนองดู่ที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง 4 ประการ ดังนี้
ประการแรก มีข้อสันนิษฐานว่ากลุ่มชาวมอญที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ก่อนสมัยพระนางจามเทวีจะเสด็จมาครองเมืองหริภุญไชย โดยมีนิทานปรัมปราจากผู้สูงอายุในพื้นที่ที่กล่าวถึงพระนางจามเทวีว่าเป็นธิดาของเศรษฐีอินตาชาวบ้านหนองดู่ เมื่อพระนางประสูติแล้วจึงได้ไปอยู่ที่เมืองละโว้ โดยกล่าวถึงหลักฐานอ้างอิง คือ โบราณสถานที่บริเวณบ้านบ่อคาว หมู่ที่ 8 ในปัจจุบัน
ประการที่สอง กล่าวถึงการเสด็จมายังเมืองหริภุญไชยของพระนางจามเทวีที่มีกลุ่มชาวมอญเดินทางมาด้วยในคณะนั้น เนื่องจากชาวมอญอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้ตั้งแต่สมัยอาณาจักรทวารวดี และมีการติดต่อค้าขายกันระหว่างกลุ่มชาวมอญบริเวณอ่าวเมาะตะมะกับพื้นที่แผ่นดินใหญ่ของอาณาจักรทวารวดีอันมีเมืองละโว้เป็นราชธานีที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ประชากรชาวมอญที่อาศัยอยู่ ณ บ้านหนองดู่ในปัจจุบันอาจมีการสืบเชื้อสายมาจากคณะเดินทางของพระนางจามเทวีที่มีชาวมอญปะปนอยู่ด้วย
ประการที่สาม กล่าวถึงกลุ่มชาวมอญที่อพยพเข้ามาในพื้นที่ช่วงสมัยอาณาจักรหริภุญไชยตอนต้น เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์โรคระบาดในสมัยพญากมลราช หรือ จุลเรละราช กษัตริย์ลำดับที่ 23 แห่งจามเทวีวงศ์ ที่มีการกวาดต้อนเอาชาวเมืองที่อพยพหนีโรคระบาดไปอยู่ที่หัวเมืองมอญในเมืองสุธรรมวดี หรือเมืองพะโค กับเมืองหงสาวดีกลับคืนสู่อาณาจักรหริภุญไชย ซึ่งในการกลับเข้ามายังหริภุญไชยสันนิษฐานว่ามีกลุ่มชาวมอญอพยพเข้ามาด้วย ด้วยปรากฏหลักฐาน คือ พระพุทธรูปแบบพุกามในรูปแบบซุ้มพระรอดมหาวัน รวมทั้งการใช้อักษรมอญโบราณก็น่าจะรับเข้ามาในยุคนี้มากเสียกว่าครั้งมากกับคณะเดินทางของพระนางจามเทวี ตลอดจนหลักศิลาตารึกอักษรมอญโบราณก็เทียบอายุได้กับยุคนี้ทั้งสิ้น
ประการสุดท้าย กล่าวถึงชาวมอญลุ่มน้ำอิรวดีที่ถูกพม่าเข้ายึดครองจึงได้อพยพเข้ามายังสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และหลังจากนั้นก็มีชาวมอญอีกหลายกลุ่มที่อพยพเข้ามาสมทบอีกหลายระลอกโดยตั้งรกรากกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะที่หนีขึ้นเหนือไปสู่ล้านนา รวมถึงบริเวณริมน้ำปิงที่บ้านหนองดู่ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อสันนิษฐานที่กล่าวมาทั้ง 4 ประการนั้นเป็นจริงด้วยไม่มีการจดบันทึกประวัติศาสตร์ชุมชนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแน่ชัด ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าชาวบ้านบ้านหนองดู่ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร จะอพยพมาจากเมืองมอญโดยตรง หรือโยกย้ายมาจากภาคกลางของไทย หรือจะสืบเชื้อสายมาจากชาวมอญในสมัยหริภุญไชยพร้อม ๆ กับการกำเนิดของพระนางจามเทวีตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ เจดีย์โบราณ ที่ปรากฏที่วัดเกาะกลาง ตามตำนานว่ากันว่าพระนางจามเทวีได้สร้างไว้เมื่อครั้งเดินทางมาลพบุรี และแวะที่วัดเกาะกลางแห่งนี้ก่อนที่จะเสด็จเยือนเมืองหริภุญไชยเพื่อเสวยราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญไชย อันเป็นเหตุให้ชาวมอญบ้านหนองดู่นับถือพระนางจามเทวีเป็นสมือนบรรพบุรุษ และทุกปีจะมีพิธีบวงสรวงวิญญาณเจ้าแม่จามเทวี อันเป็นประเพณีที่ชาวมอญยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งจะทำพิธีภายในเดือน 4 ของมอญ หรือเดือน 5 ของล้านนา หรือราวเดือนกุมภาพันธ์
ทั้งนี้ จากข้อมูลการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมอญจะเห็นได้ว่าในพื้นที่บริเวณบ้านหนองดู่มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวมอญมาอย่างยาวนาน และขยายชุมชนใหญ่ขึ้นตามพัฒนาการทางสังคม อีกทั้งยังคงเป็นชุมชนชาวมอญโบราณที่รักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอป่าซางเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดลำพูนเป็นระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร พื้นที่ชุมชนเป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านจะกระจายกันไปตามแนวริมฝั่งแม่น้ำปิง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองสะลีก ตำบลปางบ่อง อำเภอป่าซาง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเหล่า และบ้านเรือน ตำบลบ้านเรือน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านบ่อคาว และบ้านกองงาม ตำบลแม่แรง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง
ทรัพยากรธรรมชาติ
บริเวณชุมชนบ้านดู่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มาก มีทั้งแหล่งน้ำและป่าไม้ในพื้นที่ มีแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน มีแหล่งต้นน้ำมาจากเทือกเขาบริเวณอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านอำเภอป่าซางทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่ตำบลปากบ่อง บ้านเรือน ท่าตุ้ม และน้ำดิบ มีระยะทางความยาวในพื้นที่ประมาณ 20 กิโลเมตร และมีน้ำไหลตลอดทั้งปี ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านบางส่วนจะจับจองพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำในการทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการสร้างเขื่อนภูมิพลทำให้การขึ้นลงของระดับน้ำไม่คงที่ตามฤดูกาล ในส่วนของทรัพยากรป่าไม้ในปัจจุบันยังคงเป็นป่าธรรมชาติตามพื้นที่หัวไร่ปลายนา และส่วนใหญ่เป็นป่าปลุกเพื่อประโยชน์ใช้สอย โดยพรรณไม้ที่ชาวบ้านที่ยมปลูกและตัดมาใช้งาน ได้แก่ ไม้ประดู่ ไม้รัง ไม้จิก และมีการปรับพื้นที่ป่าเดิมให้กลายเป็นป่าเศรษฐกิจ คือ การทำสวนไม้ผลต่าง ๆ ทำให้ป่าธรรมชาติลดน้อยลง
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 572 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 256 คน ประชากรหญิง 316 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 303 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานานจนกลายเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ และเป็นชุมชนชาวมอญกลุ่มสุดท้ายในจังหวัดลำพูน
มอญการประกอบอาชีพขอชาวมอญบ้านหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ในอดีตชาวบ้านมีอาชีพการถ่อเรือ (ทําให้เรือเดินด้วยใช้ไม้ยันแล้วดันไป) ล่องแพ และการทำประมงพื้นบ้าน จับปลาในแม่น้ำปิงเป็นอาชีพหลัก ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงลดลง และระดับน้ำขึ้นลงไม่คงที่ ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้าน และทรัพยากรปลาในแหล่งน้ำก็ลดน้อยลง ชาวบ้านจึงหันมายึดอาชีพด้านการทำเกษตรกรรม ทำนา ทำสวนผลไม้เป็นหลัก ในปัจจุบันอาชีพด้านการทำเกษตรกรรมยังคงเป็นอาชีพหลักสำคัญที่ชาวบ้านทำเพื่อนำรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว โดยมีการทำนาข้าว แบ่งเป็นการเพาะปลูกข้าวจ้าวร้อยละ 90 และทำนาข้าวเหนียวร้อยละ 10 และทำสวนผลไม้ เช่น สวนลำไย นอกจากนี้ชาวบ้านยังประกอบอาชีพอื่น ๆ อีก ได้แก่ อาชีพรับราชการ อาชีพรับจ้างทั่วไป อาชีพด้านการค้าขาย เป็นต้น
ปฏิทินทางเกษตรกรรม
เดือน | การทำเกษตรกรรม/ผลผลิตทางการเกษตร |
มกราคม | ลำไย ข้าวโพด มะเขือเทศ |
กุมภาพันธ์ | ลำไย ข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ |
มีนาคม | ลำไย ข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ |
เมษายน | ลำไย ข้าว ข้าวโพด |
พฤษภาคม | ลำไย ข้าว |
มิถุนายน | ลำไย |
กรกฎาคม | ลำไย |
สิงหาคม | ลำไย |
กันยายน | ลำไย ข้าว |
ตุลาคม | ลำไย ข้าว |
พฤศจิกายน | ลำไย ข้าว |
ธันวาคม | ลำไย ข้าว มะเขือเทศ |
บ้านหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมอญที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัว เนื่องด้วยชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ วิถีชีวิตของชาบ้านในพื้นที่จึงมีความผูกพันกับการพึ่งพาอาศัยแหล่งน้ำในการดำเนินชีวิต และวิถีด้านการทำเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลักสำคัญของคนในท้องถิ่น และด้วยความเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มอญด้านประเพณี วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมจึงมีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกับชาวพื้นเมืองหรือกลุ่มคนล้านนาในพื้นที่โดยทั่วไป ซึ่งสามารถจำแนกปฏิทินวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวมอญบ้านหนองดู่ได้ดังรายละเอียดตามตารางต่อไปนี้
ปฏิทินวิถีชีวิตการหาปลา
เดือน | ปลาในแม่น้ำ |
มกราคม | ปลากระสูบ/ปลาช่อน/ปลากด |
กุมภาพันธ์ | ปลากระสูบ/ปลาช่อน/ปลากด |
มีนาคม | ปลาช่อน |
เมษายน | ปลาช่อน |
พฤษภาคม | ปลาตะเพียน |
มิถุนายน | ปลาตะเพียน |
กรกฎาคม | ปลาตะเพียน |
สิงหาคม | ปลาตะเพียน |
กันยายน | - |
ตุลาคม | ปลาชะโด |
พฤศจิกายน | ปลาชะโด/ปลากระสูบ |
ธันวาคม | ปลาชะโด/ปลากระสูบ |
ปฏิทินวัฒนธรรม
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม | ทำบุญข้าวใหม่ |
กุมภาพันธ์ | พิธีบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวี วันมาฆบูชา |
มีนาคม | พิธีบรรพชาสามเณรและพระสงฆ์ |
เมษายน | ประเพณีสงกรานต์ ทำบุญข้าวแช่ แห่หงส์ธงตะขาบ |
พฤษภาคม | วันวิสาขบูชา |
มิถุนายน | พิธีเลี้ยงผีมอญ ฟ้อนผีมอญ |
กรกฎาคม | วันเข้าพรรษา ตักบาตรดอกไม้ |
สิงหาคม | ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บูรพาจารย์ |
กันยายน | ทานสลากภัตร ตักบาตรน้ำผึ้ง |
ตุลาคม | วันออกพรรษา ตักบาตรเทโว |
พฤศจิกายน | บุญกฐิน ลอยกระทง-พิธีลอยเรือสำเภา |
ธันวาคม | - |
อาหารถิ่นตามฤดูกาลของชาวมอญ
อาหารถิ่น | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. |
แกงมัน | / | / | / | |||||||||
แกงมะตาด | / | / | / | / | / | |||||||
แกงดอกส้าน | / | / | ||||||||||
แกงกะเพรา | / | / | / | |||||||||
แกงบอน | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงขี้เหล็ก | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงกระเจี๊ยบ | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงกล้วยดิบ | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงปลาปั้น | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงหยวก | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงปลีกล้วย | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงฟักเขียว | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงตูน | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงผักเชียงดา -ผักปั๋ง | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงหน่อไม้ -ผักชะอม | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
แกงถั่วฝักยาว | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / | / |
บ้านหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมอญ ภาษาที่ชาวบ้านใช้ในการสื่อสารส่วนใหญ่จึงเป็นภาษามอญทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความชำนาญในการใช้ภาษาถิ่นของตน ทั้งนี้เยาวชนรุ่นใหม่ก็มีความสนใจและให้ความสำคัญในการใช้ภาษามอญเช่นเดียวกัน
บ้านหนองดู่ ชุมชนมอญกลุ่มสุดท้ายแห่งเมืองลำพูน
บ้านหนองดู่ ชุมชนคนมอญแห่งเมืองหริภุญชัยกลุ่มสุดท้ายที่ยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลาง (บ้านบ่อคาว) ซึ่งมีทั้งโบราณสถานที่อยู่ภายในบริเวณวัดและกลุ่มโบราณสถานที่อยู่รอบ ๆ วัด รูปแบบของโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในวัดเกาะกลางเป็นศิลปกรรมล้านนา คือ ตัวเจดีย์เป็นทรงมณฑปแบบล้านนา ข้างล่างเป็นฐานจตุรมุข ข้างบนเป็นทรงระฆังคว่ำ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแต่ยังไม่ได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซม
หลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลางแห่งนี้น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการสืบค้นอดีต แม้ว่าคนมอญส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตให้เข้ากับยุคสมัยของสังคมในปัจจุบันไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยสายเลือดของคนมอญที่ฝังรากอยู่ในมโนสำนึกแล้ว ทุก ๆ ปีชาวบ้านเกาะกลางจะจัดงานเทศกาลฟ้อนผีเม็งซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดียวที่ยังถูกถ่ายทอดมาจนถึงลูกหลานเป็นการสานต่อวัฒนธรรมของชาวมอญไว้ไม่ให้สูญสลาย
เอกลักษณ์ของชาวมอญบ้านหนองดู่ที่ยังคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน คือ การแต่งกายและภาษา คนมอญ นิยมเรียกตนเองว่า “เม็ง” การแต่งกายของคนเมงคือ ผู้ชาจะใส่โสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดบ่า สวมเสื้อคอมน ผู้หญิงจะใส่ชุดลูกไม้สีชมพู หากแต่ปัจจุบันการแต่งกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ใส่โสร่ง การแต่งกายแบบมอญจะมีในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น งานวันบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวี วันเปิงสังกรา (วันสงกรานต์) วันลอยหะมด (วันลอยกระทง) และวันฟ้อนผีเท่านั้น
จันทร์ เขียวพันธุ์ และคณะ. (2557). กระบวนการฟื้นฟูอาหารพื้นบ้านสู่การเชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชน องค์ความรู้ท้องถิ่นและความมั่นคงด้านอาหารของชุมชนบ้านหนองดู่-บ่อคาว ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
เชียงใหม่นิวส์. (2559). บ้านหนองดู่ ชุมชนมอญกลุ่มสุดท้ายในลำพูน. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.chiangmainews.co.th/
นัฐวัฒน์ มีทองแสน (2561). คุณภาพชีวิต ความว้าเหว่และกิจกรรมเครือข่ายทางสังคมของผู้สูงอายุ: กรณีศึกษา บ้านหนองดู่ หมู่ 1 ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์.
วัดหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน. (2565). สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/
วัดหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน. (2567). สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเรือน. (2567). สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567, จาก https://banruan.go.th/