
หมู่บ้านที่ส่งเสริมให้สมาชิกภายในหมู่บ้านประกอบอาชีพเสริมที่มีความหลากหลาย มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกรภายในชุมชนหลังสิ้นสุดฤดูกาลทำนา และยังคงรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านให้ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกัน
ตามตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งหลวงจางวางและน้องชายชื่อ "เซียงหวาง" ช่างไม้ชาวเวียงจันทน์ได้เดินทางมาร่วมสร้างพระธาตุพนมตามมอบหมายของเจ้าอนุวงศ์ ครั้นเดินทางมาได้ระยะหนึ่งได้พักค้างแรมอยู่ ณ สถานที่อันอุดมสมบูรณ์ จึงได้ตัดสินใจสร้างหมู่บ้านขึ้น แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "เซียงหวาง" ตามชื่อน้องชาย นานเข้า จึงเพี้ยนเป็น "เชียงหวาง" ดังปัจจุบัน
หมู่บ้านที่ส่งเสริมให้สมาชิกภายในหมู่บ้านประกอบอาชีพเสริมที่มีความหลากหลาย มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกรภายในชุมชนหลังสิ้นสุดฤดูกาลทำนา และยังคงรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านให้ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกัน
หมู่บ้านเชียงหวางตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 300 ปีมาแล้ว สันนิษฐานจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่และคาดคะเนอายุของศาลหลักเมืองประจำหมู่บ้านถึงคำว่า “เชียงหวาง” มีตำนานเล่าว่า หลวงจางวางและน้องชายชื่อ เซียงหวาง เป็นช่างไม้ชาวนครเวียงจันทน์ได้รับมอบหมายจากเจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ให้มาช่วยสร้างพระธาตุพนมร่วมกับประเทศไทย เมื่อเดินทางมาถึงบ้านเชียงหวางในปัจจุบันได้ค้างพักแรมและเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมจึงสร้างหมู่บ้านขึ้น และตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของน้องชาย “บ้านเซียงหวาง” ระยะต่อมาการเรียกชื่อเพี้ยนไปกลายเป็น “บ้านเชียงหวาง”
บ้านเชียงหวางเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ชาวบ้านปลูกบ้านอยู่รวมตัวกันบนที่โคก ในฤดูฝนน้ำจะท่วมไม่ถึง แต่บริเวณโดยรอบเป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่มีภูเขา มีแต่โคก ดอน ซึ่งบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านก็เป็นที่ดอน บริเวณรอบที่ดอนเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง สภาพของดินเป็นดินร่วนปนหินและทราย บางแห่งเก็บน้ำได้ไม่ดี เช่น ในโคก ส่วนในที่นาดินจะเหมาะสมกับการเพาะปลูก มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสร้างลาน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสร้างคำ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านนาดี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโคกน้อย และบ้านสร้างหลวง
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านเชียงหวาง ตำบลเชียงหวาง อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,123 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 553 คน ประชากรหญิง 570 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 391 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเกี่ยวพันธ์กันเป็นเครือญาติทางสายเลือดและการแต่งงาน ในหมู่บ้านมีนามสกุลใหญ่ ๆ อยู่หลายนามสกุล เช่น ไผ่ป้อง แก้วเชียงหวาง ศรีเชียงหวาง ด้วยความที่บ้านเชียงหวางเป็นหมู่บ้านเล็ก มีการแต่งงานกับหมู่บ้านใกล้เคียงที่มีต้นกำเนิดมาจากหมู่บ้านเดียวกัน ทำให้ไม่มีความหลากหลายทางเครือญาติมากนัก
ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ หรือรับจ้างทั่วไป โดยจะทำนาเป็นอาชีพหลัก พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก เช่น กข.6 สันป่าตอง กข.8 กข.10 และข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการส่งเสริมจากทางรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีแตงไทย เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของเกษตรกรหมู่บ้านเชียงหวาง เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น ปลูกง่าย แต่ได้ผลตอบแทนสูงและเร็ว โดยจะเริ่มไถเตรียมดินประมาณเดือนเมษายน และเริ่มปลูกกลางเดือนพฤษภาคม หลังจากปลูกแล้วประมาณ 70 วัน แตงไทยก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
นอกจากการทำเกษตรกรรมแล้ว ยังมีการเลี้ยงสัตว์ โดยส่วนใหญ่จะเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคภายในครอบครัว และมีจำหน่ายบ้างเป็นครั้งคราว เช่น ไก่ เป็ด ส่วนการเลี้ยง โค ชาวบ้านนิยมเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ส่วนมากจะเลี้ยงโคพันธุ์พื้นเมือง การเลี้ยงดูจะปล่อยหากินเองตามธรรมชาติในพื้นที่นาของตนเอง หรือพื้นที่ที่มีหญ้าขึ้น
กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ
เนื่องจากบ้านเชียงหวางเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักอยู่เป็นทุนเดิม หน่วยงานรัฐโดยเกษตรตำบลจึงเห็นควรว่า ควรส่งเสริมให้ชาวบ้านเชียงหวางมีการรวมตัวกันเพื่อประกอบอาชีพเสริมหลังจากการทำนา จึงได้จัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษขึ้นโดยใช้พื้นที่สาธารณะในบริเวณหมู่บ้านเป็นสถานที่ปลูกผักของกลุ่ม และมีการสร้างโรงเรือนสำหรับปลูกพืชอินทรีย์ โดยการปลูกผักปลอดสารพิษของหมู่บ้านเซียงหวางจะอาศัยวัตถุดิบเหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด ต้นถั่วและเปลือกถั่วชนิดต่าง ๆ อีกทั้งยังมีมูลสัตว์ มากองกันทำปุ๋ยหมัก ในการปลูกผักนั้นจะปลูกในโรงเรือนที่มีการควบคุมอย่างดี มีการติดตาข่ายเพื่อป้องกันแมลงและสัตว์ชนิดอื่นเข้ามา ใส่ส่วนของดินที่นำมาปลูกจะมาจากการหมักผสมจากวัสดุทางการเกษตร ส่วนแร่ธาตุและสารอาหารของพืชจะได้จากน้ำปุ๋ยหมักธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยบำรุงดินจากมูลสัตว์และเศษตอซังข้าว และน้ำปุ๋ยหมักไล่แมลงจากใบสะเดา
ในการดูแลผักปลอดภัยจากสารพิษ กลุ่มฯ จะมีการแบ่งหน้าที่และสลับกันเข้ามาดูแล รวมถึงการนำผลผลิตออกจำหน่าย ณ ตลาดชุมชนของหมู่บ้านเซียงหวาง บางส่วนเข็นขายภายในหมู่บ้าน และขายหน้าสวนซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อ ทำให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น และยังได้รับประทานพืชผักที่สดและปลอดภัยอีกด้วย
หมู่บ้านเซียงหวางเป็นหมู่บ้านที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตและปัจจุบันยังคงถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- เดือนอ้าย (เดือน 1) ทำบุญเข้ากรม
- เดือนยี่ (เดือน 2 ) ทำบุญคูณลาน
- เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่
- เดือนสี่ ทำบุญพระเวส
- เดือนห้า ทำบุญสงกรานต์
- เดือนหก ทำบุญบั้งไฟ
- เดือนเจ็ด ทำบุญซำฮะ(ชำระ)
- เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา
- เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน
- เดือนสิบ ทำบุญข้าวสาก
- เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา
- เดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน
ชาวบ้านเซียงหวางมีภูมิปัญญาที่สั่งสมมาและยังสามารถใช้ได้ดีกับชีวิตในปัจจุบัน คือ งานหัตถกรรม ซึ่งมีอยู่หลายประเภท แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นสิ่งของที่ชาวบ้านใช้กันในชีวิตประจำวัน งานหัตถกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำขึ้นเพื่อใช้เองในครัวเรือนแล้ว ส่วนหนึ่งยังสามารถนำไปขายให้แก่คนในหมู่บ้าน หรือบางครั้งก็ขายให้แก่คนนอกหมู่บ้าน อาทิ จักสานโดนใช้ไม้ไผ่ หรือวัสดุภายในหมู่บ้านที่สามารถหาได้เอง เช่น แคร่ เปล แห อวน สุ่ม ตลอดจนงานที่ต้องใช้ความประณีต เช่น การทอผ้า ทอเสื่อ ทำที่นอน หมอน มุ้ง โดยวัสดุที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรม บางส่วนก็มาจากวัสดุในท้องถิ่นด้วย
ชาวบ้านมักเรียกตัวเองว่า พวก “ไทลาว” คำว่า ไทลาวแปลว่า “คนลาว” หรือคนอีสาน ภาษาที่ใช้พูดคือ ภาษาท้องถิ่นทางภาคอีสาน ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับภาษาของประเทศลาว ซึ่งสำเนียงของภาษาจะมีเสียงนาสิก (เสียงขึ้นจมูก) ปนอยู่ด้วย
กายชาติ รัตนวงศ์ไชย. (2544). กลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ : กรณีศึกษา หมู่บ้านเชียงหวาง หมู่ที่ 1 ตำบลเชียงหวาง อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เชียงหวางNEWS. (2563). สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/