Advance search

ชุมชนเล็ก ๆ บนดอยสกาด หนึ่งในจุดหมายปลายทางของเหล่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนอำเภอปัว พักผ่อนนอนโฮมสเตย์บรรยากาศอบอุ่นเรียบง่ายตามวิถีชุมชน

หมู่ที่ 3
สกาดใต้
สกาด
ปัว
น่าน
องค์การบริหารส่วนตำบลสกาด โทร. 0-5471-8963
วิไลวรรณ เดชดอนบม
23 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 ก.พ. 2024
บ้านสกาดใต้


ชุมชนชนบท

ชุมชนเล็ก ๆ บนดอยสกาด หนึ่งในจุดหมายปลายทางของเหล่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนอำเภอปัว พักผ่อนนอนโฮมสเตย์บรรยากาศอบอุ่นเรียบง่ายตามวิถีชุมชน

สกาดใต้
หมู่ที่ 3
สกาด
ปัว
น่าน
55120
19.25904093
101.0038818
องค์การบริหารส่วนตำบลสกาด

เมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว จีนได้เข้ามารุกรานภาคเหนือของไทย ชาวไทยพื้นเมืองในขณะนั้นต้องอพยพถอยร่นลงมาทางตอนใต้ ทำให้เกิดการแบ่งแยกออกเป็นหลายกลุ่มเพื่อหลบหนี บางกลุ่มได้แอบซุ่มตามป่าเขา พุ่มไม้ และลําห้วยซึ่งมีเครือเถาวัลย์ปกคลุมอยู่ เครือเถาวัลย์นี้ชื่อว่า เครือเขาสกาด กลุ่มที่อพยพลงมากลุ่มหนึ่งได้ยึดเอาห้วยนี้เป็นที่พักและได้ตั้งชื่อห้วยที่พักนี้ว่า ห้วยสกาด เริ่มแรกชาวบ้านที่หลบซ่อนอยู่นั้นมีประมาณ 20 ครอบครัว หลายปีต่อมามีจํานวนประชากรเพิ่มขึ้น ห้วยสกาดคับแคบลง จึงอพยพจากห้วยสกาดไปอยู่บนภูเขาทางเหนือไปจากลําห้วยและได้ตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่า เขาสกาด

ต่อมามีพ่อค้าจากจังหวัดแพร่ ลําพูน และน่าน ได้นําเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มมาขายที่ดอยสกาดนี้ เกิดผูกสมัครรักใคร่กับชาวบ้านในหมู่บ้านนี้และได้แต่งงานกัน ทําให้มีประชากรเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีคนต่างถิ่นมาอยู่รวมกัน ปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเรื่องศาสนา ดังนั้น กลุ่มที่สืบเชื้อสายจากพ่อค้าที่นับถือศาสนาพุทธจึงได้ถอยร่นมาอยู่ทางตอนใต้ มาตั้งหมู่บ้านใหม่ คือ หมู่บ้านสกาดใต้ในปัจจุบัน ส่วนกลุ่มที่นับถับถือศาสนาพุทธแบบผี ยังอาศัยอยู่ที่เดิมไม่ได้อพยพไปไหน แบ่งออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านสกาดกลาง และสกาดเหนือ และปัจจุบันได้แยกบ้านภูกอกออกมาเพิ่มอีกหนึ่งหมู่บ้าน

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านสกาดใต้มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาดินปนหินและดินลูกรัง มีป่าไม้ปกคลุมโดยรอบ มีลำห้วยไหลผ่านรอบหมู่บ้านซึ่งชาวบ้านสามารถใช้ในการอุปโภคได้ตลอดทั้งปี และมีอาณาเขตติดต่อกับชุมชนใกล้เคียง ดังต่อไปนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านสกาดกลาง บ้านสกาดเหนือ บ้านภูกอก ตำบลสกาด อำเภอปัว จังหวัดน่าน และบ้านเกวต ตำบลธาราสวรรค์ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยปูด ตำบลศิลาแดง อำเภอปัว จังหวัดน่าน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านจูน ตำบลศิลาแดง อำเภอปัว จังหวัดน่าน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านนาฝาง ตำบงลสถาน อำเภอปัว จังหวัดน่าน

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านสกาดใต้ ตำบลสกาด อำเภอปัว จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 735 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 374 คน ประชากรหญิง 361 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 250 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การทำเกษตรกรรม เช่น การทำไร่เมี่ยง เป็นเกษตรกรรมที่ทำกันเกือบทุกครัวเรือน เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีการทำไร่ข้าวเหนียวบนไหล่เขา รวมถึงการทำไร่ข้าวโพด แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเพราะข้าวโพดเป็นพืชที่เลิกปลูกกันไปมากแล้ว เนื่องจากราคาตกต่ำไม่คุ้มทุน แล้วได้มีการนำพืชนิดใหม่เข้ามาปลูกทดแทน เช่น ขิง อะโวคาโด ลิ้นจี่ มะม่วง ฯลฯ ภายหลังเสร็จสิ้นฤดูเพาะปลูกแล้วจะเป็นช่วงของการทำงานรับจ้าง โดยส่วนมากจะเป็นผู้ชายออกไปรับจ้างก่อสร้างภายนอกชุมชน รวมถึงการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การสานแอ๊บข้าว (กระติบข้าว) ตะกร้า กระบุง การค้าขายในลักษณะร้านขายของชำขนาดเล็ก จำหน่ายสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กับข้าว น้ำมันพืช ปลากระป๋อง ไข่ไก่ ฯลฯ 

ทั้งนี้ เนื่องด้วยบ้านสกาดใต้ตั้งอยู่บนดอยสกาดอันเป็นสถานที่ที่มีบรรยากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ภายในชุมชนจึงได้มีการก่อตั้งโฮมสเตย์เล็ก ๆ ขึ้นสำหรับบริการรับรองนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักค้างแรมให้ได้สัมผัสบรรยากาศอบอุ่นเรียบง่ายตามวิถีชุมชนในราคาย่อมเยา มีบริการชุดขันโตก ชาสีชมพู น้ำขิง กาแฟดริป ของว่าง อาหารที่ส่วนหนึ่งได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของคนในชุมชน นอกจากนี้ ภายในชุมชนยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมด้วย ดังนี้

1. น้ำตกตาดเล็ก เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 30 เมตร อยู่ห่างจากหมู่บ้านสกาดใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร

2. น้ำตกตาดหลวง เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 50 เมตร อยู่ห่างจากหมู่บ้านสกาดใต้ประมาณ 3  กิโลเมตร

3. จุดชมวิวบ้านสกาดใต้ เป็นสถานที่ที่สามารถชมความสวยงามตามธรรมชาติของหมู่บ้านในเขตตำบลสกาดทั้งหมด

ประเพณีสำคัญ

1. ประเพณีสู่ขวัญคน จะทําได้ 2 กรณี

  1. กรณีที่ผู้ป่วยหายจากการเจ็บป่วย โดยจะทําบายศรีสู่ขวัญหรือไม่ก็ได้ แต่จะต้องนําดอกไม้หลาย ๆ ชนิดมาใส่กระด้ง ไก่ต้ม 1 ตัว เทียน หมาก พลู เชือก มีหมอขวัญเป็นผู้ทำพิธี โดยสวดเป็นภาษาคําเมือง เรียกขวัญทั้ง 32 ขวัญกลับคืนมาให้ผู้ป่วยหายจากการเจ็บไข้ แล้วใช้เชือกฝ้ายผูกข้อมือทั้งซ้ายและขวาแก่ผู้ถูกทําขวัญ
  2. กรณีที่บุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านจะต้องเดินทางไกล ชาวบ้านจะช่วยกันเย็บบายศรีด้วยใบตองประดับด้วยดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ตามแต่จะหาได้ จัดไว้บนพาน 2 ใบ ซึ่งช้อนกันอยู่ ใบบนสุดจะมีกล้วย เหล้า ข้าว น้ำ วางอยู่ ใต้พานมีเชือกฝ้ายม้วนใหญ่พันอยู่ หมอขวัญทําพิธีสวดเป็นภาษาคําเมือง เสกเป่าขับไล่ภูตผีปีศาจ เรียกขวัญทั้ง 32 ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว ให้พรเพื่อให้ผู้ถูกสู่ขวัญมีความร่มเย็นเป็นสุข มี ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต หลังจากเสร็จพิธีจะมีการผูกข้อมือด้วยเชือกฝ้ายทั้งสองข้าง การประกอบพิธีเช่นนี้เชื่อว่าเป็นการแสดงถึงความรัก ความสามัคคี และความเคารพซึ่งกันและกันอย่างสูงสุดของชาวบ้านสกาดใต้

2. ประเพณีสงเคราะห์สืบชะตาหมู่บ้าน บ้านสกาดใต้เป็นชุมชนที่ไม่มีวัด แต่มีสำนักธรรมจาริก ซึ่งชาวบ้านเล่าว่าไม่เคยมีพระสงฆ์รูปใดมาจำวัดอยู่ประจำเพราะจะมีอันเป็นไปทุกรูป มีแต่พระธรรมจาริก จึงต้องมีการสงเคราะห์สืบชะตาหมู่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง

ในวันที่มีการประกอบพิธีกรรม จะมีการนิมนต์พระสงฆ์จากตำบลใกล้เคียงมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ชาวบ้านจะนำสิ่งของต่าง ๆ เช่น พริกแห้ง ข้าวสาร เมี่ยง หมาก ยาสูบ ขนม มารวมตัวกันที่สำนักธรรมจาริก แล้วนำสิ่งของที่เตรียมมามาผูกติดกับต้นไม้ ใช้เชือกฝ้ายผูกติดกับแกนกลางที่ใช้ฟางข้าวมัด เหลาไม้ไผ่ให้ยาวประมาณ 3 ฟุต ใช้เชือกฝ้ายมัดจากปลายข้างหนึ่งถึงปลายอีกข้างหนึ่ง ทำไว้หลาย ๆ อัน ตามจำนวนสิ่งของที่ชาวบ้านนำมา จากนั้นนำเชือกฝ้ายผูกของที่นำมาติดกับไม้ที่เหลาไว้ เช้าวันต่อมามีการทำบุญตักบาตรทั้งอาหารคาวหวาน อีกทั้งยังมีการฟังเทศน์ ฟังธรรมจากพระสงฆ์ พระสงฆ์ทำพิธีสวดสืบชะตาสงเคราะห์หมู่บ้านเป็นภาษาคำเมือง จากนั้นรดน้ำมลและให้พรเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

3. ประเพณีกินโสลด หรือตีพิ เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวตำบลสกาด จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเลี้ยงขวัญข้าวเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน ในช่วงหลังการเพาะปลูกพืชไร่ จัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยคำว่า ตีพิ มาจาก พิ ชื่อเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของชาวลัวะ ทำขึ้นจากไม้ไผ่ ใช้ตีประกอบจังหวะ ร่ายรำเล่นเฉพาะในงานโสลดนี้เท่านั้น

นอกจากประเพณีดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว บ้านสกาดใต้ยังมีประเพณีสำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งที่ที่เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาและประเพณีตามคติความเชื่อดั้งเดิม เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีเข้าพรรษา ออกพรรษา ประเพณีสักการะเจ้าหลวงปัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่หมู่บ้านสกาดใต้

ลักษณะการตั้งบ้านเรือน

ชาวบ้านสกาดใต้นิยมตั้งบ้านเรือนเกาะกันเป็นกลุ่ม มีถนนซีเมนต์เส้นหนึ่งเป็นถนนสายหลักเชื่อมสู่ตำบลสกาด ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ยกใต้ถุนสูง สาเหตุที่ยกใต้ถุนสูงนั้นเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ หมู ไก่ เป็นที่พักผ่อนและรับแขก ด้านหลังคานิยมมุงด้วยสังกะสี แต่หากบ้านหลังไหนค่อนข้างมีฐานะก็มักจะมุงด้วยกระเบื้อง และในปัจจุบันเริ่มมีการสร้างบ้านตามแบบสมัยใหม่ปรากฏให้เห็นในชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ การสร้างบ้านด้วยปูนหรือวัสดุซีเมนต์ซึ่งมีความคงทนมากกว่าการสร้างบ้านด้วยไม้ 

ปราชญ์ด้านการจักสาน

1.นายทา รกไพร

2.นายปั๋น สุมทุม

3.นายหมาย สุมทุม

ปราชญ์ด้านการทำไม้กวาด

1.นายแข้น สุมทุม

ปราชญ์ด้านการทำยาสมุนไพร

1.นายหลอ สุมทุม

2.นายข้อน สุมทุม

3.นายอำนวย สุมทุม

ปราชญ์ด้านการทำและบรรเลงเครื่องดนตรีค่าวและซอ

1.นายข้อน สุมทุม

2.นายขันแก้ว สุมทุม

3.นางมาลัย สุมทุม

4.นายอาคม สุมทุม

5.นายแปง สุมทุม

6.นายปั๋น สุมทุม

ปราชญ์หมอทำขวัญ

1.นายทง สุมทุม

ปราชญ์การตีมีด

1.นายเป็ง สุมทุม 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาคำเมือง ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย 


ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ข้าวโพดเคยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านสกาดใต้ปลูกกันทุกครัวเรือน แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มเลิกปลูก เหลือเพียงไม่กี่ครอบครัวและพื้นที่ไม่กี่ไร่เท่านั้นที่ยังคงเห็นเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดอยู่ เนื่องจากผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มทุน ทั้งราคาเมล็ดข้าวโพด ค่าบำรุงรักษา ค่าสีเมล็ด ตลอดจนราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลางที่กล่าวได้ว่าต่ำมาก ภายหลังความนิยมปลูกข้าวโพดเริ่มลดลง ลิ้นจี่เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่เข้ามามีบทบาทต่อการเกษตรของชาวบ้านสกาดใต้เพื่อหวังผลในอนาคต เพราะเป็นไม้ยืนต้นราคาดี โดยชาวบ้านได้เห็นแบบอย่างมาจากชาวอิ้วเมี่ยนที่ได้ซื้อที่ดินบ้านเกวต (อยู่ติดกับบ้านสกาดเหนือ) ปลูกลิ้นจี่ซึ่งได้ผลผลิตดี ลิ้นจี่เจริญงอกงาม ชาวบ้านจึงได้ซื้อเมล็ดพันธุ์ลิ้นจี่จากชาวอิ้วเมี่ยนมาปลูกเป็นพืชชนิดใหม่แทนข้าวโพดที่เลิกปลูกไป 


ปัจจุบันการศึกษาได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านสกาดใต้มากกว่าในอดีต ชาวบ้านนิยมให้บุตรหลานได้ร่ำเรียนสูง ๆ เท่าที่กําลังจะส่งได้ หรืออย่างน้อยให้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสําคัญของการศึกษา ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าบุตรหลานได้เรียนสูง ๆ ก็จะมีงานดี ๆ ทำ และได้เงินเดือนมากกว่าทําการเกษตรเหมือนพ่อแม่ สามารถหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ซื้อเครื่องอํานวยความสะดวกมาใช้ได้ โดยชุมชนบ้านสกาดใต้มีโรงเรียนประถมศึกษา คือ โรงเรียนบ้านสกาดใต้ เปิดทำการเรียนการสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นจะไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนบ้านสกาดเหนือ คือ โรงเรียนสกาดพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส บางครอบครัวที่พอมีฐานะก็จะส่งบุตรหลานไปเรียนที่อำเภอปัว 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สายฝน รอดรับบุญ. (2539). มูลเหตุจูงใจทางเศรษฐกิจ ของการทำเมี่ยงในหมู่บ้านสกาดใต้ ตำบลสกาด อำเภอปัว จังหวัดน่าน. ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงบัณฑิตอาสาสมัคร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

องค์การบริหารส่วนตำบลสกาด. (2558). บ้านสกาดใต้ หมู่ 3. สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2567, จาก http://tumbonskad.blogspot.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลสกาด โทร. 0-5471-8963