ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี แหล่งท่องเที่ยวที่เน้นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ดึงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาควบคู่กับการบริหารสถานที่สำคัญ "วัดสวนหินผานางคอย" เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว
"ดงนา" มาจากชื่อลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คือ "ห้วยดงนา" เมื่อมีการจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2534 จึงได้นำเอาชื่อลำห้วยดงนามาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน
ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี แหล่งท่องเที่ยวที่เน้นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ดึงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาควบคู่กับการบริหารสถานที่สำคัญ "วัดสวนหินผานางคอย" เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว
ประมาณปี พ.ศ. 2470 นายจันดี คงทน ชาวบ้านหนามแท่ง หมู่ 1 ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางออกหาของป่าและได้พบพื้นที่ซึ่งเป็นหมู่บ้านในปัจจุบัน เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก เนื่องจากอยู่ริมแม่น้ำโขง ทั้งยังมีลำห้วยและทรัพยากรอื่น ๆ ที่สามารถเป็นแหล่งอาหารได้ จึงได้ใช้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวทำการเพาะปลูก แต่ยังมิได้อพยพมาตั้งรกรากอยู่อย่างถาวร จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2477 ได้เกิดวิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงขึ้น การทำนาที่บริเวณบ้านหนามแท่งไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร นายจันดีและครอบครัวจึงได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่ตนเคยมาทำเพาะปลูก ต่อมาบุตรคนอื่น ๆ และเพื่อนบ้านก็ได้อพยพตามนายจันดีมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณทางใต้ของหมู่บ้าน และเกิดการขยายตัวจากทางด้านใต้ขึ้นไปทางด้านเหนือ
ต่อมาใน พ.ศ. 2483 ได้เกิดสงครามอินโดจีน ทางราชการมีนโยบายที่จะรวบรวมชาวบ้านผู้ที่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเขตชายแดน เพื่อง่ายต่อการคุ้มครองดูแล นายจันดีและเพื่อนบ้านจึงได้รวมตัวกันขอจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ เดิมที่ชื่อเรียกหมู่บ้านนั้นมีหลายชื่อตามลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้าน เช่น บ้านหาดแต้ เนื่องจากบริเวณนั้นมีนกระแต้มาก หรือบ้านปากแยะ เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ใกล้กับปากห้วยแยะ ต่อมาได้ตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเรียนว่า "บ้านดงนา" ซึ่ง "ดงนา" มาจากชื่อลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2534 ชื่อลำห้วยดงนาจึงได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อ "บ้านดงนา" จนปัจจุบัน
ในปีเดียวกันนี้ ได้มีประกาศเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มขึ้น ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณที่ตั้งหมูบ้านดงนา บ้านดงนาจึงเข้าไปอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มโดยปริยาย ฉะนั้น ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถือครอง คือ ไม่มีหนังสือใดจากทางราชการที่จะรับรองสิทธิ์ครอบครองที่ดินแต่อย่างใดและไม่สามารถขยายพื้นที่ทำการเพาะปลูกออกไปได้อีก
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านดงนาอยู่ในเขต หมู่ 5 ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีเนื้อที่ทั้งหมด 120 ไร่ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ลักษณะพื้นที่หมู่บ้านนั้นตั้งขนานไปกับลำน้ำโขง คือ ด้านหน้าหมู่บ้านติดกับแม่น้ำโขง ส่วนด้านหลังเป็นเทือกเขาซึ่งจะยาวขนานไปกับแม่น้ำโขงเช่นกัน ส่วนที่อยู่ด้านหลังของหมู่บ้านดงนาชาวบ้านเรียกว่า "ภูดงนา" มีลำห้วยดงนาซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนภูดงนาไหลผ่านบริเวณที่เป็นที่นาจากทางเหนือของหมู่บ้านลงสู่แม่น้ำโขงทางด้านใต้ของหมู่บ้าน ซึ่งบ้านดงนา มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่นำโขง ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโหน่งขาม ซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกันกับบ้านดงนา และบ้านผาชัน ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านปากลา ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มเช่นเดียวกัน
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรป่าไม้ : บ้านดงนาตั้งอยู่ในป่าดงภูโหล่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ป่าในบริเวณนี้มีลักษณะเป็นป่าดิบแล้ง ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง และไม้ประดู่ โดยป่าบริเวณนี้เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นทั้งแหล่งอาหาร คอกธรรมชาติของวัวควาย นอกจากนี้ ยังเป็นป่าต้นน้ำของแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคภายในหมู่บ้านของชาวบ้านดงนาด้วย
ทรัพยากรน้ำ : แม่น้ำโขง เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อชาวบ้านไม่น้อย คือ เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ ตลอดจนเป็นเส้นทางคมนาคม โดยการใช้ชีวิตของชาวบ้านดงนาจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง เช่น ในช่วงน้ำขึ้น ชาวบ้านจะปลูกพืชตามริมตลิ่ง แต่ไม่สัญจรทางน้ำ เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่ในการจับปลา ชาวบ้านสามารถหาได้ตลอดทั้งปี เช่น ปลาหมู ปลาบอก ปลาแข้ ปลากรด ปลากราย
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านดงนา ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 542 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 295 คน ประชากรหญิง 247 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 134 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
การปลูกฝ้าย เป็นผลผลิตที่มีปริมาณมากจากสวน ซึ่งเฉลี่ยแล้วแต่ละครัวเรือนจะมีผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 40-45 กิโลกรัม ทั้งนี้ ฝ้ายบางส่วนชาวบ้านจะเก็บไว้เองภายในครัวเรือนเพื่อนำมาทอผ้า นอกจากนี้ ยังมีฝ้ายที่เข็นเป็นเส้นแล้ว จะขายได้ราคาดีกว่าฝ้ายที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรสภาพใดอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ซื้อจะเป็นคนจากภายนอกหมู่บ้าน ส่วนฝ้ายที่ยังไม่ผ่านการเข็นเป็นเส้นนั้น ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นคนภายในหมู่บ้าน
ข้าวโพด เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมปลูกมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการขายปลีกให้กับผู้ซื้อซึ่งมีทั้งคนภายในและภายนอกหมู่บ้าน
การทำนา ชาวบ้านจะเริ่มเตรียมการปลูกข้าวในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนตกมาแล้ว และเริ่มเก็บเกี่ยวประมาณเดือนตุลาคม ชาวบ้านมีการเพาะปลูกข้าว 2 แบบ คือ การปลูกข้าวนาดำและการปลูกข้าวไร่ ข้าวที่ปลูกนั้นส่วนมากจะเป็นข้าวเหนียว แต่เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำนา จึงคลับคล้ายว่าการทำนาจะมีความสำคัญไม่มากนัก ชาวบ้านที่ทำนาจึงจะประกอบอาชีพอื่นร่วมด้วย เช่น รับจ้าง ค้าขาย พนักงานบริษัท ข้าราชการ เป็นอาชีพหลัก และทำนาเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น
การขับเรือรับจ้าง เป็นอาชีพที่ชาวบ้านดงนาเพิ่งหันมาทำมากขึ้น เนื่องจากความมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นของวัดสวนหินผานางคอย ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาภายในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมจะมีเรือเพียงวันละ 1-2 เที่ยวต่อวัน ต่อมาได้เพิ่มเที่ยวเรือและเพิ่มเรือให้มากขึ้น ซึ่งเรือที่แล่อยู่มีประมาณ 10 ลำ โดยจะคิดค่าจ้าง 2 แบบ คือ แบบเช่าเหมาลำ ราคาจะอยู่ที่ 400-600 บาท และแบบค่าจ้างปกติจะเก็บค่าโดยสารคนละ 20 บาท
การเลี้ยงสัตว์ ในสมัยก่อนชาวบ้านจะเลี้ยงสัตว์เพื่อไว้ใช้งานและเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหาร ต่อมาชาวบ้านเริ่มเลี้ยงสัตว์เอาไว้เพื่อขาย หรือเลี้ยงไว้ในเวลาที่มีงานบุญต่าง ๆ หรือเวลาเลี้ยงแขกในเวลาที่ต้องขอแรงจากเพื่อนบ้านหรือญาติ สัตว์เลี้ยงที่ชาวบ้านดงนาเลี้ยงไว้ เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่ และหมู
การทำประมง เนื่องจากชาวบ้านดงนามีอาณาเขตติดกับแม่น้ำโขง การทำประมงจึงเป็นอาชีพที่ชาวบ้านทำกันมานาน ในอดีตการประมงของชาวบ้านเป็นการประมงพื้นบ้านโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริโภคภายในครอบครัว เมื่อหาได้เยอะจะนำมาแปรรูปเก็บไว้เพื่อใช่แลกข้าว แต่ในปัจจุบันการหาปลาจะหาเพื่อจะขายเป็นหลัก
- เดือนมกราคม-มีนาคม เป็นช่วงว่างเว้นจากฤดูกาลทำนา คือ หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะต้อนวัวและควายไปเลี้ยงตามบริเวณริมน้ำโขงและบนภูเขา
- เดือนเมษายน-พฤษภาคม เป็นช่วงที่ปลาขึ้น เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่จะออกไปหาปลาเพื่อนำมาบริโภคและนำไปขาย
- เดือนมิถุนายน เริ่มการทำนา
- เดือนสิงหาคม-ปลายเดือนตุลาคม ชาวบ้านจะเริ่มทำตอกเพื่อใช้ในการทำจักสานและการเกี่ยวข้าว
- เดือนตุลาคม ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลง หลังจากการเกี่ยวข้าว ชาวบ้านดงนาจะเริ่มทำการเพาะปลูกมันเทศ มันแกว และข้าวโพด ต่อมาจะปลูกหอม กระเทียม
- เดือนตุลาคม-ธันวาคม หลังน้ำลด ชาวบ้านจะออกหาปลาในลำห้วยภายในหมู่บ้าน
ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านดงนา
หมู่บ้านดงนาได้รับสนับสนุนและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เน้นส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ดึงอัตลักษณ์ชุมชนดั้งเดิมออกมาไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ศาสนา ประเพณี ซึ่งหมู่บ้านดงนาเองก็ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาในเรื่องของวิถีชีวิตริมฝั่งน้ำโขง รวมไปถึงประเพณี ความเชื่อในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ให้กลายเป็นจุดเด่นเพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เช่น การทำผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านบ้านดงนาทำอยู่แล้วหลังว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา ซึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือที่ขึ้นชื่อที่สุดของหมู่บ้านดงนา คือ ผ้าคลุมไหล่
อนึ่ง การรื้อฟื้นส่งเสริมภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวถูกดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาสถานที่สำคัญของชุมชน เช่น วัดสวนหินผานางคอย ตั้งอยู่บริเวณเขาหลังหมู่บ้าน ด้านบนเป็นลานหิน มีหน้าผาสูงชันชื่อ “ผานางคอย” มีพญาภุชงค์นาคราช ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ริมหน้าผา ชาวบ้านเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ และหากมองลงมาจะเห็นแม่น้ำโขงพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากผาแต้ม สถานที่แห่งนี้จึงเหมาะแก่การพัฒนาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านดงนาแห่งนี้
ภาษาพูด : ภาษาอีสาน (สำเนียงอุบลราชธานี) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
ผาแต้ม
วัดสวนหินผานางคอย จุดชมวิวธรรมชาติบ้านดงนา
วัดสวนหินผานางคอย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2483 หลังจากตั้งหมู่บ้านดงนามาประมาณ 8 ปี มีหน้าผาสูงชันชื่อ “ผานางคอย” ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่อยู่ไม่ห่างจากผาแต้มมากนัก หน้าผานี้มีลานกว้างเป็นที่ตั้งขององค์พญานาคอนันตภุชงค์นาคราชองค์ใหญ่ หันหน้าสู่ลำน้ำโขง ให้เหล่าประชาชนผู้ศรัทธาในองค์อนันตภุชงค์นาคราชได้กราบไหว้สักการะ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). วัดสวนหินผานางคอย. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
กระทรวงมหาดไทย, กรมการพัฒนาชุมชน, สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี. (2561). ขอเชิญเที่ยวชม ผานางคอย วัดหลวงปู่พรหมมา อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://district.cdd.go.th/simuangmai/
ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ศรีเมืองใหม่. (2562). สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/
ภัทรพร กีรติวิทยโยพิส. (2536). หมู่บ้านริมแม่น้ำโขง กรณีศึกษาบ้านดงนา ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
PPTVHD36. (2566). บ้านดงนา อุบลราชธานี ในกระแสแม่น้ำโขงที่แปรเปลี่ยน. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.pptvhd36.com/