Advance search

บ้านกลาง

ชุมชนเกษตรอินทรีย์ผักปลอดสาร อันมีจุดเริ่มต้นจากโครงการฟื้นฟูต้นทุนชีวิตสู่ชุมนท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้ชาวบ้านมีกิน มีใช้ อย่างยั่งยืน 

หมู่ที่ 4
นาคำกลาง
นาทราย
เมืองนครพนม
นครพนม
องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย โทร. 0-4258-7123
วิไลวรรณ เดชดอนบม
10 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
12 มี.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 มี.ค. 2024
บ้านนาคำกลาง
บ้านกลาง

มาจากลักษณะของหมู่บ้านอยู่ที่ตั้งอยู่กลางน้ำ สมัยก่อนชาวบ้านเรียกว่า “บ้านกลาง” หรือ “บ้านนาคำกลางต่อเฮือ” (อ่างคำ) เพราะมีห้วย มีน้ำล้อม ลำห้วยนี้มีชื่อว่า “ห้วยคำ” จึงนำเอาลักษณะของหมู่บ้านและชื่อของลำห้วยมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน


ชุมชนเกษตรอินทรีย์ผักปลอดสาร อันมีจุดเริ่มต้นจากโครงการฟื้นฟูต้นทุนชีวิตสู่ชุมนท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้ชาวบ้านมีกิน มีใช้ อย่างยั่งยืน 

นาคำกลาง
หมู่ที่ 4
นาทราย
เมืองนครพนม
นครพนม
48000
17.3881025180767
104.679205566644
องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย

หมู่บ้านนาคำกลางมีอายุประมาณ 100 กว่าปี คาดว่าก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2400 โดยชื่อบ้านนาคำกลางมาจากลักษณะของหมู่บ้านที่ตั้อยู่กลางน้ำ สมัยก่อนชาวบ้านเรียกว่า “บ้านกลาง” หรือ “บ้านนาคำกลางต่อเฮือ” ซึ่งบริเวณหมู่บ้านนี้มีลำห้วยไหลผ่าน ลำห้วยนี้มีชื่อว่า "ห้วยคำ" สันนิษฐานว่าชื่อนี้อาจมาจากการที่น้ำจากลำห้วยไหลมาจากยอดคำที่มีรูน้ำออกซึ่งทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ทั้งหมดนี้จึงกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านว่า "นาคำกลาง" ในปัจจุบัน

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านมูลฮิ้น หมู่ที่ 2 ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านอ่างคำ หมู่ 5 ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโนนขาม หมู่ 7 ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโนนขาม หมู่ 7 ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านนาคำกลางมีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าโคกและที่ราบลุ่ม มีการตั้งบ้านเรือนรวมตัวกันเป็นกระจุก หรือเป็นหย่อม ๆ ไม่ค่อยกระจายเท่าใดนัก ภายในหมู่บ้านมีถนนสายหนึ่งที่ล้อมรอบหมู่บ้าน เป็นถนนสายหลังที่ชาวบ้านใช้ในการเดินทางสัญจรไปมาหาสู่กัน นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือ ลำห้วยคำ และลำห้วยเหมือด เป็นลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ทั้งยังมีหนองน้ำธรรมชาติ เรียกว่า "ห้วยเข้" อยู่ทางด้านหลังหมู่บ้าน ซึ่งแหล่งน้ำธรรมชาติรวมถึงป่าไม้ที่มีลักษณะเป็นป่าโคกดังที่กล่าวมานี้ในปัจจุบันชาวบ้านยังคงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้อยู่ ตลอดจนสามารถหาอาหารตามฤดูกาล เช่น ปลา ปู หอย กบ เขียด เห็ด หน่อไม้ และผักป่าตามธรรมชาติเพื่อยังชีพได้ 

สภาพภูมิอากาศ

1. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี ในช่วงนี้จะมีอากาศร้อนอบอ้าว โดยช่วงที่ร้อนที่สุดจะอยู่ประมาณเดือนเมษายน

2. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคมของทุกปี ในฤดูนี้บางพื้นที่จะประสบอุทกภัย ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่ทางการเกษตร

3. ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยทั่วไปอากาศจะหนาวเย็น และมีหมอกในตอนเช้า

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านนาคำกลาง ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 378 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 180 คน ประชากรหญิง 198 คน จำนวนหลังคาเรือนเรือนทั้งสิ้น 114 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ลักษณะการประกอบอาชีพของชาวบ้านนาคำกลางนั้นมีอยู่หลากหลาย โดยในที่นี้จะจำแนกออกเป็นการประกอบอาชีพที่ดำเนินอยู่ภายในหมู่บ้าน และการประกอบอาชีพนอกหมู่บ้าน ดังนี้ 

1. การประกอบอาชีพในหมู่บ้าน

ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา อาชีพรองลงมา คือ รับจ้างทั่วไป ขับรถสามล้อเครื่องหรือรถสกายแล็ป และอาชีพค้าขาย ในส่วนการเลี้ยงสัตว์ชาวบ้านนิยมเลี้ยงโคและกระบือ ซึ่งจะซื้อพ่อแม่พันธุ์ 1 คู่ มาเลี้ยงเพื่อให้ตกลูก ซึ่งโคจะตกลูกปีละครั้ง หรือถ้ามีแม่พันธุ์ก็จะนำไปเอาน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ที่ต้องการจากปศุสัตว์และฟาร์มโคเอกชนมาผสมพันธุ์ ครอบครัวหนึ่งเลี้ยงโคประมาณ 10-20 ตัวส่วนกระบือเลี้ยงประมาณ 3-5 ตัว โดยโคและกระบือเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเลี้ยงไว้ขาย บางตัวมีราคาสูงมากกระทั่งถึงหลักแสนก็มี 

อย่างไรก็ตาม การที่ชาวบ้านนาคำกลางส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร คือ ทำนา เป็นอาชีพหลัก แต่ผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านไม่ได้มีแค่ข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีพืชผักอีกหลายชนิดที่ชาวบ้านปลูกไว้ทั้งเพื่อบริโภคและนำออกไปจำหน่าย เช่น เผือก ถั่วลิสง เดือย ถั่วฝักยาว มันสำปะลัง แตงกวา ผักกาด กระเทียม ข้าวโพด ฯลฯ โดยจะปลูกกันในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ ซึ่งการปลูกพืชปลอดสารพิษนี้มีจุดเริ่มต้นจากการก่อตั้งกลุ่มเกษตรพอเพียง ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านทำนาปลอดสาร ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และหันมาใช้ปุ๋ยหมักแทน โดยมีการทำปุ๋ยน้ำหมักเองสำหรับนำไปรดต้นข้าวและพืชผัก อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชหลายชนิดตามฤดูกาล ให้ชาวบ้านมีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี 

2. การประกอบอาชีพในเมือง

ส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านที่เดินทางเข้าไปทำงานในเมือง หรือทำงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แล้วจะส่งเงินมายังหมู่บ้านให้บิดามารดาและญาติที่สูงอายุ

ประเพณีสำคัญประจำปี 

1. ประเพณีการทำขวัญข้าว หรือบุญกองข้าว ในเดือน 3 เป็นประเพณีที่ทำหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยเตรียมพร้อมนำขึ้นเล้าหรือยุ้งฉาง การทำขวัญข้าวนี้มีนัยเพื่อให้เกิดเป็นสิริมงคลแก่ชาวบ้าน และเป็นการบูชาสิ่งสิทธิ์ที่มีสวนเกี่ยวข้องกับข้าว เช่น พระแม่โพสพ นอกจากนี้ ยังมีงานบุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นเป็นก้อน แล้วนำมาจี่หรือปิ้งไฟ ทาด้วยไข่ เสร็จแล้วจะร่วมกันนำไปถวายวัด

2. ประเพณีงานบุญผะเหวด ในเดือน 4 เป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของหมู่บ้าน มีการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์ และแห่พระเวส อีกทั้งยังมีการแข่งขันตีกลองกิ่ง ตีค้อน กับหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย

3. ประเพณีสงกรานต์ ในเดือน 5 ชาวบ้านจะไปเก็บดอกไม้ต้นละ 3 ดอก 3 ต้น รวม 9 ดอก นำไปถวายพระที่วัด มาประดับบริเวณฮด (สรง) พระ มีการตีกลองรอบหมู่บ้านเป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ตามปฏิทินไทย 

4. ประเพณีการแฮกนาหรือแรกนา ในเดือน 6 เปรียบเสมือนพิธีที่เป็นหัวใจของการทำนา และต้องทำก่อนทำนา โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าพิธีกรรมนี้จะทำให้ต้นกล้าข้าวในนาสมบูรณ์ดี หลังประกอพิธีแฮกนาเสร็จแล้วจึงจะทำการไถแฮกนาได้

5. ประเพณีเข้าพรรษา ในเดือน 9 

6. ประเพณทำข้าวสาก หรือบุญข้าวสาก ในเดือน 10 จุดประสงค์หลัก คือ การทำบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้อง หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งขั้นตอนหรือรูปแบบต่าง ๆ ของการทำบุญข้าวสากนี้จะมีความคล้ายลึงกับบุญสลากภัตร เพียงแต่เรียกต่างตามภูมิภาคเท่านั้น

7. ประเพณีทอดกฐิน  ในเดือน 12 คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์นั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐิน การทอดกฐิน มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึง กลางเดือน 12 มีกำหนด 1 เดือน หรือภายหลังจากออกพรรษาแล้ว จะทอดก่อนหรือภายหลังที่กำหนดนี้ไม่ได้

นอกจากประเพณีดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว บ้านนาคำกลางยังมีประเพณี พิธีกรรมทางความเชื่ออื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ ประเพณีทำบุญผีบ้านผีเรือนในวันออกพรรษา ประเพณีเลี้ยงเต่าในเดือน 6 และประเพณีเลี้ยงผีช่วงเกี่ยวข้าว 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

1. ปลาร้า เป็นเครื่องปรุงแต่งอาหารยอดนิยมที่ติดครัวของชาวบ้านทุกครัวเรือน ชาวบ้านนาคำกลางมักจะทำปลาร้าไว้รับประทานเอง เป็นวิธีแปรรูปอาหารเพื่อเก็บไว้รับประทานได้ตลอดทั้งปี โดยชาวบ้านจะเริ่มทำปลาร้าในช่วงฤดูฝนเนื่องจากเป็นช่วงที่ฝนตกมีน้ำมาก ปลาก็มากด้วย เมื่อได้ปลามาแล้วก็จะเอาไส้ออก ล้างน้ำให้สะอาด คลุกด้วยเกลือ รำข้าวเหนียว แล้วใส่ลงในไหหมักเก็บไว้รับประทานยามต้องการ

2. ต่ำสาดหรือการทอเสื่อ เมื่อหมดฤดูทำนาหรือเวลาว่างจากงาน ชาวบ้านจะออกไปหาต้นผือหรือต้นกก เพื่อนำมาทอเป้นเสื่อไว้ใช้ปูนั่ง นอน หรือใช้ประโยชน์อื่น ๆ รวมถึงขายเพื่อเป็นรายได้เสริม โดยจะนำต้นกกมากรีดแบ่งเป้นเส้น ๆ ตากแดด แล้วนำมาย้อมสีตามความชอบ จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งแล้วจึงนำมาทอกับอุปกรณ์ที่ชาวบ้านเรียก กี่ต่ำสาด หรือ โฮงต่ำสาด

3. กะละแม เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งของชาวบ้านนาคำกลาง แม้ปัจจุบันจะไม่ได้ความนิยมมากนัก เนื่องจากขั้นตอนในการทำใช้เวลานานและในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ง่ายและเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัด

ในหมู่บ้านนาคำกลางยังมี 1 ครอบครัวที่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญานี้และยังเป็นอาชีพที่จุนเจือครอบครัว โดยจะมีสูตรกาละแมที่นับได้ว่าเป็นสูตรลับเฉพาะที่ได้รับการสืบทอดรุ่นต่อรุ่น การทำกะละเมนั้นจะใช้ข้าวเหนียวดิบนำไปแช่น้ำทิ้งไว้เพื่อนำมาโม่บดให้เป็นแป้ง เตรียมน้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลทราย กะทิ เกลือ เสร็จแล้วนำแป้งข้าวเหนียมผสมกับน้ำกะทิ เกลือ น้ำตาล เข้าด้วยกัน ก่อนนำไปเคี่ยวใช้ผ้าขาวบางกรองลงในกระทะ แล้วเคี่ยวจนเหนี่ยวนุ่ม จากนั้นนำไปห่อด้วยใบตองอบ จะทำให้กะละแมมีกลิ่นหอมของใบตองและเก็บไว้ได้ในระยะหนึ่ง

ภาษาที่ใช้ในการพูดคุยสื่อสารของชาวบ้านในหมู่บ้านด้วยกัน คือ ภาษาอีสาน ส่วนการพูดการสื่อสารกับคนภายนอกจะใช้ภาษากลาง ด้านภาษาเขียนนั้นยังคงใช้อักษรไทยเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นในประเทศไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วรสกุล บุญถึง. (2548). ความยั่งยืนของการดำเนินวิถีชีวิตในแนวเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร กรณีศึกษา: หมู่บ้านนาคำกลาง ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พัฒนาที่ดิน, สำนักสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน(ม.ป.ป.). จังหวัดนครพนม. สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2567, จาก http://oss101.ldd.go.th/web_thaisoilinf/northeast/Nakhonpanom/

TheCloud. (2563). 10 สถานที่เที่ยวเลียบริมแม่น้ำโขง ที่ชวนให้ตกหลุมรักนครพนมสืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://readthecloud.co

องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย โทร. 0-4258-7123