ชุมชนที่ให้ความสำคัญกับป่าไม้ จึงร่วมกันจัดตั้งองค์กรและช่วยกันอนุรักษ์ป่าน้ำจำ ซึ่งเป็นป่าชุมชนที่มีความสำคัญ
ชุมชนที่ให้ความสำคัญกับป่าไม้ จึงร่วมกันจัดตั้งองค์กรและช่วยกันอนุรักษ์ป่าน้ำจำ ซึ่งเป็นป่าชุมชนที่มีความสำคัญ
ชาวบ้านทุ่งยาวแต่เดิมเป็นชาวบ้านสันป่าสัก บ้านคะยอม บ้านหลุก บ้านป่าดึง โดยมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งประมาณ 5-6 ครอบครัว เดินทางจากบริเวณที่อยู่มาประมาณ 10 กิโลเมตร ก็พบป่าเบญพรรณซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่ติดกับภูเขา มีลำน้ำแม่สารไหล จึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณบ้านทุ่งยาวในปี พ.ศ. 2458 มีการถางพง ปลูกบ้านทำสวนขึ้นตามแนวแม่น้ำ ต่อมาได้มีการชักชวนญาติพี่น้องอพยพตามมา จากคนกลุ่มเล็ก ๆ เกิดเป็นคนกลุ่มใหญ่ขึ้นกว่าแต่ก่อน
ในปี พ.ศ. 2505 ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านหันมาตัดไม้ในป่า เพื่อนำไปเผาเป็นถ่านสำหรับจำหน่าย เพราะถ่านเป็นที่ต้องการในเมืองรวมถึงได้เงินเร็ว ทำให้สภาพป่าโดยรอบของหมู่บ้านเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดความแห้งแล้ง ต่อมาชาวบ้านจึงมีมติร่วมกันในการกำหนดเขตป่าต้นน้ำให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งห้ามตัดต้นไม้ รวมทั้งมีการช่วยกันตั้งกฏในการใช้ประโยชน์จากป่าแห่งนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุด
บ้านทุ่งยาวตั้งอยู่ห่างจากถนนสายเชียงใหม่ – กรุงเทพ ประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที ขอบเขตของหมู่บ้านเริ่มที่สะพานข้ามแม่น้ำสาร ไปถึงบ้านป่าป๋วย มีถนนตัดผ่านหมู่บ้านความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านจำขี้มดและบ้านจำบอน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านป่าป๋วย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่ตุ๊ด อำเภอแม่ทา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านสันคะยอมและบ้านป่าดึงงาม
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ บ้านทุ่งยาวตั้งอยู่บนพื้นที่ราบโอบล้อมด้วยภูเขา ดินเป็นดินร่วนปนทรายที่ไม่อุ้มน้ำ ทางด้านซ้ายของถนนในหมู่บ้านเป็นที่ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มของชาวบ้าน โดยกลุ่มเครือญาติผู้ที่ตั้งครอบครัวใหม่จะปลูกบ้านในที่ดินของพ่อแม่ หรือบริเวณใกล้เคียง ทางด้านขวาของถนนในหมู่บ้านจะเป็นที่นาและมีบ้านเรือนที่สร้างบนที่นาของตนเองด้วย
ทรัพยากรทางธรรมชาติ ป่าชุมชนของบ้านทุ่งยาว มีพื้นที่ประมาณ 3,000 กว่าไร่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 10 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกส่วนหนึ่งของป่าบริเวณนี้ว่า “ป่าน้ำจำ” เป็นป่าเบญจพรรณที่มีน้ำซับไหลออกมาตลอดเวลา โดยชาวบ้านใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในการทำนาและไร่อ้อย มีการร่วมกันขุดเหมืองและสร้างฝายขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ ทำให้เห็นว่าป่าน้ำจำเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อคนในบ้านทุ่งยาว จึงมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ป่าน้ำจำ โดยมีการช่วยกันออกกฎห้ามตัดไม้บริเวณนี้ตั้งแต่นั้นมา เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากร นอกจากนี้ป่าน้ำจำยังเป็นพื้นที่ในการทำพิธีกรรมที่ชาวบ้านนับถือและได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2565 ระบุว่าบ้านทุ่งยาว มีจำนวนครัวเรือน 243 หลังคาเรือน ประชากรรวม 572 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 264 คน และประชากรหญิงได้ 308 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
ชาวบ้านทุ่งยาวเรียกตัวเองว่าเป็นคนยองจากสิบสองปันนา ที่อพยพมาอยู่ที่สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน มีความเชื่อทั้งทางพุทธศาสนา ผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น ป่าหรือในน้ำ ชาวบ้านทุ่งยาวจะนับถือญาติทั้ง 2 ฝ่าย ดูได้จากวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะให้ลูกหลานถือขันข้าวไปตานญาติผู้ใหญ่ที่นับถือทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ เมื่อแต่งงานผู้ชายจะย้ายเข้ามาอยู่ในครอบครัวของฝ่ายหญิง ถ้าหากผู้ชายเป็นคนนอกชุมชนก็จะย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ลูกสาวที่แต่งงานมักจะไปซื้อที่ดินข้าง ๆ บ้านพ่อแม่ของตัวเองหรือบริเวณใกล้เคียง โดยพ่อแม่จะยกที่ดินให้ลูกที่คอยเลี้ยงดูเมื่อยามแก่เฒ่า
อีกทั้งชาวบ้านทุ่งยาวจะให้ความนับถือผู้อาวุโสอย่างมาก จากการที่สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ในเวลากลางคืนผู้อาวุโสในหมู่บ้านมักจะนั่งล้อมวงบริเวณลานบ้านเพื่อพูดคุยกัน ปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ที่มีในหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2524 เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาที่หมู่บ้าน ทำให้การพูดคุยกันที่ลานบ้านเลือนหายไป กลายเป็นการฟังข่าว ดูโทรทัศน์แทน การพูดคุยกันจะเป็นเพียงช่วงที่ผู้ใหญ่บ้านเรียกประชุม ผู้ที่มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในงานของหมู่บ้านจะได้รับการยอมรับจากชาวบ้านให้เป็นตัวแทนในการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ในบ้านทุ่งยาวกรรมการของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน มักจะเป็นคนเดิมและต้องทำงานหลายตำแหน่ง และต้องเป็นผู้ที่เสียสละที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมได้
ยองอาชีพและการรวมกลุ่มประกอบอาชีพ
ชาวบ้านทุ่งยาวในช่วงแรกของการอพยพถิ่นฐานมาส่วนใหญ่ทำไร่อ้อยเป็นอาชีพหลัก และมีการทำนาโดยอาศัยน้ำฝน แต่เมื่อมีการสร้างระบบชลประทานเหมืองฝายของหมู่บ้านครั้งแรกแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2467 จึงทำนากันเพิ่มมากขึ้น เพราะสามารส่งน้ำจากเหมืองฝายไปยังนาบริเวณที่ไกล ๆ ได้ ชาวบ้านจึงได้หันมาทำนาเป็นอาชีพหลัก และทำไร่ในยามว่างควบคู่กันไป โดยพื้นฐานแล้วชุมชนบ้านทุ่งยาวจัดเป็นชุมชนชาวนา และมีการรับจ้างทั่วไปเมื่อว่างเว้นจากการทำนา ทำไร่ จึงเห็นว่าในระยะแรกนั้น เป็นการประกอบอาชีพที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ เช่น การสร้างฝายเก็บน้ำ ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง และเป็นการป้องกันน้ำหลากในช่วงหน้าฝนได้อีกด้วย ต่อมามีการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นเพื้อเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง จึงปล่อยน้ำลงมายังฝายของชุมชนและปล่อยต่อลงไปยังที่นาชาวบ้านเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
องค์กรเหมืองฝาย จุดเริ่มต้นในการรักษาป่าน้ำจำ ในสมัยแรกเป็นเหตุผลในเรื่องต้นน้ำลำธาร ในอดีตองค์กรที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีองค์กรเหมืองฝาย หัวหน้าเหมืองฝายหรือแก่เหมือนมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษากฎชุมชนที่เกี่ยวกับป่าและการใช้น้ำร่วมกับพ่อหลวงบ้าน ในการใจฝายของสมาชิกเหมืองฝายจึงเท่ากับเป็นการดูแลพื้นที่ป่า แม้กระทั่งเมื่อฝายเปลี่ยนเป็นปูนซิเมนต์ในสมัยพ่อหลวงประจวบกันไชยสัก ระบบใจฝายก็หมดไป แต่แก่เหมืองก็ยังคงรับผิดชอบในการดูแลป่าร่วมกับพ่อหลวงบ้านต่อไป ปัจจุบันความสัมพันธ์ของกลุ่มสมาชิกเหมืองฝายไม่เข้มข้นเหมือนในอดีต เพราะสมาชิกของกลุ่มไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการใจฝายและซ่อมแซมฝาย แต่องค์กรเหมืองฝายยังมีหน้าที่ในการดูแลและจัดการผลประโยชน์จากป่าอยู่ เหตุผลในการรักษาป่าเป็นมากกว่าเรื่องของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เพราะพัฒนาการของป่าบ้านทุ่งยาวที่ผ่านมาทำให้ความรับผิดชอบในการดูแลป่าชุมชนเป็นหน้าที่ของชาวบ้านทุ่งยาวทุกคน
องค์กรภายนอกที่เข้ามาทำงานในชุมชน
เมื่อปี พ.ศ. 2526 จรูญ คำปันนา ได้เข้ามาในฐานะคนบ้านทุ่งยาวและตัวแทนขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO เริ่มทำโครงการคือโครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท กิจกรรมในช่วงแรก ๆ เน้นในเรื่องงานกองทุนเพื่อการพัฒนา มีการระดมทุนเพื่อให้เกิดกองทุนหมู่บ้าน ผลที่ได้คือชาวบ้านมีการรักษาป่า และจัดตั้งกฏเกณฑ์ในการจัดการป่า รวมถึงชาวบ้านมีการเรียกร้องอำนาจในการดูแลป่าให้เป็นสิทธิ์ของชาวบ้าน และชาวบ้านตระหนักเห็นถึงความสำคัญของป่าจากเหตุการณ์ซุงถล่ม เป็นเหตุให้รัฐสั่งปิดการสัมปทานไม้ ชาวบ้านเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาป่าโดยชุมชนมากขึ้น รวมถึงเกิดกระแสในเรื่องป่าชุมชนอย่างกว้างขวาง ทำให้มีคนจากภายนอกเข้ามาดูงานในบ้านทุ่งยาวมาก อีกหนึ่งความความภูมิใจของชาวบ้านคือ การต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน การรักษาป่าน้ำจำเป็นป่าชุมชนแทนการเป็นวนอุทยานแห่งชาติตามความต้องการของรัฐ
กิจกรรมทางวัฒนธรรม
- พิธีกรรมการเลี้ยงผีฝาย ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (ประมาณเดือนพฤษภาคม) จัดขึ้นเพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการทำเกษตรกรรม แสดงถึงความเชื่อในเรื่องผีหรืออำนาจเหนือธรรมชาติของชาวบ้าน เพราะในทัศนะของชาวบ้านมนุษย์ไม่มีอำนาจโดยตรงที่จะควบคุมธรรมชาติ แต่มีผีสางเทวดาเป็นผู้ควบคุม ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเหมืองฝายมีผีฝายคอยควบคุมดูแลเช่นเดียวกับป่าที่มีผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแล
- พิธีสืบชะตาป่า เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2534 – 2536 ชาวบ้านเห็นว่าเมื่อคนไม่สบายยังมีการสืบชะตา เช่นเดียวกันเมื่อเกิดความแห้งแล้ง พายุพัดต้นไม้หัก การที่กิ่งไม้หักน่าจะสร้างพลังให้ต้นไม้ เพราะต้นไม้ให้ประโยชน์กับคน จึงได้จัดทำพิธีสืบชะตาป่าเพื่อต่ออายุให้ป่า ต่อมาปี พ.ศ. 2539 จึงได้มีการจัดพิธีบวชป่าเพื่อรักษาต้นไม้ และในปี พ.ศ. 2540 เกิดแห้งแล้งอีกครั้ง จึงมีการจัดพิธีสืบชะตาและได้จัดงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
- พิธีทำบุญเสื้อบ้าน ในวันแรม 9 ค่ำเดือน 8 เพราะเชื่อว่าหลักบ้านจะเป็นผู้คุ้มครองให้ชาวบ้านปลอดภัยและอยู่อย่างสงบสุข
1.ผอง หมุดสัก อายุ 62 ปี ปัจจุบันเป็นนายธนาคารหมู่บ้าน กรรมการการศึกษา กรรมการเหมืองฝาย กรรมการวัด เนื่องจากได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในการเป็นตัวแทนในการทำงานจึงมีหลายตำแหน่งงาน
ทุนกายภาพ
ป่าชุมชนของบ้านทุ่งยาว มีพื้นที่ประมาณ 3000 กว่าไร่ ชาวบ้านเรียกส่วนหนึ่งของป่าบริเวณนี้ว่า “ป่าน้ำจำ” เป็นป่าเบญจพรรณที่มีน้ำซับไหลออกมาตลอดเวลา โดยชาวบ้านใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในการทำนาและไร่อ้อย มีการร่วมกันขุดเหมืองและสร้างฝายขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ ทำให้เห็นว่าป่าน้ำจำเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อคนในบ้านทุ่งยาว และป่ายังให้ผลผลิตที่ชาวบ้านนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ เช่น ผักหวาน ผักสาบ ผักกูด ปลา กบ เขียด ผักฮี้ ไข่มดแดง แมงมัน เห็ดต่าง ๆ หน่อไม้ ใบตองดึง ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตที่ทั้งสามารถบริโภคภายในครัวเรือนและนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้
ทุนวัฒนธรรม
ชาวบ้านทุ่งยางให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าน้ำจำทำให้เกิดพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ตนเองอยู่ คือ พิธีสืบชะตะป่า จัดขึ้นเพื่อเป็นการต่ออายุป่าให้มีอายุยืนยาวเหมือนการประกอบพิธีสืบชะตาคน อีกทั้งยังมีการบวชป่าเพื่อเป็นการรักษาต้นไม้ไว้เช่นกัน เหตุนี้เองทำให้ชาวบ้านทุ่งยาวให้ความสำคัญกับป่าในพื้นที่ชุมชน เพราะคิดว่าป่าให้ชีวิตตนเอง และการเลี้ยงผีฝายจัดขึ้นเพื่อให้น้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตรของคนในหมู่บ้าน และน้ำไม่ท่วมเข้าหมู่บ้านเนื่องจากได้รับการคุ้มครองจากผีฝายแล้ว
เริ่มขึ้นเมื่อมีการพัฒนาประเทศ และเกิดขึ้นอย่างมากเมื่อมีนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดลำพูนและเปิดการทำการในปี พ.ศ. 2530 ชาวบ้านทุ่งยาวส่วนใหญ่ออกไปทำงานรับจ้างเต็มเวลาในโรงงานต่าง ๆ ทำให้การทำนาเป็นงานที่ทำเมื่อต้องการข้าวเท่านั้น และการทำไร่ก็เป็นงานที่ทำเมื่อมีเวลาว่างจากงานประจำคือการรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม
เมื่อมีการเปิดสัมปทานป่าไม้และมีการลักลอบตัดไม้ รวมทั้งการเผาถ่านซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งของชาวบ้าน ในระยะแรกชาวบ้านไม่คาดคิดว่าจะมีผลกระทบต่อตัวเองและชุมชน กระทั่งป่าบริเวณรอบ ๆ ป่าน้ำจำเริ่มเสื่อมโทรม ทั้งผู้นำชุมชนและชาวบ้านทุ่งยาวเกรงว่าจะมีการขยายลุกลามเข้ามาในเขตป่าต้นน้ำจึงได้มีการรวมตัวกันและต่อต้านการตัดไม้ขึ้น และชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งกฎและบทลงลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ผลปรากฏว่าชาวบ้านไม่ต้ดไม้ในเขตป่าน้ำจำแต่ยังคงตัดไม้เผาถ่านในเขตอื่น ๆ
ระบบการใจฝาย คือ การที่สมาชิกเหมืองฝายแต่ละคนจะมีหน้าที่ไปดูแลฝายเพื่อไม่ให้มาตัดไม้ในป่าน้ำจำ คนละวัน วันละ 2 รอบ โดยจะมีไม้ไผ่ปล้องข้างในมีชื่อสมาชิกเหมืองฝายทุกคนยกเว้นแก่เหมืองและล่าม โดยใช้ไม้ไผ่ปล้องนี้เวียนไปตามบ้านที่มีอยู่ในรายชื่อ หากอยู่บ้านไหนแสดงว่าสมาชิกคนนั้นต้องไปใจฝาย
เบญจรัชต์ เมืองไทย และคณะ. (2542). การศึกษามิติวัฒนธรรมในยุคเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 20 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=18
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php
ก(ล)างเมือง. (2558). ป่าน้ำจำ. ค้นจาก https://www.facebook.com/KangmuangFilm/