Advance search

บ้านนาทราย หมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมเข้มแข็งจากความพยายามในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีของบรรพบุรุษชาวล้านช้างที่สร้างไว้ให้ลูกหลาน สะท้อนผ่านการประกอบพิธีกรรมและดังที่ปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังและสถาปัตยกรรมโบราณภายในวัดนาทราย 

นาทราย
วังบาล
หล่มเก่า
เพชรบูรณ์
วิไลวรรณ เดชดอนบม
12 มี.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
14 มี.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 มี.ค. 2024
บ้านนาทราย

บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีลักษณะดินทราย พื้นที่การเกษตรก็เป็นดินทรายจึงได้ชื่อว่า "บ้านนาทราย"


ชุมชนชนบท

บ้านนาทราย หมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมเข้มแข็งจากความพยายามในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีของบรรพบุรุษชาวล้านช้างที่สร้างไว้ให้ลูกหลาน สะท้อนผ่านการประกอบพิธีกรรมและดังที่ปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังและสถาปัตยกรรมโบราณภายในวัดนาทราย 

นาทราย
วังบาล
หล่มเก่า
เพชรบูรณ์
67120
16.8972163987021
101.197904795408
องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล

บ้านนาทรายหมู่ที่ 2 และหมู่ 3 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว เข้ามาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้เมื่อประมาณ 200-300 ปีมาแล้ว โดยบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีลักษณะเป็นดินทราย แหล่งทำการเกษตรเป็นดินทราย จึงได้ชื่อว่า "บ้านนาทราย" ในปัจจุบัน

บ้านนาทรายเป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวลาวเวียงจันทน์และหลวงพระบางที่ถูกกวาดต้อนและอพยพจากภัยสงครามมาอยู่ที่เมืองหล่ม หรือหล่มเก่าในปัจจุบัน โดยในปัจจุบันชาวบ้านนาทรายยังคงมีการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นลาวล้านช้าง โดยเฉพาะสำเนียงภาษาของคนในชุมชนที่ยังมีภาษาที่มีสำเนียงพูดคล้ายลาวเวียงจันทน์อยู่

ที่ตั้งและอาณาเขต

ชุมชนบ้านนาทราย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,350 ไร่ ครอบคลุมหมู่ 2 และหมู่ 3 ของตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ในเขตปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล ระยะทางห่างจากอำเภอหล่มเก่าประมาณ 7 กิโลเมตร และตั้งห่างจากจังหวัดเพชรบูรณ์ 65 กิโลเมตร มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 1,860 ไร่ พื้นที่อาศัย 490 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านน้ำครั่ง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโจะโหวะเหนือ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านวัดทุ่งธงไชย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านภูปู

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านนาทรายมีภูเขาล้อมรอบทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขา มีภูเขาขนาบรอบด้าน จึงทำให้สภาพอากาศร้อนจัดในช่วงฤดูร้อน และหนาวจัดในช่วงฤดูหนาว มีสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโดยเฉพาะความแตกต่างของอากาศในเวลากลางวันและกลางคืน

บ้านนาทราย ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรบ้านนาทรายทั้ง 2 หมู่ ดังนี้

  • หมู่ที่ 2 บ้านนาทราย ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 531 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 239 คน ประชากรหญิง 295 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 154 หลังคาเรือน
  • หมู่ที่ 3 บ้านนาทราย ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 517 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 241 คน ประชากรหญิง 276 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 176 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ได้แก่ การทำนา ทำไร่ สวนผัก เลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าวโพด ถั่วเหลือง มะขามหวาน แต่ส่วนมากแล้วคนในชุมชนนิยมปลูกพืชตามฤดูเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง อาชีพเสริม คือ ค้าขาย รับจ้าง นอกจากนี้ยังมีอาชีพที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษคือ นายฮ้อย แต่ปัจจุบันมีเพียงบางหลังคาเรือนเท่านั้นที่ยังยึดอาชีพนี้อยู่

ชาวบ้านนาทรายนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผี ซึ่งถือเป็นความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของคนในชุมชนอย่างมาก เช่น ความเชื่อเรื่องการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า "ผี" ได้แก่ ผีบ้าน ผีเรือน ผีตาแฮก และผีบรรพบุรุษ หรือผีเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ที่เชื่อกันว่าเป็นทั้งผีประจำตระกูลและผีผู้ปกครองหมู่บ้าน ชาวบ้านจะมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษประจำบ้าน เมื่อมีพิธีมงคล เช่น การเกิด การแต่งงาน การบวช เจ้าของบ้านจะทำพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษเพื่อบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือเพื่อให้เกิดความสบายใจ และในกลุ่มผีเจ้าพ่อ เจ้าแม่เองก็จะมีการแบ่งลำดับขั้นอาวุโสตามบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองทางฝั่งลาว เช่น เจ้าพ่ออู่คำ เจ้าแม่อู่แก้ว ที่ถือว่าเป็นตำแหน่งใหญ่ที่สุดของผีบรรพบุรุษหากนับตามบรรดาศักดิ์ฝั่งลาว

ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ หรือผีเจ้าพ่อ เจ้าแม่ของชาวบ้านนาทรายสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่านความเชื่อที่ผสมผสานควบคู่ไปกับพิธีกรรมทางศาสนาโดยมีร่างทรงหรือผู้ที่เป็นสื่อกลางระหว่างสิ่งเหนือธรรมชาติกับมนุษย์เป็นผู้นำทางพิธีทุกขั้นตอน เช่น พิธีกรรม "ปัว" หรือการรักษาโรคด้วยการทรงเจ้าเข้าผี และประเพณีเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษที่จะต้องมีการเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลทุกครั้ง 

นอกจากความเชื่อที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว บ้านนาทรายยังมีประเพณี พิธีกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอทั้งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ และพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ ประเพณีแขวนทุง (ธง) ประเพณีสรงน้ำเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ประเพณีเลี้ยงปีไล่ผีหลวง ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีบุญซำฮะ (บุญเบิกบ้าน) ประเพณีบุญผะเหวด (พระเวสสันดร) ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีบุญเข้าวัสสา-ออกวัสสา และประเพณีบุญกฐิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดนาทราย แหล่งรวบรวมขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญา มรดกจากล้านช้าง 

วัดนาทราย หรือวัดศรีมงคล เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติยาวนานคู่เมืองเพชรบูรณ์มาช้านาน สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2358 หรือสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมทีวัดแห่งนี้ใช้ชื่อวัดทรายงาม ตามลักษณะลานวัดที่เป็นลานทรายสีแดงสะอาดสวยงาม ภายในวัดมีพระพุทธรูปประธานนามว่า "พระพุทธมงคล" เป็นพระปูนปั้น ศิลปะล้านช้าง เดิมเป็นพระทองสัมฤทธิ์คู่กับพระยืน 2 องค์ แต่ถูกทหารญี่ปุ่นขโมยไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2

วัดนาทรายแห่งนี้นอกจากจะเป็นแหล่งรวมจิตใจของชาวบ้านในชุมชนแล้ว ยังเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวิทยาการของชุมชน เป็นโรงเรียนด้านต่าง ๆ เช่น ยารักษาโรค การช่าง การปกครอง ตำราอบรมด้านพระวินัยต่างก็ถูกรวบรวมไว้ที่วัดนาทรายทั้งสิ้น จวบจนถึงปัจจุบันยังคงใช้พื้นที่ภายในวัดนาทรายเป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมในชุมชน นอกจากนี้ ภายในวัดยังปรากฏสถาปัตยกรรมเก่าแก่ เช่น สิม หรืออุโบสถ ที่มีลักษณะรูปแบบศิลปะคล้ายคลึงกับรูปแบบในศิลปะล้านช้าง โดยลักษณะเฉพาะของสิมกลุ่มนี้ คือ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขหน้าและทางเข้าด้านหน้า มีคันทวย หรือแขนนางแกะสลักไม้รูปนาคนั่งที่มีความอ่อนช้อยและสวยงามอันเป็นรูปแบบเฉพาะของวัฒนธรรมล้านช้าง ภายในอาคารของสิมยังปรากฏภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นภาพเขียนสีฝุ่นผสมกาวหนัง เขียนบนพื้นปูนเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้าสิบชาติ แสดงเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในชาติต่าง ๆ ก่อนที่จะเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาพนรก-สวรรค์ ที่แฝงปรัชญาคำสอนให้บุคคลละเว้นความชั่ว ทำแต่ความดี ภาพแสดงลักษณะการเคลื่อนทัพของสยามเมื่อครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ อีกทั้งยังมีภาพวาดที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านช้าง เช่น ภาพการแห่ปราสาทผึ้ง ภาพผู้หญิงนุ่งซิ่นหัวแดงตีนก่าน ภาพผู้ชายเป่าแคนในงานประเพณี และยังมีภาษาไทยน้อยที่ปรากฏในพระอุโบสถหลังนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ถูกสลักขีดเขียนผ่านปลายพูกันของจิตรกรพื้นถิ่นที่ได้รับอิทธิพลจากสกุลช่างหลวงจากกรุงเทพมหานคร วัดนาทรายแห่งนี้จึงถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยเป็นศูนย์รวมเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน ทั้งยังมีสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่สะท้อนความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับความเป็นล้านช้างผู้ถือเป็นกลุ่มบรรพบุรุษ เช่น สิม ธรรมาสน์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ชาวบ้านในชุมชนต่างเชื่อว่าบรรพบุรุษชาวเวียงจันทน์สร้างไว้ให้ลูกหลาน

ชุมชนบ้านนาทรายมีภาษาถิ่นเฉพาะที่ใช้พูดสื่อสารกันในอำเภอหล่มเก่า เรียกว่า “ภาษาหล่ม” หรือที่ชุมชนเชื่อว่าเป็นภาษาที่มาจาก “ภาษาลาวเวียง” มีสำเนียงหางเสียงและโทนเสียงนุ่มนวลเหมือนภาษาอีสานผสมภาษาล้านนา 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). จิตรกรรมฝาผนังวัดนาทราย (วัดศรีมงคล). สืบค้น 12 มีนาคม 2567. จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). วัดศรีมงคล (วัดนาทราย). สืบค้น 12 มีนาคม 2567. จาก https://thai.tourismthailand.org/

บ้านนาทราย Ban Nasai. (2566). สืบค้น 12 มีนาคม 2567. จาก https://www.facebook.com/moobannasai

บ้านนาทราย Ban Nasai. (2567). สืบค้น 12 มีนาคม 2567. จาก https://www.facebook.com/moobannasai

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป.). วัดศรีมงคล. สืบค้น 12 มีนาคม 2567. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/

อรอุมา เมืองทอง. (2559). ประเพณีประดิษฐ์บุญบั้งไฟบ้านนาทราย ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์. มหาวิทยาลัยศิลปากร.